ความตายของกรรณะ, ที่มา: pdfbookshindi.in, วันที่เข้าถึง: 7 พฤศจิกายน 2565.
08. กรรณบรรพ01,01,02,03,04.
First revision: Jul.25, 2022
Last change: Nov.09, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรต โดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
192
บรรดาแม่ทัพนายกองของฝ่ายเการพ ต่างก็ประชุมกันอย่างเคร่งเครียดในคืนวันที่ 15 แห่งการรบนั้นเอง และต่างก็ขอร้องให้กรรณะเข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดแทนโทฺรณาจารย์ผู้สิ้นชีวิตลง.
คงจะจำกันได้ว่า กรรณะผู้นี้เป็นโอรสองค์แรกของนางกุนตี เกิดจากสูรยเทพเจ้า และเป็นศิษย์ของฤๅษี ปรศุราม อวตารปางที่ 6 ของพระวิษณุ เพราะฉะนั้น กรรณะจึงมีฝีมือรบยอดเยี่ยมไม่แพ้ใครในสงครามมหาภารตะ กรรณะเคยได้รับการเกลี้ยกล่อมจากนางกุนตีผู้มารดา ให้มาอยู่เสียกับฝ่ายปาณฑพซึ่งเป็นน้อง แต่กรรณะปฏิเสธโดยอ้างว่า ท้าวธฤตราษฎร์ผู้ชนกของกลุ่มภราดาเการพ และโดยเฉพาะองค์ทุรโยธน์ มีบุญคุณได้ชุบเลี้ยงตนมา เพราะฉะนั้นจะให้ตนลืมข้าวแดงแกงร้อนของฝ่ายเการพนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามกรรณะได้ให้สัญญากับนางกุนตีไว้ว่า ในบรรดาพี่น้องปาณฑพทั้งห้าคนนั้นตนจะไม่ขอทำร้ายใครนอกเสียจากอรชุน ทั้งนี้เพราะอรชุนกับกรรณะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่เยาว์วัย สมัยที่ยังเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยาอยู่กับพระอาจารย์โทฺรณะ ดังความแจ้งอยู่ในตอนต้นแล้ว.
---------------
01. เมื่อโทฺรณาจารย์ได้สิ้นชีวิตลงแล้ว ฝ่ายเการพก็ได้เลือกกรรณะให้เป็นแม่ทัพใหญ่หรือผู้บัญชาการสูงสุด บรรพนี้ว่าด้วยการรบของกรรณะ จึงมีชื่อว่า กรรณบรรพ.
193
การเข้าดำรงตำแหน่งแม่ทัพสูงสุดของกรรณะ ช่วยให้ทหารของฝ่ายเการพมีกำลังใจและเพิ่มความคึกคักขึ้น ทุรโยธน์ก็ฝากความหวังไว้กับกรรณะมากในอันที่จะได้ชัยชนะ.
พอเปิดฉากการรบในวันที่ 16 ก็ปรากฎว่า อรชุนกับกรรณะต่างก็ขับรถรบเข้าประจันหน้ากัน แล้วก็ใช้ธนูต่อสู้กันอย่างดุเดือด อรชุนมีภีมเสนเป็นผู้ช่วยซึ่งติดตามมาในรถอีกคันหนึ่ง เช่นเดียวกับที่กรรณะมีทุหศาสันนั่งตามหลังมาในรถคันหลังเหมือนกัน รถของกรรณะนั้นมีธงรูปเชือกผูกช้างเป็นสัญลักษณ์.
ในช่วงหนึ่งแห่งการต่อสู้ รถรบของกรรณะได้ตะลุยวงล้อมของกองทหารฝ่ายปาณฑพ เข้าไปจนถึงองค์ยุธิษฐิระ แล้วตรงเข้าจับหัตถ์ของยุธิษฐิระพร้อมกับพูดขึ้นว่า.
"เราได้ให้คำมั่นไว้กับเสด็จแม่ว่า นอกจากอรชุนแล้ว เราจะไม่สังหารท่าน และน้อง ๆ ของท่าน เพราะฉะนั้น จงหลีกไปให้พ้น เราจะไว้ชีวิตท่าน!".
คงจะจำกันได้ว่า เมื่อตอนที่ภราดาปาณฑพเล่นสกาแพ้พวกเการพ จนสูญเสียทรัพย์ศฤงคารตลอดจนศรีภริยาคือนางเทฺราปทีหรือกฤษณาไปด้วยนั้น ทุหศาสันได้ล่วงเกินและแสดงกิริยากักขฬะต่อนางเทฺราปทีในท่ามกลางธารกำนัล จนนางเทฺราปทีต้องหลั่งน้ำตาและสาปแช่งพี่น้องเการพไว้ 4 ข้อ คือ.
1. ขอให้ทุรโยธน์ตายโดยถูกอาวุธของศัตรูที่โคนขา.
2. ขอให้ภีมะหรือภีมเสนสังหารและดื่มโลหิตทุหศาสัน.
3. ขอให้กรรณะสิ้นชีวิตด้วยน้ำมือของอรชุน และ.
4. ขอให้ศกุนิตายด้วยมือของสหเทพ.
ดังนั้น เมื่ออรชุนกับภีมเสน และกรรณะกับทุหศาสันมาเผชิญหน้ากันเช่นนี้ ความเคียดแค้นจึงเข้าครอบคลุมทั้งสองฝ่ายอย่างสุดที่จะพรรณนา ภีมเสนนั้นตรงเข้าใช้คทาหรือตะบองเปิดฉากโรมรันกับทุหศาสันโดยไม่คิดชีวิต และด้วยกำลังกายอันมีมากมายประดุจพญาช้างสาร ภายในเวลาไม่นานนัก ภีมเสนก็สามารถใช้ตะบองตีทุหศาสันจนล้มลงนอนแผ่กลางสนามรบ ภีมเสนรีบเข้าประชิดร่างของทุหศาสัน! พลันก็เหยียบหน้าอกไว้ แล้วกระชากแขนขาดออกจากร่าง! ยังให้โลหิตไหลออกมาพลั่ก ๆ ภีมเสนก้มลงดื่มโลหิตนั้นพลางก็หัวร่อร่าพร้อมกับอุทานขึ้นว่า.
194
"กูคอยวันนี้มานานกว่า 13 ปีแล้ว! กรรมใดที่มึงได้ทำไว้กับเทฺราปทีเมียรักของกู กรรมนั้นได้มาสนองมึงแล้วในวันนี้! ขอให้มึงไปสู่ที่ชอบ ๆ เถิด!".
ทุกคนต่างตกตะลึงในการกระทำของภีมเสน กรรณะนั้นถึงกับหน้าซีดเซียวด้วยความกลัว ราชา ศัลยะ ผู้มีความเชี่ยวชาญทางขับรถรบและกำลังทำหน้าที่เป็นสารถีให้กรรณะ กลัวว่ากรรณะจะเสียกำลังใจ จึงรีบเตือนสติและปลอบโยนกรรณะได้สติจึงหยิบธนูซึ่งมีชื่อว่า วิชัย ขึ้นมายิงต่อสู้กับอรชุน.
ระหว่างที่กรรณะกำลังต่อสู้กับอรชุนอยู่อย่างดุเดือดนั้น อัศวัตถามา ได้รีบเข้าไปหาทุรโยธน์พลางประณมมือขึ้นขอร้องให้หยุดการรบเสีย โดยให้เหตุผลว่าถึงรบไปก็ไม่มีทางที่จะเอาชนะฝ่ายปาณฑพได้ มีแต่ผู้คนจะล้มตายและความพินาศหายนะจะเกิดมากขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ทุรโยธน์ไม่ยอมฟังเหตุผลของอัศวัตถามา กลับสั่งให้กองทัพทั้งหมดของฝ่ายตน เข้าโจมตีฝ่ายปาณฑพโดยมิหยุดยั้ง.
ได้กล่าวมาแล้วว่า ฝีมือยิงธนูของกรรณะกับอรชุนนั้นไล่เลี่ยกันมาก ครั้งหนึ่งกรรณะหมายยิงธนูให้ถูกศีรษะอรชุน แต่ด้วยความชำนาญและว่องไว พระกฤษณะผู้ทำหน้าที่เป็นสารถีให้อรชุน ก็สามารถขับรถกดสองล้อหน้าจมโคลนลงไปได้ลึกถึงห้านิ้ว จึงเป็นอันว่ารถของพระกฤษณะสามารถหลีกวิถีธนูของกรรณะไปได้อย่างหวุดหวิด แม้กระนั้นก็ยังทำให้มงกุฎที่อรชุนสวมใส่อยู่ กระเด็นตกลงมายังพื้นดินในท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของนักรบฝ่ายเการพ.
การโรมรันพันตูระหว่างอรชุนกับกรรณะเป็นไปอย่างน่าตื่นเต้นระทึกใจ ขณะที่รถของสองทหารเอกผลัดกันรุกผลัดกันรับด้วยความรวดเร็วดุจกังหันร่อนนั้น บังเอิญล้อรถข้างหนึ่งของกรรณะวิ่งจมลงไปในโคลนซึ่งเกิดจากฝนตก ทำให้รถไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ กรรณะตกใจรีบโบกมือเป็นสัญญาณให้อรชุนเห็นว่าล้อรถของตนติดหล่ม ขอให้พักรบก่อน พร้อมกับส่งเสียงขึ้นว่า.
"อรชุนผู้แกล้วกล้า! ท่านเป็นชายชาตินักรบ ท่านย่อมทราบธรรมะของขัตติยะและกติกาของการรบดี บัดนี้ รถของเราล้อติดโคลนไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ ขอให้เราและสารถีได้มีเวลาเข็นล้อขึ้นจากหล่มเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาสู้กันต่อไป เพราะฉะนั้น ขณะนี้ขอให้ท่านระงับการยิงไว้สักชั่วครู่".
195
คำพูดของกรรณะทำให้อรชุนต้องลดแขนซึ่งกำลังเล็งจะยิงลูกศรอยู่ทีเดียว จิตใจของอรชุนเกิดความปั่นป่วนขึ้นด้วยถ้อยคำว่า "ธรรมะของขัตติยะ".
พระกฤษณะทรงทราบถึงความลังเล ซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจของอรชุนได้เป็นอย่างดี จึงทรงผันพระพักตร์ไปทางกรรณะแล้วตรัสขึ้นด้วยพระสุรเสียงอันดังก้องว่า.
"กรรณะผู้ทรนง! ช่างเป็นเรื่องน่าขันเสียนี่กระไร ที่บัดนี้ ท่านเอ่ยปากพูดถึงเรื่องธรรมะของขัตติยะ และกติกาของการรบ เราขอถามท่านสักหน่อยเถิดว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ท่านและพรรคพวกของท่าน ได้กระทำต่อกลุ่มภราดาปาณฑพตั้งแต่ต้นมานั้น เป็นธรรมะของขัตติยะแน่แล้วละหรือ ท่านรวมหัวกันวางอุบายเผาพวกปาณฑพทั้งเป็นในพลับพลาป่าวารณาวัต! ท่านเล่นสกาโกงจนพวกปาณฑพต้องเสียบ้านเสียเมืองสิ้นเนื้อประดาตัว! ต้องซมซานไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นเวลาถึง 13 ปี ตอนที่พวกปาณฑพเล่นสกา "แพ้" และต้องเสียเทฺราปทีไปเป็นเดิมพันนั้น พวกท่าน โดยมีทุหศาสันเป็นหัวโจก ได้กระทำอนาจารแก่เทฺราปทีอย่างไรนั้น ท่านลืมเสียแล้วหรือ แล้วเมื่อพวกปาณฑพอยู่ในป่าครบ 13 ปี แล้วกลับมายังบ้านเมือง พวกท่านก็ยังไม่ยอมยกที่ดินแม้ 5 หมู่บ้านให้แก่พวกเขาได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย! ถึงแม้ในการรบกัน ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นมาเมื่อวานนี้เอง พวกท่านก็ได้รุมกันฆ่าเด็กหนุ่มเช่นอภิมันยุได้อย่างไม่มียางอาย! พฤติการณ์เหล่านี้น่ะหรือที่เป็นธรรมะของขัตติยะ เป็นไปตามกติกาของการรบแล้วกระนั้นหรือ".
กรรณะไม่ปริปากว่ากระไร ได้แต่ก้มหน้าดูพื้นดิน คล้ายกับจะสำนึกผิดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ครั้นแล้วก็กระโดดจากรถลงไปช่วยราชาศัลยะ พยายามเข็นล้อรถรบให้ขึ้นจากหล่ม.
ทันใดนั้น พระกฤษณะก็รับสั่งกับอรชุนว่า.
"ท่านจะมัวเฉยช้าอยู่ทำไมเล่า จงกำจัดศัตรูหมายเลข 1 ของท่านเสีย ณ บัดนี้เถิด!".
ราวกับหุ่นยนต์ ซึ่งมีพระกฤษณะทรงเป็นพลังเดินเครื่องอยู่เบื้องหลัง อรชุนหยิบธนูคาณฑีพขึ้นมา ยิงลูกศรไปยังกรรณะ และในบัดดลนั้นเอง เศียรของกรรณะ โอรสของสูรยเทพเจ้าก็กระเด็นออกจากร่างตกลงบนพื้นดิน! ยังความตะลึงพรึงเพริดให้แก่นักรบของทั้งสองฝ่ายอย่างสุดที่จะพรรณนา!.
กรรณะและนางกุนตี (เมื่อนางกุนตีเผยแก่กรรณะว่า กรรณะเป็นบุตรชายคนแรกของนาง และเป็นพี่คนโตของบรรดาภารดาปาณฑพ), ที่มา: www.art-ma.com, วันที่เข้าถึง 09 พฤศจิกายน 2565.
196
เสียงสังข์ ปาญจชันยะ และสังข์ เทวทัตตะ อันเป็นสังข์ประจำองค์ของพระกฤษณะและอรชุนตามลำดับ พลันก็ดังก้องไปทั่วสมรภูมิ ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องแสดงความดีใจของทหารฝ่ายปาณฑพ.
ขณะเดียวกัน ทหารของฝ่ายเการพจำนวนพัน ๆ คน ต่างก็เสียขวัญวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงกลับเข้าแนวที่พักของตน.
คงจะจำกันได้ว่า ฤๅษีวฺยาสได้มอบ "นัยน์ตาทิพย์" ให้สัญชัยสารถีประจำพระองค์ของท้าวธฤตราษฎร์ เพราะฉะนั้น สัญชัยจึงสามารถมองเห็นการสู้รบในสมรภูมิกุรุเกษตรได้จากพระราชวังในนครหัสตินาปุระ ทั้งนี้เพื่อจะได้ถวายรายงานให้ท้าวธฤตราษฎร์ และนางคานธารี ทรงทราบถึงเหตุการณ์ในสนามรบได้ทุกระยะ.
โศลกในมหากาพย์มหาภารตะระบุไว้ว่า พอได้ทราบจากปากของสัญชัยว่ากรรณะสิ้นชีวิตลงด้วยศรของอรชุนเสียแล้ว กษัตริย์เฒ่า ธฤตราษฎร์ และนางคานธารี ผู้มเหสีก็ถึงกับสิ้นพระสติ เป็นลมตกลงมาจากอาสน์ที่ประทับ สัญชัยและมหามติวิทูรต้องถวายการพยาบาลแก้ไขอยู่พักใหญ่ ทั้งสองพระองค์จึงทรงฟื้นคืนสติขึ้นมาได้.
จบบรรพที่ 8: กรรณบรรพ
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03. จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.