หลังจากการเนรเทศพี่น้องปาณฑพได้สิ้นสุดลง เหล่าพี่น้องปาณฑพขอให้พี่น้องคุรุ (หรือเการพ) ปล่อยให้เหล่าภราดาปาณฑพกลับคืนสู่อาณาจักรอินทรปรัสถ์ตามเดิมอันเป็นเงื่อนไขการเนรเทศ พี่น้องเการพ (คุรุ) ปฏิเสธ เมื่อทั้งสองฝ่ายเริ่มหารือเรื่องสงคราม สัญชัยก็เข้าพบเหล่าพี่น้องปาณฑพและพระกฤษณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงคราม ภาพแสดงการประชุมนี้อยู่ในหนังสือ Sanjaya-yana ในอุโทยคบรรพ, ที่มา: vedicfeed.com, วันที่เข้าถึง: 25 กรกฎาคม 2565.
05. อุโทยคบรรพ1 - บรรพแห่งความพยายาม
First revision: Jul.25, 2022
Last change: Oct.20, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
หลังจากพิธีมงคลวิวาห์ระหว่างเจ้าชายอภิมันยุกับเจ้าหญิงอุตตราได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว บรรดาท้าวพญามหากษัตริย์ที่ไปร่วมงานด้วยก็ได้รับการขอร้องจากพระกฤษณะแห่งแคว้นทฺวารกา ให้พักแรมอยู่ในนครวิราฏต่อไปอีก 2-3 เพลาเพื่อปรึกษาหารือธุรกิจสำคัญ อันได้แก่กรณีพิพาทระหว่างฝ่ายปาณฑพกับฝ่ายเการพ.
ครั้นถึงเวลาอันสมควร พระกฤษณะก็เชิญบรรดาเจ้าผู้ครองนครทั้งหลายให้มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันแล้วตรัสขึ้นว่า.
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย! ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านคงจะทราบดีแล้วถึงเหตุการณ์ซึ่งได้เกิดขึ้น ระหว่างราชตระกูลปาณฑพกับราชตระกูลเการพ บัดนี้กาลเวลาได้ล่วงเลยมาถึง 13 ปี และฝ่ายปาณฑพก็ได้ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขที่เล่นสกาแพ้โดยเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอฟังความคิดเห็นของท่านว่าเราควรจะกระทำประการใดดี ความเป็นธรรมจึงจะเกิดขึ้น และทั้งสองฝ่ายจะได้ไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน อันจะส่งผลสะเทือนไปทุกย่อมหญ้า".
ทันใดนั้น พลราม01. ผู้เป็นเชษฐภราดาของพระกฤษณะและเป็นผู้มีอาวุโสสูงองค์หนึ่งในที่ประชุม ได้ปรารภขึ้นว่า
---------------
1. อุโทฺยค แปลว่า ความพยายาม ในที่นี้หมายถึงความพยายามที่จะให้ฝ่ายปาณฑพและฝ่ายเการพคืนดีกัน โดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันให้เสียเลือดเนื้อ เพราะฉะนั้น บรรพนี้จึงมีชื่อว่า อุโทฺยคบรรพ แปลว่า บรรพแห่งความพยายาม.
หมายเหตุ คำอธิบาย
พระพลราม, ที่มา: iskcondesiretree.com, วันที่เข้าถึง: 02 ตุลาคม 2565.
01. พลราม (बलराम, IAST: Balarāma) บ้างเรียก พลเทพ (Baladeva - "เทพผู้มีกำลัง") เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นพี่ชายของพระกฤษณะ เป็นหนึ่งในสามเทพตามคติชคันนาถในบางท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีพระนามว่า "หลธรา (Haladhara)" หรือ "หลยุธะ (Halayudha)" ที่มาจากคำว่า "หละ" (Hala) ที่แปลว่าคันไถ ซึ่งสื่อถึงการทำเกษตรกรรม และจะถูกใช้เป็นอาวุธเมื่อมีความจำเป็น เอกสารบางแห่งระบุว่าพลรามเป็นอวตารของเศษะ (Sesha) นาคซึ่งเป็นพาหนะของพระวิษณุ ส่วนพระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ และเอกสารบางแห่งอ้างว่าพลรามเป็นหนึ่งในอวตารทั้งสิบของพระวิษณุ มีหลักฐานการเคารพนับถือพลรามอยู่ในวัฒนธรรมอินเดียมานาน ปรากฏเป็นภาพในเหรียญอายุราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช ขณะที่ศาสนาเชนเรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า พลเทวะ โดยนับถือในฐานะเทพของเกษตรกร ส่วนในคติพราหมณ์ไทย ในคติพราหมณ์ไทยนับถือพลเทพในฐานะเทพแห่งธัญญาหาร และทวารบาลผู้ปกป้องพุทธสถาน มีการกล่าวถึงพลรามใน นารายณ์สิบปาง ตอนกฤษณาวตาร มีเนื้อหาว่า เมื่อพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นท้าวบรมจักรกฤษณ์เพื่อปราบพาณาสูร พระพลเทพได้มาช่วยในการรบโดยใช้คันไถฟาดฟันเหล่าอสูร ครั้นเสร็จศึกท้าวบรมจักรกฤษณ์จึงประสาทพรให้พลเทพเป็นเทพผู้เป็นใหญ่ในพืชพรรณธัญญาหาร เพราะใช้คันไถเป็นอาวุธ นอกจากชื่อพลเทพแล้ว ยังเรียกอีกอย่างว่า หลวิชัย เพราะมักปรากฏรูปพลเทพถือคันไถหรือหล นั่นเอง อย่างไรก็ตาม พลเทพเป็นที่รู้จักในดินแดนของประเทศไทยมาช้านาน ในอาณาจักรอยุธยามีการใช้ราชทินนาม "พระยาพลเทพ" สำหรับเสนาบดีกรมนา และมีตราประจำตัวเป็นรูปคนแบกคันไถ เรียกว่า ตรานักคลีอังคัน ในสมัยรัตนโกสินทร์เรียกว่า ตรานพรัตนมุรธา, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 2 ตุลาคม 2565.
153
"ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เราควรจะได้ส่งผู้แทนของที่ประชุมไปเจรจากับฝ่ายเการพ โดยเฉพาะกับองค์ทุรโยธน์ เพื่อให้กลุ่มภราดาปาณฑพได้กลับคืนสู่นิวาสสถานคือนครอินทรปรัสถ์ดังเดิม".
"ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า องค์ทุรโยธน์จะยอมทำตาม เพราะได้ทราบว่าเขาได้ส่งทูตมาแจ้งให้ฝ่ายปาณฑพหลบเข้าป่าต่อไปอีก 12 ปี เพราะตามความเห็นของเขานั้นฝ่ายปาณฑพคือองค์อรชุนได้ประพฤติผิดสัญญา คือได้ปรากฎองค์ให้สาธารณชนเห็นในการออกช่วยภูมิญชัยโอรสท่านท้าววิราฏ รบกับฝ่ายเขา ซึ่งเรื่องนี้ใคร ๆ ก็ทราบดีว่า ตอนที่องค์อรชุนออกรบนั้น ฝ่ายภราดาปาณฑพได้อยู่ป่ามาครบ 13 ปีโดยสมบูรณ์แล้ว" ท้าวทรุปัทซึ่งร่วมอยู่ในที่ประชุมด้วยตรัสขึ้นด้วยพระสุรเสียงอันหนักแน่น.
"ข้าพเจ้าคิดว่า เราน่าจะได้ลองใช้สันติวิธีดูก่อน หากไม่สำเร็จจึงควรจะคิดถึงวิธีอื่นต่อไป" พระกฤษณะตรัสในที่สุด.
ที่ประชุมเห็นด้วยกับพระกฤษณะ จึงตกลงให้พราหมณ์ปุโรหิตของท้าวทรุปัทเป็นผู้แทน ไปเจรจาสันติภาพกับฝ่ายเการพ ณ นครหัสตินาปุระ.
ต่อจากนั้น พระกฤษณะ ท้าวทรุปัท และเจ้านายจากแคว้นอื่น ๆ ต่างองค์ก็ต่างแยกย้ายกลับยังดินแดนของตนด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ระหว่างฝ่ายปาณฑพกับฝ่ายเการพ.
ข้างทุรโยธน์นั้นเมื่อได้รับรายงานจากสายลับว่า พระกฤษณะได้เสด็จกลับสู่นิวาสสถานคือนครทฺวารกาแล้ว ก็รีบรุดตามไปโดยมุ่งหวังว่าจะโน้มน้าวพระทัยของพระกฤษณะให้มาเป็นกำลังแก่ฝ่ายตน อรชุนซึ่งเฝ้าดูการเคลื่อนไหวแลท่าทีของพระกฤษณะอยู่ตลอดเวลา จึงติดตามพระกฤษณะไปโดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน.
ทั้งทุรโยธน์และอรชุนต่างก็ไปถึงนครทฺวารกาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ปรากฎว่าขณะที่ทั้งสองไปถึงนั้น เป็นเวลาที่พระกฤษณะกำลังบรรทมอยู่บนพระแท่น.
ทุรโยธน์ไปถึงก่อน จึงตรงเข้าไปนั่งบนพระเก้าอี้ทางทิศเหนือของพระแท่น ส่วนอรชุนนั้นถึงทีหลัง และได้นั่งบนพื้นตำหนัก ณ เบื้องพระบาทของพระกฤษณะ อรชุนอยู่ในลักษณะประณมมือพร้อมที่จะถวายความเคารพแด่พระกฤษณะ ทั้งสองคนต่างก็เฝ้ารอให้พระกฤษณะตื่นบรรทมเสียก่อน.
154
เมื่อพระกฤษณะลืมพระเนตรขึ้น พระองค์ทรงเห็นอรชุนก่อนแล้วจึงทรงเห็นทุรโยธน์.
"ท่านทั้งสองมีธุระอะไรหรือมาหาเราในยามวิกาลเช่นนี้" พระกฤษณะตรัสถามบุคคลทั้งสอง.
"หม่อมฉันปรารถนาที่จะได้ฝ่าพระบาทเป็นพันธมิตร มาตรว่าจะมีศึกสงครามเกิดขึ้น และด้วยเหตุนี้จึงมาเฝ้าพระบาทก่อนใครอื่น" ทุรโยธน์ทูลพระกฤษณะ.
อรชุนเองก็ทูลพระกฤษณะในทำนองเดียวกัน
"ท่านมาถึงที่นี่ก่อนก็จริง แต่เราเห็นอรชุนก่อน" พระกฤษณะผันพระพักตร์ไปตรัสกับทุรโยธน์ "เพราะอรชุนนั่งอยู่ปลายเท่าของเรา อย่างไรก็ตาม ทั้งท่านและอรชุนต่างก็เป็นญาติของเรา เราจะให้ความเสมอภาคแก่ท่านทั้งสอง แต่โดยเหตุที่อรชุนอ่อนวัยกว่าท่าน เราจะให้ผู้อ่อนวัยได้มีสิทธิเลือกก่อน คือจะต้องเลือกเอาระหว่างตัวเรากับกองทัพของเรา เราจะไม่ถือหรือมีอาวุธใด ๆ ทั้งสิ้น จะมีก็แต่ตัวเปล่า และจะไม่ช่วยรบด้วยวิธีการใด ๆ ส่วนกองทัพของเราซึ่งได้รับสมญาว่า นารายณี เสนา นั้น เกรียงไกรเพียงไร ท่านทั้งสองย่อมทราบดีอยู่แล้ว เอาละ! เราจะให้อรชุนมีสิทธิเลือกก่อนว่า ต้องการตัวเราหรือกองทัพของเรา".
รับสั่งเสร็จพระกฤษณะก็ทรงผันพระพักตร์ไปทางอรชุน
"หม่อมฉันขอเลือกฝ่าพระบาทพ่ะย่ะค่ะ" อรชุนรีบทูล.
ด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายปาณฑพจึงได้พระกฤษณะไปเป็นพันธมิตร แต่ทุรโยธน์ก็หาได้เสียใจแต่ประการใดไม่ เพราะคิดว่าหากไม่มีทหารและไม่มีศัสตราวุธแล้ว พระกฤษณะก็คงจะไม่สามารถสำแดงฤทธิ์เดชได้.
อรชุนก้มลงกราบพระกฤษณะแทบพระบาท พร้อมกันนั้นก็ทูลขอว่า แม้จะไม่ช่วยรบ ก็ขอให้พระกฤษณะทรงเป็นสารถีขับรถรบให้ ซึ่งพระกฤษณะก็ทรงยอม.
ศรีกฤษณะ โควินทะ, ที่มา: krishnaart.tumblr.com, วันที่เข้าถึง 5 ตุลาคม 2565.
155
ต่อจากนั้น ทั้งอรชุนและทุรโยธน์ก็แยกย้านกันกลับ อรชุนนั้ันกลับสู่ราชธานีแห่งท้าววิราฏพร้อมด้วยพระกฤษณะ เมื่อได้ทราบว่าอรชุนได้พระกฤษณะมาเป็นพันธมิตร ท้าวยุธิษฐิระและอนุชาทั้งสามรวมทั้งนางเทฺราปทีด้วย ต่างก็มีความชื่นชมโสมนัสเป็นล้นพ้น.
ระหว่างนั้น กลุ่มพี่น้องปาณฑพได้ย้ายจากวิราฏนครไปพำนักอยู่ ณ เมือง อุปปลาวัย อันเป็นเมืองในอันดับสองของแคว้นมัตสยะ.
ครั้นแล้ว ข่าวสงครามซึ่งมีทีmjาว่าจะเกิดขึ้นระหว่างปาณฑพกับเการพก็ได้กระจายไปทั่วดินแดนชมพูทวีป บรรดาราชามหากษัตริย์ใหญ่น้อยต่างก็ตระเตรียมรี้พล เพื่อเข้าช่วยไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง ตามแต่พันธกรณีย์ที่มีอยู่ต่อกัน ในจำนวนนี้มีอยู่องค์หนึ่งคือ ท้าวศัลยะแห่งมัทรเทศ ท้าวศัลยะทรงเป็นอนุชาของนางมาทรีชนนีของสหเทพและนกุล และด้วยเหตุนี้ จึงทรงเป็นพระมาตุลาหรือน้าชายของภราดาปาณฑพ ท้าวศัลยะมีฝีมือในการรบไม่แพ้ผู้ใดในสมัยนั้น และมีชื่อเสียงในด้านทรงม้ามาก.
เมื่อได้ทราบว่าสงครามอาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างปาณฑพกับเการพ ท้าวศัลยะก็ทรงกรีฑาทัพอันใหญ่หลวงขึ้นสู่ภาคเหนือของภารตวรรษ โดยมุ่งหวังจะทรงช่วยนัดดา คือกลุ่มภราดาปาณฑพ ทุรโยธน์ได้รับรายงานการเคลื่อนไหวของกองทัพท้าวศัลยะ จึงรีบออกไปต้อนรับกลางทาง ท้าวศัลยะทรงพอพระทัยการต้อนรับและด้วยการเกลี้ยกล่อมของทุรโยธน์ จึงทรงเข้าเป็นฝ่ายทุรโยธน์ แทนที่จะไปช่วยฝ่ายพี่น้องปาณฑพตามดำริเดิม.
ด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายเการพและฝ่ายปาณฑพต่างก็เร่งสะสมและตระเตรียมกำลังรบเป็นการใหญ่ ผลของการตระเตรียมและรวบรวมกำลังปรากฎว่า ฝ่ายปาณฑพมีกำลังรบ 7 อักเษาหิณี ฝ่ายเการพมี 11 อักเษาหิณี01.
---------------
อักเษาหิณีเสนา (akṣauhiṇī sena), ที่มา: www.quora.com, วันที่เข้าถึง: 19 ตุลาคม 2565.
01. อักเษาหิณี (Sanskrit: अक्षौहिणी akṣauhiṇī) = กองทัพที่มีกระบวนพร้อมมูล (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) (บาลีเป็น อกฺโขภิณี) มักถูกใช้วัดขนาดของกองทัพในวรรณกรรมอินเดียโบราณ 1 อักเษาหิณี มีกำลังรบดังต่อไปนี้คือ
มีช้าง 21,870 เชือก
ม้า 65,610 ตัว
รถรบหรือรถศึก 21,870 คัน และ
มีทหารเดินเท้า 109,350 คน
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1 ปัตติ (१ पत्ति - Patti) หรือ 1 ปังกติ (१ पङ्क्ति) = ช้าง (คช - Gaja) 1 เชือก (एक हाथी), รถศึก (Chariot - Ratha) 1 คัน (एक रथ), ม้า (Ashwa - อัศวะ) 3 ตัว (तीन सवार), พลเดินเท้า (Padati) 5 คน (पांच प्यादे)
3 ปัตติ = 1 เสนามุข (१ सेनामुख - Senamukha)
3 เสนามุข = 1 คุลมะ (१ गुल्म - Gulma)
3 คุลมะ = 1 คณะ (१ गण - Gana)
3 คณะ = 1 วาหินี (१ वाहिनी - Wahini)
3 วาหินี = 1 ปฤตนะ (१ पृतन - Pritana/Prutana)
3 ปฤตนะ = 1 จมู (१ चमू - Chamu)
3 จมู = 1 อนีกินี (१ अनीकिनी - Anikini) หรือ 1 อันตกินี (१ अन्तकिनी)
10 อนีกินี = 1 อักเษาหิณี (१ अक्षौहिणी - akṣauhiṇī)
156
จะขอย้อนกลับไปเล่าถึงพราหมณ์ปุโรหิตของท้าวทรุปัทผู้ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับฝ่ายเการพ.
เมื่อได้เดินทางถึงนครหัสตินาปุระเรียบร้อยแล้ว ปุโรหิตก็ขอเข้าเฝ้าท้าวธฤตราษฎร์ และทูลให้ทรงทราบถึงข้อดำริของกลุ่มกษัตริย์ซึ่งประชุมกัน ณ วิราฏนครในเรื่องที่ว่า ควรจะคืนราชสมบัติให้แก่กลุ่มภราดาปาณฑพ เพราะบัดนี้ครบ 13 ปีตามสัญญา และกลุ่มปาณฑพก็ได้ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขแห่งการแพ้พนันสกาทุกประการแล้ว.
"ขอให้เราได้ปรึกษากับลูก ๆ และญาติพี่น้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ดูก่อน แล้วเราจะส่งสัญชัยไปแจ้งให้ฝ่ายของท่านทราบภายในเวลาอันไม่ช้า" ท้าวธฤตราษฎร์รับสั่งแก่พราหมณ์ปุโรหิตของท้าวทรุปัท.
เพื่อให้เกิดความแน่นอนว่า ฝ่ายปาณฑพซึ่งมีพระกฤษณะเป็นหัวหน้าจะต้องการอย่างไร ท้าวธฤตราษฎร์จึงส่งสัญชัยผู้เป็นสารถีคู่ใจไปยังราชสำนักของท้าววิราฏ.
สัญชัยได้พบทั้งพระกฤษณะและยุธิษฐิระ และได้รับการยืนยันว่า โดยเหตุที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการแพ้พนันสกาครบถ้วนแล้ว ฝ่ายปาณฑพจึงขอกลับไปอยู่ ณ นครอินทรปรัสถ์ตามเดิม ในการนี้ หากฝ่ายเการพไม่พร้อมที่จะคืนนครอินทรปรัสถ์ให้ทั้งนคร พวกตนก็จะขอเพียงที่ดินห้าหมู่บ้าน เพื่อพี่น้องปาณฑพจะได้แบ่งกันอยู่คนละหมู่บ้าน พระกฤษณะได้ฝากความเห็นไปยังฝ่ายเการพด้วยว่า เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อพี่น้องจะได้ไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันเอง สมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายปาณฑพจะได้กลับไปอยู่ ณ นครอินทรปรัสถ์ตามเดิม อนึ่ง ยุธิษฐิระได้ขอร้องสัญชัยให้กราบทูลเสด็จปู่ คือท้าวภีษมะ พระอาจารย์โทฺรณะและพระอาจารย์กฤปะ ตลอดจนมหามติวิทูร ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ให้ประทานความเป็นธรรมในเรื่องนี้แก่ฝ่ายตนด้วย.
สัญชัยนายสารถีก็รีบเดินทางกลับนครหัสตินาปุระ แล้วนำเรื่องราวทั้งหมดเข้ากราบทูลให้ฝ่ายเการพทราบ.
บรรดาพระญาติและอาจารย์อาวุโสทุกท่านของฝ่ายเการพรวมทั้งท้าวธฤตราษฎร์เองต่างมีความเห็นว่า ควรจะให้ฝ่ายปาณฑพได้กลับคืนสู่นครอินทรปรัสถ์ดุจเดิม จึงเรียกทุรโยธน์และกรรณะไปชี้แจง แต่ทั้งทุรโยธน์และกรรณะไม่ยอมเชื่อฟัง กลับดื้อรั้นที่จะทำสงครามกับฝ่ายปาณฑพถ่ายเดียว โดยอ้างว่าฝ่ายตนมีกำลังรบถึง 11 อักเษาหิณี ส่วนฝ่ายปาณฑพนั้นมีเพียง 7 อักเษาหิณีเท่านั้น.
157
"อย่าว่าแต่ห้าหมู่บ้านเลย แม้ที่ดินเพียงเท่าปลายเข็ม เราก็จะไม่มีวันยอมยกให้ไอ้พวกปาณฑพ มันทำกับพวกเราเจ็บแสบนัก มันจะอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกับพวกเราไม่ได้โดยเด็ดขาด!" ทุรโยธน์คำรามขึ้นในท่ามกลางสภาที่ประชุม.
ท้าวภีษมะและอาจารย์โทฺรณะได้เตือนทุรโยธน์ว่า ฝ่ายปาณฑพนั้นนอกจากจะมีอรชุนผู้มีฝีมือในการยิงธนูแล้ว ยังมีพระกฤษณะเป็นสารถีขับรถรบให้อีกด้วย.
"พระกฤษณะก็พระกฤษณะเถิด! หากไม่มีอาวุธหรือไม่มีทหารเสียอย่างก็หามีความหมายแต่ประการใดไม่!" ทุรโยธน์เถียงเสด็จปู่ภีษมะและพระอาจารย์โทฺรณะด้วยเสียงอันแข็งกร้าว.
ข่าวการที่ทุรโยธน์และกรรณะไม่ยอมฟังเสียงผู้ใด หากกระหายแต่จะเข้าสู่สงคราม ได้แพร่สะพัดไปถึงพระกรรณของพระกฤษณะ ด้วยความปรารถนาที่จะไม่ให้แผ่นดินภารตะเกิดนองเลือดขึ้น พระองค์จึงเสด็จไปยังนครหัสตินาปุระด้วยพระองค์เอง และได้ทรงตักเตือนทุรโยธน์ให้เลิกคิดที่จะทำสงครามเสีย แต่ทุรโยธน์ไม่ยอม กลับหาว่าพระกฤษณะมีพระทัยลำเอียงเข้าข้างฝ่ายปาณฑพ.
"หม่อมฉันยอมตายในสมรภูมิ แต่จะไม่ขอก้มหัวให้แก่ฝ่ายปาณฑพเป็นอันขาด!" ทุรโยธน์ทูลพระกฤษณะด้วยน้ำเสียงอันสำแดงความขุ่นเคือง.
"ถ้าท่านต้องการจะประสบกับชะตากรรมเช่นนั้น ก็คงจะไม่มีใครห้ามปรามท่านได้ เราขอบอกแต่เพียงว่า หายนภัยอันจะเกิดขึ้นจากความดื้อรั้นของท่านนี้ใหญ่หลวงนัก แผ่นดินจะกระเทือนไปทุกย่อมหญ้า สิ่งใดที่ท่านไม่ยอมคืนให้แก่ฝ่ายปาณฑพในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ สิ่งนั้นท่านจะต้องคืนให้แก่เขาในเมื่อท่านสิ้นชีวิตและหมดอำนาจไปแล้ว" พระกฤษณะรับสั่งพร้อมกับทรงพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต.
ทุรโยธน์ได้ฟังแล้วก็ผลุนผลันลุกเดินหนีไปด้วยอาการไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง.
นางคานธารี, ที่มา: www.bonobology.com, วันที่เข้าถึง: 12 ตุลาคม 2565.
158
ฝ่ายท้าวธฤตราษฎร์ เมื่อไม่สามารถจะควบคุมโอรสได้เช่นนั้น จึงรับสั่งให้มหามติวิทูรรีบไปตามนางคานธารีมา ด้วยทรงหวังว่าทุรโยธน์จะเชื่อฟังชนนีของตนบ้าง.
พอเห็นหน้าลูกชาย นางคานธารีก็ร่ำไห้พร้อมกับรับสั่งว่า.
"ทุรโยธน์ลูกรัก! เหตุไฉนเจ้าจึงดื้อรั้นถึงเพียงนี้ ไม่ยอมเชื่อฟังทูลกระหม่อมและครูบาอาจารย์ เจ้ารู้หรือไม่ว่า เจ้ากำลังนำภัยพิบัติมหาศาลมาสู่วงศาคณาญาติและบ้านเกิดเมืองนอน จงเลิกละทิฐิมานะเสียเถิด และจงเชื่อฟังคำของพระกฤษณะผู้เที่ยงธรรมเถิดลูกรัก!".
แทนที่จะให้ความสนใจแก่คำตักเตือนของมารดา ทุรโยธน์กลับสะบัดหน้ารีบเดินหนีไป ยังผลให้นางคานธารีซบพระพักตร์ลงกับฝ่าพระหัตถ์ แล้วทรงกันแสงอย่างน่าเวทนา.
ทุรโยธน์รีบไปหากรรณะและพรรคพวก ทั้งหมดปรึกษากันและลงความเห็นว่าเพื่อเป็นการตัดกำลังสำคัญของฝ่ายปาณฑพ ควรจะจับองค์พระกฤษณะไว้ ข่าวนี้ได้แพร่ไปถึงพระกรรณของพระกฤษณะ พระกฤษณะจึงทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการปรากฎพระวรกายเป็น วิศวรูป คือเป็น พระวิษณุ เทพเจ้า ทำให้บรรดาผู้ที่อยู่ในราชสำนักของท้าวธฤตราษฎร์ตกตะลึงพรึงเพริดไปตาม ๆ กัน และต่างก็ประณมมือขึ้นถวายความเคารพแด่องค์พระกฤษณะ ซึ่งบัดนี้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่าหาใช่ใครอื่นไม่ หากเป็นพระนารายณ์อวตารมาเกิดในภาคมนุษย์นั่นเอง.
ปาฏิหารย์ของพระกฤษณะทำให้ทุรโยธน์เกิดความกลัว ไม่กล้าที่จะใช้กำลังเข้าจับองค์พระกฤษณะไว้.
ต่อจากนั้น พระกฤษณะก็ได้ไปเฝ้านางกุนตี ชนนีของภราดาปาณฑพและมีศักดิ์เป็นอาของพระกฤษณะเอง ซึ่งระหว่างนั้นพำนักอยู่กับมหามติวิทูร พระกฤษณะได้ทูลถามนางกุนตีว่า มีสิ่งไรจะฝากไปบอกกับยุธิษฐิระและน้อง ๆ บ้างหรือไม่ นางกุนตีรับสั่งว่า นางคอยวันคอยคืนที่จะได้พบกับลูก ๆ ขอให้ปาณฑพทั้งห้าจงปฏิบัติตนตามธรรมะอันได้แก่หน้าที่ให้ดีเถิด.
ทั้งพระกฤษณะและนางกุนตี ต่างพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมกรรณะให้ตีตนออกห่างจากกลุ่มเการพ
การสนทนาระหว่างกรรณะกับพระกฤษณะ, ที่มา: moralstories26.com, วันที่เข้าถึง 20 ตุลาคม 2565.
159
โดยชี้แจงให้กรรณะเห็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดและฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก นางกุนตีได้เผยความจริงให้กรรณะทราบด้วยว่า กรรณะนั้นเป็นลูกคนหัวปีของนางเองซึ่งเกิดจากสูรยเทพเจ้า และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นพี่ชายของปาณฑพทั้งห้า แต่โดยเหตุที่ไม่ต้องการให้เรื่องเป็นที่รู้เห็นของคนอื่น นางจึงนำกรรณะขณะที่ยังเป็นทารกแรกเกิด ไปวางไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา และต่อมานายอธิรถผู้เป็นสารถีของท้าวธฤตราษฎร์ไปพบเข้า จึงนำไปชุบเลี้ยงไว้ในฐานะบุตร นางกุนตีขอให้กรรณะคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือดตามที่ได้พรรณนามา และขอร้องให้ไปอยู่กับฝ่ายปาณฑพ พี่น้องจะได้ไม่ต้องประหัตประหารกันเองด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์.
กรรณะได้ฟังแล้วนิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่ง ครั้นแล้วจึงพูดขึ้นว่า
"ความจริงจะเป็นประการใดก็ตามที ตั้งแต่เกิดมา ข้าก็เห็นแต่นายสารถีอธิรถและนางราธาภรรยาเป็นผู้เลี้ยงดูข้ามา ครั้นเติบใหญ่ ข้าได้ดิบได้ดีก็เพราะราชวงศ์เการพ โดยเฉพาะทูลกระหม่อมธฤตราษฎร์กับองค์ทุรโยธน์นั้นมีพระคุณต่อข้ามาก จะให้ข้าลืมข้าวแดงแกงร้อนที่ฝ่ายเการพได้ชุบเลี้ยงข้ามาแล้วหันไปคบกับฝ่ายตรงข้ามนั้น ข้าทำไม่ได้! ขอให้ท่านกลับไปบอกอรชุนเถิดว่า กรรณะยินดีพบกับเขาด้วยศัตราวุธทุกชนิดและทุกเมื่อ ในบรรดาพี่น้องปาณฑพทั้งห้าคนนั้น ข้าขอเอาชีวิตอรชุนแต่เพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นข้าจะไม่แตะต้อง".
เมื่อพระกฤษณะได้ทรงประจักษ์แล้วว่า แม้จะตรัสต่อไปอีกสักเท่าไร ก็คงจะไม่บังเกิดผล จึงทูลลานางกุนตีกับท้าววิทูรกลับสู่นครวิราฎ พร้อมด้วยสาตฺยกีผู้เป็นพระญาติและสารถีประจำพระองค์.
ต่อจากนั้น พระกฤษณะก็ได้ทรงชี้แจงให้ฝ่ายปาณฑพและพันธมิตรทราบถึงความล้มเหลวในการไปเจรจาสันติภาพกับฝ่ายเการพ และทรงประทานพระดำริว่าต่อแต่นี้ไป ทางเลือกอื่นนอกจากสงครามนั้นไม่มีแล้ว ขอให้เตรียมตัวทำสงครามได้.
"ตำราว่าไว้ว่า วิธีที่จะเอาชนะศัตรูนั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการคือ (1) สามนฺ อันได้แก่การเจรจาออมชอม (2) ทาน ได้แก่การให้อามิสเพื่อให้ศัตรูเปลี่ยนใจ
160
(3) เภท การยุให้ศัตรูแตกสามัคคีกัน เมื่อวิธีหรืออุบาย 3 ประการดังกล่าวแล้วใช้ไม่ได้ผล ท่านให้ใช้วิธีที่ 4 คือ ทัณฑ์ อันได้แก่การลงโทษหรือทำสงคราม ข้าพเจ้าเห็นว่า บัดนี้นอกจากวิธีที่ 4 แล้ว ไม่มีวิธีอื่นใดที่จะนำมาใช้ได้กับพวกเการพ" พระกฤษณะตรัสกับภราดาปาณฑพ และกลุ่มพันธมิตรด้วยพระพักตร์อันเคร่งขรึม.
ท้าวยุธิษฐิระจึงรับสั่งให้อนุชาทั้งสี่พร้อมทั้งพันธมิตร เตรียมเคลื่อนกำลังรบเข้าสู่ทุ่งราบกุรุเกษตร อันเป็นสมรภูมิที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้เป็นสนามชิงชัยซึ่งกันและกัน และเมื่อได้ฤกษ์ กองทัพของฝ่ายปาณฑพก็เคลื่อนพลเข้าประจำในสนามรบ ท่ามกลางเสียงสังข์และการโบกสะบัดของธงรบ.
ได้กล่าวแล้วว่ากองทัพของฝ่ายปาณฑพนั้นมี 7 อักเษาหิณี แต่ละอักเษาหิณีมีแม่ทัพดังต่อไปนี้ คือ 1. ทรุปัท 2. วิราฏ 3. ธฤษฎะทฺยุมัน 4. ศิขัณฑิน 5. สาตฺยกี 6. เจกิฏาน 7. ภีมะหรือภีมเสน เมื่อเลือกแม่ทัพได้แล้ว ยุธิษฐิระก็ได้ปรึกษากับพระกฤษณะและแม่ทัพทั้ง 7 เลือกเอาธฤษฎะทฺยุมันเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายปาณฑพ.
ฝ่ายเการพก็จัดการแต่งตั้งแม่ทัพนายกองของตนเช่นเดียวกัน ทุรโยธน์ได้ขอร้องให้ภีษมะเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายตน ซึ่งมีกำลังรบถึง 11 อักเษาหิณีดังได้กล่าวมาแล้ว ภีษมะยอมรับตำแหน่งนี้พร้อมกับวางเงื่อนไขว่า
"ปู่ยอมทำตามคำขอร้องของหลาน แต่จะไม่ขอสังหารกลุ่มพี่น้องปาณฑพ เพราะทั้งเการพและปาณฑพต่างก็เป็นหลานของปู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย อันที่จริงปู่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามครั้งนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่เมื่อได้ลั่นวาจาแล้วว่าจะช่วยฝ่ายหลาน ปู่ก็จะปฏิบัติตามคำพูดที่ได้ให้ไว้ ส่วนตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการสูงสุดนั้น ปู่คิดว่าน่าจะได้แก่กรรณะ เพราะกรรณะไม่ชอบหน้าปู่ และคงจะไม่ยินดีที่จะอยู่ใต้บังคับบัญชาของปู่ ขอให้หลานได้ถามกรรณะดูก่อนจะดีกว่า".
อันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบุรุษผู้เฒ่าภีษมะกับกรรณะนั้นไม่ราบรื่นมาช้านานแล้ว ทั้งนี้เพราะภีษมะมีความเห็นว่า กรรณะเป็นคนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ทุรโยธน์เดินไปบนเส้นทางที่ผิด จนในที่สุดพี่น้องเการพและปาณฑพต้องกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน ดังที่เห็น ๆ อยู่ กรรณะเองก้ไม่ชอบภีษมะเพราะความโลภและความทรนง และเพราะเข้าใจว่าภีษมะเข้าข้างฝ่ายปาณฑพ ดังนั้น เมื่อได้รับการทาบทามจากทุรโยธน์ให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุด กรรณะจึงตอบด้วยความโอหังว่า.
161
"ปล่อยให้เฒ่าภีษมะตายด้วยฝีมือของพวกปาณฑพเสียก่อน แล้วหม่อมฉันจึงจะทำตามคำขอร้องของฝ่าบาท ขณะนี้หม่อมฉันจะไม่ขอแตะต้องศัสตราวุธใด ๆ โดยเด็ดขาด".
จึงเป็นอันว่าตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพฝ่ายเการพนั้น ได้แก่ ภีษมะ และเมื่อได้ฤกษ์ ภีษมะก็เคลื่อนพลเข้าสู่สมารภูมิกุรุเกษตรในท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องกึกก้องไปทั่วทุกทิศานุทิศ.
จบบรรพที่ 5: อุโทฺยคบรรพ
แหล่งอ้างอิง:
01. จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03. จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.