MENU
TH EN

02. สภาบรรพ - บรรพแห่งสภา

ภาพสภาบรรพ, ที่มา: templepurohit.com, วันที่เข้าถึง: 23 กรกฎาคม 2565.
02. สภาบรรพ01. - บรรพแห่งสภา
First revision: Jul.23, 2022
Last change: Sep.20, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
"ธฺยายโต วิษยานุ ปุํสะ, สงฺคสฺเตษูปชายเต,
สงฺคาตฺสํชายเต กามะ, กามาตฺโกฺรโธ' ภิชายเตฺ"
ผู้ที่มีใจจดจ่อต่ออารมณ์ ย่อมเกิดความรักขึ้นในอารมณ์เหล่านั้น,
จากความรักจึงเกิดกาม และจากกามจึงเกิดโกรธขึ้น


"โกฺรธาทฺภวติ สํโมหะ, สํโมหาตฺสฺมฺฤติวิภฺรมะ,
สมฺฤติภฺรํศาทฺพุทฺธินาโศ, พุทฺธินาศาตฺปฺรณศฺยติ"
จากโกรธเกิดโมหะ จากโมหะเกิดการลืมสติ
จากการลืมสติเกิดการเสื่อมเสียพุทธิ จากการเสื่อมเสียพุทธิจึงได้รับแต่ความพินาศ
จากหนังสือ ศรีมัทภควัทคีตา แปลโดยศาสตราจารย์
ร.ต.ท.แสง มนวิทูร และราชบัณฑิต จำนงค์ ทองประเสริฐ

       วันหนึ่ง ขณะที่พระกฤษณะ ท้าวอรชุน และมัยทานพ กำลังนั่งสนทนากันอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา มัยทานพได้ปรารภขึ้นกับพระกฤษณะว่า

       "ข้าพเจ้ามีชีวิตรอดจากไฟที่ไหม้ป่ามาได้ในครั้งนี้ก็เพราะบารมีของพี่น้องปาณฑพทั้งสิ้น ข้าพเจ้าใคร่จะขอตอบแทนบุณคุณพี่น้องปาณฑพด้วยการกระทำสักอย่างหนึ่ง ขอท่านได้โปรดให้คำแนะนำแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด".

       "ที่ท่านคิดได้เช่นนี้นับว่าเป็นคุณธรรมอย่างสูงทีเดียว ในนครอินทรปรัสถ์นี้ทุกสิ่งอย่างดูเหมือนจะมีอยู่อย่างครบถ้วนแล้ว จะขาดอยู่ก็แต่สภาที่ประชุมของมวลพสกนิกรเท่านั้น ท่านเองก็เป็นผู้ที่มีฝีมือในการก่อสร้างจนมีชื่อระบือลือเลืองไปทั่วทุกทิศานุทิศ เพราะฉะนั้น หากท่านจะสร้างสภาเมืองให้แก่นครอินทรปรัสถ์สักสภาหนึ่ง ก็คงจะเป็นที่พอใจแก่ภราดาปาณฑพและปวงพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง แล้วยังจะเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของตัวท่านอีกด้วย" พระกฤษณะให้คำแนะนำแก่มัยทานพด้วยความปรารถนาดี.

       ต่อจากนั้น มัยทานพก็ลงมือระดมกำลังสร้างสภาเมืองให้แก่นครหลวงของพี่น้องปาณฑพอย่างรีบด่วน ต้องใช้เวลาสร้างนานถึง 14 เดือน เป็นสภาที่มีความใหญ่โตมโหฬารและมีความงดงามวิจิตรตระการตาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากจะนำไปเปรียบกับสภาเมืองแห่งนครหัสตินาปุระของกลุ่มกษัตริย์เการพแล้วไซร้ ก็ต้องนับว่าสภาเมืองของนครอินทรปรัสถ์มีความงามและความโอ่โถงเหนือกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ พระกฤษณะ นางกุนตีและภราดาปาณฑพทั้ง 5 ต่างก็พอใจเป็นอย่างยิ่ง ในสภาเมืองซึ่งสร้างขึ้นด้วยฝีมือของมัยทานพ ส่วนพระกฤษณะนั้น เมื่อการก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็กลับคืนไปประทับ ณ นครทฺวารกาตามเดิม.
---------------

01. บรรพ หรือหมวดนี้บรรยายถึงการสร้างสภาและเหตุการณ์หลาย ๆ อย่าง ซึ่งเกิดขึ้นในสภา จึงมีชื่อว่าสภาบรรพ.

ฤๅษีนารถมุนี (नारद-Nārada), ที่มา: talkingmyths.com, วันที่เข้าถึง 6 กันยายน 2565.

 
100
       เวลากาลผ่านไป อำนาจและเกียรติยศของนครอินทรปรัสถ์ก็เพิ่มพูนมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งกษัตริย์ผู้ปกครองและไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ต่างมีชีวิตอยู่ด้วยความผาสุกทั่วหน้า.

       อยู่มาวันหนึ่ง พระนารทมุนี ผู้เป็นจอมปราชญ์ของเทวดาและมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพของกษัตริย์และประชาชนทั่วไป ได้จาริกมาถึงนครอินทรปรัสถ์ และได้เข้าเฝ้าท้าวยุธิษฐิระผู้เชษฐภราดาแห่งปาณฑพ.

       ภายหลังที่ได้แสดงความยินดีกับท้าวยุธิษฐิระที่ได้ขึ้นครองราไชศวรรย์แห่งนครอินทรปรัสถ์แล้ว มุนีราชนารทะก็ได้ทูลถามกษัตริย์หนุ่มว่า.

       "อาตมาภาพหวังว่ามหาบพิตรคงจะได้ทรงนำเอาคุณสมบัติ 6 ประการแห่งการเป็นพระราชามาใช้ในการบริหารบ้านเมืองโดยครบถ้วนแล้ว มหาบพิตรคงจะทรงจำได้ว่า คุณสมบัติ 6 ประการนั้นได้แก่
       (1) ความเฉลียวฉลาด
       (2) ความพรักพร้อม
       (3) ความสามารถในการจัดการกับศัตรู
       (4) ความรู้ทางการเมือง
       (5) ความทรงจำอันแม่นยำ และ
       (6) ความยึดมั่นในศีลธรรม
       ยังทรงจำได้หรีอไม่
"
       "ก็และข้าราชการที่สำคัญและเป็นหลักของบ้านเมืองทั้ง 7 ตำแหน่งนั้น ยังมีความจงรักภักดีต่อมหาบพิตรดีอยู่ดอกหรือ มหาบพิตรทรงทราบแล้วมิใช่หรือว่าข้าราชการหลักทั้ง 7 ตำแหน่งนี้ได้แก่
       (1) ผู้บัญชาการป้อม
       (2) แม่ทัพใหญ่
       (3) ผู้พิพากษาสูงสุด
       (4) หัวหน้าตำรวจ
       (5) นายแพทย์ประจำพระองค์
       (6) หัวหน้าโหรหลวง และ
       (7) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินฝ่ายการเมือง
"

       "มหาบพิตรทรงวางนโยบายเป็นกลางกับประเทศและบุคคลที่เป็นกลางกับมหาบพิตรดีแล้ว ใช่หรือไม่"

       "มหาบพิตร ได้ทรงจัดหาครูบาอาจารย์ที่ดีมีความสามารถมาถวายความรู้แก่ราชโอรส ราชธิดาและข้าราชบริพารในเรื่องศีลธรรม และศิลปวิชาการดีแล้วหรือไฉน"


 
101
       "มหาบพิตรทรงติดตามความเคลื่อนไหวของศัตรูโดยที่ฝ่ายศัตรูมิรู้ตัวบ้างหรือไม่".

       "มหาบพิตรทรงเลี้ยงดูนักปราชญ์ราชบัณฑิต และผู้มีความรู้ตามควรแก่กรณีดีแล้ว ใช่หรือไม่".

       "ทหารในกองทัพของมหาบพิตรได้รับเงินเดือนสม่ำเสมอ และมีความเป็นอยู่เสมอภาคกันดีอยู่หรือ".

       "รายรับกับรายจ่ายของบ้านเมืองสมดุลกันดีแล้ว ใช่หรือไม่".

       "สตรีได้รับการเลี้ยงดูและคุ้มครองดีอยู่หรือไฉน".

       "เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ประชาชนได้รับการเยียวยาเป็นอย่างดี ใช่หรือไม่".

       "มหาบพิตรทรงให้การเลี้ยงดูแก่ภรรยาและครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตเพราะมหาบพิตรอย่างเพียงพอแล้ว ใช่หรือไม่".

       "มหาบพิตรไม่ทรงถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งหรือหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลสมควร ใช่หรือไม่".

       "การทำไร่ไถนาในขอบเขตขัณฑสีมาของมหาบพิตรเป็นไปด้วยดีและไม่ขาดน้ำหรือไฉน".

       "พสกนิกรของมหาบพิตรมีการกินอยู่เป็นปกติดีดอกหรือ".
       "มหาบพิตรคงจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ผู้ที่กระทำความดีตามฐานานุรูปแล้ว ใช่หรือไม่".

       "มหาบพิตรคงจะทรงระมัดระวังมิให้อัคคีภัย โจรภัย ภัยจากโรคระบาด และสิงสาราสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นในบ้านเมือง ใช่หรือไม่".

       "มหาบพิตรทรงเลี้ยงดูคนหูหนวก คนตาบอด คนพิการ ตลอดจนผู้ไร้ญาติขาดมิตรดีอยู่ดอกหรือ".

       "มหาบพิตรคงจะทรงทราบถึงโทษ 14 ประการอันกษัตริย์พึงหลีกเลี่ยงดังต่อไปนี้แล้วหรือหาไม่ คือ

            (1) หมกหมุ่นอยู่กับการเสพสุข
            (2) ไม่นับถือศาสนา
            (3) มีความโกรธเป็นเจ้าเรือน
            (4) หุนหันพลันแล่น
            (5) ผัดวันประกันพรุ่ง
            (6) ละเลยไม่ปรึกษาผู้รู้
            (7) เกียจคร้านการงาน
            (8) หงุดหงิดง่าย
            (9) หูเบา
           (10) คบคนโลภเห็นแก่เงิน
           (11) เปิดเผยความลับของบ้านเมือง
           (12) ทำสิ่งไรตามอารมณ์ของตนเอง
           (13) ไม่มีแผนการที่แน่วแน่ และ
           (14) ใช้ทรัพย์ไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์
".



102
       ท้าวยุธิษฐิระทรงตอบด้วยอาการประณมหัตถ์ว่า.

       "ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณที่พระคุณเจ้าได้ตั้งปุจฉาเชิงปฏิสันถารมาหลายข้อเช่นนี้ ทุกวันนี้ ข้าพเจ้าก็พยายามปฏิบัติตนตามหลักการที่พระคุณเจ้าได้เอ่ยถึงอยู่แล้ว".

       พระนารทมุนีจึงกล่าวต่อไปว่า "มหาบพิตร ที่อาตมภาพทูลถามมาหลายข้อนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่น นอกจากใคร่จะขอทูลเตือนให้มหาบพิตรได้ทรงระลึกถึงราชนีติธรรม อันมีมาในคัมภีร์แห่งศาสนาของเราแต่โบราณกาล อันที่จริงบารมีและเกียรติคุณของมหาบพิตรนั้น ขจรขจายไปทั่วแว่นแคว้นอยู่แล้ว บัดนี้ประชาชนและแม้ถึงสมณะชีพราหมณ์ต่างก็ปรารถนาที่จะได้เห็นมหาบพิตรทรงประกอบพิธีราชสูยะ01. ทั้งนี้เพื่อจะได้ประกาศพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งอินทรปรัสถ์นครให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี อาตมภาพได้ฟังเรื่องนี้มาด้วยตนเอง ที่มานี้ก็เพื่อมาทูลให้มหาบพิตรได้ทรงทราบเรื่องนี้ไว้".

       กล่าวจบพระนารถมุนีก็ทูลลาจากไป.

       ท้าวยุธิษฐิระทรงครุ่นคิดถึงคำพูดของพระนารถมุนีอยู่หลายเพลา ก็ไม่สามารถจะตัดสินพระทัยได้ จึงทรงส่งมหามติวิทูรผู้อาวุโสให้ไปเชิญพระกฤษณะแห่งแคว้นทฺวารกามาปรึกษา.

       "การที่ฝ่าพระบาททรงดำริจะจัดให้มีพิธีราชสูยะนั้น หม่อมฉันเห็นดีด้วยทุกประการ แต่หม่อมฉันเกรงว่าพิธีนี้จะสำเร็จได้ยาก เพราะชราสันธ์ สามันตราชแห่งแคว้นมคธดูมีทีท่าจะแข็งข้อต่อฝ่าพระบาท และถึงอย่างไรก็คงจะไม่ยอมรับรองพิธีราชาภิเษกของฝ่าพระบาทเป็นแน่ หม่อมฉันเองยังเคยถูกชราสันธ์เบียดเบียนจนถึงกับต้องย้ายนิวาสสถานจากนครมถุรา ไปอยู่ยังทฺวารกา ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีความเห็นว่า เราควรจะกำจัดชราสันธ์เสียก่อน แล้วพิธีของเราก็จะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่น" พระกฤษณะทูลตอบ.
---------------

01. เป็นพิธีราชาภิเษกและประกาศพระราชอำนาจเป็นกษัตริย์ของอินเดียในสมัยโบราณ กษัตริย์ต่าง ๆ ที่เป็นเมืองออกต้องมาร่วมประชุม เพื่อแสดงตัวว่ายังอ่อนน้อมต่อกษัตริย์ผู้ทำพิธีนั้น ถ้าหากว่ากษัตริย์ใดไม่มา ก็แสดงว่าไม่ซื่อตรงเสียแล้ว ให้ทำการปราบปรามได้ (ดูอิลราชคำฉันท์).

 
103
       ต่อจากนั้น พระกฤษณะก็วางแผนให้อรชุนและภีมะไปจัดการกับชราสันธ์ เจ้าแห่งมคธนคร ภีมะได้ท้าให้ชราสันธ์มาต่อสู้กันตัวต่อตัวด้วยวิธีการของมวยปล้ำ ในที่สุดด้วยพลังอันประดุจพญาช้างสาร ภีมะก็สามารถจับร่างของชราสันธ์ขึ้นทุ่มลงบนพื้นดินจนชราสันธ์ถึงแก่ความตาย ต่อจากนั้น พี่น้องปาณฑพก็ได้ตั้งให้ลูกชายของชราสันธ์ขึ้นครองนครมคธแทน.

       เมื่อกำจัดชราสันธ์สามันตราชแห่งมคธนครลงได้เรียบร้อยแล้ว ภราดาปาณฑพก็เริ่มเตรียมการประกอบพิธีราชสูยะเป็นการใหญ่ ในการนี้ ภีมะหรือภีมเสนได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ออกพิชิตดินแดนทางทิศตะวันออก สหเทพทางภาคใต้ นกุลทางทิศตะวันตก และอรชุนทางทิศเหนือ ยุธิษฐิระได้เชิญพระกฤษณะให้มาร่วมด้วยในฐานะอาตันตุกะพิเศษ นอกจากนี้ พี่น้องปาณฑพยังได้ส่งอนุชานกุลผู้ฝาแฝดกับสหเทพไปเชื้อเชิญพระญาติผู้ใหญ่แห่งนครหัสตินาปุระ เช่น ภีษมะ พระอาจารย์โทฺรณะ พระอาจารย์กฤปะ ท้าวธฤตราษฎร์ มหามติวิทูร ทุรโยธน์ ทุหศาสัน และพี่น้องเการพอีก 98 องค์ ตลอดจนกษัตริย์ใหญ่น้อยจากแว่นแคว้นต่าง ๆ ไปร่วมในพิธีด้วย ปุโรหิตและพราหมณาจารย์จากนานาประเทศใกล้ไกล ก็ได้เข้าไปช่วยดูแลงาน ให้เป็นไปตามขัตติยราชประเพณีทุกประการ และเมื่อเสร็จพิธีแล้วก็ได้มีการปูนบำเหน็จรางวัลแก่ข้าราชการ ตลอดจนถวายเครื่องไทยธรรมวัตถุทานแก่สมณะชีพราหมณ์อย่างสมเกียรติกันทั่วถ้วน.

       เป็นประเพณีของการประกอบพิธีราชสูยะ ที่จะต้องเลือกอาคันตุกะผู้มีความเหมาะสมที่สุด เข้ารับของกำนัลและเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากองค์จักรพรรดิก่อน แล้วจึงจะมอบของกำนัลและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก่อาคันตุกะอื่น ๆ ตามควรแก่ฐานานุรูป ในการนี้ท้าวภีษมะผู้เป็นพระญาติผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพได้ให้ความเห็นแก่กษัตริย์ยุธิษฐิระว่า ควรจะเป็นพระกฤษณะ เพราะเป็นที่นับถือของท้าวพญามหากษัตริย์ทั่วไป แต่ศิศุปาละ01. ราชาแห่งแคว้นเจที (หรือเจตี Chedi สันสกฤต:चेदी
- อยู่ทางใต้ของแคว้นวังสะ และตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นกาสี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มีน้อย) ไม่เห็นด้วย จึงเกิดการโต้เถียงกันเป็นการใหญ่ จนถึงในที่สุด การโต้เถียงนั้นได้กลายเป็นการสู้รบระหว่างพระกฤษณะกับศิศุปาละ ยังผลให้ศิศุปาละสิ้นชีวิตลงด้วยคมจักรของพระกฤษณะซึ่งมีชื่อว่า สุทรรศนจักร หรือ วัชรนาภจักร.
---------------
หมายเหตุและการขยายความ

01. ท้าวศิศุปาละ บ้างก็เรียก สีสุปาละ (รายละเอียดดูเพิ่มเติมใน นารายณ์วตาร ตอนที่ 8: กฤษณาวตาร) เป็นบุตรของท้าวทมโฆษ พระราชาผู้ปกครองเเคว้นเจที กับพระนางศรุตเทวี ผู้เป็นน้องสาวของวสุเทพ ท้าวศิศุปาละจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระกฤษณะ ผู้เป็นบุตรของวสุเทพ ท้าวศิศุปาละทรงเป็นพระราชาของเมืองโสตถิยวตี เมืองหลวงของแคว้นเจที เมื่อครั้งที่ท้าวศิศุปาละกำเนิดนั้น ท้าวศิศุปาละมีดวงตา 3 ดวง และแขน 4 แขน พระนางศรุตเทวีจึงเคยเกือบจะนำศิศุปาละไปทิ้ง แต่ทว่า ได้มีเสียงสวรรค์มาเตือนท้าวทมโฆษกับพระนางศรุตเทวีว่าอย่าทำแบบนั้น และได้ทำนายว่าผู้ที่ทำให้ศิศุปาละเป็นเหมือนมนุษย์ปกติได้ จะเป็นผู้สังหารศิศุปาละ เมื่อท้าวทมโฆษกับพระนางศรุตเทวีทรงพาศิศุปาละไปเยี่ยมพระกฤษณะในฐานะญาติ พระกฤษณะทรงนำศิศุปาละนั่งบนตัก ศิศุปาละจึงมีสภาพเหมือนกับมนุษย์ปกติ พระนางศรุตเทวีจึงขอให้พระกฤษณะทรงให้อภัยให้ศิศุปาละเป็นจำนวน 100 ครั้ง ซึ่งพระกฤษณะก็ทรงสัญญากับพระนางศรุตเทวี
ต่อมา หลังจากที่ศิศุปาละได้เป็นพระราชาแคว้นเจทีแล้ว พระกฤษณะทรงชิงตัวพระนางรุกขมินี ผู้เป็นคู่หมั้นของท้าวศิศุปาละไป จึงทำให้ท้าวศิศุปาละทรงอาฆาตแค้นพระกฤษณะมาก เมื่อยุธิษฐิระจะประกอบพิธีราชสูยะขึ้น ท้าวศิศุปาละจึงไปเข้าร่วมพิธีด้วยเพื่อหาโอกาสด่าว่าพระกฤษณะ เมื่อครบ 100 ครั้ง พระกฤษณะจึงทรงใช้จักรสุทรรศน์ตัดศีรษะของศิศุปาละออก, ที่มา: https://en.m.wikipedia.org/wiki/Shishupala

พระกฤษณะสังหารศิศุปาละ, ที่มา: www.blockdit.com, วันที่เข้าถึง 6 กันยายน 2565.

 
104
       เมื่อเสร็จพิธีราชสูยะของกษัตริย์ยุธิษฐิระแล้ว พระกฤษณะและราชามหากษัตริย์องค์อื่น ๆ ต่างก็เสด็จกลับยังแว่นแคว้นของตน ๆ 

       ได้กล่าวไว้แล้วว่า ทุรโยธน์และพี่น้องตระกูลเการพอีก 99 องค์ก็ได้ไปร่วมในพิธีราชสูยะของกษัตริย์ยุธิษฐิระด้วย ระหว่างที่อยู่ในนครอินทรปรัสถ์นั้น ทุรโยธน์อดที่จะสังเกตเห็นอิทธิพลและความรุ่งเรืองของกลุ่มภราดาปาณฑพไม่ได้ และเมื่อได้เห็นแล้ว ก็เกิดความอิจฉาริษยาอย่างรุนแรงถึงกับไม่เป็นอันกินอันนอน.

       กลุ่มพี่น้องเการพมีพระญาติผู้ใหญ่อยู่องค์หนึ่งชื่อ ศกุนิ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของพวกเการพ เพราะเป็นพี่ชายของนางคานธารี มารดาของพวกเการพ ศกุนิเป็นคนเจ้าเล่ห์ ทว่ามีฝีมือในการเล่นสกา โดยส่วนตัวแล้วศกุนิได้ตั้งตนเป็นศัตรูกับพี่น้องปาณฑพตลอดมา กล่าวคือ พยายามเสี้ยมสอนยุแหย่ให้พี่น้องกลุ่มเการพหาทางกำจัดพี่น้องกลุ่มปาณฑพอยู่ทุกขณะ.

       ศกุนิรู้ใจทุรโยธน์ดีว่า เหตุใด นับแต่กลับจากพิธีราชสูยะของท้าวยุธิษฐิระมาแล้ว ทุรโยธน์จึงมีอาการหงอยเหงาและเศร้าซึมอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งศกุนิจึงเข้าไปหาทุรโยธน์ แล้วกล่าวขึ้นว่า.

       "ทุรโยธน์หลานรัก ลุงเห็นใจเจ้า เจ้าจงคลายความเศร้าโศกเสียใจเสียเถิด ลุงจะหาวิธีกำจัดไอ้พวกปาณฑพให้ ขอให้เจ้าปฏิบัติตามคำแนะนำของลุงก็แล้วกัน".

       เมื่อเห็นศกุนิให้กำลังใจเช่นนั้น ทุรโยธน์จึงดีใจเป็นกำลัง รีบพูดขึ้นว่า "หากท่านลุงช่วยข้ากำจัดพวกปาณฑพครั้งนี้ได้ ข้าจะไม่ลืมบุญคุณเลย ขอได้โปรดแนะนำข้าเถิดว่า พวกเราควรจะใช้วิธีการอย่างไร เวลานี้กองทัพของเราก็เข้มแข็ง บรรดาแม่ทัพนายกองก็ล้วนแต่มีฝีมือรบเป็นเยี่ยม เช่น อาจารย์โทฺรณะ อัศวัตถามา และกรรณะ เป็นต้น หากท่านลุงเห็นสมควร ข้าพเจ้าก็จะสั่งให้มีการเตรียมพร้อมและเคลื่อนไหวกำลังได้ทันที".


 
105
       "ทุรโยธน์หลานรัก กับพวกปาณฑพนั้นเราจะใช้กำลังไม่ได้ เพราะฝ่ายเขาก็มีกำลังและมีพันธมิตรไม่น้อยเหมือนกัน เรื่องนี้หลานก็ได้ประจักษ์แก่นัยน์ตาตนเองมาแล้วในพิธีราชสูยะ ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสิ้นไปเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง วิธีการของลุงนั้นไม่จำเป็นต้องเสียเลือดเนื้อแต่ประการใดเลย หลานก็ย่อมรู้อยู่ว่าสกาเป็นกีฬาในร่มซึ่งกลุ่มชนในวรรณะกษัตริย์โปรดปรานเป็นนักหนา และเมื่อได้เชิญใครแล้ว ก็ยากที่ผู้รับเชิญจะปฏิเสธได้ เพราะจะเป็นการเสียมารยาทและผิดประเพณีของวรรณะกษัตริย์ไป ก็และยุธิษฐิระนั้นใคร ๆ ก็รู้ว่าชอบสกามาก ลุงจึงขอแนะนำให้หลานจงไปขอร้องให้พ่อของหลาน เป็นผู้เชิญให้ยุธิษฐิระกับน้อง ๆ มาเล่นสกากันในบ้านเมืองของเรา ลุงจะช่วยหลานเล่นแล้วจะหาวิธีพนันขันต่อจนมิให้กลุ่มปาณฑพมีสมบัติอะไรติดตัวไดเลย ด้วยวิธีนี้อาณาจักรอินทรปรัสถ์ก็จะตกเป็นของพวกหลาน โดยมิต้องเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว" ศกุนิกระซิบกระซาบกับทุรโยธน์.

       คำพูดของศกุนินั้นมีอิทธิพลเหนือจิตใจของทุรโยธน์เสมอมา โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำลายล้างกลุ่มพี่น้องปาณฑพได้ เพราะทั้งสองคนมีจิตใจตรงกันในเรื่องนี้ หลังจากได้ฟังความเห็นของศกุนิและนำไปตรึกตรองดูชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทุรโยธน์ก็เห็นดีด้วย และได้นำความขึ้นกราบทูลให้ท้าวธฤตราษฎร์ผู้บิดาทราบ ในขั้นแรก ท้าวธฤตราษฎร์ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะเกรงจะได้รับการครหานินทาจากญาติพี่น้องและไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ว่า ได้วางแผนกับลูก ๆ กำจัดกลุ่มพี่น้องปาณฑพ ท้าวธฤตราษฎร์ได้ทรงขอให้มหามติวิทูรผู้ผ่านราชการมาแล้วหลายแผ่นดินแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้.

       "ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ามีความเห็นว่า เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้องค์ทุรโยธน์และศกุนิดำเนินการตามแผนนี้ เพราะการพนันนั้นได้ชื่อว่าเป็นอบายมุขอันจะนำไปสู่ความหายนะและความร้าวฉานกันระหว่างพี่น้อง" มหามติวิทูรทูลท้าวธฤตราษฎร์ด้วยความซื่อ.



106
       อย่างไรก็ตาม ทุรโยธน์ก็หาได้หยุดยั้งความพยายามในอันที่จะโน้มน้าวพระทัยของพระบิดาให้ทรงเห็นด้วยกับตนไม่ ทุรโยธน์ได้ชี้ให้เห็นอันตรายอันจะเกิดจากความเจริญรุ่งเรือง และความมีอำนาจของนครอินทรปรัสถ์ ซึ่งเรื่องนี้ท้าวธฤตราษฎร์เองก็ทรงหวั่นพระทัยอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อได้รับการเซ้าซี้จากโอรสหนักมือขึ้น ในที่สุดท้าวธฤตราษฎร์ก็ทรงเห็นด้วยที่จะให้เชิญพี่น้องปาณฑพมาเล่นสกาพนันกัน ณ นครหัสตินาปุระ ตามแผนการที่ศกุนิได้วางไว้.

       เพื่อให้สมเหตุสมผลและป้องกันการครหานินทาของคนทั้งปวง ท้าวธฤตราษฎร์ได้ดำรัสสั่งให้มีการสร้างสภาเมืองขึ้นให้โอ่อ่าและหรูหรามิให้แพ้สภาเมืองของนครอินทรปรัสถ์ และเมื่อได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จัดให้มีพิธีเปิดสภาขึ้น ในการนี้ทางฝ่ายนครหัสตินาปุระ ได้เชิญท้าวยุธิษฐิระและพี่น้องปาณฑพทั้งสี่อีกนางกุนตีผู้มารดา และนางเทฺราปทีผู้ชายา ให้ไปร่วมสังสรรค์ในพิธีด้วย.

       เมื่อพิธีเปิดอาคารสภาเมืองเสร็จสิ้นลงแล้ว ศกุนิกับทุรโยธน์ก็เอ่ยปากเชิญยุธิษฐิระกับภราดาให้อยู่เล่นสกาเป็นการฉลองสภาเมืองกันก่อน.

       "ไหน ๆ ก็เดินทางมาไกลถึงเพียงนี้แล้ว และนาน ๆ เราพี่น้องจะได้พบหน้ากันสักครั้ง จะด่วนเสด็จกลับนครอินทรปรัสถ์ไปทำไม ขอได้พักผ่อนสนุกสนามกับพวกเราต่อไปสัก 2-3 เพลาเถิด อนึ่ง เราได้จัดให้มีการแข่งขันสกาด้วย เจ้าพี่ก็ได้ชื่อว่าไม่เคยเป็นรองใครในกีฬาประเภทนี้ ขอได้โปรดประทานเกียรติให้พวกเราได้มีโอกาสชมฝีมือสกาเป็นขวัญตากันสักคราหนึ่งจะเป็นไรไป" ทุรโยธน์พูดกับยุธิษฐิระเป็นเชิงท้าทายไปในตัว.

       ยุธิษฐิระเองมีจุดอ่อนในเรื่องนี้อยู่ เพราะท้าวเธอโปรดการเล่นสกามากและมักจะไม่ยอมให้ผู้ใดมาท้าทาย เพราะถึงอย่างไร ๆ สกาก็ได้ชื่อว่าเป็นกีฬาของพระราชาอยู่ในสมัยนั้น.

       ยุธิษฐิระหันหน้าไปมองดูน้อง ๆ คล้ายกับจะขอความเห็น และน้อง ๆ ก็ดูเหมือนจะตอบไปด้วยสายตาว่าต้องรับคำท้าไว้ ฉะนั้น ยุธิษฐิระจึงยอมรับคำเชิญของทุรโยธน์ และตัดสินใจอยู่เล่นสกาในนครหัสตินาปุระต่อไป.

ศกุนิ (Shakuni) - ราชาแห่งแคว้นคันธาระ (Gandhara), ที่มา: Facebook เพจ MAD Literature, วันที่เข้าถึง 8 กันยายน 2565.


107
       การเล่นสกาได้จัดให้มีขึ้นในสภาเมืองซึ่งสร้างเพิ่งเสร็จดังได้พรรณนามาแล้ว ทั้งฝ่ายทุรโยธน์กับศกุนิผู้เชิญ และฝ่ายพี่น้องปาณฑพผู้รับเชิญต่างก็มาปรากฎกายอย่างพร้อมเพรียง ณ ท่ามกลางสโมสรสันนิบาตอันคับคั่ง.

       ก่อนจะลงมือเล่น ทุรโยธน์ได้แจ้งให้ฝ่ายปาณฑพทราบว่า เนื่องจากตนจะต้องดูแลแขกเหรื่อและจัดหาทรัพย์สินมาเดิมพันกัน เพราะฉะนั้น ตนจึงจะขอให้ศกุนิผู้เป็นลุงเล่นแทน ยุธิษฐิระอ้ำอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง เพราะไม่คาดคิดว่าทุรโยธน์จะมาไม้นี้ ยุธิษฐิระนั้นเชื่อมั่นว่าตนเองมีฝีมือสกาไม่แพ้ทุรโยธน์ จึงได้ยอมรับคำเชิญของทุรโยธน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์ผันแปรไปเช่นนี้ แม้ไม่สู้จะเต็มใจนัก แต่เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของลูกผู้ชาย ยุธิษฐิระก็ยินดีเล่นสกากับศกุนิโดยไม่เกี่ยงงอน ทั้ง ๆ ที่ทราบกันดีอยู่ว่า ศกุนินั้นเป็นนักสกาพนันตัวยงและมีเล่ห์เหลี่ยมในการเล่นมากมาย.

       การเล่นสกาได้ดำเนินไปอย่างเคร่งขรึมและค่อนข้างเครียด มีการนำทรัพย์สินศฤงคารทุกชนิด มาพนันขันต่อกันอย่างที่ท้าวพญามหากษัตริย์เท่านั้นจะพึงกระทำได้ โดยเหตุที่ศกุนิมีชั้นเชิงเล่นที่สูงกว่า และใช้วิธีไม่ซื่อด้วยจึงปรากฎว่ายุธิษฐิระเป็นฝ่ายแพ้อยู่ตลอดเวลา และยิ่งแพ้ ยุธิษฐิระก็ยิ่งมุมานะที่จะแก้ตัว และยิ่งเพิ่มเดิมพันที่มีค่ามากยิ่งขึ้นด้วย จนในที่สุดปรากฎว่า แม้อาณาจักร อนุชาทั้งสี่ ตนเอง และชายา ยุธิษฐิระก็ใช้เป็นเครื่องเดิมพันและก็พ่ายแพ้แก่ศกุนิไปทั้งหมด บรรดาประชาชนตลอดจนพระญาติและอาจารย์ผู้ใหญ่เช่น ภีษมะ อาจารย์โทฺรณะ และอาจารย์กฤปะ ต่างก็พากันตระหนกตกใจและเศร้าสลดสังเวชใจไปตาม ๆ กัน.

       ข้างฝ่ายเการพมีทุรโยธน์ ทุหศาสัน และธฤตราษฎร์ เป็นต้นนั้น ต่างก็ดีใจจนออกนอกหน้า และคิดว่าคราวนี้ พวกปาณฑพคงจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงความพินาศหายนะไปได้เป็นแน่แท้.

       เมื่อสกากระดานสุดท้ายซึ่งมีนางเทฺราปทีเป็นเดิมพันนั้นเล่นสิ้นสุดลงแล้ว อารามดีใจและด้วยความหยิ่งผยองในฐานะที่เป็นฝ่ายชนะ ทุรโยธน์จึงรีบสั่งให้มหามติวิทูรไปพาตัวนางเทฺราปทีมามอบให้แก่ตน ต่อหน้าคนทั้งหลายซึ่งยังอยู่กันพรั่งพร้อมในสภา.



108
       มหามติวิทูรผู้เฝ้าดูพฤติการณ์ของฝ่ายเการพมาตั้งแต่แรก และได้เคยทัดทานไม่ให้ทุรโยธน์เชิญพี่น้องปาณฑพมาเล่นสกา เพราะเห็นว่าเป็นอบายมุขอันรังแต่จะสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างพี่น้อง เมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นไปเช่นนั้นก็ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของทุรโยธน์ พร้อมกับพูดขึ้นท่ามกลางสภาว่า.

       "ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับวิธีการเช่นนี้ขององค์ทุรโยธน์กับศกุนิ ข้าพเจ้าหวั่นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นชนวนไปสู่การนองเลือดระหว่างพี่น้องตระกูลเการพกับปาณฑพ องค์ยุธิษฐิระไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะใช้องค์หญิงเทฺราปตีเป็นเครื่องพนันขันต่อ เพราะได้สูญเสียความเป็นไทแห่งตนเองให้แก่องค์ทุรโยธน์ไปแล้ว ก่อนที่จะมีการระบุให้องค์หญิงเทฺราปทีเป็นเดิมพัน ในการพนันขันต่ออันเต็มไปด้วยเล่ห์กระเท่ห์ครั้งนี้".

       ทุรโยธน์กริ้วโกรธมาก เมื่อได้ยินคำพูดของวิทูรอำมาตย์อาวุโสผู้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป จึงหันไปสั่งสารถีผู้มีนามว่า ประติกามี ให้ไปพาตัวนางเทฺราปทีมาให้ได้.

       สารถีประติกามีรีบรุดไปยังที่ประทับของนางเทฺราปที แล้วทูลให้ทรงทราบถึงพฤติการณ์ทุกประการที่ได้เกิดขึ้นตามลำดับ.

       "เจ้าจงกลับไปทูลถามธรรมบุตรยุธิษฐิระ สวามีของเราก่อนว่า เมื่อได้ทรงสูญเสียความเป็นไทของพระองค์เองให้แก่ศกุนิเช่นนั้นแล้ว พระองค์ทรงมีสิทธิอันใดอีกเล่า ที่จะอ้างผู้อื่นเป็นเดิมพันในการพนันขันต่อของพระองค์ครั้งนี้" นางเทฺราปทีรับสั่งกับสารถีประติกามี.

       เมื่อได้ฟังคำถามของยอดนารีศรีชายาจากปากของประติกามีเช่นนี้ ท้าวยุธิษฐิระถึงกับทรงหมดสติ เป็นลมล้มพับแน่นิ่งไป ยังผลให้ภราดาปาณฑพอีก 4 องค์ต้องช่วยถวายโอสถประคับประคองกันอยู่พักหนึ่ง.

       ฝ่ายสารถีประติกามี เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่จะไปทูลให้นางเทฺราปทีหายข้องพระทัยได้เช่นนั้น ก็ไม่กล้าที่จะกลับไปทูลเชิญให้นางเสด็จมากับตนตามบัญชา
ของทุรโยธน์ได้.

 
109
       ถึงตอนนี้ ทุรโยธน์บันดาลโทสะสุดขีด จึงหันไปสั่งทุหศาสันผู้น้องชายให้ไปนำตัวนางเทฺราปทีมาให้จงได้ พร้อมกันนั้นก็ด่าว่าประติกามีว่าเป็นคนขลาดตาขาวต่าง ๆ นานา.

       ทุหศาสัน (Duḥśāsana) นั้นได้ชื่อว่าเป็นคนหยาบช้าและกักขฬะอยู่แล้ว พอไปถึงห้องที่นางเทฺราปทีพักอยู่ ก็ส่งเสียงเอะอะร้องเรียกให้นางออกมาโดยเร็ว เพราะบัดนี้สวามีของนางได้แพ้สกา และโดยเหตุที่สวามีได้วางตัวนางไว้เป็นเดิมพัน นางจึงต้องตกเป็นสมบัติของฝ่ายตรงข้าม กล่าวคือนางจะต้องไปอยู่ในราชสำนักของนครหัสตินาปุระในฐานะหญิงคนใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.

ทุหศาสันกระชากดึงนางเทฺราปทีเข้ามาในสภา, จิตรกร:Mackenzie, Donald Alexander ภาพชื่อ: The ordeal of Queen Draupadi, วาดไว้เมื่อ 1 มกราคม 2458, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 25 กันยายน 2565.

       นางเทฺราปทีได้ฟังดังนั้นก็ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ นางร้องไห้คร่ำครวญออกมาทันที พร้อมกับขอร้องว่า นางยังแต่งกายไม่เรียบร้อย ขอเข้าไปแต่งกายในห้องเสียก่อนแล้วจะยอมไปด้วย.

       แต่ทุหศาสันไม่ฟังเสียง ตรงเข้าไปฉุดลากกระชากตัวชายาผู้เคราะห์ร้ายของภราดาปาณฑพไปจนถึงกลางสภาเมือง อันเป็นที่เล่นสกาพนันของพี่น้องสองตระกูลดังกล่าวมาแล้ว.

       ระหว่างที่ถูกฉุดลากกระชากตัวมายังใจกลางของสภาเมืองนั้น นางเทฺราปทีผู้มีสภาพน่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ได้หันหน้าไปมองคล้ายกับจะขอความช่วยเหลือจากทุกคนซึ่งนั่งอยู่ในสภานั้น ในบรรดาบุคคลเหล่านั้นมีท้าวธฤตราษฎร์ ภีษมะ อาจารย์โทฺรณะและมหาวิทูรรวมอยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดเข้าห้ามปรามหรือขัดขวางการกระทำของทุหศาสันเลย.

       ตอนหนึ่ง ขณะที่ร่างกายกำลังถูกลากกระชากผ่านหน้าธารกำนัลไปเช่นนั้น นางเทฺราปทีถึงกับอุทานขึ้นว่า

       "อนิจจาเอ๋ย! บ้านเมืองของเราช่างไม่มีขื่อแปและไร้ศีลธรรมกันถึงเพียงนี้แล้วหรือนี่".

       ขณะนั้น วิกรรณะซึ่งเป็นอนุชาองค์หนึ่งของทุรโยธน์ และได้ชื่อว่าเป็นคนตรงไปตรงมา มีศีลธรรมประจำใจ ได้ลุกขึ้นพูดในท่ามกลางความงงงวยของผู้ที่อยู่ในสภาทั้งหมดว่า.

       "พี่ทุหศาสัน! ขอให้ยับยั้งการกระทำอันน่าบัดสีนี้เสียเถิด น้องเห็นว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ที่จะไปนำองค์หญิงเทฺราปทีเข้ามาพัวพันในการพนันขันต่อครั้งนี้ พี่ยุธิษฐิระไม่มีสิทธิที่จะใช้เธอเป็นเดิมพัน เพราะเธอมิได้เป็นชายาของพี่ยุธิษฐิระแต่องค์เดียว หากแต่เป็นชายาของพี่น้องปาณฑพอีกสี่องค์ด้วย นอกจากนี้ เมื่อพี่ยุธิษฐิระเล่นพนันแพ้ และตนเองต้องตกเป็นสมบัติหรือเป็นทาสของผู้อื่นแล้ว พี่ยุธิษฐิระก็ย่อมไม่มีสิทธิหรืออำนาจเหนือผู้อื่นอีก".




110
       ที่ประชุมต่างก็หันหน้ามองดูกัน คล้ายกับจะเห็นด้วยกับเหตุผลของวิกรรณะหลายคนพูดออกมาทันทีว่า วิกรรณะพูดถูก ยุธิษฐิระหมดความเป็นไทเหนือตนเอง เพราะได้วางตัวลงเป็นเดิมพันแก่ศกุนิ และได้เล่นแพ้แก่ศกุนิไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิเหนือตนเองหรือเหนือผู้อื่นแต่อย่างใด.

       ทันใดนั้น กรรณะซึ่งนั่งดูศกุนิและยุธิษฐิระเล่นสกาอยู่ ฯ ที่นั้นด้วยได้พูดขึ้นว่า.

       "ยุธิษฐิระเป็นเจ้าเหนือดินแดนอินทรปรัสถ์ เป็นพี่ชายใหญ่ของพี่น้องปาณฑพ ทั้งเป็นสวามีเของเทฺราปทีด้วย เพราะฉะนั้น คำพูดของยุธิษฐิระย่อมมีอำนาจเหนือสรรพชีวิตและสรรพสิ่งในนครอินทรปรัสถ์ ทีนี้แหละ ทุหศาสัน! เธออย่าชักช้าอยู่เลย จงปลดเปลื้องภูษาและอาภรณ์ทั้งหมดบนร่างของพี่น้องปาณฑพและนางเทฺราปที แล้วนำมากองไว้ต่อหน้าเราเดี๋ยวนี้!".

       ทันทีที่กรรณะพูดจบ พี่น้องปาณฑพทั้งห้าก็เปลื้องเสื้อผ้าและเพชรนิลจินดาทั้งหมดออกมากองไว้ ณ เบื้องหน้าตน ส่วนนางเทฺราปทีนั้น เนื่องจากเป็นหญิงย่อมจะมีความละอายมากเป็นธรรมดา จึงมีอาการรีรอไม่ยอมกระทำตามสวามี.

       ด้วยความหยาบช้าสามานย์อันเป็นสันดานประจำตัว ทุหศาสันเดินตรงไปยังร่างของนางเทฺราปทีแล้วกระชากผ้าส่าหรีที่ปกปิดกายนางอยู่ โดยเจตนาที่จะสร้างความอับอายให้แก่นางต่อหน้าธารกำนัล.

       เมื่อถูกคุกคามหนักเช่นนั้น และเมื่อมองไม่เห็นว่าจะมีผู้ใดมาช่วยนางได้ ด้วยความตระหนกตกใจเป็นที่สุด เทฺราปทีผู้น่าสงสารจึงก้มศีรษะลงซบกับฝ่ามือทั้งสอง พลางน้อมจิตรำลึกถึงพระกฤษณะผู้เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในโลก พร้อมกันนั้นนางก็เปล่งวาจาขึ้นว่า.

พระนารายณ์หรือพระวิษณุทรงครุฑ {นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าเป็นภาพสลักที่ พระกฤษณะสี่กรทรงครุฑ ทรงนำเขามณีบรรพต (Mount Maniparvata) ส่งคืนให้พระอินทร์} ภาพสลักหินทรายที่มุมระเบียงคดทิศเหนือปีกตะวันตก นครวัด กัมพูชา, ที่มา: Facebook เพจ ASEAN Society & Culture, วันที่เข้าถึง 20 กันยายน 2565.


 
111
       "โอ้! พระกฤษณะ! โอ้! พระบิดา! ขอได้โปรดประทานพระเมตตาแก่ข้าน้อยในยามวิบัติครั้งนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า".

       ทันใดนั้น ผ้าสาหรีที่ทุหศาสันกำลังดึงออกจากร่างของนางเทฺราปทีก็คลี่ยาวขึ้น ๆ และทุหศาสันยิ่งใช้กำลังดึงมากเท่าใด ผ้าสาหรีนั้นก็ยิ่งคลี่ยาวมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยร่างของนางไม่ต้องอยู่ในสภาพเปลือยเลย ทั้งนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ผู้คนทั้งหลายที่อยู่ในสภาเป็นอย่างยิ่ง พฤติการณ์ดังกล่างทำให้ทุหศาสันเองถึงกับตัวสั่นด้วยความตระหนกตกใจ และเมื่อเห็นว่าจะพยายามดึงทิ้งไปสักเท่าไร ๆ ผ้าส่าหรีก็ไม่มีวันหมดสิ้นสักที! ในที่สุดด้วยความเหนื่อยอ่อน ทุหศาสันก็หยุดการกระทำอันน่าบัดสีนั้น!

       ต่อจากนั้น กรรณะก็บงการให้ทุหศาสันใช้กำลังฉุดลากกระชากผมยาวของนางเทฺราปที ดังตัวไปไว้ในราชวังชั้นใน โดยตะโกนขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า.

       "เอานังตัวดีนี่ไปขังไว้ในราชวังชั้นใน เพราะบัดนี้มันเป็นทาสีในครัวเรือนของพวกเราแล้ว!".

      
มหามติวิทูรผู้ทนเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา บัดนี้เหลือกำลังที่จะอดทนต่อไปได้ จึงรีบรุดเข้าไปเฝ้าท้าวธฤตราษฎร์แล้วกระซิบที่พระกรรณว่า.

       "ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า การกระทำขององค์ทุรโยธน์และพรรคพวกครั้งนี้ผิดทำนองคลองธรรมและประเพณีอันดีงามเป็นอย่างยิ่ง ขอพระองค์จงทรงยับยั้งการกระทำของโอรสเสียเดี๋ยวนี้โดยเด็ดขาด มิฉะนั้นแล้ว แผ่นดินหัสตินาปุระจะลุกเป็นไฟโดยแน่แท้!".

       ท้าวธฤตราษฎร์ทรงฟังแล้วก็มิได้ตรัสว่ากระไร.

       ความคึกคะนองลำพองใจทำให้ทุรโยธน์บังอาจหันหน้าไปยิ้มใส่นางเทฺราปทีซึ่งกำลังอยู่ในสภาพที่โศกเศร้าสุดจะพรรณนา พลางกวักมือเรียกนางแล้วชี้ให้นางมานั่งบนตักของตน.

       ภีมะสุดที่จะทนนั่งดูการกระทำอันหยาบช้าสามานย์ของทุรโยธน์ต่อไปได้ จึงผลุนผลันลุกขึ้นยืนแล้วประกาศก้องกลางสภาว่า "ทุรโยธน์! คอยดู! สักวันหนึ่งเราจะฉีกตักของเจ้าออกเป็นชิ้น ๆ ให้สาสมกับความกักขฬะที่เจ้าได้แสดงต่อเมียรักของเรา!".



112
       นางเทฺราปทีเองก็ส่งเสียงกรีดกราดออกมาพร้อมกับกล่าวคำสาปแช่งขึ้นดังไปทั่วทั้งสภาว่า.

       "ทุรโยธน์! น่าเสียดายที่ท่านเกิดมาในตระกูลกษัตริย์ แต่มิได้มีจิตใจและความประพฤติเยี่ยงกษัตริย์แม้แต่น้อย พวกท่านได้กลุ้มรุมข่มเหงหญิงผู้หมดทางต่อสู้เช่นเรา ขอให้ฟ้าดินและบาปกรรมจงลงโทษท่านและพรรคพวกของท่านตามคำสาปแช่งของเราดังต่อไปนี้.

          ๑.  ขอท่านจงประสบกับความตายโดยอาวุธของศัตรูที่โคนขา เพราะท่านบังอาจกวักมือเรียกเราไปนั่งบนตักของท่าน.
          ๒.  ขอให้องค์ภีมะจงฉีกอกและดื่มเลือดของทุหศาสันเสียเพราะความประพฤติอันชั่วช้าสามานย์ที่ได้ทำไว้กับเรา.
          ๓.  ขอให้กรรณะคนชั่วพร้อมด้วยลูก ๆ และญาติวงศ์พงศาตายด้วยน้ำมือขององค์อรชุนผู้แม่นธนู.
          ๔.  ส่วนศกุนิผู้คดในข้องอในกระดูกและมีจิตใจต่ำช้าเลวทรามนั้น ขอให้จบชีวิตลงด้วยหัตถ์ขององค์สหเทพเถิด.
"

       สิ้นเสียงของนางเทฺราปทีกุลสตรีผู้เปี่ยมด้วยความดีงาม ก็ปรากฎมีบุปผานานาพรรณโปรยปรายลงมาจากฟากฟ้า ยังให้บริเวณทั่วทั้งสภาและรอบ ๆ อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของบุปผชาติเหล่านั้นด้วย.

       ฝ่ายอรชุน พอได้ยินเสียงของนางเทฺราปทีสาปแช่งให้กรรณะตายด้วยฝีมือของตน ก็ผลุนผลันลุกขึ้นหยิบธนูเตรียมจะบุกเข้าไปยังกลุ่มพวกเการพทันที ยุธิษฐิระเกรงว่าจะเกิดเรื่องใหญ่ จึงห้ามอรชุนไว้โดยพูดว่า.

       "อรชุนน้องรัก! เพื่อศักดิ์ศรีของพี่และเพื่อป้องกันการครหาว่าเราเป็นพวก "ขี้แพ้ชวนตี" พี่ขอห้ามน้องว่า จงอย่าได้มีเรื่องกับฝ่ายเการพเลย ขอจงวางธนูเสียเถิดน้อง!".

       ด้วยความคารวะที่มีต่อพี่ชายประดุจบิดาบังเกิดเกล้า อรชุนทรุดกายลงนั่งบนพื้นสภาทันทีที่ยุธิษฐิระพูดจบ.

       กษณะนั้น เสียงหอนอันเยือกเย็นโหยหวนของบรรดาสุนัขจิ้งจอกก็ดังก้องมาจากโหมศาลาอันได้แก่สถานที่ประกอบพิธีบูชายัญ พร้อมกันนั้นก็มีเสียงขานรับเป็นทอด ๆ ของเหล่าลา และวิหคนกกาดังเซ็งแซ่ประสานกันขึ้นมาจากทั้งสี่ทิศ.


 
113
       มหามติวิทูรผู้ผ่านประสบการณ์มาแล้วหลายแผ่นดินถึงกับสะดุ้งและตัวสั่นด้วยความกลัว เพราะเสียงของสัตว์ทั้งสามประเภทนี้เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณกาลแล้วว่าเป็นลางร้าย หมายถึงว่าจะมีเหตุวิบัติเกิดขึ้นในแผ่นดิน เสียงซึ่งถือกันว่าไม่เป็นมงคลนี้ แม้นางคานธารีชนนีของทุรโยธน์ ท้าวภีษมะ ผู้อาวุโสในแผ่นดิน อาจารย์โทฺรณะ และอาจารย์กฤปะ ต่างก็ได้ยินถนัดด้วยหูของตนเองกันอย่างถ้วนทั่ว ดังนั้น บุคคลเหล่านี้จึงหันหน้าเข้าปรึกษากันและทูลท้าวธฤตราษฎร์ว่า.

       "ขอเดชะ อันลางร้ายซึ่งได้อุบัติขึ้นนี้เป็นเครื่องเตือนสติแล้วว่า องค์ทุรโยธน์ ศกุนิ ทุหศาสัน และพรรคพวกคนอื่น ๆ จะต้องยุติการก่อกรรมทำเข็ญกับพี่น้องปาณฑพเสียตั้งแต่บัดนี้ มิฉะนั้นแล้วก็น่ากลัวว่า จะเกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงขึ้นในแผ่นดินของเราเป็นแน่แท้".

       ท้าวธฤตราษฎร์ทรงนิ่งอึ้งไปครู่หนึ่ง พระพักตร์สลดเพราะคำพูดของเชษฐบุรุษแห่งแผ่นดินตามที่ได้กล่าวนามมาแล้ว พระองค์ทรงอิดเอื้อนอยู่ครู่หนึ่งจึงกวักพระหัตถ์ให้ยุธิษฐิระและนางเทฺราปทีเข้ามาเฝ้าอย่างใกล้ชิดพลางรับสั่งว่า.

       "หลานรักทั้งสอง!  ลุงขอแสดงความเสียใจด้วยกับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น มันเป็นความผิดของพวกลูก ๆ ของลุง แต่เพื่อเห็นแก่วงศ์ตระกูลของเรา ขอให้หลานจงลืมมันเสียเถิด ลุงขอคืนเสรีภาพให้แก่เจ้าและอนุญาตให้เจ้ากับน้อง ๆ รวมทั้งมารดากลับไปอยู่กันในบ้านเมืองของเจ้า พร้อมด้วยทรัพย์สินทั้งหมดที่เจ้าใช้เป็นเดิมพันในการเล่นสกาครั้งนี้ ขอให้เจ้าทั้งหมดประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด!".

       ยุธิษฐิระ นางเทฺราปที และภราดาปาณฑพทั้งหมด ต่างก็รู้สึกประหลาดใจในคำพูดและการกระทำของท้าวธฤตราษฎร์ แต่ก็ไม่มีผู้ใดปริปากว่ากระไร ทั้งหมดจึงก้มลงกราบท้าวธฤตราษฎร์ แล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่นครอินทรปรัสถ์.



114
       กลุ่มภราดาปาณฑพยังมิทันจะเคลื่อนคล้อยพ้นเขตนครหัสตินาปุระไปเลย ทุรโยธน์ ศกุนิ กรรณะ และทุหศาสันก็ตรงเข้าไปตัดพ้อต่อว่าท้าวธฤตราษฎร์ว่า การที่ได้ปล่อยพี่น้องปาณฑพเป็นอิสระ และให้กลับไปครองนครอินทรปรัสถ์ตามเดิมนั้น เปรียบเสมือนปล่อยกลุ่มพยัคฆ์ร้ายเข้าป่า อย่าหวังเลยว่าพวกนั้น จะไม่หาทางแก้แค้นและทำลายล้างนครหัสตินาปุระต่อไป อันที่จริงแล้ว ฝีมือเชิงสกาของยุธิษฐิระก็มิใช่ว่าจะเป็นรองศกุนิเท่าไรนัก แต่อาศัยความชำนาญในชั้นเชิงและเล่ห์เหลี่ยม ศกุนิจึงสามารถเอาชนะ ยุธิษฐิระได้เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของนครหัสตินาปุระและราชตระกูลเการพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางขจัดอิทธิพลของกลุ่มพี่น้องปาณฑพเสียด้วยการเนรเทศให้ไปอยู่เสียในป่า แผนการนี้จะสำเร็จได้โดยไม่ยาก แต่จะต้องเชิญยุธิษฐิระกับน้อง ๆ ให้กลับมาเล่นสกากับศกุนิใหม่ เงื่อนไขของการเล่นครั้งนี้ก็คือ ใครแพ้จะต้องไปอยู่ป่า!.

       คำพูดของบุคคลทั้งสี่บังเกิดผลสมคาดหมาย เพราะท้าวธฤตราษฎร์นั้นแม้จะทรงมีความเป็นธรรมในพระทัยอยู่บ้าง แต่ก็อดที่จะระแวงในความเจริญรุ่งเรืองของกลุ่มปาณฑพเสียมิได้ โดยเฉพาะเมื่อบุคคลผู้ใกล้ชิดทั้งสี่มาพูดพร้อมเพรียงกันเช่นนั้น ท้าวเธอจึงทรงเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย ระหว่างนั้น นางคานธารีมเหสีของท้าวธฤตราษฎร์และกนิษฐภคนีของศกุนิซึ่งนั่งฟังบุคคลทั้งห้าเจรจากันได้คัดค้านขึ้นว่า.

       "หม่อมฉันเห็นว่า ฝ่ายเรามีเจตนาไม่บริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น การที่พระองค์ทรงเห็นด้วยกับคำเตือนขององค์ภีษมะ อาจารย์โทฺรณะ และอาจารย์กฤปะ และได้อนุญาตให้กลุ่มภราดาปาณฑพ กลับไปครองนครอินทรปรัสถ์ตามเดิมนั้น นับว่าถูกต้องเป็นอย่างยิ่งแล้ว พี่น้องสองตระกูลนี้จะได้สิ้นความเป็นศัตรูและเลิกจองเวรจองกรรมกันเสียที".

       "วินาศกาเล วิปรีต พุทฺธิ" ภาษิตภาษาสันสกฤตซึ่งมีความหมายว่า "เมื่อยามที่ความพินาศหายนะจะมาถึง พุทธิหรือสติปัญญาก็มักจะแปรปรวนไป" นั้นออกจะเป็นความจริงอยู่มากทีเดียว เพราะการณ์ปรากฎว่า แทนที่จะเชื่อฟังมเหสีและเชษฐบุรุษแห่งรัฐอันมีท้าวภีษมะ และอาจารย์โทฺรณะ เป็นต้น ท้าวธฤตราษฎร์กลับหันไปเชื่อทรชนคนชั่วเช่น ทุรโยธน์และศกุนิ ดังนั้น พระองค์จึงมีบัญชาให้นายสารถีประติกามี รีบควบม้าเร็วไปตามพี่น้องปาณฑพให้กลับมาเล่นสกากันอีก.



115
       เมื่อสารถีประติกามีควบม้าไปทันขบวนของกลุ่มปาณฑพก็รีบเข้าไปทูลให้ท้าวยุธิษฐิระทราบถึงคำเชิญของท้าวธฤตราษฎร์ แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางและไม่มีพระทัยจะกลับไปเล่นเท่าใดนัก แต่ด้วยขัตติยมานะและอาจจะเป็นเพราะลิขิตของกรรมเก่าด้วยก็เป็นได้ ยุธิษฐิระทรงรับคำเชิญของธฤตราษฎร์ และสั่งให้ขบวนผู้ติดตามเดินทางกลับนครหัสตินาปุระโดยมิชักช้า.

       เงื่อนไขของการเล่นสกาครั้งที่สองระหว่างศกุนิกับยุธิษฐิระก็คือ ฝ่ายแพ้จะต้องเนรเทศตนเองไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปี โดยนุ่งห่มหนังกวางและใช้ชีวิตเป็น สันยาสี (นักบวช) (รายละเอียดดูเพิ่มเติมใน หมายเหตุ คำอธิบาย ที่ 06 และ 07 หน้าที่ 7 ของ 01.101 อนุกรมณิกา บรรพ) ในปีที่ 13 จะต้องอยู่อย่างชนิดที่ไม่ไห้มีใครจำหน้าได้ หากมีผู้พบและจำได้ จะต้องอยู่ในป่าต่อไปเป็นเวลาอีก 12 ปี ทั้งสองฝ่ายตกลงเล่นสกาตามเงื่อนไขดังกล่าว และผู้เล่นก็คือศกุนิกับยุธิษฐิระเช่นเดิม บรรดาญาติและครูบาอาจารย์ผู้เล็งการณ์ไกลเช่น ภีษมะ โทฺรณะ วิทูร นางคานธารี นางกุนตี นางเทฺราปที และแม้แต่อัศวัตถามาผู้บุตรของโทฺรณาจารย์ ต่างก็พยายามห้ามปรามมิให้ยุธิษฐิระเล่นแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ในที่สุด สองฝ่ายก็ลงมือเล่นกัน และการเล่นก็เป็นไปดังที่ทุกคนได้คาดหมายไว้ล่วงหน้า กล่าวคือ ยุธิษฐิระเป็นฝ่ายแพ้ และเมื่อแพ้แล้วก็ต้องเนครเทศตนเองไปอยู่ในป่าตามเงื่อนไขที่ได้พรรณนามาแล้ว.

       มหามติวิทูรผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์มาตลอด เกิดความสงสารนางกุนตีชนนีของปาณฑพเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่านางเข้าสู่วัยชราแล้ว จะไปบุกป่าฝ่าดงนอนกลางดินกินกลางไพรกับพวกลูก ๆ นั้น เห็นทีจะไม่ปลอดภัย จึงขออนุญาตยุธิษฐิระให้ทิ้งมารดาไว้กับตน ตนจะดูแลเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจนกว่ากษัตริย์ปาณฑพจะครบระยะเวลาแห่งการเนรเทศตนเอง แล้วกลับมาครองอินทรปรัสถ์ตามเดิม ด้วยความสงสารมารดา ยุธิษฐิระจึงยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำของวิทูรผู้รักความเป็นธรรมและมีน้ำใจอันเลิศล้ำด้วยปัญญาจนได้รับสมญาว่า มหามติ ดังได้พรรณนามาแล้ว.



116
       ด้วยประการฉะนี้ ภราดาปาณฑพทั้งห้าพร้อมด้วยนางเทฺราปที ผู้ศรีชายาและปุโรหิตเธามฺยะ ก็ออกเดินทางจากนครหัสตินาปุระไปสู่ป่าตามเงื่อนไขของการเล่นสกา ก่อนออกเดินทางพ้นกำแพงเมืองหัสตินาปุระ ภีมะ อรชุน และสหเทพ ได้ลั่นวาจาไว้ว่า "แม้ภูเขาหิมาลัยจะพังทลายลงมาหมด และแม้ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก เราก็จะขอกลับมาล้างเหล่าเการพให้สิ้นซากเสียให้จงได้!".

       หลังจากที่พี่น้องปาณฑพได้เข้าป่าไปแล้วสัก 2-3 เพลา วันหนึ่งพระนารทมุนีผู้ทรงศีลและมีญาณรู้เหตุการณ์ในอนาคต ได้เดินทางมาแวะเยี่ยมท้าวธฤตราษฎร์และได้กล่าวเป็นคำเตือนไว้ว่า.

       "ในปีที่ 14 นับแต่นี้เป็นต้นไป บาปกรรมอันมหันต์ของทุรโยธน์โอรสของมหาบพิตรจักเป็นมูลเหตุให้ตระกูลเการพทั้งสิ้นต้องมีอันมลายหายสูญไปจากผืนปฐพีนี้!"

       ท้าวธฤตราษฎร์ได้ทรงฟังแล้วก็ได้แต่ประทับนิ่ง พระพักตร์ซีดสลด พระสรีระสั่นสะท้านไปทั่วสรรพางค์.

 
จบบรรพที่ 2: สภาบรรพ

 
แหล่งอ้างอิง:
01จาก. "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic," ISBN: 978-0-2412-6434-8, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดัม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "มหาภารตยุทธ," แปลและเรียบเรียงโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย, ISBN 974-85553-1-3, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2533, สำนักพิมพ์บริษัท เคล็ดไทย จำกัด.
03จาก. "The Mahābhārata," An abridged translation by JOHN D. SMITH, ISBN: 978-0-140-44681-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน บุ๊คส์, พ.ศ.2552. สหรัฐอเมริกา. www.penguin.com.
04. จาก. "The Mahabharata: Complete 18 volume," Veda Vyasa, Kisari Mohan Ganguli, แปล (เป็นภาษาอังกฤษ) [พ.ศ.2426-2439], ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2564 โดยสำนักพิมพ์ ซานซานิ.




 
humanexcellence.thailand@gmail.com