MENU
TH EN

01. พาลกัณฑ์ - สรรคที่ 1-3

ภาพพระราม, พัฒนาเมื่อ 13 สิงหาคม 2567.
01. พาลกัณฑ์ (बालकाण्ड - bālakāṇḍa) สรรคที่ 1-3
First revision: Jul.16, 2024
Last change: Oct.26, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
.
 
หน้าที่ 1
พาลกัณฑ์
สรรคที่ 1
1.
ๅษีนารทมุนี1. ผู้เป็นดั่งโคในหมู่ปราชญ์ ผู้อุทิศตนด้วยความเข้มงวดและการพร่ำศึกษาด้วยตนเอง. ท่านเป็นนักพรตและเป็นเลิศในหมู่ผู้กล่าววาจาไพเราะ. มหาฤๅษีวาลมีกิได้ถามท่านว่า 'บัดนี้มีใครในโลกนี้เล่าที่กล้าหาญและมีคุณสมบัติเพียบพร้อม? มีใครบ้างที่รู้เกี่ยวกับธรรม2 และสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว? ใครเล่าที่ซื่อสัตย์ในถ้อยคำของตนและมั่นคงในคำปฏิญาณ? ใครเล่ามีความประพฤติดีและมีส่วนร่วมในความอยู่ดีมีสุขของสัตว์ทั้งปวงอีกด้วย? ใครเล่าที่เรียนรู้และมีความสามารถ? ใครเล่าที่คมสันหล่อเหลาเป็นหนึ่ง? ใครเล่าที่สามารถควบคุมตนเองและเอาชนะความโกรธได้? ใครเล่าที่เบิกบานไร้ความริษยา? เมื่อความโกรธของเขาถูกปลุกเร้าในสนามรบ แม้แต่เทพเจ้ายังเกรงกลัว ใครบ้างที่ไม่เกรง? ข้าฯ อยากได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด ความอยากรู้อยากเห็นของข้าฯ นั้นเป็นเลิศ. โอ จอมปราชญ์! ท่านคือผู้ที่สามารถรู้เกี่ยวกับบุรุษเช่นนี้ได้. ฤๅษีนารทมุนีผู้รู้เรื่องราวทั้งสามโลก3. เมื่อได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ท่านก็มีความยินดี.

       ฤๅษีนารทมุนีก็กล่าวเชิญให้มหาฤๅษีวาลมีกิสดับและพูดขึ้นว่า 'ท่านปราชญ์! คุณสมบัติมากมายที่ท่านเล่ามานั้น นับว่าหาได้ยากมาก ข้าฯ จะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับบุรุษผู้นี้ โดยใช้ภูมิปัญญาของข้าฯ' ข้าฯ จะเล่าให้ท่านฟังเกี่ยวกับบุรุษผู้นี้. ข้าฯ ได้ยินเกี่ยวกับเขามาบ้าง4. เขาถือกำเนิดมาในสายวงศ์ของท้าวอิกษวากุ5 และผู้คนรู้จักเขาในนามพระราม (राम - Rāma). พระองค์ทรงควบคุมจิตใจตนเองได้และทรงกล้าหาญยิ่ง. พระองค์ทรงเปล่งประกาย มีความแข็งแกร่ง และสามารถควบคุมตนได้6. พระองค์ทรงเฉลียวฉลาดและพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำที่ดี พระองค์พูดจาไพเราะและดูหล่อเหลา. พระองค์เป็นผู้ทำลายล้างหมู่ศัตรูปัจจามิตร. ทรงมีไหล่ที่กว้างและแขนที่แข็งแรง. พระศอดั่งหอยสังข์และมีโหนกแก้มที่โดดเด่น. ทรวงอกกว้างและทรงมีคันธนูอันใหญ่. พระองค์ทรงเป็นผู้ปราบศัตรูและช่วงไหล่มีการซ่อนกระดูกไหปลาร้าไว้. ช่วงแขนของพระองค์ทอดยาวลงมาถึงหัวเข่า พระองค์ทรงมีศีรษะที่ยอดเยี่ยมและหน้าผากที่สวยงาม. การย่างก้าวของพระองค์นั้นเลอเลิศ. รูปร่างองค์พระรามนั้นมีขนาดกลางและพระวรกายได้สัดส่วน. พระองค์มีผิวพรรณที่ผ่องใสและดูมีอำนาจ. ทรงมีพระวรกายกำยำล่ำสันและพระเนตรโต. พระองค์ทรงมั่งคั่งและมีคุณสมบัติอันเป็นมงคลทุกประการ. พระองค์ทรงรอบรู้ในธรรมะ. พระองค์ทรงยึดมั่นในความจริงและอุทิศตนเพื่อสวัสดิภาพสนับสนุนประชาราษฎร์. พระองค์ทรงมีชื่อเสียงและเต็มไปด้วยความรู้. พระองค์นั้นบริสุทธิ์ มีสติสัมปชัญญะ และทรงยับยั้งชั่งใจ. พระองค์ทรงเป็นผู้ปกปักรักษาโลกของสรรพชีวิต พร้อมทั้งปกป้องธรรมะด้วย. พระองค์ทรงรู้ความจริงเกี่ยวกับพระเวทและเวทางคะ และทรงเชี่ยวชาญในวิชาธนุรเวท7. พระองค์ได้ตระหนักรู้ถึงความจริงเกี่ยวกับคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวล. พระรามผู้งดงามและมีความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์สมฤติ8. พระองค์ทรงมีคุณธรรมและเป็นที่รักของหมู่ชนทั้งหลาย. พระองค์ทรงมีวิจารณญาณดี และไม่ทรงโศกเศร้าในจิตใจ. เฉกเช่นแม่น้ำทุกสายมุ่งสู่มหาสมุทร ผู้มีคุณธรรมทั้งหมดต่างล้วนเข้ามาหาพระองค์. พระองค์ทรงเป็นอารยะ9 (สูงศักดิ์) และเที่ยงธรรมต่อทุกคน. มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่หล่อเหลาคมสัน.

การสนทนาระหว่างฤๅษีนารทมุนีกับมหาฤๅษีวาลมีกิ, ที่มา: artsandculture.google.com, วันที่สืบค้น 22 สิงหาคม 2565.
1.
---------------
1. ฤๅษีนารทมุนี (नारद - Nārada) บ้างก็เรียก พระฤๅษีนารท หรือ พระนารอด (ต่อมาในเมืองไทย มีผู้สร้างพระพิมพ์ เรียกเขียนเพี้ยนไปเป็น "พระรอท" และกลายเป็น "พระรอด" อีกทั้งเหมาะกับภาษาไทยที่แปลว่า รอดพ้น จึงนิยมเรียกพระพิมพ์เครื่องรางชนิดนี้ว่า พระรอด เรื่อยมา) หรือ พระนารท (นา-ระ-ทะ) เป็นนักดนตรีพเนจร (เป็นผู้ประดิษฐ์ "วีณา" - वीणा - พิณน้ำเต้า) และเป็นผู้เล่าเรื่องราว ผู้ส่งข่าวสารและแนวคิดที่ก่อให้เกิดแสงสว่างทางปัญญา เป็นบุตรของพระพรหม ถือกำเนิดจากพลังจิตของพระพรหม (One of the mind-born sons of Brahmā), เป็นสาวกคนแรกของพระนารายณ์ และเป็นผู้ที่นำเรื่องราวบนโลกมนุษย์มารายงานแด่พระศิวะ ฤๅษีนารทมุนีเป็นทูตเอกของสวรรค์ และมีบทบาทในมหาภารตะและรามายณะเป็นอย่างมาก ตลอดจนในปกรณัมปุราณะ. ในรามายณะ ฤๅษีเป็นผู้แนะนำให้หนุมานใช้น้ำในบ่อน้อยของตนเอง ก็คือ น้ำลายในปากของหนุมานดับไฟ เมื่อตอนที่หนุมานไปเผากรุงลงกา ในมหาภารตยุทธ ฤๅษีนารทมุนีมีหน้าที่คอยส่งข่าวสารให้พระกฤษณะ พระพลราม ยุธิษฐิระ และอรชุน คือในมหาสงครามทุ่งกุรุเกษตร ฤๅษีนารทมุนีได้ส่งข่าวบอกแก่พระพลรามว่า "ภีมะกำลังดวลตะบองกับทุรโยธน์" และเมื่อตอนที่พระอนิรุทธิ์หายตัวไป ฤๅษีนารทมุนีก็แจ้งแก่พระกฤษณะว่า "พระอนิรุทธิ์ (บ้างก็เรียก อุณรุท) ถูกท้าวกรุงพาณจับตัวไปขังคุก" และเมื่อตอนที่ท้าวธฤตราษฎร์ พระนางคานธารี พระนางกุนตี ท้าววิทูร เสียชีวิตแล้ว และฤๅษีนารทมุนีก็เป็นผู้บอกถึงจุดอ่อนของทุรโยธน์ให้แก่อรชุน" นอกจากนี้ฤๅษีนารทมุนีก็ยังเป็นผู้เล่าเรื่องของพระรามให้แก่ฤๅษีวาลมีกิจนเกิดเป็นมหากาพย์รามายณะ
      ในบอลลีวู้ด โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้า บทพูดของฤๅษีนารทมุนีที่ทุกคนจำได้ก็คือคำว่า "นาร้ายณ์ นารายณ์"., ที่มา: th.wikipedia.org และ en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 8 พฤศจิกายน 2560. และ oknation.nationtv.tv, วันที่สืบค้น 9 พฤศจิกายน 2560.
2. เราจะไม่แปลคำว่าธรรมะ เพราะไม่มีคำใดที่สามารถอธิบายความหมายได้ทั้งหมดของคำนี้ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ ความประพฤติที่ดี ศีลธรรม จริยธรรม การปกครอง (สำหรับกษัตริย์) และเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือทางจิตวิญญาณ. ด้วยความหมายที่ลึกซึ้งนี้จึงขึ้นอยู่กับบริบท.
3. สวรรค์ โลก และดินแดนเบื้องล่าง. หรืออีกนัยหนึ่ง สวรรค์ โลก และดินแดนระหว่างสวรรค์กับโลก.
4. จากพระพรหม ฤๅษีนารทมุนีเล่าเรื่องราวสำคัญของรามายณะโดยย่อ.
5.
อิกษวากุ (इक्ष्वाकु - Ikṣvāku) เป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งสุริยวงศ์ (सूर्यवंश - Sūryavaṃśa) และเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของแคว้นโกศล ดูเพิ่มเติมในคำอธิบายหน้าที่ 5 ของ
01.101 อนุกรมณิกา บรรพ มหาภารตยุทธ.
6. การอ้างอิงครั้งที่สองนี้เกี่ยวกับการควบคุมประสาทสัมผัสและสิ่งเลวร้าย.
7. พระเวท (वेद - The Vedas) นั้นประกอบด้วยสี่พระเวทคือ ฤคเวท (ऋग्वेद - Ṛg-Veda), สามเวท (सामवेद - Sāma-Veda), ยชุรเวท (यजुर्वेद - Yajur Veda) และอรรถรเวท (अथर्ववेद - Atharva Veda). หกเวทางคะ (The Vedāṅgas वेदाङ्ग - คัมภีร์ - Vedāṅga) ประกอบด้วย หกส่วนของพระเวท อันเป็นศาสตร์เสริม ประกอบด้วย ศึกษา (शीक्ष - śīkṣa - สัทศาสตร์ - phonetics or articulation and pronunciation), กัล์ป (कल्प - kalpa - ความคิดทางสังคม หรือ พิธีกรรม - social thought or rituals), ไวยากรณ์ (व्याकरण - vyākaraṇa - grammar), นิรุกตะ (निरुक्त - nirukta - นิรุกติศาสตร์, exposition of words, etymology), ฉันท์ (छन्द - สัมผัส -chandas or Chhanda - metrics or prosody), โยธิษะ บ้างก็เรียก ชฺโยติษะ (ज्योतिष - jyotiṣa - ดาราศาสตร์ตามแบบพระเวท - Vedic astronomy), และมีส่วนเสริมคือ อลังการศาสตร์ (अलंकारशास्त्र - alaṃkāraśāstra - วาทศาสตร์ - study of figures of speech). ส่วนธนุรเวท (धनुर्वेद - Dhanurveda) เป็นศาสตร์ในสงครามหรือการต่อสู้หรือศาสตร์ในการยิงธนู.
8. สมฤติ (स्मृति - Smṛti) เป็นการอธิบายขยายความคิดในคัมภีร์ศรุติ และเนื่องจากการแตกย่อยออกมาของสมฤติ ได้รับการพิจารณาว่ามีอิทธิพลหรือมีความสำคัญไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากข้อความในศรุติ (श्रुति - Śruti - โดยศรุติ แปลว่า "สิ่งที่ได้ยินมา - that which is heard," เป็นการเปิดเผยจากสวรรค์. ดังนั้นจึงเป็นข้อความที่เชื่อถือได้มากที่สุด. สิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อด้วยปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ .) สมฤติ แปลว่า "สิ่งที่จำได้ - that which is remembered," เป็นข้อความที่มาจากผู้ประพันธ์ที่หลากหลาย มีการเขียนและถ่ายทอดสืบต่อมาตามจารีตประเพณี.
9. อารยะ (आर्य - Ārya) หรือ อารยา (आर्या - Āryā) ผู้สูงศักดิ์ ผู้มีวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณ.

.
.
หน้าที่ 2
เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากนางเกาศัลยา01 ดังนั้นพระองค์จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน. ในความจริงจังของพระองค์ ทรงเหมือนกับมหาสมุทร ในความอดทนของพระองค์ ทรงเหมือนเฉกเช่นเทือกเขาหิมาลัย02. พระองค์เหมือนกับพระวิษณุในด้านความกล้าหาญ03. พระองค์หล่อเหลางดงามดั่งเช่นพระจันทร์. ในความกริ้วโกรธของพระองค์ ทรงเหมือนกับไฟบรรลัยกัลป์แห่งการทำลายล้าง04. ในความเอื้อเฟื้อไซร้ ทรงเหมือนกับเทพแห่งความมั่งคั่ง05. ใคร่กล่าวอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงเหมือนกับพระธรรม06 ในด้านความจริงใจ. พระรามทรงมีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น และความจริงคือความกล้าหาญของพระองค์. พระองค์ทรงเป็นพระโอรสองค์โตและมีคุณสมบัติที่ดีที่สุด. พระองค์ทรงเป็นโอรสที่ท้าวทศรถ07 ทรงรักยิ่ง. ในความรักที่มีต่อพระราม ราชาทศรถทรงปรารถนาที่จะสถาปนาพระรามเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรม. มเหสีไกยเกษี08 เห็นว่ามีการจัดเตรียมพระราชพิธีถวายพระพรไว้แล้ว09. ราชินีไกยเกษีทรงขอพรตามที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ คือขับไล่พระรามและอัญเชิญพระพรตขึ้นเป็นกษัตริย์. กษัตริย์ทศรถทรงถูกผูกมัดด้วยพระวาจาอันศักดิ์สิทธิ์และด้วยเชือกรัดคอแห่งธรรมไว้. ท้าวเธอจึงทรงเนรเทศพระราม พระโอรสที่ทรงรัก. เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของพระบิดาและทำในสิ่งที่ทำให้นางไกยเกษีพอใจ พระรามจึงทรงทำตามคำปฏิญาณและเสด็จออกไปยังพงไพร. เมื่อพระองค์จากไป พระลักษมณ์ผู้เป็นที่รักของพระองค์ ผู้นำความปิติยินดีแก่นางสุมิตรานั้น และเปี่ยมไปด้วยความรักและความนอบน้อมก็เสด็จตามไปด้วย. นางสีดาซึ่งเป็นชายาของพระราม ผู้ทรงเป็นเลิศเหนือสตรีอื่นและมีคุณสมบัติอันเป็นมงคลทุกประการ. นางได้ติดตามพระรามไปด้วย เฉกเช่นนางโรหิณี10 ที่ติดตามพระจันทร์11 ชาวเมืองและท้าวทศรถพระบิดาก็ติดตามไปส่งพระราม (พร้อมด้วยนางสีดาและพระลักษมณ์) ด้วยระยะหนึ่ง และร่ำลาบุตรชายที่เมืองศฤคเวรปุระ12 ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา13 เหล่าหน่อเนื้อกษัตริย์ขัตติยาก็ข้ามน้ำที่ไหลเอ่อล้นมวลน้ำมหาศาลจากป่าหนึ่งไปยังอีกป่าหนึ่ง.
---------------

01. นางเกาศัลยา (कौसल्या- Kausalyā) พระมารดาของพระราม.
02. เทือกเขาหิมาลัย - The Himālayas (हिमालय - Himālaya).
03. ประโยคนี้โต้แย้งว่าความคิดที่ว่าพระรามเป็นอวตารของพระวิษณุเกิดขึ้นทีหลัง.
04. พระเพลิงหรือไฟบรรลัยกัลป์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการล่มสลายในแต่ละยุค (युग - Yuga).
05. หมายถึงท้าวกุเวร หรือ กุเปรัน (कुबेर - Kubera) เป็นเทพแห่งทรัพย์หรือความั่งคั่ง และเป็นโลกบาลทิศอุดร บุตรของฤษีวิศระรพกับนางเทพวรรณี (Ilavida).
06. เทพเจ้าแห่งธรรมะ
07. ท้าวทศรถ (दशरथ - Daśaratha) เป็นบุตรของท้าวอัชบาล (Aja - อชะ)
08. นางไกยเกษี (कैकेयी - Kaikeyī) พระชายาองค์ที่สองของท้าวทศรถ เป็นพระธิดาของท้าวไกยเกษ (อัศวบดี - Ashwapati) กับพระมหาเทวีเจ้าประไภวดีหรือเกศินี  มีพระโอรสชื่อพระพรต มีพระเชษฐาคือเจ้าฟ้ายุทธชิตอุปราชย์เมืองไกยเกษ เมื่อครั้งพระอินทร์เชิญท้าวทศรถขึ้นไปปราบอสูรปทูตทันต์ที่ขึ้นไปรุกรานสวรรค์ ปทูตทันต์แผลงศรถูกเพลารถพระที่นั่งหักลง พระนางไกยเกษีเอาแขนสอดแทนเพลาที่หัก และสังหารอสูรตนนั้น ท้าวทศรถจึงประทานพร เมื่อท้าวทศรถจะมอบราชบัลลังก์ให้พระราม นางจึงใช้โอกาสขอพรนั้น ให้พระพรตครองราชย์ก่อน และขอให้พระรามออกผนวชเป็นเวลา 14 ปี นางจึงเป็นต้นเหตุให้พระรามเดินป่า และท้าวทศรถสิ้นพระชนม์ด้วยความตรอมพระทัยที่พรากจากโอรส นางถูกห้ามไม่ให้จุดไฟพระเพลิง หลังจากพิธีบรมศพ นางไปทูลขอลุแก่โทษและกราบทูลให้พระรามกลับมาครองราชย์.
09. ท้าวทศรถมีมเหสีสามพระองค์ คือ นางเกาศัลยา นางไกยเกษี และนางสุมิตรา ซึ่งท้าวทศรถเคยประทานพรสองประการแก่นางไกยเกษีก่อนหน้านี้ ซึ่งนางก็ได้รับพรนั้นเมื่อถึงเวลาอันควร. พระพรตเป็นบุตรของนางไกยเกษี พระลักษมณ์และพระศัตรุฆน์เป็นบุตรของนางสุมิตรา.
10. นางโรหิณี (रोहिणी - Rohini) เป็นชายาที่พระจันทร์ทรงโปรดปราน.
11. พระจันทร์ (चन्द्र - Chandra), นักษัตรทั้ง 27 ราศี (नक्षत्रम् - Nakṣatram - Nakṣtras) ได้แต่งงานกับพระจันทร์ ทว่าพระจันทร์จะรักนางโรหิณี (ดาวโรหิณี หรือ ดาวอัลดิบาแรน - Aldebaran - เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาววัว) มากกว่าชายาใด ๆ . นักษัตรนั้นไม่ใช่ดวงดาวโดยตรง แต่ก็หมายถึงกลุ่มดาวได้ด้วยเช่นกัน.

 

พรานกุขัน (คุหะ)ได้จัดแจงนำเรือรับ-ส่งพระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ข้ามไปยังอีกฟากแม่น้ำ, ที่มา: www.hindu-blog.com, วันที่เข้าถึง: 20 สิงหาคม 2567.
1.
12. ศฤคเวรปุระ (शृङ्गवेरपुर - Śṛṅgaverapura), เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกครองของสถานที่แห่งนี้ คือ พรานกุขัน หรือ คุหะ (गुह - Guha) เป็นผู้จัดแจงนำเรือรับ-ส่ง พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ข้ามแม่น้ำคงคา. สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ณ จุดที่พระบาทของพระรามสัมผัส พื้นฝั่ง ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เรียกว่า ชริงเวอร์ปุระ (ซิงราอูร์) ซึ่งเป็นหมู่บ้าน (ใกล้กับเมืองอัลลาฮาบาด) ในรัฐอุตตรประเทศ ภารตะ.
13. แม่น้ำคงคา (गङ्गा - Gaṅgā) เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญของภารตวรรษ และหมายถึงเทพีคงคา.

.
.
หน้าที่ 3
ในที่สุด หน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ทั้งสามก็มาถึงเมืองจิตรกุฎะ01 ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของภรัทวาชมุนี.02 ในป่าอันงามงดนี้ ทั้งสามได้สร้างที่อยู่อาศัยอันสวยงามและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เหมือนกับเหล่าเทพและคนธรรพ์.03 เมื่อพระรามเสด็จออกเดินทางไปยังเมืองจิตรกุฎะนั้น ด้วยความโศกเศร้าของท้าวทศรถที่มีพระโอรสองค์โต ท้าวทศรถก็สิ้นพระชนม์เสด็จสู่สรวงสวรรค์. หลังจากนั้นบรรดาพราหมณ์ซึ่งนำโดยฤษีวสิษฐ์04 ประสงค์ที่จะสถาปนาพระพรตขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ท้าวเธอพระพรตก็มิได้ปรารถนาในราชอาณาจักร. พระพรตอนุชาผู้กล้าได้เสด็จเข้าไปในป่า พร้อมกราบลงที่พระบาทของพระราม ทูลขอความเมตตาจากพระองค์.05 พระเชษฐาของพระพรต ได้ขอร้องย้ำให้พระพรตกลับเสีย และได้มอบรองเท้าแตะให้แก่พระพรตแทน (เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระรามยังอยู่) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ราชอาณาจักร. พระพรตไม่ทรงพอพระทัยนัก และได้แตะพระบาทของพระราม. ทรงปรารถนาในการกลับมาของพระราม พระพรตจึงเริ่มปกครองราชอาณาจักรที่เมืองนันทิกราม.06 พระรามทรงนึกในพระทัยว่าพระองค์อาจเสด็จกลับเมืองอโยธยาอีก รวมทั้งราษฎรและคนอื่น ๆ ต่างก็คิดเช่นนั้นด้วย. ด้วยพระทัยที่แน่วแน่จึงเสด็จตรงเข้าสู่ป่าทัณฑกะ07. พระองค์ได้สังหารรากษสวิราธ08 และพบฤๅษีศรภังคะ9 ตลอดจนได้พบฤๅษีสุตีกษณะ10 ฤๅษีอคัสตยะ11 และน้องชาย เมื่อพระรามทำตามที่อคัสยมุนีแนะนำแล้ว พระองค์ก็ได้รับคันธนูและลูกศรของพระอินทร์ และถุงใส่ธนูที่ไม่มีวันหมดสองถุง และพระรามก็รู้พอใจเป็นอย่างยิ่ง.12 พระรามพร้อมนางสีดาและพระลักษมณ์ได้ประทับอยู่ในพนา. มีพรตฤๅษีและชาวป่าชาวบ้านต่าง ๆ ได้เข้ามาพบพระองค์ ทั้งนี้เพื่อจะสังหารเหล่าอสูรและรากษส. อยู่มาวันหนึ่งขณะที่สามหน่อกษัตริย์ได้ประทับอยู่ในป่านั้ มีรากษสีตนหนึ่งนามว่า นางศูรปณขา13 ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองชนสถาน14 นางสามารถแปลงร่างได้ตามต้องการ นางเสียโฉมไป15. เหล่ารากษสทั้งหมดถูกยุยงโดยคำกล่าวของนาง อาทิ พระยาขร16 พระยาตรีเศียร17 และพระยาทูษณ์.18
---------------

01. เมืองจิตรกุฎะ (चित्रकूट - Citrakūṭa or Chitrakuta)
02. ภรัทวาชมุนี (भरद्वाज - Bharadvāja) (รามเกียรติ์ เรียก ฤษีภารทวาช) เป็นฤษี ผู้เป็นที่เคารพนับถือในศาสนาพระเวท (มหาฤษี) คนหนึ่งในภารตะโบราณ ท่านเป็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักไวยากรณ์ และแพทย์ที่มีชื่อเสียง ท่านเป็นหนึ่งในสัปตฤษี (ฤษีผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเจ็ดหรือมหาฤษี) รายละเอียดดูใน หมายเหตุ คำอธิบายหน้าที่ 4 ข้อที่ 17. ของ
01.101 อนุกรมณิกา บรรพ มหาภารตยุทธ.
03. คนธรรพ์ (गन्धर्व - Gandharva) หมายถึง กึ่งมนุษย์กึ่งเทพ เป็นนักร้อง นักดนตรี และนักเต้นรำสวรรค์ รวมทั้งเป็นสหายของท้าวกุเวร.
04. ฤษีวสิษฐ์ (वसिष्ठ - Vashiṣṭa) เป็นหนึ่งในสัปตฤษี
รายละเอียดดูใน หมายเหตุ คำอธิบายหน้าที่ 4 ข้อที่ 17. ของ 01.101 อนุกรมณิกา บรรพ มหาภารตยุทธ.
 

พระพรตรับรองเท้าแตะจากพระราม, ที่มา: www.hindu-blog.com, วันที่เข้าถึง: 23 สิงหาคม 2567.
1.
05. พระพรตทรงปรารถนาให้พระรามเสด็จกลับมาเป็นกษัตริย์ แต่พระรามทรงปฏิเสธ จากนั้นพระพรตจึงเสด็จกลับมาพร้อมกับรองเท้าแตะของพระราม ซึ่งทรงนำมาวางไว้บนบัลลังก์รอการกลับมาของพระราม.
06. เมืองนันทิกราม (नन्दिग्राम - Nandigrāma) เป็นเมืองที่พระพรตบูชารองเท้าแตะของพระรามเป็นเวลา 12 ปี เมืองนี้อยู่ห่างจากเมืองอโยธา (अयोध्य - Ayodhyā) ราว 14 ไมล์.
07. ป่าทัณฑกะ หรือ ทัณฑการัณย์ (दण्डक - Daṇḍaka or दण्डकारण्य - Daṇḍakāraṇya) รายละเอียดดูในหน้าที่ 6 หมายเหตุ คำอธิบายของ
A03. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ.
08. รากษส หรือ ยักษ์วิราธ (विराध - Virādha) รายละเอียดดูใน หมายเหตุ คำอธิบาย หน้าที่ 6 ของ A03. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ.
09. ฤๅษีศรภังคะ (शरभङ्ग - Śarabhaṅga), (ฤๅษีสระภังค์ - รามเกียรติ์), ท่านเป็นมหาฤาษีอาศัยอยู่ในป่าทัณฑกะ ก่อนที่พระรามจะมาเยี่ยมยังอาศรม19 นั้น พระอินทร์ปรากฏตัวที่อาศรมเพื่อนำฤๅษีไปยังที่อยู่ของพรหมโลก ความปรารถนาสุดท้ายของฤๅษีศรภังคะคือการพบพระรามก่อนจะจากโลกมนุษย์ หลังจากพบพระรามและทำพิธีกรรมที่จำเป็นแล้ว ฤๅษีก็เผาตัวเองโดยโยนกายหยาบของตนลงในกองไฟ และร่างทิพย์ (กายละเอียด) ก็ลอยขึ้นสู่สวรรค์.
10. ฤๅษีสุตีกษณะ (सुतीक्ष्ण - Sutīkṣṇa) ก่อนที่พระรามจะมาเยี่ยมยังอาศรมของท่าน พระอินทร์ได้เชิญไปเที่ยวชมโลกแห่งทวยเทพ เมื่อพระรามใกล้จะถึงอาศรม พระอินทร์กล่าวกับท่านว่า "ข้าฯ จะมาพบพระรามเมื่อทรงทำภารกิจใหญ่เสร็จสิ้นแล้ว", ท่านเป็นพี่ชายและเป็นศิษย์ของฤๅษีอคัสตยะ เดิมท่านมีชื่อว่าดุษปัญญะ (दुष्पण्य - Duṣpaṇya) มีนิสัยชั่วและโหดร้าย ต่อมาได้กลายเป็นคนดี เพราะมีผู้โปรยน้ำมนต์จากแม่น้ำคงคาใส่ท่าน.
11. ฤๅษีอคัสตยะ หรือ อคัสตยมุนี (अगस्त्य - Agastya ) - ท่านเป็นหนึ่งในสัปตฤษีในยุคแรก ๆ (อ้างถึง Jaiminiya Brahmana บรรพที่ 2 อัธยายะที่ 218-221, และ Gopatha Brahmana บรรพที่ 1 อัธยายะที่ 2 โศลกที่ 8) ท่านเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นฤๅษีปราบมาร ท่านมีร่างล่ำสันเตี้ย เป็นโอรสของพระวรุณ มีฤทธิ์มาก.
12. พระรามได้อาวุธนี้จากฤๅษีอคัสตยะ ซึ่งพระอินทร์ได้ส่งมอบให้โดยผ่านฤๅษีอคัสตยะ.
13. นางศูรปณขา หรือ นางสำมนักขา (सूर्पणखा - Śūpaṇakhā หรือ Shurpanakha) เป็นยักขินีธิดาของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎาสูร เป็นขนิษฐาของท้าวราพณ์ (रावण) หรือทศกัณฐ์.
14. ชนสถาน (जनस्थान - Janasthāna - ชัน-สะ-ทาน) เป็นสถานที่ที่นางศูรปณขาถูกตัดจมูกและหูที่เรียกว่านาสิกะ (नासिक - Nāsika), เป็นส่วนหนึ่งของป่าทัณฑกะ ในแอ่งโคทาวรี (गोदावरी - Godāvarī) มีกล่าวกันทั้งในรามายณะ (อรัณยกัณฑ์) และมหาภารตยุทธ (วนบรรพ ศัลยบรรพ และอนุศาสนบรรพ - โดยเฉพาะบรรพหลังนี้กล่าวว่า - ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานที่แห่งนี้และอาบน้ำในแม่น้ำโคทาวรีจะได้รับความเจริญรุ่งเรืองเป็นจักรพรรดิ).
15. พระลักษมณ์ได้ตัดจมูกและหูนางเสีย.
16. พระยาขร (खर - Rākṣasa Khara) หรือ พญาขร เป็นคู่แฝดกับพระยาทูษณ์ มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับท้าวราพณ์ (รามเกียรติ์ระบุว่าเป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับทศกัณฐ์) ถูกสังหารโดยพระรามพระลักษมณ์.

17. พระยาตรีเศียร (त्रिशिर - Triśiras) หรือ ท้าวตรีเศียร (รามเกียรติ์ระบุว่าเป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับทศกัณฐ์ และสิ้นชีพด้วยการแผลงศรของพระราม) เป็นรากษสบุตรของท้าวราพณ์.
18. พระยาทูษณ์ (दूषण - Dūṣaṇa) (รามเกียรติ์ - พระยาทูต) หรือ พญาทูษณ์ (รามเกียรติ์ระบุว่าเป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับทศกัณฐ์) เป็นรากษสคู่แฝดกับพญาขร ปกครองป่าทัณฑกะ สิ้นชีพไปด้วยกันกับพญาขร.
19. อาศรม (आश्रम - āśrama) - สถานที่ที่บุคคลพยายามดิ้นรนเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างมีวินัย เป้าหมายดังกล่าวอาจเป็นการบำเพ็ญตบะ จิตวิญญาณ โยคะ หรืออื่น ๆ.

.
.
หน้าที่ 4
ในการต่อสู้ครั้งนั้น พระรามได้สังหารเหล่ารากษสไปร่วมหนึ่งหมื่นสี่พันตน. เมื่อท้าวราพณ์ทราบว่าพระญาติและเหล่าขุนทหารรากษสตายไปมากขนาดนี้ ท้าวราพณ์ก็ทรงกริ้วโกรธาจนสติแตก. ทศกัณฐ์จึงขอความช่วยเหลือจากม้ารีศ01. ซึ่งม้ารีศพยายามห้ามปรามท้าวราพณ์หลายครั้ง. "โอ ราวณะ เจ้าจะไม่ได้รับการอภัยหากเจ้าต่อต้านผู้ที่มีอำนาจเท่ากับเขา02." ทว่าท้าวทศกัณฐ์สิบเศียรซึ่งถูกโชคชะตาเล่นตลก ไม่ได้ใส่ใจในคำพูดเหล่านี้. ม้ารีศได้ไปยังที่พักของพระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา. เจ้าชายทั้งสองคือพระรามพระลักษมณ์ได้ถูกการใช้เล่ห์มายา03 ล่อให้ห่างออกไปจากที่พัก.

ภาพเขียนอันมีชื่อเสียงของ Raja Ravi Varma - ท้าวราวณะกำลังตัดปีกพระยาชดายุ, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 19 กันยายน 2566.
1.
ท้าวราพณ์ได้สังหารพระยาชดายุ04  เมื่อพระรามทราบเรื่องนางไมถิลี05. องค์ราฆพ06 ก็ทรงทุกข์ใจ. พระรามทรงคร่ำครวญด้วยความรู้สึกสับสน และปลงศพพญาแร้งชดายุไว้เรียบร้อย. ขณะที่สองพระองค์กำลังตามหานางสีดา ก็พลันพบรากษสตนหนึ่งชื่อ กาบัณฑ์07. รากษสตนนี้มีรูปร่างผิดปกติน่ากลัวยิ่ง. รามมหาบุรุษได้สังหารกาบัณฑ์เสีย. ขณะที่รากษสกาบัณฑ์ขึ้นสู่สวรรค์ เขาได้เล่าเรื่องนางชบารี08 ผู้เป็นสาวกแห่งพระธรรมว่า. "โอ ราฆพ! นางนักพรตผู้นี้เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรมะ จงไปหานางเถิด." นางผู้ทรงมหิทธานุภาพมหาศาล ผู้สังหารอริ เมื่อพระรามได้พบนางชบารี. นางได้ให้ความเคารพโอรสของท้าวทศรถอย่างสมเกียรติ. ณ ฝั่งแม่น้ำปัมปา09. พระรามก็ได้พบหนุมัต10. ตามคำกล่าวของหนุมัต ก็นำองค์รามมาพานพบพญาสุครีพ11. พระรามผู้ทรงอำนาจได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้สุครีพฟัง. ด้วยความเศร้าโศกและความรัก (ที่สุครีพมีต่อพระราม) สุครีพราชาแห่งเหล่าวานรก็ได้เล่าเรื่องราวความเป็นศัตรู (กับพญาอากาศพาลี) ให้พระรามทราบเสียสิ้น. ราชาแห่งวานรก็ยังเล่าถึงพละกำลังและอิทธิฤทธิ์ของพญาอากาศพาลีไว้ด้วย. พระรามสัญญาว่าจะสังหารพาลีให้. ทว่าพญาวานรสุครีพก็ยังสงสัยในความกล้าหาญขององค์ราฆพว่ามีมากน้อยเพียงใด.
---------------

01. ม้ารีศ (
मरीच - Mārīca) หรือ มารีศ หรือ ม้ารีด เป็นรากษสหรือยักษ์กายสีขาว ผู้เป็นญาติชั้นยายของทศกัณฐ์ เป็นบุตรของท้าวสันทะ (Sunda) และนางกากนาสูร (ताटका - Tāṭakā หรือ Tāḍaka หรือ ตาฏะกา) ดูเพิ่มเติมใน หมายเหตุ คำอธิบาย 01 หน้าที่ 3 ของ 01. พาลกัณฑ์ มีพระเชษฐาคือสวาหุ (सुबाहु - Subāhu) มีชายาคือนางแก้วเจษฎา ต่อมาแปลงเป็นกวางทองล่อนางสีดา และถูกพระรามสังหารในภายหลัง.
02. ในที่นี้หมายถึง พระวิษณุ ด้วยครั้งหนึ่งพระรามแผลงศรสังหารสวาหุ (พี่ชาย) ม้ารีศเห็นพระรามมี 4 กร ก็รู่ว่าเป็นพระวิษณุ.
03. มายา เป็นภาพหรือสิ่งหลอกลวง ที่ม้ารีศได้ใช้พลังนี้แปลงร่างเป็นกวางทอง ล่อให้พระรามและพระลักษมณ์ออกไป.
04. พระยาชดายุ หรือพญาแร้งชดายุ (
जटायु - Vulture Jaṭāyu) - พญาแร้งชราตัวหนึ่งกำลังพักผ่อนอยู่บนต้นไม้ และได้ยินเสียงร้องของนางสีดา ชดายุทราบว่าเป็นบุตรสะใภ้ของสหายรักเก่าแก่คือท้าวทศรถ เขาจึงเข้าไปช่วย มีการต่อสู้กัน แต่ก็ถูกทศกัณฐ์สิบเศียรตัดปีกให้ร่วงถลาลงยังพื้นดินจมแอ่งเลือดอยู่ พระรามพระลักษมณ์พบเข้าและพญาแร้งชดายุของเล่าเรื่องให้สองหน่อกษัตริย์ทราบ จากนั้นพญาแร้งชดายุก็สิ้นชีพ ด้วยถือว่าพญาแร้งชรานี้เป็นบุคคลในครอบครัว ทั้งสองหน่อกษัตริย์จึงจัดพิธีศพที่จำเป็นและสมควรให้.
05. นางไมถิลี (
मैथिली - Maithilī or Maithilee) หมายถึงนางสีดา ซึ่งมาจากคำว่าเมืองมิถิลา (मिथिला - Mithilā) (ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของแคว้นพิหาร) เป็นเมืองหลวงในแคว้นวิเดหะ (विदेह - Videha) ที่ปกครองโดยท้าวชนกพระบิดาของนางสีดานั่นเอง. นอกจากนี้ นางสีดาก็ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่าไวเดหิ (वैदेही - Vaidehi หรือ Vaidehī) หมายถึงธิดาแห่งท้าวแคว้นวิเดหะ.
06. ราฆพ (राघव - Rāghava) หมายถึงพระราม อันเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์สืบสายมาจากท้าวราฆุ (
रघु - Raghu) แห่งสุริยวงศ์.
07. กาบัณฑ์ (
कबन्ध - Kabandha) รายละเอียดดูใน หมายเหตุ คำอธิบาย 06 หน้าที่ 6 ของ A03. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ.
08. นางชบารี หรือ ศบารี (शबरी - Śabarī) รายละเอียดดูใน หมายเหตุ คำอธิบาย 02 หน้าที่ 6 ของ B01. โลกของมหาฤๅษีวาลมีกิ: ภูมิหลังรามายณะ.
09. แม่น้ำปัมปา (Pampa River - Pampaa แปลว่าใหญ่หรือยิ่งใหญ่) มีความยาวราว 176 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่รัฐเกรละ (
केरल - Kerala) ภารตะ
10.
หนุมัต (हनुमत् - Hanumat) หมายถึง ผู้ที่เป็นเลิศที่สุดในพวกลิง (วานร)
     หนุมาน (
हनुमान् - Hanumān) - หัวหน้าเหล่าวานรผู้ทรงพลัง เป็นบุตรชายของนางอัญชนา (अञ्जना - Añjanā) กับเทพแห่งลม วายุ (वायु  - Vāyu) หรือ พระพาย (पवन - Pavana) หรือมารุต จึงได้ชื่อว่ามารุติ (मारुति
- Māruti) หนุมานได้รับการพรรณนาว่าเป็นลิงที่มีพละกำลังและความสามารถอันมหาศาล ซึ่งกำแหงหนุมานหรือคำแหงหนุมานเป็นตัวละครหลักในโอกาสสำคัญหลายครั้งเพื่อช่วยเหลือพระราม ซึ่งหนุมานถือว่าเป็นเทพในดวงใจของตน เมื่อนางสีดาถูกท้าวราพณ์ลักพาตัวไป หนุมานก็ข้ามทะเลไปและนำข่าวเกี่ยวกับนางไปบอกพระราม กำแหงหนุมานมีบทบาทสำคัญมากในสงครามครั้งใหญ่ที่กรุงลงกา.
11. พญาสุครีพ (सुग्रीव - Sugrīva) หากใช้ข้อมูลที่อ้างอิงในอิติหาสและปุราณะแล้ว ประวัติความเป็นมาของพญาสุครีพจะป็นดั่งนี้: พาลีและสุครีพเป็นพี่น้องกัน มารดาของพวกเขาชื่ออรุณา (अरुण - Aruṇa) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแปลงกายเป็นหญิงเรียกขานว่าอรุณี (अरुणी -
Aruṇī) พาลีเป็นบุตรของพระอินทร์ที่ให้กำเนิดโดยอรุณี และสุครีพเป็นบุตรที่อรุณีได้เสกสมกับพระอาทิตย์ ทั้งสองเติบโตมาในอาศรมของโคตมมุนี เมื่อกษัตริย์แห่งกีษกินธ์ (กรุงขีดขิน) สิ้นพระชนม์ พาลีได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์แห่งกีษกินธ์ สุครีพอาศัยอยู่กับพญาพาลีและคอยสนองพระเดชพระคุณรับใช้ ช่วงเวลาหนึ่งพญาอากาศพาลีได้ต่อสู้กับอสูร ทุนทุภิ (दुन्दुभि - Dundubhi - อสูรควายป่าทรพี - รามเกียรติ์) พาลีไล่ทุนทุภิเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง สุครีพเฝ้ารอหน้าปากถ้ำที่พาลีเข้าไป ด้วยเวทมนตร์และมนตร์ของทุนทุภิ ทำให้สุครีพเข้าใจว่าพาลีถูกทุนทุภิสังหารแล้ว. สุครีพจึงใช้หินปิดปากถ้ำด้วยความเศร้าโศก จากนั้นจึงกลับไปยังเมืองกีษกินธ์ เมื่อพาลีออกมาก็ติดตามสุครีพ ก็พยายามจะสังหารสุครีพด้วยความเข้าใจผิด พาลีไล่ตามสุครีพไปทั่วโลก อันมีกล่าวไว้ใน มหากาพย์รามายณะฉบับของมหาฤๅษีวาลมีกิ กีษกินธกัณฑ์ สรรคที่ 46 (Valmīki Rāmāyaṇa, Kiṣkindhā Kāṇḍa, Sarga 46) มีการกล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับการแผนที่ในภูมิประเทศต่าง ๆ ของชมพูทวีปหรือในโลกที่พญาสุครีพได้รับจากการท่องวิ่งและเหาะเหินในครั้งนี้ ช่วยให้พญาวานรสุครีพสามารถติดตามหานางสีดาได้ในเวลาต่อมา.
12. พญาอากาศพาลี (वालिन् - Vālin or Valin or Vali or Bāli) - พาลีและสุครีพเป็นบุตรของนางอัลยา (अहल्या - Ahalyā - หรือนางกาลอัจนา - ในรามเกียรติ์) และพระอินทร์ (ลอบเป็นชู้กัน) นางอัลยาเป็นภริยาของฤๅษีโคตมะ. โดยที่ฤๅษีโคตมะไม่ทราบเรื่อง นางอัลยาตั้งครรภ์ลับ ๆ และให้กำเนิดบุตรชายทั้งสอง หนึ่ง) พาลี (ได้กับพระอินทร์) สอง) สุครีพ (ได้กับพระสุริยะ). นางทารา (तारा - Tārā) เป็นชายาของพาลี ซึ่งทั้งสองได้กำเนิดบุตรอันทรงอิทธิฤทธิ์นามว่าองคต (अङ्गद - Aṅgada). 
    ในคัมภีร์ทัตตวาสังเคราะห์ รามายณะ มีเรื่องเล่าว่า พาลี ราชาลิงผู้มีพลังที่หาที่เปรียบมิได้ บุตรของนางอหัลยา เดินทางไปยังจุดที่มหาสมุทรกำลังปั่นป่วน เมื่อเห็นความเหนื่อยล้าของเหล่าเทพ พระวิษณุจึงขอร้องให้พระอินทร์ชักชวนบุตรของตนให้ช่วยเหลือเหล่าเทพ เมื่อพระอินทร์ทำตามนั้น พระวิษณุจึงประดับพระราชาลิงพาลีด้วยสร้อยคอดอกบัวทองศักดิ์สิทธิ์ และประทานพรมากมายแก่พญาอากาศพาลี โดยหนึ่งในนั้นก็คือพาลีจะไม่มีวันพ่ายแพ้ในการต่อสู้ เพราะพลังครึ่งหนึ่งของคู่ต่อสู้จะตกเป็นของจอมวานร พญาอากาศพาลีเปี่ยมด้วยความปิติยินดีกับเกียรติยศที่ไม่คาดคิดดังกล่าว จึงใช้ปลายทั้งสองข้างของงูหรือพญานาคเขย่ามหาบรรพต. (ทัตตวาสังเคราะห์ รามายณะ กีษกินธกัณฑ์ สรรคที่ 1).

.
.
หน้าที่ 5
โครงกระดูกอันมหึมาของอสูรในรูปแบบของควายป่า "ทุนทุภิ" ยังวางอยู่ที่นั่น01. องค์ราฆพใช้หัวแม่เท้าของพระองค์กระดิกผลักโครงกระดูกดังกล่าวให้กระเด็นไปไกลร่วมสิบโยชน์02 และอีกคราหนึ่งพระองค์แผลงศรเจาะทะลุต้นสาละ03 ขนาดใหญ่เจ็ดต้นด้วยศรเพียงดอกเดียว. พระรามยังยกภูเขาทุ่มไปยังพื้นเบื้องล่างเพื่อสร้างความเชื่อมั่น. หลังจากนั้นพญาวานรยักษ์สุครีพ ก็เกิดความมั่นใจปิติในใจยิ่ง. พญาวานรจึงพาสองหน่อกษัตริย์เสด็จตรงไปยังกรุงกีษกินธ์04 และตรงไปยังปากถ้ำ.

พญาอากาศพาลี, พัฒนาไว้เมื่อ 6 กันยายน 2567.
1.
พญาสุครีพ เป็นวานรที่มีร่างกายสูงใหญ่ในบรรดาลิงผิวสีน้ำตาลทอง ก็เริ่มกู่ก้องคำรามที่หน้าปากถ้ำ. เมื่อได้ยินเสียงคำรามราชาแห่งวานร05 ก็ปรากฎกายขึ้น. หลังจากคำพูดของสุครีพ และด้วยการเผชิญหน้าในครั้งนี้ พระรามได้สังหารพญาพาลี. ต่อมาองค์ราฆพได้คืนอาณาจักรวานรให้พญาสุครีพ และแต่งตั้งสุครีพเป็นราชา. พฤษภ (สุครีพผู้มีร่างกายใหญ่คล้ายดั่งโคกระทิง) ในฝูงวานรก็เรียกเหล่าฝูงลิงทั้งหมดมา เขาได้ส่งเหล่าลิงนี้ไปค้นหาธิดาของท้าวชนกในทุกทิศทุกทาง. กำแหงหนุมานผู้แข็งแกร่งได้ยินคำพูดของพญาแร้งสัมพาที06. เขาจึงเหาะข้ามมหาสมุทรอันมีรสเค็ม ซึ่งมีความยาวร้อยโยชน์. และได้มาถึงกรุงลงกา07 ที่ปกครองโดยท้าวราพณ์. หนุมานเห็นนางสีดานั่งทำสมาธิอยู่ในป่าอโศก. เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นางไวเดหิ หนุมานจึงมอบสัญลักษณ์ (วงแหวนจากพระราม) แก่นาง. หนุมานวายุบุตรได้ปลอบใจนางสีดาและบุกทำลายประตูวัง. บุตรแห่งพระพายได้สังหารแม่ทัพนายกองชั้นยอดไปห้านาย และบุตรแห่งเสวกามาตย์แห่งกรุงลงกาอีกเจ็ดตนด้วย. หลังจากบดขยี้เหล่าอักษะ08 กำแหงหนุมานยอมให้ตนเองถูกจับ. ด้วยพรจากพระอัยกา09 เขาจึงรู้ว่าสามารถปลดอาวุธทุกชนิดได้. อย่างไรก็ตาม ทแกล้วหนุมานผู้กล้า ต้องการที่จะอดทนต่อเหล่ารากษสและผู้ที่จับคุมเขา. ยกเว้นในส่วนที่นางไมถิลีสีดาพำนัก วานรยักษ์หนุมานก็ได้เผากรุงลงกาจนหมดสิ้น. ลิงยักษ์หนุมานชาญสมร ก็เหาะกลับมายังที่ตั้งของพระราม เพื่อแจ้งข่าวและนำความสุขมอบแก่พระราม. เมื่อถึงที่หมายแล้ว หนุมานบุตรแห่งพระพายก็เดินสักการะรอบพระรามผู้มีดวงจิตอันหาประมาณมิได้. หนุมานได้เล่าให้ฟังว่าเขาเห็นนางสีดาอย่างไร. จากนั้นพระรามพระลักษมณ์ พร้อมพญาสุครีพ ตลอดจนเหล่าทัพวานรก็เดินทางมายังชายฝั่งมหาสมุทร.
---------------

01. ดูข้อ 11 ของหน้าที่ 4 ข้างต้น.
02. โยชน์ (योजन - Yojana) เป็นหน่วยวัดความยาว โดย 1 โยชน์ (ของไทยเทียบเท่ากับ 16,000 เมตร หรือ 16 กิโลเมตร) มีความยาวระหว่าง 8-9 ไมล์.
03. ต้นสาละอินเดีย, มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Shorea robusta.
04. กีษกินธ์ (किष्किन्ध - Kiṣhkindhā) หรือเมืองขีดขิน (รามเกียรติ์) อันเป็นอาณาจักรของเหล่าวานร.
05. พญาพาลี.
06. พญาแร้งสัมพาที (सम्पाति - Saṃpāti) เป็นพี่ชายของพญาชดายุ.
07. ลงกา หรือ ลังกา (लंका - Lañkā)
.
08. อักษะ (अक्ष - Akṣa) หมายถึง แกน เพลา เดือย ละติจูด (Latitude) - เส้นรุ้ง ฝ่ายตรงข้าม (หมายถึงเราเป็นแกนนอน อีกฝ่ายเป็นแกนตั้ง).
09. พระอัยกา หมายถึงปู่ คือพระพรหม.

.
.
หน้าที่ 6
พระรามได้จุดประกายกระตุ้นมหาสาครด้วยลูกศรดั่งแสงอาทิตย์ พระสมุทรซึ่งเป็นเจ้าแห่งสายน้ำจึงได้ปรากฎกายขึ้น. จากคำบอกกล่าวของเจ้าสมุทร พระรามจึงให้พญานล01 ทำสะพาน. ทรงใช้สะพานหินนี้ยกกองทัพเหล่าวานรและพันธมิตรตรงเข้าโรมรันยังกรุงลงกา และสังหารทศกัณฐ์ท้าวราพณ์ลงเสีย. พระรามได้สถาปนาพิเภก02 ซึ่งเป็นดั่งหนึ่งพระอินทร์ท่ามกลางเหล่ารากษส เข้าปกครองกรุงลงกา. ด้วยพระราชกิจของท้าวราฆพผูัมีจิตใจอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้. ส่งผลให้สิ่งที่เคลื่อนไหวได้และเคลื่อนไหวไม่ได้ ทั้งในสามโลก ตลอดจนบรรดาเหล่าทวยเทพและนักพรตฤๅษีทั้งปวง ต่างมีความพึงพอใจ. พระรามทรงปิติยิ่ง เมื่อทำภารกิจเสร็จแล้ว เหล่าทวยเทพต่างพากันบูชาพระองค์ พระรามทรงเบิกบานไร้ความกังวลใด ๆ . องค์ราฆพได้ชุบชีวิตเหล่าวานรที่ถูกสังหารในการยุทธ์ทั้งหมดให้ฟื้นขึ้นมา หลังจากได้รับพรจากบรรดาเทพเจ้า.
ด้านขวาของภาพ: พญานล (วานรเผือกที่มีใบหน้าสีน้ำเงิน) และพญานีละ (วานรสีน้ำเงิน) กำลังรายงานแก่พระราม, ด้านซ้ายของภาพ: พญานลและและพญานีละ กำลังบัญชาการให้เหล่าวานรวางหิน (หรือจองถนนไปยังกรุงลงกา) ลงในมหาสมุทร วาดขึ้นที่เมืองกังรา รัฐหิมาจัลประเทศ ภารตะ - พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย, แหล่งที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 8 กันยายน 2567.
1.
       เมื่อเสด็จขึ้นสู่บุษบก03 แล้วเหาะตรงไปยังเมืองนันทิกราม. ณ เมืองนันทิกรามนั้น พระรามพระลักษมณ์ได้พบกับเหล่าพี่น้อง พระพรต และพระศัตรุฆน์ ซึ่งพระรามได้จัดการกับความยุ่งเหยิงภายในราชวงศ์จนทุกอย่างเรียบร้อย. พระรามทรงนำนางสีดากลับคืนมา พร้อมทั้งได้รับราชอาณาจักรของพระองค์กลับคืนมาด้วย. ชาวประชาต่างยินดีมีความสุข. ผู้ที่ประพฤติธรรมอย่างเคร่งครัดต่างได้รับการเลี้ยงดู. โรคภัยไข้เจ็บก็ได้รับการรักษาให้หายขาด. ไม่มีความอดอยากแร้นแค้น ทุกผู้ทุกนามล้วนปราศจากความกลัว. ไม่มีบิดาคนใดที่เห็นบุตรของตนตาย. ส่วนสตรีนั้น ก็มิได้ต่ำต้อยและไม่มีวันที่จะเป็นม่าย. พวกเธอจะอุทิศตนต่อสามี. ไม่ต้องกลัวลมพายุ. ไม่ต้องกลัวสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำ. ไม่จำต้องกลัวเปลวเพลิง. ซึ่งเหมือนดั่งในกฤตยุค04. พระองค์ประกอบพิธีบูชายัญม้าร้อยตัว และแจกทองคำเป็นจำนวนมากแก่ราษฎร. พระองค์ทรงปฏิบัติตามกฎบัญญัติที่เหมาะสม และทรงแจกโคหลายสิบล้าน (โกฏิ) ตัวให้แก่บัณฑิต. องค์ราฆพวางแผนที่จะสถาปนาราชวงศ์ 100 ราชวงศ์ที่มีคุณสมบัตเพรียบพร้อมให้แตกสาขาวงศ์แยกย่อยออกไป. ในโลกนี้ พระรามทรงปฏิบัติภารกิจของวรรณะทั้งสี่05. พระรามจะครองราชย์ธำรงเกียรติแด่พระราชอาณาจักรเป็นเวลาหนึ่งหมื่นหนึ่งพันปี จากนั้นจึงเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ชั้นพรหมโลก.
---------------
01. พญานล (नल - Nala) เป็นพญาวานร ลิงเผือกหน้าสีฟ้า มีน้องชายคือนิละ (नील - Nīla) มีกายสีฟ้า, เป็นบุตรของพระวิศวกรรมเทพศิลปี (विश्वकर्मा - Viśvakarmā) (ในรามเกียรติ์เรียก นิลพัท เป็นบุตรของพระกาฬ).
02. พิเภก หรือ วิภีษณะ (
विभीषण - Vibhīṣaṇa) เป็นอนุชาของท้าวราพณ์ รายละเอียดดูใน หน้าที่ 4 ของ A03. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ.
03. บุษบก (पुष्पक - Puṣpaka) เทียมรถที่เหาะบินได้ รายละเอียดดูใน หมายเหตุ คำอธิบาย 3 หน้าที่ 4 ของ
A03. บทนำ - บุคลิกลักษณะ รายละเอียดตัวละครสำคัญในรามายณะ.
04. กฤตยุค (कृतयुग - Kṛta Yuga) หรือ สัตยยุค (सत्ययुग - Satya Yuga) รายละเอียดดูในหน้าที่ 5 ของ
คัมภีร์ปุราณะ 1.
05. วรรณะ (वर्ण - Varṇa) ประกอบด้วย พราหมณ์ (ब्राह्मण - Brāhamaṇa) กษัตริย์ (क्षत्रिय - Kṣatriya) แพศย์หรือไวษยะ (वैश्य - Vaiśya) และ ศูทร (शूद्र - Śūdra).

.
.
หน้าที่ 7
ผู้ได้อ่านเรื่องราวของรามายณะก็จักมีอายุยืนยาวชั่วลูกชั่วหลาน และบรรดาญาติ ๆ ที่ใกล้ชิด. หลังจากสิ้นชีวิตแล้ว ก็จะได้รับเกียรติอันสำคัญในสวรรค์. พราหมณ์ที่ได้อ่านเรื่องราวนี้ก็จะกลายเป็นผู้กล่าววาจาอันไพเราะ หากเป็นกษัตริย์ก็จะได้ครอบครองดินแดนอันไพศาล หากเป็นพ่อค้าวานิช01 ก็จะมีกำไรที่งดงาม และหากเป็นคนในวรรณะศูทรก็จะมีความสำคัญได้รับเกียรติ.
---------------

01. หมายถึง บุคคลวรรณะแพศย์หรือไวษยะ.

1.
2.
3.
พาลกัณฑ์
สรรคที่ 2
1.
มื่อได้ฟังคำกล่าวพระฤๅษีนารทมุนี ผู้ทรงศีลอันบริสุทธิ์แล้ว พระฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่02 ซึ่งมีธรรมะอยู่ในจิตพร้อมด้วยสาวก ก็กราบเคารพพระฤๅษีนารทมุนี. เมื่อได้รับการเคารพบูชาอย่างเหมาะสมแล้วฤๅษีนารทมุนี ก็ลาจากและเสด็จขึ้นไปบนอากาศ03 สู่โลกแห่งเหล่าทวยเทพ. เมื่อล่วงไประยะเวลาหนึ่ง ฤๅษีวาลมีกิก็ไปถึงลำแควทมสา04 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำชนาวี05 นัก. ฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่ได้มายังริมฝั่งแควทมสา. เมื่อสาวกของฤๅษียืนอยู่ข้าง ๆ ฤๅษีวาลมีกิเห็นว่าตีรถะ06 ดูเกลี้ยงสะอาดปราศจากโคลนตม07. ฤๅษีก็กล่าวว่า 'โอ้ ภรัทวาช08 ดูเถิด. ตีรถะนี้ไม่มีโคลนตมเลย. ช่างงดงาม และน้ำก็น่าชื่นใจ เหมือนจิตใจของชนทั้งหลาย. 'โอ้ลูกเอ่ย!09 จงวางหม้อน้ำไว้ที่นี่เถิด และมอบเสื้อคลุมเปลือกไม้ให้แก่ข้าฯ . ข้าฯ จะดื่มด่ำกับความสูงส่งแห่งท่าน้ำแควทมสานี้.' ศิษย์ภรัทวาชได้รับการกล่าวขานโดยฤๅษีวาลมีกิผู้มีจิตใจอันยิ่งใหญ่, เขาควบคุมตนเอาใจใส่อาจารย์ของตน เขาได้มอบเสื้อคลุมที่ทำจากเปลือกไม้ให้แก่อาจารย์พระฤๅษี. ฤๅษีวาลมีกิผู้ซึ่งควบคุมประสาทสัมผัสของตนไว้ก็รับเสื้อฯ คลุมจากศิษย์ของตน.
---------------

02. มหาฤๅษีวาลมีกิ.
03. บ้างก็ว่า เสด็จขึ้นสู่สวรรค์.
04. ลำแควทมสา (तमसा - Tamasā) เป็นสาขาย่อยหรือเป็นแควที่แตกมาจากแม่น้ำชนาวี (แม่น้ำคงคา), แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ชาวเมืองภารตะใช้น้ำจากแม่น้ำสายนี้เพื่อการดื่ม (โศลกที่ 3, อัธยายะที่ 9, ภีษมบรรพ, มหาภารตยุทธ) อารามอันโด่งดังของฤๅษีวาลมีกิ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำหรือแควสายนี้ สถานที่นี้เป็นเหตุการณ์นกกระเรียนสาระสา09 อันลือนามและคำสาปอันโด่งดังของวาลมีกิซึ่งเริ่มต้นด้วย 'Mā niṣāda', แม่น้ำสาขาที่ไหลผ่านรัฐมัธยประเทศและรัฐอุตตรประเทศ อาศรมของฤๅษีวาลมีกิตั้งอยู่บนฝั่งแควนี้.
05. แม่น้ำชนาวี (जाह्नवी - Jahnavī) คือแม่น้ำคงคา.
06. ตีรถะ (तीर्थ - tirtha or tīrtha) - ท่าน้ำ ณ จุดหรือชุมทางที่ข้ามแคว/แม่น้ำ.
07. นอกจากจะเป็นท่าน้ำแล้ว ตีรถะยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการแสวงบุญ ซึ่งมีน้ำให้อาบ.
08. ภรัทวาช (भरद्वाज - Bharadvāja) - สาวกของฤๅษีวาลมีกิ.
09. คำที่ใช้คือทาท่า (तत - tata) แม้ว่าจะหมายถึงลูกชาย แต่ก็ใช้เรียกคนที่อายุน้อยกว่าด้วยความรักใคร่. แต่ใน Ṛgveda และต่อจากนั้น Tata (तत, ‘dada’) เป็นชื่อเล่นของ 'พ่อ' Tāta และ Pitṛ.

.
.
หน้าที่ 8
ฤๅษีย่างก้าวไปเบื้องหน้า พร้อมกับหันมองป่าใหญ่ไปรอบ ๆ ทุกทิศ.

นกกระเรียนสาระสาคู่หนึ่ง (Sarus cranes), ที่มา: savingcranes.org ผ่าน pinterest.com, วันที่เข้าถึง: 1 ตุลาคม 2567.
1.
       ณ จุดใกล้ ๆ นั้น ฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่ภควานท่านนี้ก็เห็นนกสาระสา01 คู่หนึ่ง กำลังจรคลอเคลียกันรอบ ๆ . เสียงของนกสาระสานี้ช่างไพเราะยิ่งนัก. พลันก็มีนิษาท02 อันเป็นพรานป่าผู้หนึ่ง ซึ่งมีเจตนาร้ายต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่นั่น. ขณะที่ฤๅษีจ้องมองอยู่นั้น นิษาทก็สังหารนกสาระสาตัวผู้เสีย. ขาของมันเปื้อนเลือดนอนสะท้านกองอยู่บนพื้น. เมื่อสาระสาตัวเมียเห็นว่าคู่ของมันถูกสังหาร ก็ร้องคร่ำครวญด้วยน้ำเสียงที่น่าเวทนา. ฤๅษีผู้มีธรรมะในจิตใจ. เขาเห็นพรานป่าจับนกตัวนั้นลงมา ฤๅษีรู้สึกสงสาร. เต็มไปด้วยความเมตตาและเห็นว่าสาระสาตัวเมียกำลังร้องไห้ ฤๅษีก็ตระหนักว่านี่คืออธรรม. ท่านจึงกล่าวว่า. 'โอ นิษาท! นกสาระสาสองตัวนี้กำลังอยู่ในอาการหลงไหลคลั่งไคล้ และเจ้าได้ฆ่ามันไปเสียตัวหนึ่ง ดังนั้นเจ้าจะต้องมีชื่อเสียงที่ไม่ดีไปชั่วนิรันดร์.'03 เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว ฤๅษีก็บังเกิดความคิดในใจขึ้นมาว่า "ข้าฯ ถูกครอบงำด้วยความเศร้าโศกเพราะเจ้านกนี่ เอ ข้าฯ ได้กล่าวสิ่งใดไว้?" ผู้ที่ฉลาดและมีปัญญามากก็จะสะท้อนเรื่องนี้ออกมา. เมื่อตกลงใจได้แล้ว โคในหมู่ฤๅษีก็กล่าวประโยคแก่สาวกของตนว่า "ขณะที่ข้าฯ ถูกครอบงำด้วยความเศร้านั้น. ถ้อยคำเหล่านี้ก็ผุดขึ้นมา. มีจังหวะ ช่วงและจัดเรียงเป็นบาท04 ด้วยตัวอักษร05 ที่เท่า ๆ กัน." ถ้อยคำอันเป็นโศลก06 นี้ มหาฤๅษีได้กล่าวแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ และพวกเขาก็น้อมรับไว้ด้วยความยินดี. ฤๅษีก็พึงพอใจ. เมื่อได้ปฏิบัติตามพิธีกรรมเรียบร้อยแล้ว ฤๅษีก็ชำระล้างสนานกาย ณ ตีรถะนั้น. ฤๅษีได้เดินกลับมาโดยนึกลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น. ภรัชวาทศิษย์อันนอบน้อมและทรงภูมิความรู้ได้เติมน้ำในหม้อกาแล้วและเดินตามอาจารย์มาด้านหลัง.
---------------

01. นกกระเรียนสาระสา (Krauñca, Sarus Crane, Sarus Crane Grus Anitigone, Sarus มาจากภาษาสันสกฤต sārasa ซึ่งแปลว่านกแห่งทะเลสาบ) บ้างก็ว่า นกเการาญจะ (क्रौञ्च - Krauñca) บ้างก็ว่า นกปากห่าง (Curlew)  ซึ่งตรงส่วนหัวจะมีสีแดงพบในนกกระเรียนไทย และสามารถพบได้ในดินแดนภารตะ โดยทั่วไปสูงประมาณ 2 เมตร ช่วงปีกยาว 2.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 6.8-8 กิโลกรัม.
02. นิษาท (निषाद - Niṣāda or Nishada) - พรานป่าผู้ท่องไปในเทือกเขาและพงไพร.
03. บทกวีอันขจรขจายนี้ (โศลก) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบทกวีสันสกฤต
04. บาท (पाद - Pāda หรือ Pādas) - "เท้า" หรือ "หนึ่งในสี่" ของบทกวีตามนาฏยศาสตร์ (नाट्य शास्त्र - Nāṭyaśāstra)
05. อักษร (अक्षर - Akṣara หรือ akshara) - ตัวหนังสือ.
06. มีการเล่นคำโดยนัยอันเกี่ยวกับที่มาของคำว่าโศลก (श्लोक - śloka) จากคำว่าโศก (शोक - śoka - Fear of grief - ความเศร้าอาดูร) บทกวีสันสกฤตมีหน่วยเสียงหลายประเภท หน่วยเสียงประเภทนี้เรียกว่าอนุษฺฏุภฺ (अनुष्टुभ् - anuṣṭúbh) บาทแปลว่าหนึ่งในสี่ และอนุษฺฏุภฺ โศลก มีสี่บาท โดยแต่ละบาทมีแปดพยางค์ บทกวีที่มีชื่อเสียงในภารตะจักมีคุณลักษณะเช่นนี้.

1.
2.
หน้าที่ 9
       ผู้ที่รู้ธรรมะ (ฤๅษีวาลมีกิ) ก็เข้าไปในอาศรมพร้อมกับศิษย์ของตน. นั่งลงแล้วสนทนาเรื่องอื่น ๆ แต่ยังคงภาวนาถึงเรื่องที่เกิดขึ้นต่อไป. พระพรหมเทพผู้สร้างโลกได้เสด็จมายังอาศรมนั้นด้วยพระองค์เอง. พระผู้มีมหิทธานุภาพสี่พักตร์ เสด็จมาพบโคในหมู่ฤๅษี. เมื่อฤๅษีได้เห็นองค์พระพรหมแล้ว ก็ควบคุมตนเองไม่กล่าววาจาใดออกมา.

พระพรหม, ที่มา: www.pinterest.com, วันที่เข้าถึง: 25 มีนาคม 2567.
1.
ฤๅษีประหลาดใจยิ่ง จึงรีบลุกขึ้นประนมมือทำความเคารพ. ฤๅษีได้บูชาและถวายเกียรติพระพรหมด้วยปาทยะ อาจมนียะ และอาสนะ.01 ครั้นแล้วฤๅษีก็กราบลงต่อพระพรหมอย่างถูกระเบียบจารีต ได้ซักถามเรื่องความสถิตอยู่สบายแห่งพระพรหม ครั้นฤๅษีได้บูชาพระพรหมด้วยพิธีการอันงดงามแล้ว พระพรหมได้ประทับนั่ง ให้ฤๅษีนั้นนั่งลงด้วย และทรงสั่งสอนวาลมีกีฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่. ต่อหน้าพระอัยกาของโลก ฤๅษีวาลมีกิได้นั่งลงโดยยังคงนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 'ภูมิปัญญาของเขาเต็มไปด้วยความชิงชังต่อผู้มีจิตใจชั่วร้าย02 สร้างความลำบากใจให้กับเขา พรานป่าได้ฆ่านกกระเรียนสาระสาไปตัวหนึ่งที่ขับขานร้องได้ไพเราะยิ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร' ฤๅษียังคงโศกเศร้าเพราะนกสาระสาตัวนั้นอีก. ด้วยความโศกเศร้า ฤๅษีก็สวดเป็นโศลกขึ้นมาอีกครั้ง. พระพรหมทรงยิ้มให้กับโคท่ามกลางเหล่านักพรตแล้วตรัสขึ้นว่า 'เจ้าได้เรียบเรียงโศลกอย่างมีโครงสร้างแล้วละ. ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องนี้เลย (การตายของนกสาระสา). โอ พราหมณ์เอ่ย! ช่วงทำนองและวาจานั้นมาจากข้าฯ . โอ เจ้าผู้สูงส่งในบรรดาปราชญ์! ทั้งนี้ก็เพื่อให้เจ้าสามารถเล่าถึงจริยวัตรการปฏิบัติของพระรามได้อย่างครบถ้วน. ในโลกนี้ พระรามทรงเป็นผู้เฉลียวฉลาดเพียบพร้อมและมีคุณธรรมในดวงใจ. พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณ และพวกเจ้าทั้งหลายก็ได้ยินเรื่องความประพฤติจริยวัตรของพระรามมาจากฤๅษีนารทมุนีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระรามผู้ชาญฉลาดทรงกระทำทั้งที่เปิดเผยและลับ พร้อมกับโอรสของนางสุมิตรา03 (พระลักษมณ์) และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหล่ารากษส. เจ้าทราบถึงจริยวัตรการปฏิบัติของนางไวเดหิ04 ไม่ว่าจะเปิดเผยออกมาแล้วหรือเป็นความลับก็ตาม. ทุกสิ่งที่ไม่รู้ก็จะถูกเปิดเผยแก่เจ้าเช่นกัน. ในกาพย์05 ที่เจ้าประพันธ์ขึ้น จักไม่มีคำใดเลยที่เป็นเท็จ และจะไม่มีอะไรที่ไม่เกิดขึ้น. เรื่องราวจริยวัตรของพระรามที่รังสรรค์และโศลกที่งดงามเป็นเรื่องราวที่มองโลกในแง่ดี. ตราบใดที่ยังมีพนมภูเขาตระหง่าน และตราบใดที่ยังมีมหานทีไหลผ่านพระแม่ธรณีอยู่นี้ ตราบนั้นมหากาพย์รามายณะก็ยังคงเผยแพร่หมุนเวียนให้ศึกษากันในโลก ตราบใดที่เรื่องราวของพระรามที่ท่านได้ประพันธ์ขึ้นไว้ ตราบนั้นจักดำรงสถาวร จวบถึงเวลานั้น เรื่องราวของรามายณะ จักประจักษ์อยู่ทั้งแดนสวรรค์ แดนมนุษย์และในโลกของเรา06' กล่าวจบ พระพรหมอันเรืองจรัสก็อันตรธานไป.

---------------
01. สิ่งหล่านี้มักจะมีและจัดเตรียมไว้สำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือนอันได้แก่ ปาทยะ (पाद्य - Pādya - น้ำล้างเท้า) อาจมนียะ (आचमनीय - Ācamanīya - น้ำสำหรับบ้วนปาก/ล้างหน้า) อรฆยะ (अर्घ्य - arghya - เป็นน้ำของขวัญเป็นสำหรับใส่ในมือ เพื่อชำระล้างแก่ผู้ศรัทธา) และอาสนะ (आसन - āsana - ที่นั่ง).
02. พรานป่า.
03. ในบางแหล่งอ้างอิง
02 ระบุเรียกพระลักษมณ์ว่า เทรามิตริ (सौमित्रि - Saumitri) อนุชาของพระราม ผู้เป็นบุตรของท้าวทศรถและนางสุมิตรา.
04. ไวเดหิ (वैदेही - vaidehī) เป็นอีกชื่อหนึ่งของนางสีดา อ้างตามรามายณะในแง่มุมของศาสนาเชน.
05. กาพย์ (काव्य - Kāvya) - บทกวีที่มีความยาว.
06. โดยแท้จริงแล้ว รามายณะ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความรุดหน้าของพระราม (अयन - āyaṇa - อายณะ)

1.
2.
หน้าที่ 10
ฤๅษีวาลมีกิพร้อมทั้งศิษย์ต่างประหลาดใจยิ่ง. บรรดาศิษย์สาวกทั้งหมดก็สวดโศลกอีกครั้ง.

       เหล่าฤๅษีและสาวกได้สวดด้วยความยินดีและประหลาดใจยิ่ง ได้สวดซ้ำแล้สซ้ำเล่า. ฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่ได้สวดคาถานี้ในสี่บาท ในแต่ละบาทจะมีตัวอักษรจำนวนเท่ากัน.  เนื่องจากมีการสวดซ้ำ ๆ และเกิดจากความเศร้าโศก จึงเรียกพระคาถานี้ว่าโศลก01.

      และแล้ว ปัญญาจึงบังเกิดแก่ฤๅษีวาลมีกิ เมื่อได้คิดถึงเรื่องนี้ในใจแล้ว ฤๅษีจึงประพันธ์กาพย์รามายณะทั้งมวล. ท่านได้ตัดสินใจว่านี่คือสิ่งที่ท่านควรทำ. กอปรด้วยใจที่เปิดกว้าง และด้วยความเลื่องลือของฤๅษีวาลมีกิได้ประพันธ์ถึงจริยาวัตรของพระรามด้วยบาทที่งดงาม ด้วยตัวอักษรที่เท่า ๆ กันนับร้อย ๆ โศลก. ฤๅษีที่มีใจกรุณาและเปรื่องปราดได้ประพันธ์กาพย์นี้ เสริมส่งให้ท่านมีชื่อเสียงขจรขจาย.
---------------

01. มีความหมายแฝงว่าสิ่งหนึ่ง ๆ จะกลายเป็นโศลกเมื่อมีการท่องโดยผู้อื่น ไม่ใช่เพียงผู้ประพันธ์หรือผู้เรียบเรียงเท่านั้น.
1.
2.
3.
พาลกัณฑ์
สรรคที่ 3
1.
      
รั้นได้ฟังความประพฤติของบุคคลผู้ชาญฉลาด02 ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมะแล้ว บุคคลผู้มีธรรมะอยู่ในจิตใจ (ฤๅษีวาลมีกิ) ก็แสวงหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมดอีกครั้ง. เมื่อได้ปฏิบัติธรรมแล้ว ฤๅษีก็ใช้มือสัมผัสน้ำประสานมือกราบและยืนบนเสื่อหญ้าดารภา03 พร้อมผินหน้าไปทางทิศตะวันออก. ท่านนึกมองหาแผนภูมิแสดงความก้าวหน้า (วางโครงเรื่อง เรียงลำดับเรื่องราว).04 การประสูติของพระรามผู้มีความหาญกล้ายิ่ง ผู้เป็นที่โปรดปรานในบรรดาผู้คนทั้งหลาย ทรงเป็นที่รักของชาวโลก มีความเพียร มีความเมตตากรุณา และความเลื่อมใสในธรรมอันเป็นความจริงแท้;
---------------

02. เรื่องราวของพระราม ตามที่ได้สดับมาจากฤๅษีนารทมุนี.
03. เสื่อหญ้าดารภา (दर्भ - Darbha) - เป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์, จากข้อมูลขั้นต้น ไม่ชัดเจนว่าฤๅษีกำลังยืนหรือนั่ง.
04. จากข้อมูลขั้นต้นจะแสดงประโยคไม่สมบูรณ์ (ไม่มีประธานและกริยา) ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในภาษาสันสกฤต.





แหล่งอ้างอิง:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.
03จาก. "THE VALMIKI RAMAYANA 1," แปลโดย Bibek Debroy, ISBN 9780143428053, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์ อินเดีย, พ.ศ.2560, พิมพ์ในภารตะ, www.penguin.co.in.
04จาก. HTTP://www.wisdomlib.org.
1.
2.
3.
info@huexonline.com