MENU
TH EN

06. ยุทธกัณฑ์

Title Thumbnail & Hero Image: สงครามรามายณะ, ที่มา: amarnathdube.wordpress.com, วันที่เข้าถึง 24 กรกฎาคม 2565.
06. ยุทธกัณฑ์01, 02.
First revision: Jul. 23, 2022
Last change: Sep.29, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรคโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
หน้าที่ 1
       กัณฑ์ที่หกนี้ชื่อว่า ยุทธกัณฑ์ หมายถึง "กัณฑ์แห่งสงคราม - The Book of War" เกี่ยวข้องกับสงครามที่เกิดขึ้นหน้ากำแพงเมืองลงกา ระหว่างกองทัพของพระรามและพันธมิตรเหล่าวานร และรากษสผู้แปรพักตร์ (อาทิ พิเภก หรือ วิภีษณะ และเหล่ารากษสผู้ติดตาม) ฝ่ายหนึ่ง และเหล่ารากษส อสูร ภายใต้การนำของท้าวราพณ์หรือทศกัณฐ์ อีกฝ่ายหนึ่ง. ในกัณฑ์นี้ประกอบด้วยการบรรยายโดยละเอียดเกี่ยวกับกองทัพพลพรรคพญาวานร (vānara) และเรื่องราวการต่อสู้โดยละเอียดทั้งการต่อสู้ตัวต่อตัว หรือการต่อสู้แบบประชิดตัวของนักรบทั้งสองฝ่ายจำนวนมากเหลือคณานับ. ด้วยเหตุนี้ยุทธกัณฑ์จึงเป็นกัณฑ์ที่ยาวที่สุด และมีข้อความการพรรณนายาวเป็นสองเท่าของอุตตรกัณฑ์อันเป็นกัณฑ์สุดท้ายกัณฑ์ต่อไป.

ภารตะอนุทวีป, ที่มา: www.etsycom, วันที่เข้าถึง 24 กันยายน 2566.

       เมื่อพระรามพระลักษมณ์ได้รับรายงานจากกำแหงหนุมานเกี่ยวกับนางสีดาและรายละเอียดการป้องกันทางด้านการสงครามของกรุงลงกาแล้ว. พระรามพระลักษมณ์พร้อมพันธมิตรเหล่าวานรก็เดินทัพไปยังชายฝั่งทางตอนใต้ของภารตะอนุทวีป. ณ ที่นั่นทัพของพระรามพระลักษมณ์และพันธมิตร ได้รับพิเภกซึ่งเป็นอนุชาของท้าวราพณ์มาเป็นพวก การแปรพักตร์ของพิเภกเป็นเพราะไม่พอใจกับอารมณ์ฉุนเฉียวของท้าวราพณ์ และการลักพาตัวนางสีดาซึ่งไม่สามารถหาเหตุผลมาตอบได้. พิเภกได้นำรากษสผู้ติดตามจำนวนหนึ่งมาด้วย. พิเภกได้รับการยอมรับจากพระรามพระลักษมณ์และพันธมิตร เขาได้ใช้สติปัญญาภูมิความรู้ ความช่วยเหลือต่าง ๆ และให้ข้อมูลสำคัญของฝ่ายท้าวราพณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการสงครามในเบื้องหน้า.

       ภายใต้การควบคุมงานการสร้างสะพานของ "พญานล"01. บุตรของสถาปนิกผู้ศักดิ์สิทธิ์ "ท้าววิศวกรรม (Viśvakarman)" ได้รวบรวมเหล่าพลพรรควานรระดมสร้างสะพานข้ามสมุทร เพื่อให้กองทัพของพระรามพระลักษมณ์พร้อมพันธมิตรข้ามไปยังกรุงลงกา และปิดล้อมเมืองเสีย. มีการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและนองเลือด แม้จะไกลจากความเป็นจริงก็ตาม เมื่อการรบได้ดำเนินไป หลังจากการเผชิญหน้าปะทะศึกกันครั้งแรก ความได้เปรียบก็ย้ายมาอยู่ข้างฝ่ายพระรามพระลักษมณ์และพันธมิตร ท้าวทศกัณฐ์ราวณะได้ถูกศัตรูรุกไล่อย่างอัปยศอดสู และถอนตัวออกจากสนามรบไปชั่วระยะหนึ่ง. ท้าวราพณ์ได้ส่งพญารากษสนักรบตนสำคัญเข้าสู่สนามรบแต่ละตนตามลำดับ ซึ่งก็ถูกกองทัพของฝ่ายพระรามปราบสังหารเสียสิ้น นักรบอสูรรากษสตนสำคัญได้แก่ กุมภกรรณ อนุชาผู้ยิ่งใหญ่และขี้สงสัยของทศกัณฐ์ และอินทรชิต (Rāvaṇi Indrajit) บุตรชายผู้ทรงอิทธิฤทธิ์และน่าสะพรึงกลัว ซึ่งทั้งสองตนเป็นทะแกล้วผู้ยิ่งใหญ่และพ่อมดจอมคาถาที่น่าเกรงขาม. ท้ายที่สุด เหล่านักรบผู้กล้าของท้าวราพณ์ก็ถูกฝ่ายพระรามสังหารเสียสิ้น ท้าวราพณ์ก็ขับเทียมรถออกไปทำศึก และจากการต่อสู้อันทรงพลังสะท้านไปทั่วแผ่นดินและยาวนานก็สิ้นสุดลง พระรามได้สังหารท้าวราพณ์จนสิ้นชีพตักษัย. พระรามได้ตั้งพญาพิเภกยักษาครองบัลลังก์กรุงลงกา และส่งพิเภกไปพบนางสีดา. ในช่วงแรกพระรามไม่แสดงท่าทียินดีที่จะได้นางสีดากลับมา. พระองค์กลับกล่าววาจาข่มเหงและปฏิเสธที่จะรับนางกลับ ด้วยเพราะนางอาศัยอยู่ในเคหะสถานของชายอื่น. ต่อมานางสีดาได้รับการพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ (รามเกียรติ์: ตอนนางสีดาลุยไฟ) จากความไม่ซื่อสัตย์ โดยการยอมจำนนต่อการทดสอบในที่สาธารณะด้วยการเดินเข้าไปในกองไฟเท่านั้นที่พระรามจะยอมรับนาง.
หมายเหตุ คำอธิบาย

01. พญานล (Nala) เป็นพญาวานร บุตรของพระวิศวกรรมเทพศิลปี (ในรามเกียรติ์เรียก นิลพัทธ์ เป็นบุตรของพระกาฬ)

ภาพสลักหินทราย: ท้าวราพณ์บนเทียมรถกำลังสัประยุทธ์กับฝ่ายพระรามและพันธมิตร ภาพจากระเบียงคดด้านทิศเหนือปีกตะวันตก นครวัด เสียมราฐ กัมพูชา ถ่ายไว้เมื่อ 20 ตุลาคม 2561
 

หน้าที่ 2
       ในที่สุดศัตรูก็ถูกสังหาร นางสีดาก็ฟื้นคืน ศักดิ์ศรีของการเป็นภริยาที่ดีกลับคืนมา และวันเวลาก็ล่วงเลยจากการที่พระราม พระลักษมณ์ และนางสีดาถูกเนรเทศผ่านไป 14 ปี ทั้งสามพระองค์ก็เสด็จกลับกรุงอโยธยาด้วยบุษบก  (Puṣpaka) พระราชวังที่บินได้ของพิเภกหรือวิภีษณะ. ครั้นเมื่อได้เสด็จถึงกรุงอโยธยาแล้ว พระภรต (ซึ่งได้สำเร็จราชการแทนในช่วงที่พระรามไม่อยู่) ก็สละตนออกการบริหารราชการแผ่นดินหรือสละราชสมบัติคืนแก่พระราม และพระรามก็ได้เฉลิมฉลองการครองราชสมบัติกรุงอโยธยาซึ่งล่าช้ามานาน พระรามครองราชย์สืบมายาวนานนับพันปี นี่คือกาพย์รามราชย์ (Rāmarājya) อันโด่งดังในหลาย ๆ ฉบับที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของประเทศและรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้. และแล้วเรื่องราวก็จบลงในแบบที่ "มีความสุขตลอดไป-happily ever after". แต่ทว่านี่ไม่ใช่แนวการประพันธ์บทกวีของมหาฤๅษีวาลมีกิ.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.
info@huexonline.com