MENU
TH EN

05. สุนทรกัณฑ์

ภาพในห้องที่ 36: กำแหงหนุมานเผากรุงลงกา, ระเบียงที่แสดงภาพเขียนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.
05. สุนทรกัณฑ์01, 02.
First revision: Jul.23, 2022
Last change: Sep.25, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
หน้าที่ 1
       สุนทรกัณฑ์อันเป็นกัณฑ์ที่ห้าของมหากาพย์รามายณะนี้ ตัวละครเอกไม่ใช่เป็นพระรามดังเช่นกัณฑ์อื่น ๆ  แต่ทว่าตัวเอกเป็นกำแหงหนุมาน และการตั้งชื่อกัณฑ์ของผู้ประพันธ์ผู้รจนาด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็มีคำอธิบายที่น่าสนใจ01. "สุนทรกัณฑ์ หมายถึง กัณฑ์อันสวยงาม" และเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่มีรายละเอียด ความสดใส ความรุนแรง และมีความขบขันเกี่ยวกับการผจญภัยของกำแหงหนุมาน ภายในป้อมปราการอันงดงามของกรุงลงกา (ตอนหนุมานเผากรุงลงกา - รามเกียรติ์).

       หลังจากที่หนุมานเหาะข้ามสมุทรมายังกรุงลงกาได้อย่างอาจหาญนั้น หนุมานก็ได้เหาะเลียบชายฝั่งกรุงลงกา เข้าสำรวจสอดแนมภายในกรุงลงกาของบรรดาเหล่ารากษส มีคำพรรณนาของผู้ประพันธ์เกี่ยวกับกรุงลงกา และราชารากษสอย่างมีสีสัน และการบรรยายสาธกอย่างประณีต เช่นเดียวกับการพรรณนาถึงความโศกาอาดูร สิ้นหวังของนางสีดาขณะถูกจองจำ. ณ ป่าอโศกอันเป็นที่กุมขังนางสีดานั้น พญารากษสราพณ์ได้ให้เหล่ารากษสีกลุ่มหนึ่งดูแลนาง มีรากษสีหลายตนที่คอยคุกคามนาง และมีนางรากษสีจำนวนหนึ่งที่เห็นใจนาง ตระหนักและรับฟังความทุกข์ระทมของนางสีดา (รายละเอียดดูใน A03. บทนำ หน้าที่ 7) ในที่สุดหนุมานก็พบนางสีดาผู้กำลังโศกเศร้า และได้ปลอบใจนางพร้อมถวายแหวนของพระรามแก่นาง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ (bona fides) รักมั่นของพระรามที่มีต่อนางสีดา. พญาวานรผู้ทรงฤทธิ์ได้เสนอตนที่จะเหาะพานางสีดากลับไปพบพระราม แต่นางปฏิเสธ ด้วยไม่เต็มใจที่จะยอมให้ตนเองถูกแตะต้องโดยชายที่มิใช่สามี และโต้แย้งว่าพระรามจะต้องมารับนางเอง เพื่อเป็นการล้างแค้นจากการดูหมิ่นนางที่ถูกลักพาตัว.

       จากนั้นกำแหงหนุมานก็ได้สร้างความอลหม่านวอดวายหายนะให้แก่กรุงลงกา ด้วยการทำลายสวนปราสาทราชมณเฑียร สังหารรากษส และพลทหารอสูรของราชารากษสท้าวราวณะไปมากต่อมาก. ในที่สุดก็แสร้งปล่อยให้ตนเองถูกจับกุมโดยอินทรชิต บุตรอันน่าเกรงขามของท้าวราพณ์ และถูกนำตัวไปอยู่ยังเบื้องหน้าท้าวราพณ์ทศกัณฐ์. จากการซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน หนุมานก็ตอบกลับดูหมิ่นเยาะเย้ยพญารากษสราวณะ เขาจึงถูกดุด่าประณามกลับ เหล่ารากษสได้เผาไฟที่หางของหนุมาน พญาลิงก็สลัดหลุดจากพันธนาการ และกระโดดขึ้นบนหลังคาจากปราสาทหนึ่งไปยังอีกปราสาทหนึ่ง จุดไฟเผากรุงลงกาด้วยหางของพญาลิงเอง และก็สังเกตระแวดระวังให้ตนเองและนางสีดาปลอดภัย. จากนั้นกำแหงหนุมานก็เหาะกลับไปยังแผ่นดินใหญ่เข้าสมทบกับกองกำลังเหล่าวานร ร่วมเดินทางกลับไปยังกรุงขีดขิน หนุมานได้รายงานการผจญภัยและความสำเร็จในภารกิจต่อพระรามและพญาสุครีพ.

หมายเหตุ คำอธิบาย
01. ด้วยในกัณฑ์นี้ พรรณนาถึงการผจญภัยของหนุมานเป็นหลัก ความไม่เห็นแก่ตัว ความแข็งแกร่งและการอุทิศตนต่อพระราม เชื่อกันว่าหนุมานถูกเรียกขานด้วยความรักว่า "สุนทร-Sundara" โดยนางอัญชนาผู้เป็นมารดา และปราชญ์วาลมีกิก็ตกลงใจว่าจะเรียกกัณฑ์นี้ว่าสุนทรกัณฑ์มากกว่าชื่ออื่น ๆ อันสะท้อนถึงเรื่องราวการผจญภัยของกำแหงหนุมาน.

 
หน้าที่ 2
      มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ทัศนะว่า สุนทรกัณฑ์นี้เปรียบประดุจเป็นเมล็ดพืช (bīja) หรือเมล็ดพันธุ์ หรือที่เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจแห่งบทกวีมหากาพย์. อาจเป็นเพราะในกัณฑ์นี้ได้พรรณนาย้อนถึงโศกนาฏกรรมที่บังเกิดขึ้น จากการที่หนุมานพบนางสีดา และความหวังที่จะกลับมาพบพระรามผู้เป็นสวามีของนาง. การศึกษามหากาพย์รามายณะที่ประพันธ์โดยมหาฤๅษีวาลมีกิให้สมบูรณ์แบบในรูปแบบของพิธีกรรม (ที่ได้อุทิศเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ - being devoted, great goal - पारायण - ปรายณะ - parāyaṇa) นั้น จึงมักเริ่มต้นด้วยกัณฑ์นี้ มิใช่พาลกัณฑ์อันเป็นกัณฑ์แรก. ในชุมชนของชาวฮินดูบางแห่ง ถือว่างานประพันธ์รามายณะโดยเฉพาะสุนทรกัณฑ์นี้ เปรียบเสมือนคัมภีร์หลัก บางส่วนของกัณฑ์มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพยากรณ์วินิจฉัยโรคภัยไข้เจ็บได้ คล้ายกับหนังสืออี้จิง (I Ching) ของจีน. เชื่อกันว่าบทสวดบางบทจะแก้ปัญหาทางโลกที่ประสบได้ไม่น้อย. ด้วยเหตุนี้สุนทรกัณฑ์จึงมักถูกตีพิมพ์และจำหน่ายแยกจากมหากาพย์โดยรวม คล้ายดั่ง ภควัทคีตา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมหาภารตยุทธ.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.
humanexcellence.thailand@gmail.com