MENU
TH EN

03. อรัณยกัณฑ์

อรัณยกัณฑ์: ศูนย์กลางแห่งวงล้อในศรีมัด รามายณะ, ที่มา: www.prekshaa.in, วันที่เข้าถึง: 22 กรกฎาคม 2565.
03. อรัณยกัณฑ์
First revision: Jul.22, 2022
Last change: Sep.2, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

 
 
หน้าที่ 1
       ในกัณฑ์ที่สามแห่งมหากาพย์รามายณะนี้ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์อันน่าทึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่พระรามได้ถูกเนรเทศอยู่ในอรัณย์. พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ได้เดินฝ่าดงพงไพรสู่ป่าทัณฑกะ อันเป็นถิ่นทุรกันดาร มีเพียงเหล่านักพรตผู้เคร่งครัดในคำสอนตามคัมภีร์พระเวท และบรรดารากษสผู้ดุร้ายเท่านั้น. บรรดานักพรตได้ขอร้องให้พระรามปกป้องพวกเขาจากการปล้นสะดมของเหล่ารากษส ที่มักจะบุกเข้าปล้นเสมอ ๆ ซึ่งพระรามก็ทรงสัญญาที่จะคอยปกป้องให้. ในตอนต้นของอรัณยกัณฑ์นี้ รากษสที่ชื่อวิราธ (Virādha - ในรามเกียรติ์เขียนว่า พิราพ - รายละเอียดดูใน หมายเหตุแลการขยายความ 05 หน้าที่ 6 ของ A03. บทนำ) ได้ลักพาตัวนางสีดาไปในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งก็เป็นที่คาดเดาล่วงหน้าได้ว่านางจะถูกท้าวราพณ์ลักพาตัวในภายหลัง อันเป็นเหตุการณ์สำคัญของกัณฑ์นี้ และมหากาพย์รามายณะ.
 

ภาพในห้องที่ 23: พระยาทูตกับพระยาตรีเศียรยกพลออกไปรบกับพระราม พระรามสังหารพระยาทูต และตรีเศียร, ระเบียงที่แสดงภาพเขียนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ, ถ่ายไว้เมื่อ 2 กรกฎาคม 2566.
 
 

พระรามและนางสีดา, ที่มา: pinterest.com, วันที่เข้าถึง: 12 พฤศจิกายน 2566.


       ในขณะที่ทั้งสามได้อาศัยในป่าปัญจวดี (Pañcavaṭī) อันสุขสงบและงดงามอยู่นั้น มีรากษสี (rākṣasī) นามว่า นางสำมนักขา (ศูรปณขา - Śūpaṇakhā) น้องสาวของท้าวราพณ์ ได้มาเยี่ยมเยียนพวกเขาทั้งสาม. นางสำมนักขาพยายามล่อลวงพระรามก่อนแล้ว จึงล่อลวงพระลักษมณ์แต่ก็ล้มเหลว นางจึงพยายามสังหารนางสีดา. รากษสีสำมนักขาถูกพระลักษมณ์ขวางไว้ พระรามสั่งให้พระลักษมณ์ลงโทษนางเสีย (พระลักษมณ์ได้ตัดจมูกนางทิ้ง) นางร้องเสียงหลงวิ่งไปหาพญารากษส "พระยาขร" (Rākṣasa Khara) ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์อันเป็นประยูรญาติของนางตนหนึ่ง. พระยาขรได้ส่งพระยาทูต (บ้างก็เขียนว่า ทูษณ์) กับพระยาตรีเศียร รวมทั้งเหล่ารากษสผู้ดุร้ายจำนวนสิบสี่ตน (ที่มีความผิดและพระยาขรได้คาดโทษลงทัณฑ์ไว้ก่อนแล้ว) เข้าต่อสู้กับพระรามพระลักษมณ์. เมื่อพระรามสังหารเหล่ารากษสกลุ่มนี้สิ้น พระยาขรได้จัดทัพขนาดใหญ่ที่มีเหล่ารากษสอันน่าสะพรึงกลัวจำนวนหนึ่งหมื่นสี่พันตนเข้าปะทะ แต่พระรามพระลักษมณ์ก็ปราบเหล่าทัพอสูรนี้ได้อีกครั้ง. เมื่อข่าวการพ่ายแพ้ของเหล่ารากษสนี้เข้าถึงพระกรรณของท้าวราวณะ จอมอสูรราพณ์ตนนี้จึงตั้งปณิธานที่จะทำลายล้างพระราม พร้อมทั้งจะลักพานางสีดาด้วย. โดยได้รับความช่วยเหลือจากรากษสม้ารีศ (Mārīca) รากษสตนนี้มีความสามารถทำให้พระรามตกตะลึง เมื่อครั้งระหว่างการต่อสู้ในพาลกัณฑ์ ณ อาศรมของฤๅษีวิศวามิตร. ท้าวราพณ์ได้เคลื่อนตัวเข้าประชิดโดยเสด็จไปยังป่าปัญจวดี. ณ ที่ป่านั้นม้ารีศก็ใช้พลังที่ตนเองมีในการแปลงร่างเป็นกวางทองอันสวยงามเพื่อดึงดูดใจของนางสีดา และล่อให้พระรามเข้าไล่ถลำสู่ป่าลึกเพื่อจับกวางตัวนี้มาให้ได้. ท้ายที่สุดพระรามก็แผลงศรยังกวางทองตัวนี้ได้ ก่อนตายรากษสม้ารีศก็ร้องด้วยเสียงที่เลียนแบบพระรามราวกับว่าพระรามกำลังตกอยู่ในอันตราย. พระลักษมณ์ไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระเชษฐาพระรามที่ต้องปกป้องนางสีดาไว้อย่างเข้มงวด ได้ทิ้งนางสีดาไว้ตามลำพังและติดตามเสียงร้องของพระรามที่มาจากป่าลึก.
 

พระราม (แสดงโดย ประภาส) และนางสีดา (แสดงโดย กริติ สานอน) จากภาพยนตร์เรื่อง Adipurush (พ.ศ.2566), ที่มา: Facebook เพจ Prabhas Fans, วันที่เข้าถึง 31 พฤษภาคม 2566.
 
 
หน้าที่ 2
      ในขณะที่สองพี่น้อง พระรามพระลักษมณ์ไม่อยู่นั้น ท้าวราพณ์ก็แปลงร่างเป็นพราหมณ์ผู้ทรงศีลเข้าไปหานางสีดา และได้หลอกล่อแทะโลมนางด้วยวิธีต่าง ๆ และได้ใช้กำลังอุ้มนางสีดาเหาะหนีออกมา. พระยาชดายุ (जटायुस् - บ้างก็เรียก พญาแร้งชฎายุ ) ซึ่งเป็นพระสหายเก่าของท้าวทศรถได้เข้าช่วยนางสีดา แต่หลังจากการต่อสู้บนห้วงเวหาอันดุเดือด พระยาชดายุก็ถูกฟัน ดิ่งถลาลง บาดเจ็บสาหัสและสิ้นใจในเวลาต่อมา. นางสีดาถูกนำไปยังป้อมปราการบนเกาะกรุงลงกาของท้าวราวณะ ที่ซึ่งนางได้ถูกคุมขังอย่างแน่นหนา โดยรายล้อมด้วยเหล่ารากษสีที่ดุร้ายกระหายเลือด.

ภาพเขียนอันมีชื่อเสียงของ Raja Ravi Varma - ท้าวราวณะกำลังตัดปีกพระยาชดายุ, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 19 กันยายน 2566.
 
       การที่นางสีดาถูกลักพาตัวไปนั้น ทำให้พระรามเสียใจอย่างที่สุด มีอาการคลุ้มคลั่ง เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด. ในที่สุดพระลักษมณ์เข้าช่วยปลอบโยน พระรามจึงค่อย ๆ สงบลง พระรามพระลักษมณ์ได้พบกับสัตว์ร้าย บรรดารากษสที่ถูกสาบ และ "กาบัณฑ์" อสูรผู้อัปลักษณ์ (ดูเพิ่มเติมใน หน้าที่ 6 ของ A03. บทนำ) ซึ่งกาบัณฑ์ได้แนะนำให้เจ้าชายทั้งสองไปพบกับ พญาวานรสุครีพ เพื่อช่วยตามหานางสีดา ซึ่งพญาวานรสุครีพพำนักอยู่ ณ กรุงขีดขิน ใกล้ทะเลสาบปัมปา (Lake Pampā) ซึ่งเรื่องราวได้ไล่เรียงมาถึงตอนท้ายของอรัณยกัณฑ์.

       สามารถกล่าวได้ว่า นอกจากการที่อรัณยกัณฑ์นั้นได้เป็นศูนย์กลางแห่งการเล่าพรรณนาเรื่องรามายณะ ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นกีษกินธกัณฑ์ที่จะมีการพรรณนาเรื่องราวตามมา มีบทความ สรรค โศลกหลายตอนที่มีความงดงามทางภาษาและกวีนิพนธ์ มีการพรรณนาถึงการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลของผืนป่าลำเนาไพร. นอกจากนี้มีนักวิชาการหลายท่านก็ได้ให้ข้อสังเกตเอาไว้ว่า มันมีความแตกต่างกันอย่างมากจากกัณฑ์ก่อนหน้า ตรงที่ได้ทิ้งโลกแห่งการแก่งแย่ง มีการวางแผนทางการเมืองที่ค่อนข้างสมจริงในกรุงอโยธยาเอาไว้ แล้วมามุ่งเน้นไปกับไพรพนาที่น่าหลงไหลซึ่งมีนกพูดได้ ลิงเหาะได้ และรากษสที่น่าสะพรึงกลัวพร้อมพลังอันวิเศษ.



แหล่งอ้างอิง:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.





 
humanexcellence.thailand@gmail.com