MENU
TH EN

02. อโยธยากัณฑ์

การเนรเทศพระราม พร้อมพระลักษมณ์และนางสีดาให้อยู่ป่ามีกำหนด 14 ปี, ที่มา: ramayana.com, วันที่เข้าถึง: 22 กรกฎาคม 2565.
02. อโยธยากัณฑ์01,02.
First revision: Jul.22, 2022
Last change: Oct.23, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
 
หน้าที่ 1
       อโยธยากัณฑ์ (The Ayodhyākāṇḍa) กัณฑ์ที่ 2 นี้ ตั้งขึ้นตามชื่อของเมืองอโยธยาที่เหล่ายุวกษัตริย์ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่พำนัก ในขณะที่พระภรต และพระศัตรุฆน์ได้เสด็จอยู่ข้างนอก (ด้วยเพราะท้าวอัศวบดีผู้เป็นตาหรือมาตุลาได้ขอให้ไปอยู่ที่เมืองเกกัย) หลังจากที่พระรามและนางสีดาได้อภิเษกสมรสผ่านไปได้ 12 ปี ท้าวทศรถตระหนักว่าพระองค์ชราลงไปมาก จึงดำริที่จะสละตำแหน่งกษัตริย์และถวายแผ่นดินให้พระรามเป็นเจ้าชายรัชทายาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์. พระราชโองการแต่งตั้งพระรามขึ้นเป็นกษัตริย์นี้นั้น ประชาราษฎร์ต่างแซ่ซ้องยินดีปรีดากันทั่วทั้งกรุงอโยธยา และมีการตระเตรียมพิธีการอันมีขั้นตอนอย่างประณีตนี้ขึ้น. แต่กระนั้น ก่อนวันพิธีสำคัญจะเริ่มขึ้น นางไกยเกษี บ้างก็เรียก ไกเกยี (Kaikeyī) มเหสีองค์รอง ซึ่งเป็นมเหสีองค์โปรดของท้าวทศรถ ได้ถูกปลุกยุแหย่ให้เกิดความริษยาและความไม่พึงพอใจจากสาวใช้นางค่อมมันธรา บ้างก็เรียก มันถรา บ้างก็เรียก มนถรา (Mantharā)01. จากคำยุยงของนางค่อม เธออ้างว่าท้าวทศรถมีคำสัญญาสองประการที่จะมอบให้แก่นางไกยเกษีไว้นานแล้ว แต่ยังไม่บรรลุผล. ท้าวทศรถได้ลั่นวาจาไว้แล้วจึงต้องยอมทำตามคำเรียกร้องด้วยพระทัยที่แหลกสลาย (บ้างก็เขียนว่า กอปรกับความหลงไหลในนางไกยเกษี)  โดยเนรเทศพระรามให้ไปอยู่ป่ามีกำหนด 14 ปี แล้วให้โอรสของนางไกยเกษี คือพระภรต ขึ้นครองราชย์แทน.

         แม้ว่าพระลักษมณ์อนุชา ผู้มีความจงรักภักดีจะมีความโกรธแค้นยิ่ง แต่พระรามกลับนิ่งสงบดุจดั่งพวกลัทธิสโตอิก02. พระองค์ยึดมั่นในคุณธรรม และการอุทิศตนแสดงกตัญญุตา การปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้พระรามได้รับการเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง ซึ่งพระรามก็มิได้ลำบากใจใด ๆ เมื่อได้ทราบถึงชะตากรรมอันเลวร้ายเช่นนี้ น้อมรับคำสั่งของท้าวทศรถพระบิดา และเตรียมการทันที. พระรามขอร้องให้นางสีดาประทับอยู่แต่ในวังที่กรุงอโยธยา แต่นางสีดาไม่ยอม ยืนกรานที่จะติดตามพระรามร่วมรับการถูกเนรเทศ และเผชิญความยากลำบากด้วยกันกับพระสวามีในป่าดงพงไพร พระรามได้สละทรัพย์สมบัติทั้งหมด พร้อมสวมชุดนักพรตสำหรับอยู่ป่าออกเดินทางไปยังถิ่นทุรกันดาร โดยมีนางสีดาภริยาผู้ซื่อสัตย์และพระลักษมณ์พระอนุชาผู้จงรักภักดีของพระองค์ติดตามไปด้วยเท่านั้น. บรรดาราษฎรทั้งหมดในกรุงอโยธยาต่างจมอยู่กับความโศกเศร้าที่มีต่อพระราม กษัตริย์รัชทายาทผู้ถูกเนรเทศ ท้าวทศรถเองก็โศกสลดในอันที่ได้จะเห็นพระรามเป็นกษัตริย์ทำงานอุทิศแด่พระองค์และประชาราษฎร์ก็มลายไป และโอรสอันเป็นที่รักก็ถูกเนรเทศด้วยน้ำมือของพระองค์เอง ต่อมาท้าวทศรถก็สิ้นพระชนม์ด้วยหัวใจที่แตกสลาย.

หมายเหตุ การขยายความ
01. ในรามเกียรติ์ จะเรียกนางค่อมมนถรา ว่า "กุจจี" แต่แท้จริงแล้ว "กุจจี" มาจากคำ "กุพชี" ซึ่งแปลว่า "นางค่อม" เท่านั้น ไม่มีชื่อ, ที่มา: vajirayana.org, วันที่เข้าถึง: 6 กุมภาพันธ์ 2566.
02. พวกลัทธิสโตอิก - The Stoicism - แนวปรัชญาในเอเธนส์ ซึ่งกำเนิดหลังจากที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานได้ราว 243 ปี - คุณธรรม (virtue) เป็นสิ่งดีสิ่งเดียว (only good) สำหรับมนุษย์ - สิ่งภายนอกเช่น สุขภาพ ความมั่งคั่ง และความสุข ล้วนแล้วไม่ได้ดีหรือเลวร้ายในตัวของมันเอง (อะไดอะฟอรา - adiaphora).

จาก @india.in.pixels, วันที่เข้าถึง 30 มีนาคม 2566.
 
 
     หน้าที่ 2
       มีม้าเร็วนำราชสารไปเรียกตัวพระภรต ให้กลับจากวังของพระมาตุลาที่เมืองราชคฤห์ (เพื่อให้กลับมาครองราชย์). แต่พระภรตได้ปฏิเสธอย่างขุ่นเคืองจากการหาประโยชน์ตามแผนการของนางค่อมมันธราและพระมารดาไกยเกษี. พระภรตทรงปฏิเสธในการครองราชย์และรีบรุดเสด็จเข้าไปในป่าพร้อมกับมหาดเล็กผู้ติดตาม เพื่อชักชวนให้พระรามกลับมาสืบราชสมบัติยังกรุงอโยธยา. แม้กระนั้น พระรามก็ตั้งใจแน่วแน่ที่จะปฏิบัติตามพระราชโองการของพระบิดาที่ระบุไว้ในราชสาร ทรงปฏิเสธที่จะกลับกรุงอโยธยาก่อนสิบสี่ปีนับแต่ถูกเนรเทศ. เหล่าภารดาทั้งสี่ (พระราม พระภรต พระลักษมณ์ และพระศัตรุฆน์) ใกล้จะถึงทางตัน แต่พระภรตก็เสนอตนที่จะปกครองกรุงอโยธยาในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระรามเท่านั้น. เพื่อเป็นการแสดงถึงความมีอำนาจเด็ดขาดเป็นรัฐาธิปัตย์ที่แท้จริงของพระราม พระภรตได้นำรองเท้าของพระรามจัดวางไว้บนบัลลังก์แท่นประทับแทน. พระภรตทรงปฏิญาณว่าจะอยู่นอกกรุงอโยธยาจนกว่าพระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ จะเสด็จกลับคือพระนคร. ต่อมาทั้งสามพระองค์ พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ก็ละทิ้งถิ่นพำนักบนยอดเขา01. อันน่ารื่มรมย์ แล้วดำเนินลงใต้สู่ทัณฑกรัณยะ หรือ ป่าทัณฑกะ (दण्डकारण्य - Daṇḍakāraṇya / दण्डक - daṇḍaka)02. ที่เต็มไปด้วยเหล่ารากษส.

       เรื่องราวในอโยธยากัณฑ์นี้มีความโดดเด่นหลายประการ ประการแรก: ทำให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการตัดสินใจกระทำของท้าวทศรถกษัตริย์ชรา. แม้ว่าพระองค์จะแสดงให้เห็นถึงการเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม แต่ทว่าในตอนต้นและตอนที่ใกล้จะจบของกัณฑ์นี้พระรามได้บอกเป็นนัยว่า ครั้งหนึ่งท้าวทศรถเคยสัญญากับนางไกยเกษีว่าจะให้โอรสของนางสืบราชสันตติวงศ์ อันเป็นข้อตกลงก่อนพิธีอภิเษกสมรส. ยิ่งไปกว่านั้น ยังแสดงให้เห็นว่าท้าวทศรถหลงไหลมัวเมานางไกยเกษี ราชินีผู้งดงาม การที่ท้าวทศรถยังไม่บรรลุผลในการตอบแทนบุญคุณนางนั้น กลายเป็นฉนวนกั้นพระรามไว้ และช่วยให้เราผู้ศึกษาเข้าใจถึงความยากลำบากที่ท้าวทศรถจะดำเนินการอย่างชอบธรรม. ประการที่สอง: กัณฑ์นี้ยังให้ข้อมูลในเชิงลึกเป็นพิเศษว่า ผู้ประพันธ์ (ฤๅษีวาลมีกิ) เข้าใจการเมืองเรื่องสตรีในราชสำนักฝ่ายใน ขณะที่นางค่อมมันธราได้ยุแย่ให้นางไกยเกษีผู้งดงาม ไร้เดียงสาและอ่อนไหว ได้เข้าใจถึงสถานะของนาง ซึ่งเป็นคนโปรดของท้าวทศรถ นางค่อมได้อธิบายให้ภาพหลอกหลอนว่านางจะมีสถานภาพเช่นไร หากคู่แข่งของนางคือ นางเกาศัลยากลายเป็นพระมารดา เมื่อพระรามทรงอภิเษกสมรสแล้ว.

หมายเหตุ การขยายความ
01. กรุงอโยธยา ตั้งอยู่บนที่ราบ อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลราว 93 เมตร ตั้งอยู่ใกล้ฐานแนวเขาหิมาลัยอันเป็นที่สูง.
02. ป่าทัณฑกะ ดูเพิ่มเติมใน หมายเหตุ การขยายความ 01 หน้าที่ 6 ของ A03. บทนำ.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.



 
info@huexonline.com