ภาพเขียนแสดง พระราม พระภรต พระลักษมณ์ และพระศัตรุฆน์ ได้รับการสอนโดยพระฤๅษีวิศวามิตร, ที่มา: https://vedicfeed.com, วันที่เข้าถึง 22 กรกฎาคม 2565.
01. พาลกัณฑ์
First revision: July 22, 2022
Last change: Aug.29, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
พาลกัณฑ์ (ภาษาเทวนาครี: बालकाण्ड, bālakāṇḍa)
1
ในมหากาพย์เล่มที่หนึ่งนี้เริ่มต้นด้วยอารัมภบท มีการเล่าถึงมหากาพย์นี้อย่างกระชับ และกล่าวถึงผู้ประพันธ์ว่าได้แต่งขึ้นได้อย่างไร ตลอดจนกระบวนการที่รังสรรค์บทกวีนี้ขึ้นมา. นอกจากนี้ยังอธิบายถึงวิธีการประมวลเรื่องราว การจัดทำสารบัญโดยย่อ และกรอบแนวคิดการรจนา.
ฤๅษีวาลมีกิได้ต้อนรับการมาเยือนของนารทฤๅษี หรือฤๅษีนารถมุนี01. เทพพยากรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงขจรขจาย ฤๅษีวาลมีกิได้ถามฤๅษีนารถมุนีว่า มีบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ที่อาจหาญ ทรงคุณธรรมอย่างแท้จริง อยู่ในโลกใบนี้บ้างหรือไม่. ฤๅษีนารถมุนีครุ่นคิดครู่หนึ่ง ก็ตอบกลับด้วยประโยคสั้น ๆ อันเกี่ยวกับเจ็ดสิบสองวลีที่เกี่ยวเนื่องกับ พระราม รวมถึงภารกิจสำคัญ ๆ ของพระองค์ และสภาวการณ์อันอุดมคติที่เกิดขึ้นในช่วงครองราชย์ 11,000 ปีอันงดงามของพระราม. แม้ว่าการรจนาจะกระชับและตรงไปตรงมานี้ไม่ได้อ้างถึงสถานะของพระรามว่าเป็นร่างจุติหรืออวตารของพระวิษณุแต่อย่างใด แต่ก็สรุปด้วยข้อความสั้น ๆ เกี่ยวกับรางวัลทางโลก จิตวิญญาณ และสวรรค์ที่สะสมประมวลมาให้ผู้คนได้ศึกษา ท่องจำ สดับรับรู้ถึงรายนามวีรบุรุษ ดังตัวอย่างที่เรียกกันในภาษาสันสกฤตว่า พลาศรุติ (फलश्रुति - Phalaśruti) "การได้สดับสิ่งที่บังเกิดผล" ซึ่งมักพบในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู.
การสนทนาระหว่างฤๅษีนารทมุนีกับมหาฤๅษีวาลมีกิ, ที่มา: artsandculture.google.com, วันที่สืบค้น 22 สิงหาคม 2565.
หลังจากที่ฤๅษีนารทมุนีกลับไปแล้ว ฤๅษีวาลมีกิก็เดินเข้าไปในพงป่าเพื่อสรงน้ำตามพิธีกรรมแบบพราหมณ์. ณ ที่นั่น ขณะที่ฤๅษีจดจ่อมองการผสมพันธุ์ของนกกระเรียนสาระสา02. คู่หนึ่งอยู่นั้น พลันมีพรานป่าโผล่ออกมาและสังหารนกกระเรียนตัวผู้เสีย. ฤๅษีวาลมีกิรับรู้ถึงความเศร้าโศกของกระเรียนเพศเมีย จึงได้สาปแช่งนายพราน คำกล่าววลีที่ออกจากปากฤๅษีนั้น มีรูปแบบและจังหวะซึ่งเหมาะสำหรับการประกอบดนตรี และลำนำเพลง. เมื่อฤๅษีกลับถึงอาศรมแล้ว พระพรหม เทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ได้เสด็จมาเยือน. พระพรหมตรัสว่า พระองค์ได้รับพรที่ก่อให้เกิดแรงดลใจทางด้านกวี และทิพยญาณ และขอมอบหมายให้ฤๅษีแต่งบทกลอนที่น่าทึ่งและสะเทือนใจเกี่ยวกับชีวิตของพระราม โดยขยายเนื้อหาไปได้มากกว่าเรื่องราวสั้น ๆ ที่ได้สดับจากฤๅษีนารทมุนี. ฤๅษีวาลมีกิได้ทราบถึงความเคร่งครัดในการรจนา พระโอรสฝาแฝด03.ของพระรามและนางสีดา และเป็นเด็ก ๆ ซึ่งเร่ร่อนเป็นกวีร้องบทเพลงบนถนนเส้นทางต่าง ๆ ทั่วแว่นแคว้น ท้ายที่สุดได้มาแสดงต่อพระพักตร์ของพระราม พระองค์จึงตระหนักได้ว่านี่คือสองพระโอรส รัชทายาทที่หายสาบสูญไปนาน.
พระพรหม, ที่มา: dhamma.mthai.com, วันที่เข้าถึง 24 สิงหาคม 2565.
"ตราบใดที่ยังมีพนมภูเขาตระหง่าน และตราบใดที่ยังมีมหานทีไหลผ่านพระแม่ธรณีอยู่นี้ ตราบนั้นมหากาพย์รามายณะก็ยังคงเผยแพร่หมุนเวียนให้ศึกษากันในโลก ตราบใดที่เรื่องราวของพระรามที่ท่านได้ประพันธ์ขึ้นไว้ ตราบนั้นจักดำรงสถาวร จวบถึงเวลานั้น เรื่องราวของรามายณะ จักประจักษ์อยู่ทั้งแดนสวรรค์ แดนมนุษย์และในโลกของเรา" กล่าวจบ พระพรหมอันเรืองจรัสก็อันตรธานไป.
พระพรหมตรัสต่อฤๅษีวาลมีกิ, สรรคที่ 2, พาลกัณฑ์.
หมายเหตุ คำอธิบาย.
01. ฤๅษีนารทมุนี (नारद - Nārada) บ้างก็เรียก พระฤๅษีนารท หรือ พระนารอด (ต่อมาในเมืองไทย มีผู้สร้างพระพิมพ์ เรียกเขียนเพี้ยนไปเป็น "พระรอท" และกลายเป็น "พระรอด" อีกทั้งเหมาะกับภาษาไทยที่แปลว่า รอดพ้น จึงนิยมเรียกพระพิมพ์เครื่องรางชนิดนี้ว่า พระรอด เรื่อยมา) หรือ พระนาระทะ เป็นนักดนตรีพเนจร (เป็นผู้ประดิษฐ์ "วีณา" - พิณน้ำเต้า) และเป็นผู้เล่าเรื่องราว ผู้ส่งข่าวสารและแนวคิดที่ก่อให้เกิดแสงสว่างทางปัญญา เป็นบุตรของพระพรหม เป็นสาวกคนแรกของพระนารายณ์ และเป็นผู้ที่นำเรื่องราวบนโลกมนุษย์มารายงานแด่พระศิวะ ฤๅษีนารทมุนีเป็นทูตเอกของสวรรค์ และมีบทบาทในมหาภารตะและรามายณะเป็นอย่างมาก ตลอดจนในปกรณัมปุราณะ. ในรามายณะ ฤๅษีเป็นผู้แนะนำให้หนุมานใช้น้ำในบ่อน้อยของตนเอง ก็คือ น้ำลายในปากของหนุมานดับไฟ เมื่อตอนที่หนุมานไปเผากรุงลงกา ในมหาภารตะ ฤๅษีนารทมุนีมีหน้าที่คอยส่งข่าวสารให้พระกฤษณะ พระพลราม ยุธิษฐิระ และอรชุน คือในมหาสงครามทุ่งกุรุเกษตร ฤๅษีนารทมุนีได้ส่งข่าวบอกแก่พระพลรามว่า "ภีมะกำลังดวลตะบองกับทุรโยธน์" และเมื่อตอนที่พระอนิรุทธิ์หายตัวไป ฤๅษีนารทมุนีก็แจ้งแก่พระกฤษณะว่า "พระอนิรุทธิ์ถูกท้าวกรุงภาณจับตัวไปขังคุก" และเมื่อตอนที่ท้าวธฤตราษฎร์ พระนางคานธารี พระนางกุนตี ท้าววิทูร เสียชีวิตแล้ว และฤๅษีนารทมุนีก็เป็นผู้บอกถึงจุดอ่อนของทุรโยธน์ให้แก่อรชุน" นอกจากนี้ฤๅษีนารทมุนีก็ยังเป็นผู้เล่าเรื่องของพระรามให้แก่ฤๅษีวาลมีกิจนเกิดเป็นมหากาพย์รามายณะ
ในบอลลีวู้ด โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้า บทพูดของฤๅษีนารทมุนีที่ทุกคนจำได้ก็คือคำว่า "นาร้ายณ์ นารายณ์"., ที่มา: th.wikipedia.org และ en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 8 พฤศจิกายน 2560. และ oknation.nationtv.tv, วันที่สืบค้น 9 พฤศจิกายน 2560.
02. นกกระเรียนสาระสา (Sarus Crane, Sarus Crane Grus Anitigone, Sarus มาจากภาษาสันสกฤต sārasa ซึ่งแปลว่านกแห่งทะเลสาบ) โดยทั่วไปสูงประมาณ 2 เมตร ช่วงปีกยาว 2.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 6.8-8 กิโลกรัม.
03. พระโอรสฝาแฝด พระลบ (หรือ พระลวะ หรือ พระลพ) และ พระมงกุฎ (หรือ พระกุศะ หรือ พระกุศ) (Lava and Kuśa)
04. พาลกัณฑ์ แปลว่า "กัณฑ์เด็ก" "พาล" คือเด็กผู้มีอายุระหว่าง 1 ถึง 16 ปี, ที่มา: vajirayana.org, วันที่เข้าถึง 6 กุมภาพันธ์ 2566.
ฤๅษีวาลมีกิสอนพระมงกุฎและพระลบยิงธนู, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 25 สิงหาคม 2565.
2
เรื่องราวของมหากาพย์เริ่มต้นขึ้นจากสรรค (สะ-ระ-คะ) ที่ห้าของพาลกัณฑ์. กล่าวถึงอาณาจักรโกศลที่มั่งคั่งและร่ำรวย ซึ่งมีท้าวทศรถเป็นกษัตริย์ทรงปกครอง โดยมีอโยธยาเป็นเมืองหลวงที่แข็งแกร่งและงดงาม. ท้าวทศรถทรงครอบครองทุกสรรพสิ่งเท่าที่มนุษย์พึงแสวงหาได้ เว้นเสียแต่พระโอรสและรัชทายาท. ตามคำแนะนำของมนตรีเสนาอำมาตย์ที่เป็นปราชญ์ (ในตำนานมีความคลุมเครืออยู่) ที่มีนามว่า ฤษียศฤญกะ (Ṛśyaśṛñga) บ้างก็เรียก กไลโกฎ แนะนำให้พระองค์ทำการบูชายัญสังเวย (ในรามเกียรติ์ ระบุว่าทำพิธีกวนข้าวทิพย์และนำข้าวทิพย์ให้พระมเหสีทั้งสามเสวยจนตั้งครรภ์) อันเป็นผลทำให้ได้พระโอรสอันวิจิตรสี่พระองค์01. ที่ประสูติจากสามพระชายา01. ประกอบด้วยพระราม พระภรต พระลักษมณ์ และพระศัตรุฆน์ ตามความเข้าใจของเรา ผสมผสานกับสัดส่วนที่หลากหลายอันเป็นแก่นแท้ของพระวิษณุผู้เป็นเจ้าสูงสุด ผู้ตอบสนองคำวิงวอนของเหล่าเทพ โดยได้จุติเป็นมนุษย์เพื่อทำลายท้าวราพณ์ หรือ ราวณะ ผู้เป็นปีศาจที่โหดร้ายและกษัตริย์แห่งรากษสผู้อยู่ยงคงกระพัน.
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ (วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือ พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ - พระนารายณ์ทรงประทับอยู่บนขนดพญาอนันตนาคราช) , ปราสาทหินพนมรุ้ง, บุรีรัมย์, ถ่ายไว้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2563.
ท้าวราพณ์ หรือ ราวณะ หรือ ทศกัณฐ์, ถ่ายไว้ ณ ระเบียงคดทิศเหนือปีกตะวันตก นครวัด เสียมราฐ กัมพูชา เมื่อ 20 ตุลาคม 2561.
เพื่อเป็นการช่วยพระวิษณุที่อวตารมาเป็นพระรามในภารกิจอันสำคัญนี้ เหล่าเทพยดาต่างได้จุติลงมายังโลกมนุษย์เป็นในรูปของเหล่าวานรที่มีพลังมหาศาล (ผู้รจนาบางท่านกล่าวว่า พระอิศวรได้แบ่งภาคมาเป็นกำแหงหนุมาน) มีความสามารถพิเศษในการสนทนากับมนุษย์ และสามารถแปลงร่างเป็นตามที่ประสงค์ได้. พญารากษสสิบเศียรผู้ทรงมหิทธานุภาพได้ข่มเหงเหล่าเทวดาและเหล่าปราชญ์ที่บริสุทธิ์มานานช้าโดยไม่ได้รับการลงโทษแต่ประการใด เพราะราวณะสิบเศียร02.ตนนี้ได้รับพรที่แรงกล้าศักดิ์สิทธิ์จากพระพรหม ท้าวราวณะจึงคงกระพันต่อสรรพชีวิตเหนือธรรมชาติทั้งปวง. ประเด็นสุดท้ายอันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจของเราที่มีต่อเรื่องราวของพระรามที่เป็นการประพันธ์ของฤๅษีวาลมีกิ. ด้วยเหตุนี้พระวิษณุ จึงไม่เพียงแต่สวมบทบาทเพื่อให้บรรลุภารกิจนี้เท่านั้น แต่ต้องเพิกเฉยในมหิทธานุภาพอันแท้จริงของพระองค์ เพื่อมิให้ล่วงละเมิดต่อพรที่พระพรหมได้ให้ไว้แก่ท้าวราวณะ.
หมายเหตุ คำอธิบาย.
01. พระโอรสสี่พระองค์ และพระชายาสามพระองค์
1) นางเกาศัลยา, อ้างถึงรามเกียรติ์ (Ramakien): เกาสุริยา - (Kausalyā) อัครมเหสี มีพระโอรสคือ พระราม (นารายณ์อวตาร) และพระธิดา นางศานตา (Shanta)
2) นางไกยเกษี (Kaikeyī) มเหสีรอง ธิดาท้าวไกยเกษ มีพระโอรสคือ พระพรต หรือ พระภรต (Bharata - จักร)
3) นางสุมิตรา, อ้างถึงรามเกียรติ์ (Ramakien): สมุทรชา) (Sumitrā) มีพระราชโอรสฝาแฝดคือ พระลักษมณ์ (Lakṣmaṇa - สังข์และบัลลังก์นาค หรือ พญาอนันตนาคราช) และศัตรุฆน์ (แปลว่า ผู้สังหารศัตรู) หรือพระสัตรุต (อ้างถึงรามเกียรติ์) (Śatrughna - คทา).
ภาพ: นนทกถูกเหล่าเทวดากลั่นแกล้ง, ที่มา: www.area.co.th, วันที่เข้าถึง 23 กันยายน 2565.
02. ท้าวราวณะในรามเกียรติ์ คือ ท้าวทศกัณฐ์ อดีตชาติเป็นพราหมณ์ชื่อ นนทก (สันสกฤต: भस्मासुर, Nandin หรือ Bhasmāsura Praveen) กระทำความผิดถูกพระอิศวร (หรือพระศิวะ) สาปให้เป็นยักษ์คอยล้างเท้าให้เหล่าเทวดาอยู่เชิงบันไดเขาไกรลาศเป็นเวลาโกฏิปี ถูกเหล่าเทวดาเขกหัวดึงผมกลั่นแกล้งจนศีรษะล้าน นนทกได้รับพรจากพระอิศวร และได้รับพรนิ้วเพชรชี้ไปยังผู้ใดผู้นั้นต้องตาย ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้เหล่าเทวดา พระวิษณุหรือพระนารายณ์ได้รับคำสั่งจากพระอิศวร มาแก้ไขปราบเสียโดยแปลงร่างเป็นอัปสรชื่อนางโมหิณี ร่ายรำให้นนทกรำตามและชี้นิ้วมายังตนเองจนตายไป ก่อนตายนั้น นนทกก็โอดครวญว่าท่าน (พระวิษณุ) มีอำนาจมากกว่าตนย่อมชนะแน่อยู่แล้ว พระวิษณุจึงบอกให้นนทกไปเกิดใหม่มีสิบเศียรยี่สิบกร มาต่อสู้กับตนที่เป็นคนธรรมดาในมนุษยโลก อันเป็นที่มาของทศกัณฐ์และพระรามในเรื่องรามเกียรติ์นั่นเอง.
"ชาตินี้มึงมีแต่สองหัตถ์ ลงไปอุบัติเอาชาติใหม่
ให้สิบเศียรสิบพักตร์เกรียงไกร เหาะเหิรเดินอากาศได้ในอัมพร
มีมือยี่สิบซ้ายขวา ถือคฑาอาวุธธนูศร
กูจะเป็นมนุษย์แต่สองกร ตามไปราญรอนชีวี"
3
เหล่าพระบุตรของท้าวทศรถได้เจริญวัยผ่านพ้นวัยเด็กอันน่ารื่นรมย์และไร้อุบัติการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งกวีได้ไว้กล่าวเป็นโคลงสั้น ๆ (ประเภทบทหนึ่งมีสองบาท). พระโอรสทั้งสี่แบ่งกลุ่มการศึกษาศิลปะวิทยาออกเป็นสองคู่ คู่แรกคือพระรามพระลักษมณ์ คู่ที่สองคือพระพรตและพระศัตรุฆน์ ในแต่ละคู่พี่ชายจะรับบทบาทหลัก ส่วนน้องจะทำหน้าที่เสมือนอัศวินให้กับพี่ชาย.
ม้ารีศ (ในเครื่องประกอบพระเมรุ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อเดือนเมษายน 2555), ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 6 ตุลาคม 2565.
พระราม พระลักษมณ์ต่อสู้กับม้ารีศ และสวาหุ, ภาพเขียนบนกระดาษ, กว้าง 176 x ยาว 276 มม., อินเดีย, ราว. พ.ศ.2293-2318, ริจคส์ มิวเซียม กรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์, ที่มา: www.researchgate.net, วันที่เข้าถึง: 6 ตุลาคม 2565.
ในขณะที่เจ้าชายทั้งสี่ยังเยาว์วัยอยู่นั้น อยู่มาวันหนึ่ง ฤๅษีผู้ทรงพลังและมักมีอารมณ์หงุดหงิดนามว่า วิศวามิตร เดินทางมายังพระราชวังทูลขอยืมพระราม โอรสองค์โตและเป็นที่โปรดปรานของท้าวทศรถ เพื่อให้ไปปราบรากษสอันมีนามว่า ม้ารีศ (मरीच - Mārīca - บ้างก็เรียก ม้ารีด หรือ มารีศ) และ สวาหุ (सुबाहु - Subāhu) ซึ่งเป็นพี่ชายของม้ารีศ. ด้วยเพราะรากษสทั้งสองตนได้เข้ามาก่อกวนอาศรมและขัดขวางการประกอบพิธีบูชายัญตามแนวทางพระเวท. ด้วยความกลัวในคำสาปของฤๅษีวิศวามิตร ท้าวทศรถกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจจึงยอมให้พระรามไป. พระลักษมณ์ผู้เป็นอนุชาที่แยกกันไม่ออกกับพระรามก็ติดตามพระฤๅษีผู้หงุดหงิดตนนี้ เดินทางไปยังอาศรมด้วย. ในระหว่างการเดินทางของทั้งสามนั้น พระรามได้รับการบอกเล่า มีการตอบคำถาม เรื่องราวมากมายอันเป็นปกรณัมหรือตำนานของอินเดีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่ทั้งสามเดินทางผ่านไป. มีอยู่ช่วงหนึ่ง พระรามลังเลที่จะสังหารรากษสีที่น่าสะพึงกลัวนามว่า นางกากนาสูร01. และฤๅษีวิศวามิตรก็มอบชุดอาคมอาวุธเหนือธรรมชาติให้แก่พระรามเพื่อเป็นรางวัลในความกล้าหาญของพระองค์. ในที่สุดพระรามพระลักษมณ์ก็มาถึงอาศรมฤๅษี ด้วยอาวุธที่ได้มาใหม่นี้ พระรามสามารถยุติการรังควานฤๅษีโดยสังหารรากษสตายไปหนึ่งตน และหมุนเหวี่ยงรากษสอีกตนกระเด็นไปไกล.
หมายเหตุ คำอธิบาย.
01. นางกากนาสูร หรือ ตาฏะกา (ताटका - Tāṭakā) เป็นมารดาของรากษสีและรากษส มารีศและสวาหุ เธอมักชอบก่อกวนการบำเพ็ญญาณของฤๅษีนักพรตในป่า เดิมนั้น ตาฏะกาเป็นยักษี แต่ต้องถูกคำสาปจากฤๅษีผู้ทรงฤทธิ์นาม อคัสตยะ (अगस्त्य - Agastya) ให้เป็นรากษสีผู้น่าชังที่กินเนื้อคนเป็นอาหาร จากงานเขียนวิเคราะห์ของโกลด์แมน02. มีประเด็นที่น่าสงสัย วรรณกรรมทางอินเดียเหนือและใต้กล่าวถึงเรื่องนี้ไม่ตรงกัน กล่าวว่า วิศวามิตรได้สั่งพระรามว่าต้องสังหารนางกากนาสูรและไม่ควรมีความเห็นอกเห็นใจต่อนางหรือรังเกียจที่จะฆ่าผู้หญิงคนหนึ่ง และฤๅษีได้เล่าถึงกรณีอื่น ๆ ที่ผู้หญิงที่ไม่ชอบธรรมถูกสังหารโดยชายที่มีศึลธรรม แต่ในวรรณกรรมทางอินเดียใต้เท่านั้นที่แสดงว่าพระรามเพียงแต่ตัดหูและจมูกเธอทิ้งและกำจัดพละกำลังรวมทั้งที่ซ่อนของนาง.
4
หลังจากที่ทั้งสามได้พัก ณ อาศรมของฤๅษีพักหนึ่งแล้ว ทว่าฤๅษีวิศวามิตรนั้นมีแผนในใจสำหรับพระรามพระลักษมณ์ แทนที่จะกลับตรงไปยังเมืองอโยธยา พระฤๅษีได้พาพระรามพระลักษมณ์ตรงไปยังเมืองมิถิลา (Mithilā) ซึ่งกล่าวกันว่าท้าวชนก (Janaka) ผู้ครองนครวิเทหะ (Videha) นั้นมีคันธนูหรือศรขนาดใหญ่ที่เรียกว่ารัตนธนู01. และมีพลานุภาพมากซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของมหาเทพศิวะ. อาวุธนี้ประเมินค่ามิได้และไม่มีผู้ใดจะยกคันธนูนี้ได้เลย ท้าวชนกเห็นว่านางสีดา02. ผู้เป็นบุตรสาวบุญธรรมอันงดงามของพระองค์ และเป็นบุตรีแห่งแม่พระธรณี03. มีอายุสมควรแก่การมีคู่ครอง และท้าวเธอได้กำหนดคุณค่าของเจ้าสาวสีดาไว้สูงส่ง. หลังจากพระรามได้เสด็จมาถึงเมืองมิถิลาแล้ว พระรามได้ยกศรมหาธนูโมลีนี้ได้ เมื่อพระรามก่งธนูขึ้นสาย ธนูนั้นก็หักสบั้นที่ตรงกลาง. พิธีอภิเษกระหว่างพระรามและนางสีดาได้จัดให้มีขึ้นท่ามกลางเหล่าราชบุตรของท้าวทศรถ และเหล่าราชธิดาและราชนัดดา พร้อมพรั่งด้วยเหล่าพระประยูรญาติของท้าวชนก. ก่อนพิธีอภิเษกสมรสจะเริ่มนั้น เนื้อหามี 15 บท อันเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับภารกิจของฤๅษีวิศวามิตร การแข่งขันต่อสู้กับฤๅษีจอมปราชญ์วสิษฐ์ (वसिष्ठ - Vashiṣṭa) ความสำเร็จพราหมณ์วิศวามิตรที่ผ่านการศึกษาบำเพ็ญพรตที่ยาวนานและเข้มงวด เปลี่ยนผ่านจากการเป็นกษัตริย์สู่พราหมณ์ผู้หยั่งรู้.
พระรามและนางสีดา, ที่มา: houseofbhakti.com, วันที่เข้าถึง: 03 พฤศจิกายน 2565.
พิธีอภิเษกสมรสมีการเฉลิมฉลองกันรื่นเริงที่เมืองมิถิลาและต่อไปยังเมืองอโยธยา ระหว่างทางพระรามได้พบและเผชิญหน้ากับนักรบ ผู้เป็นพราหมณ์ที่มีความเกรี้ยวกราด ราม จามาธัญญะ (राम जामदज्ञः) (ปรศุราม) ศัตรูในตำนานวรรณะกษัตริย์หรือชนชั้นนักรบ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ เฉกเช่นเดียวกับพระรามเอง. ในที่สุดเหล่าพี่น้อง พระราม พระลักษมณ์ พระพรต และพระศัตรุฆน์ ตลอดจนนางสีดา ก็ได้พำนักยังเมืองอโยธยาอย่างมีความสุข. ในกัณฑ์นี้เน้นการเติบโตทางจิตใจและศีลธรรมตั้้งเยาว์วัยของเหล่ายุวกษัตริย์ที่ได้เติบใหญ่ขึ้น เป็นการเริ่มต้นของพระรามสู่ความลี้ลับของศัตราวุธที่เหนือธรรมชาติ ความสำเร็จในวัยเด็กของพระราม และพิธีสยุมพรของพระองค์กับนางสีดา.
ปรศุราม (Paraśurāma) หรือ ราม จามาธัญญะ (Rāma Jāmadagnya), ที่มา: www.thflain.com, วันที่เข้าถึง; 4 กุมภาพันธ์ 2566.
หมายเหตุ คำอธิบาย.
01.อ้างถึงรามเกียรติ์: ตอนพิธียกศร ศรนี้ชื่อ "ศรมหาธนูโมลี" ซึ่งเป็นศรที่พระอิศวรใช้สังหารตรีบุรัมตาย.
02. อ้างถึงรามเกียรติ์: ตอนนารายณ์อวตารและกำเนิดนางสีดานั้น ระบุว่านางสีดาเกิดเป็นธิดาทศกัณฐ์และนางมณโฑ.
03. สันนิษฐานและอ้างอิงจาก 01. และรามเกียรติ์ตอนกำเนิดนางสีดา ครั้นเมื่อนางสีดาเป็นทารกได้ถูกฝังไว้ในดินที่เป็นร่องไถ (a ploughed or plowed furrow) ใต้ต้นไทรใหญ่มีเทวดาอารักษ์คอยเลี้ยงดู ต่อมาท้าวชนกได้เปิดผอบก็พบเป็นสาวรุ่นประมาณอายุ 16 ปี จึงพาเข้าเมืองวิเทหะ และตั้งชื่อว่านางสีดา.
แหล่งอ้างอิง:
01. จาก. "The Illustrated Ramayana: The Timeless Epic of Duty, Love, and Redemption," ISBN: 978-0-2414-7376-4, สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮ้าส์, พ.ศ.2560, พิมพ์และเข้าเล่มในประเทศจีน, www.dk.com.
02. จาก. "The Rāmāyaṇa of Vālmīki - THE COMPLETE ENGLISH TRANSLATION," แปลโดย Robert P. Goldman, Sally J. Sutherland Goldman, Rosalind Lefeber, Sheldon I. Pollock, และ Barend A. van Nooten, ตรวจทานโดย Robert P. Goldman และ Sally J. Sutherland Goldman, ISBN 978-0-6912-0686-8, พ.ศ.2564, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปริ้นซ์ตัน, พิมพ์ในสหรัฐอเมริกา.