MENU
TH EN

009. มังกอง หรือไทโส้ กะโส้

Title Thumbnail: เด็ก ๆ และผู้หญิงชาวมังกอง ปี พ.ศ.2443 Credit: Mission Pavie, ที่มา: isangate.com, วันที่เข้าถึง 26 กรกฎาคม 2564. Hero Image: หญิงชาวมังกอง, ที่มา: facebook ห้อง "Pakaad", วันที่เข้าถึง 26 กรกฎาคม 2564.
009. มังกอง หรือ ไทโส้ หรือ กะโส้
First revision: Jul.26, 2021
Last change: Jul.26, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       เผ่ามังกอง (ເຜົ່າມັງກອງ) (ไม่ควรเรียกว่า ไทโส้ หรือ กะโส้ หรือ ไทกะโซ่ หรือ ข่าโซ่ เพราะนั่นคือความขมขื่นในอดีต เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การล่ามโซ่ไว้  คำว่า ข่า มาจากคำว่า ข้า) แต่เนื่องจาก ข้อมูลหลักของบล็อกนี้ ใช้คำว่า ไทโส้ หรือ กะโซ่ เป็นคำสามัญ จึงใคร่ขออนุโลมใช้คำเรียกชาติพันธุ์มังกองไว้ตามข้อมูลหลัก.

       กลุ่มชาวไทโส้01. บางท้องที่ก็เรียกว่า พวก "โซ่" แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน เขียนว่า "กะโซ่" ซึ่งยังมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกับลาวโซ่งในจังหวัดเพชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี สำหรับลาวโซ่งคือพวกไทดำ ที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไท ในสมัยกรุงธนบุรี ส่วน "ข่าโซ่" ซึ่งถือว่าเป็นข่าพวกหนึ่ง อยู่ในตระกูลมอญเขมร กะโซ่ตามลักษณะและชาติพันธุ์ถือว่าอยู่ในกลุ่ม มองโกลอยด์ กะโซ่มีภาษาและขนมธรรมเนียมประเพณี แตกต่างไปจากพวกข่าทั่วไป แต่ภาษาของกะโซ่ก็ยังถือว่าอยู่ในตระกูล "ออสโตรอาเซียติค" สาขามอญเขมร หรือกะตู [Katuic] ซึ่งสถาบันวิจัยภาษาฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้รวบรวมไว้ในภาษาตระกูลไทย

       ถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกกะโซ่เดิมอยู่ที่ เมืองมหาชัย ในแขวงคำม่วนและแขวงสุวรรณเขต ดินแดนลาวปัจจุบัน สำหรับเมืองมหาชัย เดิมชาวบ้านเรียกว่า "เมืองภูวา - นากะแด้ง" คือ เมืองภูวดลฯ และบ้านนากะแด้ง เพราะว่าในสมัยที่ยังขึ้นกับราชอาณาจักรไทย (ก่อน พ.ศ.2436) เรียกว่า เมืองภูวดลสอางค์ เคยขึ้นกับเมืองสกลนคร แล้วโอนมาขึ้นกับเมืองนครพนมในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวกะโซ่อพยพ มาอยู่ในเขตเมืองสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนชาวกะโซ่ซึ่งอพยพมาจากแขวงอัดปือไปอยู่ในท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่าพวก "ส่วย" หรือ "กุย" พูดภาษาเดียวกับพวกกะโซ่

       พวกกะโซ่ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองหลายเมืองคือ เมืองรามราช เป็นชาวกะโซ่จากเมืองเชียงฮ่ม (ปัจจุบันอยู่ในแขวง สุวรรณเขต ติดชายแดนประเทศเวียดนาม) ตั้งขึ้นเป็นเมืองรามราช ขึ้นเมืองนครพนมเมื่อ พ.ศ. 2387 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวบัวจากเมือง เชียงฮ่ม เป็น "พระอุทัยประเทศ" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่ตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมเป็น หมู่บ้านชาวไทยกะโซ่ เมืองกุสุมาลย์มณฑล เป็นชาวกะโซ่ที่อพยพมาจากเมืองมหาชัยในแขวงคำม่วน อพยพข้ามโขงมาอยู่ที่บ้านกุดสุมาร ตั้งขึ้นเป็นเมืองกุสุมาลย์มณฑล ขึ้นเมืองสกลนครใน พ.ศ. 2387 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เพี้ยเมืองสูงหัวหน้าชาวกะโซ่ เป็น "พระอารัญอาษา" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือ ท้องที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

       นอกจากนี้ ยังมีชาวไทยกะโซ่อยู่ในท้องที่อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมีเขตติดต่อกับอำเภอกุสุมาลย์อีกหลายหมู่บ้าน เช่น ที่ตำบลโคกสูง และที่บ้านวังตามัวในท้องที่อำเภอเมืองนครพนม ในจังหวัดมุกดาหารมีชาวไทยกะโซ่อยู่ในท้องที่ อำเภอดงหลวง เป็นส่วนมากซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยราชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2359 หัวหน้าชาวไทยกะโซ่ดงหลวง ต่อมาได้เป็นกำนันคนแรกของตำบลดงหลวง มีนามบรรดาศักดิ์ว่า "หลวงวาโนไพรพฤกษ์" ชาวกะโซ่ในอำเภอดงหลวงส่วนมากใช้นามสกุลเดียวกันหมดคือนามสกุล "วงศ์กะโซ่"

       ศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยกะโซ่ซึ่งยังรักษาไว้เป็นเอกลักษณ์ประจำเชื้อชาติเด่นชัดก็คือ "โซ่ถั่งบั้ง" หรือภาษากะโซ่เรียกว่า "สะลา" เป็นพิธีกรรมในการบวงสรวงวิญญาณของบรรพบุรุษประจำปีหรือเรียกขวัญ และรักษาคนเจ็บป่วย กับพิธีกรรม "ซางกระมูด" ในงานศพ

       1. พิธีกรรม "โซ่ถั่งบั้ง" เป็นพิธีกรรมของชาวกะโซ่ คำว่า "โซ่" หมายถึงพวกกะโซ่ คำว่า "ถั่ง" หมายถึงกระทุ้งหรือกระแทก คำว่า "บั้ง" หมายถึงบ้องกระบอกไม้ไผ่ โซ่ถั่งบั้ง ก็คือ พิธีกรรมใช้กระบอกไผ่ยาวประมาณ 3 ปล้อง กระทุ้งดินเป็นจังหวะ แล้วมีการร่ายรำและร้องไปตามจังหวะในพิธีกรรมของชาวกะโซ่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร เมื่อเสด็จถึงเมืองกุสุมาลย์มณฑล (อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร) เมื่อ พ.ศ.2449 ได้ทรงบันทึกการแสดงพิธีกรรมโซ่ถั่งบั้ง หรือสลาของชาวกะโซ่เมืองกุสุมาลย์มณฑลไว้ว่า
"สลามีหม้อดอนตั้งกลางแล้วมีคนต้นบทคนหนึ่ง คนสะพายหน้าไม้และลูกสำหรับยิงคนหนึ่ง คนตีฆ้องเรียกว่า พะเนาะ คนหนึ่ง คนถึอไม้ไผ่สามปล้องสำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะสองคน คนถือชามสองมือสำหรับติดเทียนรำคนหนึ่ง คนถือตระแกรงขาดสองมือสำหรับรำคนหนึ่ง คนถือสิ่วหักสำหรับเคาะจังหวะ คนหนึ่ง รวม 8 คน เดินร้องรำเป็นวงเวียนไปมา พอได้พักหนึ่งก็ดื่มอุและร้องรำต่อไป…"

       เครื่องดนตรี มีไม้ไผ่สีสุก ขนาด 1.5 เมตร ครบตามจำนวนผู้แสดงที่เป็นชาย ที่จะกระทุ้งให้เกิดเป็นเสียงดนตรี กลองใช้ตีให้จังหวะ ฉิ่ง ฉาบ ซอ ซุง แคน เพื่อให้ประกอบเสียงดนตรีให้ไพเราะ และสามารถออกท่ารำได้อย่างสนุกสนาน เครื่องแต่งกาย เดิมการแสดงใช้ผู้ชายล้วนจะนุ่งห่มแบบโบราณ (นุ่งผ้าเตี่ยว) ไม่สวมเสื้อ มีอาวุธ เช่น หน้าไม้ มีเครื่องดื่มที่เป็นเหล้าหรืออุ ปัจจุบันสตรีเข้าร่วมแสดง และมีการปรับปรุงการแต่งกาย โดยชายจะใส่เสื้อผ้าชุดผ้าฝ้าย ตัดเย็บเป็นชุดให้เหมือนกัน ผู้หญิงใช้ผ้าซิ่นและใช้ผ้าขาวม้ารัดหน้าอกมีผ้าโพกหัว

       2. พิธีซางกระมูด เป็นพิธีกรรมของชาวกะโซ่ก่อนนำศพลงจากเรือน คำว่า "ซาง" หมายถึงการ กระทำหรือการจัดระเบียบ "กระมูด" แปลว่าผี ซางกระมูดหมายถึงการจัดพิธีเกี่ยวกับคนตาย ชาวกะโซ่ถือว่า เมื่อคนตายไปแล้วจะเป็นผีดิบ จึงต้องกระทำพิธีกรรมเสียก่อนเพื่อให้ผีดิบ และวิญญาณของผู้ตายได้สงบสุข มิฉะนั้นอาจทำให้ญาติพี่น้องของผู้ตายเจ็บป่วยขึ้นได้

       อุปกรณ์ในพิธีซางกระมูดประกอบด้วย ขันโตก (ขันกระหย่องสานด้วยไม้ไผ่) สองใบเป็น ภาชนะใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ มีไม้ไผ่สานเป็นรูปจักจั่น 4 ตัว (แทนวิญญาณผู้ตาย) นอกจากนั้นยังมี พานสำหรับยกครู (คาย) ประกอบด้วยขันธ์ห้า คือ เทียน 5 คู่ ดอกไม้สีขาว เช่น ดอกลั่นทม 5 คู่ เหรียญเงิน 12 บาท ไข่ไก่ดิบหนึ่งฟอง ดาบโบราณหนึ่งเล่ม ขันหมากหนึ่งขันมีดอกไม้อยู่ในขันหมาก 1 คู่ เทียน 1 คู่พร้อมด้วยบุหรี่และเทียนสำหรับจุดทำพิธีอีกเล่มหนึ่ง ล่ามหรือหมอผี จะเป็นผู้กระทำพิธีและสอบถามวิญญาณของผู้ตาย เมื่อทราบความต้องการของวิญญาณผู้ตายแล้ว ญาติก็จะจัดสิ่งของไว้บวงสรวงดวงวิญญาณ

       3. พิธีเหยา ในการรักษาความเจ็บป่วยหรือเรียกขวัญ คล้าย ๆ กับพิธีกรรมของชาวอีสานทั่วไป เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยหรือการเรียกขวัญ โดยหมอผีจะทำหน้าที่ล่ามสอบถามวิญญาณของบรรพบุรุษว่า ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงเกินในขนบธรรมเนียมประเพณีไปบ้าง

       ชาวไทยกะโซ่มีผิวกายดำคล้ำ เช่นเดียวกับพวกข่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงกล่าวถึงการแต่งกายของชาวกะโซ่ไว้ในหนังสือเรื่อง "เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 4" เมื่อเสด็จภาคอีสาน เมื่อ พ.ศ. 2449 ไว้ว่า… "ผู้หญิงไว้ผมสูง นุ่งซิ่น สรวมเสื้อกระบอกย้อมคราม ห่มผ้าแถบ ผู้ชายแต่งกายอย่างคนเมือง แต่เดิมว่านุ่งผ้าเตี่ยวไว้ชายข้างหน้าข้างหนึ่ง…"

ภาษาที่ใช้คือ ภาษาโส้
       เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรจังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2498 ซึ่งจังหวัดมุกดาหารยังรวมอยู่ในจังหวัดนครพนม ชาวไทยกะโซ่ ได้แสดงโส้ทั่งบั้งหรือสะลาทอดพระเนตรพร้อมกับร้องคำถวายพระพรเป็นภาษากะโซ่ว่า

              "เซินตะดกละแสง เซินแต่แซงมะนาง เซินยอนางเอย ดรุ๊กอีตู จูเยก ยางเอย
              ดรุ๊กอีตูจูเยอวายเอย ไฮพัดกระกมติตอนจิรอ ไฮพัดระพอดิตรอนอิตูด
              ตะรงยางเอย ระกบเจ้ากวงมานะ วอนเบาแบนเราะ เนออาญาเฮาเอย
              สะโอนเนาต๊กยะ วอนเบาแบนเราะ ดูกรองวไดเดอกะนางไฮเอย
"

       คำแปล "ขอเชิญสิ่งศักดิ์สิทธ์ขุนเขา ขอเชิญแสงตะวันอันแรงกล้า เชิญเถิดขอให้สิ่งศักดิ์สิทธ์ จงมาให้ขวัญทั้งหลายจงมาร่วมกัน ณ ที่นี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเอย ขอให้มาคุ้มครองสองเจ้าเหนือหัว ขอให้พระองค์อยู่ดีมีสุขเถิดพระเจ้าเราเอย ขอให้อย่ามีทุกข์และความเดือดร้อน ขอให้พระองค์อยู่ดีมีสุขอยู่คู่เมืองไทย ปกป้องคุ้มครองพวกทั้งหลายตลอดไปเทอญ"



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. ข้อมูลหลักมาจาก. เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน isangate.com, วันที่เข้าถึง 26 กรกฎาคม 2564.
       
       
       
humanexcellence.thailand@gmail.com