MENU
TH EN

401. หอพระแก้ว - นครหลวงเวียงจันทน์

Title Thumbnail: หอพระแก้ว, Hero Image: พระพุทธรูป บนระเบียงด้านหน้าของหอพระแก้ว, ที่มา: angelstartravel.com, วันที่เข้าถึง 28 กรกฎาคม 2564.
401. หอพระแก้ว - นครหลวงเวียงจันทน์01.
First revision: Jul.28, 2021
Last change: Aug.22, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       หอพระแก้ว (ลาว: ຫໍພຣະແກ້ວ) เดิมเป็นส่วนหนึ่งของวัดสีสะเกด ต่อมาได้ทำถนนตัดผ่าน แยกหอพระแก้วกับอุโบสถวัดสีสะเกดออกจากกัน หอพระแก้วสถานที่เคยประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ปัจจุบันเหลือเพียงพระแท่นที่ประดิษฐาน เพราะพระแก้วมรกตองค์ปัจจุบันได้รับการอัญเชิญลงมาประทับที่กรุงธนบุรีในสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี.

       แต่เดิมหอพระแก้วนั้นเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช มีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2108 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากนครเชียงใหม่ อาณาจักรล้านนา เมื่อต้องเสด็จกลับมาครองราชบัลลังก์ล้านช้างหลังจากที่พระราชบิดาคือพระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ลงในการทำศึกสงครามกับสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2322 นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนราชวงศ์ชาวลาวกลับไปยังกรุงเทพมหานคร.

       สำหรับหอพระแก้วที่นักท่องเที่ยวเห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นของที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2480-2483 ภายใต้การควบคุมดูแลการก่อสร้างของเจ้าสุวรรณภูมา ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมายังได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับเอกราชด้วย แม้หอพระแก้วปัจจุบันจะไม่ใช่วัดอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังนครเวียงจันทน์ก็ยังเดินทางมาสักการบูชากันเป็นจำนวนมาก สำหรับส่วนในของพิพิธภัณฑ์นั้น จัดแสดง พระแท่นบัลลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฏก ภาษาขอมและกลองสำริดประจำราชวงศ์ลาว สำหรับประตูใหญ่ทั้งสองเป็นของเก่าที่หลงเหลือมาแต่เดิม บานประตูจำหลักเป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริเวณโดยรอบของหอพระแก้วเงียบสงบ ร่มเย็นมีไหขนาดกลางจากทุ่งไหหินในแขวงเชียงขวางวางตั้งอยู่ 1 ใบ อาณาบริเวณรอบ ๆ วัดสีสะเกดและหอพระแก้วเคยถูกใช้เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานปกครองของฝรั่งเศสสมัยอาณานิคมมาก่อน

      เมื่อครั้งผมไปกำแพงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว02. ทางเข้าหอพระแก้วด้านหน้า มีช่องจำหน่ายตั๋วและขายหนังสือประวัติพระแก้วมรกตเป็นภาษาลาว รูปเล่มดูพื้น ๆ ถ่ายเอกสารเย็บเข้าเล่มเอา ราคาราว ๆ 12-15 บาท ไม่แพงเลย แต่ผมไม่ได้ซื้อเก็บไว้ (ยังนึกเสียใจจวบจนบัดนี้)  ตรงลานระเบียงด้านหน้าของหอพระแก้ว มีพระพุทธรูปยืนและนั่งรายล้อมจำนวนมาก สังเกตดู เหมือนมีคมมีดหรือคมดาบกรีดพระเนตรขโมยพลอยไป ในช่วงจลาจล เมืองเวียงจันทน์แตก หดหู่มาก ผมได้เข้าไปกราบฐานที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ในหอพระแก้ว ใจก็นึกขอโทษแทนบรรพบุรุษเราเคยไปทำอะไรย่ำยีที่เวียงจันทน์ไว้ หากเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็รู้สึกได้ถึงความระทม เพราะพระแก้วมรกตถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจ (Palladium) ชาวล้านช้างมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน คนลาวที่มีฐานะหากได้มากรุงเทพฯ ก็มักจะหาโอกาสไปนมัสการพระแก้วมรกตอยู่เสมอ ๆ .

       เบื้องซ้ายของหอพระแก้ว ที่หันไปทางแม่น้ำโขงนั้น มีการจัดพื้นที่ (เข้าใจว่าเดิมเป็นบริเวณสำนักงานกงศุลของฝรั่งเศส) กั้นไว้วางรูปปั้น นักสำรวจและนักการทูตชาวฝรั่งเศส โอกุสต์ ปาวี (Jean Marie August Pavie) กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2435 และเป็นรองกงสุลฝรั่งเศสคนแรกในหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งมีวีรกรรมกับประเทศไทยและ สปป.ลาวไว้ไม่น้อย เท่าที่สังเกต รูปปั้นของปาวี วางไว้โดด ๆ ไม่มีใครเข้าชม กล่าวถึงและให้ความสนใจเท่าใดนัก02



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 28 กรกฎาคม 2564.
02. จากความทรงจำเมื่อครั้งไปทำธุระที่เวียงจันทน์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2553



PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: หอพระแก้ว, ที่มา: Facebook เพจ "ລາວ Temple," Cr. สำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ Ecole Française d'Extrême-Orient (EFEO), วันที่เข้าถึง 3 กันยายน 2564.
ภาพที่ 02: ภาพข้าพเจ้า เมื่อครั้งไปทำธุระที่เวียงจันทน์ หน้าประตูชัย (ปะตูไซ) เมื่อ 12 ตุลาคม พ.ศ.2553.
ภาพที่ 03: หอพระแก้ว, ที่มา: Facebook เพจ "ชมรมอนุรักษ์พระพุทธศิลป์ล้านช้าง," ภาพโดยคณะสำรวจของปาวี, วันที่เข้าถึง 22 สิงหาคม 2565.

 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com