MENU
TH EN
Title Thumbnail: อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ริมโขง เวียงจันทน์ สปป.ลาว, ที่มา: bloggang.com, วันที่เข้าถึง 21 กรกฎาคม 2564.
Hero Image: อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ริมโขง เวียงจันทน์ สปป.ลาว, ที่มา: th.tripadvisor.com, วันที่เข้าถึง 21 กรกฎาคม 2564.

เจ้าอนุวงศ์01,02.
First revision: Jul.21, 2021
Last change: Aug.21, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ใคร่ขอทำความเข้าใจกับผู้ศึกษาก่อนว่า เนื้อหา ข้อความในเว็บไซต์นี้ มีไว้เพื่อการศึกษา ค้นคว้าอ้างอิง พัฒนาปรับปรุงให้เกิดความสมบูรณ์ทุกแง่มุมเท่าที่กำลัง สติปัญญา ทรัพยากรต่าง ๆ และเวลาที่ผมพึงมี มิได้ต้องการรื้อฟื้นเพื่อความแตกแยก เคียดแค้นแต่อย่างใด ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ด้วยเราสองฝั่งโขงเป็นพี่น้องกัน ต้องสามัคคีกัน นำพาชนชาติเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์พัฒนาสถาวรสู่ความอุดมสมบูรณ์พูนสุขกันต่อไป.

       การกล่าวและการเขียนถึง "เมืองเวียงจันทน์" ในห้องนี้นั้น เขียนไว้ทั้งสะกดว่า "เวียงจันทน์" และ "เวียงจันทร์" ด้วยเพราะเอกสารที่อ้างอึงต้นฉบับหลายแหล่งเป็นดั่งนี้.

       เจ้าอนุวงศ์ หรือ เจ้าอนุ (Chao Anouvong - ເຈົ້າອານຸວົງສ໌) หรือ สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5 กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ลำดับที่ 5 หรือองค์สุดท้าย (ปกครองราว พ.ศ.2348-2371 บ้างก็ว่า พ.ศ.2347-237002.) ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหาวีรกษัตริย์และมหาราชของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว).
       อ้างจาก 02. ปีครองเมืองตรงกันทั้งพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา

       เจ้าอนุวงศ์เป็นโอรสเจ้าสิริบุญสารอนุชาของเจ้านันทเสน และเจ้าอินทวงศ์ เมื่อขึ้นครองเมือง (อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์) ได้รับการเฉลิมพระนามว่า
       1). พระมหาธรรมิกสีหตบูรราชาธิราช หรือ พระศรีหะตะนุ ภายหลังปรากฎพระนามว่า พระมหาขัติยธิเบศไชยเชษฐา พระราชเชษฐา หรือ พระไชยเชษฐาธิราชที่ 5.02.
       2). สมเด็จบรมบพิตร พระมหาขัติยธิเบศ ไชยเชษฐาชาติสุริยวงศ์ องค์เอกอัครธิบดินทร บรมมหาธิปติราชาธิราช มหาจักรพรรดิ์ภูมินทรมหาธปตน สากลไตรภูวนาถ ชาติพะโตวิสุทธิ มกุตสาพาราทิปุล อตุลยโพธิสัตว์ ขัติยพุทธังกุโลตรน มหาโสพัสสันโต คัดชลักขรัตถราชบุรี สีทัมมาธิราช บรมนาถบรมบพิตร05.
       3). พระเจ้าอนุรุธราช และ พระยาอนุพาวันดี06.

       หลังจากขึ้นครองเมืองเวียงจันทน์ (02. เขียนเป็น เวียงจันทร์) เจ้าอนุวงศ์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองและวัดวาอารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ระหว่างปี พ.ศ.2349-2369 เช่น.
       1). สร้างพระราชวังในนครเวียงจันทน์ - พ.ศ.2349
       2). ฉลองสะพานพระธาตุพนม - พ.ศ.2350
       3). สร้างวัดที่เมืองหนองคาย - พ.ศ.2351
       4). สร้างวัดหอพระแก้วที่เมืองศรีเชียงใหม่ และสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างเวียงจันทน์กับศรีเชียงใหม่ ตรงบริเวณวัดที่สร้างวัดหอพระแก้วนั้น03 - พ.ศ.2353-2355.
       5). ตั้งบุญหลวงฉลองหอพระแก้วและหอไตรในนครเวียงจันทน์ - พ.ศ.2359.
       6). ยกหอพระบางตะวันออกสองหลัง04.
 
พระพุทธรูปพระราชเชฎฐา หลักฐานสำคัญของเจ้าอนุวงศ์ที่ได้สร้างขึ้น ที่ทรงหวลระลึกถึงพระแก้วมรกต08. ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ จำลองพระแก้วมรกต สำริด (รส.73, สูง 36.5 ซม.) ปัจจุบันรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี02.

พระพุทธรูปพระราชเชฏฐา พระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะลาว ที่เจ้าอนุวงศ์ในสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.236908.

       ที่หน้ากระดานด้านล่างสุดของฐานพระพุทธรูปมีจารึกอักษรไทยน้อย ภาษาไทยและบาลี รวม 5 บรรทัดความว่า
              ...สมเด็จพระราชเชฏฐา(เจ้าอนุวงศ์) อาปณคามาธิราช
              ชาติสายสุริยวงศ์ มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา
              ให้หล่อพระพุทธรูปองค์นี้ น้ำหนัก 25,000
              เทียมพระแก้วมรกตเจ้า เมื่อจุลศักราช 1188...
                                                   (เทิม มีเต็ม, ม.ป.ป., หน้า 172)
08.


       เหตุการณ์สำคัญสมัยเจ้าอนุวงศ์ ที่ปรากฎอยู่ในใบจุ้มพระราชโองการและพงศาวดาร มีดังนี้ 

 
   พ.ศ.2349 (จ.ศ.1168)  ทรงมีพระราชโองการให้พระอุปราชาเมืองหัวเมืองและขุนทั้ง 4 นายทั้ง 8 ปกครองดูแลข้าไพร่ จัดเก็บส่วยอากรและรักษาด่าน เขตเมืองหัวเมือง ให้พระยาศรีบูรม และขุนทั้ง 4 ดูแลข้าไพร่และรักษาเขตเมืองแวน รวมทั้งจัดเก็บส่วนอากรนำส่งพระคลังหลวง
   พ.ศ.2352 (จ.ศ.1171)  พระบรมราชา เจ้าเมืองนครพนมวิทวาทกับท้าวไชยอุปฮาด พวกบ่าวไพร่อุปฮาดไม่ยอมอยู่ในบังคับพระบรมราชา อุปฮาดจึงพาพรรคพวกประมาณ 2,000 เศษ อพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ร.2 กรุงเทพฯ ร.2 จึงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ คลองมหาวงก์ เมืองสมุทรปราการ
   พ.ศ.2358 (จ.ศ.1177)  เจ้าอนุวงศ์ทรงมีราชโองการให้พระยาแก้วสมคามเป็นหัวพันเมืองซำเหนือให้ร่วมมือกับขุนเมืองทั้งสี่ปกครองดูแลรักษาขอบเขตบ้านเมือง จัดเก็บส่วยอากรส่งพระคลังหลวง และให้พระยาศรีอีสานอุทัยสุรินทฤๅชัยเตชะสมคาม เป็นเจ้าเมืองโส่ย แขวงหัวพัน
   พ.ศ.2360-2364   เกิดเหตุการณ์กบฎอ้ายสาเกียดโง้ง เป็นผลให้เจ้าราชบุตร (โย่) บุตรเจ้าอนุวงศ์ได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์
 พงศาวดารย่อได้กล่าวถึงการขึ้นครองนครจำปาศักดิ์ของเจ้าราชบุตร (โย่) ว่า
  ศักราชได้ 183 (จศ.1183-พ.ศ.2364)  ปีฮวดไส้ เดือนยี่ ขึ้น 9 ค่ำ วันอังคาร ..... เจ้าแผ่นดิน (เจ้าอนุวงศ์) เสด็จจากเมืองไปสร้างปาศักดิ์ (จำปาศักดิ์) เจ้าราชบุตร (โย่) ไปนั่ง (ไปครอง) แล
 ส่วนเหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ปลายสมัยเจ้าอนุวงศ์มีดังนี้
   ศักราชได้ 189 (จศ.1189-พ.ศ.2370)  ปีไค้ (กุน) เจ้าเวียงจันทร์ยกกำลังไปตีไทยเดือนสาม บ่ได้ จึงทบ (กลับ) คืนมาฮอด (ถึง) เวียงจันทร์
   ศักราชได้ 190 (จศ.1190-พ.ศ.2371)  ปีไจ้ (ชวด) เดือน 6 แรม 2 ค่ำ วันศุกร์เวียงจันทร์จึงแตดคืนมาอยู่เมืองมหาไชย ฮอดเดือน 8 เจ้าเวียงจันทร์จึงมาอยู่เมืองแกว (ญวน)
   ศักราชได้ 191 (จศ.1191-พ.ศ.2372)  เจ้าเวียงจันทร์เสด็จคืนเมืองฮอด (ถึง) เดือน 11 ไทยจึงได้เจ้าเวียงจันทร์แล.



ความพยายามเป็นเอกราชของล้านช้างเวียงจันทน์ หรือกบฎเจ้าอนุวงศ์07.
       ความพยายามเป็นเอกราชของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์หรือในมุมมองของไทยสยามนั่นคือ กบฎเจ้าอนุวงศ์นั้น เป็นการนำโดยเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ลำดับที่ 5 หรือลำดับสุดท้ายของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ในการแยกตัวออกจากการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราชของอาณาจักรสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ.2369-2371.
 
   ความพยายามเป็นเอกราชของล้านช้างเวียงจันทน์ หรือกบฎเจ้าอนุวงศ์
   ช่วงของเหตุการณ์  พ.ศ.2369-2371
   สถานที่ หรือชัยสมรภูมิยุทธการ  ภาคอีสานของไทย อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์
   ผลของสงคราม  กรุงเทพมหานคร แห่งอาณาจักรสยามชนะ 
   
  • อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ล่มสลาย ถูกลดฐานะจากหัวเมืองประเทศราชเป็นหัวเมืองชั้นนอกประเภทเมืองจัตวา
  • ล้มล้างราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ซึ่งรวมไปถึงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครและเจ้าอนุวงศ์ สวรรคตในกรุงเทพมหานคร.
 
   คู่ขัดแย้ง
   
 
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
 
 
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
สนับสนุนทางทหาร:
 
 อาณาจักรเวียดนาม ราชวงศ์เหงียน
 
อาณาจักรสยาม กรุงรัตนโกสินทร์
   ผู้บัญชาการรบ
   เจ้าอนุวงศ์ - ล้านช้างเวียงจันทน์
 เจ้าราชบุตร (โย้ บ้างก็เรียก โย่) - ล้านช้างจำปาศักดิ์
 เจ้าอุปราช (ติสสะ) - ล้านช้างเวียงจันทน์
 เจ้าสุทธิสาร (โป้) - ล้านช้างเวียงจันทน์
 รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (วังหน้า)
 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
   สนับสนุนทางทหาร:
   ฟาน วัน ทวี้ (Phan Van Thuy)
 


เรื่องราวที่เจ้าอนุวงศ์ยกมารบไทยนี้ ปรากฎในพงศาวดารของไทยหลายฉบับ ทั้งที่เป็นพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน และจดหมายเหตุเมืองนครราชสีมา ซึ่งประมวลดูแล้ว ความโดยรวม และวันเวลาศักราชตรงกันทั้งสิ้น มีดังนี้

       เจ้าอนุวงศ์เจ้านครเวียงจันทร์ได้ปฏิบัติราชการบ้านเมืองมีความดีความชอบมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก และทรงโปรดฯ ให้เจ้าราชบุตร (โย่ บ้างก็เรียก โย้) เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ในปี พ.ศ.2364 ทำให้เจ้าอนุวงศ์มีกำลังและอำนาจมากขึ้น12. สามารถว่ากล่าวหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตได้ เมื่อมีข้อราชการขึ้นกราบบังคมทูลฯ (ร.2) ก็ทรงเห็นชอบตามนั้น.

       เมื่อ ร.2 สวรรคต เจ้าอนุวงศ์ได้เสด็จพร้อมทั้งพระโอรสคือเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) นำไพร่พลชาวลาวจากเวียงจันทน์มาเข้าร่วมพระราชพิธี ร.3 ใ
ห้เจ้าอนุวงศ์นำกำลังชาวลาวขนท่อนไม้ต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรีไปยังสมุทรปราการ11. เพื่อทำฐานเตาหม้อของพระสมุทรเจดีย์กลางน้ำ เจ้าอนุวงศ์จึงให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) คุมไพร่พลชาวลาวขนต้นตาลจากสุพรรณบุรีไปสมุทรปราการ.

       หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธี เมื่อปี พ.ศ.2368 เจ้าอนุวงศ์ได้ทูลขอพระราชทานจาก ร.3 ประการต่าง ๆ ดังนี้;
  • ขอนักแสดงหญิงละครใน
  • ขอเจ้าดวงคำ เจ้าหญิงลาวซึ่งประทับอยู่ที่เมืองสระบุรี
  • ขอชาว "ลาวเวียง" เมืองสระบุรีที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ตั้งแต่พ.ศ. 2324 กลับคืนสู่เวียงจันทน์
       ร. 3 ทรงนิจฉัยไม่พระราชทานดังคำขอของเจ้าอนุวงศ์11. เจ้าคุณวังหลวง (นุ่น) ได้จัดมอบนักร้องคนหนึ่งของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ให้แก่เจ้าอนุวงศ์แทน ทำให้เจ้าอนุวงศ์ขัดเคืองพระทัย.

       เมื่อกลับไปถึงเวียงจันทร์แล้วจึงปรึกษาแสนท้าวพระยาลาวว่า กรุงเทพพระมหานครเวลานี้เจ้านายที่มีพระชนม์พรรษามากเป็นผู้ใหญ่ก็ล่วงไปเสียมาก เจ้านายที่พระชนม์พรรษาน้อยไม่คล่องแคล่วชำนิชำนาญในการสงคราม อังกฤษก็เข้ามารบกวนอยู่ (ในปี พ.ศ.2365 นายจอหน์ ครอว์เฟิร์ด - John Crawfurd - ทูตอังกฤษเดินทางมายังกรุงเทพฯ เจ้าอนุวงศ์ก็ได้เข้าพบ)12. และในปี พ.ศ.2369 นายเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) ผู้แทนอังกฤษเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพแจ้งไปยังเจ้าอนุวงศ์ว่าหากเกิดเหตุการณ์อังกฤษโจมตีกรุงเทพของให้เจ้าอนุวงศ์ยกทัพลงมาช่วย13. เกิดข่าวลือในหัวเมืองลาวว่าอังกฤษจะยกทัพมาโจมตีกรุงเทพ ทำให้เจ้าอนุวงศ์เชื่อมั่นว่าจะสามารถยึดเอากรุงเทพมหานครได้โดยง่าย จึงคิดอ่านกอบกู้เอกราชเกลี้ยกล่อมบีบบังคับหัวเมืองลาวที่ยังมิได้อยู่ในอำนาจให้ยินยอมเข้าเป็นพวกตลอดลงมาจนถึงเขตแดนเขมรป่าดง.

       ครั้นถึงเดือนยี่ ปีจอ อัฐศก พ.ศ.2369 เจ้าอนุวงศ์จึงให้เจ้าราชวงศ์ผู้บุตร เป็นทัพหน้าคุมคนสามพันคนลงมาทางเมืองนครราสีมา ลวงเบิกเสบียงอาหารที่เมืองนครราชสีมาได้แล้วลงมา ตั้งทัพอยู่ใกล้เมืองสระบุรี ส่วนเจ้าอนุวงศ์กับเจ้าสุทธิสารผู้บุตรยกกองทัพใหญ่ลงมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลทะเลหย้าในเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมาไปราชการเมืองขุขันธ์ จึงให้หาตัวพระยายกบัตร และกรรมการเมืองออกไปบังคับให้กวาดต้อนครอบครัวเมืองนครราชสีมาไปไว้เมืองเวียงจันทร์ ครั้นเดินทางไปถึงทุ่งสำริดหยุดพักอยู่ เวลากลางคืนพวกครอบครัวกลับต่อสู้กับพวกลาวพ่ายแพ้ พระยาปลัดก็ตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ทุ่งสำริดคอยต่อสู้ เมื่อความทราบถึงกรุงเทพมหานคร ร.3 โปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในสมัย ร.3) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม.
อนุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ณ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร พระประแดง สมุทรปราการ,
ที่มา: homelittlegirl.com
/index.php?topic=12540.0, วันที่เข้าถึง 20 สิงหาคม 2564.

       ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ซึ่งลงมากวาดต้อนครัวอยู่ ณ เมืองสระบุรี ทราบข่าวก็รีบเร่งเดินครัวกลับขึ้นไปแจ้งข่าวแก่เจ้าอนุวงศ์ที่เมืองนครราชสีมา ครั้นเจ้าอนุวงศ์ทราบความก็ถอยขึ้นไปทางเมืองหนองบัวลำภูตั้งค่ายที่เขาสาร ให้เจ้าราชวงศ์แยกไปตั้งอยู่ที่เมืองหล่มสัก เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมา กองทัพหน้ากับกองโจรพระองค์เจ้าขุนเณรตีค่ายหนองบัวลำภูแตก. ส่วนกองทัพหัวเมืองและกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือคุมโดยเจ้าพระยาอภัยภูธรและพระยาไกรโกษาตีกองทัพเจ้าราชวงศ์ที่เมืองหล่มสักแตกไปหาเจ้าอนุวงศ์ที่เขาสาร เจ้าอนุวงศ์หนีเข้าเมืองเวียงจันทร์เก็บทรัพย์สมบัติ และอพยพครอบครัวหนีไปอาศัยอยู่ในเขตเมืองญวนที่เมืองล่าน้ำ (แง่อาน) เมื่อกองทัพหน้ายกตามขึ้นไปตีกองทัพลาวแตกแล้ว ได้เข้าไปตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทร์ ทัพหลวงอยู่ที่เมืองพานพร้าว.

"รูปเจ้าพระยาบดินทร์ที่ถ่ายไว้แต่ครั้งกระโน้น ก๊อปปี้จากหนังสืองานศพ เสวกเอก พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี) หลานเหลนคนหนึ่งของเจ้าพระยา (ซีดี 1065-005) สังเกตใต้ขาของท่าน เคยมีตัวหนังสือ จารึกว่า "เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิง) จอมพลเอก แม่ทัพใหญ่ฝ่ายสยาม"," ที่มา: silpa-mag.com, วันที่เข้าถึง 20 สิงหาคม 2564.
 [262/391 appendix 285]
       ส่วนพระยาราชสุภาวดี (ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา) เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองจำปาศักดิ์ จับได้ตัวราชบุตร (โย่) และเจ้าปานสุวรรณส่งลงมากรุงเทพ แล้วจึงขึ้นไปเฝ้าแม่ทัพหลวง ณ เมืองพานพร้าว ครั้งนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ หาได้ข้ามไปเมืองเวียงจันทร์ไม่ ทรงมอบราชการให้พระยาราชสุภาวดีจัดการต่อไป แล้วเลิกทัพหลวงเสด็จกลับไปยังกรุงเทพฯ . ร.3 โปรดเกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งพระยาราชสุภาวดีเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายกหลังการศึกครั้งนี้ แต่ยังมิโปรดให้รับยศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาจักรีเต็มตำแหน่ง เพราะทรงขัดเคืองว่าไม่ทำลายเมืองเวียงจันทร์ให้สิ้นสูญ ซ้ำยังแต่งนายหมวดนายกองให้อยู่เกลี้ยกล่อมผู้คนจะตั้งบ้านเมืองต่อไป อนึ่ง เจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์ยังอยู่ฝ่ายญวนก็จะเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเจ้าอนุวงศ์กลับมาก็จะยุ่งยากภายหลัง09.

       ต่อมาในปี พ.ศ.2371 ร.3 โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาราชสุภาวดียกกองทัพขึ้นไปอีกครั้ง เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงยกทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่หนองบัวลำภู แต่งให้พระยาราชรองเมืองและพระยาพิไชยสงครามคุมทัพล่วงหน้าไปยังเมืองพานพร้าว พระยาพิไชยสงครามได้นำคนนายไพร่ 300 คนข้ามไปตั้งพักอยู่ ณ วัดกลางเมืองเวียงจันทร์ (วัดกลางจันทบุรี) ในเวลานั้นญวน 80 คน กับไพร่พลลาวประมาณ 1,000 คน ก็พาเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์ผู้บุตรมาถึงเวียงจันทร์พอดี ครั้นวันรุ่งขึ้นพวกญวนจึงพาเจ้าอนุวงศ์มาอ่อนน้อมขอพระราชทานโทษที่ทำผิดไปแต่หนหลัง "อนุทำความผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ"11.ขอให้ได้ตั้งเมืองเวียงจันทร์ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป ฝ่ายไทยก็มิได้มีความสงสัย แต่ครั้นถึงเวลาเย็น เจ้าอนุวงศ์กลับใช้ให้ไพร่พลลาวเอาปืนมาระดมยิงนายทัพ และไพร่พลไทยตายเกือบทั้งสิ้น ที่เหลือก็หนีมานำความแจ้งแก่แม่ทัพ เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นว่ากำลังพลมีไม่พอที่จะต่อสู้ จึงถอยทัพไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองยโสธรเพื่อระดมไพร่พลเพิ่มเติม เจ้าอนุวงศ์ได้ทีจึงให้เจ้าราชวงศ์ผู้บุตรยกกองทัพติดตามไปตีทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีเกณฑ์กำลังได้แล้วก็ยกกลับไปพบกองทัพเจ้าราชวงศ์ที่บ้านบกหวาน แขวงเมืองหนองคาย ได้รบกันถึงตัวต่อตัวเจ้าราชวงศ์แทงเจ้าพระยาราชสุภาวดีด้วยหอก ถูกตั้งแต่อกแฉลบไปจนถึงท้องน้อยล้มลง หลวงพิพิธน้องชายจะเข้าแก้ เจ้าราชวงศ์ฟันหลวงพิพิธตาย ทนายเจ้าพระยาราชสุภาวดีเอาปืนยิงถูกเข่าขวาเจ้าราชวงศ์ล้มลง บ่าวไพร่สำคัญว่าตายจึงอุ้มใส่แคร่พาหนีไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีตามตีกองทัพลาวแตกและตามตีไปถึงเวียงจันทร์.

       เจ้าอนุวงศ์หนีจากเมืองเวียงจันทร์ไปซ่อนตัวที่เมืองพวน ต่อมากองทัพหัวเมืองเหนือฝ่ายพระยาลับแล พวกเมืองหลวงพระบาง เมืองน่าน จับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้ที่น้ำฮ้ายเชิงเขาไก่ เจ้าพระยาราชสุภาวดีให้คุมตัวส่งลงมายังกรุงเทพมหานคร เจ้าอนุวงศ์ป่วยถึงแก่ความตายในที่สุด ส่วนบุตรภรรยานั้นหาได้ลงพระราชอาญาแก่ผู้หนึ่งผู้ใดถึงชีวิตไม่ ฝ่ายเมืองเวียงจันทร์นั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ให้รื้อทำลายป้อมกำแพงที่สำคัญเสียสิ้น เว้นไว้แต่พระอาราม จากนั้นจึงยกทัพกลับลงมายังกรุงเทพมหานคร.

       เมื่อเจ้าอนุวงศ์ถึงแก่พิราลัยแล้ว ทางกรุงเทพมหานครก็ทิ้งเมืองเวียงจันทร์ให้เป็นเมืองร้าง และย้ายมาตั้งกองข้าหลวงผู้ปกครองพื้นที่เขตเวียงจันทร์ขึ้นที่เมืองหนองคาย และยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทร์แต่นั้นมา เหลือแต่เมืองหลวงพระบางและเมืองจำปาศักดิ์ที่ยังคงเป็นหัวเมืองประเทศราชเพียง 2 เมือง.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 21 กรกฎาคม 2564.
02. จาก. ลำดับกษัตริย์ลาว, สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ISBN 974-418-118-4, สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, พิมพ์ครั้งที่ 2, พ.ศ.2545 [336/391]
03จาก. พงศาวดารเมืองล้านช้าง, พระยาประมวญวิชาพูล, พระนคร; 2482 หน้า 67.
04.  จาก. ประวัติศาสตร์ลาว หน้า 179
05.  จาก. จารึกวัดสีสะเกดนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งนักวิชาการมีการตั้งข้อสังเกตว่าพระนามนี้อาจชี้ว่านครหลวงเวียงจันทน์คงพยายามประกาศเป็นกรุงเอกราช.
06.  จาก. ท้าวเหลาคำ, ดวงจัน วันนะบุบผา, (เรียบเรียงใหม่), เวียงจันทน์: สำนักพิมพ์และจำหน่ายปื้มแห่งรัฐ ส.ป.ป.ลาว, 2010 (2554), หน้า 7. อันเป็นหนังสือเกี่ยวกับส่วนวรรณกรรมประวัติศาสตร์พื้นเวียงจันทน์ 2 สำนวน ซึ่งได้ระบุนามพระองค์ไว้.
07.  นำเนื้อหาและโครงเรื่องหลักมาจาก. th.wikipedia.org/wiki/กบฏเจ้าอนุวงศ์, วันที่เข้าถึง 21 กรกฎาคม 2564.
08.  ปรับปรุงจากเนื้อหา และนำภาพมาจาก. Facebook เพจ "กลุ่มศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง," ผู้เขียนบทความเป็นผู้ใช้นามว่า "ห้างทองเที่ยงธรรม เยาวราช", วันที่เข้าถึง 25 กรกฎาคม 2564.
09.  ประชุมพงศาวดารภาคที่ 33 เล่มที่ 20 (พระนคร; 2510) หน้า 62.
10จาก. อานามสยามยุทธ, สำนักพิมพ์โฆษิต พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2550.
11จาก. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค).
12.  อ้างถึง พระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2, โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ด้วยเจ้าราชบุตร (โย้) ทำความดีความชอบจับกุมอ้ายสาเกียดโง้ง (พระภิกษุ นำทัพชาวบ้านก่อกบฎในเมืองจำปาศักดิ์ มีเรื่องโยงถึงความไม่พอใจในการฉ้อราษฎร์บังหลวง และการค้ามนุษย์พวกข่า ขมุ ลาวเทิง เพื่อเป็นทาส จึงลุกฮือขึ้น) กอปรกับเจ้าหมาน้อยเจ้าเมืองจำปาศักดิ์อ่อนแอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร จึงทูลขอ ร.2 ให้ตั้งเจ้าราชบุตร (โย้) เป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์แทน ร.2 โปรดเกล้าฯ ในปี พ.ศ.2362 อาณาจักรลาวทั้งสามได้แก่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ จึงอยู่ภายใต้อำนาจเจ้าอนุวงศ์แล้วถึงสองอาณาจักรจากในสามอาณาจักร ดังที่พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษมนตรีซึ่งว่าราชการกรมมหาดไทยในขณะนั้นตรัสว่า “…เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ข้างฝ่ายเหนือก็พออยู่แล้ว ยังจะเพิ่มเติมให้ลูกไปมีอำนาจโอบลงมาข้างฝ่ายตะวันออกอีกด้านหนึ่ง ต่อไปจะได้ความร้อนใจด้วยเรื่องนี้” กรมพระยาดำรงฯ ได้วินิจฉัยว่า การที่ฝ่ายสยามไว้วางใจและมอบอำนาจให้แก่เจ้าอนุวงศ์เช่นนี้ เนื่องจากฝ่ายสยามเห็นว่าเจ้าหมาน้อยแห่งจำปาศักดิ์มีความอ่อนแอและมีความจำเป็นต้องรักษาเมืองจำปาศักดิ์ให้มั่นคงเพื่อต้านทานอิทธิพลของเวียดนามราชวงศ์เหงียน.
13. จาก. จดหมายเหตุนครราชสีมา, กรมศิลปากร, พ.ศ.2497.


 
info@huexonline.com