Title Thumbnail: พระรูปมหาวีระ ณ Ahinsa Sthal, Mehraui, นิวเดลลี, ประเทศอินเดีย, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 29 เมษายน 2563. Hero Image: Jainism Beliefs: The Three Jewels, ที่มา: learnreligions.com, วันที่เข้าถึง 30 เมษายน 2563.
ชีวประวัติของพระมหาวีระ01,02,05,
First revision: Apr.29, 2020
Last change: Jul.12, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
1. สกุลกำเนิดและปฐมวัย
มหาวีระ (Mahāvīra) 08.ผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนนั้นมีนามเดิมว่า วรรธมานะ บ้างก็เรียก วรรธมาน (Vardhamāna - वर्धमान) แปลว่า ผู้เจริญ ("The one who grows" หรือ จากพจนานุกรมภาษาสันกฤต03. แปลว่า A kind of mystical figure or diagram) ประสูติ ณ กรุงเวสาลี (Vaishali) แคว้นวัชชี (ดินแดนรัฐพิหารปัจจุบัน) ในภาคเหนือตอนหนึ่งของประเทศอินเดีย ราว 10 ปี หรือ 12 ปีก่อนการประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ หรือในราว 633 - 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช จวบจนปัจจุบันก็กว่า 2,600 ปีมาแล้ว
ทรงเป็นโอรสของกษัตริย์สิทธารถะ (Siddhartha-เศรยาม) และพระนางตริศลา หรือ ตฤศลา (Trishala) ในวรรณะกษัตริย์ (kshatriya) ซึ่งเป็นกษัตริย์ในกลุ่มลิจฉวี (ด้วยแคว้นวัชชีปกครองโดยตระกูลใหญ่แปดตระกูล โดยมีราชตระกูลใหญ่คือ ลิจฉวี เป็นตระกูลนำ) พระนางตริศลาเป็นกนิษฐภคินีของพระเจ้าเวฏกะแห่งแคว้นวิเทหะ (Kingdom of Videhas มีเมืองมิถิลาเป็นเมืองหลวง) เจ้าชายวรรธมานะทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้าย มีเชษฐภคินีหนึ่งพระองค์ และพระเชษฐภาดา (พระนาม "นันทิวรรธนะ-Nandivardhana") อีกหนึ่งพระองค์.
The birth of Mahavira, from the Kalpa Sūtra (c. 1375–1400 CE),
ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 30 เมษายน 2563.
ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะ มีการจัดงานฉลองสมโภชที่กรุงเวสาลีอย่างอลังการ มีประชาราษฎรมาร่วมฉลองกันอย่างเนืองแน่น บรรยากาศคึกคัก มีกิจกรรม พิธีกรรมต่าง ๆ ถนนร้านรวงประดับธงทิวผืนผ้า โคมไฟ แสงสี วัดวาอาราม เทวสถาน มีพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชามากมาย นักบวชบูชาต่อหน้าพระพรหม พระวิษณุ และเทพเจ้าต่าง ๆ พระเจ้ากรุงเวสาลีทรงบำเพ็ญทานบริจาคแก่ผู้ยากไร้ นิรโทษกรรมแก่นักโทษ บรรดานักพรตฤๅษีและเหล่าพราหมณ์จากลุ่มแม่น้ำคงคา และจากเทือกเขาหิมาลัย ต่างเดินทางเข้าสู่กรุงเวสาลี เพื่อชื่นชมพระบารมี พร้อมกันนั้นเมื่อได้ดูปุริสลักษณะแล้วต่างพยากรณ์ว่า เจ้าชายวรรธมานะจะทรงเป็นผู้มีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ โดยได้พยากรณ์มีคติเป็นสองอย่าง คือ
- ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
- ถ้าทรงออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกในโลก
เมื่อเจริญวัยขึ้น เจ้าชายวรรธมานะก็ได้รับการศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ เพทางคศาสตร์หรือเวทางคศาสตร์04. ไตรเพท ยิงธนู ฝึกม้าป่า ควบช้าง. วันหนึ่งขณะที่เจ้าชายวรรธมานะ เสด็จประพาสอุทยานหลวง ได้เล่นเพลิดเพลินกับพระสหาย ก็มีช้างพลายตกมันหลุดออกมาจากโรงช้าง อาละวาดบ้าคลั่ง พระสหายหนีกระเจิง เจ้าชายวรรธมานะทอดพระเนตรแล้ว กลับยืนนิ่งสงบ กระโดดจับงวงช้างไว้ ตามที่ครูเคยสอน แล้วไต่ขึ้นไปประทับบนคอช้าง และขี่บังคับกลับสู่โรงช้าง มอบแก่ควาญช้างเพื่อนำไปผูกขังไว้ที่เดิม.
แล้วทรงเสด็จกลับวัง โดยมิได้กล่าวแจ้งแก่ผู้ใด แม้แต่พระราชบิดาและพระมารดา. แต่ควาญช้างที่พบเห็นเหตุการณ์ได้แจ้งแก่ผู้เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไปทราบ ได้รู้ถึงความกล้าหาญของเจ้าชาย และความก็เข้าถึงพระกรรณของพระราชบิดา จากนั้นต่างก็พร้อมใจกันถวายเนมิตกนาม06. พระองค์ใหม่ว่า "มหาวีระ" แปลว่า บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความกล้าหาญ (great hero).
ครั้นเมื่อเจ้าชายมหาวีระ มีพระชนม์ได้ 12 พรรษา ก็เข้าพิธียัชโญปวีต07. โดยมีพราหมณ์ทำพิธีคล้องด้ายสายสิญจน์ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ได้รับการศึกษาด้านศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอยู่หลายปี เจ้าชายมหาวีระให้ความสนใจต่อการศึกษาเล่าเรียนมาก แต่ทรงขัดพระทัยต่อทิฏฐิมานะของพราหมณ์ผู้เป็นครู ด้วยทะนงตนว่าเป็นพราหมณ์ที่มีวรรณะสูงกว่าวรรณะกษัตริย์.
2. อภิเษกสมรส
ครั้นเมื่อเจ้าชายมหาวีระมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา ก็จบการศึกษาด้านพราหมณ์-ฮินดู ความรู้สึกขัดพระทัยเกี่ยวกับทิฏฐิมานะของพรหมณ์ก็จางหายไป พระองค์ได้พบรักกับเจ้าหญิง "ยโสธรา" และเข้าพิธีอภิเษกสมรส ทรงเสวยสุขในชีวิตสมรสในพระราชวังเกือบสิบปี จนพระชนมายุได้ 28 พรรษา ทรงมีพระธิดาหนึ่งพระองค์ พระนามว่า "อโนชา"
3. ทรงดำริที่จะออกผนวช
เมื่อพระมหาวีระมีพระชนม์ได้ 28 พรรษา ด้วยมีเหตุการณ์อันเศร้าสลดเกิดขึ้น พระราชบิดาและพระราชมารดาต่างสิ้นพระชนม์ในระยะติด ๆ กัน ด้วยเพราะทรงตั้งพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยว ด้วยการทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา (เป็นการกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก - Self-mortification/mortification of the flesh) ด้วยการค่อย ๆ ลดอาหาร จนถึงกับอดอาหารและสิ้นพระชนม์ในที่สุด (ซึ่งคนอินเดียฮินดูโบราณนั้น เชื่อว่าการตายด้วยวิธีการที่เคร่งครัดนั้นเป็นการตายที่ศักดิ์สิทธิ์ และบุญลาภอันประเสริฐยิ่ง)
พระเชษฐภาดาของพระมหาวีระได้ขึ้นเสวยราชย์สืบต่อมา ทรงพระนามว่า พระเจ้าโมคทะ การสูญเสียครั้งนี้ทำให้พระมหาวีระเศร้าโศกมาก จึงดำริที่จะออกผนวชเป็นการไว้อาลัยแด่พระบุพการีทั้งสอง และจะขอถือปฏิญาณ 12 ปี ที่จะบำเพ็ญพรต งดพูดจา และไม่พาเกี่ยวกับการแต่งกาย แต่ก็ถูกพระเชษฐภาดานันทิวรรธนะทรงห้ามไว้ โดยให้เหตุผลว่าการที่พระราชบิดาและพระราชมารดาได้จากไปนั้นก็ทุกข์โศกมากพอแล้ว หากพระมหาวีระเสด็จไปบำเพ็ญพรตอีก ก็ยิ่งเพิ่มความโทมนัสมากยิ่งขึ้น พระมหาวีระทรงเชื่อฟัง.
พระมหาวีระ ทรงเป็นสัพพัญญูในศาสนาเชน เกิดความเข้าใจที่สมบูรณ์หรือเกิดภูมิปัญญาอันสูงส่ง, อาสนะที่พระมหาวีระได้ประทับแล้วบรรลุสัพพัญญู (The āsana in which Mahavira attained omniscience), File: Kevalajnana.jpg, created: 2 August 2008, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 12 พฤษภาคม 2563.
4. ทรงปฏิญาณแห่งความเป็นผู้นิ่ง 12 ปี
ทรงปฏิญาณแห่งความเป็นผู้นิ่ง 12 ปี
เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา พระมหาวีระจึงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวได้ออกจากกรุงเวสาลีไป พอพ้นเขตเมืองก็เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มเป็นนักบวชผู้ขอทาน พร้อมอธิษฐานว่า "ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปี จะไม่ยอมพูดจาอะไรกับใครแม้แต่คำเดียว" จากนั้นพระองค์ก็เที่ยวธุดงค์เฉกเช่นนักบวชจำนวนนับพันท่านอื่น ๆ ในชมพูทวีป เมื่อพระองค์จาริกผ่านหมู่บ้าน ชนบทและนครต่าง ๆ ก็จะยื่นภาชนะขอรับอาหารจากประชาชนผู้ใจบุญ เมื่ออยู่ในป่าก็หาผลไม้ ทานเท่าที่มีเท่าที่หาได้ ส่วนมากพระองค์จะใช้เวลาอยู่ตามเทือกเขาผาป่าโดยลำพัง เพื่อครุ่นคิด ตริตรอง ทบทวน สอบทาน คำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และค้นหาหลักคำสอนใหม่ของพระองค์ต่อไป ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระมหาวีระมิได้ปริปากพูดแม้แต่คำเดียว ได้คิดพิจารณาก็เล็งเห็นข้อผิดพลาดของคำสอนในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมากมาย จึงคิดเปลี่ยนแปลงปฏิญาณให้ถูกต้องยิ่งขึ้น
ตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้น พระมหาวีระทรงรักษาปฏิญาณอย่างเคร่งครัดมาก แม้จะเผชิญกับความทุกข์ทรมานหรือปัญหาอุปสรรคอย่างไรเท่าใดก็ตาม ทรงมิได้ละทิ้งปฏิญาณหรือเผลอตัวพูดเลย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พระองค์พานพบในช่วง 12 ปี อาทิ
คราหนึ่ง ระหว่างที่พระองค์ได้ธุดงค์ท่องไป พระมหาวีระก็มาถึงทุ่งหญ้าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีคนเลี้ยงแกะกำลังเฝ้าแกะอยู่ ชายผู้นั้นกล่าวกับพระองค์ว่า "ถ้าท่านเฝ้าฝูงแกะให้เรา เราจะเข้าไปหมู่บ้านเอาอาหารมา และจะแบ่งปันให้ท่านบ้าง" พระมหาวีระน้อมศีรษะรับคำ คนเลี้ยงแกะก็จากไป
มิช้ามินาน สุนัขป่าตัวหนึ่งออกมาจากป่า และคว้างับเอาแกะไปตัวหนึ่งแล้วหนีไป เมื่อคนเลี้ยงแกะกลับมาเห็นแกะขาดหายไปตัวหนึ่ง จึงสอบถามพระมหาวีระ แต่พระองค์นิ่งเฉยตามปฏิญญาณว่าจะไม่พูด คนเลี้ยงแกะก็โกรธ ด้วยเพราะพระองค์มิได้กล่าวอธิบายใด ๆ พาลนึกว่าพระองค์เป็นโจรป่า จึงเอาไม้พลองตีเข้าที่ศีรษะพระมหาวีระ
อนึ่งพระมหาวีระก็มีพละกำลังแข็งแกร่งกว่าชายผู้เลี้ยงแกะ ถ้าต่อสู้ก็สามารถป้องกันตนได้ แต่พระมหาวีระได้ถือปฏิญญาณอีกข้อหนึ่งว่าจะไม่ป้องกันตัวจากทุกข์ภัยที่มาแพ้วพานใด ๆ
คนเลี้ยงแกะระดมตีจนพระมหาวีระมีโลหิตไหลอาบตัว ครั้นแล้วก็หยุดชะงัก และมองพระองค์ด้วยความหวั่นเกรง พูดเสียงสั่นว่า "ท่านผู้นี้เป็นคนแรกที่เราพบเห็นมาว่า ไม่ต่อสู้ป้องกันตัวหรือวิ่งหนี ท่านเป็นฤๅษีหรือเปล่า"
พระมหาวีระไม่ตอบ แต่ลุกเดินหลีกไป คนเลี้ยงแกะวิ่งตามมาขออภัย พระองค์ทรงก้มศีรษะพยักให้ แสดงอาการว่าได้ยกโทษให้แล้ว และเดินทางจาริกธุดงค์ต่อไป
ชายผู้เลี้ยงแกะมองตามพระองค์จนลับสายตา พร้อมรำพึงกับตนเองว่า นักบวชผู้นี้สอนบทเรียนแก่เราว่า ความนิ่งมีอำนาจเหนือคำพูด
พระมหาวีระ ก็ครุ่นคิดว่า เรื่องนี้ได้สอนเรา ความอ่อนน้อมดีกว่าความทะนงตัว สันติมีอำนาจเหนือความโกรธ.
พระองค์ได้บรรลุความรู้ขั้นสูงสุดเรียกว่า "เกวลญาณ หรือ ไกวัลย์ - Kevala jñāna" ถือเป็นผู้หลุดพ้นกิเลสทั้งปวง และเป็นผู้ชนะโดยสิ้นเชิง.
ภาพจาก www.jainpedia.org, วันที่เข้าถึง 1 สิงหาคม 2563. "การเทศนาของพระศาสดาสัพพัญญูตีรถังกร" แสดงถึงเอ่ยปากสอนธรรมะใน สมวสรณะ (samvasarana) คำสอนอันได้ยินไปทั่วทั้งจักรวาล. เมื่อพระศาสดาได้เข้าถึงสัพพัญญู (Omniscience) ทรงประทับตรงศูนย์รวมแห่งจักรวาล ที่เหล่าเทพยดาได้รังสรรค์ไว้ การเทศนานี้ได้หมายรวมถึงเหล่าสัตว์ เหล่าผู้คน และเทพยดาที่เข้ามาฟังการเทศน์อย่างสงบและมีมิตรภาพ.
5. ประกาศศาสนา
เมื่อทรงถือปฏิญญาณครบ 12 ปี พระมหาวีระได้ตรึกตรองและมั่นพระทัยว่าพระองค์ทรงพบคำตอบต่อปัญหาชีวิตครบถ้วนแล้ว จึงเสด็จออกไปเผยแผ่ความคิดคำสอนใหม่ ซึ่งได้ตรึกตรองค้นพบได้ในระหว่างปฏิญญาณแห่งความเป็นผู้ที่นิ่ง ทุกที่ทุกแห่งผ่านไป ก็ได้สั่งสอน ไปเรื่อย ๆ โดยมิได้เสด็จกลับกรุงเวสาลีอีก ผู้คนทั้งหลาย ที่ได้ฟังพระองค์ในกาลต่อมากล่าวว่า "พระองค์เป็นนักพูดที่ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงพูดความจริง" เนิ่นนานจากมีสาวกเพิ่มมากขึ้น
พระมหาวีระทรงตั้งศาสนาใหม่ เรียกว่า ศาสนาเชน แปลว่า ศาสนาของผู้ชนะอันเป็นประเภทแห่งผู้ชนะแบบใหม่ ซึ่งไม่ต้องการออกไปและเอาชนะผู้อื่น เพียงแต่ต้องการเอาชนะตนเอง ศาสดาได้สอนเหล่าสาวกว่า ความหลุดพ้นมีอยู่ภายในตัวท่านเอง.
เช่นเดียวกับ พระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาวีระเริ่มต้นด้วยการยอมรับกฎแห่งกรรม ความดีต้องมาจากกรรมดี ความชั่วต้องมาจากกรรมชั่ว และทรงยอมรับความเชื่อในสังสารวัฏ และความหลุดพ้นขั้นสูงสุดคือ โมกษะ
ในความเหมือน ทั้งพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระมหาวีระ ต่างมีทัศนะที่ขัดแย้งกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งสองพระองค์ทรงปฏิเสธความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ของระบบวรรณะ การหลุดพ้นด้วยการอ้อนวอน และความจริงอันสูงสุดของพระเวท.
ในความต่าง พระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติตาม มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) พระมหาวีระเน้น อัตตกิลมถานุโยค (การบำเพ็ญตบะทรมานตน) อย่างจริงจัง.
แม้การประกาศศาสนาของพระมหาวีระจะมีบางอย่างที่ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมีอยู่แล้วในศาสนาพราหมณ์ หรือมีผู้สอนมาก่อนหน้าพระมหาวีระก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายอย่างที่ใหม่และรัดกุมกว่าเดิม อีกทั้งความเป็นนักเทศน์นักปราฐกถาที่สามารถยิ่ง ทำให้ผู้ฟังทั้งหลาย เห็นจริงและเกิดศรัทธาได้ จึงมีคนเชื่อฟังยอมเป็นสาวกมากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด พระมหาวีระสามารถจัดระบบคณะภิกษุ คณะภิกษุณี ขึ้นเป็นศาสนาได้ สาวกทั้งหลายมีศรัทธาเชื่อว่าพระมหาวีระเป็นพระชินะผู้ชนะ และเป็นผู้บรรลุโมกษะความหลุดพ้นจากพันธนาการ ละกิเลส เป็นต้น ทั้งเป็นผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาละปาณาติบาตได้ในสรรพสัตว์ รุกขชาติ (ต้นไม้) และติณชาติ (หญ้า พืชจำพวกหญ้า) ทั้งปวง ยิ่งกว่านั้นสาวกทั้งหลายยอมรับว่าพระมหาวีระเป็นศาสดาองค์สุดท้ายและเป็นศาสดาที่สำคัญที่สุดในศาสนาเชน เพราะศาสนิกชนเชื่อว่ามีศาสดาก่อนพระมหาวีระ 23 พระองค์ คือ
1) พระฤษภเทพ (อาทินาถ) (Rishabhanatha หรือ Ṛṣabhadeva - Adinatha)
2) พระอชิตนาถ (Ajitanatha)
3) พระสัมภวนาถ (Sambhavanatha)
4) พระอภินันทนนาถ (Abhinandananatha)
5) พระสุมตินาถ (Sumatinatha)
6) พระปัทมประภะ (Padmaprabha)
7) พระสุปารศวนาถ (Suparshvanatha)
8) พระจันทรประภะ (Chandraprabha)
9) พระปุษปทันตะ (สุวิธินาถ) (Pushpadanta - Suvidhinath)
10) พระศีตลนาถ (Shitalanatha)
11) พระเศรยางสนาถ (Shreyanasanatha)
12) พระวาสุปุชยะ (Vasupujya)
13) พระวิมลนาถ (Vimalanatha)
14) พระอนันตนาถ (Anantanatha)
15) พระธรรมนาถ (Dharmanatha)
16) พระศานตินาถ (Shantinatha)
17) พระกุนฤนาถ (Kunthunatha)
18) พระอรนาถ (Aranatha)
19) พระมัลลินาถ (Māllīnātha)
20) พระมุนิสุวรตะ (Munisuvrata)
21) พระนมินาถ (Naminatha)
22) พระเนมินาถ (Neminatha)
23) พระปารศวนาถ (Parshvanatha หรือ Pārśvanātha) และ
24) ตีรถังกรองค์สุดท้าย พระมหาวีระ (Mahavira)
24 ตีรถังกร ทรงนั่งสมาธิแบบตันตริก ภาพวาดบนผ้าแบบคุชราต ราว ค.ศ.1800, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 2 สิงหาคม 2563.
6. ช่วงปลายพระชนม์และสิ้นพระชนม์ชีพ
พระมหาวีระใช้เวลาในการสั่งสอนเหล่าสาวก ประกาศศาสนาเชนตามคามนิคมชนบทน้อยใหญ่ และเมืองต่าง ๆ และประสบผลสำเร็จตลอดมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ เมื่อพระชนมายุได้ 72 พรรษา ก็ได้เสด็จมายังเมืองปาวาหรือปาวาบุรี (ปัจจุบันเป็นเมืองเล็ก ๆ ในเขตปัตนะ) พระองค์ประชวรหนักไม่สามารถเสด็จต่อไปได้อีก ทรงทราบถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตจะมาถึง จึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลาย และแสดงปัจฉิมเทศนา
สาวกท่านหนึ่งถามท่านว่า "ในบรรดาคำสอนทั้งหมดของอาจารย์ ข้อไหนสำคัญที่สุด"
พระมหาวีระ ตอบว่า "ในบรรดาคำสอนของเราทั้งหมด ปฏิญญาณ 5 ข้อต้นสำคัญที่สุดคือ อย่าฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต อย่าทำอันตรายแก่สิ่งมีชีวิต จะเป็นด้วยวาจาก็ดี ความคิดก็ดี หรือการกระทำก็ดี อย่าฆ่าสัตว์เป็นอาหาร อย่าทำการล่าสัตว์หรือจับปลา ไม่ว่าในเวลาใด อย่าฆ่าสัตว์แม้ตัวเล็กที่สุด อย่าฆ่ายุงที่กัดเรา หรือผึ้งที่ต่อยเรา อย่าไปทำสงคราม อย่าสู้โต้ตอบผู้ทำร้าย อย่าเหยียบย่ำตัวหนอนริมทาง เพราะตัวหนอนก็มีวิญญาณ"
ศีลหรือปฏิญาณข้อแรกของพระมหาวีระนี้ บรรดาสาวกรู้ว่า คือ คำสอนอหิงสา ซึ่งหมายความว่า การไม่ทำร้ายต่อสิ่งซึ่งมีวิญญาณ
พระมหาวีระดับขันธ์ในเช้าวันต่อมา สรีระของพระองค์ได้กระทำการประชุมเพลิงที่เมืองปาวา ซึ่งปัจจุบันเมืองปาวา (Pawapuri หรือ Pawa) อยู่ในเขตปัตนะ รัฐพิหาร ซึ่งเป็นสังเวชนียสถาน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับศาสนิกชนเชนที่ควรไปชม และสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต.
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. https://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=12569, วันที่เข้าถึง 30 เมษายน 2563.
02. จาก. en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 30 เมษายน 2563.
03. จาก. sanskritdictionary.com, วันที่เข้าถึง 30 เมษยน 2563.
04. เป็นวิชาประกอบการศึกษาพระเวท มี 6 อย่าง คือ 1) ศึกษา (วิธีการออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง) 2) ไวยากรณ์ 3) ฉันท์ 4) โชยติา (ดาราศาสตร์) 5) นิรุกติ (ประวัติของคำ) และ 6) กัลปะ (วิธีประกอบพิธีกรรม).
05. จาก. INDIAN PHILOSOPHY VOLUME 1, S. RADHAKRISHNAN, Oxford University Press. Printed in India, New Delhi, 5th impression 1999. หน้าที่ 286-340.
06. เนมิตกนาม หมายถึง ชื่อที่เกิดขึ้นตามเหตุ คือลักษณะและคุณสมบัติ เช่น พระสุคต แปลว่า ผู้ดำเนินดีแล้ว.
07. ยัชโญปวีต (yajñopavita) หมายถึง สายธุรำ คือ เชือกหรือด้ายศักดิ์สิทธิ์ของวรรณะพราหมณ์ เพื่อแสดงความเป็นพราหมณ์ อันหมายถึงผู้ที่ถือกำเนิดสองครั้ง โดยครั้งที่สอง ผ่านพิธีกรรมทางศาสนา จึงมีสิทธิ์คล้องสายยัชโญปวีต โดยมักจะห้อยเฉวียงบ่าซ้ายมายังเอวด้านขวา พบในการตกแต่งประติมากรรมทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนิกายมหายาน, ที่มา: sac.or.th, วันที่สืบค้น 2 พฤษภาคม 2563.
08. พระมหาวีระ (Mahaviraswami) หรือ นิครนถนาฏบุตร (Nayaputta) หรือ วีระ หรือ อาทิวีระ ภควัน เป็นตีรถังกร (Tīrthaṅkara - the founder of the path) องค์ที่ 24 ถัดจาก พระปารศวนาถ (Pārśvanāth) ตีรถังกร องค์ที่ 23
PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: ภาพของพระพระฤษภเทพ ตีรถังกรพระองค์แรก, ภาพจากพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, ที่มา: www.jainpedia.org, วันที่เข้าถึง 18 กันยายน 2563.