MENU
TH EN

ก. บทนำ: ศาสนาเชน

Title Thumbnail : ภาพเขียน "เชน ตีรถังกร" พบที่เมืองชัยปุระ ราว ค.ศ.1850, ที่มา en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 29 เมษายน 2563, Hero Image: จาก kalyanamitra.org, วันที่เข้าถึง 28 เมษายน 2563.
ก. บทนำ: ศานาเชน01, 02, 05.
First revision: Apr.28, 2020
Last change: Feb.12, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง ปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา

 
 
 
     ศาสนาเชน, ไชนะ หรือ ชินะ (แปลว่า ผู้ชนะ) (อังกฤษ: Jainism) เป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดืย เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหก ที่เกิดร่วมสมัยกับพระโคตมพุทธเจ้า คำว่า เชน หรือ ไชนะ มาจากภาษาสันสกฤต "ไชนะ" อันแปลว่าผู้ชนะ และสามารถลุยข้ามสายน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ ศาสนาเชนเชื่อว่าเป็นศาสนาที่เป็นนิรันดร์ ("Sanatan") มีประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่สมัยตีรถังกร04.ทั้ง 24 องค์ที่ผ่านมา ซึ่งมี "อาทินาถ" เป็นองค์แรกในวงจรจักรวาลนี้ (อวสานปิณี) เมื่อราวหลายล้านล้านล้านปีมาแล้ว ตีรถังองค์ที่ 23 คือ "พระปารศวนาถ" มีชีวิตอยู่ราว 800 ปีก่อนคริสตกาล และตีรถังองค์สุดท้ายและองค์ปัจจุบันในจักรวาลนี้ "พระมหาวีระ" เป็นองค์ที่ 24 มีชีวิตอยู่ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล01.

     หลักการสำคัญของศาสนาเชน คือ
  • หลักอหิงสา (ahiṃsā: ไม่ใช้ความรุนแรง)
  • อเนกานตวาท (anekāntavāda: अनेकान्तवाद many-sidedness: ความจริงสูงสุดนั้นมีโครงสร้างที่หลากหลายซับซ้อน: ความเชื่อว่าไม่มีความจริงแท้แน่นอนสมบูรณ์: Non-absolutism เป็นภูมิปัญญาแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง: Intecllectual ahiṃsā
  • อปริเคราะห์ บ้างก็เรียก อปริครหะ (aparigraha; ความไม่ยึดติด) และ
  • การถือพรตนิยม (asceticism)


     ศาสนิกชนที่เคร่งครัดจะถือปฏิญญาห้าประการ คือ
  1. อหิงสา (Ahiṃsā: ไม่ใช้ความรุนแรง - Non-violence or non-injury) - การไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายชีวิต อนุพรตข้อนี้ถือว่าเป็นยอดของ ศีลธรรมศาสนาเชน
  2. สัตยะ (Satya: ความจริง - Truthfulness) พูดความจริง ไม่พูดเท็จ ไม่ว่าด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างใด ๆ ไม่ได้
  3. อสตียะ บ้างก็เรียก อัสเตยะ (Asteya: ไม่ลักขโมย - Non-stealing) รวมทั้งไม่หลบเลี่ยงภาษีอากร ไม่ใช้หรือทำเงินปลอม และไม่โกงเครื่องชั่งตวง
  4. พรหมจรรย์ บ้างก็เรียก พรหมจรยะ (Brahmacharya: การถือพรหมจรรย์ - Chastity) อย่างต่ำคือการไม่ประพฤติผิดในกาม และ
  5. อปริเคราะห์ บ้างก็เรียก อปริครหะ (Aparigraha: ความไม่ยึดตึด - Non-attachment) การไม่โลภ ไม่ควรมีข้าวของมากเกินจำเป็น.
​​​     หลักการเหล่านี้ นำไปสู่วัฒนธรรมเชนที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการ โดยเฉพาะการทานมังสวิรัติ เพื่อป้องกันการทำลายสัตว์ต่าง ๆ และรบกวนวงจรชีวิตของมัน ศาสนาเชน มีคติพจน์ว่า "ปรัสปโรปัครโห ชีวานาม - Parasparopagraho Jīvānām"​​​​ อันแปลว่า หน้าที่ของสิ่งมีชีวิต หนึ่งคือการช่วยเหลือกันและกัน (The function of souls is to help one another)   

 
บทที่ 605.
พหุสัจนิยมของศาสนาเชน

     ศาสนาเชน - ชีวิตของพระมหาวรรธมานะ (Vardhamāna - वर्धमान) - เศวตัมพร (หรือ เศวตามพร - Śvetāmbaras)06 และ ทิคัมพร (Digambaras)07 - วรรณกรรม - ความสัมพันธ์กับพุทธศาสนา - ปรัชญาสางขยะ หรือ สัมขยะ (Sāṁkhya philosophy) และอุปนิษัท (Upaniṣads) - ตรรกะของศาสนาเชน - ความรู้ห้าประเภท - นายาส08 และส่วนประกอบ - สัปตะภังคี (Saptabhaṅgī)09 -- คำวิพากษ์เกี่ยวกับทฤษฎีด้านความรู้ของศาสนาเชน - ผลกระทบของการมีมาตรฐานเดียว - มุมมองทางด้านจิตวิทยาของศาสนาเชน - วิญญาณ - ร่างกาย และจิตใจ - อภิธรรมหรืออภิปรัชญาของเชน - สสารและคุณลักษณะ - ชีวะ และ อชีวะ - อากาศ, ธรรม และ อธรรม - เวลา - สาระ - ทฤษฏีอะตอม - กรรม - เลศยาส (Leśyās)10 - ชีวะและชีวะประเภทต่าง ๆ - จริยธรรมของศาสนาเชน - เสรีภาพแห่งมนุษย์ - จริยธรรมเปรียบเทียบของศาสนาเชนและศาสนาพุทธ - วรรณะ - พระสงฆ์ - เจตคติต่อพระผู้เป็นเจ้า - ศาสนา - นิพพาน - การประเมินแนวคิดปรัชญาสำคัญของศาสนาเชน.

 
I
ศาสนาเชน

     ในขณะที่พุทธมามกะหรือพุทธศาสนิกชน ติดตามคำสอนของพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ผู้ที่ตื่นแล้ว, สาวกศาสนาเชนก็ติดตามคำสอนของพระศาสดาไชนะ, ผู้มีชัยชนะ, เป็นคำที่ไว้สมัญญาแก่พระมหาวีระ หรือ วรรธมานะ, ศาสดาองค์สุดท้ายแห่งศาสนาเชน. เป็นศาสนาที่นำมาปรับใช้กับชายหญิงทั้งหลาย ผู้ซึ่งต้องการเอาชนะความใฝ่ต่ำตามธรรมชาติและตระหนักถึงสิ่งที่อยู่สูงสุด. ด้วยนามแห่งศาสนาเชน ได้บ่งบอกถึงคุณลักษณะทางจริยธรรมที่โดดเด่นของระบบศาสนา.

 
II
พระมหาวรรธมานะ

     พระมหาวรรธมานะ เป็นศาสดาร่วมสมัยกับพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นบุตรคนที่สองของหัวหน้าชนเผ่าหรือเป็นกษัตริย์ในกลุ่มชนหนึ่งในรัฐมคธ, ปัจจุบันเป็นรัฐพิหาร. ข้อมูลที่บันทึกไว้ตามจารีตเดิม พระองค์ประสูติในปีที่ 599 ก่อนคริสตกาล และปรินิพพานในปีที่ 527 ก่อนคริสตกาล. "พระมหาวรรธมานะนั้น ดำรงชีวิตคล้ายดังพระบิดา, กาศยาปา. พระองค์อาศัยอยู่ในวังของพระบิดาและพระมารดา จนกระทั่งทั้งสองพระองค์ได้ทิวงคตไป พระเชษฐาพระนาม "นันทิวรรธนะ" ได้สืบราชสมบัติต่อ. ครั้นเมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 28 ปี ก็หันชีวิตเข้าสู่โลกแห่งจิตวิญญาณและหนทางสู่โมกษะ โดยความยินยอมของบรรดาพระประยูรญาติและเหล่าเสนาอำมาตย์, เช่นเดียวกับศาสนจักรในประเทศตะวันตก มีพื้นที่ให้ทะยานมุ่งสู่ความหลุดพ้นของพระองค์ อันเป็นพระโอรสองค์เล็กแห่งราชวงศ์. สิบสองปีที่พระองค์ใช้ชีวิตความเป็นนักบวชอย่างเคร่งครัด ทรงเยี่ยมเยียนแม้แต่ชาวป่าเขาที่เรียกว่าพวกราธา (Rādha). หลังจากปีแรกแห่งการเป็นนักบวช  พระองค์ทรงเปลือยกาย. หลังจากสิบสองปีแห่งการจาริกธุดงควัตร บำเพ็ญเพียร พระมหาวรรธมานะได้ตัดขาดจากชีวิตปกติเข้าสู่การบรรลุไกวัล (Kevaliship)11.  ต่อมาพระองค์ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้รอบรู้ในฐานะที่เป็นพระศาสดาของศาสนาเชน หรือทรงเป็น ตีรถังกร (Tīrthaṅkara - ผู้แผ้วถางเส้นทาง) และมีคำนำหน้าว่าเป็นไชนะ (ผู้มีชัยทางจิตวิญญาณ), มหาวีระ (ยอดคนผู้ยิ่งใหญ่), อื่น ๆ , ซึ่งเป็นสมัญญาที่มอบให้แก่พระศรีศากยะมุนี (Śākyamuni) ด้วย. สามสิบปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ พระองค์ได้โปรดสั่งสอนหลักและระบบของศาสนาเชนแก่ศิษยานุศิษย์ สาวกและประชาชนทั่วไป ได้จัดวางระเบียบแก่บรรดานักบวช ตามข้างต้นที่เราได้เห็น, พระองค์ได้รับการอุปถัมภ์จากบรรดาพระญาติ เจ้าชายใหญ่น้อยต่าง ๆ ที่มีพระมารดาของพระองค์สนับสนุนอยู่."01 พระมหาวรรธมานะเรียกนามพระองค์เองว่า เป็นผู้อธิบายหลักธรรมที่สืบทอดมาจากมหาปราชญ์หรือตีรถังกรยี่สิบสามพระองค์ ซึ่งมีพระประวัติกล่าวขานกันสืบมาไม่มากก็น้อย. พระองค์มิได้เป็นผู้ก่อตั้งศรัทธาขึ้นมาใหม่ แต่เป็นในฐานะผู้ปฏิรูปความเชื่อเดิมของพระปารศวนาถ (Pārśvanātha - ซึ่งเป็นตีรถังกรองค์ที่ 23) กล่าวกันว่าทรงสิ้นพระชนม์เมื่อปี 776 ก่อนคริสตกาล. ประเพณีของเชนนั้น อธิบายถึงที่มาของระบบพระฤษภเทพ (Ṛṣabha หรือ Ṛṣabhadeva - ผู้เป็นตีรถังกรองค์แรก) ผู้ซึ่งยังทรงพระชนม์ชีพ เมื่อมองย้อนกลับไปหลายศตวรรษ. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าศาสนาเชนนั้นมีมาก่อนพระมหาวรรธมานะหรือพระปารศวนาถ. ด้วยในยชุรเวท (Yajurveda) ได้กล่าวถึงชื่อของสามตีรถังกร -พระฤษภเทพ (Ṛṣabha), พระอชิตนาถ (Ajitanātha), พระเนมินาถ (Ariṣṭanemi หรือ Neminatha). ในคัมภีร์ภาควตะ ปุราณะ (Bhāgavata Purāṇa) รับรองในแง่มุมที่ว่าพระฤษภเทพเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาเชน. ไม่ว่าความจริงทั้งหมดจะเป็นเช่นไร ผู้นับถือเชนก็เชื่อว่าระบบศาสนาเชนนี้ ได้เคยประกาศผ่านยุคสมัยต่าง ๆ มานับไม่ถ้วนโดยผู้สืบทอดของมหาคุรุแต่ละพระองค์.
       สาวกผู้ติดตามพระมหาวรรธมานะนั้น ส่วนใหญ่มาจากชนชั้นสูงเป็นพวกวรรณะกษัตริย์ ทั้งฆารวาสชายหญิงมักมีการจัดชุมนมแก่แก่พระสงฆ์ของเชนนับเป็นเรื่องปกติ. มีเหตุผลเชื่อได้ว่าสองลัทธิที่แตกต่างกัน (เศวตัมพร และทิคัมพร) ร่วมกันเห็นด้วยในโองการที่ว่าการละทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมด ที่เกี่ยวเนื่องกับการละทิ้งเสื้อผ้าอาภรณ์ด้วย. และโองการของตีรทังกรองค์ที่ 23 พระปารศวนาถ (
Pārśvanātha) ได้หยุดยั้งโองการหรือมาตรการนี้เสีย เพราะพิจารณาว่ารุนแรง และพิจารณาแล้วว่าการมีเสื้อผ้าอาภรณ์ใส่เป็นเรื่องจำเป็น.
 
ตารางแสดงตีรถังกรยี่สิบสี่พระองค์12.
 
 ที่  ไชนะ สี สัญลักษณ์ (เศวตัมพรนิกาย)   เหล่าเทพพิทักษ์ (เศวตัมพรนิกาย) สถานที่ประสูติ  สถานที่นิพพาน
1  พระฤษภเทพ หรือ พระอาทินาถ (Ṛṣabhanātha หรือ Ṛṣabhadeva - Adinatha) เหลือง โค (bull) เทพโคมูคา และ เทพีจักริศวารี - สามีภรรยา (Gomukha และ Cakreśvari) วินีทานาคร (Vinītānagara) อัษฏาบท (เขาไกรลาศ) - Aṣṭāpada (Kailāśa)
2  พระอชิตนาถ (Ajitanātha) เหลือง ช้าง (elephant)  มหายักษ์ และ อชิตบาล (Mahāyaksa และ Ajitabalā)  อโยธยา (Ayodhyā) เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
3  พระสัมภวนาถ (Saṁbhavanātha) เหลือง ม้า (horse) ยักษ์สามเศียร (ตรีมุข) และยักษิณีดูริทารี (Trimukha และ Duritā) สาวัตถี (Śrāvasti)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
4  พระอภินันทนนาถ (Abhinandananātha หรือ Abhinandana) เหลือง  ลิง (monkey)  นายะกะ และ รากษส กาลิกา (Nāyaka และ Kālikā)  อโยธยา (Ayodhyā)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
5  พระสุมตินาถ (Sumatinātha) เหลือง  ห่านแดง (red goose)  ยักษาตัมบูรูหรือตัมบูรและยักษิณีมหากาลี (Tumburu หรือ Tumbura และ Mahākālī)  อโยธยา (Ayodhyā)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
6  พระปัทมประภะ หรือ พระปัทมประภู (Padmaprabha หรือ Padmaprabhu)  แดง  บัวแดง (red lotus) กุสุมาและศยามา (Kusuma และ Śyāmā) โกสัมพี (Kauśambī)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
7  พระสุปารศวนาถ (Supārśhvanātha) เหลือง  สวัสติกะ  มาทังกะ และ ศานตา (Mātaṅga และ Śāntā)  พาราณสี (Vārāṇasi)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
8  พระจันทรประภะ หรือ พระจันทรประภู (Chandraprabha หรือ Candraprabhu) ขาว  พระจันทร์  วิชยะ และ นางภฤกุฎี (Vijaya และ Bhṛikuṭī)  จันทรปุระ (Candrapura)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
9  พระปุษปทันตะ (สุวิธินาถ) (Pushpadanta - Suvidhinātha) ขาว  จระเข้  ยักษาอจิตะและยักษิณีสุทารกา (Ajita และ Sutārakā)  กัณฑ์นคร (Kānaṇḍīnagara)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
10  พระศีตลนาถ (Śītaḷanātha หรือ Shitalanatha) เหลือง ศรีวัตสะ (śrīvatsa)  พรหมาและอโศกา (Brahmā และ Aśokā) ภัทรปุระ (Bhadrapura)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
11  พระเศรยางสนาถ (Shreyanasanatha หรือ Śreyāṁsanātha) เหลือง  แรด ยักษิฎะ และ มานวี (Yakṣeṭa และ Mānavī)  สิงหปุระ (Siṃhapura)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
12  พระวาสุปุชยะ (Vāsupūjya)  แดง  กระบือ  กุมาระ และ คัณฑา (Kumāra and Caṇḍā)  จัมปา (Campā)  จัมปา (Campā)
13  พระวิมลนาถ (Vimaḷanātha) เหลือง  หมูป่า  ษานมูคา และ วิทิตา (Ṣānmukha และ Viditā)  กัมปีลยะ (Kampīlya)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
14  พระอนันตนาถ (Anantanātha) เหลือง  เหยี่ยว  พญานาค ปาตาละ และ องกุศา (Pātāla and Aṅukuśā) อโยธยา (Ayodhyā)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
15  พระธรรมนาถ (Dharmanātha) เหลือง  สายฟ้า กินนร และ นางกันดารพา (Kinnara and Kandarpā)   รัตนบุรี (Ratnapurī) เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
16  พระศานตินาถ (Shantinātha) เหลือง กวาง  พญาครุฑ และ นิพานี (Garuḍa and Nirvānī)  หัสตินาปุระ (Hastināpura)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
17  พระกุนฤนาถ (Kunthunātha) เหลือง แพะ ยักษ์คานธพา และ ยักษิณีพลา (Gandharva and Balā)  หัสตินาปุระ (Hastināpura)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
18  พระอรนาถ (Aranātha) เหลือง สัญลักษณ์นันทาวารทะ (nandāvartta)  ยักษฏะ และ  ธณา (Yakṣeṭa and Dhaṇā)  หัสตินาปุระ (Hastināpura)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
19  พระมัลลินาถ (Māllīnātha) น้ำเงิน เหยือกน้ำ  ท้าวกุเวร และเทวีธรณปริยา (Kubera and Dharaṇapriyā) มิถิลา (Mithilā)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
20  พระมุนิสุวรตะ (Munisuvrata หรือ Suvrata) ดำ  เต่า  พระพิรุณ และยักษิณีนรทัตตา (Varuṇa and Naradattā) ราชคฤห์ (Rājagṛiha)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
21  พระนมินาถ (Naminātha) เหลือง  บัวน้ำเงิน นางภฤกุฎี และ พระนางคานธารี (Bhṛikuṭi and Gandhārī)  มธุรา (Mathurā)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
22  พระเนมินาถ (Neminātha) เหลือง  หอย  โกเมท และนางอัมพิกา (Gomedha and Ambikā)  สายปุระ (Sauipura) เกอนาร์ - Girnār (Girinagara)
23  พระปารศวนาถ (Parshvanatha หรือ Pārśvanātha) น้ำเงิน  งู ธรเณนทรา และนางปัทมาวตี (Dharaṇendra and Padmāvatī - Lakṣmī)  พาราณสี (Vārāṇasi)  เขาสเมฏะ-ศิคาระ (Sameṭa-Śikhara)
24  พระมหาวีระ (Mahāvīra) เหลือง  สิงโต  คชสารมตางคะ และ สิทธยิกาเทวี (Matāṅga and Siddhāyikā)  กุณฑลปุระ (Kuṇḍalapura) ปาปา หรือปาพาบุรี Pāpā (Pāvāpuri)


..................
01.  จาโคบี, บทนำ, p. สิบห้า, S.B.E. (Sacred Books of the East.), เล่ม 22; ให้ดูหน้า 217 ก่อนหน้านี้ประกอบ.

 



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 28 เมษายน 2563.
02. จาก.
 https://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=12569
03. จาก. en.wikipedia.org.
04.  ตีรถังกร (
tīrthaṅkara) แปลว่า ผู้ที่ได้หลุดพ้นแล้ว
05. จาก. INDIAN PHILOSOPHY VOLUME 1, S. RADHAKRISHNAN, Oxford University Press. Printed in India, New Delhi, 5th impression 1999.  หน้าที่ 286-340
06.
เศวตัมพร (หรือ เศวตามพร - Śvetāmbaras) นิกายนุ่งขาวห่มขาว แบ่งแยกออกเป็นนิกายย่อยอีก 84 นิกาย นำโดยสถูลภัทร ส่วนใหญ่จะประจำอยู่ในแคว้นพิหาร นุ่งขาวห่มขาว ที่หน้าสำนักจะติดตั้งรูปตีรถังกรประดับด้วยเครื่องนุ่งห่มและมองตรงไปข้างหน้าปฏิบัติธรรมถือหลักปฏิญญาห้า (ข้างต้น) มีการสังคายนา รวบรวมคัมภีร์เป็นหมวดหมู่
07.
ทิคัมพร (Digambaras) นิกายนุ่งลมห่มฟ้า แบ่งแยกออกเป็นนิกายย่อยอีก 5 นิกาย นำโดย ภัทรพาหุ
08. นายาส หรือ นายา (Nayas, Naya) เป็นมุมมองที่ผ่านมนุษย์อันสามารถตัดสินใจต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์, เป็นมุมมองทางปรัชญาเกี่ยวกับหัวข้อเฉพาะและวิธีการสรุปที่เหมาะสมเกี่ยวกับหัวข้อนั้น.
09. สัปตะภังคี (Saptabhaṅgī) เป็นทฤษฎีของศาสนาเชน: การคาดการณ์พยากรณ์เป็นเจ็ดส่วนเจ็ดเท่า - เป็นการวิเคราะห์เชิงตรรกะ
10. เลศยาส (Leśyās) เกี่ยวกับกรรมตามทฤษฎีของเชน, วิญญาณจะถูกกำหนดเป็นสีไว้ในระเบียนบัญชี เชื่อมโยงกับกรรม สีของเลศยาส ของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานะของจิตและกิจกรรมด้านจิตหลังจากที่ได้กระทำสิ่งต่าง ๆ ไปแล้ว.
11. การบรรลุไกวัล (Kevalship): “ไกวัล” บาลีเป็น “เกวล” อ่านว่า เก-วะ-ละ รากศัพท์มาจาก เกวฺ (ธาตุ = แยก, พราก) + อล ปัจจัย : เกวฺ + อล = เกวล แปลตามศัพท์ว่า “อันพรากจากสิ่งอื่น” หมายถึงมีหนึ่งเดียว หรือสุดยอดอยู่ที่เดียว พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไขความคำว่า “เกวล” ไว้ว่า expression of the concept of unity and totality (คำแสดงมโนภาพถึงการรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวและการรวมยอด)
“เกวล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
          (1) เป็นคุณศัพท์ : เท่านั้น, อย่างเดียว; ทั้งมวล, ทั้งหมด (only, alone; whole, complete)
          (2) เป็นกริยาวิเศษณ์ : ด้วยกัน หรือรวมเท่านี้ (altogether or only)
พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง แสดงศัพท์ที่หมายถึง “นิพพาน” ไว้ 46 ศัพท์หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “เกวล” (คาถาที่ 8)  ดังนั้น นอกจากเป็นคุณศัพท์และเป็นกริยาวิเศษณ์แล้ว ถ้าใช้เป็นคำนาม “เกวล” หมายถึง นิพพาน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เกวล” “ไกวลฺย” และ “เกวลฺย” บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
          (1) เกวล : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง, ผู้เดียว, คนเดียว; ทั้งหมด, สากลย์, ทั้งสิ้น; one, alone, only; all, entire, whole; – (คำนาม) ชายผู้ริษยา; an envious or selfish man; – (กริยาวิเศษณ์) คนเดียว, ผู้เดียว; เทียว, นี่กระไร; only, alone; absolutely, certainly; – (คำนาม) ความรู้ประเภทหนึ่ง, ความรู้ประเภทเอกจิตตา; a species of knowledge, that of the unity of spirit.
          (2) ไกวลฺย, เกวลฺย : (คำวิเศษณ์) ไกวัลย์, เกวัลย์, เอก, ผู้เดียว; sole, only; – นิรันตรปรมาคติ, บรมสุขในอนาคต, ความพ้นทุกข์หรือหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัด; eternal emancipation, future happiness, freedom from sorrow or from all fetters.
บาลี “เกวล” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไกวัล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “ไกวัล ๑” และ “ไกวัล ๒” บอกไว้ดังนี้ –
          (1) ไกวัล ๑ : (คำวิเศษณ์) ทั่วไป. (ป., ส. เกวล).
          (2) ไกวัล ๒ : (คำนาม) ชั้นสวรรค์ เช่น พิราลัยก็ไคลยังนภมน-ทิรทิพยไกวัล. (สมุทรโฆษ).
                                                                                                  ที่มา: dhamma.serichon.us, วันที่เข้าถึง 1 กันยายน 2563.
12. แปลและเสริมจาก. JAINISM, History, Society, Philosophy and Practice, เขียนโดย Agustín Pániker, สำนักพิมพ์ MOTILAL BANARSIDASS, พิมพ์ซ้ำเมื่อ ค.ศ.2017, เดลี อินเดีย, ISBN: 978-81-208-3460-6, หน้าที่ 64.




PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01: จาก. www.veganfirst.com, วันที่เข้าถึง 1 กันยายน 2563.
ภาพที่ 02: จาก. www.srmd.org, วันที่เข้าถึง 16 กันยายน 2563.
ภาพที่ 03: ภาพของพระพระฤษภเทพ ตีรถังกรพระองค์แรก, ภาพจากพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, ที่มา: www.jainpedia.org, วันที่เข้าถึง 18 กันยายน 2563.


PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com