MENU
TH EN
Title Thumbnail: วัดญาณเสน, ที่มา: chinsangtrip.com, วันที่เข้าถึง 11 มกราคม 2563, Hero Image: เจดีย์ในวัดญาณเสน, ที่มา: qrcode.finarts.go.th, วันที่เข้าถึง 17 กุมภาพันธ์ 2563.

006. วัดญาณเสน01
First revision: Jan.10, 2020
Last change: May 29, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     วัดญาณเสน เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมืองใกล้กับช่องมหาเถรไม้แช ซึ่งเป็นทางน้ำ ชักน้ำจากแม่น้ำลพบุรีเข้าไปยังบึงพระราม ทางน้ำนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คลองน้ำเชี่ยว บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่อยู่ของชนชาวมอญ วัดญาณเสนไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด (สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.1920)02 และใครเป็นผู้สร้าง ปัจจุบันตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังเป็นวัดที่มีภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่จนถึงปัจจุบัน สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กรมศิลปากร ได้กำหนดให้วัดญาณเสนเป็นแหล่งโบราณสถานของชาติ ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา

     ปรากฎหลักฐานตามตำนานว่า เดิมวัดญาณเสนนั้น ชื่อว่า "วัดยานุเสน" ในสมัยอยุธยา มีตึกพระคลังสำหรับใส่บาศช้างและเชือกอยู่ที่ริมวัดแห่งนี้ และว่า "มีรางอยู่ถัดหน้าวัดญาณเสนไปรางหนึ่ง ทะลุเข้าไปจากรากกำแพงด้านเหนือ ชาวบ้านเรียกว่า คลองน้ำเชี่ยว ว่าแต่ก่อนเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำไหลเข้าทางรางนั้นเชี่ยวจัด ไปลงบึงพระราม เห็นว่าน่าจะเป็นรางนี้เองที่เรียกว่าช่องมหาเถรไม้แช่  คือ เป็นที่ไขเอาน้ำทางแม่น้ำข้างเหนือเข้าไปในบึงพระราม เดิมคงจะมีช่องให้น้ำลอดใต้รากกำแพงเข้าไป และมีช่องให้น้ำไหลลอดถนนป่าตะกั่วไปตกคลองข้างในไหลลงบึงพระราม ข้างด้านใต้บึงพระรามก็มีคลองลงไปออกประตูเทพหมี ออกแม่น้ำใหญ่ทางใต้ได้เหมือนกัน นี้คือวิธีถ่ายน้ำไปในบึงพระรามให้สะอาด ในแผนที่ของพวกฝรั่งเศสเขาเขียนเป็นคลองต่อพ้นแนวถนนป่าตะกั่วออกไป ตั้งแต่ข้างถนนจนกำแพงเมืองเป็นพื้นทึบ คงก่อช่องมุดลอดไป รางปากช่องคงเกิดขึ้นภายหลังเมื่อรื้อกำแพง แต่เดี๋ยวนี้ได้ถมเสียเป็นพื้นดินเชื่อมกับถนนแล้ว"03.


     วัดญาณเสนมีสถาปัตยกรรมที่จัดเป็นโบราณสถาน คือ เจดีย์และอุโบสถ โดยเฉพาะเจดีย์ กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2487 และในการขุดครั้งนั้น ได้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายชิ้น ที่สำคัญคือแผ่นทองคำรูปสัตว์ต่าง ๆ จัดเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา รวมทั้งพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งพบทั้งที่เป็นของสมัยลพบุรีและสมัยอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

     ต่อมาใน พ.ศ.2544 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากอยู่ในสภาพรกร้างมีดินและวัชพืชปกคลุมอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ในครั้งนี้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายประเภท อาทิ รูปเคารพทางศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ ภาชนะดินเผา เป็นต้น และพบว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมและพอกทับโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบเจดีย์ประธานและก่อสร้างเจดีย์รายเพิ่มเติมอีกด้วย



สิ่งที่น่าสนใ02

1.  เจดีย์ประธาน
     เจดีย์ประธานของวัดญาณเสนเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ลักษณะคล้ายเจดีย์ศรีสุริโยทัย เดิมนักวิชาการสันนิษฐานว่าเจดีย์ถูกสร้างขึ้นช่วงอยุธยาตอนกลาง ประมาณปี พ.ศ.2100-2200
    เจดีย์ประธานของวัดญาณเสนได้รับการบูรณะสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2487 พบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทั้งสมัยลพบุรีและอยุธยา ส่วนครั้งที่สอง คือ ในปี พ.ศ.2544 พบเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องใช้โบราณ รวมถึงพบว่ามีการพอกปูนทับเพื่อปรับรูปแบบเจดีย์ประธาน นั่นแสดงว่าเจดีย์มีมาก่อนช่วงกลางอยุธยา แต่ได้รับการบูรณะในช่วงกลางอยุธยา ให้มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองดังที่เห็นในปัจจุบัน
     นอกจากนี้ยังมีการค้นพบอีกด้วยว่าในการบูรณะในสมัยกลางอยุธยานั้น ผู้บูรณะได้สร้างเจดีย์รายเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย สำหรับเจดีย์รายรอบเจดีย์ประธานมีอยู่ทั้งหมด 5 องค์ ซึ่งพังทลายลงมา 4 องค์ ปัจจุบันเหลือเพียงองค์เดียวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์

2.  อุโบสถ
     พระอุโบสถของวัดญาณเสนที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาผุพังลงไปมาก ทางวัดได้สร้างอุโบสถขึ้นใหม่บนฐานเดิมในปี พ.ศ.2487 ทำให้ฐานของพระอุโบสถยังคงมีโค้งสำเภา อันเป็นศิลปะอยุธยาหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้องค์พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ ยังสร้างเลียนแบบศิลปะอยุธยาหลายส่วน เช่น ช่องแสง (แทนที่จะเป็นหน้าต่าง) เหนือช่องแสงมีซุ้มพระ และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ แต่ไม่ครบทุกซุ้ม

3.  พระพุทธรุปโบราณ
     ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปโบราณสามองค์ประดิษฐานอยู่ ได้แก่ พระประธานองค์กลาง ซึ่งเป็นองค์ที่ใหญ่ที่สุด และพระพุทธรูปอีกสององค์ขนาบซ้ายขวา ทั้งสามองค์ล้วนเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรประนมมืออยู่ข้างพระพุทธรูป
     พระพุทธรูปปางมารวิชัยสามองค์นี้ นับเป็นสัญลักษณ์ของวัดญาณเสนที่มักจะอยู่ด้านหลังพระเหรียญหรือวัตถุมงคลของทางวัดร่วมกับธรรมจักรเสมอ.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ที่มาของข้อมูลหลักจาก. qrcode.finarts.go.th,โดยนางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ เป็นผู้ค้นคว้าเรียบเรียงวันที่เข้าถึง 18 กุมภาพันธ์ 2563.
02. จาก. talontiew.com, วันที่เข้าถึง 18 กุมภาพันธ์ 2563.
03. จาก
กรมศิลปากร. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์. ชำระครั้งที่ 2. 2506.  หน้า 15.

 
info@huexonline.com