MENU
TH EN
Hero Image: พระกร (แขน) พระพุทธรูปศิลาปางไสยาสน์ สมัยทวารวดี ที่วัดธรรมจักรเสมาราม ต.เสมา อ.สูงเนิน โคราชในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2512
เมืองเสมา ตอนที่ 2
First revision: Jan.23, 2020
Last change: Jan.05, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

ประวัติการสร้าง
     พระพุทธไสยาสน์หรือพระนอน เป็นพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ สลักจากหินทรายแดงขนาดใหญ่ เป็นศิลปะแบบทวารวดีที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีอายุราวๆ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว ถือเป็นพระนอนเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ประดิษฐาน ณ วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ในบริเวณรอบๆ ยังค้นพบเสมาธรรมจักรหินทรายด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเสมาแบบเดียวกันกับเสมาที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
พระนอนหินทราย หรือพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพานสมัยทวารวดีนี้ เป็นการนำหินทรายมาประกอบกันขนาดของพระนอนยาวถึง ๑๓.๓๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร พุทธลักษะหันพระเศียรไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์หันไปทางทิศตะวันออกในส่วนของพระพักตร์ใช้หินทรายสี่ก้อนประกอบวางซ้อนกันแล้วจึงสลักเป็นรูปวงพระจันทร์จึงทำให้มีลักษณะค่อนข้างเหลี่ยมและกว้าง ทรงแย้มพระสรวลที่มุม พระโอษฐ์ชี้ขึ้น พระขนงสลักเป็นสันนูนรูปปีกกา พระเนตรเหลือบลงตํ่า พระนาสิกแบน ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอย พระหัตถ์ขวารองอยู่ใต้พระเศียร ครองจีวร ปลายพระบาทเสมอกัน ประดิษฐานอยู่ในอาคารก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต่อมาได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมขอม จึงมีการก่อสร้างและบูรณะเพิ่มเติม วัดธรรมจักรเสมาราม เป็นวัดเล็ก ๆ เรียบง่ายและสงบ แต่มากด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะในอดีตเรียกบริเวณเมืองดังกล่าวว่า เมืองโคราฆปุระ ต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็นเมืองโคราช อันเป็นต้นกำเนิดเมืองโคราชหรือนครราชสีมาในปัจจุบัน เพราะที่นี่มีการพบธรรมจักรโบราณที่เหมือนกับเสมาธรรมจักรที่นครปฐมด้วย และไม่ไกลนักยังมี โบราณสถานที่เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ คือ ปราสาทหินเก่าแก่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้แก่ ปราสาทหินเมืองแขก ปราสาทหินโนนกู่ เป็นที่มาหรือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกขานเมืองโคราช หรือนครราชสีมาในปัจจุบัน
คติความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้อง
พระพุทธไสยาสน์ วัดธรรมจักรเสมาราม เป็นพระนอนเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและทางพุทธศาสนา ที่นักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนให้ความสนใจมาสักการะ ในช่วงเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วัดธรรมจักรเสมารามเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่หนาแน่นไปด้วยผู้คนที่เดินทางมานมัสการพระนอนเก่าแก่โบราณองค์นี้
ข้อมูลจาก - สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น (cac.kku.ac.th)
-----------------------------------------
พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนหินทราย
พระนอนหินทราย (โบราณ) อายุกว่า 1300 ปี ที่วัดธรรมจักรเสมาราม ตั้งอยู่ที่ บ้านคลองขวาง ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน แต่เดิมบริเวณนี้เป็นศาสนสถานในสมัยทราวดี มีโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ก่อด้วยหินทรายที่มีความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร สร้างขึ้นในสมัยทวาราวดี พ.ศ.1200 ที่วัดแห่งนี้ยังมีธรรมจักรเก่าแก่ ลักษณะเหมือนเสมาธรรมจักร ที่ขุดพบที่จังหวัดนครปฐม พระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ สลักด้วยหินทรายแดง ขนาดใหญ่หลาย ๆ ก้อน ประกอบกัน
พระนอนหินทราย เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จปรินพพาน มีพุทธลักษณะแบบทวาราวดี พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันออกตามขนบของศาสนสถานในศาสนาพุทธ ในส่วนของพระพักตร์ใช้หินทรายแดงสี่ก้อนวางประกอบซ้อนกัน แล้วจึงสลักเป็นรูปวงพระพักตร์ ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกว้างทรงแย้มพระสรวลที่มุมพระโอษฐ์ชี้ขึ้น ส่วนพระศอเป็นหินทรายทรงกลมหนึ่งก้อน หนาประมาณ 35 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 90 เซนติเมตร และพระวรกายประกอบด้วยหินทรายขนาดใหญ่หลายก้อน พระนอนหินทรายเป็นพุทธลักษณะที่เป็นศิลปะทวารวดี ซึ่งเป็นยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์
ปี พ.ศ.2533 กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่ง และบูรณะขึ้น เนื่องจากเกิดการแตกหัก และผุพัง ต่อมา ปี พ.ศ. 2538 ได้มีการสร้างอาคารและหลังคาคลุมองค์พระนอน เพื่อกันแดด กันฝน องค์พระนอนประดิษฐานอยู่ที่ วัดธรรมจักรเสมาราม ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นวัดเล็ก ๆ เรียบง่าย และสงบ แต่มากด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะในอดีตเรียกบริเวณเมืองดังกล่าวว่า เมืองโคราฆปุระ ต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็นเมืองโคราช อันเป็นต้นกำเนิดเมืองโคราชหรือนครราชสีมาในปัจจุบัน
เพราะที่นี่มีการพบธรรมจักรโบราณที่เหมือนกับ เสมาธรรมจักรที่นครปฐมด้วย และไม่ไกลนักยังมี โบราณสถานที่เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ คือ ปราสาทหินเก่าแก่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แก่ ปราสาทหินเมืองแขก ปราสาทหินโนนกู่
โบราณสถานใกล้เคียง
ปราสาทหินเมืองเก่า, ปราสาทหินเมืองแขก, ปราสาทหินโนนกู่ เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ คือ โรคยาศาสตร์ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมรทรงสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.1728 - 2763 สร้างด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ที่วัดเมืองเก่า ตำบลโคราช
ข้อมูลจาก - สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดนครราชสีมา (pr.prd.go.th)
-------------------------------------------------------
ภาพจาก - หนังสือ โบราณคดี นครราชสีมา


       เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ.2446 (ร.ศ.122) รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเป็นพระบรมโอรสาธิราช, สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และกรมหลวงนครราชสีมา เสด็จประพาสอำเภอสูงเนินทางรถไฟ และทรงม้าไปที่ว่าการอำเภอสูงเนิน  ต่อจากนั้นก็ทรงม้าต่อไปยังเมืองโบราณเสมา ปราสาทโนนกู่ เมืองแขก เมืองเก่า และทรงม้ากลับพระนครที่สถานีรถไฟกุดจิก.

      ภาพและข้อมูลจาก Facebook เพจ Pornnipa Chakatoke ลงภาพและแสดงข้อมูลไว้เมื่อ 4 มกราคม พ.ศ.2560, วันที่สืบค้น 5 มกราคม 2567, ใคร่ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จทรงม้าประพาสอโรคยาศาล ปราสาทเมืองเก่า ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ.2446 (ร.ศ.122)


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จทรงม้าประพาสอโรคยาศาล ปราสาทเมืองเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ในภาพขณะเสวยบริเวณใต้ต้นพิกุล ข้างปราสาทเมืองเก่า เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ.2446 (ร.ศ.122)


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จทรงม้าประพาสเมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ทรงฉายพระรุป ณ ศิลาจารึกบ่ออีกา ที่บ่อน้ำชื่อบ่ออีกา เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ.2446 (ร.ศ.122)


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จทรงม้าประพาสเมืองโบราณ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ.2446 (ร.ศ.122)


 
info@huexonline.com