MENU
TH EN
Title Thumbnail: ภาพปรางค์ประธาน ปราสาทหินพิมาย, ถ่ายไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2563, Hero Image: จารึกวัดจงกอ, ที่มา: db.sac.or.th, วันที่เข้าถึง 22 ธันวาคม 2562.  
เมืองพิมาย ตอนที่ 1
First revision: Dec.22, 2019
Last change: Jan.10, 2024


     เมืองวิมายปุระ หรือ พิมาย เป็นศูนย์กลางของแคว้นมหิธรปุระ และมีเมืองพนมรุ้ง เป็นเมืองสำคัญของแคว้น
     แคว้นมหิธรปุระเป็นแคว้นสำคัญของอาณาจักรกัมพูชาสมัยพระนคร ด้วยมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน มีอำนาจต่อรองทางการเมือง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ กษัตริย์ของแคว้นมหิธรปุระ สามารถยกทัพเข้าแย่งชิงราชสมบัติเมืองพระนครศรียโศธรปุระได้หลายพระองค์ เช่น พระเจ้าสุริยวรมเทวะที่ 1 พระเจ้าสุริยวรมเทวะที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 เป็นต้น

     จากจารึกหลักนี้ (จารึกวัดจงกอ ต.บ้านเก่า อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา) ที่ค้นพบนานแล้ว และปัจจุบันยังคงปักอยู่ที่ฐานชุกชีบริเวณขวามือของพระพุทธรูปในพระอุโบสถ
     จารึกมีสองด้าน เนื้อหาโดยสรุปกล่าวว่า พ.ศ.1551 พระเจ้าชัยวีรวรมเทวะทรงออกโองการให้ขุนนางทั้งหลายไปปักที่ดินกัลปนาแก่พระกมรเตงวิมาย ทั้งนี้เพื่อให้พระกุศลแก่พระองค์


ขอกล่าวถึงพัฒนาการ ลำดับความเจริญ การพัฒนาเครื่องมือของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนอิสาน โดยสังเขปดังนี้

โลหกรรม02.
     มีการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่ทำการเพราะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ อายุกว่า 5,000 ปีมาแล้ว อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่มีเทคโนโลยีด้านโลหกรรม จากลักษณะรูปแบบผลผลิต ทำให้ทราบถึงกระบวนการผลิตโลหกรรมแบบสำริด เนื่องด้วยสำริดเป็นแร่ที่ผ่านกระบวนการหลอมเหลวกันระหว่างดีบุกกับทองแดง รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุสำริดในรูปแบบต่าง ๆ
     วิธีการหล่อสำริด
     - เทสำริดลงบนแม่พิมพ์แบบประกบคู่ แม่พิมพ์ทำจากหินทรายและดินเผา
     - วิธีสูญขี้ผึ้ง คือ การเทสำริดลงพิมพ์ที่มีขี้ผึ้งสอดไส้กลาง สำริดจะเข้าไปแทนที่ขี้ผึ้ง
     - ใช้แม่พิมพ์ดินเผาหลายอันประกอบเข้าด้วยกัน แล้วทำการหล่อโลหะ




ปราสาทหินพิมาย01
     ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมของกัมพูชาโบราณที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในดินแดนไทย ทั้งจากความกว้างใหญ่ ความสวยงาม และความลงตัวของการออกแบบ

ที่มา: proud-siam.blogspot.com, วันที่เข้าถึง 03 มกราคม 2563.

        ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างปราสาทหินพิมายกับปราสาทหินพนมรุ้ง03.
     ปราสาทหินพิมาย  ปราสาทหินพนมรุ้ง
   ที่ตั้ง  ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล  ตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
   ส่วนสูงจากฐานถึงส่วนยอด  28 เมตร  27 เมตร
   นาคประดับราวสะพาน  นาคเจ็ดเศียร  นาคห้าเศียร
   องค์ประธาน, ศาสนา  พระนาคปรก ประสาทหินพิมายสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถาน นิกายมหายาน  ศิวลึงค์ ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย
   ประเภทหินที่ก่อสร้าง  หินทรายสีขาว  หินทรายสีชมพู
   หน้าบันปราสาทประธาน  ศิวนาฏราช  ศิวนาฏราช
   ทิศที่หันหน้าของปราสาทประธาน  ทิศใต้  ทิศตะวันออก


     คำว่า "พิมาย" น่าจะเป็นคำเดียวกันกับ "วิมาย" ตามที่ปรากฎอยู่ในจารึกบนกรอบประตูของโคปุระทิศใต้ นอกจากนี้คำว่า "วิมาย" ยังปรากฎอยู่ในจารึกหลักอื่น ๆ เช่น จารึกปราสาทพระขรรค์กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างบ้านมีไฟหรือบ้านพร้อมไฟ (วหนิคฤหะ) ขึ้นระหว่างทางจากเมืองพระนครสู่ "เมืองวิมาย"
     ปราสาทพิมายที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา จากนั้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 จึงมีการปฏิสังขรณ์และสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมอีก
     อย่างไรก็ตาม จากการขุดค้นทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่าใต้ปราสาทประธานที่เห็นในปัจจุบัน เคยมีปราสาทก่ออิฐอยู่อีก 1 องค์ นั่นย่อมหมายความว่าสถานที่นี้เป็นศาสนสถานมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีการปรับปรุงให้มีขนาดใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
     ปราสาทหินพิมายตั้งอยู่กลางเมืองพิมาย หันหน้าไปสู่ทิศใต้ ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าหันไปสู่เส้นทางที่ตัดมาจากเมืองพระนคร ปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางศาสนสถาน ประกอบด้วยครรภคฤหะ อันตราละ และมณฑปต่อยื่นออกมาทางด้านหน้า ใกล้ ๆ กันนั้นมีสิ่งก่อสร้างที่สันนิษฐานว่าเพิ่มเติมขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7 คือ หอพราหมณ์ ปรางค์หินแดง และปรางค์พรหมทัต ภายในปรางค์พรหมทัตนี้ มีการค้นพบรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วย
     ปราสาทประธานและอาคารอื่น ๆ ข้างต้นล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีโคปุระอยู่ทั้งสี่ทิศ ถัดออกไปเป็นแนวกำแพงที่มีโคปุระอยู่ทั้งสี่ทิศเช่นกัน พื้นที่ว่างระหว่างระเบียงคดกับแนวกำแพงมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ อยู่อีกได้แก่ ชาลายกพื้นหรือทางเดินเชื่อมระหว่างโคปุระทิศใต้ของระเบียงคด กับโคปุระทิศใต้ของกำแพงเข้าด้วยกัน และอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัย.
     สิ่งที่โดดเด่นสำหรับศาสนสถานหลังนี้ได้แก่ การสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายให้แก่พุทธศาสนามหายานสกุลหรือนิกายวัชรยาน ดังเห็นได้จากภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ปรากฎตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาท รวมทั้งทับหลังเหนือทางเข้าห้องครรภฤหะทั้งสี่ด้าน ซึ่งถือว่าเป็นทับหลังชิ้นสำคัญที่สุดที่สามารถบอกได้ว่าปราสาทองค์นั้น ๆ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาใด โดยทับหลังเหนือทางเข้าครรภคฤหะทิศใต้สลักพระพุทธรูปนาคปรกขนาบข้างด้วยแถวพระพุทธรูปสมาธิ ทับหลังทิศตะวันตกสลักพระพุทธเจ้าภายใต้ร่มไม้ ทิศเหนือสลักภาพพระวัชรสัตว์ ซึ่งเป็นรูปเคารพที่นับถือกันมากในนิกายวัชรยาน ทิศตะวันออกสลักรูปไตรโลกยวิชัย.
     อย่างไรก็ตามบางส่วนของปราสาทหินพิมายก็ปรากฎเรื่องเล่าในศาสนาฮินดูด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องรามาวตาร สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่าปราสาหินพิมาย สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนามหายานนิกายหรือสกุลวัชรยาน แต่ก็มิได้รังเกียจเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ถือได้ว่าเป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาทั้งสอง.
     สำหรับจารึกที่พบจากปราสาทหินพิมายได้ในข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทองค์นี้เป็นอย่างดี ที่สำคัญได้แก่ จารึกปราสาทพินพิมาย 2 ปรากฎศักราชอยู่สองแห่ง ศักราชแรกตรงกับ พ.ศ.1579 ศักราชที่สองตรงกับ พ.ศ.1589 เริ่มต้นด้วยบทบูชาพระพุทธเจ้า และกล่าวสรรเสริญพระเจ้าสูริยวมเทวะที่ 1 (พ.ศ.1545-1593)
     จารึกที่สำคัญที่สุดได้แก่ จารึกปราสาทหินพิมาย 3 จารึกลงบนวงกบประตูของโคปุระทิศใต้ เมื่อ พ.ศ.1655 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าธรณีนทวรมเทวะที่ 1 (พ.ศ.1650-1656) เนื้อความกล่าวย้อนกลับไปใน พ.ศ.1651 ว่าพระกมรเตงอัญศรีวีเรนทราธิบดีวรมะ แห่งเมืองโฉกวะกุล สร้างรูปกมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย ซึ่งเป็นเสนาบดีของกมรเตงชคตวิมาย ประดิษฐานไว้ ณ ปราสาทแห่งนี้ พร้อมกันนี้ได้จัดสรรที่ดินให้คนอยู่อาศัย (กัลปนา) ขุดสระน้ำ ปักเขตแดนของที่ดินเหล่านั้น หลังจากนั้นใน พ.ศ.1652 มีการเฉลิมฉลอง และมอบข้าพระเพิ่มเติมให้แก่กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย.

พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7: ศิลปะลพบุรีร่วมสมัยกับศิลปเขมรแบบบายน พศว.ที่ 18 พบที่ปรางค์พรหมทัต ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา
ถ่ายไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เมื่อ 19 กรกฎาคม 2563.

"โรคทางร่างกายของประชาชนนี้    เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง
เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร     แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์
แต่เป็นทุกข์ของเจ้าเมือง"
"ILL HEALTH IF THE PEOPLE IS THE DEEPEST MENTAL SUFFERING.
BECAUSE UNHAPPINESS OF THE PEOPLE, ALTHOUGH IT IS NOT
THE KING'S TROUBLE, IT IS THE GREAT ANXIETY OF THE RULER"




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. ข้อมูลหลักมาจาก: ผศ.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, "ปราสาทขอมในดินแดนไทย: ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ" ISBN 974-020-191-5, สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ, 2551, หน้าที่ 129-135
02. รายละเอียดนิทรรศการ ณ
ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เมื่อ 19 กรกฎาคม 2563.
03. ข้อมูลเผยแพร่ของกรมศิลปากร, Facebook เพจ "อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง (หน่วยงานราชการ) - Phimai Historical Park," วันที่เข้าถึง: 10 มกราคม 2567.



PHTO GALLERY:
ภาพที่ 01-03: ปราสาทหินพิมาย ถ่ายเมื่อ 2 ก.พ.2491 โดย ดร.โรเบิร์ต ลาริเมอร์ เพนเดลตัน, ที่มา: Facebook ห้อง "บันทึกประวัติศาสตร์", วันที่เข้าถึง 22 เมษายน 2563.
ภาพที่ 04: ปรางค์ประธาน ปราสาทหินพิมาย, ถ่ายไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2563.
ภาพที่ 05:
พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7: ศิลปะลพบุรีร่วมสมัยกับศิลปเขมรแบบบายน พศว.ที่ 18 พบที่ปรางค์พรหมทัต ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ถ่ายไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เมื่อ 19 กรกฎาคม 2563.
 

PHOTO
GALLERY
humanexcellence.thailand@gmail.com