MENU
TH EN

019. โบราณสถานสระโกสินารายณ์ (ศัมพูกะปัฏฏนะ) - จังหวัดราชบุรี

019. โบราณสถานสระโกสินารายณ์ (ศัมพูกะปัฏฏนะ01) - จังหวัดราชบุรี01.
First revision: Jun.10, 2022
Last change: Aug.11, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       เมืองโบราณโกสินารายณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง-ยาวประมาณด้านละ 960 เมตร กำแพงเมืองเป็นคันดินสูงประมาณ 60 ซม. นอกกำแพงทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า "สระโกสินารายณ์" ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกชื่อเมืองว่า "เมืองโกสินารายณ์" ตามชื่อสระน้ำ ภายในเมืองมีซากโบราณสถาน สภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 85 เมตร ยาว 100 เมตร สูง 1 เมตร เรียกกันว่า "จอมปราสาท".

     กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานจอมปราสาท ในปี พ.ศ.2509 สันนิษฐานได้ว่ารูปทรงของอาคารจะเป็นปรางค์ ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลงมีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ พบโบราณวัตถุส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมเช่น กรอบประตู ทับหลังและกลีบขนุน ซึ่งทำจากหินทรายแดง และประติมากรรมรูปเคารพ ที่สร้างขึ้นในศิลปะกัมพูชาโบราณแบบบายน พศว.18 จากการดำเนินงานทางโบราณคดีครั้งนี้ ได้ขุดค้นพบประติมากรรมหินทรายรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ที่บริเวณมุขด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ ลักษณะของพระโพธิสัตว์องค์นี้ เป็นรูปเคารพที่นิยมอย่างมากในรัชสมัยของพระเจ้าชยวรมเทวะที่ 7 แห่งอาณาจักรกัมพูชาโบราณ01.

     พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่พบ มีขนาดสูง 155 ซม.สลักจากหินทราย มีแปดกร พระหัตถ์ พระเศียร และพระบาทหักหาย พระวรกายตอนบนมีรูปพระอมิตาภะ (พระพุทธรูปปางสมาธิ) ขนาดเล็กติดอยู่รอบพระอุระ ที่ปั้นพระองค์มีรูปนางปรีชญาปารมิตา ถือดอกบัวติดอยู่สามองค์ พระวรกายเบื้องล่างทรงผ้าโจงกระเบนสั้น มีราชผ้ารูปหางปลาห้อยอยู่ด้านหน้า ทรงปั้นเหน่งลวดลายดอกไม้มีอุบะรูปใบไม้เล็ก ๆ ห้อยอยู่ใต้แนวเข็มขัด อันเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะกัมพูชาโบราณแบบบายน (พศ.18)01.
---------------

01. คำว่า ศัมพูกะ สันนิษฐานว่ามาจาก ฤๅษีวรรณศูทรท่านหนึ่งชื่อ ศัมพูกะมุนี (शम्बूक - Śambūka) ปรากฎในมหากาพย์รามายณะ ในอุตตรกัณฑ์ รายละเอียดดูในหมายเหตุหน้าที่ 6 ของ B01. โลกของมหาฤๅษีวาลมีกิ: ภูมิหลังรามายณะ


แหล่งอ้างอิง:
01. จาก. Facebook เพจ "สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี," อ้างถึง อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์, วันที่เข้าถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565
info@huexonline.com