Title Thumbnail: ทับหลังทางเข้าประตูด้านหน้าของปราสาท เป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, Hero Image: แบบจำลองปราสาทกู่กาสิงห์ ภายในสำนักงานศิลปากรที่ 9 ด้านข้างของปราสาทกู่กาสิงห์, วันที่เข้าถึง 17 มิถุนายน 2565.
029. ปราสาทกู่กาสิงห์ - อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด01.
First revision: Jun.08, 2022
Last change: Jul.08, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และตรวจทานโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลกู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดบูรพากู่กาสิงห์ ลักษณะเป็นปราสาทอิฐสามหลัง สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกบนฐานศิลาแลงเดียวกัน.
ชื่อ "กู่กาสิงห์" ประกอบด้วยคำว่า "กู่" ที่ชาวบ้านในภาคอีสานใช้เรียกปราสาทในวัฒนธรรมกัมพูชาโบราณ ส่วนคำว่า "กา" อาจหมายถึง "อีกา" ซึ่งในอดีตบริเวณนี้มีอีกาอยู่เป็นจำนวนมาก ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าตอนเย็นมักจะมีอีกาจำนวนมาก พากันมานอนที่หนองน้ำเรียกว่า หนองกานอน ส่วนคำว่า "สิงห์" อาจมาจากประติมากรรมรูปสิงห์ 2 ตัวที่เคยตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้า ซึ่งประติมากรรมรูปสิงห์ถูกขโมยไปในช่วง พ.ศ.2503 แต่ชาวบ้านยังเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า "กู่กาสิงห์" สืบมาจนปัจจุบัน.
ในกลุ่มปราสาทประธานสามองค์นั้น ตั้งอยู่บนฐานไพที ปราสาทประธานมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีมณฑปต่อยื่นออกมาทางด้านหน้า ทับหลังปราสาทกู่กาสิงห์ แสดงให้เห็นว่าปราสาทนี้สร้างในช่วงศิลปะแบบบาปวน หน้ากาลอยู่ต่ำลงมาชิดขอบล่าง คลายท่อนพวงมาลัยออก เหนือหน้ากาลมีรูปเทพเจ้า มีภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

ทับหลัง ด้านในปราสาทประธานด้านซ้าย เป็นภาพสลักพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประทับเหนือหน้ากาล, ถ่ายไว้เมื่อ 17 มิถุนายน 2565.
ภายในปราสาทกู่กาสิงห์, ถ่ายไว้เมื่อ 17 มิถุนายน 2565.
รูปแบบการก่อสร้าง
ปราสาทกู่กาสิงห์มีผังการก่อสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงแก้วล้อมรอบประกอบด้วย
1. กลุ่มปราสาทประธาน ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปราสาทประธานอยู่ตรงกลางมีมุขกระสันเชื่อมกับมณฑป มีประตูและบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ถัดเข้าไปเป็นห้องครรภคฤหะประดิษฐานศิวลึงค์ ทำจากหินทรายสีเขียวสภาพสมบูรณ์ และมีประติมากรรมโคนนทิตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทประธานองค์กลาง ส่วนปราสาทด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นเพียงห้องครรภคฤหะสำหรับประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพ.
2. บรรณาลัย ตั้งอยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อสร้างด้วยศิลาแลง โดยสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตกทั้งสองหลัง.
3. โคปุระ (ซุ้มประตู) ก่อด้วยศิลาแลงผสมอิฐทั้งสี่ด้าน แต่สามารถใช้เข้าออกเฉพาะด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก
จากการขุดแต่งปราสาทกู่กาสิงห์ ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก โดยเฉพาะในแบบศิลปะกัมพูชาโบราณสมัยบาปวน อาทิ.
- ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนหน้ากาลศิลปะกัมพูชาโบราณแบบบาปวน
- พระพิฆเณศ
- เศียรหินทราย
- แผ่นทองคำรูปดอกบัวแปดกลีบ (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด)
- เครื่องประดับทองคำนาคห้าเศียร (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด)
- โคนนทิ
- คานสำริดนาคสามเศียร ศิลปะกัมพูชาโบราณ สมัยเมืองพระนคร (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด)
อายุสมัย/เอกลักษณ์
กำหนดอายุจากทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เป็นศิลปะกัมพูชาโบราณแบบบาปวน อายุราวครึ่งหลัง พศว.ที่ 16 สอดคล้องกับหลักฐานที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถาน มีรูปแบบศิลปะร่วมสมัยกับตัวโบราณสถาน จึงสันนิษฐานว่ากู่กาสิงห์สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 และโบราณสถานแห่งนี้ ได้ใช้งานเรื่อยมาจนกระทั่งถึง พศว.ที่ 17-18 (สมัยเมืองพระนคร-บาปวน) เนื่องจากได้ค้นพบเครื่องถ้วยชาม และชิ้นส่วนยอดคานหามรูปเศียรพญานาคศิลปะกัมพูชาสมัยเมืองพระนคร รวมถึงกู่กาสิงห์น่าจะเกี่ยวข้องกับโบราณสถานอีก 2 แห่งที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ กู่โพนวิจ (ราว พศว.ที่ 16 ศิลปะสมัยคลัง-บาปวน) และกู่โพนระฆัง (ราว พศว.ที่ 18 ศิลปะสมัยบายน).
ในช่วง พศว.ที่ 18 สันนิษฐานว่า ชุมชนได้รื้อศิลาแลงจากกู่กาสิงห์บางส่วน (ด้านกำแพงแก้วทิศเหนือ) ไปใช้ก่อสร้างกู่โพนระฆัง เพื่อเป็นอโรคยศาล แสดงให้เห็นถึงการหมดความสำคัญของลัทธิไศวนิกายในชุมชนแห่งนี้ และหันมานับถือพระพุทธศาสนา นิกายมหายานแบบบายน.
เอกลักษณ์ของกู่กาสิงห์ คือ เป็นกลุ่มปราสาทอิฐสามหลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ซึ่งมักพบในปราสาทกัมพูชาโบราณที่มีอายุหลัง พศว.ที่ 15 ลงมา โดยมีความแตกต่างออกไปจากการวางผังอโรคยศาล ที่สร้างขึ้นใน พศว.ที่ 18.
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. แผ่นพับ "กู่กาสิงห์", จากสำนักงานย่อยประจำปราสาทกู่กาสิงห์ สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี, วันที่เข้าถึง 17 มิถุนายน 2565.