MENU
TH EN

041. กู่เปือยน้อย หรือ พระธาตุกู่ทอง - จ.ขอนแก่น

Title Thumbnail: หน้าบันด้านในของกู่เปือยน้อย แสดงภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, Hero Image: ทับหลังของบรรณาลัยด้านใน แสดงภาพหงส์คู่หมายถึงความรักนิรันดร์เหนือหน้ากาล, ถ่ายไว้เมื่อ 16 มิถุนายน 2565.
041. กู่เปือยน้อย หรือ พระธาตุกู่ทอง - จ.ขอนแก่น01.
First revision: Jun.04, 2022
Last change: Jun.26, 2022

       กู่เปีอยน้อย หรือ ปราสาทเปือยน้อย หรือ พระธาตุกู่ทอง (กู่ หมายถึง สถูปขนาดเล็ก, เปีอย ภาษาอิสาน หมายถึง ต้นตะแบก) ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 บ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น เป็นปราสาทที่ไม่ใหญ่โตนักเมื่อเทียบกับปราสาทหินพิมาย หรืออีกหลายแห่งที่พบทางอีสานตอนใต้ แต่ก็นับเป็นปราสาทกัมพูชาโบราณที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดขอนแก่น02 สันนิษฐานว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานประกอบพิธีกรรม ประกอบด้วยกลุ่มปราสาท 4 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลง และตั้งบนฐานศิลาแลง หินทรายและอิฐ โดยมีกำแพงแก้วเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบอีกชั้น ซึ่งภายในกำแพงแก้วยังมีบรรณาลัยทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่าจะเป็นที่ไว้เก็บคัมภีร์พระเวท และคัมภีร์อื่น ๆ . ส่วนภายนอกกำแพงแก้วมีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ จากซุ้มประตูทิศตะวันออกมีแนวทางเดินเชื่อมต่อกับ "สระวงษ์" ซึ่งเป็นบารายหรือสระน้ำโบราณ03.
 

ทับหลังหน้าปราสาทประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือวิษณุอนันตศายิน, ถ่ายไว้เมื่อ 16 มิถุนายน 2565.

       นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าศิลปะของกู่เปือยน้อยนี้ ผสมผสานระหว่างศิลปะสมัยบาปวนและสมัยเมืองพระนครรวมกัน ผังการก่อสร้างหมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นแกนกลางของจักรวาล หมายถึงที่สถิตของเหล่าบรรดาทวยเทพทั้งหลาย หน้าบันขององค์ปรางประธานสลักเป็นรูปนาคราชมีลวดลายสวยงามสะดุดตา ทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับตัวปราสาทคาดการณ์ว่าน่าจะมีอายุประมาณ 800 ปี สำหรับปราสาทเปือยน้อย หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า " พระธาตุกู่ทอง " เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป ซึ่งชาวอำเภอเปือยน้อยจะจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองปราสาททุกปีในช่วงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยจะมีพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณีผูกเสี่ยวอันขึ้นชื่อของชาวขอนแก่น และการแสดงเชิงประวัติศาสตร์ แสงสีเสียงอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาตลอดช่วงเทศกาล.
แผ่นหน้าบันรูปพระอิศวรและพระนางอุมา (ชายา) ประทับนั่งอยู่บนโคนนทิ หรือที่เรียกกันว่า "อุมามเหศวร", ถ่ายไว้เมื่อ 16 มิถุนายน 2565.
 
       ปราสาทประธานองค์กลางพบจารึกอักษรกัมพูชาโบราณกล่าวถึงการบูชายัญ และเอ่ยถึงนามฤๅษีไวสัมปายนะ นอกจากนี้ยังพบแผ่นทับหลังนารายณ์บรรทมสินทธุ์ แผ่นทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แผ่นทับหลังรูปคชลักษมี แผ่นหน้าบันรูปพระอิศวรและพระนางอุมา (ชายา) ประทับนั่งอยู่บนโคนนทิ หรือที่เรียกกันว่า "อุมามเหศวร" รวมทั้งพบจารึกอักษรกัมพูชาโบราณบริเวณกรอบประตูด้านหน้าของปราสาทประธานเป็นต้น สันนิษฐานว่าเป็นศิลปกรรมของกัมพูชาโบราณศิลปะแบบบาปวน03. สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 และเสร็จสมบูรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 1702.

       กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 172 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2525 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 8 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา03.      



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับปรุงเพิ่มเสริมจาก. htpps://thai.tourismthailand.org, วันที่เข้าถึง 4 มิถุนายน 2565.
02. จาก. ป้ายอธิบายด้านหน้าของปราสาทเปือยน้อย, วันที่เข้าถึง 16 มิถุนายน 2565.
03. ปรับจาก. ป้ายด้านหน้าของปราสาทเปือยน้อย, วันที่เข้าถึง 16 มิถุนายน 2565.

 
humanexcellence.thailand@gmail.com