MENU
TH EN

043. ปราสาทหินพนมวัน - จ.นครราชสีมา

043. ปราสาทหินพนมวัน - จ.นครราชสีมา
First revision: Mar.10, 2022
Last change: Jun.13, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 
พราหมณ์ผู้มีนามว่า "นิรวาณ" (ในภาษาบาลีคือคำว่า นิพพาน) และนามเดิมของปราสาทหินพนมวัน

ในจารึกปราสาทหินพนมวัน 3 จ.นครราชสีมา ซึ่งจารขึ้นเมื่อศักราช 1004 (พ.ศ.1625) พระเจ้าชัยวรมเทวะ(ที่ 6) มีพระราชโองการให้พระกัมรเตงอัญลักษมีนทรวรมะ ซึ่งเป็นน้องร่วมท้องของพระกัมรเตงอัญภูเปนทรวรมะ ให้ช่วยกันดูแลรักษา "เทวาศรม" ร่วมกับขุนนางทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร ซึ่งพราหมณ์ที่ถูกระบุนามท่านหนึ่ง มีชื่อที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับ "นิรวาณ" หรือ นิพพาน (นิรวาณ เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า นิพพาน)

คำว่า นิรวาณ หรือ นิพพาน ไม่ได้ใช้เฉพาะในแง่มุมของศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ในศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็มีใช้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น พระนามหลังสวรรคต "นิรวาณบท" ของพระเจ้าสูรยวรมเทวะ (ที่ 1) จึงอาจไม่ได้หมายถึง "นิพพาน" ในความหมายของพุทธศาสนา

ในจารึกหลักนี้เรียกปราสาทหินพนมวันว่า "เทวาศรม" และเรียกเทพเจ้าผู้เป็นประธานแห่งปราสาทหินนั้นว่า "พระกัมรเตงชคัท เทวาศรม" (พระผู้เป็นเจ้าแห่งโลกนามว่าเทวาศรม)
01.
ข้าพเจ้ายังไม่มีเวลาสำรวจอย่างละเอียดว่า ชื่อเก่าก่อนของปราสาทหินพนมวันนั้น มีชื่อว่าอย่างไร

จารึกปราสาทหินพนมวัน 1 ซึ่งระบุปีตรงกับ พ.ศ.1433 มีพระนามกษัตริย์คือพระเจ้าอินทรวรมเทวะ และพระเจ้ายโศวรมเทวะ มีชื่อเมือง "ลิงคปุระ"

จารึกปราสาทหินพนมวัน 2 ระบุปีตรงกับ พ.ศ.1598 ซึ่งช่วงนี้อาจจะเป็นยุคสมัยที่เริ่มสร้างปราสาทหินพนมวันที่เราเห็นในปัจจุบัน เล่าย้อนตั้งแต่สมัยพระเจ้าสูรยวรมเทวะ (ที่ 1) มาจนถึงสมัยพระเจ้าอุทยาทิตยวรมเทวะ ปรากฎชื่อเมืองว่า "สุขาลัย"

ดูคร่าว ๆ แล้วคิดว่า ตัวเมืองน่าจะชื่อว่า "เมืองสุขาลัย" (สุขาลยปุเร รมฺเย - ในเมืองสุขาลัยอันน่ารื่นรมย์) ตามที่จารึกกล่าวถึงพระเจ้าสูรยวรมเทวะ (1) พระราชทานนาม "กฤตัชญวัลลภ" แก่ขุนนางผู้ภักดี และสร้างเทวรูปไว้ ณ ที่แห่งนี้

ส่วนที่เป็นศาสนสถานคือปราสาทหินพนมวันนั้นน่าจะเรียกว่า "เทวาศรม" ตามจารึกพนมวัน 301.

......
"ทับหลังศิลปะแบบปราสาทพะโค" จากปราสาทพนมวัน เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา

       ร่องรอยเก่าแก่ที่สุดของปราสาทพนมวัน จากหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็คงเป็น "จารึกพนมวัน 1 (K.1065)" สลักบนคานกรอบวงกบประตู ปราสาทอิฐขนาดใหญ่ นอกระเบียงคดของปราสาทพนมวันไปทางทิศใต้ ได้กล่าวถึงพระเจ้ายโศวรมเทวะที่ 1/พระกัมรเตงอัญยโศวรมเทวะ ในปีแรกหลังจากการขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.1433) พระราชโองการให้ข้าราชการอันประกอบด้วย โขลญพนม วาบโค โขลญวิษัยและวาบศรีประติปรัตยะ จัดพิธีกรรมบูชาไฟ (โหมกูณฑ์-โหมกุณฑ์) และดูแลพระตำหนัก/อาศรมดังที่เคยปฏิบัติมาในสมัยของพระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 1/พระกัมรเตงอัญอินทรวรมเทวะ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระองค์ ทั้งยังมีชิ้นส่วนจารึก (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์) ที่มีรูปแบบ/อายุ/ข้อความของตัวอักษรตรงกับจารึกประจำปราสาท "ยโศธราศรม" (Yasodharashrams) ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ายโศวรมเทวะที่มีการสร้างขึ้นนับ 100 แห่ง.

      ซึ่งจารึกนิรนามที่พบในจังหวัดนครราชสีมา (ไม่ระบุที่มา) นี้ อาจเกี่ยวพันกับฐานปราสาทอิฐยกฐานสูงขนาดใหญ่ที่พบจารึกกรอบประตูพนมวัน 1 แกนในฐานอัดดินเพื่อยกฐานสูงกว่าระดับโดยรอบ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14*14 เมตร มีสระน้ำด้านหน้าทางตะวันออก เคยเป็นปราสาทก่ออิฐหลังเดี่ยวขนาดสูงใหญ่ มีซุ้มประตู/ทับหลังทั้ง 4 ด้าน แบบเดียวกับปราสาทบริวารที่ปราสาทบากอง (ฺBakong) เมืองหริหราลัย (Hariharalaya) ที่อาจเคยเป็นยโศธราศรมในสมัยพระเจ้ายโศวรมเทวะที่ 1 .

       ในมุมมองเชิงศิลปะ จารึกนิรนามยังสอดรับกับทับหลังที่พบจากปราสาทพนมวัน 3 แผ่น มีลวดลายรูปศิลปะแบบบาเค็งที่นิยมในยุคพระเจ้ายโศวรมเทวะที่ 1 โดยทับหลังแผ่นหนึ่ง (จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย) ยังแกะสลักไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แสดงรูปพระวิษณุทรงครุฑยุดนาค ประกอบรูปบุคคบร่ายรำและรูปอมนุษย์เหนือรวย (ลำตัว) นาคโค้ง แผ่นที่ 2 เป็นรูปหน้ากาบคายรวยนาคโค้ง (ไม่ได้จัดแสดง) และยังมีอีกแผ่นหนึ่งที่ยังเริ่มแกะสลักบางส่วนวางอยู่ที่สำนักงานเก่าปราสาทพนมวัน เป็นรูปบุคคลนั่งท่ามหาราชาลีลาสนะบนสัตว์พระวาหนะ (พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ) มีรูปบุคคล (นักบวช?) นั่งบนฐานกำลังแสดงการถวายสิ่งของ (พระเพลิง?) ขนาบข้างทั้งสองฝั่ง.

       แต่กระนั้น ทับหลังและซากปราสาทอิฐขนาดใหญ่ รวมทั้งจารึกพนมวัน 1 ก็ยังมิใช่เทวาลัยอาศรมที่เก่าแก่ที่สุดในเขตปราสาทพนมวัน นั่นก็เพราะบริเวณภายในระเบียงคดของปราสาทพนมวัน ยังปรากฎปราสาทก่ออิฐขนาดใหญ่ 1 หลัง (ฝั่งทิศใต้) และขนาดเล็กอีก 7-8 หลัง ที่ทั้งหมดถูกรื้อถอนออกไปเมื่อมีการสร้างปราสาทแบบวิมานเชื่อมต่ออาคารมณฑปด้วยมุขกระสัน/อันตราละ (Antarala) ด้วยหินทรายขึ้นในยุคหลัง/กลางพุทธศตวรรษที่ 17 ซ้อนทับเข้าไปตรงกึ่งกลางของกลุ่มปราสาทเดิม.

       ฐานปราสาทก่ออิฐจำนวน 8 – 9 หลัง เป็นปราสาทพนมวันในยุคแรก ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 สอดรับกับจารึกพนมวัน 1 ที่ได้กล่าวถึงพระนามของพระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 1 ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้าการจารจารึกบริเวณปราสาทพนมวันเคยมีอาศรม/เทวาลัยและพิธีกรรมบูชาไฟมาแล้ว ซึ่งซากปราสาทอิฐของปราสาทยังจัดวางแผนผังตามคติ “อัษฏมูรติ” (Aṣṭa mūrti) หรือ มูรติทั้ง 8/พลังอำนาจทั้ง 8 แห่งพระศิวะ ที่จะสร้างเป็นปราสาทบริวาร 8 หลัง รอบปราสาทประธานแห่งมณฑลอย่างที่ปราสาทบากอง นครหริหราลัย (ร่อลั่ว/โลเลย/Roluos ในปัจจุบัน) เพื่อประดิษฐานพระศิวลึงค์ “อินทเรศวร” (Indraśvara) ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 1.

       นอกจากหลักฐานความในจารึกพนมวัน 1 รวมกับแผนผังการก่อสร้างที่สอดคล้องกับคติความเชื่อที่นิยมในช่วงเวลานั้น ยังมีหลักฐานในมุมมองทางศิลปะเป็นทับหลังแผ่นหนึ่ง จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ที่มีการแกะสลักลวดลายตามขนบแบบแผนปราสาทพระโค ที่ยังนิยมรูปหน้ากาลใหญ่เป็นประธานตรงกลาง คายพุ่มกระหนกใบไม้ม้วนและท่อนมาลัยดอกไม้ปลายนาคจำแลง 3 เศียร ซึ่งจัดได้ว่าเป็นงานศิลปะแบบปราสาทพระโค/แบบรุ่นแรกของเมืองพระนคร ที่แทบไม่พบในประเทศไทย ซึ่งทับหลังแผ่นนี้เคยเป็นทับหลังของปราสาทก่ออิฐหลังใดหลังใดหลังหนึ่งที่ถูกรื้อไปแล้วภายในระเบียงคดของปราสาทพนมวัน.

       นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนหน้าบันแบบจั่วสามเหลี่ยมปลายตวัดโค้ง โครงร่างงวง ตัวมกร ปลายพุ่มสามเหลี่ยมยอดแหลมมีเทพเจ้าร่ายรำในซุ้ม ซึ่งก็เป็นลวดลายและรูปแบบของหน้าบัน/ป้านลมของอาคารโปร่งที่ใช้เสาหินรองรับหลังคาเครื่องไม้ที่พบด้านหน้าปราสาทพระโค เมืองหริหราลัย ทั้งยังมีเสารับทับหลัง/เสาประดับกรอบประตูทรงกระบอกที่ล้วนเป็นศิลปะที่นิยมในช่วงพระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 1 เช่นเดียวกัน.

       ปราสาทอิฐในคติมูรติทั้ง 8 สอดรับยุคสมัยกับรูปศิลปะทับหลังแบบพระโค จึงเป็นปราสาทเทวาลัยรุ่นแรกของปราสาทพนมวัน ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 ทับหลังจากปราสาทยุคแรกของปราสาทพนมวันนี้ยังนับเป็นทับหลังแบบเขมรโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนครราชราชสีมาด้วย.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "Kang Vol Khatshima," วันที่เข้าถึง 10 มีนาคม 2565.
02. จาก. Facebook เพจ "Voranai Pongsachalakorn," วันที่เข้าถึง 13 มีนาคม 2565.
info@huexonline.com