Title Thumbnail: ปราสาทเมืองต่ำ ถ่ายจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาท ในช่วงบ่ายของวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ตามคำแนะนำของไกด์ที่กำลังบรรยายให้นักท่องเที่ยวทั่วไปว่าจุดนี้สวยงามที่สุด, Hero Image: เป็นทับหลังของโคปุระด้านทิศตะวันออก ด้านซ้ายของปราสาท เป็นรูปบุคคลสันนิษฐานว่าเป็นพระอินทร์ กำลังนั่งชันเข่า (ปางมหาราชลีลาสนะ) เหนือพระกาฬ (Kala) หรือหน้ากาล ซึ่งพระอินทร์เป็นเทพที่รักษาทิศตะวันออก, ถ่ายไว้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2563.
027. ปราสาทเมืองต่ำ - บุรีรัมย์01, 02.
First revision: Nov.21, 2020
Last change: Jun.15, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่หน้าวัดปราสามบูรพาราม ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ราว 64 กิโลเมตร ห่างจากปราสาทพนมรุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร. ปราสาทเมืองต่ำ เป็นศาสนสถานศิลปะเขมรแบบบาปวน ก่อสร้างแต่งเติมกันเรื่อยมาในช่วงประมาณ พ.ศ.1551-1630 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 16-17.
ปราสาทเมืองต่ำ สร้างขึ้นตามแบบอิทธิพลศิลปะเขมร มีลักษณะเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย (Shaivism) โดยสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะหรือพระอิศวรมีอายุประมาณ 900 ปีมาแล้ว ก่อสร้างด้วยวัสดุ 3 ชนิด คือ อิฐ หินทรายและศิลาแลง แผนผังโดยรวมหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยสิ่งสำคัญดังนี้
1. กำแพงแก้ว เป็นแนวกำแพงชั้นนอกของโบราณสถาน ก่อสร้างด้วยศิลาแลง สูงประมาณ 2.70 เมตร ล้อมรอบโบราณสถานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 120*127 เมตร บริเวณกึ่งกลางของแนวกำแพงทั้ง 4 ด้าน ก่อสร้างเป็นซุ้มประตู (โคปุระ) ด้วยหินทรายเป็นประตูทางเข้า - ออกของโบราณสถาน.
2. สระน้ำ 4 สระ ขุดเป็นรูปหักมุม (รูปตัว L) ตามแนวของกำแพง ก่อเรียงด้วยศิลาแลงเป็นขั้นบันไดลงไปถึงก้นสระ ขอบสระด้านบนแกะสลักด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาค โดยมีนาค 5 เศียรอยู่ที่มุมสระ สระน้ำทั้ง 4 สระนี้ อาจใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นสัญลักษณ์ของมหาสมุทรทั้งสี่ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ.
3. ระเบียงคด เป็นแนวกำแพงชั้นในของโบราณสถาน ก่อสร้างด้วยหินทรายเชื่อมต่อกันโดยรอบ ล้อมรอบกลุ่มปราสาทอิฐ ภายในห้องกว้างประมาณ 2 เมตร พื้นปูด้วยศิลาแลง ที่บริเวณกึ่งกลางระเบียงคดทุกด้าน ก่อสร้างเป็นซุ้มประตูในแนวเดียวกันกับซุ้มประตูของกำแพงแก้ว.
4. กลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ จัดเป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดของปราสาทเมืองต่ำ สร้างอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ องค์กลางแถวหน้าเป็นปราสาทประธาน อยู่ในสภาพหักพังเหลือเพียงส่วนฐาน ส่วนอีก 4 องค์ คงเหลือสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ปราสาทอิฐ 5 องค์ สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ 5 ยอดซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล.
5. บรรณาลัย 2 หลัง ก่อสร้างด้วยอิฐ อยู่บริเวณด้านหน้าของกลุ่มปราสาทอิฐข้างละ 1 หลัง เชื่อกันว่าเป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ ตำราทางศาสนา หรืออาจเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ.
6. บารายเมืองต่ำ มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ทางด้านทิศเหนือของปราสาทเมืองต่ำ มีขนาด 510*1,090 เมตร เรียกกันทั่วไปว่า "ทะเลเมืองต่ำ" สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค.
ปราสาทเมืองต่ำ, ถ่ายจากมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาท, ถ่ายไว้เมื่อบ่ายของวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563.
ปราสาทเมืองต่ำ เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการศึกษาและบูรณะปราสาทเมืองต่ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2539 พร้อมทั้งได้ประกาศการกำหนดเขตโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ โดยรวมพื้นที่บารายเมืองต่ำและโบราณสถานกุฏิฤๅษีโคกเมือง รวมพื้นที่ทั้งหมด 538 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา.
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : ศิวลึงค์ ปราสาทเมืองต่ำ03.
“พระศิวะ” เทพเจ้าสำคัญสูงสุด 1 ใน 3 องค์ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นมหาเทพ มีหน้าที่ทำลายล้าง (เพื่อให้เกิดการสร้างขึ้นใหม่) โดยเฉพาะในลัทธิไศวนิกายนั้นถือว่า พระศิวะ เป็นเทพผู้มีอำนาจสูงสุด.
รูปเคารพของพระองค์นั้น นิยมทำเป็น “ศิวลึงค์” มีลักษณะเป็นรูปอวัยวะเพศชาย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ จลลึงค์ (ลึงค์ที่เคลื่อนที่ได้ พกพาได้) และอจลลึงค์ (ลึงค์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ติดตั้งอยู่กับที่) โดยในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ปราสาทที่สร้างถวายพระศิวะ จะประดิษฐานศิวลึงค์เป็นประธาน เช่น ปราสาทพนมบาแค็ง ปราสาทแปรรูป ประเทศกัมพูชา ปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น.
จากการดำเนินงานทางโบราณคดีของกรมศิลปากร เมื่อปี 2532 ณ ปราสาทเมืองต่ำ ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทพนมรุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร ได้ขุดพบศิวลึงค์องค์ใหญ่ทำด้วยหินทรายบริเวณปราสาทประธาน ขนาดกว้าง 28 เซนติเมตร สูง 68 เซนติเมตร สภาพไม่สมบูรณ์ส่วนยอดหักหาย ลักษณะเป็นศิวลึงค์ที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วน ส่วนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า “พรหมภาค” ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยม เรียกว่า “วิษณุภาค” และส่วนบนเป็นรูปกลม (โค้งมน) เรียกว่า “รุทรภาค” (ซึ่งส่วนนี้ชำรุด) องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ มีสัดส่วนที่เท่ากัน จัดเป็นลักษณะของศิวลึงค์สมัยเมืองพระนคร พุทธศตวรรษที่ 15-18 สอดคล้องกับรูปแบบศิลปะของปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งกำหนดอายุในสมัยบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันศิวลึงค์องค์นี้จัดแสดง ณ ศูนย์บริการข้อมูล อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง.
การพบศิวลึงค์องค์ใหญ่ที่ปราสาทประธาน ปราสาทเมืองต่ำ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไศวนิกายเช่นเดียวกับปราสาทพนมรุ้ง ถึงแม้ภาพสลักส่วนใหญ่ที่ปราสาทเมืองต่ำจะสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพระกฤษณะ ซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุจำนวนหลายภาพ แต่ก็อยู่ในฐานะของเทพชั้นรอง ภาพสลักเหล่านั้นอยู่ในอาคารที่มีความสำคัญรองลงมา เช่น ปราสาทบริวาร ซุ้มประตูโคปุระ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบในปราสาทที่สร้างถวายพระศิวะ ที่มีภาพสลักของพระวิษณุประดับในส่วนต่าง ๆ ของปราสาทด้วย เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ปราสาทพระวิหาร ประเทศกัมพูชา เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญในการใช้พิจารณาว่าปราสาทหลังนั้น ๆ สร้างถวายแด่เทพองค์ใด คือรูปเคารพประธาน ซึ่งที่ปราสาทเมืองต่ำก็คือ ศิวลึงค์ รูปเคารพแทนองค์พระศิวะ นั่นเอง
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับปรุงจาก. ป้ายหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทเมืองต่ำ ถ่ายไว้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2563.
02. จาก. th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 21 พฤศจิกายน 2563.
03. จาก. Facebook ห้อง "อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ - Phanom Rung Historical Park", (เรียบเรียงโดย: นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง (เอกสารอ้างอิง: จรรยา มาณะวิท และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นครราชสีมา: สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา กรมศิลปากร, 2557. สามารถ ทรัพย์เย็น และคณะ. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ และการขุดตรวจเพื่อค้นหาแหล่งชุมชนโบราณบริเวณโดยรอบปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2536. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2550.), วันที่เข้าถึง 15 มิถุนายน 2564.