MENU
TH EN

028. ปราสาทสระกำแพงใหญ่ - ศรีสะเกษ

Title Thumbnail & Hero Image: ภาพถ่ายของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จชมปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2472, เครดิต: มร.กรูเต, ภาพถ่ายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,  ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน เมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ.2479., ที่มา: Facebook ห้อง "Wisuwat Buroot", วันที่เข้าถึง 27 มิถุนายน พ.ศ.2563.
028. ปราสาทสระกำแพงใหญ่ - ศรีสะเกษ01.
First revision: Jun.27, 2020
Last change: Jul.31, 2020
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

     ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ตั้งอยู่ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จากจารึกกรอบประตูซุ้มโคปุระด้านทิศตะวันออกของระเบียงคด กล่าวถึงมหาศักราช 964 (พ.ศ.1585) พระกัมรเตงเตงอัญศิวทาส คุณโทษพระสภาแห่งกัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ร่วมกับพระกัมรเตงอัญคนอื่น ๆ ซื้อที่ดินอุทิศถวายแด่กัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร.
     กัมรเตงชคตศรีพฤทเธศวร ที่กล่าวถึงในจารึก คือ พระนามหนึ่งแห่งพระศิวะ ดังนั้นปราสาทสระกำแพงใหญ่ จึงสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยกลุ่มขุนนางแห่งเมืองสดุกอำพล ปราสาทมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคาร 6 หลัง

     ปราสาท 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันก่อสร้างด้วยศิลาแลง องค์ปราสาทก่อสร้างด้วยอิฐและหินทราย หันหน้าทางทิศตะวันออก มีภาพทับหลังสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภาพเล่าเรื่องรามายณะ ตอน หนุมานถวายแหวนนางสีดา และตอนพาลีรบสุครีพ ส่วนหน้าบันสลักเรื่องพระศิวะ ได้แก่ ศิวนาฎราช, พระศิวะภาคไภรวะ, และอุมามเหศวร.

     บรรณาลัย ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคาร 2 หลัง ก่อสร้างด้วยอิฐและหินทรายบนฐานศิลาแลง มีลักษณะแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่น บรรณาลัยทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พบทับหลังสลักรูปวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ และทับหลังเรื่องกฤษณาวตาร ตอนพระกฤษณะปราบม้าเกษีบรรณาลัยทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีทับหลังรูปคชลักษมี และทับหลังรูปอุมามเหศวร.

     ปราสาทหลังเดี่ยว ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีอาคารก่อสร้างด้วยอิฐและหินทราย ลักษณะแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ภายในพบฐานสำหรับประดิษฐานประติมากรรมสองรูป.

     ห่างจากปราสาทไปประมาณ 400 เมตร พบร่องรอยถนนปูด้วยศิลาแลงเชื่อมระหว่างปราสาทกับสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เรียกกันว่า สระกำแพง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อปราสาทสระกำแพงใหญ่
     ในปี พ.ศ.2532 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานปราสาทสระกำแพงใหญ่ พบหลักฐานชิ้นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย ได้แก่ ประติมากรรมรูปบุรุษสำริด ซึ่งพบระหว่างการขุดแต่งบริเวณใกล้กับหน้าบันไดทางขึ้นของซุ้มโคปุระระเบียงคดด้านทิศใต้ ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลีเย่ ได้ให้ความเห็นว่าประติมากรรมสำริดนี้ น่าจะเป็นประติมากรรมองค์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความงดงาม ขนาดเกือบเท่าคนจริงที่พบเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. บอร์ดภาพและข้อมูลชั้นที่ 2 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา, ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2563.


PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-17: ภาพถ่ายคราว สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ. อุทุมพรพิสัย จ. ศรีสะเกษ, 28 มกราคม พ.ศ.2472 (Prince Damrong Rajanubhab’s Visit to Prasat Sa Kamphaeng Yai , Uthumphon Pisai , Sisaket , Thailand, January 28,1929) เครดิต : มร. กรูเต, ภาพถ่ายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดร. โรเบิร์ต์ ลาริมอร์ เพนเดิลตัน 17 มีนาคม พ.ศ.2479, ที่มา: Facebook ห้อง "Wisuwat Buroot", วันที่เข้าถึง 27 มิถุนายน 2563.
ภาพที่ 01: ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ภาพที่ 02: ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ภาพที่ 03: ทับหลัง ปราสาทสระกำแพงใหญ่ Lintel of Prasat Sa Kamphaeng Yai
ภาพที่ 04: ทับหลังพระศิวะทรงโคนนทิ ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ภาพที่ 05: ทับหลังพระศิวะทรงโคนนทิ ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ภาพที่ 06: ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ภาพที่ 07: ปราสาทสระกำแพงใหญ่, มิถุนายน 2557
ภาพที่ 08: ปราสาทสระกำแพงใหญ่, มิถุนายน 2557
ภาพที่ 09: ปราสาทสระกำแพงใหญ่, มิถุนายน 2557
ภาพที่ 10: ปราสาทสระกำแพงใหญ่, มิถุนายน 2557
ภาพที่ 11: ทับหลังพระกฤษณะทรงโคนนทิ (อุมามเหศวร) ทรงประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ ประคองพระอุมา ประทับนั่งบนโคนนทิ แวดล้อมไปด้วยบริวารที่นั่งคุกเข่า ถือมยุรฉัตร และ เครื่องสูงอื่นๆ Lintel of Prasat Sa Kamphaeng Yai
ภาพที่ 12: ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือ วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ เป็นช่วงที่พระวิษณุทรงบรรทมบนเกษียรสมุทรภายหลังจากการทำลายโลก Lintel of Prasat Sa Kamphaeng Yai
ภาพที่ 13: ทับหลังคชลักษมี พระลักษมีประทับนั่งถือดอกบัว 2 ดอก ด้านบนมีช้างกำลังสรงน้ำ Lintel of Prasat Sa Kamphaeng Yai
ภาพที่ 14: ทับหลังพระกฤษณะปราบม้าเกษี Lintel of Prasat Sa Kamphaeng Yai
ภาพที่ 15: ทับหลังหนุมานถวายแหวน หนุมานนั่งคุกเข่าต่อหน้านางสีดา ด้านหลังปรากฎมีสตรีสามเศียร Lintel of Prasat Sa Kamphaeng Yai
ภาพที่ 16: ทับหลังรามายณะ Lintel of Prasat Sa Kamphaeng Yai
ภาพที่ 17: ทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ Lintel of Prasat Sa Kamphaeng Yai
ภาพที่ 18: ประติมากรรมรูปบุรุษ: ศิลปะลพบุรี (ศิลปะเขมรในประเทศไทย) พศว.ที่ 16 ได้จากการขุดแต่งปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ {Male Staute: Lopburi Art (Khmer Art in Thailand), 11th Century CE. From The Excavation at Prasat Sa Kamphaeng Yai Uthumphon Phisai District, Si Sa Ket Province}, ถ่ายไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2563 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา.

 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com