MENU
TH EN

026. ปราสาทหินพนมรุ้ง - บุรีรัมย์

Title Thumbnail: ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ด้านหน้าของปราสาทประธาน ปราสาทพนมรุ้ง ถ่ายไว้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2563.
Hero Image: ปราสาทพนมรุ้ง ถ่ายจากทางดำเนินขึ้นไปยังปราสาท, ถ่ายไว้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2563


026. ปราสาทหินพนมรุ้ง - บุรีรัมย์01,03.
First revision: May 25, 2020
Last change: Jan.10, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.


 

ผังปราสาทพนมรุ้ง, ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 25 พฤษภาคม 2563.

        1. บันไดต้นทาง
       2. พลับพลา (เปลี่ยนเครื่องทรง)
       3. ทางดำเนิน (ราชมรรคา)
       4. สะพานนาคราช ชั้นที่ 1
       5. บันไดทางขึ้นปราสาท
       6. ลานทางสู่ปราสาท
       7. สะพานนาคราช ชั้นที่ 2
       8. ลานปราสาทและระเบียงชั้นนอก
       9. ซุ้มประตูและระเบียงคด
      10. สะพานนาคราช ชั้นที่ 3
      11. ปราสาทประธาน
      12. ปราสาทอิฐสองหลัง
      13. ปรางค์น้อย
      14. บรรณาลัย
      15. อาคารก่อด้วยศิลาแลง 
 

       ภูเขาอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้งนี้ เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทเมื่อ 900,000 ปีมาแล้ว เมื่อบรรพบุรุษของกลุ่มชนในแถบนี้ (ทั้งที่มาจากที่ราบใกล้ตนเลสาบ (เขมรต่ำ) และกลุ่มชนในแถบเขมรสูง (โคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ปัจจุบัน) ผนวกกับการรับอารยธรรมจากกลุ่มชนที่มาจากอินเดียใต้ พร้อมความเชื่อทางด้านศาสนาฮินดู-พราหมณ์) ขึ้นมาสร้างศาสนสถานบนยอดเขาแห่งนี้ ได้ดัดแปลงปล่องภูเขาไฟให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อการอุปโภคและบริโภค "พนมรุ้ง" เป็นชื่อเดิมของภูเขา และศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกนี้อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 หรือ พ.ศ.1532 ปรากฎคำนี้ในศิลาจารึก อักษรเขมรโบราณ พบที่ปราสาทพนมรุ้งถึง 4 หลัก คำว่า "พนมรุ้ง" มาจากภาษาเขมรว่า "วฺนํรุง" แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ มีความหมายตรงกับจารึกอักษรเขมรโบราณ ภาษาสันสกฤตในจารึกหลักอื่นว่า "สฺถูลาทฺริ" และ "สฺถูลไศล" ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย นิกายปศุปตะ ที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด การก่อสร้างปราสาทพนมรุ้งขึ้นบนยอดเขา จึงเปรียบเสมือนการสร้างวิมานที่ประทับของพระศิวะที่เชื่อกันว่าสถิตประทับบนยอดเขาไกรลาส สิ่งก่อสร้างบนปราสาทพนมรุ้ง แบ่งออกได้เป็น 4 สมัย ส่วนที่เก่าที่สุดคือปราสาทอิฐจำนวน 2 หลัง สร้างราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15 ตรงกับศิลปะเกาะแกร์ สมัยที่สองคือปราสาทน้อย สร้างราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะแบบบาปวน สมัยที่สาม คือสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่บนศาสนสถานแห่งนี้ ซึ่งมีปราสาทหลังใหญ่เป็นประธาน สร้างราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ตรงกับศิลปะแบบนครวัด สมัยสุดท้าย คือบรรณาลัย 2 หลัง สร้างราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับศิลปะแบบบายน.

       “นเรนทราทิตย์” เป็นพระนามที่ไม่เคยปรากฏหลักฐาน ณ ที่แห่งใดมาก่อน ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา ปรากฏที่ปราสาทพนมรุ้งเท่านั้นในฐานะผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง จารึกกล่าวว่า นเรนทราทิตย์มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ซึ่งนักวิชาการได้ตีความแตกต่างกันไป ทั้งในฐานะที่เป็นปนัดดา (หลานตา) ของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 โดยมีพระราชมารดาพระนามว่า “ภูปตินทรลักษมี” พระราชธิดาพระองค์หนึ่งของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอความเห็นในประเด็นนี้ต่างออกไป เช่น นายโกลด จาค (Cloude Jaques) เสนอว่า ภูปตินทรลักษมี อาจเป็นพี่สาวหรือน้องสาวของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ในขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสนอว่า ภูปตินทรลักษมี อาจเป็นอาของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2
เมื่อถือกำเนิด นเรนทราทิตย์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลม คล่องแคล่ว มีความสามารถในการรบ รูปงาม เป็นที่รักและชื่นชมในหมู่สตรี ท่านเติบโตขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ในตอนหนึ่งของจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 และ 9 กล่าวสรรเสริญความสามารถในการรบบนหลังช้าง และความชำนาญของท่านในการใช้อาวุธประเภทต่าง ๆ ได้แก่ คันธนู พระขรรค์ จักร หลังเสร็จศึกสงคราม สันนิษฐานว่านเรนทราทิตย์ได้รับความดีความชอบ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครอง “แผ่นดินที่ยึดมาได้” นั่นคือบริเวณพื้นที่เขาพนมรุ้งในปัจจุบัน โดยประดิษฐานศิวลึงค์นาม “กมรเตง ชคต วนํรุง” เป็นประธาน

       พระวิทยานิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแปลจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 ความตอนหนึ่งว่า “...พระองค์ (นเรนทราทิตย์) เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนายในหมู่ภูตในสวรรค์ ผู้ซึ่งได้สมภพบนพื้นดิน ได้เป็นนายสัตว์โลก เพราะฉะนั้นแน่นอน สัตว์ทั้งหลายจึงเคารพพระองค์ยิ่งกว่าธุรชฎิ (พระศิวะ) อย่างที่ไม่มีใครได้รับความนับถือมาก่อน...”

       สันนิษฐานว่า ชีวประวัติของนเรนทราทิตย์ ได้ถูกแกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องประดับสถาปัตยกรรม ณ ปราสาทพนมรุ้ง เช่น ภาพพิธีอภิเษกนเรนทราทิตย์ บนทับหลังประตูชั้นที่ 2 ของมุขปราสาทประธานด้านทิศใต้ และภาพเหตุการณ์การสู้รบบริเวณซุ้มบัญชรบนชั้นวิมานด้านทิศใต้และทิศเหนือ ของปราสาทประธานพนมรุ้ง

       มีความเป็นไปได้ว่าภายหลังจากที่นเรนทราทิตย์ได้ทรงประกอบภารกิจในฐานะฆราวาสโดยสมบูรณ์แล้ว ท่านจึงได้ออกบวชถือเพศบรรพชิต และดำรงตนในลัทธิไศวะนิกาย แบบปศุปตะ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ต่อมาหิรัณยะผู้เป็นโอรสได้สืบทอดภารกิจและจารจารึกคุณความดีของพระบิดาให้เป็นที่ปรากฏสืบต่อมา ในฐานะผู้สถาปนาปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้02.


       ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างปราสาทหินพิมายกับปราสาทหินพนมรุ้ง04.   
     ปราสาทหินพิมาย  ปราสาทหินพนมรุ้ง
   ที่ตั้ง   ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล  ตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
   ส่วนสูงจากฐานถึงส่วนยอด  28 เมตร   27 เมตร
   นาคประดับราวสะพาน  นาคเจ็ดเศียร  นาคห้าเศียร
   องค์ประธาน, ศาสนา  พระนาคปรก ประสาทหินพิมายสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถาน นิกายมหายาน  ศิวลึงค์ ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย
   ประเภทหินที่ก่อสร้าง  หินทรายสีขาว  หินทรายสีชมพู
   หน้าบันปราสาทประธาน  ศิวนาฏราช  ศิวนาฏราช
   ทิศที่หันหน้าของปราสาทประธาน  ทิศใต้  ทิศตะวันออก


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. ปรับปรุงจาก. ป้ายอธิบายสรุปประสาทพนมรุ้ง ทางขึ้นด้านหน้า และด้านหลัง (สำหรับทางรถยนต์ขึ้น), รวบรวมไว้เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2563.
02. จาก
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เรื่อง : นเรนทราทิตย์ ผู้สถาปนาปราสาทพนมรุ้ง เรียบเรียงโดย : นางสาวกมลวรรณ นิธินันทน์ นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง. เอกสารอ้างอิง: เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2521. พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 6. บุรีรัมย์: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2551. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: มติชน, 2539., ที่มา: Facebook ห้อง "กลุ่ม..ผู้ใฝ่เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ทั่วไป", วันที่เข้าถึง 17 พฤษภาคม 2564.
03. จาก. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ, ISBN 974-87194-4-8 พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2557, จ.นครราชสีมา, กรมศิลปากร.
04. จาก. ข้อมูลเผยแพร่ของกรมศิลปากร, Facebook เพจ "อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง (หน่วยงานราชการ) - Phimai Historical Park," วันที่เข้าถึง: 10 มกราคม 2567.
humanexcellence.thailand@gmail.com