MENU
TH EN

86. วัดพระธาตุ - กำแพงเพชร

Title Thumbnail & Hero Image (ถ่ายจากตะวันตกไปตะวันออก ราว 4 โมงเย็น): วัดพระธาตุ, ถ่ายไว้เมื่อ 30 ตุลาคม 2564.
86. วัดพระธาตุ - กำแพงเพชร01.
First revision: Nov.19, 2019
Last change: Nov.06, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดพระธาตุ เป็นวัดสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ติดหรือต่อกับวัดพระแก้วมาทางทิศใต้ ไม่ปรากฎหลักฐานประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด แต่เหตุที่ได้ชื่อว่าวัดพระธาตุเพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย.

       จากพระราชนิพนธ์ เที่ยวเมืองพระร่วง ของ ร.6 มีความตอนหนึ่งกล่าวว่า "...ส่วนวัดนั้นคงเป็นอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงทวาราวดี มีเจดีย์ โบสถ์ วิหารใหญ่ ๆ งาม ๆ อยู่มาก การก่อสร้างใช้แลงเป็นพื้น มีที่ก่อซ่อมแซมด้วยอิฐ ภายหลังก็มาก มีกำแพงแก้วสูงประมาณ 3 ศอก ล้อมรอบลาน ต่อลงไปทางทิศใต้มีลานอีกลานหนึ่ง มีกำแพงแก้วล้อมรอบเหมือนกัน ในที่กลางมีพระธาตุใหญ่ตั้งอยู่บนลานสูง พระวิเชียรปราการตั้งชื่อไว้ว่า วัดมหาธาตุ"


 

วัดพระธาตุ, ถ่ายไว้ (จากตะวันออกไปตะวันตก เวลา 4 โมงเย็น) เมื่อ 30 ตุลาคม 2564.

       โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธาน ซึ่งมีระเบียงคดที่เชื่อมต่อกับวิหารทางด้านทิศตะวันออก ด้านข้างวิหารทั้งสองด้านมีเจดีย์รายอยู่ข้างละ 1 องค์ โบราณสถานทั้งหมดมีกำแพงแก้วล้อมรอบ.

       โบราณสถานสำคัญและน่าสนใจของวัดพระธาตุคือ เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ที่จัดได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะ อาจเรียกว่า เจดีย์ทรงระฆังสกุลช่างกำแพงเพชร รูปแบบของเจดีย์ประกอบด้วย ฐานล่างเป็นฐานเขียงต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีฐานบัวคว่ำ-บัวหงายในผังแปดเหลี่ยมสองฐานลดหลั่นกัน ฐานชั้นล่างประดับด้วยลูกแก้วอกไก่กลางท้องไม้หนึ่งเส้น ลูกแก้วมีขนาดใหญ่มาก แตกต่างไปจากที่พบโดยทั่วไป ถือเป็นลักษณะพิเศษของฐานเจดีย์เมืองกำแพงเพชร ส่วนฐานบัวชั้นบนประดับลูกแก้วอกไก่สองเส้น ถัดขึ้นไปเป็นชุดบัวถลาสามชั้นรองรับองค์ระฆังกลม มีบัวปากระฆัง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าองค์ระฆังสมัยสุโขทัย เพราะมีการยกส่วนฐานให้สูงขึ้นถัดไปเป็นบัลลังก์ในผังย่อมุมไม้สิบสอง มีบัวฝาละมี ปล้องไฉน และปลียอด.

       เจดีย์ในกลุ่มนี้เป็นรูปแบบที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยและล้านนา จัดเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์เมืองกำแพงเพชร และน่าจะปรากฎขึ้นในราวต้น พศว.ที่ 21 แล้ว.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01จาก. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย, หน้าที่ 158-159, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ISBN 978-616-465-018-3, พิมพ์ครั้งแรก, กันยายน 2562.

 
humanexcellence.thailand@gmail.com