MENU
TH EN

008. ศาลตาผาแดง - สุโขทัย

Title Thumbnail & Hero Image: ศาลตาผาแดง ถ่ายไว้เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562.
008. ศาลตาผาแดง - สุโขทัย
First revision: Nov.10, 2019
Last change: Aug.03, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       ศาลตาผาแดง ตั้งอยู่ติดกับตระพังตระกวน วัดสระศรี ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และใกล้กับประตูเมืองด้านเหนือ ปรากฎในแผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่าศาลเทพารักษ์ใหญ่ หรือศาลตาผ้าแดง ลักษณะโบราณสถานเป็นแบบปราสาทขอม หลังเดี่ยว ก่อด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ส่วนล่างเป็นฐานบัวลูกฟัก ส่วนเรือนธาตุมีห้องยาว ยื่นออกไปจากตัวปราสาททางด้านตะวันออกและตะวันตก โดยห้องด้านตะวันออกมีความยาวกว่าด้านตรงข้าม ส่วนยอดปราสาทพังทลาย เมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะศาลตาผาแดง ได้พบชิ้นส่วนประติมากรรมรูปเคารพสลักจากศิลาลอยตัว จำนวน 4 องค์ มีทั้งรูปบุรุษและสตรี สันนิษฐานว่าเป็นรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู อาทิ พระศิวะ นางอัปสรและทวารบาล ประดับด้วยเครื่องทรงตกแต่งอย่างงดงาม เมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบแล้วอาจเทียบได้กับศิลปะแบบเขมรสมัยบายนตอนต้น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จ.สุโขทัย โบราณสถานแห่งนี้เป็นหลักฐานยืนยัน ถึงการมีชุมชนที่มีวัฒนธรรมเขมร นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูปะปนในแถบนี้แล้ว เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 1801.

     รูปประติมากรรม “รามายณะ” ที่ศาลตาผาแดง ?
ในปี พ.ศ. 2444 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึงซากปราสาทศิลาแลงขนาดใหญ่หลังหนึ่งในเมืองเก่าสุโขทัย ในพระนิพนธ์เรื่อง “จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก” ว่า “...ศาลเจ้าพระประแดง เป็นปรางค์เขมรแท้ ก่อด้วยศิลาแลงมีฐานสูง...”
.
ซึ่งก็นับว่าเป็นการกล่าวถึง “ปราสาทศาลตาผาแดง” ที่ตั้งอยู่ในเมืองโบราณสุโขทัยเป็นครั้งแรกครับ
.
ในปี 2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเยือนเมืองสุโขทัยโบราณ ทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ว่า “...ทางเหนือของวัดตระกวนนั้นเป็นศาลเทพารักษ์ใหญ่ซึ่งราษฎรเรียกว่า ศาลตาผ้าแดง เป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลงขนาดเขื่อง คล้ายกับปราสาทที่พิมายและลพบุรี สำหรับเครื่องบนของปราสาทพังลงมาหมดแล้ว แต่ก็พอจะมีรูปของปรางค์อยู่...”
.
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงตรวจดูว่าไม่มีระเบียงคดเลย พระองค์จึงทรงคิดว่าที่นี่ไม่ใช่โบสถ์พราหมณ์ แต่อาจเป็นศาลเทพารักษ์ ซึ่งต้องเป็นที่นับถือในกรุงสุโขทัยโบราณ เพราะว่าการก่อนั้นนั้นแสดงให้เห็นถึงฝีมืออันประณีต ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระราชทานนามให้โบราณสถานแห่งนี้ว่า “ศาลพระเสื้อเมือง” ครับ
.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงที่มาของเทวรูปสำริดขนาดใหญ่ 2 องค์ ที่พบจากศาลพระเสื้อเมือง ในคำอธิบายประกอบในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงว่า “... ปรางค์ศิลาแลงนี้ ตรวจต่อมาทราบว่าเป็นที่ประดิษฐานรูปพระอิศวรทางมุขหน้า รูปพระนารายณ์ทางมุขหลัง เทวรูปหล่อทั้งสององค์นั้นเห็นจะเชิญลงมากรุงเทพ ฯ เมื่อรัชกาลที่ 1 พร้อมกับพระพุทธรูปศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ เดิมเอาไว้ที่เทวสถานคือองค์ใหญ่กว่าเพื่อนที่อยู่คู่ต้นในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย...” (ตรี อมาตยกุล 2493)

 

รูปประติมากรรมพระอิศวรและพระนารายณ์สำริด ที่เคยจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จึงเคยประดิษฐานอยู่ที่ศาลตาผาแดงมาก่อนถูกย้ายลงมาประดิษฐานที่เทวสถาน ในกรุงเทพฯ ครับ
.
.
*** ปราสาทศาลตาผาแดง ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองสุโขทัยโบราณค่อนไปทางเหนือ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นปราสาทในสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณหลังเดี่ยว ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ทั้งหลัง ไม่มีอาคาร คูน้ำหรือกำแพงล้อมรอบ แต่อาจมี “ตระพังสอ” ที่อยู่ห่างไปด้านหน้าประมาณ 160 เมตร เป็นบารายด้านหน้าตามแกนตะวันออก ตามการจัดวางแผนผังแบบปราสาทเขมรโบราณ
.
ฐานของปราสาทก่อด้วยศิลาแลงก้อนใหญ่ แผนผังรวมเป็นสี่เหลี่ยมผื่นผ้า มีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว ฐานด้านหลังขยายส่วนเป็นสี่เหลี่ยมเพื่อรองรับเรือนธาตุทรงปราสาทเพิ่มมุม ด้านหน้าเชื่อมต่อเป็นอาคารมุขคูหายาวประมาณ 7 เมตร
.
ส่วนฐานล่างของปราสาท เริ่มต้นจากฐานเขียงเรียบรองรับฐานบัวปัทม์ เดินเส้นแถบลูกฟักแบบเหลี่ยมกว้างเกือบเต็มท้องไม้ ซึ่งเป็นแบบฐานเวทีพันธะแบบเขมรที่นิยมมาตั้งแต่ยุคพุทธศตวรรษที่ 16 ฐานปัทม์ชั้นสองมีความกว้างน้อยกว่าชั้นแรก ตัวเรือนธาตุมีมุมใหญ่ขนาดประมาณ 7 * 7 เมตร ก่อผนังหนา ฐานบัวเชิงในแต่ละมุมมีเส้นลวดเดินรอบอยู่ในระดับเดียวกัน ส่วนเรือนยอดวิมานจำลองทรงศิขระที่เคยมีอยู่ได้พังทลายลงมาทั้งหมดจนถึงชั้นบัวรัดเกล้าเป็นกองหินอยู่โดยรอบในช่วงก่อนบูรณะ ตัวเรือนยกเก็จและมีซุ้มประตูทุกด้าน ด้านเหนือและใต้ทำเป็นประตูหลอก ซุ้มประตูด้านหลังเปิดโล่ง ซุ้มประตูด้านหน้าเป็นคูหามุขยาวมุงหลังคาศิลาแลงที่บูรณะขึ้นใหม่ ซ้อนเหลือมกันขึ้นไปตามเทคนิคการถ่ายน้ำหนัก คูหามุขหน้าทำผนังสูงมีช่องประตูใหญ่ ตรงซุ้มประตูทั้งสองฝั่งและมุขที่เชื่อมกับตัวเรือนธาตุมีร่องรอยของการเข้าเดือยของหินกรอบประตู ทำเป็นประตูที่เล็กกว่าในช่องคูหาใหญ่ของมุขหน้า แต่หายไปทั้งหมดแล้วครับ
.
ในปี พ.ศ. 2502 – 2503 มีการขุดแต่งและบูรณะปราสาทตาผาแดงเป็นครั้งแรก ซึ่งได้ขุดพบรูปประติมากรรมหินทรายที่ถูกทุบทำลาย ไม่พบส่วนพระเศียรและพระกร เป็นรูปบุรุษ 3 องค์ และสตรี 1 องค์ ฐานรูปประติมากรรมจากหินทรายในท้องถิ่นจำนวน 3 ฐาน ฐานศิลาแลง 1 ฐาน และพระบาทคู่ของรูปประติมากรรมที่ยังคงหักคาอยู่ในเดือย ของฐานที่จมอยู่ใต้พื้นตรงกึ่งกลางของห้องครรภคฤหะ ซึ่งฐานและส่วนพระบาท ทั้งหมดยังคงอยู่ภายในห้องประธานอยู่ในปัจจุบัน
.
การขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. 2553-2555 (ภาณุวัฒน์ 2556) ได้มีการศึกษาอายุการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของมนุษย์จากหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นชั้นดิน ได้แสดงว่ามีการใช้พื้นที่บริเวณนี้มาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 16 จนถึงช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 17 จึงได้เริ่มมีการปรับพื้นถมทรายอัดและหินกรวดรองพื้นเพื่อสร้างปราสาทตาผาแดงขึ้น ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 มีร่องรอยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่โดยรอบศาลตาผาแดงอย่างหนาแน่น และมีร่องรอยกิจกรรมการหลอมโลหะสำริดแบบเตาขนาดเล็ก จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ปราสาทและชุมชนโดยรอบคงได้ถูกทิ้งร้างไป สอดรับตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในยุคที่พระนเรศ ได้ขึ้นมาปราบกบฏเมืองสวรรคโลกครับ
.
ปราสาทศาลตาผาแดง สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่คติฮินดู “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism) เป็นที่นิยมในราชสำนักฝ่ายเมืองพระนครศรียโสธระปุระ แทนที่ความนิยมเดิมแบบไศวะนิกาย-ปศุปตะ-ตรีมูรติ ที่ได้ลดความสำคัญไปมากตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 จึงไม่ปรากฏความนิยมในการสร้างรูปประติมากรรมพระศิวลึงค์ มาเป็นหลักของศาสนสถานแบบในยุคก่อนหน้า รวมทั้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาขาตอนบน ซึ่งจะไม่พบรูปประติมากรรมพระศิวลึงค์ในแบบตรีมูรติ ในช่วงเวลานี้
.
เมื่อพิจารณาหลักฐานจากช่วงเวลาการสร้าง คติความเชื่อในยุคสมัยร่วมกับรูปประติมากรรมบุคคลที่พบจากศาลตาผาแดง ที่เหลือเพียงส่วนพระวรกายแล้ว ทั้ง 4 องค์นุ่งผ้าคล้ายภูษาสมพตยาวแนบพระวรกาย (หรือนุ่งผ้าเตี่ยวแบบนครวัด ?) มีรัดพระองค์เป็นแผ่นคาด ตกแต่งด้วยลายดอกไม้สี่กลีบซ้อนดอกในช่องสี่เหลี่ยมสลับลายลูกปัดคาดทับ ขอบล่างประดับด้วยอุบะตกแต่งลายใบไม้สามเหลี่ยมห้อยลง ชักชายผ้ายาวออกมาข้างองค์ทั้งสองข้าง ชายผ้าฝั่งด้านพระเพลาขวางอนโค้งปลายแหลมคล้ายปีกนก ด้านซ้ายทิ้งแบบพับทบ สวมเครื่องประดับกรองศอเป็นแผ่นใหญ่ ตกแต่งด้วยตาบลายดอกไม้สลับลายลูกปัดอัญมณี ขอบล่างเป็นอุบะขนาดเล็กทั้งแบบกลม ใบแหลมป้อมปลายสามเหลี่ยมและกระหนกดอกรัก (เฉพาะรูปสตรี) ครับ
.
จะเห็นได้ว่า มีรูปประติมากรรมบุรุษองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่กกว่ารูปอื่นเพียงองค์เดียว ที่ควรเป็นรูปประธาน ประดับด้วยแถบสังวาลเป็นเม็ดกลม 4 แถวเฉียงจากอังสาสลับกัน 2 เส้นมาไขว้ทับกันที่กลางหน้าอก ปิดด้วยแผ่นตาบลายดอกไม้สี่กลีบแบบมีกลีบซ้อนรูปข้าวหลามตัด และยังประดับแผ่นตาบดอกกลีบตรงข้อต่อของสังวาลเป็นระยะอีกด้วย
.
และเมื่อพิจารณารายละเอียดของรูปประธานจะพบว่า เป็นรูปบุรุษ มี 2 กร ประดับพาหุรัดที่พระกร ไม่ปรากฏนาคสังวาลเฉียงที่อังสาด้านซ้ายตามรูปแบบของรูปพระศิวะในงานศิลปะ และไม่มี 4 กร แบบพระวิษณุ อีกทั้งรูปแบบของศิลปะเครื่องแต่งกายของรูปประติมากรรมทั้ง 4 รวมทั้งลวดลายดอกไม้กลับซ้อน ที่ยังไม่เป็นรูปสี่กลีบดอกลำดวนในแบบศิลปะบายนครับ
.
การแต่งกายของรูปประติมากรรม ยังมีความคล้ายคลึงกับภาพสลักนูนต่ำที่ปนราสารทนครวัด และประติมากรรมที่พบในยุคศิลปะนิยมแบบนครวัด ที่ยังนิยมนุ่งผ้าทิ้งชายแบบปีกนกออกมาด้านขวา
.
รูปประธานดังกล่าวจึงควรเป็นรูป “พระรามหรือองค์ราม” (Rama) ที่เป็นรูปศิลปะจากคตินิยมและความเชื่อความศรัทธาตรงตามยุคสมัยปลายนครวัด ช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 17 ที่สอดคล้องใกล้เคียงกับเวลาในการก่อสร้างตัวปราสาทจากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี โดยรูปที่เหลือที่มีขนาดเล็กกว่า รูปสตรีควรเป็นรูปของนางสีดา (Sita) อวตารขององค์พระลักษมีเทวี รูปบุรุษคือ องค์ลักษมัณ (Lakshmana) พระภรต (Bharata) และพระศัตรุฆน์ (Shatrughna) ที่เกิดจากอวตารแห่งพระวิษณุทั้งหมด (ซึ่งรูปหนึ่งอาจสูญหายไป จากสภาพความตั้งใจในการทำลาย)
.
ถึงรูปประติมากรรมทั้งหมด จะถูกทุบทำลายภายหลังการสิ้นอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองสุโขทัยในยุคเริ่มแรก แต่ร่องรอยจากหลักฐานทั้งศิลปะ-ประติมานวิทยา คติชนความเชื่อและความนิยมในการประดิษฐานรูปประธานในยุคสมัยปลายศิลปะนครวัดก่อนถึงคติพุทธวัชรยานในยุคจักรวรรดิบายน ที่สอดรับกับเวลาการสร้างจากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณ-วิทยาศาสตร์ ที่อาจสรุปได้ว่า เทวรูปทั้ง 4 จากปราสาทศาลตาผาแดงนั้น คือรูปประติมากรรมจากวรรณกรรม “มหากาพย์รามายาณะ” (Ramayana story - Sanskrit epic) อันศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นความนิยมในช่วงเวลานั้น นั่นเองครับ02.

 
  •      เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการขุดค้นพบเหรียญเงินตราสมัยราชวงศ์หยวน ที่บริเวณศาลตาผาแดง นั่นแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกับการค้าคาราวานกับยูนนาน03.     





ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01.  จาก. ป้ายอธิบายข้างศาลตาผาแดง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, วันที่เข้าถึง 17 พฤศจิกายน 2562.
02.  จาก. อาจารย์วรณัย พงศาชลากร. EJeab Academy, ใน Facebook, วันที่เข้าถึง 21 พฤศจิกายน 2562.
03.  จาก. การบรรยายของ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมื่อ 8 ก.พ.2563 ในการสัมมนา "สุโขทัยคดี" ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).



คำอธิบาย Gallery
ภาพที่ 01: พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสศาลตาผ้าแดง – ศาลพระเสื้อเมือง เมืองโบราณสุโขทัย ในปี 2450 (ภาพ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ), จาก. อาจารย์วรณัย พงศาชลากร. EJeab Academy, ใน Facebook, วันที่เข้าถึง 21 พฤศจิกายน 2562.
ภาพที่ 02:  ปราสาทศาลตาผาแดง ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองสุโขทัยโบราณค่อนไปทางเหนือ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นปราสาทในสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณหลังเดี่ยว ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ทั้งหลัง ไม่มีอาคาร คูน้ำหรือกำแพงล้อมรอบ แต่อาจมี “ตระพังสอ” ที่อยู่ห่างไปด้านหน้าประมาณ 160 เมตร เป็นบารายด้านหน้าตามแกนตะวันออก ตามการจัดวางแผนผังแบบปราสาทเขมรโบราณ, จาก. อาจารย์วรณัย พงศาชลากร. EJeab Academy, ใน Facebook, วันที่เข้าถึง 21 พฤศจิกายน 2562.


 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com