Title Thumbnail: ที่มา: en.wikipedia.org,
Hero Image: ที่มา: www.kathmanduandbeyond.com, วันที่เข้าถึง 11 พฤศจิกายน 2562.
16. ปราสาทบากอง หรือ บาโกง01.
First revision: Nov.11, 2019
Last change: Oct.27, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
ปราสาทบากอง เป็นปราสาทเขมรหลังแรกที่ใช้หินก่อสร้างมากกว่าอิฐ และเป็นปราสาทหลังแรกที่สร้างเป็นรูปทรงปิรามิด เป็นปราสาทหินในกลุ่มปราสาทโลเลย นักโบราณคดีฝรั่งเศสได้บูรณะปราสาทหลังนี้ในทศวรรษที่ 1930 ซึ่งตอนนั้นภาพจำหลักสูญหายเกือบหมดแล้ว. ปราสาทบากองนี้ เป็นปราสาทประจำรัชกาลของ พระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 1
สร้างโดย: พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 3 โดยพระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 1 ได้นำหินทรายหุ้มปราสาทไว้
ช่วงเวลาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ: พ.ศ.1424 หรือ ประมาณ 1,140 ปีมาแล้ว AD.881 หรือ คศว.ที่ 9
แนวคิด: เทวาลัยบนภูเขา จำลองรูปเขาพระสุเมรุ เพื่อสักการะพระศิวะ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม: มีโครงสร้างหลักเป็นศิลาแลง ตกแต่งด้วยหินทราย ยอดปิรามิด 5 ชั้น
การตกแต่งปราสาทโดยพระเจ้าอินทรวรมเทวะที่ 1 นั้น งดงามกว่าปราสาทรุ่นก่อน ๆ มีขนาดกว้างราว 700 ม. ยาว 900 ม. ล้อมด้วยคูชั้นนอกลึก 3 ม. ล้อมพื้นที่ราว 15 เฮกเตอร์ และคูชั้นใน ขนาดกว้าง 300 ม. ยาว 400 ม. ซึ่งปัจจุบันตื้นเขิน คงเหลือเพียงขั้นบันได ศูนย์กลางของปราสาทเป็นปิรามิด ขนาด 120 ม. ยาว 160 ม.
ประติมากรรมที่สำคัญในปราสาทนี้คือสิงโตที่เฝ้าบันไดทางขึ้น ประติมากรรมช้าง ที่หันหน้าออกไปยังปราสาทแม่บุญตะวันออก รูปสลักนูนต่ำรูปอสูร และรูปสลักเทวทัศลอยตัวที่มุม
ภาพจารึก K.1278 ข้างต้น 02. นำมาจากบทความเรื่อง De l'ancienneté de Hariharālaya. Une inscription préangkorienne opportune à Bakong เขียนโดย Christophe Pottier และ Dominique Soutif ในวารสาร Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient Année 2014 100 pp. 147-166
พบจารึกสมัยก่อนเมืองพระนคร K.1278 ซึ่งส่วนข้างต้นและกลาง ๆ ของจารึก เป็นตัวอักษรแบบอินเดียใต้หรือแบบราชวงศ์ปัลลวะ แต่ส่วนท้ายของจารึกอาจมีการเขียนเพิ่มขึ้นมาในสมัยหลัง เพราะเป็นคนละลายมือ และตัวอักษรส่วนท้ายก็เป็นแบบหลังราชวงศ์ปัลลวะแล้ว แสดงให้เห็นว่าเป็นจารึกที่เก่ากว่าตัวปราสาทถึงเกือบ 300 ปีทีเดียว ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของเมืองหริหราลัย ที่ตั้งของปราสาทบาโกง ซึ่งอาจจะเป็นเมืองเก่าอยู่แล้ว ก่อนที่พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 2 จะมาตั้งเมืองหลวงอยู่ที่แห่งนี้.
เนื้อหาของจารึก ด้านบนเป็นรายชื่อของข้าทาสทั้งชายหญิง รวมทั้งทาสหญิงที่มีชื่อว่า "ยโศธรา" ด้วย และกล่าวถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งถวายแด่เทพที่ไม่ปรากฏนาม เพราะจารึกหักหายส่วนต้นไป.
ชื่อทาสหญิง "ยโศธรา" นอกจากจะพบในจารึกหลักนี้แล้ว ที่จารึกปราสาทพระโค ก็มีรายชื่อข้าทาสหญิง "ไต ยโศธรา" เหมือนกัน ก่อนที่พระเจ้ายโศวรมเทวะที่ 1 จะย้ายเมืองหลวงจากหริหราลัยไปตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ชื่อว่า "ยโศธรปุระ"
บริเวณที่เป็นเมืองเสียมเรียบปัจจุบัน มีหลักฐานทางโบราณคดีอย่างชัดเจนว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน และมีคนอยู่อาศัยสืบเนื่องต่อเรื่อยมาจนถึงสมัยพระนครอันรุ่งเรือง มิใช่เพิ่งเป็นบ้านเมืองตอนที่พระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 2 ย้ายเมืองหลวงมาในสมัยประมาณ พ.ศ.1340 กว่า ๆ แต่ประการใด.
จารึกนี้อายุประมาณ 1,400 ปี ปราสาทอายุ 1,140 ปี
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. เดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler), ประวัติศาสตร์กัมพูชา (A History of Cambodia), ISBN 974 91090 3 1, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร, สดใส ขันติวรพงศ์, วงเดือน นานาสัจจ์, พิมพ์ครั้งที่ 3: 2546, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, กรุงเทพฯ.
02. เขียนโดย Kang Vol Khatshima เมื่อ 26 ตุลาคม พ.ศ.2561, ที่มา: Facebook เพจ "สำรวจปราสาทอารยธรรม "เขมรโบราณ"", ผ่านผู้ใช้นามว่า Priyanut Attasophonwatthana, วันที่เข้าถึง 27 ตุลาคม 2564.