MENU
TH EN

คู่มือผู้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน : ส่วนที่ 1 บทที่ 2 - การระดมทุน

การระดมทุนแก่กิจการ, พัฒนาเมื่อ 24 กรกฎาคม 2567.
คู่มือผู้รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน : ส่วนที่ 1 บทที่ 2 - การระดมทุน
First revision: Jul. 24, 2024
Last change: Oct.7, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา
.
.
หน้าที่ 1
การตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างของเงินทุน (Capital Structure Decisions)

วาระหรือเนื้อหาในบท (Agenda):
     1. สรุปสาระสำคัญ โครงสร้างเงินทุนของบริษัท (The Capital Structure of a firm) หมายถึงอะไร.
     2. ระบุถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท.
     3. ประเมินมาตรต่าง ๆ ที่เป็นเกณฑ์วัดการขยายหนี้ (การเพิ่มเพดานภาระหนี้) ที่ใช้ในโครงสร้างเงินทุนของบริษัท: Debt Ratio, Debt-to-Total Assests, Debt-Equity Ratio, and Debt-to-Capital Ratio.
     4. อธิบายถึงความหมายของ Operating and Financial Leverage.
     5. อธิบายถึงประโยชน์และข้อด้อยของ Leverage.
     6. อธิบายถึงคุณค่าธรรมภิบาลหรือคุณค่าของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของการระดมทุนจากหนี้ (Debt Financing).
     7. วิเคราะห์ผลกระทบจากภาษีที่มีต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุน.
     8. อธิบายถึงความกดดันทางการเงิน (Financial Distress) และผลกระทบจากต้นทุนที่มาจากความกดดันทางการเงิน บนฐานของการตัดสินใจถึงโครงสร้างเงิน.
     9. แปลหรืออธิบายถึงบทบาทของต้นทุนทางการเงิน(The Cost of Capital) ในการตัดสินใจด้านโครงสร้างเงินทุน และอธิบายถึงกระบวนการและประเด็นที่สัมพันธ์กับการประมาณการต้นทุน (cost estimation).
    10. อธิบายหรือแปลความหมายของ An Optimal Capital Structure.
    11. อธิบายถึงความสัมพันธ์ของตัวแทนและปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของตัวแทน.


       
ธุรกิจได้ลงทุนในโรงงานและเครื่องจักรใหม่จะต้องสร้างรายได้เพิ่มขึ้น อันเป็นฐานสำหรับการเติบโต. หนทางหนึ่งที่จะชำระการลงทุนนี้ได้ คือจะต้องมาจากเงินทุนที่งอกเงยหรือผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท. ผลกำไรที่บริษัทได้มานี้จะตกเป็นของเจ้าของหรือผู้เป็นหุ้นส่วน/ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะต้องจ่ายคืนให้ในรูปของเงินปันผล หรือส่งคืนกลับบริษัท (เพื่อนำไปลงทุนเพิ่มเติมต่อ).

       เงินทุนในส่วนของเจ้าของในบริษัท เรียกว่า ส่วนของเจ้าของ (Owners' Equity) หรือเรียกง่าย ๆ ว่าส่วนของทุน (Equity). หากผลกำไรถูกส่งกลับคืนบริษัทแล้ว. เจ้าของมักคาดหวังว่า เงินทุนนี้จะต้องถูกนำไปลงทุนในโครงการที่จะสร้างมูลค่าให้บริษัทเพิ่มมากขึ้น. ซึ่งทำให้มูลค่าหุ้นของตนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย. แต่ผลกำไรอาจจะไม่มากพอที่จะสนับสนุนสำหรับโอกาสในการลงทุนทุกโครงการได้. ในกรณีเช่นนี้ CFO จะต้องเผชิญกับการตัดสินใจแล้ว: อันเป็นการแนะนำให้ CEO และคณะกรรมการบริษัทยอมสละโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรต่าง ๆ หรือการเพิ่มเงินลงทุน. CFO สามารถเพิ่มเงินทุนใหม่ได้ ไม่ว่าจะมาจากการกู้ยืมหรือจำหน่ายผลประโยชน์ของเจ้าของในส่วนที่เพิ่มขึ้น (Sell additional ownership interests) ออกไปหรือทั้งสองทางเลือก (ดูภาพที่ 2.1).

.
.
หน้าที่ 2
 

ภาพที่ 2.1 การจัดหาเงินทุนให้บริษัท (Financing a Company)

      ในบทนี้เราจะถกกันถึงเรื่องการตัดสินใจว่าบริษัทควรจะจัดหาเงินทุนอย่างไร: การผสมผสานกันระหว่างหนี้สินกับส่วนของทุน. การตัดสินใจนี้จะอ้างในฐานะที่เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุน (The Capital Structure Decision). ซึ่งในภาคผนวกของบทนี้ บล็อกนี้จะแสดงทฤษฎีเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุน (Capital Structure) ที่นำเสนอโดย Franco Modigliani และ Merton Miller.
.
.

หนี้สินกับส่วนของทุน (DEBT VERSUS EQUITY)
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทเป็นการผสมกันของหนี้สิน ส่วนของทุนที่ระดมขึ้นมาภายในบริษัทเอง (ผลประกอบการ-กำไร) และส่วนของทุนที่เพิ่มเข้ามาใหม่. แต่สัดส่วนที่ถูกต้องคืออะไรเล่า? โครงสร้างเงินทุนที่ดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ. หากบริษัทระดมทุนมาจากการกู้ยืม เจ้าหนี้ก็จะคาดหวังในเรื่องของดอกเบี้ยและเงินต้น - ซึ่งต้องคงที่, มีข้อตกลงต่าง ๆ ทางกฎหมาย - ต้องมีการจ่ายชำระคืนตามสัญญาที่ตกลงกันไว้. การล้มเหลวที่จะจ่ายคืนตามสัญญา อาจจะผลในการบังคับตามกฎหมายที่ดำเนินการโดยฝ่ายเจ้าหนี้ได้.

       สมมติว่า บริษัทกู้ยืมเงิน 100 ล้านบาท และตกลงว่าจะจ่าย 100 ล้านบาท บวกกับ 5 ล้านบาทภายในหนึ่งปี. จงพิจารณาว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการนำเงิน 100 ล้านบาทนั้นไปลงทุน:
  • ถ้านำเงิน 100 ล้านบาทไปลงทุนในโครงการ จะได้เงินกลับมา 120 ล้านบาท, บริษัทจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ (Lender) 105 ล้านบาทที่บริษัทเป็นหนี้ และเก็บเงิน 15 ล้านบาทที่เป็นกำไรไว้.
  • ถ้าบริษัทได้เงินกลับมาเพียง 105 ล้านบาท บริษัทก็จะจ่ายคืนแก่เจ้าหนี้ 105 ล้านบาท บริษัทไม่มีอะไรเหลือเก็บ.
  • ถ้าบริษัทได้เงินกลับมาเพียง 100 ล้านบาท บริษัทก็จะจ่ายคืนแก่เจ้าหนี้ 105 ล้านบาท บริษัทก็ต้องควักเนื้อจ่ายเพิ่มอีก 5 ล้านบาท.
.
.      
หน้าที่ 3
       ดังนั้นหากบริษัทนำเงินไปลงทุนซ้ำและได้รับผลตอบแทนมากกว่า 5 ล้านบาท (ต้นทุนเงินทุน) บริษัทก็จะเก็บกำไรไว้ทั้งหมด แต่หากโครงการให้ผลตอบแทน 5 ล้านบาทหรือต่ำกว่านั้น ผู้ให้กู้ก็ยังคงได้รับ 5 ล้านเบาท นี่คือแนวคิดพื้นฐานเบื้องหลังการกู้ยืมเงิน (การใช้เงินกู้ดำเนินธุรกิจ - Financial Leverage, "Leverage" แปลแบบตรงไปตรงมา แปลว่า "คานงัด") - การใช้แหล่งเงินทุนที่มีการชำระเงินที่แน่นอนแต่จำกัด.

       หากบริษัทมีรายได้มาก เจ้าของก็จะเก็บเกี่ยวผลกำไรที่เหลือทั้งหมดหลังจากที่ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แล้ว หากผลกำไรต่ำ เจ้าหนี้ก็ยังต้องได้รับเงินตามกำหนด ทำให้เจ้าของไม่ได้รับผลกำไรใด ๆ การไม่ชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นตามที่สัญญาไว้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเงิน (Fionancial distress) ปัญหาทางการเงิน คือ ภาวะที่บริษัทตัดสินใจภายใต้แรงกดดันที่จะต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันทางกฎหมายที่มีต่อเจ้าหนี้ การตัดสินใจดังกล่าวอาจไม่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับเจ้าของบริษัท.

       การจัดหาเงินทุนด้วยหุ้นหรือส่วนของทุนนั้นไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ . แม้ว่าบริษัทอาจเลือกที่จะแจกจ่ายเงินให้กับเจ้าของในรูปแบบของเงินปันผล แต่ก็ไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายให้ทำเช่นนั้น. นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่จ่ายจากหนี้สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ในขณะที่การจ่ายเงินปันผลไม่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้.

       วิธีวัดระดับการใช้หนี้เพื่อจัดหาเงินทุนให้บริษัทคืออัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งก็คืออัตราส่วนหนี้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น:

                                                                                                        หนี้สิน (Debt)
                                                   อัตราส่วนหนี้สิน (Debt ratio)   =    -----------------------------
                                                                                                  ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)


       นี่คือการวัดแบบสัมพันธ์ของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ยิ่งอัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นเท่าใด การใช้หนี้สินเพื่อการจัดหาเงินทุนสำหรับการดำเนินงานก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเทียบกับการจัดหาเงินทุนจากหุ้น. มีอีกวิธีการวัดหนึ่งคือ อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ ซึ่งเป็นระดับที่สินทรัพย์ของบริษัทได้รับการจัดการเงินทุนด้วยหนี้สิน:

                                                                                                                                        หนี้สิน (Debt)
                                                   อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (Debt-to-assets ratio)   =    -------------------------------
                                                                                                                               สินทรัพย์รวม (Total Assets)


       นี่คือสัดส่วนของหนี้สินในโครงสร้างทุนของบริษัท ซึ่งวัดโดยใช้มูลค่าทางบัญชีหรือมูลค่าทางบัญชีของหนี้สินและสินทรัพย์.

       มันจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยหากเน้นที่ทุนระยะยาวของบริษัท เมื่อได้ประเมินโครงสร้างทุนของบริษัท โดยพิจารณาหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยของบริษัทมาเปรียบเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือทุนของบริษัท. ทุนของบริษัทคือผลรวมของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยและส่วนของผู้ถือหุ้น. อัตราส่วนหนี้สินสามารถปรับใหม่ได้โดยเป็นอัตราส่วนของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยของบริษัทต่อส่วนของผู้ถือหุ้น:

.
.
หน้าที่ 4

                                                                                                   หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (Interest-bearing debt)
                          อัตราส่วนหนี้สิน-ส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt-equity ratio) =   ------------------------------------------------------
                                                                                                                     ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)



       และอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ (The debt-to-asset) สามารถระบุได้ใหม่เป็นสัดส่วนของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของบริษัทได้:

                                                                                        หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (Interest-bearing debt)
                          อัตราส่วนหนี้สิน-ทุน (Debt-equity ratio) =   ------------------------------------------------------
                                                                                                     เงินทุนทั้งหมด (Total capital)



       โดยการมุ่งเน้นไปที่เงินทุนระยะยาว การตัดสินใจเกี่ยวกับเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทที่มีผลกระทบต่อหนี้สินหมุนเวียน เช่น บัญชีเจ้าหนี้การค้า จะถูกตัดออกไปจากการวิเคราะห์นี้.

       ส่วนประกอบของส่วนของผู้ถือหุ้นในอัตราส่วนทั้งหมดนี้มักจะระบุไว้ในรูปของมูลค่าทางบัญชีหรือเงื่อนไขทางมูลค่าที่ยกมา. อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากมุมมองทางการตลาดของโครงสร้างทุนของบริษัท มักจะเปรียบเทียบทุนจากหนี้กับมูลค่าตลาดของส่วนของผู้ถือหุ้น. ในการกำหนดสูตรหลังนี้ ตัวอย่างเช่น ทุนทั้งหมดของบริษัทคือผลรวมของหนี้ที่มีดอกเบี้ยและมูลค่าตลาดของส่วนของผู้ถือหุ้น.

       หากมูลค่าตลาดของหนี้และส่วนของผู้ถือหุ้นมีประโยชน์สูงสุดในการตัดสินใจ CFO ควรละเลยมูลค่าทางบัญชีหรือไม่? คำตอบคือไม่ เพราะมูลค่าทางบัญชีก็มีความสำคัญในการตัดสินใจเช่นกัน. ตัวอย่างเช่น เงื่อนไขของพันธบัตรมักระบุในแง่ของมูลค่าทางบัญชีหรืออัตราส่วนของมูลค่าทางบัญชี. อีกตัวอย่างหนึ่ง เงินปันผลแตกต่างจากผลตอบแทนของทุนโดยพิจารณาจากมูลค่าทางบัญชีของกำไรสะสมที่มีอยู่. ดังนั้น ถึงแม้ว่าจุดเน้นจะเน้นที่มูลค่าตลาดของทุนเป็นหลัก ซึ่ง CFO ก็ต้องจับตาดูมูลค่าทางบัญชีของหนี้และส่วนของผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน.

       บริษัทในบางภาคธุรกิจและบางอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะใช้หนี้มากกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ จะข้อมูลการสำรวจ เราสามารถสรุปความแตกต่างในโครงสร้างทุนของแต่ละภาคธุรกิจได้ดังนี้:
  • บริษัทที่ต้องพึ่งพาการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น บริษัทด้านเภสัชกรรม มักจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ต่ำกว่าบริษัทที่ไม่มีความต้องการการวิจัยและพัฒนาดังกล่าว.
  • บริษัทที่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรค่อนข้างมาก มักจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ต่ำกว่า.
      นอกจากนี้ ยังน่าสนใจที่จะได้เห็นว่าอัตราส่วนหนี้สินเปรียบเทียบกันภายในภาคธุรกิจและกับอุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ อย่างไร ตัวอย่างเช่น ในภาคสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมไฟฟ้า มีการใช้หนี้น้อยกว่าทั้งอุตสาหกรรมน้ำและก๊าซ.
.
.
หน้าที่ 5
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นอัตราส่วนหนี้สินมีความแตกต่างกัน. ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม Cott Corporation ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มอัดลมจำหน่ายปลีก มีอัตราส่วนหนี้สินในโครงสร้างทุนสูงกว่าบริษัท โคคา-โคล่า มาก.

       เหตุใดบางอุตสาหกรรมจึงมักมีบริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น เมื่อพิจารณาบทบาทของการกู้ยืมทางการเงิน ปัญหาทางการเงิน (ที่อาจประสบ) และภาษี เราสามารถอธิบายความแตกต่างของอัตราส่วนหนี้สินในแต่ละอุตสาหกรรมได้. และเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้ เราสามารถอธิบายได้ว่าโครงสร้างทุนอาจส่งผลต่อมูลค่าของบริษัทได้อย่างไร.

.
.

แนวคิดเรื่อง Leverage (CONCEPT OF LEVERAGE)
การตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างทุนเกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทและการตัดสินใจด้านการเงิน. แนวคิดเรื่อง Leverage ทั้งในการดำเนินงานและการเงิน มีบทบาทต่อความเสี่ยงของบริษัท เนื่องจากการ Leverage ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เกินจริง ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม.

.
.
หน้าที่ 6
       ลองพิจารณาตัวอย่างง่าย ๆ ของบริษัทที่มีทั้งค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปร ลองนึกดูว่าบริษัทมีสินค้าหนึ่งชิ้น ราคาขาย 100 บาทต่อหน่วย และต้นทุนผันแปร 40 บาทต่อหน่วย. นั่นหมายความว่าบริษัทมีกำไร 60 บาทต่อหน่วย ก่อนจะพิจารณาค่าใช้จ่ายคงที่ใด ๆ . 60 บาทนี้คือส่วนต่างกำไรของผลิตภัณฑ์ (contribution margin). ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายคงที่ใด ๆ . ลองนึกดูว่าค่าใช้จ่ายคงที่ของบริษัทคือ 20 ล้านบาท. หากบริษัทผลิตและขาย 250,000 หน่วย บริษัทจะขาดทุน 5 ล้านบาท [(100*250,000) - {(40*250,000)+20,000,000}]. ในขณะที่หากผลิตและขาย 1 ล้านหน่วย บริษัทจะมีกำไร 40 ล้านบาท บริษัทจะต้องผลิตและขาย 1/3 ล้านหน่วยก่อนที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายคงที่ การผลิตและขายมากกว่า 1/3 ล้านหน่วยจะสร้างกำไร และการผลิตน้อยกว่า 1/3 ล้านหน่วยจะสร้างขาดทุน 1/3 ล้านนี้เป็น จุดคุ้มทุน (break-even point): จำนวนหน่วยที่ผลิตและจำหน่าย โดยที่ผลผลิตจากหน่วยที่ขายและราคาต่อหน่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายผันแปรและค่าใช้จ่ายคงที่เท่านั้น.      
 


.
.
.
.



 
humanexcellence.thailand@gmail.com