ภาพ: ข้าพเจ้าถ่ายไว้ด้านบนของถ้ำหมายเลข 16 "ถ้ำไกรลาส" เมื่อ 20 กรกฎาคม 2566.
IND-002: (หมู่) ถ้ำเอลโลร่า01, 02, 03, 04, 05.
First revision: Aug.03, 2023
Last change: Jul.2, 2024
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
หมู่ถ้ำเอลโลร่า (Ellora Caves ชื่อภาษามราฐี: वेरूळ - เวรูละ - Vērūḷ) เป็นแหล่งมรดกโลก (World Heritage) ขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) แห่งสหประชาติเมื่อปี พ.ศ.2526. หมู่ถ้ำเอลโลร่า ตั้งอยู่ที่อำเภอออรังกาบาด บ้างก็เรียก ออรังคบัด รัฐมหาราษฎระ ประเทศอินเดีย เป็นหมู่ศาสนสถานและวิหารเจาะหิน (Rock-cut) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประกอบด้วยงานศิลปะและโบราณสถานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพุทธศาสนา และศาสนาเชนมีอายุราว พ.ศ. 1143 ถึง 1543 (หรือ ค.ศ. 600 ถึง 1,000) โดยมีถ้ำหมายเลข 16 มีความโดดเด่นที่สุด ถือเป็นสถาปัตยกรรมเจาะหินก้อนเดี่ยว (Single Monolithic Rock Excavation) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก.
ปัจจุบันมีการค้นพบถ้ำมากกว่า 100 ถ้ำในหมู่ถ้ำเอลโลร่า ทั้งหมดสร้างขึ้นโดยการเจาะเข้าไปในหน้าผาหินบะซอลต์ (Basalt: ซึ่งเป็นหินอัคนีที่พบได้โดยทั่วไป มักมีสีเทาถึงสีดำ มีเนื้อละเอียดเนื่องจากเกิดจากการเย็นตัวของลาวาอย่างรวดเร็วบนพื้นโลก อาจพบมีเนื้อสองขนาดที่มีผลึกขนาดโตกว่าอยู่ในพื้นเนื้อละเอียด หรือมีเนื้อเป็นโพรงข่าย หรือมีเนื้อเป็นตะกรันภูเขาไฟ ส่วนมากมีรูพรุน หรือมีฟองอากาศด้านใน) ในหมู่เทือกเขาจารนันทรี (Charanandri Hills) ปัจจุบันมีเพียง 34 ถ้ำที่เปิดให้เข้าชมสำหรับประชาชนทั่วไป โดย:
- ถ้ำหมายเลข 1-12 รวม 12 แห่ง เป็นหมู่ถ้ำในศาสนาพุทธ
- ถ้ำหมายเลข 13-29 รวม 17 แห่ง เป็นหมู่ถ้ำในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และ
- ถ้ำหมายเลข 30-34 รวม 5 แห่ง เป็นหมู่ถ้ำในศาสนาเชน
ภายในแต่ละวิหารเจาะหินนั้ัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงศิลปกรรมและความเชื่อที่แพร่หลายในสหัสวรรษที่หนึ่ง (คริสต์กาล) และสร้างตามความเชื่อของแต่ละศาสนา การก่อสร้างให้อยู่ใกล้ชิดกันเช่นนี้นั้น แสดงให้เห็นถึงความกลมเกลียวกันระหว่างศาสนา.
แผนที่หมู่ถ้ำเอลโลร่า, ที่มา: re-thinkingthefuture.com, วันที่เข้าถึง 3 สิงหาคม 2566.
หมู่วิหารทั้งหมดล้วนสร้างขึ้นใน ยุคราชวงศ์สาตวาหนะ (Sātavāhana Dynasty - ราวพุทธศตวรรษที่ 3-9 หรือ ราวปลายศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ถึง ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3) สืบเนื่องมาถึง ราชวงศ์ราษฎรกูฏ (Rāṣṭrakūṭa Dynasty - ราว พ.ศ. 1296-1525 หรือ ค.ศ.753-982) (สำหรับวิหารพุทธและฮินดู) และ จักรวรรดิยาทวะ หรือ ยาดพ (Yadava or Seuna Dynasty - ราว พ.ศ.1730 - 1860 หรือ ค.ศ.1187-1317) (สำหรับวิหารศาสนาเชน) สนับสนุนการก่อสร้างโดยกษัตริย์ ขุนนาง และผู้ค้าขายในแต่ละยุคสมัย. การสร้างหมู่ถ้ำนี้เพื่อเป็นศาสนสถานและที่พักสำหรับผู้แสวงบุญ ตำแหน่งของหมู่ถ้ำเอลโลร่านี้ ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าเอเชียใต้ยุคโบราณ เป็นศูนย์กลางพาณิชย์ที่สำคัญแถบภูมิภาคแนวเขาเดคคาน (the Deccan region).
หมู่ถ้ำเอลโลร่าอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองออรังคบัดและห่างจากเมืองออรังคบัดราว 29 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองมุมไบราว 300 กิโลเมตร (อยู่ทางตะวันออก-ตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมุมไบ). เขตเทือกเขาฆาฏตะวันตก (Western Ghats range)
ถ้ำหมายเลข 1-12 (หมู่ถ้ำในพระพุทธศาสนา)
หมู่ถ้ำนี้ ตั้งอยู่ทางทิศใต้และสร้างขึ้นระหว่างพุทธศักราชที่ 1173 ถึง 1243 หรือคริสตศักราชที่ 600-730 ในระยะแรกก็เข้าใจว่าถ้ำพุทธศาสนานี้เป็นถ้ำเจาะที่เก่าแก่ที่สุดที่สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-153 หรือคริสต์ศวรรษที่ 5-8 โดยมีถ้ำที่ 1-5 ได้เจาะขุดในระยะแรก (พ.ศ.943-1143 หรือ ค.ศ.400-600) และถ้ำที่ 6-12 ได้เจาะขุดในระยะที่สอง (พ.ศ.1193-1293 หรือ ค.ศ.650-750) แต่มีนักวิชาการสมัยใหม่ในปัจจุบันถือว่าการเจาะขุดถ้ำพราหมณ์-ฮินดูมีมาก่อนการเจาะขุดถ้ำพุทธศาสนา หมู่ถ้ำพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดคือถ้ำที่ 6 จากนั้น 5, 2, 3, 5 (ปีกขวา), 4, 7, 8, 10 และ 9 [60] พร้อมถ้ำที่ 11 และ 12 หรือที่เรียกว่าโดธาล (Do Thal) และตินธาล (Tin Thal) ตามลำดับ ตินทาลเป็นถ้ำที่ขุดเจาะทีหลังสุด.
ถ้ำหมายเลข 1
ถ่ายไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2566
ถ้ำหมายเลข 1 เป็นวิหารที่เรียบง่าย ไม่มีเสาหรืองานแกะสลัก พระภิกษุใช้ห้อง 4 ห้องในกำแพงด้านทิศใต้และทิศตะวันออกรอบ ๆ , มีห้องโถงขนาด 13 ตารางเมตร เพื่อเป็นที่จำพรรษา เนื่องด้วยไม่พบพระพุทธรูปใด ๆ ภายในถ้ำนี้.
ถ้ำหมายเลข 2
ทวารบาล, ถ่ายไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2566
ถ้ำหมายเลข 2 นี้ เคยเป็นห้องสักการะและเข้าถึงได้โดยใช้บันได ที่ประตูถ้ำมีทวารบาล (द्वारपाल - เทพเฝ้าประตู) ขนาบข้างด้วยหน้าต่าง ภายใน (14.5 ตร.ม.) มีห้องโถง เสา 12 ต้นรองรับห้องโถงนี้ เสาบางส่วนตกแต่งด้วยลวดลายกระถางและใบไม้ มีระเบียงทอดยาวลงมาแต่ละด้าน ตรงกลางผนังด้านหลังมีพระพุทธปางประทับนั่งสูง 3 เมตร และประทับยืน 2 องค์ ขณะที่ตามผนังแต่ละด้านมีพระพุทธรูป 5 องค์ พร้อมด้วยพระโพธิสัตว์ (बोधिसत्त्व) และนางอัปสร (अप्सरा - นางไม้สวรรค์).
ถ้ำหมายเลข 306.
ถ้ำ 3 นี้ อยู่ต่ำกว่าถ้ำ 2 แต่ก็อยู่ในยุคเดียวกัน ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์นัก ครึ่งขวาของผนังถ้ำด้านหน้าหายไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับระเบียงที่อยู่ด้านหน้าด้วย ตัวถ้ำเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สมบูรณ์แบบ วัดได้ด้านละประมาณ 45 ฟุต ถ้ำสูง 11 ฟุต รองรับด้วยเสา 12 ต้น โดยมีการแกะสลักหูห้อยลงมาพาดคอเป็นวงกลม. ทั้งสามในแต่ละด้านถูกปิดกั้นด้วยเสาหินสลักคอแปดเหลี่ยม มีห้องโถงตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านซ้ายสุดของระเบียงมีช่องแสดงพระพุทธรูปประทับนั่งบนดอกบัวซึ่งมีพญานาคสองตนใช้เศียร (ห้าเศียรรองรับ) หรือที่เรียกกันว่า ปัทมาสนะ (Paddhamasana - หรือท่าดอกบัว หรือ ชาวพุทธศาสนิกในไทยเรียกว่า ท่าขัดสมาธิเพชร) มีอัครสาวกทั้งด้านซ้ายและขวา สาวกด้านซ้ายใช้พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว มีวิหารอยู่ที่ปลายระเบียง รอบกำแพงมีกุฏิถ้ำเล็ก ๆ สำหรับนั่งสมาธิจำนวน 12 กุฏิ.
รูปแกะสลักพระพุทธเจ้าในท่าขัดสมาธิเพชร หรือ ปัทมาสนะ (Paddhamasana), ที่มา: www.indiathatwas.com, วันที่เข้าถึง: 26 มีนาคม 2567.
ภายในถ้ำหมายเลข 3, ที่มา: smarthistory.org, วันที่เข้าถึง: 26 มีนาคม 2567.
มีกุฏิสำหรับภิกษุ 12 ห้อง ข้างละ 5 ห้อง และด้านหลัง 2 ห้อง อย่างไรก็ตาม ช่องถ้ำเจาะหนึ่งทางด้านขวาถูกทำลายไปหมดแล้ว ระหว่างสองถ้ำเจาะด้านหลังคือที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งเล็กกว่าในถ้ำสุดท้าย ผนังด้านซ้ายของถ้ำมีรูปแกะสลักพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกเล็ก ๆ สองรูป.
รูปแกะสลักพระอวโลกิเตศวรหรือพระโพธิสัตว์ปัทมะปานี, ถ่ายไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2566.
ทางด้านขวามือเป็นรูปแกะสลักแต่ไม่มีใครสังเกตเห็นแต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ อาจเรียกว่าการสวดมนตร์พุทธะ หรือ บัทธะ (Bauddha Litany) และเกิดขึ้นที่อื่นในถ้ำของนิกายในบริเวณต่าง ๆ เช่น อชันตะ (Ajanta) และกัณเหรี (Kanheri) ซึ่งกล่าวถึงภัยอันตรายทั้งแปดประการ (1. น้ำ, 2. สิงโต, 3. ไฟ 4. งู 5. ช้าง 6. โจรขโมย 7. นักโทษ และ 8. ผีสาง) มีพระอวโลกิเตศวรหรือพระโพธิสัตว์ปัทมะปานี (Padmapani) ปรากฏอยู่ตรงกลาง โดยมีฉากเล็ก ๆ สี่ฉากในแต่ละด้าน ส่วนบนสุดทางขวามือแสดงถึงไฟอันยิ่งใหญ่ โดยมีร่างสวดมนต์ต่อปัทมาปานี ประการที่สอง ร่างที่มีดาบ และเหยื่อของเขาที่มีท่าทีวิงวอนคล้าย ๆ กัน ส่วนที่สามและสี่แตกหัก แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นบุคคลที่ถูกคุมขังและบุคคลในเรือที่ถูกพายุคุกคามตามลำดับ ด้านซ้ายของปัทมาปานี รูปสวดมนต์พร้อมสิงโต คนที่มีงูสองตัว ที่สามมีช้างโกรธและสุดท้ายคือกาลีเทพีแห่งความตายไล่ตามเหยื่อที่กำลังสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้า.
ถ้ำหมายเลข 4.
ถ้ำ 4 นี้ พังทลายไปมาก ครึ่งหนึ่งด้านนอกจะหายไปเกือบหมด ถ้ำมีขนาด 35*40 ฟุต
ด้านในของถ้ำ มีหินแกะสลักเป็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งภัทรสนะ (Bhadrasana) พระหัตถ์ด้านซ้ายหินทรายหลุดออกไปมาก มีพุทธสาวก เทวดารายรอบ และเทพแคระเหาะอยู่ด้านบน มีเทพสตรี (ชาตะ มุคุตะ - Jata mukuta) ยืนถือลูกประคำด้านซ้าย และด้านขวาเป็นเทพ ซึ่งสันนิษฐานว่าคือพระวัชรปาณีโพธิสัตว์สวมมงกุฎ พิงเทพแคระร่างใหญ่ด้านขวา, ถ่ายไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2566.
ด้านซ้ายของถ้ำ มีหินแกะสลักพระโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวร หรือ ปัทมะปานีประทับนั่ง มีพระเศียรสูง มีพระพุทธองค์เล็กอยู่บนเศียรด้านหน้า มีกุญแจห้อยบนไหล่ขวา ส่วนบนไหล่ซ้ายมีหนังกวางพาดอยู่ ถือมาลาหรือลูกประคำที่พระหัตถ์ขวา ทรงจับดอกบัวไว้ที่ต้นขาซ้าย ซ้ายขวามีเทพสตรีคอยดูแล องค์หนึ่งถือสายประคำที่มือขวา (บ้างก็ว่าเทพสตรีองค์นี้ชื่อ Tara ถือเหยือกน้ำ) อยู่องค์หนึ่งมือขวาถือดอกบัวตูม (บ้างก็ว่าเป็นเทพสตรีชื่อ Bhrikuti ถือช่อดอกบัว) ด้านหลังมีพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้ายืนอยู่, ถ่ายไว้เมื่อ 19 กรกฎาคม 2566.
ถ้ำหมายเลข 14
ภาพสลักศิวนาฎราช ถ้ำหมายเลข 14 หมู่ถ้ำเอลโลร่า, รัฐมหาราษฎระ, ภารตะ, ถ่ายไว้เมื่อ 20 กรกฎาคม 2566.
ถ้ำหมายเลข 16
ไกรลาศนาถมนเทียร หรือ เทวาลัยไกรลาศนาถ (Kailāsanātha Temple) - เป็นเทวาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาถ้ำเจาะ (Rock-cut)
แผนภูมิของถ้ำหมาย 16: ไกรลาศนาถมนเทียร, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 17 สิงหาคม 2566.
ไกรลาศนาถมนเทียรนี้ เกิดขึ้นจากการออกแบบทางสถาปัตยกรรมผนวกกับการสำรวจเนื้อหินภูเขาไฟ ด้านความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักหินได้เพียงใด หากเจาะเป็นโพรงทำเป็นชั้นต่าง ๆ ภายใน โดยไม่ให้เกิดการยุบตัว ด้านหน้าทางเข้าถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันตก สามารถตีความหมายได้สองแนวทาง หนึ่ง) เป็นที่ประทับของพระอิศวรหรือพระศิวะ และเป็นสถานที่สถิตของวิญญาณหลังความตายของเหล่ากษัตริย์ หลอมรวมกับพระอิศวรที่เป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจ (นายผี - นายของผี ตามนามแฝงของ คุณอัศนี พลจันทร์ - นักเขียน นักประพันธ์นามอุโฆษ) สอง) ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ สโลบความชันผาของทิวเขาด้านตะวันตก เหมาะแก่การเจาะหินทำเป็นวิหารมากกว่าด้านตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบสูงทอดยาวไป (plateau) (ขอขอบคุณข้อมูลนี้จากล่ามท้องถิ่นที่ชื่อ สัญชัย-Sanjay).
ด้านหน้าถ้ำหมายเลข 16: ไกรลาศนาถมนเทียร, ถ่ายไว้เมื่อ 20 กรกฎาคม 2566.
ซุ้มประตูศาลา มณฑปโคปุระ ข้างมุขหน้าฐานอาคารสภามณฑป (Sabhā-Mandapa)
ด้านหน้าของถ้ำหมายเลข 16: สภามณฑปซึ่งอยู่ด้านหน้าของวิมานประธาน มีภาพแกะสลักทวยเทพ เทพนพเคราะห์ (Navagrahás) เทพเจ้าประจำทิศ (ทิศปาลกะ-Dikpālakas-หรือพระโลกบาล-Lokapāla) (รายละเอียดดูใน A02.-บทนำ - เหล่าเทพเจ้า) อวตารต่าง ๆ ของพระวิษณุ พระคเณศ มหาฤๅษี เป็นต้น, ถ่ายไว้เมื่อ 20 กรกฎาคม 2566.
มีภาพสลักขนาดใหญ่ ตรงผนังเทวาลัยด้านหน้าตรงกึ่งกลาง สลักเป็นภาพ "โยคะทักษิณามูรติ" บรมครูแห่งปัญญาความรู้ขนาดใหญ่ (อ้างจาก 02), ถ่ายไว้เมื่อ 20 กรกฎาคม 2566.
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. จาก. en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 4 สิงหาคม 2566.
02. จาก. Facebook เพจ "Voranai Pongsachalakorn," "วิจิตรศิล์ปแห่ง "องค์พระศิวะมหาเทพ" เทวาลัยไกรลาสนาถ เอลโลร่าที่ 16", วันที่เข้าถึง 17 สิงหาคม 2566.
03. จาก. Our Colourful World in Ajanta & Ellora, 2011, Mittal Publications, New Delhi, India.
04. จาก. A Colourful Guide Book of Ajanta Ellora Aurangabad Daulatabad Khultabad, World Famous Heritage, Mittal Publications, Year: NA., Publishing Place: NA.
05. จาก. Colourful World Heritage Ellora Ajanta, Latest Edition, Mittal Publications, Year: NA., Publishing Place: NA.
06. แปลและปริวรรตจาก. https://www.indiathatwas.com/2012/12/ellora-cave-3/, วันที่เข้าถึง 22 มีนาคม 2567.
07. https://elloracaves.org/caves.php?cmd=search&words=&cave_ID=4&plan_floor=1&image_ID=4213