MENU
TH EN
ด้านหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี01.
First revision: Mar.07, 2023
Last change: Mar.09, 2023
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี เป็นพระอารามในตำบลท่าหิน อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่มีการปรับปรุงซ่อมแซมหลายครั้ง ทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระราเมศวร และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ.
       วัดพระศรีมหาธาตุนี้ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนพุทธาวาส และสังฆาวาส ซึ่งส่วนหลังนี้ถูกบุกรุกไปหมดแล้ว คงเหลือพื้นที่ส่วนพุทธาวาส มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ มีถนนตัดรอบวัด.
       องค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุยังปรากฎผลงานภาพจิตรกรรมฯ 8 จอมเจดีย์แห่งสยาม02. ณ วัดเบญจมบพิตร อีกด้วย.
     

ผังภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.

อาคาร เจดีย์ พระปรางค์ วิหารสำคัญภายในวัด:
1. ศาลาเปลื้องเครื่อง - เป็นจุดแรกนับเริ่มจากทางเข้าด้านหน้า (ทิศตะวันออก) ศาลาเปลื้องเครื่องนี้ใช้เป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์เปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่องคงเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น ส่วนอื่นปรักหักพังไปหมดแล้ว.
2. วิหารหลวง หรือวิหารเก้าห้อง - เป็นส่วนที่ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นวิหารขนาดใหญ่ ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบกอธิคของฝรั่งเศส เหลือผนังทั้ง 4 ด้าน.

พระพุทธลวบุรารักษ์ พระประธานในวิหารหลวง, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.
 
       เมื่อ พ.ศ.2563 มีการสร้างฐานชุกชี และประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายในวิหารคือ "พระพุทธลวบุรารักษ์" เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปางนาคปรก แกะสลักจากหินทรายเขียว ขนาดหน้าตักกว้าง 1.5 เมตร สูง 3 เมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ซึ่งจังหวัดลพบุรีร่วมกับพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นสิ่งเคารพบูชาของชาวลพบุรี และประชาชนทั่วไป โดยได้รับพระประทานนามจาก สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ว่า "พระพุทธลวบุรารักษ์" แปลว่า พระพุทธเจ้าทรงปกปักรักษาเมืองลพบุรี.
3. พระอุโบสถขนาดย่อม - ทางทิศใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด.

 

พระปรางค์ประธาน, ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.
 
4. พระปรางค์ประธาน - ด้านหลังของวิหารหลวง หรือทางทิศตะวันตกเป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ที่สุดในลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างราว พ.ศ.1500 - 1800 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ ที่ลายปูนปั้นหน้าบันพระปรางค์แสดงถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน และซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่ถือว่างดงามมาก ทางซ้ายหรือทางใต้ของปรางค์ ที่หน้าบันจะเห็นภาพพระอมิตาประทับบนดอกบัวมีก้านในสุขาวดีสวรรค์ ตามคติพุทธมหายาน ลายปูนปั้นที่หน้ากระดานแถวบนสุด เป็นลายกระหนกที่ได้รับอิทธิพลขอมศิลปะสมัยละโว้ ลายปูนปั้นเป็นมกรคายนาค หน้าบันซุ้มโคปุระ หรือซุ้มหน้าของปรางค์ประธานเป็นศิลปะละโว้กับอโยธยา.
       เดิมคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ ซึ่งต่อมาก็ได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์ ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก.

เจดีย์หมายเลข 1ข. ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.

5. เจดีย์หมายเลข 1ข. - เป็นปรางค์รายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีมุมกลีบมะเฟืองทุกมุมปั้นเป็นรูปเทพพนมหันออกรอบทิศ พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ทอง ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ เป็นศิลปะที่มีความงามแปลกตาหาดูได้ยากในเมืองไทย.
6. ด้านทิศใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุ - มีกองประติมากรรมหินทราย พระพุทธหักมาเรียงกองไว้.
7. วิหารเล็ก ๆ ทางทิศเหนือ มีพระพุทธไสยาสน์ประทับอยู่.
8. เจดีย์รายอยู่รอบพระปรางค์ใกล้ชิดกำแพงวัด หลายองค์ยังมีภาพลวดลายปูนปั้นที่งดงามอยู่.
      
เจดีย์รายทางทิศใต้เยื้องไปทางตะวันตก จากซ้ายไปขวา เจดีย์หมายเลข 13ข. และเจดีย์หมายเลข 14ข. ตามลำดับ. ถ่ายไว้เมื่อ 5 มีนาคม 2566.

9. วิหารคดยังมีสภาพที่ดีเหลือให้ชมมาบรรจบกันที่ท้ายวิหารหลวง.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. อ้างอิงจาก. th.wikipedia.org, และการสืบค้น สำรวจสถานที่จริงของข้าพเจ้า.
02. แปดจอมเจดีย์แห่งสยาม จากภาพจิตรกรรมในวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ 1). พระมหาธาตุนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช 2). พระธาตุพนม จ.นครพนม 3). พระบรมธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน 4). พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม 5). พระธาตุเมืองละโว้ จ.ลพบุรี 6). พระมหาธาตุศรีสัชนาลัย (วัดช้างล้อม) จ.สุโขทัย 7). พระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง จ.สุโขทัย และ 8). พระเจดีย์ชัยมงคล วัดใหญ่ชัยมงคล (วัดเจ้าไท) จ.พระนครศรีอยุธยา

 
info@huexonline.com