MENU
TH EN
Title Thumbnail: วัดตูม ปี พ.ศ.2433 ที่มา: Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," วันที่เข้าถึง 20 สิงหาคม 2564.
TC001. วัดตูม - อยุธยา01. 
First revision: Aug.20, 2021
Last change: Aug.20, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดตูม ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา ริมถนนสายประตูชัย-แยกป่าโมก ทางทิศเหนือของเกาะเมือง ริมคลองวัดตูม ถนนอยุธยา-อ่างทองห่างจากตัวเมืองอยุธยาประมาณ 6-7 กิโลเมตร เลยทุ่งลุมพลีไปหน่อยเดียว ในท้องที่ตำบลวัดตูมมีเนื้อที่วิสุงคามสีมาประมาณ15ไร่เศษ.

       เป็นวัดหนึ่งในหลายวัดของอยุธยาที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยใดได้แต่สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยเมืองอโยธยาก่อนที่จะตั้งกรุงศรีอยุธยา วัดนี้เคยร้างมาครั้งหนึ่งนานนับสิบ ๆ ปีช่วงสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปีพ.ศ.2310 รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้รั้งเมืองร่วมกับประชาชนปฏิสังขรณ์วัดตูมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและโปรดให้มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษามาจนถึงปัจจุบัน.

       วัดตูม มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยคือเป็นวัดที่มีอายุมานานไม่น้อยกว่า1,000 ปี และเป็นสถานที่สำหรับลงเครื่องพิชัยสงครามมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชื่อหลวงพ่อสุข ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษคือพระเศียรตอนเหนือพระนลาฏ (หน้าผาก) เปิดออกได้และพระเกศมาลาถอดออกได้ภายในพระเศียรเป็นบ่อกว้างลึกลงไปเกือบถึงพระศอมีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลาเหมือนหยาดเหงื่อแต่เป็นน้ำใสเย็นชุ่มบริสุทธิ์ปราศจากมลทินและสามารถดื่มกินได้โดยปราศจากอันตรายชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถรักษาโรคทุกอย่างได้.

       วัดตูมเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการทหารด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างธงพระกระบี่ธุชซึ่งเป็นธงประจำตำแหน่งจอมทัพโดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จัดทำขึ้นโดยมีพระครูธรรมเสมาจารย์ (พระวิสุทธาจารย์เถร-เลื่อง)ร องเจ้าคณะเมืองกรุงเก่าแห่งวัดประดู่ทรงธรรม พระนครศรีอยุธยาได้ทำพิธีลงยันต์และอักขระที่วัดตูมนี้.

       ในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินที่วัดนี้อยู่หลายครั้งจึงถือเป็นวัดหลวงมาแต่สมัยรัชกาลนี้ ภายในวัดนั้นจะมีสระน้ำสำคัญอยู่ข้างพระอุโบสถซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้นำน้ำในสระนี้ไปใช้ในพิธีลงเครื่องพิชัยสงครามชุบพระแสง มีบันทึกไว้ในหนังสือพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าเมื่อปีพ.ศ.2451 ในรัชกาลที่ 5 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก127 มีเรื่องราวเกี่ยวกับวัดตูมปรากฏว่า.

       “...วัดตูมนี้ลานวัดมีต้นไม้ร่มชิดเป็นวัดอย่างสมถะแท้ พระอุโบสถใหญ่แต่มีหน้าต่างข้างละช่องจั่นหับหน้าหลังหน้าบันเทพนมก้านขดโต ๆ ปั้นลมเป็นรูปตุ๊กตา... แต่พระเจดีย์เป็น 2 องค์ องค์หนึ่งตรงหลังโบสถ์องค์หนึ่งไม่ตรงพระพุทธรูป ในนั้นมีแถวหน้า 3 แถว แถวหน้ามีพระทรงเครื่องที่มีน้ำในพระเศียรองค์หนึ่งอีกองค์หนึ่ง ว่าเชิญลงไปวัดเบญจมบพิตร แท่นว่างจะให้หาพระขึ้นมาตั้งเปลี่ยนพระ 3 องค์ แถวในปิดทองแต่เฉพาะที่พระองค์ผ้าทาชาด...

       สภาพของวัดตูมยุค 50 ปีล่วงมาแล้ว ครั้งหลวงปู่ถนอมเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น สภาพพื้นที่วัดยังมีความรกร้างอยู่มากและด้วยเหตุที่เป็นวัดเก่าโบราณอายุนับพันปีมาก่อน จึงมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เต็มพื้นที่จนรกทึบแลดูน่ากลัวแม้ในเวลากลางวันก็ยังหาสิ่งที่มีชีวิตผ่านไปได้ยากยิ่งตกเวลาเย็นค่ำด้วยแล้วจะหาผู้คนเดินผ่านวัดไปมาสักคนยังยากแม้กระทั่งพระในวัดที่มีจำพรรษาอยู่ไม่เกิน 5 องค์ ค่ำลงก็เข้ากุฏิไม่ยอมโผล่ออกมาจนกว่าจะเช้าออกมาบิณฑบาต.

       ด้วยความรกทึบของต้นไม้ใหญ่ในบริเวณวัดที่มีทั้ง ต้นรัง ต้นโพ ต้นไทร ต้นกร่าง ต้นไม้เต็ง ไม้รัง ฯลฯ นานาชนิด จึงเกิดคำร่ำลือกันว่าวัดตูมนี้ผีดุขนาดที่กลางวันยังกล้าออกมาหลอกผู้คน

       สภาพของวัดตูมก็เหมือนกับสภาพของวัดเก่าแก่วัดร้างในอยุธยาทั่ว ๆ ไปคือมีเสนาสนะที่ทรุดโทรมมีป่าช้าอยู่ด้านหลังของวัด มีเชิงตะกอนอยู่ติดกับป่าช้าคั่นด้วยศาลาธรรมสพน์ หน้าวัดเป็นคลองกว้างเรียกว่าคลองวัดตูม เป็นคลองเชื่อมกับคลองกบเจา ที่ไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเข้ามาสู่คลองวัดตูมที่ประตูชัยไหลไปออกแม่น้ำลพบุรีที่ทุ่งทะเลหญ้า.

       ที่คลองนี้ช่วงหน้าวัดตูม จะมีศาลาท่าน้ำเก่าหลังคามุงกระเบื้องดินเผาอยู่หลังหนึ่ง และมีเรือบิณฑบาตของหลวงปู่เจ้าอาวาสจอดประจำอยู่ลำหนึ่ง ทุกเช้าหลวงปู่ถนอมกับเด็กวัดคนหนึ่ง ก็จะมาลงเรือพายไปโปรดสัตว์ตามบ้านชาวบ้านที่อยู่ริมคลองสองฝั่งเป็นประจำ ที่ศาลาท่าน้ำนี่แหละมีเสียงร่ำลือกันว่ามีผีดุปรากฏให้เห็นว่านั่งห่มผ้าขาวคลุมโปงโผล่หน้าดำ ๆอ ยู่ตรงที่ริมศาลาข้างบันไดท่าน้ำเป็นประจำ ชาวบ้านย่านท่าวัดตูมที่พายเรือผ่านท่าน้ำตอนเย็น ๆ โพล้เพล้ เคยเห็นมาเกือบทุกคน.

       สาเหตุที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา หลวงลุงของผมท่านขึ้นจากวัดตึกไปเยี่ยมหลวงปู่ถนอม ที่เป็นอาจารย์ของท่านในคราวหนึ่งหลวงปู่ถนอมเล่าให้หลวงลุงของผมฟังว่าตอนที่ท่านเข้ามาครองวัดได้สัก 5 พรรษา วันหนึ่งมีคนเสียสติพเนจรเดินมาจากไหนไม่ปรากฏ เข้ามาอาศัยนอนที่หน้าโบสถ์หลวงปู่เห็นก็เวทนาให้ข้าวก้นบาตรมันกิน อาศัยประคองชีวิตไปวัน ๆ คนบ้าคนนั้นสติเสื่อมขนาดที่เสื้อผ้าไม่ยอมใส่เดินแก้ผ้าอยู่ในวัด หลวงปู่สงสารเลยเอาจีวรเก่า ๆ ผืนหนึ่งให้มันห่มกันอุจาดตา ตั้งแต่ได้จีวรหลวงปู่เจ้าคนบ้านั่นก็เลยผูกพันกับจีวรเก่าห่มไปห่มมาตลอดเลยหายอุจาดตาไปได้.

       หลวงปู่เรียกคนบ้านั่นว่า “ไอ้คง” ท่านบอกว่ามันจำได้เพียงชื่อและจำบ้านที่มันอยู่เดิมตอนเกิดได้ว่าอยู่ที่บ้านแพน การที่ไอ้คงเดินทางเร่ร่อนจากบ้านแพนมาถึงวัดตูมนี่ ถ้านับระยะทางก็หลายกิโลเมตรอยู่ แต่มันก็มาถึงจนได้และอยู่ที่นี่จนเกิดเหตุประหลาดอย่างหนึ่งคือ วันดีคืนดีไอ้คงก็ห่มจีวรขาดขึ้นไปกราบหลวงปู่ถึงกุฏิพูดจารู้เรื่องเหมือนคนสติดีทั่วไปมันเล่าให้หลวงปู่ฟังว่า.

       มันกินน้ำมนต์ในเศียรพระพุทธรูปที่ในโบสถ์จึงหายจากอาการบ้า หลวงปู่เห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกก็ให้ไอ้คงพาไปที่พระพุทธรูปที่เรียงรายอยู่ในโบสถ์เกือบ 10 องค์ ไอ้คงพาไปที่พระพุทธรูปองค์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดแล้วก็หมุนพระเกศมาลาและพระเศียรตอนเหนือพระนลาฏออก หลวงปู่ชะโงกดูก็เห็นน้ำใสบริสุทธิ์ในพระเศียรจริง ๆ ท่านถามไอ้คงว่ารู้ได้ยังไงมันก็บอกว่า มีเทวดามาบอกและว่ามันหมดกรรมจะต้องจากโลกนี้ไปแล้ว หลวงปู่ท่านก็เลยอาราธนายกพระพุทธรูปขึ้นไปตั้งไว้บนกุฏิ คนทั่วไปได้ข่าวก็แห่กันมาดูและขนานนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า “หลวงปู่สุข” (ซึ่งยังมีปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้).

       ข้างไอ้คงนั้นหลังจากมันหายจากสติฟั่นเฟือนได้แค่ 7 วัน อยู่มาวันหนึ่ง เด็กวัดก็พบมันนอนสิ้นใจอยู่ที่ศาลาท่าน้ำโดยไม่มีสาเหตุใด ๆ เรียกว่านอนหลับตายไปเฉย ๆ หลวงปู่ท่านก็เวทนามันเอาศพไอ้คงมาเผา แล้วสวดอุทิศส่วนกุศลให้มันไปสู่สุคติ ไอ้คงตายไปได้ 7 วัน ก็เกิดมีผีไอ้คงที่หน้าศาลาท่าน้ำหน้าวัดอาละวาด วันหนึ่ง ทิดมากับทิดมี สองคนพี่น้องคนบ้านกบเจา เอาไก่ชนที่มีอยู่ลงเรือพายไปบ้านเพื่อนที่ลุมพลีเพื่อจะเอาไก่ไปซ้อมกะไว้ว่าจะเอาลงสังเวียนที่ลุมพลีตอนวันพระหน้า ขากลับสองคนก็พายเรืออีป๊าบผ่านหน้าวัดตูม ช่วงนั้นเป็นเวลาเย็นโพล้เพล้แดดผีตากผ้าอ้อมเหลืองคล้ำทำให้มัวหน้ามัวตาสองคนพี่น้องพี่พายท้ายน้องพายหัวผ่านบ้านผู้คนที่บางตามาจนเข้าเขตวัด.

       และกระทั่งผ่านเข้ามาที่ศาลาท่าน้ำหน้าวัดตูม สองคนพี่น้องพาเรือกันมาเงียบ ๆ และทุกอย่างก็เงียบจริง ๆ ได้ยินแต่เสียงจ๋อม ๆ ของพายจุ่มน้ำนาน ๆ จะมีเสียงปลาผุดบ้าง เสียงนกกลางคืนบินผ่านมา ส่งเสียงร้องบ้าง ลมเย็นจากท้องทุ่งไกล ๆ พัดมากระทบผิวน้ำ พาลเย็นยะเยือกไปทั่วร่างและ..ทันใดนั้นทั้งสองพี่น้องก็รู้สึกขนลุกซู่ไปทั้งตัวเพราะ....ที่ศาลาท่าน้ำหน้าวัดมีร่าง ๆ หนึ่งห่มผ้าขาวคลุมทั้งตัวเหมือนผีถูกมัดตราสังนั่งตะคุ่ม ๆ อยู่บนยกพื้นศาลาหันข้างมาทางสองพี่น้องที่กำลังพายเรือผ่าน ทิดมาคนน้องหันหน้ามามองทิดมีพี่ชายที่พายท้ายก็เห็นพี่ชายกำลังตาเขม็งมองดูร่างที่คลุมผ้าขาวนั้นไม่มีสรรพเสียงใด ๆ ออกมาจากปากของชายทั้งสองคนแต่มือต่างก็กำพายจนแน่น.

       เรืออีป๊าบของสองพี่น้องถูกคัดท้ายให้พายเลาะไปทางฝั่งตรงข้ามของศาลา แต่ระยะความกว้างมันก็ไม่ห่างจากศาลาสักเท่าไหร่ พอเรือเลยบันไดท่าน้ำของศาลามาได้ไม่เกินวา ร่างที่ห่มผ้าขาวคลุมทั้งร่างก็หันมาสบตาไอ้สองคนพี่น้องตกตะลึงตัวชาไปทั้งคู่เพราะหน้า..ที่หันมานั้นมันดำสนิทเห็นแต่ลูกนัยน์ตาสีขาวกลวงโบ๋. ทั้งสองคนร้องออกมาพร้อมกันว่า “ผี...หลอกโว้ย” เท่านั้นล่ะเสียงจ้วงพายลงน้ำดังพรึบไม่ต่างอะไรกับการจ้วงพายแรกของเรือยาวที่แข่งกันกลางน้ำเรืออีป๊าบลำนั้นแล่นฉิวไปยิ่งกว่ามีแรงฝีพายสักสิบพายถึงบ้านกบเจาเมื่อไหร่ไม่รู้ตัว พอถึงก็เอาหัวเรือเกยตลิ่งวิ่งขึ้นไปนั่งหอบแห่กซี่โครงบานอยู่บนบ้านไม่ยอมพูดยอมจากับใครพูดแต่ว่า “ผี...ผี...ผี”.

       หลวงลุงเล่าให้ผมฟังว่า ผีที่ศาลาท่าน้ำหน้าวัดตูมเป็นวิญญาณสัมภเวสีของไอ้คง มันมานั่งรอเพื่อขอส่วนบุญถ้ามีคนอุทิศให้มันก็จะได้ไปผุดไปเกิดเสียทีแต่ก็ยังไม่มีใครอุทิศให้เพราะเห็นมันทีไรก็โกยอ้าวอย่างไม่รั้งรอไปด้วยกันทั้งนั้นจนหลวงปู่ท่านมาพบกับมันเองตอนเช้ามืดวันหนึ่งมันมานั่งรอขอส่วนบุญ ตอนที่ท่านจะไปบิณฑบาตท่านก็เลยกรวดน้ำให้วิญญาณไอ้คงเลยได้ไปเกิดไม่มาวนเวียนต่อไปแล้ว.

     “ที่ข้าขึ้นไปวัดตูมคราวนั้นก็จะไปพิสูจน์น้ำในเศียรหลวงปู่สุขนั่นแหละอ๋อ...ของจริงซีวะถ้าเอ็งไม่เชื่อจะไปดูด้วยกันก็ได้” หลวงลุงว่า




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "นครประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยา," อ้างถึง "เรื่องเล่าเขย่าขวัญ", วันที่เข้าถึง 20 สิงหาคม 2564.
humanexcellence.thailand@gmail.com