First revision: Nov.07, 2017
Last change: Aug.14, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
วัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช01,02,03
วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร. เป็นวัดใหญ่ ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองโบราณ ค่อนมาทางทิศใต้ มีเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน ถนนราชดำเนินที่ตัดผ่านหน้าวัดนั้น สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นถนนโบราณ.
เป็นศาสนสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์ บนคาบสมุทรมลายู ตั้งอยู่บนสันทรายโบราณ ซึ่งเรียกว่า "หาดทรายแก้ว" อันเป็นเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน มีพัฒนาการจากสถานีการค้าทางทะเลตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม บนคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อว่า "ตามพรลิงค์" หรือ "กะมะลิง" (ตามจดหมายเหตุของจีน05 เรียกเมืองแห่งนี้ว่า ตั้งมาหลิง ตามคัมภีร์บาลีมหานิทเทสติสฺสเมตฺเตยฺยสูตร เรียกว่า ตามฺพลิงฺคม และในศิลาจารึกหลักที่ 24 เรียกว่า ตามพรลิงค์) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่มีชื่อว่า "สุวรรณภูมิ" ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา.
สถานีการค้าชื่อ "ตามพรลิงค์" หรือ "กะมะลิง" พัฒนาขึ้นโดยลำดับ จนขึ้นเป็นรัฐในพุทธศตวรรษที่ 10 ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 13-16 รัฐนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐ "ศวีวิชัย" ซึ่งมีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นหลัก และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในเครือข่ายของโลกการค้าทางทะเลบนคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
ประวัติการสร้างวัด ไม่มีหลักฐานชั้นต้นกล่าวไว้แน่ชัด มีแต่เพียงเอกสารที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าภายหลังจากเหตุการณ์จริงนานมาก หลักฐานเอกสารที่ชัดเจนแสดงให้ประจักษ์ ปรากฎขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ประวัติ
- พ.ศ.854 เจ้าชายทนทกุมารและพระนางเหมชาลา และบาคู (แปลว่า นักบวช) ชาวสิงหล ได้สร้างวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์องค์เดิมเป็นเจดีแบบศรีวิชัย คล้ายเจดีย์กิริเวเทระ ในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา.
- พ.ศ.1093 พระเจ้าจันทรภาณุ ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมกับการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ เป็นเจดีย์แบบศาญจิ.
- พ.ศ.1770 พระเจ้าจันทรภาณุ (คนละพระองค์กับที่สร้างเมืองนครฯ แต่ชื่อซ้ำกัน) ได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์แบบลังกา ทรงระฆังคว่ำหรือโอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง สูงจากฐานถึงยอดปลี 37 วา สองศอก หุ้มทองคำเหลืองอร่ามสูงหกวา (เท่ากับสองเมตร) (ด้วย หนึ่งศอกเท่ากับ 0.50 เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนา เท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (เท่ากับ 960 บาท) รอบพระมหาธาตุ มีองค์เจดีย์ 158 องค์.
- ดู 04 ประวัติในปลายพุทธศตวรรษที่ 17
- พ.ศ.2155 และ พ.ศ.2159 สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถมีการซ่อมแผ่นทอง ที่ปลียอดพระบรมธาตุ.
- พ.ศ.2190 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ยอดพระบรมธาตุได้ชำรุดหักลง และได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่.
- พ.ศ.2275-2301 สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการดัดแปลงทางเข้าพระสถูปพระบรมธาตุบริเวณวิหารพระทรงม้า.
- พ.ศ. 2312 สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปฏิสังขรณ์พระอารามทั่วไปภายในวัด และโปรดให้สร้างวิหารทับเกษตร ต่อออกจากฐานทักษิณรอบองค์พระบรมธาตุ.
- สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ได้บุรณะพระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร พระบรมธาตุที่ชำรุด.
- ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บูรณะกำแพงชั้นนอก วิหารทับเกษตร วิหารธรรมศาลา วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูป.
- พ.ศ.2457 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ติดตั้งสายล่อฟ้า ยอดองค์พระบรมธาตุเจดีย์.
- พ.ศ.2515-2517 บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และพระอุโบสถ.
- พ.ศ.2530 ซ่อมกลีบบัวทองคำ ที่ฉีกขาดเปราะบาง เสื่อมสภาพเป็นสนิม เสริมความมั่นคงแข็งแรงที่กลีบบัวปูนปั้น ในวันที่ 28 สิงหาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จอัญเชิญแผ่นกลีบบัวทองคำ ขึ้นประดิษฐ์บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์.
- พ.ศ. 2537-2538 บูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ และเสริมความมั่นคงปูนแกนในปลียอด ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 50 ล้านบาท เป็นทองคำ 141 บาท (มาตราชั่ง ตวง วัด ของไทย 1 บาท เท่ากับ 15.2 กรัม).
กรมศิลปากร ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479 และคณะกรรมการมรดกโลก มีมติในการประชุมคณะกรรมการสมัยที่ 37 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2556 รับรองวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นก่อนเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก.
หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรศรีวิชัย-ตามพรลิงค์04 ในปลายพุทธศตวรรษที่ 17 หัวเมืองในทะเลใต้ต่างประสบกับโรคระบาด จนทำให้ไม่สามารถกลับมาก่อร่างสร้างเมืองกันใหม่ได้ จึงเป็นเหตุให้ พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราช หรือที่ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเรียกว่า "ท้าวอู่ทอง" กษัตริย์ผู้ครองเมืองเพชรบุรี ได้ส่งโอรสพระนามว่า "พระพนมวัง" พร้อมด้วยไพร่พลจำนวนหนึ่ง ลงมาฟื้นฟูบูรณะหัวเมืองในทางตอนใต้ทั้งหมด ให้กลับเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง
สาเหตุของการที่พระมหากษัตริย์แห่งเพชรบุรี-อโยธยา ต้องส่งพระราชโอรสองค์สำคัญลงมาบูรณะบ้านเมืองนั้น มีสาเหตุมาจาก การที่พระพนมทะเลศรีฯ ได้ให้สัตย์สาบานต่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชจันทรภาณุมหาราช (King Chandra Banu - หรือพระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 2 ของราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช ประมาณ พ.ศ.1746-1813)แห่งศรีวิชัย-ตามพรลิงค์พระองค์สุดท้าย โดยเบื้องต้นนั้น พระพนมทะเลศรีฯ หรือท้าวอู่ทองได้ทรงต้องการที่จะดีเมืองศิริธรรมนคร หรือ ตามพรลิงค์เป็นเมืองขึ้น แต่เมื่อได้ทำสงครามกับพระเจ้าจันทรภาณุ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ จนไม่สามารถบุกลงไปทางใต้ได้สำเร็จ จึงขอเจรจาสงบศึกกับมหาราชจันทรภาณุ ที่ตำบลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่ปักปันเขตแดนกันเสร็จแล้ว พระพนมทะเลศรีฯ และพระเจ้าจันทรภาณุ ได้ทรงหลั่งทักษิโณทก กระทำสัตย์สาบานแก่กัน ว่าจะทรงขอดองเป็นพระญาติ ฝากบ้านฝากเมืองแก่กัน และถ้าบ้านเมืองของใครเกิดมีอันเป็นไปเสียก่อน ก็จะไปช่วยบูรณะให้กลับเจริญดังเดิม หลังจากนั้นพระพนมทะเลฯ หรือท้าวอู่ทอง ก็ทรงถวายไทยทานมาช่วยเหลือการสร้างพระบรมธาตุเมืองนครอยู่เสมอ รวมทั้งมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน.
ที่มาและคำอธิบาย:
01. ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 18 ธันวาคม 2560.
02. ที่มา: pirun.ku.ac.th, วันที่สืบค้น 18 ธันวาคม 2560.
03. ที่มา: phramahathat-heritage.com, วันที่สืบค้น 19 ธันวาคม 2560.
04. ที่มา: ภูมิ จิระเดชวงศ์, จาก Facebook เพจ ประวัติศาสตร์วิจักษ์ เมื่อ 8 สิงหาคม 2561.
05. ที่มา: http://oknation.nationtv.tv/blog/nn1234/2012/10/23/entry-1/comment, วันที่สืบค้น 5 กันยายน 2561.
Gallery
ภาพที่ 02-03: จาก Facebook วันที่เข้าถึง 31 มีนาคม 2563.
ภาพที่ 04-09: โนราห์ รำถวาย รัชกาลที่ 5 ณ ลานหน้าวัดพระมหาธาตุฯ, ที่มา: Facebook เพจ "รูปเก่าในวันวาน 1960' Old Siam Photo", วันที่เข้าถึง 26 พฤษภาคม 2563.