MENU
TH EN

ก-2. บทนำ: ภควัทคีตา

ก-2. บทนำ: ภควัทคีตา
First revision: Mar.12, 2017
Last change: Apr.24, 2021

สืบค้น แปล เรียบเรียง และปริวรรตโดย: อภิรักษ์ กาญจนคงคา

สำหรับมหาคัมภีร์ภควัทคีตา หรือลำนำภควัทคีตานี้ ผมได้ใช้หนังสือที่เรียบเรียงโดย ฯพณฯ สรวปัลลี ราธากฤษณัน (Servepalli Radhakrishnan) นักปราชญ์และประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประเทศอินเดีย (14 พฤษภาคม พ.ศ.2505 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2510) เป็นแกนหลักในการแปล อธิบายเรียบเรียง. (THE BHAGAVADGITA, S. RADHAKRISHNAN, HarperCollins Publishers India Pvt Ltd. Printed in India, 14th impression 2000). หนังสือเล่มนี้ผมได้มาเมื่อวันสงกรานต์ ปี พ.ศ.2544 คราวไปสัมมนาด้าน SMEs Development ในนามผู้แทนจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่กรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย และได้เล่มฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สอง (พ.ศ.2492) เมื่อปี พ.ศ.2560 จากการสั่งซื้อทางออนไลน์ ใคร่ขอแปลเป็นภาษาไทย และขออัญชลีต่อผู้ประพันธ์ เหล่ามหาปราชญ์ที่ได้รจนาลำนำภควัทคีตาแต่เก่ากาล และ ฯพณฯ ราธากฤษณัน รวมทั้งผู้ประพันธ์ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับลำนำนี้ อันจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า ด้วยความเคารพยิ่ง.

ด้วยความเห็นส่วนตน การแปลตรง ๆ คำต่อคำ หรือประโยคต่อประโยคนั้น อาจจะทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจครบถ้วน ทั้งนี้เพราะพลวัตของบริบท ตัวอย่าง สถานการณ์ เวลาที่ผ่านไปร่วมสองพันปี และวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ค่านิยม ฯลฯ เปลี่ยนไปมาก ผมใคร่ขอแปลและแทรกบางคำบางประโยค เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผมขอรับผิดชอบหากมีความผิดพลาดในการแปล ซึ่งท่านผู้สนใจสามารถ ท้วงติง ติชม แนะนำหรือขอให้ตัดทอนมาได้ที่ k.apirak@huexonline.com ได้ทุกเมื่อ ซึ่งถือว่าท่านมีส่วนสำคัญในการให้ลำนำแห่งพระเจ้านี้ มีความสมบูรณ์ เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้สนใจรุ่นหลัง ๆ หรือท่านอื่น ๆ ต่อไปครับ.

คัมภีร์ภควัทคีตา แบ่งออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า อัธยายะ01 รวมทั้งสิ้น 18 อัธยายะ ด้วยกัน

18 อัธยายะ ประกอบด้วย:

1 อรชุนวิษาทโยคะ (ความท้อถอยของอรชุน) Prathama adhyaya (The Distree of Arjuna)
2 สางขยโยคะ (หลักทฤษฎี) Sankhya yoga (The Book of Doctrines)
3 กรรมโยคะ (หลักปฏิบัติ) Karma yoga (Virtue in Work or Virtue of Actions)
4 ชญาณกรรมสันยาสโยคะ (หลักจำแนกญาณ) Gyaana-Kaerma-Sanyasa yoga (The Religion of Knowledge)
5 กรรมสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละกรรมและการประกอบกรรม) Karma-Sanyasa yoga (Religion by Renoucing Fruits of Works)
6 ธยานโยคะ (หลักการเข้าฌาณ) Dhyan yoga or Atmasanyam yoga (Religion by Self-Restraint)
7 ชญาณโยคะ (หลักญาณ) Gyaana-ViGyaana yoga (Religion by Discernment)
8 อักษรพรหมโยคะ (หลักว่าด้วยพรหมไม่เสื่อมเสีย) Aksara-Brahma yoga (Religion by Devotion to the One Supreme God)
9 ราชวิทยาราชคุยหโยคะ (หลักว่าด้วยเจ้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งความลึกลับ) Raja-Vidya-Raja-Guhya yoga (Religion by the Kingly Knowledge and the Kingly Mystery)
10 วิภูติโยคะ (หลักทิพยศักดิ์) Vibhuti-Vistara-yoga (Religion by the Heavenly Perfections)
11 วิศวรูปทรรสนโยคะ (หลักว่าด้วยการเห็นธรรมกาย) Visvarupa-Darsana yoga (The Manifesting of the One and Manifold)
12 ภักติโยคะ (หลักความภักดี) Bhakti yoga (The Religion of Faith)
13 เกษตรชญวิภาคโยคะ (หลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย) Ksetra-Ksetrajna Vibhaga yoga (Religion by Separation of Matter and Spirit)
14 คุณตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกคุณ 3) Gunatraya-Vibhaga yoga (Religion by Separation from the Qualities)
15 ปุรุโษตตมโยคะ (หลักว่าด้วยบุรุษประเสริฐ) Purusottama yoga (Religion by Attaining the Supreme)
16 ไทวาสุรสัมปทวิภาคโยคะ (หลักว่าด้วยการจำแนกเทวสมบัติและอสูรสมบัติ) Daivasura-Sampad-Vibhaga yoga (The Separateness of the Divine and Undivine)
17 ศรัทธาตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกศรัทธา 3) Sraddhatraya-Vibhaga yoga (Religion by the Threefold Kinds of Faith)
18 โมกษสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละที่เป็นปฏิปทาแห่งโมกษะ) Moksha-Sanyasa yoga (Religion by Deliverance and Renunciation)



การขยายความอัธยายะทั้ง 1801,02  (ใน ค. บทนำ: ภควัทคีตา นี้ จะแสดง อัธยายะที่ 10-18 ต่อจากบทที่แล้ว)

อัธยายะที่ 10
วิภูติโยคะ (หลักทิพยศักดิ์) หรือ วิภูติโยคะ (โยคะแห่งวิภูติ) Vibhuti-Vistara-yoga (Religion by the Heavenly Perfections)
  • ด้วยพระปรเมศวรทรงเป็นผู้ให้กำเนิดเทวะและฤๅษีทั้งปวง ดังนั้นการรู้แจ้งในพระองค์จะทำให้เป็นอิสระจากบาปทั้งปวง.
  • วิภูติของพระอีศวรในรูปของภาวะต่าง ๆ .
  • "พุทธิสิทธิ" (ความสมบูรณ์ของพุทธิ) ได้มาด้วยญาณอันเกิดแก่ผู้รู้ในวิภูติโยคะของพระประเมศวร.
  • ปุจฉาของกษัตริย์อรชุนในวิภูติโยคะของพระปรเมศวร (อันคืออาตมัน) และวิธีเข้าถึง.
  • กถาในวิภูติของอาตมัน.
  • สิ่งปรากฎที่ประกอบด้วย ความประเสริฐ (สตฺตฺวมฺ) ความงาม (ศฺรี-มตฺ) และอำนาจ (อูรฺชิตมฺ) นั้น คือวิภูติอันเกิดแต่พระประเมศวร แต่เป็นเพียงอนุภาคเท่านั้น.



อัธยายะที่ 11
วิศวรูปทรรสนโยคะ (หลักว่าด้วยการเห็นธรรมกาย) หรือ วิศฺวูปทรฺสนโยค (โยคะแห่งทรรศนะในวิศวรูป) Visvarupa-Darsana yoga (The Manifesting of the One and Manifold)
  • คำอ้อนวอนของกษัตริย์อรชุนต่อพระกฤษณะ ให้แสดงรูปอันสูงสุดของพระองค์.
  • พระกฤษณะทรงโปรดกษัตริย์อรชุน และทรงประทานจักษุทิพย์แด่พระองค์.
  • สัญชัยอธิบายรูปจักรวาล (วิศวรูป) ของพระอีศวร.
  • กษัตริย์อรชุนทรงอธิบายรูปจักรวาลของพระอีศวรด้วยความปีติและหวาดหวั่น และทรงถามถึงกำเนิดและหน้าที่ขององค์พระอีศวร.
  • พระอีศวรทรงประทานคำตอบ และทรงประทานกำลังใจให้กษัตริย์อรชุนประกอบยุทธ ด้วยความเป็น "มาตร" ของพระองค์เท่านั้น.
  • กษัตริย์อรชุนทรงสรรเสริญพระปรเมศวร และทรงขอให้พระปรเมศวรทรงคืนรูปเดิมของพระองค์.
  • รูปอันสูงสุดนี้ หาอาจประจักษ์ได้ด้วยการประกอบยัญ หรือพิธีกรรมใด ๆ ไม่ และพระปรเมศวรทรงคลายรูปพระกฤษณะ.
  • การเข้าถึงสภาวะสูงสุดของพระปรเมศวรนั้นทำได้โดย ความภักดี (ภกฺติ) การสละในความยึดมั่น (นิะศงค) ความไม่เป็นศัตรู (นิรฺไวร) โดยถวายกรรมทั้งปวงแด่พระปรเมศวร.



อัธยายะที่ 12
ภักติโยคะ (หลักความภักดี) หรือ ภกฺติโยค (โยคะแห่งความภักดี) Bhakti yoga (The Religion of Faith)
  • กษัตริย์อรชุนทรงปุจฉาในปัญหาว่าสิ่งใดเหนือกว่ากันระหว่างการบูชาในสิ่งอันรับรู้ได้ (วฺยกฺโตปาสนา) กับการบูชาในสิ่งอันรับรู้ไม่ได้ (อวฺยกฺโตปาสนา).
  • วิธีทั้งสอง มีคติเหมือนกัน แต่การบูชาในสิ่งอันรับรู้ได้นั้นง่ายและสามารถเข้าถึงปรมัตถ์ได้เร็วกว่า.
  • วิธีการเข้าสมาธิอันอาจกำหนดได้ด้วยวิธีอันหลากหลาย เช่น การฝึกฝน (อภยาส) ญาณ (ชฺญาน) ฌาน (ธฺยาน) แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ การสละในผลแห่งกรรม (กรฺม-ผล-ตฺยาค).
  • ภาวะของผู้ภักดีอันเป็นที่รักของพระปรเมศวร อันถือว่าผู้ภักดีที่เปี่ยมด้วยศรัทธา และปฏิบัติตามธรรมะแห่งภกฺติโยคะนั้น เป็นที่รักที่สุดของพระปรเมศวร.
 

อัธยายะที่ 13
เกษตรชญวิภาคโยคะ (หลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย) หรือ เกฺษตฺรชฺญวิภาคโยค (โยคะแห่งวิภาคของเกษตรและเกษตรญาณ) Ksetra-Ksetrajna Vibhaga yoga (Religion by Separation of Matter and Spirit)
  • นิยามของคำว่า "เกฺษตร" และ "เกฺษตรญาณ".
  • เกรินนำในการอธิบายสภาพและวิการของ "เกฺษตร" และ "เกฺษตรญาณ" อันมีมาแต่ในคัมภีร์อุปนิษัท และคัมภีร์พรหมสูตร.
  • วิภาคของเกฺษตรอันประกอบด้วยองค์ 24 + "ปุรุษ" = 25 กอปรกับคุณของอาตมัน 6 รวมเป็น 31.
  • ญาณอันแท้จริง โดยสิ่งเป็นอื่นจากนี้ถือว่าเป็นอวิชชา.
  • ภาวะของญาณ.
  • การตระหนักรู้ในภาวะของเกฺษตรและเกฺษตรญาณจะทำให้เข้าถึงภาวะอันเป็นปรมัตถ์.
  • ความสัมพันธ์ของ "ปฺรกฺฤติ" และ "ปุรุษ".
  • "ปุรุษ" ก็คือ พระมเหศวร คือ "ปรมาตมัน" การรู้แจ้งว่าโดยแท้ "ปฺรกฺฤติ" และ "ปุรุษ" นั้นแยกจากกัน ย่อมทำให้สิ้นซึ่งการนิวัติ.
  • วิธีทำให้รู้แจ้งในอาตมันของตน อันมีฌาน สางขยะ-โยค กรรม-โยคะ หรือ การประกอบบูชาตามผู้รู้ในพระเวท.
  • การสังโยคระหว่างเกฺษตรและเกฺษตรญาณ ก่อให้เกิดสรรพสิ่งทั้งปวง แต่โดยแท้แล้วอาตมันนั้นเป็นสิ่งอันไม่มีเสื่อม อันควรพยายามเข้าถึงโดยแท้.
  • กรรมนั้นประกอบขึ้นโดย "ปฺรกฺฤติ" "ปุรุษ" นั้นเป็นผู้เสวยผลแห่งกรรมนั้น.
  • อาตมันนั้นเป็นนิรันดร์ เป็นนิรคุณ ฉะนั้นจึงไม่แปดเปื้อนด้วยกรรมใด ๆ.
  • สิทธิสมบูรณ์นั้น สามารถบรรลุได้โดยการรู้แจ้งว่าโดยแท้ "ปฺรกฺฤติ" และ "ปุรุษ" นั้นแยกจากกัน. 


อัธยายะที่ 14
คุณตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกคุณ 3)  หรือ คุณตฺรยวิภาคโยค (โยคะแห่งวิภาคของไตรคุณ) Gunatraya-Vibhaga yoga (Religion by Separation from the Qualities)
  • พระกฤษณะจะทรงประกาศซึ่งญาณสูงสุดอันจะนำไปสู่การบรรลุซึ่งสิทธิสมบูรณ์.
  • พระปรเมศวรทรงเป็นพระปิตาของสรรพชีวิต โดยที่ "ปฺรกฺฤติ" นั้นเปรียบเหมือน "มหัตโยนี".
  • ภาวะของไตรคุณอันมีผลต่อการสร้างจักรวาล.
  • "สัตฺ" เป็นภาวะที่ต่างกันของไตรคุณว่าคุณใดที่มีอำนาจเหนือกว่าคุณอื่น.
  • สถานะหลังความตายนั้นจะแตกต่างกันไปด้วยสภาพของไตรคุณผลของกรรมนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ว่าคุณใดจะมีอำนาจเหนือกว่า และระดับชั้นของคุณ.
  • การบรรลุซึ่งความหลุดพ้นนั้นคือภาวะที่อยู่เหนือไตรคุณ.
  • ลักษณะของผู้ที่อยู่เหนือไตรคุณ (ไตฺรคุณาตีต).
  • การได้มาซึ่งภาวะที่อยู่เหนือไตรคุณ.



อัธยายะที่ 15
ปุรุโษตตมโยคะ (หลักว่าด้วยบุรุษประเสริฐ) หรือ ปุรุโษตฺตมโยค (โยคะแห่งปุรุโษตมะ) Purusottama yoga (Religion by Attaining the Supreme)
  • คำอธิบายถึง ต้นจักรวาล (พฺรหฺม-วฤกษ) โดยเปรียบกับ ต้นอศฺวตฺถ.
  • การตัดต้นอศฺวตฺถ คือ การตัดอนุพันธ์ของกรรมโดยการไม่เกี่ยวข้อง (อสงฺค) อันจะนำไปสู่การไม่เกิดอีก.
  • การก่อตัวและความสัมพันธ์ของกายหยาบ (ชีว) และกายละเอียด (ลิงฺค-ศรีร) ซึ่งมีเพียงผู้มีจักษุแห่งญาณเท่านั้นที่จะตระหนักรู้.
  • พระปรเมศวรทรงแผ่ซ่านอยู่ทั่วไป.
  • วิธานของปุรุษอันประกอบด้วย ปุรุษที่เสื่อมสลาย (กฺษร) และ "ปุรุษ" ที่ไม่มีเสื่อมสลาย - (อกฺษร) แต่ปุรุโษตมะนั้น อยู่เหนือวิธานทั้งสอง.
  • ผู้ตระหนักรู้ในปุรุโษตมะย่อมเป็นผู้มีพุทธิ (พุทฺธิมานฺ หรือ ผู้มีญาณทั้งปวง - สรฺวชฺญาตา) และสมบูรณ์ในหน้าที่ของตน (กฺฤตกฺฤตฺยตา). 



อัธยายะที่ 16
ไทวาสุรสัมปทวิภาคโยคะ (หลักว่าด้วยการจำแนกเทวสมบัติและอสูรสมบัติ) หรือ ไทวาสุรสมฺปทวิภาคโยค (โยคะแห่งวิภาคของเทวสมบัติและอสุรสมบัติ) Daivasura-Sampad-Vibhaga yoga (The Separateness of the Divine and Undivine)
  • ภาวะสมบัติทั้ง 26 ของผู้ถือชาติกำเนิดด้วยทิพย์.
  • ภาวะสมบัติของผู้ถือชาติกำเนิดด้วยอสูร.
  • ภาวะสมบัติอันเป็นทิพย์เป็นทางสู่โมกษะ แต่ของอสูรเป็นทางสู่พันธะ.
  • รายละเอียดของลักษณะอสูรสมบัติอันนำไปสู่หายนะและสังสารวัฏ.
  • กามะ โกรธะ และโลภะ เป็นทวารนรก อันควรสละเสียให้สิ้น.
  • บัญญัติในศาสตร์คัมภีร์เป็นประมาณในการกำหนดรู้ในสิ่งอันควรหรือไม่ควรกระทำ.



อัธยายะที่ 17
ศรัทธาตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกศรัทธา 3) หรือ ศฺรทฺธาตฺรยวิภาคโยค (โยคะแห่งวิภาคของไตรศรัทธา) Sraddhatraya-Vibhaga yoga (Religion by the Threefold Kinds of Faith)
  • วิธานทั้งสามของศรัทธาอันจำแนกตามภาวะของไตรคุณของ "ปฺรกฺฤติ" ("สาตฺตฺวิก" "ราชส" และ "ตามส").
  • ศรัทธามติของอสูร.
  • อาหารสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • ยัญญะสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • ตปะสามจำพวกอันประกอบด้วย ตปะ ทางกาย (ศารีร-ตป) วาจา (วาจิก-ตป) ใจ (มานส-ตป).
  • ตปะสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • ทานสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • "โอม ตตฺ สตฺ" เป็นเครื่องหมายแห่งพรหม (พฺรหม-นิรฺเทศ).
  • "โอม" เป็นอุทาหรณ์ถึงการเริ่มต้นปฏิบัติกรรม "ตตฺ" เป็นอุทาหรณ์ถึงความไม่หวังในผลแห่งกรรมที่ประกอบนั้น "สตฺ" เป็นอุทาหรณ์ให้ประกอบแต่กรรมอันเป็นกุศล.
  • กรรมอันปราศจากศรัทธานั้นเรียกว่า "อสตฺ" อันหามีค่าควรแก่ชาตินี้ หรือชาติหน้าไม่.



อัธยายะที่ 18
โมกษสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละที่เป็นปฏิปทาแห่งโมกษะ) หรือ โมกฺษสนฺยาสโยค (โยคะแห่งโมกษะโดยวิธีสํนฺยาส) Moksha-Sanyasa yoga (Religion by Deliverance and Renunciation)
  • นิยามของคำว่า "สํนฺยาส" แล "ตฺยาค" ในนัยของกรรม-โยคะ.
  • กรรมอันควร-และไม่ควรสละเสีย ส่วนกรรมที่ควรประกอบนั้นควรประกอบด้วยความไม่ผูกพันและความมุ่งหวังในผลนั้น.
  • วิธานของสํนฺยาสจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • การสละได้ในผลแห่งกรรมนั้น โดยปฏิบัติตนเป็น "สาตฺตฺวิก-ตฺยาคี" ถือเป็นสิ่งประเสริฐสุดแล้ว ด้วยเพราะหามีผู้ใดอาจสละกรรมได้.
  • ผลของกรรมทั้งสามอันหาปรากฎแก่ ตฺยาคี (หรือ สํนฺยาสี) ไม่.
  • เหตุปัจจัยของกรรมทั้ง 5.
  • การสิ้นสภาวะแห่งอหังการ มีพุทธิที่บริสุทธิ์ รู้แจ้งว่าอาตมันหาใช่ผู้กระทำไม่นั้น กรรมที่กระทำไปย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยบาป.
  • วิธานทั้งสามของ "กรฺมโจทนา" (แรงจูงใจให้ประกอบกรรม) และ "กรฺม-สํคฺรห" (สิ่งอันสงเคราะห์อยู่ในกรรม).
  • ญาณสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • กรรมสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • กรฺตาสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • พุทธิสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • ธฤติสามจำพวกจำแนกตามภาวะของไตรคุณ.
  • ไตรคุณเป็นภาวะของสรรพสิ่งทั้งปวงโดยแท้.
  • การจำแนกกรรมของวรรณะทั้งสี่อันเกิดตามภาวะของวรรณะนั้น ๆ.
  • สิทธิสมบูรณ์อาจบรรลุได้โดยการประกอบกรรมอันเป็นธรรมะตามวรรณะของตน.
  • การยึดมั่นในธรรมะของตนดีกว่าการยึดมั่นในธรรมะของผู้อื่น และควรปฏิบัติโดยสิ้นความปรารถนาทั้งปวงอันจะทำให้บรรลุซึ่งสิทธิอันอยู่เหนือกรรม (ไนษฺกรฺมฺยสิทฺธิ).
  • วิธีการบรรลุสู่สถานะแห่งพรหม.
  • พระกฤษณะทรงแนะให้กษัตริย์อรชุนดำเนิรตามหนทางแห่งโมฆษะนี้.
  • การสยบต่ออหังการของตนนั้น ทำให้การกำหนดรู้ของตนไร้ผล การอาศัยอยู่แต่ในอาตมันของตนเท่านั้นที่จะทำให้ได้รับซึ่งศานติ.
  • การหลุดพ้นสามารถบรรลุได้โดยการมอบตนแด่พระปรเมศวร.
  • ทรฺศนแห่งพระปรเมศวรนี้ควรถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่ควรได้เรียนรู้เท่านั้น.
  • ผลอันเกิดแก่ผู้ที่ได้เรียนรู้.
  • กษัตริย์อรชุนหยั่งรู้ในธรรมทั้งปวงแล้ว และพร้อมประกอบกรรมด้วยธรรมของกษัตริย์.
  • ปัจฉิมบทของสัญชัยที่สรรเสริญพระกฤษณะและกษัตริย์อรชุน.
 



ที่มาและคำอธิบาย:
01. จาก. https://en.wikipedia.org/wiki/Bhagavad_Gita และ storydhamma.blogspot.com, วันที่สืบค้น 17 พฤศจิกายน 2559.
02. จาก. ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ PDF "ภควัทคีตา" กฤษณะไทวปายนวยาส รจนา, เกียรติขจร ชัยเธียร ปริวรรต, ปรับปรุงครั้งที่ 1 ธันวาคม 2547, www.syamkuk.org.
info@huexonline.com