MENU
TH EN

ก-1. บทนำ: ภควัทคีตา


ก-1. บทนำ: ภควัทคีตา
First revision: Feb.20, 2017
Last change: Apr.24, 2021
สืบค้น แปล เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา

สำหรับมหาคัมภีร์ภควัทคีตา หรือลำนำภควัทคีตานี้ ผมได้ใช้หนังสือที่เรียบเรียงโดย ฯพณฯ สรวปัลลี ราธากฤษณัน (Servepalli Radhakrishnan) นักปราชญ์และประธานาธิบดีคนที่ 2 ของประเทศอินเดีย (14 พฤษภาคม พ.ศ.2505 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2510) เป็นแกนหลักในการแปล อธิบายเรียบเรียง. (THE BHAGAVADGITA, S. RADHAKRISHNAN, HarperCollins Publishers India Pvt Ltd. Printed in India, 14th impression 2000). หนังสือเล่มนี้ผมได้มาเมื่อวันสงกรานต์ ปี พ.ศ.2544 คราวไปสัมมนาด้าน SMEs Development ในนามผู้แทนจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่กรุงนิวเดลลี ประเทศอินเดีย และได้เล่มฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สอง (พ.ศ.2492) เมื่อปี พ.ศ.2560 จากการสั่งซื้อทางออนไลน์ ใคร่ขอแปลเป็นภาษาไทย และขออัญชลีต่อผู้ประพันธ์ เหล่ามหาปราชญ์ที่ได้รจนาลำนำภควัทคีตาแต่เก่ากาล และ ฯพณฯ ราธากฤษณัน รวมทั้งผู้ประพันธ์ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับลำนำนี้ อันจะได้กล่าวต่อไปในเบื้องหน้า ด้วยความเคารพยิ่ง.

คัมภีร์ภควัทคีตา แบ่งออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า อัธยายะ01 รวมทั้งสิ้น 18 อัธยายะ ด้วยกัน

18 อัธยายะ01 ประกอบด้วย:

1 อรชุนวิษาทโยคะ (ความท้อถอยของอรชุน) Prathama adhyaya (The Distree of Arjuna)
2 สางขยโยคะ (หลักทฤษฎี) Sankhya yoga (The Book of Doctrines)
3 กรรมโยคะ (หลักปฏิบัติ) Karma yoga (Virtue in Work or Virtue of Actions)
4 ชญาณกรรมสันยาสโยคะ (หลักจำแนกญาณ) Gyaana-Kaerma-Sanyasa yoga (The Religion of Knowledge)
5 กรรมสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละกรรมและการประกอบกรรม) Karma-Sanyasa yoga (Religion by Renoucing Fruits of Works)
6 ธยานโยคะ (หลักการเข้าฌาณ) Dhyan yoga or Atmasanyam yoga (Religion by Self-Restraint)
7 ชญาณโยคะ (หลักญาณ) Gyaana-ViGyaana yoga (Religion by Discernment)
8 อักษรพรหมโยคะ (หลักว่าด้วยพรหมไม่เสื่อมเสีย) Aksara-Brahma yoga (Religion by Devotion to the One Supreme God)
9 ราชวิทยาราชคุยหโยคะ (หลักว่าด้วยเจ้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งความลึกลับ) Raja-Vidya-Raja-Guhya yoga (Religion by the Kingly Knowledge and the Kingly Mystery)
10 วิภูติโยคะ (หลักทิพยศักดิ์) Vibhuti-Vistara-yoga (Religion by the Heavenly Perfections)
11 วิศวรูปทรรสนโยคะ (หลักว่าด้วยการเห็นธรรมกาย) Visvarupa-Darsana yoga (The Manifesting of the One and Manifold)
12 ภักติโยคะ (หลักความภักดี) Bhakti yoga (The Religion of Faith)
13 เกษตรชญวิภาคโยคะ (หลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย) Ksetra-Ksetrajna Vibhaga yoga (Religion by Separation of Matter and Spirit)
14 คุณตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกคุณ 3) Gunatraya-Vibhaga yoga (Religion by Separation from the Qualities)
15 ปุรุโษตตมโยคะ (หลักว่าด้วยบุรุษประเสริฐ) Purusottama yoga (Religion by Attaining the Supreme)
16 ไทวาสุรสัมปทวิภาคโยคะ (หลักว่าด้วยการจำแนกเทวสมบัติและอสูรสมบัติ) Daivasura-Sampad-Vibhaga yoga (The Separateness of the Divine and Undivine)
17 ศรัทธาตรัยวิภาคโยคะ (หลักจำแนกศรัทธา 3) Sraddhatraya-Vibhaga yoga (Religion by the Threefold Kinds of Faith)
18 โมกษสันยาสโยคะ (หลักว่าด้วยการสละที่เป็นปฏิปทาแห่งโมกษะ) Moksha-Sanyasa yoga (Religion by Deliverance and Renunciation)




การขยายความอัธยายะทั้ง 1801, 02

อัธยายะที่ 1
อรชุนวิษาทโยคะ (ความท้อถอยของอรชุน)  Prathama adhyaya (The Distree of Arjuna)
บ้างก็เขียนว่า อรชุนวิษาทโยค (โยคะในความท้อถอยของอรชุน)
  • ด้วยถ้อยคำถามของกษัตริย์ธฤตราษฎรต่อสัญชัย
  • อรรถธิบายการจัดทัพทั้งสองโดยกษัตริย์ทุรโยธแด่โทรณาจารย์07
  • อุโฆษ08 แห่งสังข์อันเป็นการประกาศซึ่งปฐมการณ์ของการรบ
  • พิเคราะห์วาจาของกษัตริย์อรชุน เมื่ออยู่ท่ามกลางระหว่างทัพทั้งสอง
  • ความโศกาของกษัตริย์อรชุนในการต้องร่วมประหัตประหารระหว่างประยูรญาติ
  • ผลของบาปในการทำลายล้างวงศ์วานนั้นเปรียบเหมือนการสูญสิ้นกุลธรรมอันก่อให้เกิดวรรณสังกร10
  • ความสิ้นประสงค์ในการรบของกษัตริย์อรชุน.



อัธยายะที่ 2
สางขยโยคะ (หลักทฤษฎี) Sankhya yoga (The Book of Doctrines) บ้างก็เขียนว่า โยคะแห่งสางขยะ
  • พระกฤษณะทรงปลอบโยนกษัตริย์อรชุน
  • ถ้อยปรารภของกษัตริย์อรชุนในการถวายตนแด่พระกฤษณะ เพื่อขอกถาบทในความหมายของธรรมะ (หน้าที่) ของตน
  • "ปุรุษ" นั้นหามีเริ่มต้นหรือสูญสิ้นไปไม่
  • สรีระเป็นเพียงมาตรของอารมณ์ในการรับรู้ซึ่งความสุขและความทุกข์
  • ภาวะของ "สัตตะ"11 และ "อสัตตะ" และกถาวจนะในภาวะของ "ปุรุษ" อันแยกจากภาวะของ "สรีระ"
  • สังสารวัฎในความเกิดและความดับอันผู้รู้แจ้งย่อมไม่หวั่นไหว
  • สภาวะของ "ภูติ" ตามนัยของปรัชญาสางขยะ
  • การรู้แจ้งใน "ปุรุษ" นั้นเป็นสิ่งยากนักที่จะเข้าใจได้
  • การรบโดยปราศจากความมุ่งหวังแก่ตนนั้น เป็นธรรมของกษัตริย์ อันหาแปดเปื้อนด้วยบาปไม่
  • ปฐมบทของโยคะ12 อันแสดงความสำคัญของโยคะและแนวทางอันเป็นเอก
  • บทวิภาษในสาระของปรัชญามิมางสา09 อันมุ่งเน้นแต่การประกอบยัญตามพระเวท
  • ความหมายของพระเวทในทรรศนะของปรัชญาสางขยะ-โยคะ
  • หลักทั้งสี่ (จตุรสูตรี) ของกรรมโยคะ
  • หลักของกรรมโยคะอันเน้นว่า "พุทธิ"13 เหนือกว่า "กรรม"
  • สภาพของพุทธิเมื่อบรรลุซึ่งกรรมโยคะ
  • ลักษณะของผู้สถิตย์มั่นในปรัชญา อีกทั้งอรรถธิบายในสภาพของอารมณ์อันมีผลต่อเนื่องถึงสภาพของพุทธิได้อย่างไร
  • สถานะแห่งพรหม

ประโยคและปรัชญา(ฮินดู)ที่สำคัญ
  • การขอทานเขากินย่อมประเสริฐกว่าการฆ่าครูผู้มีคุณ.
  • อาตมันที่สิงอยู่ในร่างของเราต่างหากที่ลอยล่องผ่านร่างเด็ก ร่างหนุ่มสาว และร่างชราของเราไป อาตมันนี้ย่อมจะเข้าสิงอาศัยร่างใหม่เรื่อยไป เมื่อร่างเก่าชำรุดจนใช้งานไม่ได้ ผู้มีปัญญาย่อมไม่คลางแคลงในเรื่องนี้. (โศลกนี้ เราต้องพึงทำความเข้าใจให้ดี เพราะนี่คือหัวใจของแนวคิดแบบฮินดูที่ถือว่าชีวิตเป็นเพียงกระแสไหลเวียนของอาตมันอันเป็นอานุภาพที่แยกย่อยออกมาจากปรมาตมันซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในจักรวาล ชีวิตจึงไม่มีการเกิดและการตาย ที่เราสมมติเรียกว่าตายหรือเกิดนั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่สิงสถิตของอาตมันที่ละร่างเก่าไปหาร่างใหม่ ระหว่างการเวียนว่ายเพื่อเข้าปรมาตมันอันเป็นแดนสงบสูงสุดของชีวิตเท่านั้น)14.
  • หนาว, ร้อน, สุข, ทุกข์ ฯลฯ เกิดจากการประจวบกันระหว่างอารมณ์ภายนอกกับการรับรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่แน่นอน นึกจะมามันก็มา นึกจะไปมันก็ไป เพราะฉะนั้น ท่านจงหัดอดทนในสิ่งเหล่านี้เสียบ้างเถิด.
  • ผู้ที่วางใจให้เป็นปกติเมื่อประสบกับสุขทุกข์ได้ชื่อว่า ทำให้ชีวิตตนเองให้เป็นอมตะ.
  • ในอสัตยภาวะ ย่อมไม่มีภาวะแห่งความจริง เช่นกันกับที่ในสัตยภาวะย่อมไม่ปราศจากภาวะแห่งความจริง ผู้ประจักษ์สัจจะย่อมมองเห็นความจริงสองประการนี้.
  • ขอท่านจงทราบเอาไว้ว่าในสากลจักรวาลนี้ มีอานุภาพอย่างหนึ่งแผ่ซ่านอยู่ทั่วไป อานุาพนี้ไม่รู้จักพินาศแตกดับ ไม่มีใครทำลายมันได้ มันคืออาตมัน มังสิงอยู่ในร่างมนุษย์ มันคือภาวะนิรันดร์เหนือการพิสูจน์หยั่งรู้.
  • ใครก็ตามที่คิดว่าอาตมันนี้เป็นผู้ฆ่า หรือาตมันนี้เป็นผู้ถูกฆ่า คนผู้นั้นไม่รู้ความจริง เพราะอาตมันนี้ไม่เคยฆ่าใคร และใครฆ่าไม่ได้.




อัธยายะที่ 3
กรรมโยคะ (หลักปฏิบัติ) Karma yoga (Virtue in Work or Virtue of Actions)  or the Method of Work หรือ โยคะแห่งกรรม
  • ความสับสนของกษัตริย์อรชุนในความหมายของการประกอบกรรม และการสละกรรม
  • พระกฤษณะทรงสรุปแนวทางของกรรมอันประกอบด้วย "กรรมสันยาส" อันเป็นแนวปฏิบัติของสางขยะและ "กรรมโยคะ" อันเป็นแนวปฏิบัติของโยคะ
  • ความสำคัญของยัญ05 (อันเป็นกรรมประเภทหนึ่ง) และ "ยัญ-ยชฺญจกฺร" อันสร้างความสมดุลให้แก่โลก
  • ความพึงใจในอาตมันของตน ทำให้กรรมไม่ปรากฎ แม้ว่าผู้นั้นจะประกอบกรรมอยู่ก็ตาม
  • ความสำคัญของกรรมต่อการสงเคราะห์ประชาคมโลก อันเกิดจากการปฏิบัติตามผู้รู้แจ้ง
  • ความไม่เข้าใจในวิภาคของกรรม อันเกิดแต่คุณของ "ประกฤติ"03 ของผู้มีอวิชชา
  • พระกฤษณะทรงชี้แนะให้กษัตริย์อรชุนทรงประกอบกรรม เพื่อถวายแด่พระองค์
  • ผลอันแตกต่างของผู้ประกอบกรรมด้วยศรัทธาและที่ขาดซึ่งศรัทธา
  • อำนาจของ "ประกฤติ" และการข่มอินทรีย์ให้อยู่ห่างจากอารมณ์
  • การประกอบกรรมอันปราศจากกามนั้น ควรปฏิบัติให้เหมาะสมตามหน้าที่ของตน
  • กามเป็นสิ่งที่ผลักดันให้กระทำบาป การข่มอินทรีย์เป็นการทำลายซึ่งกาม
  • ลำดับขั้นของการควบคุมตน อันมีสภาวะที่อยู่เหนือพุทธิเป็นสิ่งสูงสุด 


อัธยายะที่ 4
ชญาณกรรมสันยาสโยคะ (หลักจำแนกญาณ) Gyaana-Kaerma-Sanyasa yoga (The Religion of Knowledge or The Way of Knowledge) 
  • วัฒนธรรมของการสืบทอดกรรมโยคะ
  • ทฤษฎีอันเกี่ยวกับอวตารของภาวะอันไม่จำกัด (พระปรเมศวร) มาเป็นภาวะอันจำกัด
  • ความรู้แจ้งในภาวะที่อยู่เหนือความเกิดและกรรม เป็นทางอันบรรลุสู่พรหมัน
  • การถวายบูชาด้วยหนทางหนึ่งใด ย่อมได้รับสนองตามวิถีของหนทางนั้น
  • วรรณะเกิดจากกรรมอันปราศจากความมุ่งหวังในผล ดังนั้นจึงควรถือปฏิบัติเป็นตัวอย่าง
  • ความหมายของ "กรรม"04 "อกรรม"04 และ "วิกรรม"04
  • วิธานสัญลักษณ์ของยัญ อันถือว่า "ชญาณยัญ-ชฺญานยชฺญ" ด้วย "พรหมพุทธิ" เป็นการบูชาอันประเสริฐสุด
  • การได้มาซึ่งญาณจากผู้มีญาณอันถูกต้อง (เลากิกศัพท์)
  • ผลของการได้มาซึ่งญาณ
  • บทสรุปของโยคะและญาณอันทำให้อวิชชาในกรรมที่ประกอบนั้นสิ้นไป


อัธยายะที่ 5
กรรมสันยาสโยคะ หรือ โยคะแห่งกรรมสันยาส (หลักว่าด้วยการสละกรรมและการประกอบกรรม) Karma-Sanyasa yoga (Religion by Renoucing Fruits of Works)
  • ปรัชญาแห่งสางขยะและโยคะนั้น ต่างนำสู่เป้าหมายเพื่อการหลุดพ้นเหมือนกัน แต่หลักปฏิบัติของโยคะนั้นเหนือกว่า เพราะกรรมสันยาสโดยปราศจากกรรมโยคะนั้น ยากที่จะทำให้หลุดพ้นได้.
  • การรู้แจ้งในอาตมันคือการหลุดพ้นนั่นเอง
  • อาตมัน (ปุรุษ) หาเป็นผู้กระทำกรรมใด ๆ ไม่
  • หลักปฏิบัติของโยคะทำให้อาจสำรวมตนอันเป็นหนทางสู่การหลุดพ้น
  • สภาพที่ปรากฎเป็นไปตามสภาวะของ "ประกฤติ" แต่ด้วยอวิชชาจึงทำให้ตนเข้าใจว่า อาตมัน "ปุรุษ" นั้นเป็นผู้กระทำและรับในผลของการกระทำนั้น
  • เมื่ออวิชชาถูกทำลายไปด้วยญาณโดยสิ้นแล้ว ย่อมทำให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร
  • ความเห็นเสมอกัน คือหลักธรรมหนึ่งของโยคะ ที่จะตัดพันธะอันมีต่ออารมณ์ให้สิ้นได้ อันจะทำให้ได้พบซึ่งอาตมันอันบริสุทธิ์ของตน
  • สภาพของ "พรหมนิรวาณ"
  • บทสรุปอันแสดงเป้าหมายของการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นเพื่อถวายบูชาแด่องค์พระปรเมศวร 


อัธยายะที่ 6
ธยานโยคะ (หลักการเข้าฌาณ หรือ โยคะแห่งฌาน) Dhyan yoga or Atmasanyam yoga (Religion by Self-Restraint)
  • ผู้ประกอบกรรมด้วยสังกัลปคือ "สันยาสี"06 หรือ "โยคี" โดยแท้ หาใช่ "นิรคฺนิ" หรือ "อกฺริย" ไม่.
  • การประกอบกรรมและการสละกรรม อันเป็นตัวกลางของสภาวะ "สาธนาวสฺถา" และ "สิทฺธาววฺสถา" ในกรรมโยคะและลักษณะของผู้ตั้งอยู่ในโยคะ.
  • การปลดปล่อยอาตมันเพื่อผลสำเร็จของการปฏิบัติโยคะ.
  • ในหมู่ผู้มีชัยเหนืออาตมัน สำรวมด้วยโยคะนั้น ผู้เห็นเสมอด้วยพุทธิถือว่าเป็นผู้วิเศษยิ่ง.
  • "โยคอาสน" การควบคุมร่างกาย และอาหารในการบำเพ็ญโยคะ.
  • สภาพจิต เมื่อดำรงอยู่ใน "โยคสมาธิ".
  • วิธีการควบคุมมนัสให้อยู่ในสมาธิศานติ และนิษฐา.
  • ความสุขอันสูงสุดของโยคีนั้นคือ การคืนสู่พรหม (พรหฺมภูติ) อันคือการตระหนักรู้ในอาตมัน อันคือสภาพที่แท้จริงของตน.
  • มนัสที่ไม่อยู่นิ่งนั้นควบคุมได้ยาก แต่อาจกำราบได้ด้วยหลัก "อภฺยาส" และ "ไวราคฺยะ".
  • ผู้บำเพ็ญโยคะ แม้ไม่อาจบรรลุสภาวะสมบูรณ์ได้ในภพนี้ แต่สภาวะของพุทธิสังโยคที่มีแก่ตนจะนำพาสู่การบรรลุได้ในภพหน้า.
  • โยคีนั้นถือว่าเหนือกว่าผู้ปฏิบัติธรรมทั้งปวง.



อัธยายะที่ 7
ชญาณโยคะ (หลักญาณ) หรือ ชฺญานวิญานโยค (โยคะแห่งฌาณและวิญาน) Gyaana-ViGyaana yoga (Religion by Discernment) 
  • ปฐมบทของกถาในความหมายของ "ญาณ" และ "วิญาณ".
  • "ปรา-ปฺรกฺฤติ" และ "อปรา-ปฺรกฺฤติ" คือปฐมภูมิของชีวิต.
  • สถานะของพระปรเมศวร (อันติมะ) อันแผ่ซ่านอยู่ทั่วไป.
  • ภาวะอันแท้จริงถูกบดบังด้วยอำนาจมายา ความภักดีจะทำให้พ้นจากอำนาจของมายาได้.
  • วิธานของผู้ประกอบบูชาอันถือว่าผู้มีญาณคือผู้ภักดีที่สูงสุด.
  • ผู้ถวายบูชาแด่เทวะองค์อื่น กุศลที่ได้นั้นโดยแท้เกิดจากพระปรเมศวร แต่เป็นกุศลที่หาจีรังไม่.
  • ภาวะอันสูงสุดนั้นยากที่จะรับรู้ได้ (อวฺยกฺต) อันด้วยการครอบงำของอำนาจมายา ทำให้เกิดโมหะในทวิภาพ (ทวํทฺว).
  • "พรหม" "อธิภูต" "อธิไทว" อีกทั้ง "อธิยชฺญ" ล้วนคือภาวะของพระปรเมศวรทั้งสิ้น.



อัธยายะที่ 8
อักษรพรหมโยคะ (หลักว่าด้วยพรหมไม่เสื่อมเสีย) หรือ อกฺษรพฺรหฺมโยค (โยคะแห่งพรหมอันไม่มีเสื่อม) Aksara-Brahma yoga (Religion by Devotion to the One Supreme God)
  • นิยามของคำว่า "พรหม" "อธฺยาตฺม" "กรรม" "อธิภูต" "อธิไทว" และ "อธิยชฺญ".
  • การรฦกถึงพระปรมัตถ์เมื่อสิ้นลมนั้นนำสู่ความเป็นปรมัตถปุรุษอันเป็นทิพย์.
  • การตั้งอยู่ในสมาธิ โดยการเปล่งคำว่า "โอม" เมื่อสิ้นลมนั้นนำสู่คติอันเป็นปรมัตถ์.
  • การตั้งจิตมั่นอยู่ในพระปรเมศวร ยังผลให้การเกิดใหม่บรรลัยสิ้นไป.
  • ด้วยโลกฤๅแม้นพระพรหมต่างถูกกำหนดให้เวียนว่ายในสังสารวัฏแห่งการปรากฎเมื่อเริ่มทิวา และความไม่ปรากฎเมื่อเริ่มราตรีแห่งพระพรหมนี้.
  • "ปุรุษ" อันหารู้ได้ (อวฺยกฺต) หาเสื่อมได้ (อกฺษร) สามารถบรรลุถึงได้ด้วยภักติ อันมีการสิ้นนิวัติเป็นเป้าหมาย.
  • กาลสิ้นลมที่โยคีไม่มีหวนกลับสู่นิวัติ (เทวยาน) และกลับสู่นิวัติ (ปิตฤยาน).
  • ผลที่ได้หากโยคีรู้แจ้งในหลักของคติทั้งสอง จึงแนะนำให้ปฏิบัติโยคะอยู่เสมอ. 




อัธยายะที่ 9
ราชวิทยาราชคุยหโยคะ (หลักว่าด้วยเจ้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งความลึกลับ) หรือ ราชวิทฺยาราชคุหฺยโยค (โยคะแห่งราชวิทยาและราชคุหฺย) Raja-Vidya-Raja-Guhya yoga (Religion by the Kingly Knowledge and the Kingly Mystery)
  • ศรัทธาอันประกอบด้วยญาณและวิญาณนั้นยังผลให้บรรลุสู่ความหลุดพ้นได้โดยง่าย ดังนั้นจึงเรียกว่า "ราชาวิทยา-ราชคุหฺย".
  • ภาวะของพระปรเมศวรซึ่งสรรพชีวิตทั้งปวงอาศัยและไม่ได้อาศัยอยู่.
  • การสร้างและทำลายล้างจักรวาลและภูติทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นด้วยมายาแห่ง "ปฺรกฺฤติ" อันทำให้วัฏจักรหมุนเวียนไป แต่พระปรเมศวรผู้กระทำนั้น หาได้แปดเปื้อนในกรรมเหล่านี้ไม่.
  • "อาสฺสุริ" ผู้โง่เขลาหารู้ในภาวะนี้ไม่ เมื่อพระปรเมศวรอาศัยอยู่รูปของมนุษย์ จึงทำให้ความหวัง กรรมและญาณของเหล่านั้นต้องเป็น "โมฆะ".
  • แต่ "ไทวิ" ผู้ที่ตระหนักรู้ย่อมประกอบบูชาด้วยวิธีต่าง ๆ.
  • ภาวะต่าง ๆ ของพระปรเมศวร อันคือสิ่งที่แผ่ซ่านไปทั่วในทุกสิ่ง.
  • การประกอบยัญบูชาตามบัญญัติในพระเวทอันหวังที่จะไปสู่ความสุขในสรวงสวรรค์จะสนองผลดังประสงค์ แต่ความสุขนั้นหาเป็นสิ่งยั่งยืนไม่ แต่การประกอบ "ชฺญานยชฺญ" อันเพ่งสมาธิอยู่เพียงพระปรเมศวรนั้นย่อมได้มาซึ่ง "โยคเกฺษม".
  • การบูชาเทวะองค์อื่น ๆ เป็นการบูชาพระปรเมศวรทางอ้อมนั่นเอง แต่ผลที่ได้นั้นแตกต่างกันตามแต่เทวะหรือภูติที่บูชานั้น ๆ.
  • การบูชาด้วยภักดีโดยบริสุทธิ์นั้น เพียงแค่การถวายดอกไม้ หรือน้ำก็เพียงพอแล้ว.
  • ข้อชี้แนะให้สละกรรมทั้งปวงเพื่อถวายแด่พระปรเมศวร ด้วยจิตมั่นคงในอาตมัน อันเป็นหนทางสู่โมกษะ.
  • พระปรเมศวรทรงเห็นเสมอกันในทุกสิ่ง ผู้ถวายตนแด่พระองค์ย่อมไปสู่บรมคติได้เท่าเทียมกัน.
  • ดังนั้นจึงทรงแนะให้อรชุนดำเนิรตามวิธีแห่งกรรม-โยคะนี้. 





ที่มาและคำอธิบาย:
01. จาก. https://en.wikipedia.org/wiki/Bhagavad_Gita และ storydhamma.blogspot.com, วันที่สืบค้น 17 พฤศจิกายน 2559.
02. จาก. ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ PDF "ภควัทคีตา" กฤษณะไทวปายนวยาส รจนา, เกียรติขจร ชัยเธียร ปริวรรต, ปรับปรุงครั้งที่ 1 ธันวาคม 2547, www.syamkuk.org.
03.  ประกฤติ (สันสกฤต ปฺรกฺฤติ) หมายถึง พลังแห่งธรรมชาติ (Nature or Forces of Nature) เป็นพลังลึกลับอย่างหนึ่งที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นสิ่งผลักดันให้ชีวิตทุกชีวิตในจักรวาลหมุนเหวี่ยงไป ซึ่งนั่นก็หมายความว่าชีวิตของคนเราต่างก็ล้วนดำเนินไปตามการลิขิตของประกฤติ ชีวิตหาได้เป็นอิสระในตัวมันเองไม่, (ที่มา: storydhamma.blogspot.com/2015/01/3.html, แปลและเรียบเรียงโดย สมภาร พรมทา, วันที่สืบค้น 22 กุมภาพันธ์ 2560.)
04.  
ตามที่แสดงในอัธยายะที่ 4 (ศาสนาฮินดู) ตรงกับพุทธศาสนา อังกฤษ แปลว่า
กรรม กุศลกรรม Action การกระทำความดี
อกรรม วิมุติกรรม Inaction การกระทำที่อยู่เหนือกรรม หรือการกระทำที่ทำลงไปแล้ว ผู้กระทำไม่ต้องรับผลของกรรมนั้น
วิกรรม อกุศลกรรม Wrong Action การกระทำความชั่ว
     (ที่มา: storydhamma.blogspot.com.au/2015/01/4.html, แปลและเรียบเรียงโดย สมภาร พรมทา, วันที่สืบค้น 23 กุมภาพันธ์ 2560.
05.  ยัญ เป็นคำนาม สันสกฤตเขียนว่า ยชฺญ หมายถึง การเซ่น การบูชา การบวงสรวงของพวกพราหมณ์ ทานที่ให้แก่สงฆ์ (ที่มา: พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร).
06.  สันยาสี หรือ วัยสันยาสิน หรือ สนยสตรศรม (สันสกฤต: สํนฺยาสี) (Sannyasin) หรือ วัยแสวงหาความสงบ เป็นระยะสุดท้ายแห่งชีวิต คือ อายุย่างเข้า 75 ปี ผู้ชราในวัยนี้ย่อมรู้สึกได้ด้วยตนเองว่าตนมีอายุมากแล้ว เพราะฉะนั้นก็พาตนเองเข้าสู่สนยสตาศรม คือ บวชเป็นสันยาสีเสียในอาศรมนี้ บำเพ็ญสมาธิ และพยายามแสวงหาโมกษธรรมหรือความจริงว่า ตนเองเป็นใคร? พระหมคือใคร? ในโลกนี้มีสารวสตุ ?? อะไรบ้าง? ฯลฯ เมื่อได้คำตอบสำหรับตนเองแล้ว ก็เผยแพร่ให้คำตอบนั้นได้เป็นที่รู้กันไปทั่ว ๆ โดยถือว่ามนุษย์ทั้งปวงเป็นประดุจสมาชิกในครอบครัว (บริวาร) ของตนเอง และในทำนองเดียวกันก็เป็น อนส (ส่วนหนึ่ง) ของพระพรหมด้วย, ที่มา: www.siamganesh.com ซึ่งสืบค้นมาจาก www.human.cmu.ac.th อีกที, บรรยายโดย อาจารย์พีรพล อิศรภักดี, วันที่สืบค้น 8 มีนาคม 2560.
07. โทรณาจารย์ หรือ โทรณะ (Drona) เป็นครูสอนวิชาอาวุธผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชสำนักหัสตินาปุระ และเป็นอาจารย์ของเหล่าตัวละครสำคัญในเรื่องมหาภารตะทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพ ภายหลังเมื่อเกิดสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร โทรณะได้เป็นหนึ่งในแม่ทัพของฝ่ายเการพ จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยน้ำมือของธฤษฏัทยุมนะ (Dhrishtadyumna - เป็นแม่ทัพฝ่ายปาณฑพ ได้ล้างแค้นแทนท้าวทรุปัทผู้บิดาซึ่งถูกสังหารโดยโทรณาจารย์ ที่เป็นอาจารย์ของตนเอง วันสุดท้ายของมหาสงคราม ธฤษฏัทยุมนะ ก็ถูกสังหารโดยอัสวถามา บุตรชายของโทรณาจารย์ด้วยเช่นเดียวกัน ) ในสงครามครั้งนั้น ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 9 มีนาคม 2560.

 
โทรณาจารย์ (ที่มา: my.dek-d.com/khaning12345678/writer/viewlongc.php?id=1507510&chapter=1, วันที่สืบค้น 9 มีนาคม 2560)

08. อุโฆษ (สก. อุทุโฆษ, มค. อุคุโฆส) ก. ประกาศ, ป่าวร้อง ว. กึกก้อง, สนั่น, แพร่งพราย (ที่มา: พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร).
09. มิมางสา บ้างก็เรียก มีมางสา (Mimamsa) เป็นปรัชญาในศาสนาฮินดู คำว่ามีมางสา หมายถึงการสอบสวน ซึ่งปรัชญานี้มาจากการสอบสวนเกี่ยวกับพระเวท โดยเน้นส่วนที่เป็นมันตระและพราหมณะของพระเวท ลัทธินี้เริ่มต้นโดยไชมิณิ ซึ่งเป็นผู้แต่งคัมภีร์มีมางสาสูตร ต่อมา ประภากระและกุมาริละ ภัฏฏะ ได้นำมาพัฒนาต่อจนแตกเป็นสองสำนัก. ปรัชญามีมางสาเป็นพหุสัจจนิยม ถือว่าความจริงแท้มีมากมาย คัมภีร์พระเวทเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด สิ่งที่พระเวทบอกว่าควรถือเป็นธรรม สิ่งที่พระเวทบอกว่าไม่ควร ถือเป็นอธรรม ธรรมจะนำมาซึ่งความสุข มี 4 ระดับคือ เกิดจากทรัพย์สิน เกิดจากการบำรุงกามคุณทั้งห้า ความสงบใจ และการหลุดพ้นไปจากอำนาจของกิเลส ปรัชญานี้ ถือว่าชีวาตมันหรืออัตตาเป็นอมตะ และมีจำนวนมากเป็นอนันตะ หรือนับไม่ถ้วน ร่างกายเป็นพาหนะของชีวาตมัน โลกและสิ่งต่าง ๆ ในโลกเกิดจากปัจจัยตามธรรมชาติ ไม่ใช่การสร้างของพระเจ้า โลกจพดำรงอยู่ตลอดไป โดยไม่มีพระเจ้ามาทำลายได้. (ที่มา: ฟื้น ดอกบัว. ปวงปรัชญาอินเดีย. กทม. ศยาม. 2555 หน้า 74 -81).
10. วรรณะสังกร หมายถึง วรรณะ (varna) ที่เกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะกัน.
11. สัตตะ (สก. สปฺต, มค. สตฺต) ว. เจ็ด (เหมือน สัต). 2.ก. ข้องอยู่, ติดอยู่, พัวพัน. น. สัตว์ (ที่มา: พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร). 
12. โยคะ หมายถึง น. การทำจิตใจให้สงบ การที่จิตไม่รับรู้อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่าง ๆ วิธีการควบคุมร่างกายและจิตใจได้อย่างสมบูรณ์โดยการทำจิตให้เป็นสมาธิ. [โยคะ] น. การประกอบ การใช้ การร่วม, กิเลส, ความเพียร, วิธีบำเพ็ญสมาธิตามลัทธิของอาจารย์ปตัญชลี. (โหร) การที่ดาวนพเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปมารวมกันในราศีเดียว. (ป.ส.) (ที่มา: พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน).
13. พุทธิ [พุด-ทิ] น. ความรู้, ปัญญา (ที่มา: พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร). 
14. ปรับปรุงจาก. storydhamma.blogspot.com/2015/01/2.html., วันที่สืบค้น 12 มีนาคม 2560.




 
humanexcellence.thailand@gmail.com