MENU
TH EN

เยือนภารตะ: ดินแดนพุทธบิดร นมัสการ สังเวชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา

Title Thumbnail & Hero Image: พระพุทธเมตตา พระประธานในพระเจดีย์พระพุทธคยา, ถ่ายไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2567.
เยือนภารตะ:ดินแดนพุทธบิดร นมัสการ สังเวชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
First revision: Dec.4, 2024
Last change: Jan.21 2025
บรรยายการท่องเที่ยว นมัสการสิ่ง/สถานที่ที่พุทธศาสนิกชนพึงเคารพสักการะโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
1.
หน้าที่ 1

       นระหว่างวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2567 ถึง อาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2568 ผมได้วางแผนเดินทางไปภารตะกับบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ประเทศที่จะไปคือสาธารณรัฐภารตะ (อินเดีย) และสหพันธสาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล โดยมีสถานที่ กิจกรรมไฮไลท์ ดังนี้:
  • กราบสักการะพระคันธกุฎี (คันธกุฎี หรือ พระมูลคันธกุฎี Mulagandhakuti - กุฎีที่มีกลิ่นหอม - สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า) บนยอดเขาคิชกูฏ (Gridhrakuta Hill) เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ (ปัจจุบันคือจังหวัดนาลันทา รัฐพิหาร ภารตะ - เขาคิชกูฏเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า ในพรรษาที่ 2, 5, 7 และพรรษาสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน).
  • ชมมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก.
  • กราบหลวงพ่อองค์ดำแห่งเมืองนาลันทา.
  • ชม "วัดเวฬุวัน" วัดแห่งแรกในพุทธศาสนสถานที่กำเนิด "วันมาฆะบูชา" ณ กรุงราชคฤห์.
  • เยือน "เมืองพาราณสี" นครศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีอายุกว่า 4,000 ปี.
  • ล่องเรือชมพิธีอาบน้ำชำระบาปของชาวฮินดู ริมฝั่งแม่น้ำคงคา.
  • รวม 8 วัน 7 คืน พักเดี่ยว ค่าใช้จ่ายรวมทิปไกด์ (2,000.-- บาท) เป็นเงินทั้งสิ้น 63,400.-- บาท

ทริปนี้รวม 25 ท่าน, ถ่ายไว้ที่หน้าพระมหาเจดีย์พุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ภารตะ ยามค่ำของวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2567.
1.

พุทธภูมิ, ที่มา: Facebook เพจ: เล่าเรื่อง เครือญาติชาติพันธุ์ ลาว-ไต(ไท)-อีสาน, วันที่เข้าถึง: 24 กุมภาพันธ์ 2566.
1.
วันแรก อาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2567
 ช่วงเวลา   รายละเอียดกำหนดการ*  เหตุการณ์จริง หมายเหตุ และอื่น ๆ
 08:00 น.   ทุกท่านพร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิเคาน์เตอร์เช็คกรุ๊บของสายการบินไทย (TG) อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศขาออก ชั้น 4 ประตู 2 เคาน์เตอร์ D เจ้าหน้าที่คอยต้อนรับ.   ผมต้องเตรียมกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่องบิน ไม่เกิน 20 kg. และ Power Bank นำขึ้นเครื่องฯ 15,000 mAh (milli-Amphere-hour - ซึ่งต่ำกว่า 20,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้) เตรียมอาหารแห้ง น้ำปลา หมูหยอง น้ำพริกเผา น้ำพริกปลาย่าง เกี่ยมฉ่ายแบบไทย ๆ ไปด้วย
 และเตรียมกล้องพระเอก Nikon Zf พร้อม Zoom Lens จัดเต็ม เสื้อกันหนาว หยูกยาที่จำเป็นพร้อม สตังค์แลกเป็นรูปี และซื้อยาหม่องตราลิงถือลูกท้อ พร้อมทิป หากเดินเข้าสถานที่สำคัญต่าง ๆ . ทราบจากไกด์ว่าอากาศที่ภารตะช่วงนี้จะหนาวมาก ให้เตรียมเสื้อหนาว หมวกและผ้าพันคอไว้ ผมวางแผนว่าเสื้อหนาวจะเป็นเสื้อสูท ด้วยเพราะเราไปเคารพสังเวชนียสถานของพระบรมศาสดา ก็ควรแต่งกายให้เรียบร้อย. แต่เมื่อจัดกระเป๋าจะไปจริง ๆ ก็ไม่ได้เอาสูทไป เพราะกระเป๋าเต็มสุด ๆ จึงใส่เสื้อกันหผ้ากัน UV ที่มีน้ำหนักเบาไปแทน
 10:55 น.   ออกเดินทางสู่เมืองคยา ภารตะ โดยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 327 (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2:30 ชั่วโมง) มีอาหารกลางวันบนเครื่องบิน.   คงไม่ต้องเตรียมหมอนใช้งีบบนเครื่องบินแล้ว เพราะไปกลางวัน กลับก็ช่วงบ่าย เมื่อวาน (28 ธันวาคม) ผมจัดข้าวของเตรียมโน่นนี่ และรีดผ้าจัดเสื้อผ้าเป็นถุงตาข่ายย่อยรวม 8 ถุงเรียงตามวันไว้ เช้าขึ้นมาก็จัดเพิ่มเติม อาบน้ำแต่งตัวมาขึ้นรถไฟฟ้า Airport RailLink ที่ถนนศรีอยุธยาโดยมีน้องสาวขับมาส่ง  ขบวนแรกเลย 05:50 น.
 12:40 น.   (เวลาท้องถิ่น-ช้ากว่าเมืองไทย 1:30 ชั่วโมง) ถึงท่าอากาศยานนานาชาติเมืองคยา ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร
 - ออกเดินทางโดยรถโค้ชปรับอากาศไปยังโรงแรม Oaks Hotel หรือเทียบเท่า.
  เช็คอินให้เรียบร้อย พกของติดตัวเพื่อท่องเที่ยว เท่าที่จำเป็น (ชุดกล้อง พาสสปอร์ต น้ำดื่ม กระเป๋าสตังค์มีเฉพาะเงินรูปีฯ ยาหม่อง หยูกยา ฯ).
 - มาถึงสนามบินตามจุดที่นัดหมาย ตอน 07:30 น. เจอไกด์โจ้ (ซึ่งเคยรู้จักกันมาก่อนแล้ว เมื่อคราวไปกลุ่มถ้ำอชันตา และกลุ่มถ้ำเอลโลร่า  เมื่อกรกฎาคม 66) เป็นไกลด์นำในทริปนี้.
 - ผม Check-in ผ่าน ตม. เข้ามาประตู S103 ซึ่งเป็นสนามบินส่วนขยาย ดูสวยงาม ทานเบอร์เกอร์ที่ร้าน Burger King เป็นอาหารเช้า ตอน 9 โมง แล้วมานั่งรอขึ้นเครื่อง. เครื่องบินดีเลย์ไปราวครึ่งชั่วโมง อาจจะด้วยสภาพอากาศ ที่มีฝุ่นและหมอกควันเต็มไปหมด.
 - เครื่องบินใช้เวลาเดินทางราว 2:45 ชั่วโมง ก็มาถึงสนามบินคยา อาหารเที่ยงบนเครื่องบินสายการบินไทย อร่อยดี เป็นข้าวกระเพราไก่ไข่ดาว ขนมปังทาเนย ขนมไทย ผลไม้ น้ำดื่ม และกาแฟดำร้อน.
 - มาถึงสนามบินคยา โดยสวัสดิภาพ ประทับใจจอร์จมาก ๆ คือเจ้าหน้าที่ ตม. ตรวจละเอียดระมัดระวังเกิ้นนนน คณะทัวร์เรา (25 ท่าน) อยู่ตรวจเช็คในขั้นตอนนี้เกินกว่า 2 ชั่วโมง.
 - ขึ้นรถโค้ชปรับอากาศขนาดใหญ่พอรองรับคณะของเรา ไกด์ท้องถิ่นชื่อคุณรวี (Sun สูรย์ สุริยะ) รถโค้ชก็มาพาคณะฯ มา Check-in พักผ่อนครู่หนึ่ง แล้วก็มาชมจุดที่สันนิษฐานว่าเป็นบ้านนางสุชาดา อุบาสิกาท่านแรกของโลกที่นำข้าวมธุปายาสอันประณีตมาถวายมหาบุรุษ พระบรมศาสดา. รถติดพอสมควรและท้องฟ้าก็เริ่มมืด.
 14:00 น.   ออกจากที่พักไปบริเวณพระมหาเจดีย์และต้นศรีมหาโพธิ์ พุทธสังเวชนียสถานที่ 1.   การแต่งกาย: สุภาพ รองเท้าแบบสวมถอดง่าย เพราะต้องถอดรองเท้าขณะเข้าไปในพุทธสถาน สวมถุงเท้าได้ (เขาไม่ให้นำโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เข้าภายในบริเวณ).
 - ค่าธรรมเนียมกล้องถ่ายรูปบริเวณองค์เจดีย์พุทธคยา (กล้องธรรมดา 100 รูปี, กล้องวิดีโอ 300 รูปี).
 14:30 น.  ถึงบริเวณองค์พระมหาเจดีย์พุทธคยาและต้นศรีมหาโพธิ์ ชม สัตตมหาสถาน สถานที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุติสุขหลังจากตรัสรู้แล้วทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย:
 1). พระแท่นวัชรอาสน์ - ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (ตลอดสัปดาห์).
 2). อนิมิสเจดีย์ - ทรงยืนจ้องพระเนตรที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด 7 วันในสัปดาห์ที่ 2.
 3). รัตนจงกรมเจดีย์ - ทรงนิมิตฐานจงกรมขึ้น แล้วย่างพระบาทจงกรมเป็นเวลา 7 วัน ในสัปดาห์ที่ 3.
 4). รัตนฆรเจดีย์ - โดยเสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ และประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้ว เหล่าเทวดานิรมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมเป็นเวลา 7 วัน ในสัปดาห์ที่ 4. (และชมสถานที่จำลองที่สร้างขึ้นโดยรอบพระเจดีย์พุทธคยา พร้อมฟังคำบรรยายถึงความสำคัญของสถานที่ต่าง ๆ และพุทธสถานโดยรอบ).
 5). เสด็จประทับนั่งขัดสมาธิใต้ต้นไทรเป็นเวลา 7 วัน ใต้ต้นอชปาลนิโครที่พักของคนเลี้ยงแกะ ในสัปดาห์ที่ 5.
 6). เสด็จประทับนั่งขัดสมาธิใต้ต้นจิก มุจลินทร์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในสัปดาห์ที่ 6.
 7). เสด็จประทับใต้ต้นเกด หรือต้นราชายตนะ ประทับนั่งเสวยวิมุติสุขตลอด 7 วัน.
 - คณะฯ เข้ากราบนมัสการพระพุทธเมตตาซึ่งประดิษฐานภายในพระมหาเจดีย์ คณะฯ ร่วมจาริกบุญสวดมนตร์ ทำวัตรเย็น
 เตรียมหนังสือสวดมนต์ไปด้วย (ในหนังสือนำเที่ยวที่ทัวร์แจก ก็มีบทสวดมนต์ให้อยู่).
 - มาถึงจุดที่ใกล้องค์พระมหาเจดีย์พุทธคยาและต้นศรีมหาโพธิ์มากที่สุด ก็นั่งตุ๊ก ๆ คันละห้า-หกคนต่อเข้ามา เข้าชมพุทธสังเวชนียสถานที่ตรัสรู้นี้ ประทับใจมาก ถ่ายรูปเก็บไว้เยอะ ถ่ายภาพพระพุทธเมตตา01 และถ่ายเผื่อเพื่อน ๆ ในทริป อากาศก็เย็นสบายดี แต่การตรวจเข้าชมเข้มงวดมาก มีการสแกนกันหลายจุด.
 - จริง ๆ แล้ว เราควรใช้เวลาอยู่ที่นี่ในตอนเช้า ใช้เวลาทั้งวัดไหว้พระในหลาย ๆ จุด นั่งทำสมาธิที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น.
 - ราวสองทุ่มเศษ ๆ ก็มารอกันที่จุดนัดพบ รวมตัวกันนั่งตุ๊ก ๆ แล้วรถโค้ชกลับที่พัก คราวนี้มาถึงที่พักเร็ว อาจจะเพราะดึกแล้วรถน้อย.
 - ทานอาหารเย็นในโรงแรม คุยกับเพื่อน ๆ แล้วแยกตัวเข้าพักผ่อนในห้องของตนตามอัธยาศัย. 
 19:30 น.  คณะฯ เดินทางกลับเข้าที่พัก
 - รับประทานอาหารค่ำ ณ ห้องอาหารของโรงแรม แล้วพักผ่อนตามอัธยาศัย.
 ตามโปรแกรม มีอาหารไทยเสริม. (มื้อนี้ ไม่มีอาหารไทยเสริม ไกด์โจ้บอกเนื่องจากเป็นมื้อแรก ให้ลองชิมและให้เกียรติอาหารอินเดียก่อน เรียนตรง ๆ รสชาติยังไม่ถูกปากนัก แต่ดูสะอาด อนามัยดี).
* ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือการเดินทางของบริษัททัวร์ที่จัดทริปนี้

หมายเหตุ:
01. พระพุทธเมตตา - พระประธานในพระมหาเจดีย์พุทธคยา - เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยปาละ พระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือปางชนะมาร (ชาวพุทธภารตะเรียก ปางภูมิสัมผัส หรือ ปางภูมิผัสสะ) ทำด้วยหินสีดำเนื้อละเอียด (บ้างก็ว่าสร้างด้วยเนื้อหินทราย) แล้วหุ้มด้วยแผ่นทองคำ ทั้งองค์จนเหลืองอร่าม อายุ 1,400 ปี หน้าตักกว้าง 147 ซม. สูง 165 ซม. (ที่มา: www.buddhacalendar.com, และ http://bodigaya980.com, วันที่เข้าถึง 6 มกราคม 2568.)
 

รถโค้ช ในทีมของไกด์ท้องถิ่น (3 คน) ประกอบด้วย คุณรวี คนขับ และบริกรยกกระเป๋าดูแลทั่วไป พาคณะฯ เดินทางตลอดทริป สะอาด ทำความสะอาดทุกวัน มารอคณะฯ ก่อนเวลา ขับเร็ว ซิ่งเล็กน้อย ทำเวลาได้ ปลอดภัย ไม่มีปัญหาหรืออุบัติเหตุตลอดทริป ผมมักจะทักทายคนขับทุกเช้าด้วยคำว่า "ศุภประภาส" ซึ่งแปลว่าอรุณสวัสดิ์.


แม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งดูแห้ง มีทรายเต็มไปหมด มีน้ำเป็นหย่อม ๆ ทางน้ำไหลตื้นเขิน แต่ดูขอบเขตกว้างขวาง, ถ่ายจากหน้าต่างรถโค้ช.
 
บ้านนางสุชาดา (บาลี: Sujātā Garh) ซึ่งนางนำข้าวมธุปายาสมาถวายพระบรมศาสดา หลังจากสิ้นสุดระยะเวลา 6 ปี แห่งการบำเพ็ญเพียรแห่งพรตนิยม (อดอาหาร ทรมานร่างกาย) ข้าวมธุปายาสนี้ทำให้พระองค์มีพละกำลังมากพอที่จะเจริญมัชฌิมาปฏิปทา เจริญฌาน และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นางสุชาดานับเป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา.
 
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระมหาเจดีย์พุทธคยายามค่ำคืน และลานด้านหลังเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีภิกษุทิเบต ญวน จีน ไทย พม่าฯ นักท่องเที่ยว และพุทธศาสนิกชนมานั่งสวดมนต์กันเนืองแน่น.


      
ภาพจากซ้ายไปขวา: ประติมากรรมนูนต่ำถึงกลางเป็นรูปพระบรมศาสดา ประดิษฐานรายรอบล้อมองค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา และพระพุทธเมตตา อันเป็นองค์ประธานในพระมหาเจดีย์พระพุทธคยาแห่งนี้ (คนแน่นสุดจะบรรยาย...!!) เมื่อผมเข้าไปตรงหน้าพระประธาน ก็ก้มกราบ ช่างขลังและงดงามยิ่ง..!! ผมปลาสนาการไปสิ้นซึ่งความอหังการและมมังการ.
1.
2.
หน้าที่ 2
วันที่สอง จันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2567
 ช่วงเวลา   รายละเอียดกำหนดการ*   เหตุการณ์จริง หมายเหตุ และอื่น ๆ
 06:00 น.   รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม แล้ว Check-out   ตามโปรแกรมต้องตื่นตอนตี 5, 6 โมงเช้าทานข้าว, 7 โมงเช้า Check-out พร้อมล้อหมุน.
 -  ผมตื่นเช้ามืดกว่านั้น ทำธุระส่วนตัว Upload ภาพที่ถ่ายเมื่อวานส่งให้เพื่อน ๆ ทางไลน์ และไลน์กลุ่มของทัวร์นี้
 - เขียน Content ลง website จัดข้าวของ Charge แบต อาบน้ำแต่งตัว แล้วออกมาทานอาหารเช้าในคอฟฟี่ช้อป ผมทานข้าวต้มขาวพร้อมกับข้าวที่ไกด์โจ้เตรียม พร้อมทั้งหมูหยอง ไข่เค็มที่ผมเตรียมมาอร่อยตามสภาพ
 - เข้าห้องน้ำ ทำธุระส่วนตัว และจัดแจง check-out
07:00 น.   ออกเดินทางสู่เมืองราชคฤห์.
 - ถึงประตูเมืองราชคฤห์ ผ่านชมรอยทางเกวียน สันนิษฐานว่าเป็นรอยเดียวกับครั้งเมื่อสมัยพุทธกาล นั่งรถต่อไปยังเขาคิชกูฏ เพื่อกราบสักการะพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า เป็นการเดินขึ้นที่สูง โดยมีขั้นบันไดที่ลาดชันไม่มากนัก ก้าวเดินสบาย (หากไม่สะดวก ก็มีบริการเสลี่ยงหาม ค่าใช้จ่ายท่านละ 1,400 รูปี ทั้งขาไปและขากลับ).
 - ในสมัยพุทธกาลนั้น พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ได้ใช้เส้นทางนี้เสด็จขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน.
 - แวะกราบสักการะถ้ำสุกรขาตา สถานที่ซึ่งพระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์
 - ชมกุฏิพระอานนท์ ถ้ำพระโมคคัลลานะ และสถานที่ซึ่งพระเทวทัตกลิ้งหินหล่นใส่พระบาทของพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต.
 - ถึงยอดเขาคิชกูฏ อันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดา นมัสการพระคันธกุฎี สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า คณะฯ ต่างมีอิสระในการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ได้เวลาอันสมควรก็กลับ.
 - ขึ้นรถ ระหว่างทางผ่านชมวัดชีวกัมพวัน โรงพยาบาลสงฆ์แห่งแรก ผ่านชม ตะโปทาราม สถานที่อาบน้ำชะล้างบาป 4 วรรณะของชาวภารตะ เป็นน้ำแร่จากธรรมชาติจากเขาสัตตบรรณคูหา.
 เตรียมกล้องให้พร้อม ใช้เลน์ปกติ เพราะต้องเดินทางไปหลายแห่ง มีภาพที่ต้องถ่ายเยอะ ไม่มีเวลาจัดซูมเลนซ์ในแต่ละภาพมากนัก.
 - ผมขึ้นโค้ชได้ครู่ ก็หลับปุ๋ย มารู้สึกตัวอีกที คณะฯ ก็แวะทำบุญที่วัดนวธัมมิกราช รัฐพิหาร ซึ่งเป็นวัดไทย มีหลวงพ่อขนาดใหญ่ทำด้วยหินทรายกำลังก่อสร้าง ซึ่งเสร็จไปได้เยอะแล้ว.
 - ผมทำบุญที่วัดพร้อมรับพร ได้ทานกาแฟ อิ้วจ๋าก๊วย (ปาท่องโก๋-ไทย) รู้สึกตาสว่างขึ้น
 - พระประธานสังเกตดูจะมีรวงผึ้งมาทำรังอยู่ที่ริมขอบตาซ้าย น่าอัศจรรย์ยิ่ง 
 - จากนั้นรถโค้ชก็พาคณะมาเขาคิชกูฏ เพื่อกราบสักการะพระคันธกุฎีของพระบรมศาสดา.
 - มีคนขายของ ขายลูกประคำตามผมติดแจ ให้ข้อมูลจุดต่าง ๆ ได้พอสมควร (ขากลับเลยช่วยอุดหนุนลูกประคำเขาหน่อย ราคาก็ดุเดือดเอาเรื่อง แต่ช่างเหอะ เป็นการทำบุญและเป็นค่าไกด์ไปในตัว).
 - การขึ้นบนเขาคิชกูฏที่สูงนั้น ใช้เวลาและใช้พลังมาก เหนื่อยแต่ก็ขึ้นมาถึงจนได้ ถ่ายภาพได้มาก จนถึงยอดเขาคิชกูฏ มากราบกุฏิพระอานนท์ และคันธกุฎีของพระบรมศาสดา ผมกราบสามครั้ง น้ำตาร่วงสะอื้นเลย หมดความพยศ ความอหังการมมังการทั้งหลาย (อีกครั้ง) ศิโรราบ ขอน้อมรับเป็นพุทธมามกะ แล้วจักขอทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ภพ ทุก ๆ ชาติ.
 - ผมนั่งสมาธิครู่หนึ่ง มีภิกษุ พุทธศาสนิกชน ทั้งมหายาน หินยาน ทั้งญวน จีน ไทย ทิเบตทะยอยขึ้นมาไม่ขาดสาย ปิติและน่าประทับใจ จากนั้นก็เดินกลับลงจากเขา.
 เที่ยง  รับประทานอาหารกลางวัน ที่ห้องอาหารในโรงแรมเมืองราชคฤห์. - รถโค้ชพาคณะฯ มาทานอาหารไทย ที่ร้านและโรงแรมที่พักของชาวญี่ปุ่นชื่อ Hokke รสชาติใช้ได้ มีลาบหมู และยำหมูยออุบลเสริม น้ำพริกเผา (ที่ผมเตรียมมาเอง) ก็ค่อยยังชั่ว.
 บ่าย 1  ขึ้นรถนำคณะฯ เข้าชม "วัดเวฬุวัน" ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานอุทยานสวนป่าไผ่ และทรงสร้างวัดเวฬุวัน ถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นสถานที่พระอริยสงฆ์สาวกจำนวน 1,250 รูป ซึ่งล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระสงฆ์ที่พระบรมศาสดาได้บวชให้.
 - ได้มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย นั่นก็คือ "วันมาฆะบูชา".
 - ออกเดินทางไปยังเมืองนาลันทา (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง)
 - กราบนมัสการพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินแกรนิต "หลวงพ่อดำ" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายของพวกลัทธิทะเลทรายในพุทธศตวรรษที่ 18 มีการกวาดล้างบวรพระพุทธศาสนาใหญ่หลวง และเผาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของโลก.
 - กล่าวกันว่ามีผู้พยายามจะเคลื่อนย้ายหลวงพ่อดำไปประดิษฐานยังที่เหมาะสม ดูสง่างาม แต่ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้านได้ จนละความพยายามในที่สุด.
 - บ่าย ๆ เริ่มเพลีย ๆ ง่วง ๆ น่าเป็นเพราะการใช้พลังงานมากในช่วงเช้า.   
- ชมอุทยานป่าไผ่เวฬุวัน ได้ครู่หนึ่ง เป็นป่าไผ่ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างมากนัก มีประติมากรรมเจ้าชายสิทธัตถะขณะทรงพระเยาว์ มีสระน้ำรอบ ๆ สระปลูกต้นไม้ตกแต่งไว้สวยงาม
 - จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังเมืองนาลันทา มาไหว้หลวงพ่อดำ อากาศเริ่มเย็น.
 - รถตุ๊ก ๆ ที่ให้บริการ ขับซิ่งเหลือเกิน เห็นเหล่าขอทานแล้วน่าสงสาร เป็นเด็กหญิงผมกระเซิงบ้าง วิ่งตามรถตุ๊ก ๆ อุ้มลูกมาบ้าง.
 บ่าย 2  คณะฯ เดินทางต่อไปยัง "นาลันทาคาม" บ้านเกิดของพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาของพระบรมศาสดา ซึ่งต่อมาได้เป็นสถานที่สร้างมหาวิทยาลัยนาลันทาอันรุ่งเรืองในอดีต พระถังซำจั๋ง (หลวงจีนหยวนฉาง) เคยจาริกแสวงบุญมายังที่นี้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11
 - ได้ศึกษาพระธรรม ตลอดจนเคยเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา นับได้ว่าเคยมีชื่อเสียงโด่งดังกระจายไปทั่วโลก เมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว และเคยมีภิกษุจำพรรษาร่วม 1,000 รูป พร้อมศึกษาพระพุทธศาสนา ณ ที่มหาวิทยาลัยนี้.
 - ค่าธรรมเนียมกล้องถ่ายรูปบริเวณองค์เจดีย์พุทธคยา (กล้องธรรมดา ไม่เสีย, กล้องวิดีโอ 50 รูปี).
 - ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา กว้างขวางมาก ทราบจากเพื่อน ๆ ในทริปว่ากว้าง 2 กม. และยาว 2 กม. ก็ร่วม 4 ตารางกม.
 - ชมที่พักของพระสารีบุตร ดูกุฏิพระผู้มาศึกษาต่าง ๆ และกุฏิที่สันนิษฐานว่าพระถังซำจั๋งได้พักที่นี่มาก่อน.
 - มีคนมาท่องเที่ยวกันมาก ผมถ่ายรูปเก็บไว้เยอะ ได้เวลาอันสมควรก็เดินทางกลับ.
 เย็น  คณะฯ เดินทางสู่เมืองปัตนะ (Patna) ใช้เวลานั่งรถประมาณ 2:30 ชั่วโมง ซึ่งในสมัยพุทธกาลมีชื่อเรียกว่า ปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ซึ่งเมืองนี้เคยเป็นที่สังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ 3.
 - ณ อโศการาม และที่นี้ยังเป็นสถานที่ที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาไปทั่วอินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันเมืองปัตนะ เป็นเมืองหลวงของรัฐพิหาร.
 - ผมซื้อมันฝรั่งเลย์ และถั่ว สแน็กต่าง ๆ เข้ามาทานในรถ อร่อยดี ผมชอบถั่วสแน๊กของอินเดียมาก. 
 - รถโค้ชนำเข้าเมืองปาฏลีบุตร หรือปัตนะในเวลาที่พอเหมาะคือราว 6 โมงเย็นเศษ ๆ ระหว่างเดินทางผมหลับปุ๋ยตลอดทางเลย.
 - คณะฯ เข้าที่พักดื่ม Welcome Drink แล้วเช็คอินท์ ชื่อโรงแรม The Royal Bihar โรงแรมใหญ่โตอยู่ในตัวเมือง.
 20:30 น.  เข้าพักในโรงแรมที่เมืองปัตนะ ชื่อ Patliputra Continental Hotel หรือระดับเท่าเท่า 4 ดาว รับประทานอาหารค่ำ และพักผ่อนตามอัธยาศัย.  - ทานอาหารเย็นราวทุ่มหนึ่ง.
 - ห้องพักสะอาดสะอ้าน ดูใหม่ แต่แคบไปหน่อย ผมอาบน้ำอาบท่าทำธุระส่วนตัว แล้วพักผ่อนด้วยความเพลีย.
* ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือการเดินทางของบริษัททัวร์ที่จัดทริปนี้
 
 

พระประธานกลางแจ้งหินทรายขนาดใหญ่ วัดนวธัมมิกราช รัฐพิหาร (สังเกตดูจะมีรวงผึ้งตรงขอบพระเนตรบนซ้าย) ถ่ายไว้เมื่อ 30 ธันวาคม 2567.
1.

ภาพพระคันธกุฎีของพระบรมศาสดาที่ตั้งอยู่บนยอดเขาคิชกูฏ เมื่อถ่ายจากระยะทางตอนกลางระหว่างจะขึ้นเขา.
1.

ภาพพระคันธกุฎีของสมเด็จพระบรมศาสดา บนเขาคิชกูฏ, ถ่ายไว้เมื่อ 30 ธันวาคม 2567.
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: กุฏิพระอานนท์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าของพระคันธกุฎีของพระบรมศาสดา, และเขาลูกถัดไปด้านซ้ายของพระคันธกุฎีนั้น จะเป็นวัดที่ก่อสร้างโดยหน่วยงานทางศาสนาของญี่ปุ่น.
1.

หน้าผา จุดที่สันนิษฐานว่าพระเทวทัตกลิ้งผลักหินลงมากระทบพระบาทของสมเด็จพระบรมศาสดาจนห้อเลือด, ถ่ายไว้เมื่อ 30 ธันวาคม 2567.
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในวัดเวฬุวัน เป็นวัดป่าไผ่ มีสระน้ำจัดแต่งไว้สวยงาม และประติมากรรมรูปเจ้าชายสิทธัตถะ มหาบุรุษเมื่อยังทรงพระเยาว์.
1.

หลวงพ่อดำ

      
ภาพจากซ้ายไปขวา: ป้ายอธิบายเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนาลันทาโดยสังเขป และสถูปสถานที่พำนักของพระสารีบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทาในระยะหนึ่ง.
1.
      
อาคาร สถูป และบริเวณภายในมหาวิทยาลัยนาลันทา.


ด้วยวันนี้ มีเยาวชนภารตะเข้ามาชมมหาวิทยาลัยนาลันทากันมาก ขากลับเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในทริปก็ถ่ายรูปกับเยาวชนภารตะกัน ดูน่ารัก อบอุ่น เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวชาวไทย.

 
2.
หน้าที่ 3
วันที่สาม อังคารที่ 31 ธันวาคม 2567
 ช่วงเวลา   รายละเอียดกำหนดการ*   เหตุการณ์จริง หมายเหตุ และอื่น ๆ
 07:00 น.   ทุกท่านรับประทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารของโรงแรม เสร็จแล้วเช็คเอ้าท์.
 - นั่งรถต่อไปยังเมืองเวสาลี โดยข้ามสะพานมหาตมะคานธีเสตุ (Mahatama Ghandhi Setu) เป็นสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำคงคา จากเมืองปัตนะไปยังเมืองเวสาลี เป็นสะพานที่ยาวที่สุดของภารตะ ซึ่งก่อสร้างขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่มหาบุรุษของภารตะ คือท่านมหาตะคานธี.
 ควรจะตื่นตอนตี 5, 6 โมงเช้าทานข้าว, 7 โมงเช้า Check-out พร้อมล้อหมุน. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง.
 - ผมตื่นแต่เช้ามืดเหมือนเคย ชาร์ทแบตเตอรี่ ทำธุระส่วนตัว อาบน้ำอาบท่าทานอาหารเช้าที่คอฟฟี่ช้อปแล้วเช็คเอาท์ ตรงตามเวลา
 เที่ยง   รับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารโรงแรมเวสาลี เรซิเด้นซี่.   ระวังเรื่องการขับถ่ายดี ๆ .
 บ่าย.  คณะฯ เข้าชมกูฏาคารศาลา วัดป่ามหาวัน อารามที่กษัตริย์ลิจฉวีแห่งอาณาจักรวัชชี สร้างถวายพระบรมศาสดา ในสมัยพุทธกาลเชื่อว่าตั้งอยู่ในเขตป่าหิมาลัย และพระบรมศาสดาทรงประทับพรรษาที่นี่ ชมเสาอโศกที่มีรูปสิงห์อยู่ในลักษณะนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกที่สมบูรณ์ที่สุด.
 - ต่อจากนั้น คณะฯ ขึ้นรถเพื่อไปสักการะ พระสถูปปาวาลเจดีย์ เป็นสถานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ซึ่งต่อจากนั้นอีกสามเดือน สมเด็จพระบรมศาสดาจึงเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา. ปัจจุบันปาวาลเจดีย์เหลือแต่ฐานที่ทำด้วยหินแข็งมีสีเทา ซึ่งหน่วยงานทางศาสนาของญี่ปุ่นได้สร้างซุ้มมุงด้วยหลังคาสังกะสีเป็นทรงกลมทาสีขาวและมีรั้วเหล็กกั้นไว้โดยรอบ.
  เตรียมกล้องให้พร้อมถ่ายภาพ เน้นภาพขาว-ดำบ้างเพื่อจะได้เห็นลวดลายเสาอโศกชัดเจน.
 - คณะฯ แวะพระสถูปปาวาลเจดีย์ก่อน สวดมนต์ เดินรอบพระสถูปตามที่มีพระไกด์อีกชุดหนึ่งนำไป เริ่มเศร้าที่พระบรมศาสดาปลงอายุสังขารที่พระสถูปนี้.
 - จากนั้นคณะฯ ก็เข้าชมกูฏาคารศาลา วัดป่ามหาวัน กว้างขวางมาก ผมได้ถ่ายเก็บภาพต่าง ๆ ไว้มากรวมทั้งเสาพระเจ้าอโศกที่มีรูปสิงห์ ซึ่งสมบูรณ์มาก ทางทัวร์ได้จัดอาสนะให้นั่งสมาธิ ซึ่งดีมาก ๆ 
 16:30 น.   คณะฯ ออกเดินทางต่อไปยังเมืองกุสินารา.
 - ระหว่างทางผ่านชม "มหาสถูปเกสรียา" เป็นมหาสถูปที่ใหญ่ที่สุดในภารตะ เป็นต้นแบบสถูปบุโรพุทโธ อันเป็นที่ประดิษฐานบาตรขององค์พระบรมศาสดาที่ทรงประทานแก่ชาววัชชี ก่อนเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินารา.
  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง นานโคตร. เตรียมอาหารเสริมรองท้องดี ๆ .
 - แวะพระมหาสถูปฯ ได้ถ่ายภาพกับสาว ๆ กลุ่มหนึ่งทาสีที่หน้าผากแนวขวาง ได้คุยก็ทราบว่า พวกเธอนับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย (นับถือพระศิวะเป็นใหญ่) จะทาสีแนวขวางที่หน้าผากทุกวันจันทร์และวันที่จะเข้าไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น. (ซึ่งข้าง ๆ มหาสถูปเกสรียานั้น มีวัดฮินดูเล็ก ๆ ตั้งอยู่)
 20:30 น. หรืออาจจะดึกกว่านี้  เดินทางถึงเมืองกุสินารา คณะเข้าที่พัก ณ Leela Galaxy Hotel หรือระดับเทียบเท่า 4 ดาว.  ภารตะรถติดมาก ทางเมืองมุมไบ เมื่อช่วงกลาง พ.ย.67 คาดว่า ธ.ค.67 ฝั่งตะวันออก ลุ่มแม่น้ำคงคา รถคงติดไม่แพ้กัน. 
 - ถึงกุสินาราตอนใกล้หกโมงเย็น อากาศเย็นลงมาก ราว ๆ 14-15 เซลเซียส 
 - พักโรงแรม Om Residency ในล้อบบี้มีภาพวาด รูปปั้นออกแบบ Buddhism
 อาจจะ 3 ทุ่ม.  รับประทานอาหารค่ำ และพักผ่อนตามอัธยาศัย.  ตามโปรแกรม มีอาหารไทยเสริม.
 - อาหารมื้อค่ำรสชาติดี มีแกงเขียวหวานไก่ ฝีมือใกล้เคียงกับเมืองไทยมาก
 - ไกด์โจ้ เอากระเพราไก่มาเสริม รอดตายไปอีกหนึ่งมื้อ.
* ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือการเดินทางของบริษัททัวร์ที่จัดทริปนี้
1.

พระสถูปปาวาลเจดีย์: สถานที่ที่พระบรมศาสดาทรงปลงอายุสังขาร ซึ่งต่อจากนี้อีกสามเดือน พระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา.
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: เสาอโศกที่มีรูปสิงห์นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หนึ่งในเสาอโศกที่มีความสมบูรณ์ที่สุด และกูฏาคารศาลา วัดป่ามหาวัน
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: มหาสถูปเกสรียา และสาว ๆ ชาวฮินดู พวกเธอนับถือพระศิวะ (ไศวนิกาย) ซึ่งจะทาสีตรงหน้าผาก (สังเกตการระบายสีแดง คือ ตรีศูล - Trident อาวุธของพระศิวะ) เฉพาะวันจันทร์และวันที่จะเข้าไปสักการะสิ่งหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น.
1.
2.
หน้าที่ 4
วันที่สี่ พุธที่ 1 มกราคม 2568
 ช่วงเวลา   รายละเอียดกำหนดการ*   เหตุการณ์จริง หมายเหตุ และอื่น ๆ
 07:00 น.   รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม   ควรจะตื่นตอนตี 5, 6 โมงเช้าทานข้าว, 7 โมงเช้า พร้อมล้อหมุน.
 - ตื่นเช้า พร้อมออกเดินทางได้ตามแผน.
 - อากาศเย็นมาก ราว 11 องศาเซลเซียส มีหมอก (หมอกจริง ๆ ) ไม่ใช่ฝุ่น pm.2.5
 07:00 น.   คณะฯ เดินทางสู่ สาลวโนทยาน พุทธสังเวชนียสถานที่ 2 ชมปรินิพพานวิหาร กราบนมัสการพระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพานเสมือนหนึ่ง ได้มากราบพระบรมศพของสมเด็จพระบรมศาสดา ชมปรินิพพานสถูป.
 - ขึ้นรถออกไปไม่ไกลนัก ก็มานมัสการสถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของสมเด็จพระบรมศาสดา ณ มกุฏพันธนเจดีย์.
 น่าจะรู้สึกสลดหดหู่กับพุทธสถานแห่งนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เราเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีต่อไป.
 - เข้าสักการะพระบรมศาสดาปางปรินิพพาน. 
 - บรรยากาศโศกเศร้า ได้นั่งสมาธิข้าง ๆ เจดีย์ด้านหลังของอาคารประธานสาลวโนทยาน.
 - แล้วคณะฯ ก็มายังมกุฏพันธเจดีย์ สักการะ ถ่ายภาพ เดินรอบ ๆ เจดีย์ และเดินมากับเพื่อน ๆ ในคณะฯ ดูร้านรอง ความเป็นอยู่ทั่วไปของชาวบ้าน.
 11:00 น.  รับประทานอาหารกลางวัน ที่ห้องอาหารของโรงแรมที่พัก.  เช็คเอ้าท์พร้อมสัมภาระ. กลับมาเร็วนิดหนึ่ง ทานอาหารกลางวันตอน 11 โมง ต้องรีบทาน เพราะต้องใช้เวลาเดินทางผ่าน ตม. เข้าเนปาลให้เร็ว.
 บ่าย  คณะฯ ออกเดินทางไปลุมพินี สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล.
 - ก่อนถึงชายแดนผ่านด่านตรวจหนังสือเดินทางที่ชายแดนภารตะ-เนปาล แวะพักผ่อนที่วัดไทย 960 รอเจ้าหน้าที่ประสานงานชายแดน.
 - คณะฯ เดินทางเข้าสู่โรงแรมที่พัก Asian Buddha Hotel หรือเทียบเท่า 4 ดาว.
 ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง.
 - กระบวนการผ่านด่าน ตม.อินเดีย - เนปาล เร็วกว่าที่คิด (ตามที่ไกด์โจ้บอก).
 - ได้แวะวัดไทย 960 ทานกาแฟ และโรตีกรอบจุ่มนมข้น อร่อยมาก ร้อน ๆ ผมทานไป 4 ชิ้น และได้ทำบุญเพื่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ให้วัดด้วย.
 - ค่ำ ๆ ไม่ดึกมาก คณะฯ ก็เข้าที่พักโรงแรม Asian Buddha Hotel โรงแรมดี สะอาด อาหารมื้อเย็นอร่อย ไกด์โจ้มาปรุงแกงแพนงหมูเสริม ผมทานกับนาน อร่อยโคตร กลับเข้าที่พัก พักผ่อนตามอัธยาศัย.
 19:00 น.  รับประทานอาหารค่ำ พร้อมพักผ่อนตามอัธยาศัย.  เวลาท้องถิ่นของเนปาลช้ากว่าไทย 1:15 ชั่วโมง หรือเร็วกว่าเวลาในภารตะ 15 นาที.
 - ในเนปาลนั้น ถนนหนทางดูเรียบร้อย ผู้คนไม่พลุกพล่านเหมือนภารตะ.
* ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือการเดินทางของบริษัททัวร์ที่จัดทริปนี้
1.
      

 
      
ภาพ: สาลวโนทยาน พุทธสังเวชนียสถาน อันเป็นปรินิพพานวิหาร คณะฯ ได้ร่วมชักผ้าห่มพระบรมศาสดา โดยเดินทักษิณาวัตรรอบสาลวโนทยานและพระเจดีย์สามรอบ จากนั้นก็เข้าไปในสาลวโนยาน นำผ้าห่มพระบรมศาสดาวางไว้พร้อม ๆ กัน กราบสักการะ นั่งสงบทำสมาธิครู่หนึ่ง ถวายปัจจัย บ้างก็นำดอกบัววางไว้ที่พระบาท บ้างก็วางไว้ที่บนเขนยรองพระเศียร มีพุทธศาสนิกชนเข้ามาสักการะเป็นระลอก เป็นชุด บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า.
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: มกุฏพันธนเจดีย์ (Makutabandhana Chaitya หรือ Ramabhar Stupa) เป็นสถูปโบราณที่สร้างขึ้นตรงสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระบรมศาสดา. และบรรยากาศด้านหน้าของสถูป ชมร้านรวงที่กำลังเตรียมจำหน่ายสินค้ากัน.
1.
      
ระหว่างก่อนจะผ่าน ตม.ออกจากภารตะไปเนปาล คณะฯ ก็แวะวัดไทยนวราชรัตนาราม 960 (นายแบบภาพซ้ายน้องปัณณวีร์ และคุณพ่อปุ๋ย-อุดมวิทย์) และภาพร้านโรตีทอดกรอบที่แสนจะอร่อย (เมื่อโรยนมข้นหวานเล็กน้อย ทานพร้อมชานมร้อน).
1.
2.
หน้าที่ 5
วันที่ห้า พฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2568
 ช่วงเวลา   รายละเอียดกำหนดการ*   เหตุการณ์จริง หมายเหตุ และอื่น ๆ
 07:00 น.  รับประทานอาหารเช้าในภัตตาคารของโรงแรม.  ควรจะตื่นตอนตี 5, 6 โมงเช้าทานข้าว, 7 โมงเช้าพร้อมล้อหมุน.
 - อุณหภูมิช่วงเจ็ดโมงเช้า เท่ากับ 9 ํ C.
 ช่วงเช้า   คณะฯ เข้ากราบนมัสการสถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา ณ วิหารมหามายาเทวี (ใหม่) และเสาพระเจ้าอโศกที่มีขนาดความสูง 22 ฟุต 4 นิ้ว และมีข้อความอย่างสมบูรณ์เขียนด้วยภาษาพราหมี ระบุว่าเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระบรมศาสดา และพระเจ้าอโศกได้เสด็จมากราบบูชา ในปีที่ 20 แห่งรัชสมัยของพระองค์.  - อากาศยามเช้าของเนปาลสดชื่นคณะฯ ได้เข้าชมและถ่ายประติมากรรมรูปพระพุทธเจ้าน้อย01 กัน ผมได้ถ่ายภาพบริเวณสวนลุมพินี และเข้าชมในวิหารมหามายาเทวี ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้ถ่ายภาพ ข้างในมีสิ่งก่อสร้างที่ได้ขุดพบ พร้อมทั้งมีหินทรายแกะสลักเป็นรูปพระนางสิริมายาทรงยืนเกาะกิ่งไม้ต้นสาละเพื่อมีประสูติการแก่เจ้าชายสิทธัตถะ ฯ.
 - คณะฯ ได้มานั่งสวดมนต์ทำสมาธิกัน ตรงลานพื้นไม้ด้านข้างวิหารมหามายาเทวี ทางคณะไกด์ได้เตรียมอาสนะให้รองนั่งกัน ได้ครู่หนึ่ง ก็กลับ.
 เที่ยง  คณะฯ กลับเข้าที่พัก รับประทานอาหารกลางวัน.   Check-out.
 บ่าย   คณะฯ ออกเดินทางต่อไปยังกรุงสาวัตถี ภารตะ.
 - มายังด่านชายแดนเนปาล ผ่านพิธีตรวจตรา สแกนลายนิ้วมือเพื่อเข้าสู่ภารตะ.
 - ทราบจากไกด์โจ้ว่า กระบวนการตม. ออกจากเนปาลและเข้าภารตะในครั้งนี้ ใช้เวลาน้อยมากผิดคาด. และคนเข้าออกนักท่องเที่ยวก็น้อย เมื่อเทียบกับระยะก่อน ๆ .
- ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง นานพอควร. โชเฟอร์ขับรถโค้ชเก่งมาก เร่งทำเวลาได้ดี ถนนในภารตะทั่วไป มีการก่อสร้างเป็นระยะ ๆ มีการเบี่ยงทางในช่วงที่มีการก่อสร้าง สร้างสะพานหลายจุด รถสิบล้อเยอะ บีบแตรขอทางหรือให้คนขับรถด้านหน้าระวังว่ามีรถตามเป็นระยะ ๆ .
 - ก่อนถึงเมืองสาวัตถีแวะวัดไทยชื่อ วัดสิทธารถ ราชมณเฑียร ทานก๋วยเตี๋ยวร้าน ชานม ขนมไทย แล้วทำบุญ ถวายสังฆทาน.
 เย็น  เดินทางถึงกรุงสาวัตถี เข้าสู่ที่พักโรงแรมพาวัน พาเลท (Hotel Pawan Palace) หรือเทียบเท่า.  - พลบค่ำ คณะฯ ก็เข้า check-In
 อาจจะ 3 ทุ่ม.  รับประทานอาหารค่ำ และพักผ่อนตามอัธยาศัย.  ตามโปรแกรม มีอาหารไทยเสริม.
* ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือการเดินทางของบริษัททัวร์ที่จัดทริปนี้
หมายเหตุ
01. โดยความเห็นส่วนตัว ไม่ควรเรียกว่าพระพุทธเจ้าน้อย เพราะสมเด็จพระบรมศาสดาบรรลุสัมโพธิญาณเมื่อชนมายุได้ 35 พรรษา ควรเรียกพระองค์ก่อนตรัสรู้เป็นอย่างอื่นเช่น มหาบุรุษ เจ้าชายสิทธัตถะ ฯ เป็นต้น. ซึ่งประติมากรรมรูปพระมหาบุรุษสิทธัตถะช่วงทรงพระเยาว์นี้ คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้มาเปิดราวปี พ.ศ.2556.

1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: ประติมากรรมเจ้าชายสิทธัตถะ ขณะทรงพระเยาว์ และผมนั่งทำสมาธิกับคณะฯ ตรงบริเวณลานใต้ร่มไม้ใกล้ ๆ วิหารมหามายาเทวี, 2 มกราคม 2568.
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: วิหารมหามายาเทวี (ใหม่) และคณะฯ ถ่ายรูปร่วมกันกับเสาพระเจ้าอโศก.

1.

      
ภาพจากซ้ายไปขวา: เสาพระเจ้าอโศก และบันทึกแปลจากภาษาพราหมีที่สลักอยู่บนเสาฯ.
1.
      
ระหว่างทางจะเข้าเมืองสาวัตถีนั้น คณะฯ ได้แวะวัดไทยชื่อ "วัดสิทธารถราชมณเฑียร" ทานอาหารว่าง ทำบุญถวายสังฆทานและกรวดน้ำอุทิศแด่ญาติพี่น้อง ผู้มีพระคุณที่วายชนม์.
1.
2.
หน้าที่ 6
วันที่หก ศุกร์ที่ 3 มกราคม 2568
 ช่วงเวลา   รายละเอียดกำหนดการ*   เหตุการณ์จริง หมายเหตุ และอื่น ๆ
 07:00 น.   รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม   ควรจะตื่นตอนตี 5, 6 โมงเช้าทานข้าว, 7 โมงเช้า พร้อมล้อหมุน.  - ที่พักโรงแรมพาวัน พาเลท เมืองสาวัตถี ไม่ค่อยดีนัก ด้วยเมืองสาวัตถีเป็นเมืองเล็ก นักท่องเที่ยวไม่ค่อยผ่านมาพักนัก โรงแรมดีจึงมีน้อย น้ำไม่ค่อยอุ่น ตอนเจ็ดโมงเช้า อากาศเย็นราว 7 ํC   อาบน้ำไปสะอื้นไปเลย. 
 08:00 น.   คณะฯ เดินทางเข้าชมวัดพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเคยเป็นที่ประทับสำคัญและนานที่สุดของพระบรมศาสดา (รวม 19 พรรษา) ตั้งอยู่นอกกรุงสาวัตถีใกล้ประตูเมืองทางทิศใต้ เข้านมัสการพระมูลคันธกุฎีซึ่งได้บูรณะไว้แล้วอย่างดี.
 - อานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ที่ปลูกโดยพระอานนท์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งปรากฎเป็นหลักฐานในคัมภีร์และยังสืบหน่อแตกเป็นต้นขึ้นมาต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน.
 - บ่อน้ำสรงส่วนองค์ของพระบรมศาสดา กุฏิพระราหุล พระมหากัสสปเถระ พระสีวลี และพระสารีบุตรตามลำดับ.
 - คณะฯ เดินทางต่อไปเพื่อชมสถานที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ บ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งท่านได้เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาพระบรมศาสดา ภิกษุสงฆ์ เป็นอย่างดี.
 - ชมบ้านบิดาขององคุลีมา และเนินดินที่พระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหาริย์.
 - ผ่านบริเวณที่สันนิษฐานกันว่าเป็นที่ซึ่งพระธรณีสูบพระเทวทัต เมื่อครั้งเดินทางมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา.
 - ด้านตะวันออกเฉียงใต้จากวัดศรีลังกา มีบ่อน้ำโบราณ กล่าวกันว่านี่คือ อนุสรณ์ของนางจิณจมาณวิกา ที่ถูกแผ่นดินสูบครั้งที่สร้างบาปหนัก จนแผ่นดินไม่อาจรับไว้ได้ ต้องแยกออกตามตำนานที่กล่าวไว้.
 - ช่วงเช้าคณะฯ ได้เข้าชมอนาถบิณฑิกสถูป ซึ่งเป็นสถูปของอนาถบิฑิกเศรษฐี01 ก่อน แล้วชมสถูปบ้านบิดาขององคุลีมาล
 - จากนั้นก็เข้าชมวัดพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งมีบริเวณกว้างขวาง ได้ชมกุฏิของอัครมหาสาวกหลายองค์ อาทิ พระสีวลี พระสารีบุตร พระโมคลานะ พระมหากัสปะ และพระองคุลีมาล ตลอดจนอานันทโพธิ์ (ซึ่งผมได้เดินทักษิณาวัตรสามรอบด้วยอาการสงบ).
 - ชมเนินดินที่พระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหารย์.
 - ชมจุดที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ซึ่งพระธรณีสูบพระเทวทัต.
 เที่ยง  รับประทานอาหารกลางวัน ที่ห้องอาหารของโรงแรมที่พัก.  เช็คเอ้าท์พร้อมสัมภาระ.
 บ่าย  คณะฯ ออกเดินทางสู่เมืองพาราณสี ระหว่างทาง คณะฯ ชมทัศนียภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในรัฐอุตตรประเทศ และสามารถสนทนาธรรมก่อนเดินทางสู่พุทธสังเวชนียสถานสุดท้าย "ธรรมเมกขสถูป" อันครบองค์สามแห่งพระรัตนตรัย.  ใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชั่วโมง ระหว่างทางราว 4 โมงเย็น
 - ผ่านเมืองสำคัญคือเมืองอโยธยา (Ayodhya) อันเป็นเมืองเกิดของพระราม โอรสของท้าวทศรถ ตามที่ปรากฎในมหากาพย์รามายณะ (การรุดหน้าของพระราม) ที่มีการรจนา เล่าปากต่อปากบ้าง (มุขปาฐะ) เขียนเป็นวรรณกรรมย่อย ๆ ต่าง ๆ เรียงร้อยสืบกันมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี.
 - โชเฟอร์ขับรถได้เร็ว ซิ่ง ทำเวลาได้ มาถึงโรงแรมเฟิร์นที่พักค่ำไม่ดึกเกิน.
 ค่ำ  คณะฯ ถึงเมืองพาราณสี เข้าที่พักโรงแรมเฟิร์น (Fern) ซึ่งอยู่ถัดออกไป ตั้งอยู่ที่เมืองสารนาทใกล้ ๆ รับประทานอาหารค่ำ พร้อมพักผ่อนตามอัธยาศัย.  ทานอาหารมื้อเย็นอย่างเอร็ดอร่อย ที่เด็ด ๆ เด็ดขาดคือมีขาหมูพะโล้ที่เอามาจากเมืองไทยแล้วอุ่นเสิร์พด้วย. ต้องเข้านอนแต่หัวค่ำ ด้วยพรุ่งนี้ต้องตื่นเช้ามาก ๆ .
* ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือการเดินทางของบริษัททัวร์ที่จัดทริปนี้
หมายเหตุ
01อนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือ สุทัตตอนาถปิณฑิกคฤหบดี เป็นชาวสาวัตถี (แคว้นโกศล) ในสมัยพุทธกาล มีชีวิตร่วมสมัยกับพระโคตมพุทธเจ้า เดิมท่านมีนามว่าสุทัตตะเศรษฐี เกิดในตระกูลของสุมนะเศรษฐีผู้เป็นบิดา ท่านเป็นเศรษฐีที่ใจบุญ ชอบช่วยเหลือคนตกยาก ทำให้ท่านถูกเรียกจากชาวเมืองสาวัตถีว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี แปลว่า เศรษฐีผู้เป็นที่พึ่งของคนยาก (แปลตามศัพท์ว่า เศรษฐีผู้มีก้อนข้าวให้กับคน ยากจน). อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ไปค้าขาย และได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์จนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านจึงมีศรัทธาสร้างวัดเชตวันมหาวิหารถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเงินจำนวนมาก ท่านได้เป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์อย่างดีมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาที่วัดพระเชตวันที่ท่านสร้างมากกว่าที่ประทับใด ๆ ถึง 19 พรรษา. เรื่องราวของอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีปรากฏมากมายในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องราวที่แสดงถึงความศรัทธา ความมีสติปัญญา และความเอาใจใส่ในการบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็น อุบาสกผู้เลิศในการเป็นผู้ถวายทาน (เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายก). (ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง: 14 มกราคม 2568.)

1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: นักร้องเด็กหญิงน้อย ๆ หรือ คนธรรพ์ (गन्धर्व - Gandharva – Musician) น้อย ที่มาร้องเพลงเล่นหีบดนตรีหน้าอนาถบิณฑิกสถูป เมืองสาวัตถี และอนาถบิณฑิกสถูปในยามเช้า.
1.
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: สถูปขององคุลิมาล (Stupa of Angulimala - Pakki Kuti) ตั้งอยู่ที่ตำบลมะเหต รัฐอุตตรประเทศ ภารตะ และป้ายด้านหน้าวัดเชตวัน ตำบลสะเหต (Saheth) ศราวัสตี (สาวัตถี)
1.

         
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระคันธกุฎี กุฏิที่ประทับของพระบรมศาสดาในวัดพระเชตวันมหาวิหาร {จากข้อมูลในป้ายของสถานที่ระบุว่าพระบรมศาสดาประทับที่นี่ 24 หรือ 25 ฤดูฝน - พรรษา (rainy seasons - varshavas)} และต้นโพธิ์พระอานันท์ ซึ่งมีหน่อเนื้อแตกหน่อสืบตรงมาจากต้นโพธิ์ที่พระอานนท์ปลูก ตามลำดับเวลานับจากพุทธกาล.
1.
   
ภาพจากซ้ายไปขวา: กุฏิพระสีวลี ซึ่งสายมูเชื่อว่าหากเคารพสักการะจะเจริญด้วยทรัพย์สมบัติ และภาพด้านขวาเป็นกุฏิของพระสารีบุตร ส่วนด้านขวาของภาพข้าง ๆ (ไม่อยู่ในภาพ) จะเป็นกุฏิของพระโมคลานะ พระมหากัสปะ และพระองคุลิมาล.
1.

         
ภาพจากซ้ายไปขวา: เนินดินที่พระบรมศาสดาแสดงยมกปาฏิหาริย์ และบริเวณที่สันนิษฐานกันว่าเป็นที่ซึ่งพระธรณีสูบพระเทวทัต เมื่อครั้งเดินทางมาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา (เหตุที่ดูร้างว่างเปล่า เพราะชาวบ้านถือว่าบริเวณนี้ไม่เป็นมงคล ไม่เหมาะการเพาะปลูก ทำการใด ๆ )
1.
2.
หน้าที่ 7
วันที่เจ็ด เสาร์ที่ 4 มกราคม 2568
 ช่วงเวลา   รายละเอียดกำหนดการ*   เหตุการณ์จริง หมายเหตุ และอื่น ๆ
 05:00 น.  คณะฯ เดินทางมายังริมฝั่งแม่น้ำคงคา คณะฯ ลองเรือล่องลำน้ำ เพื่อชมวิถีชีวิตยามเช้าของผู้ศรัทธาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งชาวพราหมณ์-ฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีภูเขาไกรลาส (Mt.Kailash) อันเป็นที่ประทับของศิวะมหาเทพสถิตอยู่.
 - คณะฯ ชมพิธีการอาบน้ำเพื่อล้างบาป ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา และพิธีการเผาศพซึ่งดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 4,000 ปี. กองไฟมีการเผามาโดยตลอด ดับจุด ๆ ต่อเนื่องกันมา.
 ควรจะตื่นตอนตี 4 เตรียมชุดแต่งตัว เสื้อกันหนาว ชาร์ทแบตฯ กล้อง ฯ ให้พร้อม.
 - ตอนตีสี่ อุณหภูมิ 10 ํC
 - ไม่เห็นภาพการเผาศพชัด ๆ นัก แต่เห็นการเตรียมเผาของบรรดาญาติผู้ใกล้ชิดผู้วายชนม์ เห็นการอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ยามเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งอากาศเย็นหนาวเหน็บมาก.
 06:30 น.   คณะฯ กลับขึ้นฝั่ง และนั่งรถเข้าโรงแรมที่พัก พร้อมรับประทานอาหารเช้า.  
 08:00 น.  คณะฯ ออกเดินทางต่อไป โดยไปเมืองสารนาถ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพาราณสีประมาณ 7 กิโลเมตร.
 - คณะฯ เข้าชมวิหารอนาคาริก (วัดศรีลังกา) นมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากเมืองตักศิลา.
 - เข้าชมเจาคันธีสถูป สถานที่ที่พระบรมศาสดาทรงพบปัญจวัคคีย์ ก่อนที่พระองค์จะแสดงเทศนาธรรม แก่เหล่าปัญจวัคคีย์จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ต่อไป.
 - กราบสักการะธรรมเมกขสถูป อันเป็นสถานที่ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแสดงปฐมเทศนา โปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตำบลสารนาถ.
 - เข้าชมพระมูลคันธกุฎีของพระบรมศาสดา เสาศิลาจารึกอักษรพราหมีของพระเจ้าอโศก.
 - คณะฯ เข้าชมกลุ่มซากกุฏิกว่าร้อยหลัง โดยรอบป่าอิสิปตนมฤคทายวัน.
 - คณะฯ ร่วมสวดมนต์บทธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสูตร.
  Check-out.
 - ค่าธรรมเนียมกล้องถ่ายรูป(กล้องธรรมดา ไม่เสีย, กล้องวิดีโอ 25 รูปี). แต่เมื่อถึงสถานที่จริง ก็ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด.
 11:00 น.   คณะฯ กลับเข้าโรงแรมที่พัก รับประทานอาหารกลางวัน   Check-out.
 12:00 น.  คณะฯ เดินทางกลับไปยังเมืองพุทธคยา.  นั่งรถประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก็มาถึงกลางทางก่อนเข้าเมืองคยา.
 - คณะฯ ก็แวะสังสารามไร่ฝ้าย ซึ่งมีวัดไทยชื่อวัดป่าฝ้ายตั้งอยู่ ทานก๋วยเตี๋ยวไก่ร้อน ๆ โรตี เครื่องดื่มรองท้อง พร้อมทำบุญถวายสังฆทานแล้วจึงเดินทางต่อ อีกราว 130 กม.ก็ถึงเมืองคยา.
 ค่ำ.  คณะฯ ถึงเมืองพุทธคยา เข้าที่พักโรงแรมโอ๊ค (Oaks Hotel) หรือเทียบเท่า 5 ดาว รับประทานอาหารค่ำ และพักผ่อนตามอัธยาศัย.  ตามโปรแกรม มีอาหารไทยเสริม. ไกด์โจ้นำไข่ต้มมาใส่ในน้ำสต๊อกขาหมูเมื่อวานนี้ นำมาต้มอุ่น  ด้วยอากาศเย็น ๆ ทำให้น่ารับประทานมาก.
* ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือการเดินทางของบริษัททัวร์ที่จัดทริปนี้
1.
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: ถ่ายภาพบนเรือขณะแล่นช้า ๆ อยู่บนคงคามหานที โดยถ่ายจากเรือมายังฝั่งยามเช้าตรู่ และภาพฝั่งนรก ซึ่งอยู่ด้านตรงข้าม.
1.
            
ภาพจากซ้ายไปขวา: กองฟืนที่เตรียมไว้เผาศพ เห็นแล้วก็ตระหนักถึงความอนิจจัง, ผมเตรียมลอยพระประทีป ระลึกถึงคุณของผู้มีพระคุณทั้งหลายทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งที่ข้าพเจ้าระลึกถึงได้ในตอนนี้ ผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ข้าพเจ้าลืมไปแล้ว และอาจจะระลึกได้ต่อไป และผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ข้าพเจ้าลืมไปแล้ว ซึ่งไม่อาจระลึกได้เลยก็ตาม ขออุทิศผลบุญทั้งหลายที่ข้าพเจ้ากระทำมาในทริปนี้แก่เจ้ากรรมนายเวร เทวาอารักษ์ สัมภเวสี ให้ได้รับผลบุญอานิสงส์ได้ตามควรด้วยเทอญ.
1.
         
ธรรเมกขสถูป (Dhamek Stupa บ้างก็เขียน Dhamekh Stupa) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ และป้ายแสดงรายละเอียดพระมหาสถูปโดยสังเขป.
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: ลวดลายศิลปะที่ปรากฎเป็นหินสลักนูนต่ำรอบ ๆ องค์พระธรรเมขสถูป และเสาหินพระเจ้าอโศก
1.
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: คำแปลบนเสาหินอโศกจากต้นฉบับภาษาพราหมี และป้ายแสดงคำอธิบายโดยสังเขปถึงเสาพระเจ้าอโศก.
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: พิพิธภัณฑ์โบราณคดีสารนาถ, หัวเสาอโศกรูปสิงห์ หรือ สิงหจตุรมุขสตมภศีรษะ (Hindi: सिंहचतुर्मुख स्तम्भशीर्ष) อันเป็นตราประจำชาติภารตะ ทำด้วยหินทราย สูง 2.1 เมตร กว้าง 86 ซม. สร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล.
1.
      
พระพุทธปฏิมาธรรมจักรมุทรา (Dharmachakra pravartana Mudra) พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่งดงามที่สุดในโลก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกนิ้วขึ้นจีบ แสดงท่ารูปวงกลม เป็นกิริยาแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประคอง มีเครื่องประกอบทำเป็นรูปวงล้อ (ธรรมจักร) กับรูปกวางไว้ตรงพุทธบัลลังก์ และมีปัญจวัคคีย์พนมมือด้วย เป็นสัญลักษณ์การเกิดพระรัตนตรัย01.
1.
         
ภาพจากซ้ายไปขวา: โยมจิตอาสาชาวไทยที่วัดป่าฝ้ายมาช่วยปรุงอาหาร ก๋วยเตี๋ยวสำหรับคณะฯ และเพื่อน ๆ ในคณะฯ ร่วมกันทำบุญถวายปัจจัยแก่วัดป่าฝ้าย.
1.
หมายเหตุ
01. ข้อมูลบางส่วนมาจาก http://bodhigaya980.com, วันที่เข้าถึง 17 มกราคม 2568.
1.
2.
หน้าที่ 8
วันที่แปด อาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2568
 ช่วงเวลา   รายละเอียดกำหนดการ*   เหตุการณ์จริง หมายเหตุ และอื่น ๆ
 07:00 น.   รับประทานอาหารเช้า ณ ห้องอาหารของโรงแรม และ Check-out.   ควรจะตื่นตอนตี 5, 6 โมงเช้าทานข้าว, 7 โมงเช้า พร้อมล้อหมุน.  ตอนหกโมงเช้าอุณหภูมิ 10 ํC
 08:00 น.   คณะฯ เข้าชมบริเวณที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นบ้านนางสุชาดา อุบาสิกาคนแรกของพระพุทธศาสนา (โดยนำข้าวมธุปายาสมาถวายพระพุทธองค์).
 - ชมริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ท่าสุปปติฏฐะซึ่งเป็นท่าที่พระบรมศาสดาทรงอธิษฐานลอยถาด (วางอาหาร) ที่นางสุชาดาถวายพร้อมข้าวมธุปายาส จากท่าน้ำนี้คณะฯ สามารถมองเห็นเจดีย์มหาโพธิ์.
 - คณะฯ เดินทางมายังบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ และองค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา อิสระในการสวดมนต์ ทำสมาธิ ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ฯ กราบลา เป็นการส่วนตน.
 - คณะฯ เกือบทั้งหมดออกจากโรงแรมที่พักราว 7:30 น.มายังพระมหาเจดีย์พุทธคยา บ้างก็เข้าไปสักการะอีกครั้งก่อนกลับ บ้างก็ช้อปปิ้งในบริเวณใกล้เคียง.
 11:30 น.  คณะฯ เดินทางมาถึงสนามบินพุทธคยา เช็คสัมภาระเคาน์เตอร์สายการบินไทย.  เตรียมพาสสปอร์ต Boarding Pass เอกสารอื่น ๆ แก่ตม.
 13:40 น.  คณะฯ ออกเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสายการบินไทย TG 328 รับประทานอาหารกลางวันบนเครื่องบิน.  เครื่องบินดีเลย์ เพราะหมอกควันหนาทึบ เกินกว่ากำหนดในการลงจอดของสนามบิน.
 18:15 น.*  คณะฯ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย โดยสวัสดิภาพ.  * เวลาท้องถิ่นในประเทศไทย
 ถึงท่าอากาศยานสุวรรรภูมิเกือบสองทุ่ม
* ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากคู่มือการเดินทางของบริษัททัวร์ที่จัดทริปนี้
1.
       
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระมหาเจดีย์พุทธคยายามเช้า และภาพไกด์โจ้หน้าพระมหาเจดีย์พุทธคยา.
1.
       
ภาพจากซ้ายไปขวา: รายละเอียดต่าง ๆ ด้านล่างของพระมหาเจดีย์ฯ และเหล่าภิกษุมหายานนิกาย สวดมนต์ข้างพระมหาเจดีย์ฯ.
1.
       
ภาพจากซ้ายไปขวา: รายละเอียดต่าง ๆ ด้านล่างของพระมหาเจดีย์ฯ และสามเณรน้อยตรงวิหารเล็ก ๆ ด้านหน้าทางเข้าวิหารหลักพระมหาเจดีย์พุทธคยา.
1.
      
รายละเอียดต่าง ๆ แต่ละด้านสี่เหลี่ยมขององค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา มีศิลปะพระพุทธรูปนูนปานกลางประทับนั่งแบบต่าง ๆ
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระสงฆ์ไทยคณะหนึ่งกำลังเตรียมสวดมนต์ข้างต้นพระศรีมหาโพธิ์.
1.
      
ภาพจากซ้ายไปขวา: รายละเอียดต่าง ๆ อีกด้านสี่เหลี่ยมขององค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา มีศิลปะพระพุทธรูปนูนปานกลางประทับนั่งแบบต่าง ๆ และเต้นท์ค้างแรมของภิกษุจากหลากหลายสารทิศมาค้างแรมที่บริเวณพระพุทธยา ทราบแว่ว ๆ จากเพื่อน ๆ ในทริปว่าเร็ว ๆ ที่พุทธคยาจะมีงานพิธี.
1.
ภิกษุมหายานนิกาย ทิเบตกำลังกราบพระมหาเจดีย์พุทธคยา.
1.
2.
3.

 
humanexcellence.thailand@gmail.com