ผมได้เดินทางไปกับทริปของอาจารย์วรณัย และอาจารย์โอภาส (ไกด์โอ) อีกคราหนึ่ง ระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2563. ทริปนี้มี 20 ท่าน ค่าใช้จ่ายห้าวันสี่คืนพักเดี่ยว โรงแรมสี่ดาว เป็นเงิน 32,700.-- บาท เตรียมทิปเงินไกด์ท้องถิ่น วันละ 100 บาท (รวม 500 บาท)
ข้อมูลทั่วไป
- อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส
- เงินด่องประมาณ 700-750 ด่อง ต่อ 1 บาท
- การแต่งตัวตามสบาย บรรยากาศติดทะเล มีแดด ปราสาทจะอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ควรใส่รองเท้าหุ้มส้น
กำหนดการมีดังนี้
วัน เวลา |
กำหนดการ: กรุงเทพฯ - ญาจาง (Nha Trang) |
หมายเหตุ |
วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 |
ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง สายการบิน Air Asia FD656 ออกเดินทางจากดอนเมือง 07:40 น. ถึงโฮจิมินห์ เวลา 09:15 น. (ทานอาหารบนเครื่องบิน) |
เครื่องบินแบ่งเป็นสองคณะ เพราะมีผู้มาเที่ยวเวียดนามกันมาก อีกคณะหนึ่งขึ้นเครื่องที่ สุวรรณภูมิ ตรงไปดาลัท (Dalat) ช่วง 11:10-12:55 น. แล้วจะมาเจอรวมกันที่ ญาจาง |
|
แล้วต่อเครื่องจากโฮจิมินห์เวลา 13:15 น. ถึงญาจาง เวลา 14:25 น. ด้วยเที่ยวบินในประเทศเวียดนาม VN1346 |
16:00 น. |
ชมปราสาทจาม กาลัน โป คลอง ยาราย (ปราสาทแห่งราชามังกรผู้ปกครองชาวยาราย) เป็นปราสาทที่สร้างด้วยอิฐ สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยสิงหรวรมันที่ 3 ตั้งอยู่บนเนินเขา ตัวปราสาทสร้างในคติไศวนิกาย ชมรูปแกะสลักศิวะนาฏราชที่หน้าบันปราสาท ภายในปราสาทประธานจะเป็นที่ตั้งของ "ศิวะมุขลึงค์" ที่ปัจจุบันถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเทพท้องถิ่นไปแล้ว |
เย็น |
รับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคาร |
|
พักโรงแรม Red Sun Hotel ระดับสี่ดาว |
ผมมาถึงสนามบินดอนเมืองราวตีสี่ครึ่ง เห็นผู้โดยสารส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโคโรน่าไวรัส ผมเบิกเงินพร้อมแลกสตังค์เป็นเงินเวียดนามด่อง อัตรา 0.00134 ด่องต่อ 1 บาทไทย ผมแลกไป 3,001 บาท ได้มา 2,240,000 ด่อง
สักครู่ คณะทริปก็ทะยอยกันมา จนครบรวมแปดท่าน เช็คอินเรียบร้อย เข้ามาแกร่ว ๆ และนั่งหลับรอเวลาขึ้นเครื่อง ในสนามบินตรงประตู 3 มีผู้โดยสารใช้บริการเยอะไปหมด ในช่วงเช้านี้ เครื่องบินออกตามเวลา ทานอาหารเช้าที่ไกด์โอบุ๊กจองไว้แล้วบนเครื่อง เป็นข้าวสวยกับไข่เจียวและแพนงไก่ พร้อมน้ำดื่มถ้วยเล็ก ๆ พอทานได้อิ่มพอดี เครื่องบินมาถึงสนามบินโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Airport) ราว 09:24 น. เสียเวลาเล็กน้อย
ผ่านตม. รับกระเป๋า แล้วมาต่อสายการบินในประเทศ Vietnam Airline ไปลงสนามบินคัมรันห์ (Cam Ranh) ซึ่งอยู่ใกล้เมือง ญาจาง (Nha Trang - ไม่รู้เป็นไง ยังไง ๆ ผมก็อ่าน นาตรังทุกที)
ภาพจากซ้ายไปขวา: อาหารมื้อเช้าบนแอร์เอเชีย, และเฝ่อเนื้อ มื้อเที่ยงในสนามบินโฮจิมินห์
คณะมีเวลาเหลือ ก็มาทานเครื่องดื่มกันที่ Starbucks ฝั่งตรงข้ามสนามบิน ผมดื่มชามะนาวแก้วกลาง ราคา 100.50 บาทไทย ถือว่าถูกกว่า Starbucks ที่เมืองไทยอยู่พอสมควร พอใกล้เที่ยง ก็เช็คเข้ามาในสนามบิน คณะทริปก็ทานเฝ่อเนื้อกัน (ราคา 70,000 ด่อง ราว ๆ 93.80 บาทต่อชาม อยู่ในงบของทริป) รสชาติดี น้ำซุบกลมกล่อม และก็มารอขึ้นเครื่องไปสนามบินคัมรันห์ (Cam Ranh) ใช้เวลาราว ๆ 40 นาทีก็ถึง มาถึงตอน 14:25 น.
ถ่ายขณะขึ้นเครื่อง Vietnam Airlines จากสนามบินโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Airport) ไปสนามบินคัมรันห์ (Cam Ranh Airport)
เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2563 (ได้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโคโรน่าไวรัสไว้)
ที่เมืองคัมรันห์ (เดิมเป็นฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามเวียดนาม) อากาศดีมาก ลมพัดค่อนข้างแรง รับโอโซนจากมหาสมุทรแปซิฟิกเต็มที่ ไกด์ท้องถิ่นมารับ เป็นสุภาพสตรี ชื่อไทยว่า "นกยูง" คณะก็ขึ้นรถบัสความจุได้ 12-18 ที่นั่ง ก็รองรับคณะทริปของเราร่วม 8 ชีวิตล็อตแรก (ที่จะไปรวมเจอกับอีกล็อตหนึ่ง 10 ท่าน) รถบัสขับล่องลงมาอีกเล็กน้อย ราว ๆ 60 กิโลเมตร ก็มาถึงปราสาทจาม กาลัน โปคลอง การาย {Cham Kalan (บ้างก็เขียน Galan) Po Klong Garai (บ้างก็เขียน Giarai)} อยู่ที่จังหวัดนินห์ ตวน (Ninh Thuan)
ขณะขึ้นชมปราสาท
ผนังข้างปราสาทประธานด้านขวา
บนหน้าบันเป็นภาพสลักศิวะนาฎราช
โคนนทินั่งเฝ้า แสดงว่าพระอิศวรทรงสถิตอยู่
ภาพในปราสาทประธาน มีศิวะมุขลึงก์ ฐานโยนี หันไปทางทิศเหนือ ปัจจุบันได้เพิ่มเสริมเทพท้องถิ่น
จารึกข้างประตูทางเข้าปราสาทหลัก เป็นภาษาจาม (ชวา+โพลินีเชียน)
ผม ถ่ายโดยมีปราสาทจาม กาลัน โพครอง การาย เป็นแบ็คกราวน์ ขณะเดินลง
โปคลอง การาย (Po Klong Garai ภาษาจาม แปลว่า: กษัตริย์มังกรและชนชาวยาราย - Dragon king of J'rai people) ปราสาทกลุ่มนี้ได้สร้างมาเพื่อเป็นเกียรติแก่กษัตริย์โปคลอง การาย ที่ปกครองปาณฑุรัง (Panduranga) ในช่วง ค.ศ.1151-1205 ที่มีนามว่าพระเจ้าชัยสิงหวรมเทวะที่ 3 (Jaya Sinhavarman III)
อาจารย์เจี๊ยบและไกด์โอ ได้ช่วยอธิบายประวัติศาสตร์ศิลปะ ความเป็นไปความเชื่อมโยงของอาณาจักรจัมปา ชาวจาม อาณาจักรชวาศรีวิชัย ไดเวียต (Daiviet) ตังเกี๋ย อันนัม คณะทริปของเราฟังไปถ่ายภาพไป ผมเก็บภาพได้เยอะ เพื่อจะนำไปศึกษาต่อ ประมวลค้นคว้ากันต่อไปในเบื้องหน้า คณะทริปอยู่ชมได้ราว 40 นาที ก็กลับ มีการถ่ายรูปหมู่ เดียว บางกลุ่มสลับกันไป แล้วลงจากเนินเขา เดินทางขึ้นทางเหนือ บนถนนสายแมนดาริน (ถนนหมายเลข 1) ต่อไป
นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะตรงกับสมัยพนมกุเลนของกัมพูชา (เพราะตรงฐานด้านล่างมีรูปสลักเป็นหัวช้าง)
โดยมีภาพปั้นนางทุรคาขี่สิงห์ สภาพวิหารดูแล้วอิฐเก่าผุพังไปมาก
ถัดจากนั้น คณะของเราก็มาแวะกลุ่มปราสาทห่อลาย (Hoa Lai Tower หรือ Tháp Hòa Lai) ที่จังหวัด นิงห์ ทวน (Ninh Thuan) ซึ่งข้างทางด่วนย้อนกลับเข้าเมืองญาจาง กลุ่มปราสาทห่อลายนี้ มีสามวิหาร สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 9 ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ของกัมพูชาโบราณ ตั้งอยู่บนเนินสูงที่สุดของท้องนาที่ทอดยาวทางตอนเหนือของเมืองพานรัง - ทับจาม (Phan Rang–Tháp Chàm) ทอดยาวตะวันออกจากไปตะวันตก กว้าง*ยาว = 200 ม.*125 ม.
ด้วยมีเรื่องน่าเศร้าใจ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสและท้องถิ่นได้รื้อทำลายส่วนบนของวิหารกลาง แล้วนำอิฐไปปูทางสำหรับทางหลวงสายแมนดารินอันเป็นทางหลวงหมายเลขหนึ่ง ซึ่งตอนนี้หอคอยกลางก็ทรุดตัวลง มีเพียงผิวพื้นบางส่วนให้เห็นเท่านั้น
ซุ้มประตูของวิหารใหญ่ที่เหลือ จะเห็นรูปปั้นของพระกาฬ (Kala) ด้านบน ระหว่างเสาทั้งสองด้านแสดงรูปปั้นแกะสลักเป็นดอกไม้
ชื่อห่อลาย (Hoa Lai) มีการตั้งขึ้นภายหลัง เมื่อปี ค.ศ.1888 เหมือนชื่อสถานีบริการ (สถานีรถไฟ?) ที่อยู่ใกล้ ๆ
คณะทริป ต่างลงมาถ่ายรูปรับฟังการบรรยายของอาจารย์เจี๊ยบ ราวครึ่งชั่วโมง อากาศเย็นสบาย ราว 27 องศาเซลเซียส ลมแรงนิดหนึ่ง ท้องฟ้ามีเมฆหนา แต่ฝนไม่ตก ได้รับโอโซนจากมหาสมุทรแปซิฟิกเต็มที่
จากนั้น ไกด์ท้องถิ่นชื่อไทยว่า "เจ้อิ่ม" ก็มาเปลี่ยนผลัดมือกับ "นกยูง" เจ้อิ่มเป็นชาวเวียดนามอยู่ที่ฮานอย พูดไทยได้พอสมควร ให้ความรู้แนะนำได้ตามสมควร โดยเฉพาะประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ในส่วนที่เป็นสงครามเวียดนาม มหาสมรภูมิรบเดียนเบียนฟู ประวัติท่านโฮจิมินห์ ฯ
ภาพเจ้อิ่ม กับอาจารย์วรณัย, เครดิตภาพ: คุณสมยศ, ถ่ายไว้เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ ที่ตลาดห่าน ในเมืองดานัง
จากนั้นรถบัส (สารถีคือ คุณดุ๊ก เป็นหนุ่มฉกรรจ์ชาวเวียดนาม ไม่ได้คุยกันเลย เว้นแต่ทักทายตอนขากลับ) ก็นำคณะขอเราขึ้นมาเมืองญาจาง ถึงตอนค่ำ ๆ ราวหกโมงเย็นเศษ ๆ แวะทานอาหารเย็นกันที่ภัตตาคาร Truc Linch สาขาสอง กลางเมืองญาจาง แนวซีฟู้ด อาหารทะเลที่นี่เยอะและสดมาก จัดนั่งเป็นโต๊ะจีน ทานกันโต๊ะละ 6-7 คน ตบท้ายด้วยซุปและผลไม้ท้องถิ่น รสชาติเลี่ยน ๆ เล็กน้อย
หลังทานเสร็จ ผมเดินออกมาด้านหน้าร้านหาซื้อซิมใส่โทรศัพท์มือถือ ราคา 130,000 ด่อง (174.20 บาท) ใช้ได้ 4 วัน ให้ร้านช่วยใส่ให้ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์มาให้น้องร่วมทริป ลิลลี่ ช่วย Install ให้เรียบร้อย ใช้งานเปิดอินเทอร์เน็ต รับส่งไลน์ได้ดีตลอดทริป
จากนั้นคณะก็มาเช็คอินที่ โรงแรมกลางเมืองชื่อ "เรดซันญาจาง (Red Sun Nha Trang Hotel)" อยู่ใกล้ทะเล ผมเอาของเข้าห้องเรียบร้อย แล้วออกมาเดินชมเมืองกัน กับอาจารย์วรณัยและคุณศรีกรุง
โอ้โห เห็นแม่ค้าขายอาหารทะเลสด ๆ รวมทั้งกุ้งมังกรข้างทาง ผมนี่ทึ่งเลย เดินชมเมืองพักหนึ่ง ที่สังเกตดู มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นรัสเซีย อยู่กันยาวหลายสิบวัน จากนั้นก็ซื้อปูย่างกุ้งมังกรย่างสับราดซ้อสแซ่บ ๆ {กุ้งและปูตัวละ 130,000 ด่อง (174.20 บาท) และ 100,000 ด่อง (134.00 บาท) ตามลำดับ} มาทานในล้อปปี้กัน บริกรหันมามองเหล่เล็กน้อย ทานอาหารทะเลสด ๆ สำเร็จด้วยความเอร็ดอร่อยก็เคลียร์เก็บเช็ดโต๊ะ แยกย้ายกันไป ผมขอตัวเข้าไปพักผ่อน ห้องพักกว้างขวาง อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ครบครัน สะอาดสะอ้าน พักได้เต็มที่เพื่อจะได้ลุยเที่ยวต่อกันในวันพรุ่งนี้
วัน-เวลา |
ญาจาง (Nha Trang) - ฝูเยน หรือ ฟู้เอียน (Phu Yen) - กวินยอน |
หมายเหตุ |
เสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 เช้า |
รับประทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารของโรงแรมที่พัก |
|
เช้า |
ชมปราสาทจาม โป นาการ์ หรือ ที่ชาวพื้นเมืองจะเรียกว่า Thap Ba หรือ ปราสาทสตรี ตัวปราสาทสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 781 ด้วยอิฐจำนวน 7-8 หลัง แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่แค่สี่หลัง ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงประมาณ 50 เมตร ริมฝั่งแม่น้ำไค ตามประวัติฝ่ายจาม ปราสาทนี้สร้างขึ้นเพื่อบูชา เจ้าแม่โป นาการ์ ผู้ที่ลงมาสั่งสอนชาวจามให้รู้จักการเกษตรและการทอผ้า |
|
|
จากนั้น เดินทางสู่เมืองฝูเยน (Phu Yen) ชมปราสาทหนาน (Nhan Tower) ที่สร้างด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 ภายในปราสาท ปรากฎรูปแกะสลักเจ้าแม่ทุรคา ปางมหิษาสุรมรรทนี |
|
เที่ยง |
รับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคาร |
|
บ่าย |
เดินทางสู่เมืองกวินยอน ชมปราสาทจามแฝด แห่งเมืองบินห์ดิงห์ (Binh Dinh)ที่สร้างในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11-13 และชมปราสาทจามแห่งอื่น ๆ ตามแต่เวลาจะอำนวย ชมศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแห่งชาวจาม ที่เมืองบินห์ดิงห์ (Vo Binh Dinh) |
|
เย็น |
รับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคาร |
|
|
พักโรงแรม Saigon Quynhon Hotel ระดับสี่ดาว |
|
โปรแกรมตื่น ทานข้าวเช้า เช็คเอ้าท์ เป็น 05:30, 06:30, และ 07:30 น. คณะเรามาทานในห้องอาหารของโรงแรมชั้นสี่ อาหารหลากหลายครบครัน รสชาติดี ลิลลี่บอกว่า ออกสไตล์รัสเซีย ทานเสร็จก็เก็บข้าวของ เช็คเอ้าท์ ขึ้นรถบัสพร้อมเดินทางต่อไป
ภาพจากซ้ายไปขวา: อาหารมื้อเช้า, และทะเลญาจางยามเช้า (ถ่ายขณะอยู่บนรสบัส)
รถบัสพาเรานำขึ้นมาทางเหนือเลาะริมทะเลขึ้นมาทางเหนือราวสิบกว่ากิโลเมตร ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำไค (Cai river) มายังปราสาทจาม ชื่อ ปราสาทโปนาการ์ (Ponagar Tower หรือ Thap Ba Ponagar) ยังอยู่ในเมืองญาจาง ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาใกล้แม่น้ำ มีผู้คนในท้องถิ่นขึ้นมาสักการะมิได้ขาด มีเสียงสวดตามสายเป็นภาษาเวียดนาม ทำนองพุทธมหายาน
ผู้คนที่มาสักการะเจ้าแม่โปนาการ์ในวิหารหลักนั้น จะนำผลไม้ท้องถิ่นมาถวาย เช่น กล้วยน้ำว้า ลำไย ในวิหารหลัก ผมเข้าไปลูบสักการะหินสลักเทพโปนาการ์ด้านหลังด้วย เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีโชคลาภ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลวิหารโบกไม้โบกมือไม่ให้ถ่ายภาพ ผมก็หลบ ๆ แต่ถ่ายเก็บภาพไปแล้ว 3-4 ภาพครับ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ประตูทางเข้า หน้าบันเป็นพระแม่ทุรคา ปางมหิษาสุรมรรทินี ปางปราบมหิงษาสูร (ปีศาจกระบือ)
(Durga, the slayer of the buffalo-demon),
และภายในเป็นพระแม่ทุรคา เป็นปางหนึ่งของพระปารวตี มเหสีของพระอิศวร
ภาพจากซ้ายไปขวา: กลุ่มปราสาทโพนาคาร์, และอักษรที่จารึกไว้ตรงเสาประตูด้านขวามือทางเข้าวิหารหลัก จารึกเป็นภาษาจาม ระบุชื่อ จาม ลาว สยามไว้
คณะทริปของเราอยู่ศึกษา ถ่ายภาพ รับฟังบรรยายจากอาจารย์วรณัยได้ราวชั่วโมงเศษ ก็ขึ้นรถบัสเดินทางต่อไปทางทิศเหนือ บรรยากาศในรถมีการอภิปรายกัน ด้วยตามความเชื่อของศาสนาฮินดู-พารหมณ์นั้น พระแม่ทุรคามี 10-18 กร ถืออาวุธครบมือ แต่ภาพที่หน้าบัน กรหนึ่งด้านขวากำลังถือเครื่องดนตรี ด้านซ้ายถือดอกบัว และจักร บริวารซ้ายขวาเหมือนตีฉิ่ง เป่าขลุยเสริม กระบือที่ฝ่าเท้าพระแม่ก็ดูไม่ดุร้าย สันนิษฐานว่าเป็นการแปลงไปจากคติฮินดู-พราหมณ์อยู่ไม่น้อย
ภาพจากซ้ายไปขวา: ทิวทัศน์ข้างทางขณะจะเข้าเมืองตุยหัว (Tuy Hòa) จังหวัดฝู่เย้น (Phú Yên), และอาคารพาณิชย์ที่ชั้นสามขึ้นไป สันนิษฐานว่าเป็นรังนกนางแอ่น มีเสียงนกเจื้อยแจ้ว เซ็งแซ่อยู่ ถ่ายระหว่างรถบัสแวะเต็มน้ำมัน และคณะทริปก็แวะเข้าห้องน้ำกันระหว่างทาง
ภาพจากซ้ายไปขวา: ระหว่างทางที่ผมเดินขึ้นเนินเขาชมปราสาทหนานนั้น มีสวนแสดงรูปปั้นเทพต่าง ๆ (เป็นของใหม่) ที่น่าสนใจคือ เป็นครุฑและมีนาคห้าเศียรอยู่ด้านหลังตามแบบศิลปะจาม, และทิวทัศน์เมืองตุยหัว เมื่อถ่ายลงมาจากเนินเขาบนปราสาทหนาน
ปราสาทหนาน
จากนั้นคณะของเราก็เดินทางมาทางเหนือเลาะทะเล ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ระยะทางราว 111 กิโลเมตร ก็มาถึงปราสาทหนาน (Nhan Tower - Tháp Nhạn) เมืองตุยหัว (Tuy Hòa) จังหวัดฝู่เย้น (Phú Yên) อยู่บนเนินเขาสูงเล็กน้อย ขาขึ้นมีรถกอล์ฟไฟฟ้ามารับคณะของเราบางส่วนขึ้นไปชมปราสาทกัน ด้วยรอนานนิดหนึ่ง ผมกับเพื่อนในทริปบางส่วนเดินขึ้นเนินไป ไม่สูงและไกลนัก ระหว่างทางมีรูปแกะสลักบ้าง ปูนปั้นบ้างเป็นเทพฮินดูต่าง ๆ ลมแรงและเย็นสบายบนเนินเขาปราสาทหนาน มีนักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาขึ้นมาชมและสักการะไม่ขาด
ปราสาทหนานนี้ ประดิษฐานอยู่บนภูเขาหนาน ซึ่งสร้างโดยชาวจามในที่ราบลุ่มแม่น้ำบา (Ba river basin) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ตัวปราสาทมีการจัดมุมเป็นสี่ส่วนสี่ชั้น ตัวปราสาทสูงราว 23.5 เมตร แต่ละด้านของประสาทกว้าง 10 เมตร
จำเนียรกาลล่วงมา และสงครามต่าง ๆ ที่บังเกิดขึ้น มีหลายส่วนของปราสาททรุดโทรมเสียหายไปไม่น้อย แต่ก็ต้องขอบคุณองค์กรส่วนจังหวัดฝู่เย้นได้มีการบูรณะซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์ ให้ดูสง่าและงดงามจวบจนปัจจุบัน
ระหว่างทาง คณะทริปเราแวะทานอาหารกลางวันเป็นข้าวหม้อดิน (เกิม นิว - Cơm Niêu) ทานกับสลัดกุ้ง ผัดต่าง ๆ พร้อมตบท้ายด้วยซุป
จากนั้นก็เดินทางเลาะทะเลมาร่วม 2 ชั่วโมงแวะเมืองขนาดกลางเมืองหนึ่งใกล้ ๆ อ่าว Xuan Dai Bay แวะห้างโลตัสราว 40 นาที คณะทริปของเราก็ไปซื้อขนมนมเนยของขบเคี้ยวกัน ผมลงมาซื้อเวเฟอร์ช็อคโกแล็ต และกาแฟเย็นมาทาน (กาแฟที่นี่ใส่ในแก้วแค่ 1 ใน 4 ของแก้ว แต่เข้มข้นมาก รอให้น้ำแข็งค่อย ๆ ละลายและดื่มจิบ อร่อยมาก กระปรี้กระเปร่าดี)
สักชั่วโมงเศษ ๆ คณะของเราก็มาถึงมาปราสาทจามแฝด (Cham Twin Towers หรือแท้ปโดย Tháp Đôi แปลว่า เป็นคู่) ที่เมืองกวินยอน (Qui Nhon) จังหวัดบินห์ ดินห์ (Binh Dinh) ปราสาทแฝด หรือ แท้ปโดย นี้ เป็นชื่อที่ชาวเวียดนามตั้งขึ้นมาภายหลัง สันนิษฐานว่าสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 11 - 13 ช่วงสมัยกัมพูชาโบราณมีการสร้างนครวัด จนมาถึงสมัยบายน ศิลปะการก่อสร้างแท้ปโดยนี้โดดเด่นมาก ในการจัดวางเชื่อมหินเข้าไว้ด้วยอย่างสนิทแน่นแข็งแรง มีนักวิชาการสันนิษฐานว่ามีปราสาทอีกหลังหนึ่งถูกทำลายหรือผุกร่อนไปตามเวลา
และเป็นที่น่าเศร้าใจ ในช่วงสงครามเวียดนาม แท้ปโดย แห่งนี้ถูกระเบิดจากเครื่องบิน B52 และด้วยอาวุธหนักเบาน้อยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง ตัวปราสาทและหลักฐานทางโบราณคดีเสียหายไปมาก เมืองนี้ในอดีต ชื่อเมืองวิชัยปุระหรือวิชัยนคร ปราสาทชุดนี้ก่อสร้างตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของกัมพูชาโบราณ เป็นยุคบินห์ดินห์ เป็นศิลปะแบบบายน มีศิลปะของกัมพูชาผสมผสานอย่างชัดเจน
ด้วยตรงมุมด้านบนปราสาทมีครุฑแบก ดูสวยงามมาก มีกนกตรงกรอบประตูเข้า นักวิชาการส่วนหนึ่งเรียกว่า ลายพันธ์ุ์พฤกษา ภายในปราสาทเป็นศิวะลึงก์ ทำใหม่ทั้งหมด ฐานด้านนอกหลายส่วนก็ทำใหม่ด้วย
ที่น่าสนใจอีกประการ มีผู้ศรัทธานำศิวลึงก์และฐานโยนีเล็ก ๆ มาประดิษฐาน ซึ่งจะเรียกฐานโยนีก็ไม่ใช่ น่าจะเป็น ถัน (นมสตรี) ฐานมากกว่า
จำเนียรกาลผ่านไป ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ความเชื่อความศรัทธาก็เปลี่ยน กอปรกับคนเวียดนาม ไม่ค่อยสนใจประวัติความเป็นมาเป็นไปของชาวจามนัก (เป็นคนนอก ชาวชวา โพลินีเชียน ซึ่งสันนิษฐานว่าจากการสู้รบ Dai Viet และตังเกี๋ย ชาวจาม ชนะบ้างแพ้บ้าง แล้วถอยร่นลงมา ค่อย ๆ หดตัว ถูกกลืนชาติพันธุ์ สูญสลายในกาลต่อมา)
ถัดจากนั้น คณะทริปก็เข้าตัวเมืองกวินยอน เข้าพักที่ Saigon QuyNhon Hotel ผมเข้าห้องพัก หรูสะดวกสบายสะอาดสะอ้าน ทำธุระส่วนตัวแล้วออกมาเดินเล่นด้านนอกโรงแรมราว 5 โมงครึ่ง รอคณะทริปที่มีกำหนดการตอนหกโมงครึ่งจะออกไปทานอาหารเย็นกัน
ซึ่งหน้าโรงแรมเป็นลานกว้าง เห็นเด็กเวียดนามเตะฟุตบอลกันยามเย็น ถัดออกไปก็เป็นอนุสาวรีย์วีรชนและประชาชนเวียดนามที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมในสงคราม ถัดออกไปอีกหน่อยก็เป็นชายหาดทะเล มีชาวเวียดนามจัดทีมเตะฟุตบอลตีนเปล่าริมชายหาดกัน ลมแรงอากาศเย็นสบาย ทิวทัศน์สวยงาม เมื่อสายตามองทอดออกไปก็เป็นเวิ้งอ่าว มีเมฆฝนลอยต่ำอยู่เบื้องหน้า.
มื้อค่ำ คณะทริปของเราก็มาทานกันที่ภัตตาคารเจ็ดชั้นในตัวเมืองกวินยอน ออกแนวจีน-เวียดนาม เหมือนเคย แต่คราวนี้ อาหารดีมาก ซีฟู้ด มีปลาทะเลน้ำลึกรสชาติดี เป็นหม้อไฟให้ทานกัน สดและอร่อยมาก
ของหวาน ตบท้ายด้วยขนมเทียนใส่ถั่วให้ทานคนละชิ้น ชื่อว่า บานห์ อิ้ท (Banh It) ซึ่งมีชื่อตรงกับปราสาทที่จะไปชมกันในวันพรุ่งนี้.
วัน-เวลา |
กวินยอน - ฮอยอันเมืองมรดกโลก |
หมายเหตุ |
อาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 เช้า |
รับประทานอาหารเช้าในห้องอาหารของโรงแรม |
|
เช้า |
ออกเดินทางจากเมืองกวินยอนสู่เมืองมรดกโลก ฮอยอัน |
|
เที่ยง |
รับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคารจังหวัด กว๋างไน๋ |
|
บ่าย |
เข้าพักโรงแรม Thanh Binh Riverside Hotel ระดับสี่ดาว |
|
|
ชมเมืองมรดกโลก ฮอยอัน |
|
เย็น |
รับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคาร |
|
โปรแกรมวันนี้ เหมือนเดิม 05:30 น., 06:30 น., และ 07:30 น. เมื่อคืนหลับสบาย ผมนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาด้วย ต่ออินเทอร์เน็ต WIFI ของโรงแรม ทำงานและ Search ข้อมูลในตอนเช้าตรู่ได้ดี อาบน้ำแต่งตัว แล้วลงมาทานอาหารเช้า กลับเข้าห้องเช็คเอ้าท์ รถบัสล้อหมุนตามกำหนดการ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ลานกว้างหน้าโรงแรมยามเช้า มีคนมาเต้นแอโรบิคกัน และบรรยากาศในห้องอาหารของโรงแรมยามเช้า
คณะทริปของเรามุ่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองกวินยอน ราว 35 กิโลเมตร ก็มาถึงมหาปราสาทอิฐสามหลัง "เดื่อง ลอง" อยู่ในแถบเตสอน (Tay Son) จังหวัดบินห์ดินห์ ที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 แถบนี้เมื่อคราวสงครามเวียดนามจะมีนักรบเวียดกงเยอะ คอยซุ่มโจมตี และโดนกวาดล้างกันมาก แถบนี้ไม่ค่อยมีระเบิดจากเครื่องบินลง
ภาพถ่ายรวมคณะทริปนี้ ที่หน้าปราสาทเดื่องลอง, เครดิตภาพ: คุณสมยศ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสลักลายข้างประสาทเป็นถันสตรี, ลวดลายประตูด้านข้างของปราสาทหลังกลาง
ภาพจากซ้ายไปขวา: กลุ่มปราสาทเดื่อง ลอง ถ่ายจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และนาข้าวเวียดนามด้านหน้าของกลุ่มปราสาท (มองแล้วสะท้อนใจ ข้าวเวียดนาม อาจจะมีสารเคมีเจือปนอยู่บ้าง แต่คงไม่มากเหมือนบ้านเรา และตอนนี้ข้าวพันธุ์ ST24 ของเวียดนามได้กลายเป็นข้าวหอมที่ดีที่สุดของโลกไปแล้วเมื่อปีกลาย ค.ศ.2019)
ปราสาทจาม เดื่อง ลอง (Cham Duong Long Towers) แปลว่า มังกรทะเล บ้างก็เรียก Thap Nga ("งา" ตรงตัวเลย หมายถึง งาช้าง) ภาษาอังกฤษว่า Ivory Towers นับว่าเป็นปราสาทที่สูงที่สุดในเอเซียอาคเนย์ ปราสาทกลางสูง 39 เมตร ส่วนปราสาทด้านทิศเหนือและใต้ สูงหลังละ 32 เมตร ปราสาทจามแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของกัมพูชาโบราณเป็นอย่างมาก ลักษณะเด่นของศิลปะจัมปาคือ "เรือนธาตุยกสูง" ทรงปราสาทจะมีการย่อวิมานเป็นชั้น ตรงกับยุคพระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี หรือสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ มีการผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบจาม สะท้อนเห็นได้จากฐานปราสาทเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส อิฐเป็นวัสดุหลักในการสร้างปราสาท วัฒนธรรมจามแสดงให้เห็น เช่น ด้วยการตกแต่งเป็นหน้าพระกาฬ (Kala face) ถันสตรี ดอกบัวแบบต่าง ๆ เป็นต้น มีรูปสลักประดับ เป็นพญานาค พญาครุฑ สิงห์ และอื่น ๆ ตามแบบศิลปะกัมพูชาโบราณ ซึ่งภาพในปราสาทสามหลัง มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ แสดงให้เห็นเป็นตรีมูรติ คือ พระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ ซึ่งปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว สันนิษฐานว่าบางส่วนได้ถูกนำไปเก็บไว้ยังพิพิธภัณฑ์.
ชมปราสาททับบัก หรือ บานห์ อิ้ท (Tháp Bạc หรือ Thap Banh It หรือ Tháp Bánh Ít) บ้างก็เรียก Silver Towers (หากแปลตรง ๆ ทับศัพท์ Bánh Ít แปลว่า ขนมเค้กน้อย ๆ หรือ ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ที่ห่อด้วยใบตองแล้วนึ่ง เหมือนเมืองไทยบ้านเรา) ที่จังหวัดบินห์ ดินห์ (Bình Định)
สถาปัตยกรรมมีการเปลี่ยนผ่านจากศิลปะแบบหมี่เซิน (My Son หรือ Mỹ Sơn) ไปเป็นศิลปะแบบบินห์ดินห์ (Bình Định) กลุ่มปราสาทบานห์อิ้ทนี้ แบ่งออกเป็นสี่ปราสาทใหญ่
แผนผังบริเวณกลุ่มปราสาททับบัก หรือ บานห์อิ้ท ด้านหลังของอาคารจำหน่ายตั๋วเข้าชม
- ปราสาทหลัก (Santuary Tower - Kalan)
ถ่ายไว้หน้าปราสาทหลักบานห์อิ้ท
ภาพจากซ้ายไปขวา: รูปแกะสลักพระศิวะจำลอง ภายในวิหารของปราสาทหลัก, รูปแกะสลักพระศิวะ จากปราสาทบานห์อิ้ท สูง 1.54 ม. กว้าง 1.05 ม. หนา 0.56 ม. แกะสลักไว้เมื่อราว คริสต์ศตวรรษที่ 11 (ปัจจุบันจัดวางอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ ฝรั่งเศส),
ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 20 กุมภาพันธ์ 2563.
- ปราสาทที่สอง เป็นประตูทางเข้า (Gate Tower หรือ Entrance Tower) (Gopura)
- ปราสาทที่สาม เป็นปราสาทแห่งเพลิง (Kosagrha)
- ปราสาทที่สี่ ปราสาทจารึก (Stele tower) (Posah)
คณะทริปของเราใช้เวลาที่กลุ่มปราสาทบานห์อิ้ท เกือบสองชั่วโมง ก็เดินทางต่อ ไปยาวเลยขึ้นไปทางเหนือ มีฝนตกเป็นระยะ ๆ แต่ไม่หนักมา มาแวะทานอาหารกลางวันที่ร้าน KHACH SAN SA CAT อยู่ระหว่างทาง เดินทางกันไกลมากร่วมสองชั่วโมง เป็นร้านอาหารสไตล์เวียดนามเหมือนเดิม นั่งกันโต๊ะละหกถึงเจ็ดคน ก่อนเข้าเมืองฮอยอัน หลังร้านจะเป็นชายทะเล มีคลองเล็ก ๆ ขั้นกลาง น่าจะเป็นคลองน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย หลังร้านปลูกต้นไม้นานาพันธุ์ รวมทั้งบอนไซ ถ่ายไปเพลิน ๆ ระหว่างยืนแกร่ว ๆ รอเข้าห้องน้ำและย่อยอาหาร มีแม่ค้าขับมอเตอร์ไซค์มาขายกุ้งแห้ง และปลาหมึกแห้ง เพื่อน ๆ ในทริปก็ซื้อกันบ้างตามอัธยาศัย
รถบัสพาคณะทริปของเราขึ้นมาทางเหนือ ไกลพอสมควร ก็มาถึงชานเมืองฮอยอันค่ำ ด้วยระเบียบของเมืองไม่ให้รถบัสใหญ่เข้าไปในตัวเมืองโบราณ ก็ต้องมาเปลี่ยนเป็นรถกอล์ฟไฟฟ้าร่วมสามคัน พาคณะของเราเข้าโรงแรม แล้วนำกระเป๋าใส่รถอีกคันขับตามมา
ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะทริปของเราก็แวะทานอาหารเย็นกันที่ภัตตาคารโกลเด้นไลท์ ชานเมืองเก่าฮอยอันกันก่อน
คณะทริปของเรา นั่งล้อมทานกันเป็นโต๊ะจีนได้สามโต๊ะ เมนูอาหารตามภาพข้างต้น รสชาติกลาง ๆ มีไก่ย่างด้วย คณะของเราทานไก่ย่างแนวนี้มาหลายมื้อแล้ว ยังอร่อยสู้บ้านเราไม่ได้ แต้โดยรวมแล้วก็โอเค
เมืองฮอยอัน (Hoi An - อ่านได้หลายสำเหนียง ฮุ่ยอัน หรือ ฮอยอั๋น ก็มี) มรดกโลก คณะทริปก็เข้าพักที่โรงแรม Green Heaven Hoi An Resort & Spa กลางเมืองเก่าฮอยอัน
ผมถ่ายกับรถกอล์ฟไฟฟ้าที่มาส่งคณะทริปเราจากนอกเมือง
เข้ามาในเมืองเก่าฮอยอัน รถสวยดีวินเทจ มีแบรนด์ใบพัดสีฟ้า บีเอ็มดับบลิวติดอยู่ด้วย
ผมเอาข้าวของเก็บเช็คอินเรียบร้อย ห้องออกจะแคบไปนิด ด้วยเพราะอยู่กลางเมือง อะไร ๆ ก็อาจจะดูแออัดไปหน่อย ก็ออกมาเดินชมเมืองฮอยอันยามค่ำคืน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ขนมไบห์ ชาง เฮือง (Bánh Tráng Nướng - Baked Rice Paper) ข้าวเกรียบหรือพิซซ่าญวน เป็นแผ่นแป้งข้าวเจ้าปิ้ง
โรยด้วยหมูสับปรุงรส ทานร้อน ๆ อร่อยดี ราคา 30,000 ด่อง (40.2 บาท), และร้านรวงดื่มเบียร์รีแล๊กซ์
ของนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง นั่งทอดสายละเลียดทอดอารมณ์ไปกับฟองเบียร์ ดูผู้คนริมคลองในเมืองฮอยอัน ยามค่ำคืน
ผมเดินชมเมืองฮอยอันกับเพื่อนในทริป มีมุมสวย ๆ ให้ถ่ายรูป ดูโรมันติกมากหากมากันเป็นคู่ ฝรั่งเยอะมาก มากกว่าครึ่งของนักท่องเที่ยวทั้งหมด อากาศเย็นสบาย มีลมโชยจากทะเลเข้ามา ผมเดินชม ซื้อของเบ็ดเตล็ด ซื้อเสื้อยืดตัวหนึ่ง ทานพิซซ่าญวน พอราว ๆ 3 ทุ่มเศษ ผมขอตัวกลับมาพักผ่อน มีเพื่อน ๆ อีกหลายคนก็เที่ยวชมเมืองกันต่อ
วัน-เวลา |
ฮอยอัน - หมี่เซิน - ดานัง |
หมายเหตุ |
จันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 เช้า |
รับประทานอาหารเช้าในห้องอาหารของโรงแรม |
|
เช้า |
เดินทางสู่เมืองโบราณ หมี่เซิน จุดศูนย์กลางแห่งอาณาจักรจามปา |
|
เที่ยง |
รับประทานอาหารกลางวันที่ภัตตาคาร |
|
บ่าย |
ชมพิพิธภัณฑ์จาม ที่สร้างขึ้นในสมัยฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม ในปี ค.ศ. 1915 เป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมวัตถุโบราณแห่งอาณาจักรจามไว้เป็นจำนวนมาก |
|
|
สักการะเจ้าแม่กวนอิมหินอ่อนขาว ที่วัดหลิงห์อึง (Linh Ung Pagoda) ชมชายหาดเมืองดานัง, สะพานมังกรข้ามแม่น้ำห่าน ที่ตอนกลางคืนจะเปิดไฟบนตัวสะพานและเปลี่ยนสีเป็นสีสันต่าง ๆ เลือกชมเลือกซื้อของฝากของที่ระลึกที่ตลาดห่าน ใจกลางเมืองดานัง |
|
เย็น |
รับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคาร |
|
|
เข้าพักโรงแรม San Marino Hotel ระดับสี่ดาว |
|
โปรแกรมวันนี้ 06:00 น., 07:00 น., และ 08:00 น. ผ่อนคลายขึ้นนิดหนึ่ง โปรแกรมไม่แน่นมาก
อาหารมื้อเช้าในโรงแรม และล้อบบี้ภายในโรงแรม
เช้านี้ ชมเมืองฮอยอันกันต่อ โดยคณะทริปของเราเอากระเป๋าข้าวของขึ้นรถบัส แล้วเดินข้ามคลองเลาะมาราว 400 เมตร ชมสะพานญี่ปุ่น (Covered Bridge หรือ Japanese Bridge) ระหว่างทางเห็นเด็กหนุ่มสาวเวียดนามนั่งเก้าอี้พลาสติกตัวเล็ก สังคมก้มหน้าดูมือถือกันบ้าง ทานกาแฟกันบ้าง
เป็นสะพานที่เก่าแก่มาก หากเข้าไปห้องไม้ด้านในกลางสะพานเป็นวัดเล็ก ๆ มีการเก็บค่าชมด้วย ด้วยช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยและทำธุรกิจร่วมกับคนพื้นเมืองในเมืองฮอยอันนี้ ได้สร้างสะพานขึ้นมา ปลายสองทางเข้าขึ้นสะพานได้มีการสร้างเทพแห่งวานรคู่หนึ่ง (Thân Hậu) และเทพแห่งสุนัขอีกคู่หนึ่ง (Thiên cẩu) และในศตวรรษต่อมา ชาวจีนและชาวเวียดนามได้บูรณะต่อเติม สร้างวัดเล็ก ๆ ขึ้นมากลางสะพาน เพื่ออุทิศแด่เทพทางทิศเหนือ (Bắc Đế Trấn Võ) มีศิลปกรรมและความเชื่อแบบหยินหยาง หลังคาเป็นรูปตัวที คนในท้องถิ่นเรียกสะพานญี่ปุ่นนี้ว่า ชัวเกา (Chùa Cầu)
ฐานไม้ที่รองรับคานหลังคา เป็นรูปตัวที
ได้คุยกับเพื่อน ๆ ในทริป ซึ่งบางท่านก็ศึกษาข้อมูลมาดี ก็ทราบว่า การที่ญี่ปุ่นมาสร้านสะพานที่นี่ เป็นการแก้เคล็ดวางเฟิงสุย ฮวงจุยกันให้เหมาะ ด้วยญี่ปุ่นมีแผนดินไหวบ่อยครั้ง การมาสร้างสะพานที่นี่เป็นการแก้เคล็ดด้วยมีสัตว์ประหลาดสีดำ และเป็นการเชื่อมโยงหลังมังกรไว้ บรรเทาการเกิดแผ่นดินในญี่ปุ่นได้ (เท็จจริงอย่างไร ผมจะค้นคว้าศึกษาต่อ แล้วจะนำมาอธิบายในโอกาสข้างหน้า)
สะพานแห่งนี้ เริ่มสร้างสะพานในปีวอก เสร็จในปีจอ ร่วมสามปี (วอก-ระกา-จอ)
โดยผู้สร้างได้ทำรูปปั้นเทพแห่งวานรคู่หนึ่ง (Thân Hậu) ที่ทางขึ้นสะพานด้านหนึ่ง อีกด้านก็ทำเทพแห่งสุนัขอีกคู่หนึ่ง (Thiên cẩu)
จากนั้นก็เดินชมเมืองฮอยอันกันต่อ เป็นพิพิธภัณฑ์ห้องแถวแบบจีนโบราณ แสดงโบราณวัตถุ (ที่พบจากการขุดบริเวณหลุมฝังศพ) ชื่อ Museum of Sa Huỳnh Culture in Hoi An มีภาพและคำอธิบายทางโบราณคดี แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนที่เป็นวัฒนธรรมซาฮุยห์ (Sa Huỳnh) อันเป็นยุคแรก ๆ ของอาณาจักรจัมปา มาก่อนถึง 2000 ปี มีการพบภาชนะที่เป็นสไตล์แบบราชวงศ์ฮั่นของจีน จุดนี้ ณ เวลานั้น เป็นการผสมผสานวัฒนธรรม การพัฒนาและการแลกเปลี่ยนของซาฮุยห์-จัมปา-ฮั่น.
ถัดนั้น ก็เดินมาอีกนิดก็เป็นวัดจีนโบราณโพ้นทะเล ตกแต่งไว้สวยงาม เหมือนกับศาลเจ้าแม่ทับทิมบ้านเราที่ทรงดูแลปกปักผู้เดินทะเล สังเกตดูว่าบ้านเมืองของเวียดนามกลางจะนำต้นเบญจมาสที่มีดอกเหลืองโตเต็มช่อมาใส่กระถางโชว์ไว้หน้าบ้านและสถานสำคัญต่าง ๆ เพื่อเป็นมงคลในปลายฤดูหนาว (ตงเทียน - 冬天)
บ้านคนจีนฮกเกี้ยนเก่าแก่ในเมืองฮอยอัน บ้านเลขที่ 101 เป็นตึกแถวสองชั้น มีห้องรับรองแขก บริเวณชั้นใน มีบ่อน้ำตรงกลางบ้าน เพราะจัดสวนย่อม ต้นบอนไซ พืชมงคล เตารีด ถ้วยชามเซรามิกโบราณ ด้านหลังบ้านมีอุปกรณ์การเกษตรจักสาน เครื่องกระเทาะข้าวเปลือก กระจาด ฯ
จากนั้นก็เดินชมเมืองไปเรื่อย ๆ มีบ้านโบราณที่อนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีมากมาย
แล้วเข้าชอมพิพิธภัณฑ์ครัวเรือน (Mueum of Folklore in Hoi An) ตึกแถวเก่าแก่ ดูพัฒนาการ ความเป็นไป กิจกรรมต่าง ๆ จากรุ่นสู่รุ่น อดีตการชีวิตในแต่ละวัน การทอผ้า การเลี้ยงไหม ป้าย สิ่งเคารพ วัฒนธรรมต่าง ๆ
ระหว่างชมเมือง ผมแวะลองทานขนมพื้นเมืองชื่อ บานห์ ซว่ย (Bánh Xoài) ชิ้นหนึ่ง (10,000 ด่อง - 13.40 บาท)
เป็นขนมใส้ถั่วตัด ข้างนอกเป็นแป้งคลุกมะพร้าว อร่อยดีไม่หวานมากนัก
คณะทริปมารวมตัวกันที่หน้าโรงแรมเช็คเอ้าท์กันเรียบร้อย รถบัสล้อหมุนตอนสิบโมงเช้าเศษ ๆ จากฮอยอันตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว ๆ 40 กิโลเมตร ใช้เวลาร่วมชั่วโมง
เข้าชมกลุ่มปราสาทหมีเซิน (Mỹ sơn)02. (ซึ่งเจ้อิ่ม ไกด์ท้องถิ่นของเราอออกเสียงว่า "หมี-อี๋-เซิน") เป็นมรดกโลก World Cultural Heritage ฝนตกลงมาปร่อย ๆ สลับตกสลับหยุด ไกด์โอแจกเสื้อกันฝนกันคนละตัว คณะทริปต้องแบ่งกันขึ้นรถกอล์ฟไฟฟ้า
ขณะชมกลุ่มปราสาทหมี่เซิน, เครดิตภาพ: คุณสมยศ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในปราสาทหลังหนึ่ง เป็นพิพิธภัณฑ์ย่อย ๆ แสดงวัตถุโบราณไว้ และมีลูกระเบิดด้าน
อันเป็นผลจากสงครามเวียดนามที่ผ่านมา, ภาพสลักศิวนาฎราช (ถ่ายด้านล่าง)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสลักศิวนาฎราช (ถ่ายด้านบน) และศิวลึงค์พร้อมฐานโยนี
ภาพจากซ้ายไปขวา: หนึ่งในกลุ่มปราสาทหมี่เซิน และหลุมที่เกิดจากระเบิดช่วงสงครามเวียดนาม
ภาพจากซ้ายไปขวา: ศวยมภูลึงค์ ทิศตะวันตกของกลุ่มปราสาทหมี่เซิน, หนึ่งป้ายภาพคำบรรยายด้านหน้ากลุ่มปราสาท
ที่มีมากมาย ผมได้ถ่ายเก็บไว้มากที่สุดเท่าที่จะถ่ายได้ ซึ่งจะนำมาศึกษาและอธิบายในโอกาสต่อไป
คณะทริปของเราใช้เวลากับกลุ่มปราสาทหมี่เซินนี้เต็มที่ มีให้น่าศึกษาเยอะมาก พร้อมกับอาคารด้านล่างมีนิทรรศการ ภาพถ่ายการค้นพบ ประวัติการบูรณะ ข้อมูล ภาพ วัตถุโบราณเยอะไปหมด ผมพยายามถ่ายเก็บไว้เต็มที่ ซึ่งจะศึกษาและขอนำมาแสดงให้ทราบต่อไป
ภาพจากซ้ายไปขวา: แวะทานอาหารเที่ยงกันที่รีสอร์ทด้านหน้าทางเข้ากลุ่มปราสาทหมี่เซินชื่อ "My Son Heritage", เมนูอาหารดีมาก
โดยรวมรสชาติดี ออกไปทางหวาน ไก่ย่างทำได้ดี แต่แซ่บถูกปากสู้เมืองไทย Street Food ไม่ได้.
ตอนเย็น คณะทริปของเราเข้าเมืองดานัง (เจ้อิ่มและคนเวียดนามทั่วไปออกเสียง ดา-หนัง) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่ที่สุดเมืองหนึ่งของเวียดนาม แต่ก็มักจะมีไต้ฝุ่น ดีเปรสชั่น พายุโซนร้อนเข้ามาปะทะเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง สังเกตเห็นได้ว่าต้นมะพร้าวจะไม่ค่อยโต ยอดด้วน ๆ เพราะเจอแรงพายุเข้าไป โตไม่ทัน อากาศที่เมืองดานังนี้ดี สดชื่น ผังเมืองสวยงาม เวียดนามตั้งใจจะให้เป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวต่อไป
ภาพจากซ้ายไปขวา: สะพานมังกร (Cầu Rồng) ทอดข้ามปากแม่น้ำห่าน
(Hàn River) ที่จะออกอ่าวดานัง, หน้าพิพิธภัณฑ์จามที่เมืองดานัง
ชมพิพิธภัณฑ์จามที่เมืองดานัง (Da Nang Museum of Cham Sculpture) ตอนสี่โมงเศษ ๆ ต้องรีบเข้าชม เพราะพิพิธภัณฑ์จะปิดราวห้าโมงเย็น
ภาพจากซ้ายไปขวา: ศิวลึงก์และฐานโยนี, ทุรคามหาเทวี (Durga)
ภาพจากซ้ายไปขวา: กลุ่มหินสลักพระพิฆเนศ หรือ พระคเณศร์, ภาพหินสลักแสดงการกำเนิดของพระพรหม
ภาพจากซ้ายไปขวา: ฐานที่ประดิษฐานเทพต่าง ๆ พบที่กลุ่มปราสาทด่งเดือง (Đông Dương) แถบเมืองกวางนัม (Quảng Nam) เป็นหินทราย ช่วงแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 10, กลุ่มหินทรายสลักพระบรมศาสดา (Tượng Phật) พระโพธิสัตว์ (Bồ tát - Bodhisattva) และเหล่าภิกษุ (Tu sĩ) และเทพต่าง ๆ พบที่กลุ่มปราสาทด่งเดือง (Đông Dương), ช่วงแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 10.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ฐานที่ประดิษฐานเทพต่าง ๆ พบที่เมืองฮาตรัง (Hà Trung) จังหวัดกว่างที (Quảng Trị - กวางตรี) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7-8, หินทรายสลักศิวนาฏราช (Dancing Siva) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 พบที่เมืองพ่องเล้ (Phong Lê) จังหวัดด่าหนัง (Đà Nẵng - ดานัง ).
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระกฤษณะหนึ่งในนารายณ์สิบปาง ตามตำนานกล่าวว่าพระกฤษณะทรงโน้มน้าวให้เหล่าโคบาลเลิกการนับถือพระอินทร์ให้มาบูชาเขาโควรรธนะแทน (ซึ่งให้น้ำ หญ้าอันเขียวขจีหล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้าน) พระอินทร์พิโรธจึงบันดาลให้มีฝนตกลงมาพร้อมพายุเข้าท้วมทำลายพืชผลและสัตว์เลี้ยง พระกฤษณะใช้มือขวา (นิ้วก้อยเพียงนิ้วเดียว) ยกเขาโควรรธนะรวมเจ็ดวัน เพื่อป้องผู้คนในหมู่บ้านและสัตว์เลี้ยงไว้, พบที่เมืองคุ่งหมี่ (Khương Mỹ) จังหวัดกวางนัม (Quảng Nam) เป็นหินทรายสลัก ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10, ศิวนาฎราช (Dancing Siva), พบที่เมืองคุ่งหมี่ (Khương Mỹ) จังหวัดกวางนัม (Quảng Nam) เป็นหินทรายสลัก ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์, ซึ่งมาจากปกรณัมฮินดูเกี่ยวกับการสร้างจักรวาล, พระนารายณ์ทอดพระวรกายบรรทมบนพญาอนันตนาคราชเจ็ดเศียร เมื่อพระวิษณุตื่นขึ้น ก็มีดอกบัวผุดขึ้นจากสะดือ โลกได้ถูกสร้างขึ้นจากดอกบัวนั้น พร้อม ๆ กับพระพรหม นี่คือจุดเริ่มต้นในการสร้างและรังสรรค์ของพระวิษณุ, และคชสิงห์
ภาพจากซ้ายไปขวา: รูปสลักหินทรายแสดงพญาครุฑกำลังกินนาค, พญาครุฑมีรูปร่างเหมือนมนุษย์ แต่มีศีรษะ จงอยปาก ปีก และเล็บเป็นนก, พำนักบนเขาที่พระวิษณุประทับ, ครุฑเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์, อากาศ, และพระเพลิง. ส่วนพญานาคนั้น มีความสัมพันธ์กับโลกและน้ำ. ตามตำนานสัตว์ทั้งสองเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติ นั่นคือการอธิบายถึงความสัมพันธ์ของธาตุที่ตรงข้ามกันในจักรวาล. รูปสลักนี้พบที่ปราสาทหรือหอคอยทับมัม (Tháp Mâm - หอคอยแห่งถาด) คริสต์ศตวรรษที่ 12, ส่วนหนึ่งของแท่น (Bé thỏ) หินทรายพบที่เมืองบินห์ดินห์ (Bình Định) คริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยรอบมี 23 ถันสตรี เป็นรูปแบบปราสาทหรือหอคอยทับมัม เป็นการเคารพมารดาเทพยดาและหมายถึงชุมชนที่นับถือเพศหญิงของชาวจาม.
หินทรายจารึกหลักหนึ่งที่มีข้อความยาวมากที่สุดของชาวจาม
คณะทริปของเรา ถ่ายภาพดูรายละเอียดภายในพิพิธภัณฑ์กันอย่างเต็มอิ่ม แม้ว่าจะเลยห้าโมงเย็นแล้ว พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ ก็ยืดหยุ่นในอยู่เลยเวลาได้บ้าง จากนั้นราว ห้าโมงครึ่งก็เดินทางต่อ ข้ามแม่น้ำห่าน เลียบอ่าวดานังขึ้นเนินเขาเพื่อสักการะเจ้าแม่กวนอิมหินอ่อนขาว กวนเทเอ่มโบ่ต้าด (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกวนอิม - Quán thế âm bồ tát) ที่วัดพุทธนิกายมหายานชื่อโช่ลิงห์อึ๋ง (Chùa Linh Ứng) สร้างในปี ค.ศ.2010 ด้วยการบริจาคและพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกในเมืองดานัง และจากทั่วทุกมุมโลก
ภาพจากซ้ายไปขวา: อ่าวดานังถ่ายขณะขึ้นวัดโช่ลิงห์อึ๋ง, ผมถ่ายตรงหน้าลานพระอวโลกิเตศวรกวนอิม
ภาพจากซ้ายไปขวา: หินสลักอรหันต์ต่าง ๆ ตามความเชื่อของศาสนาพุทธมหายานแบบจีน, พระอวโลกิเตศวรกวนอิมซึ่งถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง
ภาพพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ซึ่งอยู่ภายในวิหารที่อยู่ด้านหลังพระอโลกิเตศวรกวนอิม
คณะทริปของเราใช้เวลาถ่ายภาพและสักการะพระโพธิสัตว์และพระอวโลกิเตศวรกวนอิม กันอย่างจุใจ เจอนักท่องเที่ยวชาวไทยหลายกลุ่มได้ทักทายกัน พอพลบค่ำได้เวลา ก็ขึ้นรถบัสมารับประทานอาหารซีฟู้ดที่ร้านริมอ่าวดานัง
คณะทริปเราแบ่งกันทานเป็นสามโต๊ะ อาหารซีฟู้ดเพียบเอร็ดอร่อย สดดี แต่น้ำจิ้ม ยังแซ่บสู้บ้านเราไม่ได้ ที่สังเกตดู มีนักท่องเที่ยวมาน้อย เพราะเวียดนามเริ่มห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศ เพราะเกรงเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19)
พอทานกันอิ่มแปร้ ผมกับเพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่งเดินมาชมชายทะเลริมอ่าวดานังยามค่ำคืน มีหนุ่มเวียดนามร้องเพลงเวียดนามเดี่ยว ๆ พร้อมเปิดลำโพงไปด้วย เข้าใจว่าเรียกลูกค้าขายอะไรสักอย่าง แต่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวใด ๆ สนใจ (ด้วยมีนักท่องเที่ยวน้อยอยู่แล้ว)
จากนั้นก็มาแวะร้านขายของที่ระลึก ฝั่งตรงข้ามกับร้านอาหารซีฟู้ดที่เพิ่งได้ทานมา ซื้อของฝากกัน ผมซื้อกาแฟเวียดนามไปกล่องหนึ่ง จากนั้นคณะทริปของเราก็รวมตัว และขึ้นรถบัสเข้าโรงแรม SAMDI : MASSAGE-SAUNA กลางเมืองดานัง เช็คอิน พักผ่อนกันตามอัธยาศัย.
วัน-เวลา |
ดานัง - บาน่า ฮิลล์ - กรุงเทพฯ |
หมายเหตุ |
อังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เช้า |
รับประทานอาหารเช้าในห้องอาหารของโรงแรม |
|
เช้า |
เดินทางสู่บาน่าฮิลล์ ขึ้นรถเคเบิลคาร์ |
|
|
บานาฮิลส์ (Ba Na Hills) หมู่บ้านรีสอร์ทที่สวยงามแห่งนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขา Annamite ที่สามารถเดินทางไปถึงด้วยเคเบิลคาร์ที่ถูกบันทึกสถิติว่ายาวและสูงที่สุดในโลกจาก Guinness World Records มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,874 เมตร (จากการขึ้นไปถึง ได้ถ่ายภาพหลักหมุดความสูงบนเขามา จะอยู่ที่ 1,487 เมตร) มีจุดชมวิวที่งดงามมากมายให้ชื่นชม ทิวทัศน์อันงดงาม ทอดยาวตั้งแต่ชนบทเวียดนามอันเขียวขจีพร้อมนาข้าว ไปจรดเมืองดานัง และทะเลเวียดนามตะวันออก
นอกจากทิวทัศน์ บาน่า ฮิลส์แล้ว ยังมีสิ่งที่จะทำให้ทุกคนได้รับความบันเทิงอีกมากมาย เช่น หมู่บ้านฝรั่งเศส (French Village), เจดีย์ Linh Ung ที่ใหญ่อลังการที่สุดของดานัง สวนดอกไม้แสนโรแมนติก และแฟนตาซีพาร์ค (Fantasy Park) สวนสนุกในร่มขนาดใหญ่ |
|
เที่ยง |
รับประทานอาหารกลางวันแบบบุพเพ่ต์บนบาน่าฮิลล์ |
|
เย็น 17:00 น. |
ถึงสนามบินเมืองดานัง รับประทานอาหารเย็นตามอัธยาศัย |
|
18:55 น. |
ออกเดินทางสู่กรุงเทพฯ โดยสายการบินบางกอก แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ PG998 ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง 55 นาที |
|
20:50 น. |
ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสวัสดิภาพและความประทับใจมิรู้ลืม |
|
โปรแกรมวันนี้ผ่อนคลายเหมือนเมื่อวานคือ 06:00 น., 07:00 น., และ 08:00 น. ผมอาบน้ำอาบท่าแต่งตัวเช็ค-เอ้าท์เรียบร้อย มาทาน Breakfast ทันที เมนูอาหารดี ค่อนข้างหรู จากนั้นก็มารวมตัวกับเพื่อน ๆ ที่ล้อบบี้ แล้วรวมเงินกันท่านละ 500 บาทเป็นทิปให้ไกด์เจ้อิ่ม อากาศยามเช้าที่ดานังเย็นสบาย ๆ ฝนตกปรอย ๆ คณะทริปของเราก็ออกเดินทางมาบาน่าฮิลส์ (Ba Na Hills - ไม่ใช่บานาน่าฮิลส์นะครับ) กัน ได้คุยกับไกด์ท้องถิ่น "เจ้อิ่ม" ๆ บอกว่า บาน่าฮิลส์นี้ก่อสร้างโดยกลุ่มโทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของเวียดนามร่วมทุนกัน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพกลุ่มสลัดในคอฟฟี่ช้อปช่วง Breakfast, ถ่ายภาพโรงแรมที่พักก่อนออกจะเดินทางไปบาน่าฮิลส์
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพบาน่าฮิลส์ก่อนที่รถบัสจะเข้าจอด, ตั๋วเข้าชมบาน่าฮิลส์
ภาพจากซ้ายไปขวา: กำแพงด้านนอกก่อนเข้าชม (Sunworld, Ba Na Hills), ตู้กระเช้าเคเบิลจัดให้ขึ้นบาน่าฮิลส์ จุได้ตู้ละประมาณ 7-8 ท่าน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ในตู้กระเช้า ผมได้ถ่ายภาพไว้ด้วย มีนักท่องเที่ยวฝรั่งอยู่ในตู้นั่งห่าง ๆ จากผมสองคน ดูท่าทางกลัว ๆ หวาด ๆ เห็นคนเอเชีย ว่าเป็นพาหะ COVID-19 หรือเปล่าก็ไม่รู้, เมื่อมาถึงบนเขาแล้วก็ถ่ายเซลฟี่กับ Signature สะพานโอบอุ้มด้วยมือ อากาศบนเขามีหมอกละอองไอน้ำมาก จึงได้ภาพตามที่เห็น
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพกลุ่มไม้ดอกและรูปปั้นมือและสรีระมนุษย์, บริเวณระเบียงต่าง ๆ ดูเป็นแบบยุคกลางในเมืองเก่าฝรั่งเศส
ภาพจากซ้ายไปขวา: ซุ้มเรือนกลางเขา, ซุ้มดอกไม้
ภาพจากซ้ายไปขวา: ถ่ายเซลฟี่กับซุ้มดอกไม้แห่งหนึ่ง, กลุ่มดอกไม้ ดูสดชื่นงดงามมาก
บนบาน่าฮิลส์นี้มีโรงแรมให้พักหกแห่ง Hotel De Marseille, Hotel De Bordeaux, Hotel De Nice, Hotel De Toulouse, Marin Hotel และ Hotel De Strabourg มีสปา ฟิตเนส บอลล์รูม ร้านอาหาร สระว่ายน้ำ ศูนย์อาหาร บาร์เบียร์ โบสถ์คริสต์ บาร์ โยคะ อาร์ทกาเลอรี่ ฯ และที่ผมสนใจมาก ๆ คือกลุ่มเจดีย์พุทธมหายานแบบญวนบนเขาสูง
ภาพจากซ้ายไปขวา: วิหารน็อทร์-ดามจำลอง (Norte-Dame Cathedral), บริเวณร้านอาหาร คาเฟ่
ภาพจากซ้ายไปขวา: บริเวณตีนเขาก่อนขึ้นชมกลุ่มเจดีย์วัดญวน, บนเนินเขาด้านขวาขาขึ้นเขานั้น มีอาคารชั้นเดียวที่พักตากอากาศแบบเวียดนาม สดชื่น ดอกไม้เยอะ จัดแต่งไว้ดี
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านหน้าวัด Linh Chua Linh Tu, บนลานวัดซึ่งอยู่สูงที่สุด มีหลักบอกความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1487 เมตร.
ภาพจากซ้ายไปขวา: หอระฆัง (Campanile) บนวัด Linh Chua Linh Tu ระหว่างชั้นขึ้นระฆัง มีหินสลักเป็นรูปสิบแปดอรหันต์ , ระฆังใบใหญ่ มีค้อนตีระฆังอัตโนมัติ ตีเป็นจังหวะตามที่กำหนด
ภาพจากซ้ายไปขวา: ถ่ายจากหอระฆัง (Campanile) มายังวิหารด้านล่าง, ภายในวิหารมีพระโพธิสัตว์ เทพยดาต่าง ๆ แบบพุทธมหายานของจีนและญวน
ภาพจากซ้ายไปขวา: หอ Linh Phong Tu, บริเวณทางขึ้นไปวัดหินสลัก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านหน้าวัดหินสลักภายนอก, ด้านหน้าถ่ายให้เห็นภายวัดหินสลัก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในวัดมีพระโพธิสัตว์ เทพยดาต่าง ๆ แบบพุทธมหายานของจีนและญวน และสิบแปดพระอรหันต์
ภาพจากซ้ายไปขวา: วัดหินสลักด้านหน้า และวิวด้านข้างของวิหาร ดูสงบและงดงามโคตร
ภาพจากซ้ายไปขวา: วิวบาน่าฮิลส์ เมื่อมองจากบันไดขาลงจากยอดเขากลุ่มเจดีย์ญวน และรถยนต์ซีตรองวินเทจ
ภาพจากซ้ายไปขวา: สันนิษฐานว่าเป็นรถดับเพลิงโบราณในยุโรปยุคกลาง และรูปปั้นหน้าลานเบียร์
ผมเดินชมจุดต่าง ๆ ในบริเวณบาน่าฮิลส์ ถ่ายรูปเก็บไว้เยอะ ผมประทับใจวิหารญวนแบบพุทธมหายานมาก ๆ รูปสลักภาพพระบรมศาสดา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระอรหันต์ เซียนและเทพต่าง ๆ บรรยากาศ และองค์ประกอบสมบูรณ์มาก พร้อมกับมีเสียงพระสวดเป็นภาษาเวียดนาม อาจจะฟังไม่คุ้นในช่วงแรก ๆ พอฟัง ๆ ไปก็ประทับใจ ดูสงบ ราวกับตัวเราเป็นส่วนหนึ่งกับสรรพสิ่งรอบตัวทั้งมวล
ผมมารวมกลุ่มเพื่อน ๆ ในทริปที่ลานเบียร์ เห็นอาจารย์วรณัยกับคุณสมยศ และเพื่อน ๆ ในทริปกำลังครึ้ม ๆ ทานเบียร์กันสบายอารมณ์ สักพักก็พากันมาทานมื้อเที่ยงแบบบุฟเฟ่ต์ใน Food Court ใหญ่ของบาน่าฮิลส์ อาหารหลากหลายและเยอะดี รสชาติใช้ได้ แต่ไม่ประทับใจขนมหวานเต้าส่วนน้ำกะทิ ไม่อร่อยเลย ทางไกด์โอเอากุ้งเผามาเสริม คณะทริปของเราทานกันเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะผมเห็นอาจารย์วรณัย เอนจอยมาก
พอได้เวลาอันสมควร บ่ายโมงกว่าแล้ว คณะทริปของเราก็ทะยอยขึ้นกระเช้าไฟฟ้าลงบาน่าฮิลส์กัน ผมถ่ายภาพน้ำตกลงจากเขาระหว่างอยู่บนกระเช้าดังภาพข้างต้น สวยงามตื่นตาตื่นใจมาก
ภาพจากซ้ายไปขวา: มองจากหน้ากำแพงบาน่าฮิลส์มาด้านล่าง และปืนใหญ่หน้ากำแพงเมืองญวน (ผมลองจับ และเคาะดุู เป็นเหล็กกล้าและของเก่าจริง ๆ ด้วย)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ระเบียงบนสะพานขากลับ มีรูปปั้นชาวนา ชาวประมง เกษตรกรพื้นบ้านเวียดนามให้เห็น และวิวริมทะเลเมืองดานัง ระหว่างทางที่จะไปช้อปที่ "ตลาดห่าน" กัน
คณะทริปของเรามาแวะตลาดห่านในเมืองดานังกัน ใช้เวลาราว 40 นาที เพื่อซื้อของฝากกลับเมืองไทย ผมเฉย ๆ มายืนรอแกร่ว ๆ ดูผู้คนแถว ๆ ริมแม่น้ำห่าน สังเกตดูมีคนไทยมาช้อปที่นี่กันเยอะ พอได้เวลาทุกคนก็ขึ้นรถบัส หลายท่านซื้อข้าวของกันจัดเต็ม จากนั้นก็ตรงมายังสนามบินดานังกันเลย สนามบินดานังอยู่ไม่ไกลนัก ดูใหญ่โตทันสมัย นี้ขนาดเป็นสนามบินต่างจังหวัดของเวียดนามนะนี้ เข้าใจว่าเวียดนามเตรียมโปรโมทดานังให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักเต็มที่ จึงเตรียมสาธารณูปการต่าง ๆ รองรับอย่างพร้อมมูล
ระหว่างเตรียมขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดานัง กลับสุวรรณภูมิ
คณะทริปของเรามารอที่สนามบินร่วมชั่วโมงกว่า จนได้เวลาก็ขึ้นเครื่องกลับสุวรรณภูมิ ทานอาหารเย็นกันบนเครื่อง มาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิราวสองทุ่มเศษ ๆ โดยสวัสดิภาพ....จบทริปครับ...:))
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย
01. ชาวจาม อาณาจักรจัมปา, ที่มา: Facebook ห้อง "ประวัติศาสตร์ฮาเฮ", วันที่เข้าถึง 6 กุมภาพันธ์ 2563.
ที่มาของภาพ - ภาพจิตรกรรมนักรบจามบนประตูพระอุโบสถวัดโพธิ์
ในบรรดากองทหารอาสาต่างชาติที่มีชื่อโด่งดังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย หลายท่านมักจะไปคิดถึงกองอาสาโปรตุเกสบ้าง และกองอาสาญี่ปุ่นบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีกองทหารอาสาอีกพวกหนึ่งที่นับเป็นกองทหารอาสาที่มีฝีมือและชั้นเชิงในการรบสูงมาก แถมยังขึ้นชื่อลือชาเรื่องความโหดเหี้ยมอำมหิตอีกด้วย โดยกองกำลังที่ว่านั้น "กองอาสาจามปา" ครับ
พวกจามปานับเป็นหนึ่งในชนชาติโบราณของอุษาคเนย์ โดยถิ่นฐานเดิมของพวกเขาเคยตั้งอยู่ทางภาคใต้ของเวียดนาม แล้วกินบริเวณค่อนเข้ามาในเขตกัมพูชาฝั่งตะวันออกด้วย โดยอาณาจักรจามปานั้นนับว่าเป็นหนึ่งในรัฐมหาอำนาจแห่งอุษาคเนย์โบราณร่วมกับอาณาจักรมอญทวารวดีและขอมพระนคร และด้วยความที่พวกเขาเป็นชนชาตินักรบที่เหี้ยมหาญ พวกเขายังยกทัพเข้าปล้นสะดมโจมตีนครวัดจนย่อยยับจนเป็นการปิดฉากยุคทองของจักรวรรดิขอมพระนครในยุคสมัยหนึ่งมาแล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่ชำนาญการเดินเรือสมุทรมากทีเดียว พวกจามปาจึงสามารถสร้างโครงข่ายเส้นทางการค้าทางทะเลกับบรรดารัฐคาบสมุทรและหมู่เกาะต่างๆในภูมิภาคอุษาคเนย์ฝั่งตะวันอกได้ทั้งหมด จนทำให้พวกเขามีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาที่ใกล้ชิดกับพวกมลายูและชวาเป็นอันมาก ซึ่งเมื่อแรกเริ่มเดิมทีนั้น พวกจามปา มลายู และชวานั้นต่างนับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูเหมือนกันมาก่อนครับ จนกระทั่งเมื่อพวกมุสลิมอาหรับเข้ามาในภูมิภาคนี้เมื่อศตวรรษที่ ๑๐ เป็นต้นมา พวกเขาเหล่านั้นก็หันมานับถือศาสนาอิสลามไปพร้อมๆกัน แต่ในขณะที่พวกมุสลิมมลายูและชวาต่างค่อยๆกลืนฝ่ายฮินดูพื้นเมืองไปมากนั้น ฝ่ายจามปากลับยังคงรักษาจารีตฮินดูดั้งเดิมและอาศัยร่วมกับพวกจามปาสายฮินดูสืบต่อมาโดยไร้ความขัดแย้งใดๆ
อย่างไรก็ตาม เพราะความที่อาณาจักรของพวกเขาตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างอาณาจักรเขมรและเวียดนาม จึงทำให้พวกจามปาต้องทำศึกกับสองประเทศตลอดแทบทุกปี และทำให้พวกเขาต้องสูญเสียดินแดนและความเกรียงไกรในภูมิภาคและคาบสมุทรลงไปเรื่อยๆ หากแต่กระนั้น พวกเขาก็ยังคงเป็นนักรบผู้กล้าที่บรรดาผู้นำรัฐต่างๆในอุษาคเนย์ล้วนต้องการมาเป็นกองกำลังประดับบารมีด้วยกันทั้งสิ้น และอาณาจักรไทยในสมัยอยุธยาก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
สำหรับความเป็นมาของพวกจามปานั้น เชื่อกันว่าพวกจามปาน่าจะอพยพเข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานมาแล้ว เพราะมีหลักฐานของชุมชนจามปาที่เรียกว่า "ปทาคูจาม" ที่นอกเกาะพระนครศรีอยุธยาทางตอนใต้กลับกับเขตวัดพุทไธสวรรย์ จากเหตุการณ์คราวที่พระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) ยกทัพเข้าชิงบัลลังก์จากสมเด็จพระรามราชาธิราชในปี พ.ศ.๑๙๕๓ แล้วทรงเนรเทศให้พระรามราชาไปอยู่ยังปทาคูจามนั้นเอง แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพวกเขาได้เข้าร่วมกับกองทัพอยุธยามาตั้งแต่ต้นหรือไม่
หากแต่ด้วยความสามารถด้านการเดินเรือของพวกเขานั้น ทำให้เชื่อได้ว่าพวกเขาน่าจะเข้ามารับราชการในกรมท่ามานานแล้ว เพราะมีหลักฐานว่าเหล่าขุนนางเชื้อสายจามปาล้วนแต่ได้รับราชการในกรมกองนี้กันทั้งสิ้น จวบจนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศฯจึงมีหลักฐานบันทึกยืนยันอย่างชัดเจนว่ามีกองทหารอาสาจามปาเข้าร่วมรบด้วย โดยมีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่ามีกองทหารจามปา ๕๐๐ นายภายใต้การบัญชาการของ "พระราชวังสัน" รับตำแหน่งเป็นกองทะลวงฟันหน้าร่วมกับกองทหารอาสาญี่ปุ่นในมหาสงครามยุทธหัตถีด้วยเช่นกันครับ
สำหรับกิตติศัพท์ของพวกนักรบจามปานั้น พวกเขาขึ้นชื่อเรื่องความกล้าหาญและบ้าระห่ำตามสไตล์นักรบแขกนั่นล่ะครับ โดยลักษณะเครื่องแต่งกายของพวกเขาก็แทบไม่ต่างจากนักรบมลายูเลย ดังที่มีบันทึกเอาไว้ใน "ลิลิตกระบวนแห่พยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค" ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสที่ว่า...
"จามพลตนแต่งแม้น มลายู
ปั้นเหน่งโอบเอวดู เพรอศแพร้ว
เหน็บกฤชพิศไพร โดยรัต แลฤา
หอกคู่ชูอาดแล้ว กลอกแกล้วแสดงหาญฯ
แต่งแขกสองพวกเพี้ยน แยกสยาม เพศแฮ
หมู่หนึ่งอาสาจาม อ่าล้ำ
มลายูเยี่ยงแต่งกาย สนอบสนับ เพลาฤา
รจิตรกระบวนซ้ำ โหมดย้อมโอบเศียร"
สำหรับเครื่องแต่งกายสำหรับออกศึกของพวกเขานั้น พวกจามปาจะนิยมสวมเสื้อแขนยาวคู่กับการนุ่งโสร่งทับกางเกงและห่มเกราะโซ่ถักกับโพกหัวคล้ายแขกอินเดีย นิยมพกเหน็บกริชเป็นอาวุธคู่ใจ และจะใช้ดาบโค้งอย่างดาบตุลวาร์แบบอินเดีย หรือแม้แต่ "อ้ายเด้ง" อันเป็นดาบดั้งแบบมลายู หากแต่อาวุธที่พวกเขาถนัดมือมากที่สุดนอกจากกริชแล้วก็คือหอกซัดและ "บังกรี" อันเป็นทวนเหล็กแบบแขกอินเดียใต้ได้อีกด้วย
เพราะเหตุนี้ ราชสำนักอยุธยาตอนปลาย กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์จึงมักจัดรวมกองทหารอาสาจามปาและมลายูอยู่รวมกันสืบมา โดยที่พวกเขาก็ได้สร้างเกียรติประวัติในการศึกสงครามหลายครั้ง จนทำให้พวกเขาได้รับการฝากชื่อไว้ว่าเป็นหนึ่งในกองทหารอาสาต่างชาติที่เก่งกล้าสามารถและจงรักภักดีต่อแผ่นดินไทยตราบจนทุกวันนี้ครับ
ที่มา : ศิลปะเวียดและจาม - ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช
พระราชพงศาวดารพันจันทุมาศ (เจิม)
http://alisuasaming.org/main/?p=2916
http://alisuasaming.org/main/?p=2876
อ.ปริญญา สัญญะเดช และ ชมรมสืบสานศาสตราอุษาคเนย์
02. กลุ่มปราสาทหมีเซิน (Mỹ sơn) เป็นกลุ่มปราสาทจามปาที่มีความสำคัญที่สุด สามารถกล่าวได้ตรง ๆ ว่าเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของอาณาจักรจามปา ที่มีอายุราวพันกว่าปี (จากคริสต์ศตวรรษที่ 4-14) กลุ่มปราสาทอยู่ในหุบเขาที่ลึกและแคบใกล้กับหมู่บ้านหมีเซิน ในชุมชนถี่ตัน (Duy Tân) ย่านถี่ซูเยิน (Duy Xuyên) จังหวัดกว่างนัม (Quảng Nam), ที่มา: "Mỹ sơn Relics" โดย โง วัน ไดห์ (Ngô Văn Doanh) สำนักพิมพ์เต่ เก้ย (THẾ GIỚI), ฮานอย ปี 2019.
03. ในบรรดาชาติต่าง ๆ ของ Southeast Asia ที่หายไปจากประวัติศาสตร์ ทั้งที่เคยมีความสำคัญมาก่อนคือ รัฐจัมปา รัฐยะไข่ (อาระกัน) และรัฐโจโล (มินดาเนา ฟิลิปปินส์) จัมปาเป็นรัฐโบราณที่สุดของพื้นแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นที่พบจารึกสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุดด้วย รองจากจารึกที่อินโดนิเชีย เดิมจัมปามีอำนาจในภาคกลางของเวียดนามปัจจุบันทั้งหมด มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง ดังนั้นจึงมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าชาติอื่น ๆ มีเรื่องราวปรากฏในเอกสารจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (เพราะพวกจามทำสงครามกับแคว้นกาวจี้หรือเวียดนามสมัยอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิจีน ชาวจามมีเชื้อสายร่วมกับอินโดนีเชีย เพราะอพยพทางเรือข้ามทะเลมาตั้งถินถานทีบริเวณชายฝั่ง เนื่องจากชาวจามอยู่ในพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมไม่ได้ดีจึงดำรงตนอยู่ได้ด้วยการปล้นสะดมเรือที่สัญจรไปมาระหว่างจีนกับรัฐอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ในสมัยที่จีนยึดเมืองหลวงของจัมปาได้ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 กองทัพจีนได้ขนทองจากท้องพระคลังของจัมปาไปหลายเล่มเกวียน ซึ่งปล้นมาจากเรือส่งราชบรรณาการของชาติต่าง ๆ ในสมัยพระจักรพรรดิเลทันห์ตงแห่งอาณาจักรไดเวียด ญวนได้ยึดจัมปาได้ทั้งหมดในค.ศ. 1474 หลังจากเป็นศัตรูรับกันมานานนับศตวรรษ เรื่องราวของจัมปาน่าสนใจเพราะเป็นเจ้าของอารยธรรมพราหมณ์ต้นแบบ เพราะฉนั้น คนที่สนใจประวัติศาสตร์จึงควรไปดูแหล่งโบราณสถานสำคัญ เช่นที่ มี่เซิน เมืองญาตราง เมืองวิชัย โปนาการ์ และที่พลาดไม่ได้เลยคือ พิพิธภัณฑ์จามที่ดานัง เมื่อผมพาคณะไปที่เวียดนามสั่งให้มัคคุเทศก์พาไปดูพิพิธภัณฑ์เขาแทบไม่รู้จัก เพราะเขามักพาคนไทยไปบานาฮิลล์ (พนาบรรพต) และไปซื้อของที่ตลาดดานัง ตอนนี้ในการจัดอันดับโลกของ Travel & Leisure เมืองโห่ยอันขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งของโลก ส่วนในเอเซีย เชียงใหม่อยู่อันดับสอง ไปโห่ยอันก็ดีเพื่อเรียนรู้ว่าทำไมเชียงใหม่ซึ่งมีทรัพยากรทางวัฒนธรรมมากกว่ากลับอยู่อันดับสอง ความเละเทะและไม่ได้เรื่องของผู้ปกครองไทยทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ทำลายมนตร์เสน่ห์ของเชียงใหม่ลงไปมาก
มัคคุเทศก์เวียดนามก็คุณภาพต่ำไม่ค่อยมีความรู้ เวลาไปเขมร พม่า และเวียดนาม ผมต้องบรรยายในรถเองเพราะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ต้องติดตามงานวิจัยสมัยใหม่ให้ทัน...,
ต้องเข้าใจให้ถูกต้องนะครับว่า่ เราเรียกอาณาจักร "จัมปา" ชื่อที่ยืมมาจากแคว้นจัมปาในอินเดียโบราณ (ปัจจุบันคือ เบงกอล) ส่วนพลเมืองของจัมปาเรียกว่า "ชาวจาม" จาม แปลว่า พลเมืองแห่งจัมปา
ที่มา: ข้อความใน LINE ห้อง "สุโขทัยคดี", บรรยายโดย ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีอาวุโส สกว., เมื่อ 12 เมษายน 2563.