วันแรก: วันพฤหัสบดีที่
5 เมษายน 2561 |
มัณฑะเลย์ - อังวะ - อมระปุระ |
12:00 น. |
ออกเดินทางสู่ประเทศพม่า |
13:20 น. |
ถึงสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ |
14:30 น. |
มุ่งหน้าสู่เมืองอังวะ04 ราชธานีเก่าแก่ก่อนที่จะย้ายราชธานีไปที่เมืองมัณฑะเลย์ |
15:30 น. |
ชมวัดเมนูอ่อง วัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยที่อังวะรุ่งเรือง |
16:00 น. |
ออกเดินทางต่อสู่อมระปุระ |
16:30 น. |
ชมโรงงานทอผ้าลุนตยา ที่ใช้ในราชสำนักมัณฑะเลย์ (ไม่ได้ชม) |
17:00 น. |
ชมสะพานไม้อูเบ็ง สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก ข้ามทะเลสาบตองตะมาน (Taungthaman Lake) ไปยังวัดเจ้าก์ทัตจี (Kyauktawgyi Pagoda) ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุสองร้อยปี
รอแสงยามเย็นเหนือทะเลสาบตองตะมาน เป็น Scene ที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของที่นี่ |
18:00 น. |
มุ่งหน้าสู่เมืองมัณฑะเลย์ เช็คอินเข้าที่พัก Oway Grand Hotel (สามดาว) พักผ่อนทำธุระส่วนตัว |
19:00 น. |
มื้อค่ำทานบาร์บีคิวสไตล์พม่า ในร้านท้องถิ่น ทานคู่กับเบียร์พม่า....สุโค้ยยยยย |
20:00 น. |
กลับเข้าที่พัก |
ผมตื่นแต่เช้ามืดนั่งแท๊กซี่จากบ้านมาต่อรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิ๊งค์ที่สถานีพญาไท มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิก่อนกำหนดเวลา 9:45 น. เยอะ แวะทานข้าวเช้าที่ฟู้ดคอร์ทของสนามบินชั้นกราวน์ ราคาเหมาะสมไม่เว่อร์ แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันในฤดูร้อนแห่งเดือนเมษายน แต่ก็มีฝนตกพร่ำ ๆ ทั่วกรุงฯ กันตั้งแต่แปดโมงเช้า คณะที่จะไปมัณฑะเลย์กันนั้น มากันสายเล็กน้อย คณะที่ไปกันมีเพียงสี่คนเท่านั้น ประกอบไปด้วย น้องตอง หัวหน้าคณะ น้องเอ็ม น้องอี้ และผม.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ขณะขึ้นเครื่องฯ และอาหารที่เสริฟบนเครื่องฯ ข้าวราดมัสมันไก่ สลัดและขนมหวานสองชิ้น
ภาพจากซ้ายไปขวา: ผมกับน้องอี้ และภาพน้องเอ็ม น้องตอง และผม (รวมสี่ชีวิตตลุยพม่าเบื้องอุดร)
พอคณะครบก็เช็คอิน ผ่านตม. แล้วเข้ามานั่งทานอาหารเล่นกันในเล้าจ์ของบางกอกแอร์เวย์ ได้เวลาก็ขึ้นเครื่อง (บางกอกแอร์เวย์ส์ เที่ยวบินที่ PG 709) ลัดฟ้าร่วม 1:45 ชั่วโมงมายังท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนม่าร์ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า "พม่า" ตามความถนัดและเป็นคำที่คนไทยเรียกประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้มาช้านาน). คณะของเรามาถึงพม่าราว 13:45 น.เวลาท้องถิ่น (เวลาที่พม่าช้ากว่าเมืองไทยครึ่งชั่วโมง)
ภาพจากซ้ายไปขวา: สนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ และรถตู้โตโยต้า ทะเบียนย่างกุ้งที่จะพาคณะเราไปเที่ยวตลอดทริปนี้
สารถีชาวพม่าที่ขับรถให้คณะของเราตลอดทริปชื่อ "โซวิน" (ผมถามว่าแปลว่าอะไร โซวินก็ตอบไม่ถูก) รถที่ใช้เที่ยวในทริปนี้เป็นรถตู้โตโยต้าสภาพโอเค แอร์เย็นใช้ได้ มีน้ำดื่มเย็น ๆ เสิร์ฟให้ตลอดทริป
สภาพบรรยากาศที่มัณฑะเลย์ดูแห้งแล้ง และร้อนพอ ๆ กับกรุงเทพฯ บริเวณสนามบินกว้างขวางและไกลจากตัวเมืองมาก (ร่วม 10 กว่ากิโลฯ) อยู่ทิศใต้ของเมืองมัณฑะเลย์ สภาพถนนเหมือน ๆ กับเมืองไทยเมือง 20-30 ปีก่อน คณะเราตรงมาที่เมืองโบราณอังวะ อินวา (Inn Wa) หรือ อะวาก่อน
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองอังวะเดิม และ แผนที่โบราณกรุงอังวะ, ที่มา: www.visitmyanmar.com.au, วันที่สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2561.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพถ่ายในรถตู้เห็นภาพราชมรรคาทางเข้าเมืองอังวะ และวัดเมนูอ๊อกจอง (สังเกตพนักระเบียงรูปคล้ายใบเสมา)
สารถีโซวิน ขับผ่านเข้ามายังเขตเมืองอังวะ เห็นถนนหลวงหรือราชมรรคาดั้งเดิม ดูอลังการกว้างราว ๆ 5 เมตรแคบ ยาว 3-4 กิโลเมตร ผ่านเจดีย์กำแพงเมืองเก่า และชาวบ้าน เจอกลุ่มเจดีย์ของชาวไทยใหญ่ (ไกด์ตองอธิบายไว้) จากนั้นก็เข้าชมวัดเมนูอ่อง (มักเรียกกันว่า "วัดเมนูอ๊อกจอง" - Me Nu Oak Kyaung - Brick Monastery หรือ Mae Nu Oak Kaung Temple มีชื่อเป็นทางการว่า "วัดมหาอ่องมเหย่ป่งสั่น หรือ วัดมหาอองมเยบอนซาน07.-The Maha Aung Mye Bom San Monastery" ) ด้วยการถอดรองเท้า (คณะของเราต่างพร้อมใจตกลงกันนุ่งโสร่งอย่างพม่า ก็ดูเก๋ดูเด็กแนว กลมกลืนกับวัฒนธรรมที่นี่ดี) เป็นวัดที่พระมเหสี (ราชินีเมนู -Queen Nanmadaw Menu) ของกษัตริย์อังวะองค์หนึ่ง (พระเจ้าบาจีดอ หรือ พระเจ้าจักกายแมง - King Bagyidaw หรือ Sagaing Min) สร้างให้เจ้าอาวาสวัด (Nyaung gan Sayadaw) เมื่อ พ.ศ.2365 (ค.ศ.1822)
คำว่า "เมห์นู" มาจากชื่อของพระนางเมห์นู บ้างก็เรียกเมนู มเหสีของพระเจ้าบาจีดอ (พระเจ้าจักกายแมง) ส่วนคำว่า "อ๊อกยัง" หมายถึงวัดที่สร้างจากปูน ผู้คนสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครชอบพระนางเมห์นูนัก เพราะนางมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน เป็นเพียงแม่ค้าในตลาด พระเจ้าจักกายแมงเสด็จไปเจอแล้วตกหลุมรัก และทรงแต่งตั้งให้เป็นมเหสี มีเรื่องราวเพิ่มลดปลดตั้งมเหสี พระชายาลำดับต่าง ๆ ของพระเจ้าจักกายแมงกันอุดตลุด ท้ายที่สุด พระนางเมห์นู มีบทบาททางการเมืองมาก มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกษัตริย์ จนเป็นเหตุให้พม่าต้องเสียหลายเมืองให้กับอังกฤษ ตอนปลายรัชกาลพระเจ้าจักกายแมง มีสติไม่สมบูรณ์พอที่จะบริหารบ้านเมืองได้ พระนางเมห์นูก็รวบอำนาจไว้เสร็จสรรพ ท้ายที่สุดพระนางก็ถูกประหารชีวิต มีเรื่องซุบซิบกันว่า พระนางเมห์นูสร้างวัดนี้ให้กับเจ้าอาวาสที่เคยเป็นคนรักเก่าของพระนาง.
วัดนี้มีสองชั้น ชั้นล่างสุดเป็นช่องเสาอาคารไว้ให้ภิกษุวิปัสสนา ชั้นบนสำหรับเป็นที่จำวัดและที่พำนักของพระและทำกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ มีพระประธานเป็นศิลปะพม่ายุคอังวะ ที่น่าสนใจคือตรงกรอบประตูมีลวดลายกนกอย่างไทย แม้แต่โหง่วหรือเหง่า ต่างจากวัดพม่าทั่วไปโดยจะมีลวดลายอย่างไทยประดิษฐ์เข้าไว้ด้วย บางมุม ด้านหน้าวิหารเมื่อมองไปทางทิศตะวันตก ก็จะเห็นยอดเขาสะกายหรือจักกายได้ พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดีไกลออกไป.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ประตูเข้าวัด สังเกตได้ว่ามีลายกนกอย่างไทย และพระประธานรูปแบบพม่า
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพหน้าวัดมองไปทางทิศตะวันตก เห็นแม่น้ำอิรวดีและเนินเขาเมืองสะกาย และโหง่วหรือเหง่าของวัด มีลายกนก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ชั้นล่างของวัด (อากาศถ่ายเทได้ดี เย็นสบาย) มีช่องสำหรับให้ภิกษุนั่งวิปัสสนา และผมกับมุมหนึ่งของวัด
จากนั้นก็ขึ้นรถไปสักครู่หนึ่ง (ไกลขนาดกรุงเทพฯ มาเมืองนนท์) ขึ้นมาทางเหนือเลียบแม่น้ำอิรวดีมายังวัดเจ้าก์ทัตจี (Kyauktawgyi Pagoda)06 เขตอมรปุระ (Amarapura) วัดนี้มีขนาดใหญ่ ยอดเจดีย์เหลืองสุกอร่ามมาแต่ไกล เข้าทางหน้าวัด เห็นมุมหมอดู (คนพม่ายามว่างชอบดูหมอทายพยากรณ์กันมาก) กำแพงวัดดูแปลก ๆ เพราะเป็นกำแพงอิฐแล้วฉาบปูนเหมือนวัดทั่ว ๆ ไป แต่ตอนล่างของกำแพง ปูนฉาบสึกกร่อน เห็นเนื้อดินเผาของอิฐ เป็นระดับเดียวกันไปทั้งหมด (สันนิษฐานว่าแม่น้ำอิรวดีและทะเลสาบตองตะมานที่อยู่ใกล้ ๆ เอ่อล้น แช่ขังน้ำไว้นาน ทำให้ปูนของกำแพงส่วนล่างกะเทาะร่อนออกไป) เมื่อคณะของเราเข้าไปในวิหาร มีสิ่งพิเศษเป็นภาพเขียนวิจิตรบนวิหารคด ช่องทางเข้าวิหารบนผนังและเพดาน เป็นจิตรกรรมแสดงชีวิตประจำวันของชาวบ้าน มีภาพเด็กไว้แกละ ไว้จุกผิวขาวกว่าเด็กทั่ว ๆ ไปซึ่งจะมีผิวคล้ำและมวยผมไว้ เมื่อได้ฟังและชมสารคดีของไทยพีบีเอส โยเดียที่คิด(ไม่)ถึง: สายเลือดอโยธยา ? (8 ก.ค.60) และชาวบ้านแถว ๆ นี้ยืนยันและคุ้นเคยกับคำว่า โยเดียกันดี สามารถสันนิษฐานได้แน่นหนาว่า นี่คือฝีมือช่างไทย (ทายาทรุ่นที่ 1 หรือ 2) ที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 มาพร้อม ๆ ขุนหลวงหาวัด (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร)
นอกจากนี้ยังมีภาพดวงดาวแสดงวิชาดาราศาสตร์ของพม่า ได้ชมภายในอุโบสถ มีพระประธานองค์ใหญ่พระพักตร์แบบพม่าในยุคอมรปุระ ตรงหน้าพระประธานจะมีพระพุทธรูปที่ลงรักปิดทองสององค์ ขนาดเล็ก (ทราบจากไกด์ตองว่าชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งเสียกรุงฯ ได้นำมาไว้ที่วัดนี้) ที่ประทับเหนือเทพของศาสนาฮินดู (นับเป็นการต่อสู้กันกับความเชื่อความศรัทธาระหว่างศาสนาพุทธกับฮินดู)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ทางเข้าวัดเจ้าก์ทัตจี และบริเวณรอบรั้วของวัด จะเห็นกำแพงส่วนล่างมีรอยผุกร่อน (จากการท่วมขังของน้ำที่เอ่อล้นเป็นเวลานาน)
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าวัดเจ้าก์ทัตจี และภาพเขียนบนผนังระเบียงทางเข้าวิหาร (สันนิษฐานว่าเป็นช่างไทย-โยเดีย** ฝากงานวิจิตรไว้)
เป็นภาพเด็กไว้แกละ ไว้จุกซึ่งมีผิวขาวกว่า เล่นกับเด็กไว้มวยผม
**ช่างไทย-โยเดียนี้น่าจะเป็นรุ่นที่ 2 หรือ 3 เพราะวัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2390
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพเขียนบนผนังระเบียงทางเข้าวิหาร แสดงเทวดาทั้งพม่า ไทย อื่น ๆ และภาพดาราศาสตร์ของพม่า
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพเขียนบนระเบียงทางเข้าวิหารอีกมุมหนึ่ง (สันนิษฐานว่าเป็นช่างไทยอยุธยา)
เพราะเป็นภาพรอยพระพุทธบาท การให้สี (สีเทาถ่านและสีแดงหมาก) และภาพพระประธานของวัดเจ้าก์ทัตจี
ภาพจากซ้ายไปขวา: วัตถุมงคล (ทราบจากไกด์ตองว่า ชาวไทยไปนำมาจากกรุงศรีฯ เมื่อคราวกรุงแตกครั้งที่ 2)
เป็นพระพุทธรูปยืนเหนือเทพของศาสนาฮินดู(เป็นการต่อสู้ทางความคิดความศรัทธาของศาสนาพุทธและฮินดู
ในสมัยตอนปลายกรุงศรีฯ) และภาพเด็ก ๆ ที่มาเล่นในวัดฯ เป็นไปได้ว่าเด็ก ๆ เหล่านี้
มีเชื้อสายเป็นคนไทย ซึ่งได้กลืนกลายเป็นคนพม่าไปแล้ว (เพราะผ่านมาร่วม ๆ 251 ปี หรือราว ๆ 7 รุ่นหรือโคตรแล้ว)
คณะของเราเดินชมได้ครู่หนึ่ง ก็กลับ แล้วเดินต่อไปราว ๆ 500 เมตร ผ่านชาวบ้านที่นำของว่างต่าง ๆ มาขาย มีทั้งลูกชิ้นไส้กรอกสไตล์พม่า และที่น่าสนใจคือ กุ้งและปูน้ำจืดชุบแป้งทอดเป็นแพ คณะฯ ก็เดินไปถ่ายภาพไป เซลฟี่บ้างบนสะพานไม้อูเบ็ง (U Bein Bridge - คนสร้างสะพานนี้ชื่อ อูเบ็ง) ที่มีความยาวราว 1.2 กิโลเมตร เป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก มีเสากว่า 1,700 ต้น สร้างขึ้นเมื่อราว ค.ศ.1782 ข้ามทอดผ่านทะเลสาบตองตะมาน ซึ่งขณะนี้แห้งขอดอยู่ เห็นชาวบ้านผู้คนเดินข้ามไปมาบนสะพานขวักไขว่ มีเต้นท์โต๊ะย่อม ๆ เตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยวพักดื่มทาน เพราะขณะนี้ก็เวลา 4 โมงเย็นแล้ว เมื่อคณะเดินข้ามพ้นสะพานแล้ว ก็ชมตลาด ผมซื้อของฝากเล็กน้อย จากนั้นคณะของเราของพักเบรคบนร้านที่เห็นวิวดี ๆ ชมสะพาน พร้อมสั่งกุ้งและปูทอดมาทานกัน รสชาติอร่อยดี สด เพราะเป็นกุ้งปูที่จับสด ๆ ในทะเลสาบตองตะมานนั่นเอง.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพร้านอาหารวางขายปู กุ้งชุบแป้งทอด ก่อนข้ามสะพานอูเบ็ง และ
ภาพถ่ายจากสะพานอูเบ็งมายังด้านล่าง น้ำแห้ง จนชาวบ้านมาเปิดเพิงชั่วคราวขายอาหารเครื่องดื่ม
ภาพจากซ้ายไปขวา: บนสะพานไม้อูเบ็ง ยาม 4 โมงเย็น และแม่ค้าขายทานาคา
สักพัก คณะฯ ก็เดินทางเข้าเมืองมัณฑะเลย์เข้า Check-in ที่โรงแรม Oway Grand Hotel (สามดาว) อยู่ตรงข้ามเยื้อง ๆ สถานีรถไฟมัณฑะเลย์ สภาพห้องใช้ได้ สะอาดสะอ้าน มี Wifi ความเร็วก็พอได้ ล้างหน้าล้างตาได้ครู่ ราว ๆ ทุ่มหนึ่ง คณะฯ ก็เดินทางมาทานอาหารค่ำ เป็นบาร์บีคิวสไตล์พม่าออกแนวยูนนาน มีรสชาติของเครื่องเทศและความเผ็ดแบบหมาล่า พร้อมเกี๊ยวปิ้ง ผักนานาชนิดปิ้ง กับข้าวสวย พออิ่มแปร้ ก็เดินทางกลับเข้าที่พัก พักผ่อนกันตามอัธยาศัย.
ภาพจากซ้ายไปขวา: เคาน์เตอร์เช็คอินเข้าที่พัก (สังเกตเบลบอย นุ่งกางเกงสแล็คแต่ใส่รองเท้าแตะ) และ อาหารย่างที่ร้านบาร์บีคิว
ภาพจากซ้ายไปขวา: ผัดผักรวมใส่หมูปรุงด้วยหมาล่า และเกี๊ยวจานโต และภาพหน้าร้านบาร์บีคิว สไตล์จีนยูนนาน
วันที่สอง:
วันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2561 |
มัณฑะเลย์ - จักกาย - มิงกุน - พุกาม |
07:00 น. |
ทานอาหารเช้าในโรงแรม |
08:00 น. |
เช็คเอ้าท์ และออกเดินทางชมวัดชเวอินปิน วัดโบราณสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ที่ถือเป็นต้นแบบในการก่อสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์ (***ชมวันสุดท้าย***) |
10:00 น. |
ถึงเมืองจักกาย ชมวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ที่สามารถมองเห็นทิวเขาจักกาย ที่เต็มไปด้วยเจดีย์มากมาย และบรรยากาศที่เหมือนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน |
11:00 น. |
ถึงมิงกุน ชมซากเจดีย์ยักษ์มิงกุน ที่พระเจ้าปะดุงหมายมั่นจะให้เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่ที่สุดในโลก ใกล้ ๆ กันเป็นหอที่เก็บระฆังมิงกุนระฆังยักษ์ที่ถูกสร้างขึ้นในคราวเดียวกับเจดีย์ |
12:00 น. |
อาหารกลางวันสไตล์ French Cafe ในร้านสุดชิคริมแม่น้ำอิรวดี ที่ทุกคนต้องงงว่าไกด์เรา มาเจอร้านนี้ได้ไง |
13:00 น. |
ชมสุดยอดไฮไลท์แห่งมิงกุน เจดีย์เมี๊ยะเตงต่าน หรือ เจดีย์ฉิ่นปหยู่-หมี (Hsinbyume Paya-ชินพิวเม) เจดีย์สีขาวสุดอลังการที่งามจนได้ชื่อใหม่ว่าเป็น ทัชมาฮาลแห่งพม่า |
14:00 น. |
ออกเดินทางสู่เมืองพุกาม ระยะทางค่อนข้างไกล และหาห้องน้ำยากมาก ต้องเตรียมตัวกันนิดนึง |
19:00 น. |
ถึงเมืองพุกาม เช็คอินเข้าที่พัก Sky View Hotel (สามดาว) พักผ่อน ทำธุระส่วนตัว |
19:30 น. |
ทานอาหารค่ำที่ร้านอาหารย่าน Night Market เดินเล่นซื้อของที่ระลึกก่อนกลับเข้าที่พัก |
ผมนอนหลับได้เต็มอิ่ม ตื่นขึ้นมาแต่เช้ามืด ทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้วออกมาเดินชมตลาดเมืองมัณฑะเลย์ใกล้ ๆ ที่พักคนเดียว เห็นการดำเนินชีวิตของผู้คนในยามเช้า คนรับจ้างกำลังจัดเรียงซาลาเปาขึ้นซึ้งนึ่งบนอานมอเตอร์ไซค์พร้อมที่จะส่งไปยังร้านอาหารเช้าตามจุดต่าง ๆ พุทธศาสนิกชนกำลังใส่บาตรพระ ชมตลาดสด ผมสังเกตเห็นจักรยานโบราณยี่ห้อ Robinhood แบบผู้หญิง ไม่มีเกียร์ (ตระกูล Raleigh ของอังกฤษ) มีคนปั่นใช้กันทั่วไป ด้วยผมนุ่งโสร่งแบบพม่าเดินชมตลาดนั้น มีคนมาทักผมถามทาง ชวนซื้อของเป็นภาษาพม่าร่วม 5-6 ครั้ง ผมก็ตอบ ไอด้อนท์โนว์ และโนไป.
ภาพจากซ้ายไปขวา: พนักงานกำลังเตรียมซาลาเปาใส่ซึ้งนึ่ง พร้อมส่งด้วยมอเตอร์ไซค์ไปยังร้านขายอาหารเช้าต่าง ๆ ในมัณฑะเลย์
และบรรยากาศหน้าร้านอาหารเช้าสไตล์ติ๋มซำ
ภาพจากซ้ายไปขวา: พุทธศาสนิกชนกำลังใส่บาตรพระ และหน้าสถานีรถไฟมัณฑะเลย์ ซึ่งอยู่ตรงหน้าโรงแรมที่พัก
เดินชมได้สักพักก็กลับเข้าโรงแรม แล้วทานอาหารเช้าที่คอฟฟี่ช้อปด้านล่าง เป็นบุฟเฟ่ต์ เมนูทั่ว ๆ ไป ออมเล็ต ขนมปัง ข้าว หมี่ผัด ผัดผัก และข้าวซอยแบบพม่า. ผมเข้าห้องพักอาบน้ำอาบท่าเก็บข้าวของ นุ่งโสร่ง Check-out มารวมตัวกับคณะฯ ที่ล็อบบี้แล้วเดินทางต่อไปเมืองจักกายหรือสะกาย โซวินขับรถออกไปทางใต้เยื้องตะวันตกของตัวเมืองมัณฑะเลย์ เลียบแม่น้ำอิรวดี นานพอสมควร ชมบ้านเมืองสองข้างทาง ผู้คนเยอะ อากาศแห้ง ฝุ่นผงดินกระจายไปทั่วเมืองรถแล่นผ่าน สภาพถนนไม่ดีนัก สักพักก่อนที่จะขึ้นสะพานอิรวดี (หรือสะพานยาดานาบอน-Yadanabone Bridge) -Yadanabone หมายถึงเมืองมัณฑะเลย์09 ข้ามแม่น้ำอิรวดีไปยังเมืองจักกาย ก็แวะจอดถ่ายภายวิวสวยงามมาก ฉากหลังเป็นแม่น้ำอิรวดี มีเรือดูดทรายจอดเรียงกันเป็นตับ มีเกาะกลางแม่น้ำอิรวดี และเนินเขาสูงเมืองจักกาย มีวัดเจดีย์กระจายเต็มเขาไปหมด งดงาม
ภาพจากซ้ายไปขวา: ข้าวซอย อาหารเช้าที่โรงแรม และ
ภาพที่ถ่ายจากริมถนนก่อนขึ้นสะพาน เห็นแม่น้ำอิรวดี เกาะกลางแม่น้ำ เรือดูดทรายและเนินเขาเขตสะกาย
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพจากตลิ่งริมแม่น้ำอิรวดีถ่ายตรงไปยังสะพานก่อนข้ามไปเขตสะกาย และ
ภาพที่ถ่ายบนสะพานขณะข้ามจากมัณฑะเลย์ไปสะกาย เห็นสะพานเก่าที่ทอดขนานข้ามแม่น้ำอิรวดี
จากนั้น คณะก็เดินทางข้ามสะพานจากมัณฑะเลย์เข้าสู่เขตสะกาย มีสะพานข้ามอีกสะพานหนึ่งชำรุดจากการถูกทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (สร้างโดยอังกฤษในปี ค.ศ.1934 ซึ่งอังกฤษระเบิดทำลายสะพานนี้เองใน 8 ปีให้หลัง เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นใช้ประโยชน์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) วางขนานอยู่ไม่ได้ใช้งาน จากนั้นโซวินก็พาคณะมายังสำนักสงฆ์มหาเต็งดอจี (บ้างก็เรียก มหาเตงดอจี หรือ มหาเตงดอ-กยี) (Maha Thein Taw Gyi) มายังพระอารามหรือพระอุโบสถมหาเต็งดอจี (Maha Thein Taw Gyi Monastery) (หลังจากที่วนคลำหากันอยู่นาน โซวินหลงทางและขับสวนทางวันเวย์บ้าง เปรี้ยวจริง ๆ ) เป็นเขตชุมชน "กอนยินตองยวา - Gon -Hnyin Htong - Ywar"
เมื่อเข้ามายังสำนักสงฆ์ ไกด์ตองได้ถามพระเณรในสำนักฯ พอเณร ทราบว่ามาจากเมืองไทย (โยเดีย) ก็หยิบกุญแจที่แขวนอยู่ มอบให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสเปิดอุโบสถให้เลย (แสดงว่ามีคนไทยมาเที่ยวชมอุโบสถนี้ไม่น้อย)
มีข้อมูลและภาพแสดงไว้ในเว็บไซต์ทั่วไป (รวมทั้ง http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2851.0 วันที่สืบค้น 14 เมษายน 2561) และรายการสารคดีของไทยพีบีเอส รวมทั้งสื่อ ๆ เรื่องคนไทยที่พลัดถิ่นถูกกวาดต้อนเข้ามาแถบมัณฑะเลย์ สะกายและอมรปุระ เมื่อคราวเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 รวมทั้งขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) นั้น มีข้อมูลและข้อสันนิษฐานพอจะประมวลได้โดยสังเขปดังนี้:-
1. อุโบสถมหาเต็งดอจี เป็นพุทธสถานที่ยังคงใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง มีร่องรอยการบูรณะอย่างสม่ำเสมอ
2. ความสำคัญของอุโบสถหลังนี้เป็นที่ประจักษ์จากบทความเรื่อง "An Ayutthya Connection in Sagaing" ของ Rujaya Abhakorn จาก Myanmar Historical Commission Conference Proceedings part 3 เมื่อ พ.ศ.2548 และเป็นที่รู้จักแพร่หลายอีกครั้งผ่านหนังสือ พบหลักฐานสำคัญช่างอยุธยาฝากฝีมือไว้ในพม่าที่เมืองสะกาย โดย ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ และ มรว.รุจนา อาภากร.
3. ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปแบบศิลปะอยุธยาอันลือชื่อ โดยเฉพาะภาพธรรมาสน์และภาพกระหนกเครือ
4. ลายจิตรกรรมหน้าบันวัดมหาเต็งดอจี มีลักษณะคล้ายคลึงกับลายปูนปั้น วัดไผ่ล้อม เพชรบุรี
5. อุโบสถมหาเต็งดอจีหลังนี้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสะกาย อันเป็นเมืองใหญ่คนละฝั่งแม่น้ำอิระวดีกับเมืองมัณฑะเลย์ ชาวพื้นถิ่นมักเรียกอุโบสถหลังนี้ว่า "ยูน (ยวน) จองเตง (Yun Kyaung Thein) ตั้งอยู่ในเขต "กา นา ดอ ยับ, กอน นยิน ตอง ยวา (Ka Na Taw Yap, Gon-Hnyin Htong-Ywar) อันมีความหมายว่า "หมู่บ้านคุก, เขตคุกหรือที่อยู่เชลย ซึ่งใกล้เคียงกับเมืองไทยที่บริเวณที่ตั้งวัดสุวรรณารามในปัจจุบันเคยเป็นที่ประหารนักโทษพม่ามาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี)
6. ไม่ทราบประวัติผู้สร้าง แต่กล่าวกันว่าตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ชาวบ้านเล่าว่าเป็นชุมชนของพวกญวน (ยวน..??) เตง สันนิษฐานว่าคือพวกคนไทยจากยวน หรือ โยนก (ล้านนา) (ที่มา: www.art-in-sea.com, วันที่สืบค้น 19 เม.ย.2561) จากล้านนา มาสร้างวิหารนี้ก่อนที่จะมีศิลปะไทยข้างในราว 280 ปี (ศิลปะลวดลายภายในวิหารใหม่กว่าการสร้างวิหารอย่างชัดเจน และมีลวดลายครุฑยุดนาค (หรือครุฑจับนาค) แบบพม่าที่กรอบประตู ที่มา:ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ, รายการสารคดี "โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง" ทางไทยพีบีเอส
ที่จะแสดงต่อไปด้านล่างนี้เป็นวิหารที่นั่งวิปัสสนาของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด หรือ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ) หรือไม่นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดแจ้งนัก ซึ่งจะต้องอาศัยนักวิจัยทางประวัติศาสตร์มีการค้นคว้านำสืบเพื่อให้กระจ่างต่อไป
ในความรู้สึกส่วนตัว พร้อมการได้สัมผัสด้วยอายตนะทั้งหกของผม วิหารนี้ เมื่อได้ยืนนิ่ง ๆ รู้สึกได้ถึงความเย็นสงบ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นที่ประทับและที่วิปัสสนาธุระของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ระยะหนึ่ง (จากการบอกเล่าของไกด์ตองทราบว่าชาวบ้านไทย-พม่าแถบนี้ ยกให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งน่าจะทรงผนวชนั้น เป็นพระที่บรรลุญาณขั้นสูง) (อ้างอึงจากสารคดี "โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง: สายเลือดอโยธยา? ( 8 ก.ค.60)" โดย คุณมิกกี้ ฮาร์ท และ คุณนิรุตต์ โลหะรังสี แฟนอยุธยาพันธุ์แท้ มีข้อมูล หลักฐานแน่นหนาสามารถสันนิษฐานได้ว่ามีการเก็บอัฐิธาตุสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ) ไว้ที่สถูปเจดีย์ที่เมืองอมรปุระ)
ภาพด้านหน้าของอุโบสถมหาเต็งดอจี
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยในบุษบกที่ยกฐานสูง
และพระอันดับในอุโบสถ และภาพด้านบนผนังสกัดหลัง (หรือบริเวณหน้าบันหุ้มกลอง) ด้านทิศตะวันออก
พบลายเครือเถา ก้านดอกโค้งคล้ายคลึงกับลวดลายที่ปรากฎในปรางค์ทิศต่าง ๆ ของวัดไชยวัฒนาราม
สมัยประเจ้าปราสาททองและวัดไผ่ล้อม จ.เพชรบุรี ที่มาของข้อความจาก "บทความเรื่อง ตามรอยจิตรกรรมอยุธยาที่เมืองสะกายในพม่า"
โดย อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล นิตยสารเมืองโบราณปีที่ 33 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม - กันยายน 2550)
และ www.art-in-sea.com, วันที่สืบค้น 19 เม.ย.2561
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพซ้ายเป็นลายกระหนกเครือ และภาพขวาอยู่ตรงเหนือประตูทางเข้าด้านทิศตะวันตก
(ผนังด้านสกัดหน้าหรือผนังหุ้มกลองภายในอาคาร) เป็นภาพบุษบกที่ประทับของพระพุทธเจ้า
ประดับส่วนฐานด้วยลายกระจังเทพพนม ครุฑและสิงห์ขนาบด้วยเครื่องสูง เขียนพื้นสีแดง หลังคาบุษบกวาดเป็นชั้น
ซ้อนทรงปราสาทแบบไทย คือ ชั้นซ้อนที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ เหม ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา ปลียอด และเม็ดน้ำค้าง
นอกจากนี้ในงานจิตรกรรมมีการใช้เส้นสินเทา (หยักแบบฟันปลา) ซึ่งนิยมอยู่ในงานจิตรกรรมไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
เป็นฝีมือของช่างสิบหมู่ ที่มักติดตามเจ้านาย สันนิษฐานว่าติดตามพระเจ้าอุทุมพรมาด้วย
ที่มา: www.art-in-sea.com, วันที่สืบค้น 19 เม.ย.2561
และชั้นซ้อนด้านสะกัดเป็นมณฑปเก้ายอด รูปแบบเดียวกับพระที่นั่งสรรญเพชญ์ปราสาทในกรุงศรีอยุธยา
(ที่มา: ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ, รายการสารคดี "โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง" ทางไทยพีบีเอส)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพซ้าย ตรงมุมอุโบสถจะเห็นรอยคราบดินที่เกิดจากน้ำรั่วซึม และ
ภาพพระพุทธรูปในช่องผนังของอุโบสถ และจะเห็นภาพพระพุทธเจ้าในอดีตบนผนัง
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพผมภายในอุโบสถ และลวดลายตรงมุมเสาด้านนอกอุโบสถ มีลักษณะความอ่อนช้อยแบบศิลปะไทย
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพด้านนอกอุโบสถ ส่วนพระเจดีย์นั้นได้ก่อสร้างขึ้นมาภายหลัง
ภาพจากซ้ายไปขวา: อีกมุมหนึ่งของอุโบสถมหาเต็งดอจี และ
ภาพสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครองราชย์ พ.ศ.2301 เป็นกษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งกรุงศรีอยุธยา สวรรคตเมื่อ พ.ศ.2339
มัณฑะเลย์ ประเทศพม่า (ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 18 เมษายน 2561)
ภาพจากซ้ายไปขวา: แบบจากการศึกษาอุโบสถมหาเต็งดอจี และภาพจิตรกรรมจริงกับการเขียนถอดแบบเปรียบเทียบ
ได้ทราบจากทางผู้ช่วยเจ้าอาวาสหรือเจ้าสำนัก (โดยผ่านการแปลของโซวิน) ว่า เร็ว ๆ นี้จะมีคณะคนไทยมาทำเต้นท์ครอบกันฝนให้กับพระอุโบสถมหาเต็งดอจีนี้ เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำฝนที่จะชะทำลายภาพจิตรกรรมภายใน แต่ไม่ได้เป็นการทำหลังครอบถาวร หรือให้คณะคนไทยทำการบูรณะทั้งหมด (อ้างจากไกด์ตอง เพราะเกรงว่าคณะคนไทยจะแต่งเสริมเป็นศิลปะไทย ไม่เข้ากับแบบของพม่า).
ต่อจากนั้น คณะเราก็เดินทางมาอีกด้านของเขตสะกาย ขึ้นเขาสูงมายังเจดีย์เสวยอูปงยะฉิ่น หรือ ซูนอูพอนยาชิน (Sone Oo Pone Nya Shin Pagoda บ้างก็เขียนว่า Soon U Ponya Shin Pagoda) หากแปลกันตามภาษาพม่าแปลว่า เป็นวัดที่พระพุทธเจ้ามารับเสวยฉันภัตตาหารที่นี่ ซึ่งอยู่บนยอดเขา Nga-pha ของเขตสะกายที่มีความสูง 240 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งมียอดเขาในเขตสะกายนี้มีนับสิบ ๆ ยอด (ระหว่างทางขึ้นเขาจะผ่านสำนักการศึกษาของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ เป็นมหาวิทยาลัยชื่อ Thidagu World Buddhist University) ระหว่างทางนั้นจะพบรูปปูนปั้นเป็นรูปกบ (ซึ่งทราบจากไกด์ตองว่า มีตำนานพญานาคต่อสู้กับกบ และกลืนกบลงท้อง กบได้พ่นพิษออกมา ทำให้พญานาคถึงแก่ความตาย) และมีอีกตำนานว่าเนินเขาที่ตั้งเจดีย์นี้มีรูปร่างคล้ายกบ มหาเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1312 โดยอมาตย์มนตรีชื่อพอนยา (Pon Nya)
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระประธานในวัดเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ภายในอุโบสถประดับด้วยกระจกสีเขียว
และเจดีย์ด้านหลังมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ภายใน.
ภาพจากซ้ายไปขวา: จากระเบียงของวัดมองไปยังแม่น้ำอิรวดี จะเห็นฝั่งอังวะและอมรปุระ และมุมระเบียงของวัด
ภาพจากซ้ายไปขวา: เจดีย์ขนาดย่อม ๆ ของวัดเสวยอูปงยะฉิ่น และภาพผมถ่ายบนเขาสะกายโดยมีวิวแม่น้ำอิรวดีอยู่ข้างหลัง
ภาพจากซ้ายไปขวา: แม่ค้าขายของหน้าวัด (หน้าตาแห้ง ๆ คงกังวลเรื่องยอดขายในวันนี้กระมัง?) และภาพด้านหน้าก่อนเข้าวัดเสวยอูปงยะฉิ่น
การบูชาพระประธานในวัดแห่งนี้ มักจะถวายเป็นภัตตาหารคาวหวานชุดเล็ก ๆ เนื่องด้วยตามตำนานและชื่อของวัดนั้น หมายถึงเป็นวัดที่พระพุทธเจ้ามารับเสวยฉันภัตตาหารที่นี่นั่นเอง. บนยอดเขาจะมีจุดชมวิวให้ถ่ายภาพหลายจุด มองเป็นแนว Panorama เห็นกรุงอังวะ (อวา หรือ อินวาเดิม) ถัดมา (ไกลราว ๆ เมืองนนท์ หากสมมติให้อังวะเป็นกรุงเทพฯ ) ก็จะเห็นกรุงอมรปุระ (ถัดออกมาทางเหนือแถวรังสิต) นั่นก็คือเมืองมัณฑะเลย์ ส่วนเขตสะกาย ก็คล้าย ๆ กับว่าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (แท้จริงคือแม่น้ำอิรวดี) มาเมืองปทุมธานีนั่นเอง.
จากนั้นโซวินก็ขับรถเลียบแม่น้ำอิรวดีขึ้นไปทางเหนือครู่หนึ่ง (ราว ๆ 10 กิโลฯ ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์) ก็มายังเดิมเป็นท่าเรือหมู่บ้านมิงกุน นั่นคือที่ตั้ง มหาเจดีย์มิงกุน (Mingun Pagoda) ความใหญ่โตที่สร้างไม่เสร็จ ณ จุดนี้มีสถานที่ให้ท่องเที่ยงสามแห่งคือ หนึ่ง) มหาเจดีย์มิงกุน สอง) ระฆังมิงกุน (Mingun Bell) และ สาม) เจดีย์ชินพิวเม - Hsinbyume (เมี๊ยะเต็งตาน - Myatheindan)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านหน้าของมหาเจดีย์มิงกุน และภาพหน้าเจดีย์มองไปทางแม่น้ำอิรวดี จะเห็นส่วนท้ายของสิงห์คู่
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพมหาเจดีย์อีกมุมหนึ่ง และภาพส่วนท้ายของสิงห์
ภาพจากซ้ายไปขวา: เยื้อง ๆ ไปด้านขวาของมหาเจดีย์มิงกุน จะมีตัวแบบมหาเจดีย์ย่อส่วนให้เห็น หากสร้างเสร็จแล้วจะมีลักษณะเช่นไร
ซึ่งตัวแบบเจดีย์นี้จะหันหน้าเข้าหาแม่น้ำอิรวดี
เจดีย์มิงกุนจำลอง (ที่มา: pantip.com/topic/30544554, วันที่สืบค้น 24 เมษายน 2561).
มหาเจดีย์มิงกุน เป็นโครงการใหญ่ที่ไม่แล้วเสร็จ สร้างในสมัยพระเจ้าปดุง หรือ กษัตริย์โบดอพญา (King Bodawpaya - 11 ก.พ.พ.ศ.2325-5 มิ.ย.พ.ศ.2362) ในปี พ.ศ. 2333 (ค.ศ.1790) เพื่อประดิษฐานพระทันตธาตุที่ได้มาจากพระเจ้ากรุงจีน โดยพระองค์มุ่งหวังว่าจะยิ่งใหญ่โอฬารเทียบเท่ามหาเจดีย์ในพุกาม และใหญ่โตโอฬารกว่า "พระปฐมเจดีย์" ในประเทศไทย ซึ่งในเวลานั้น ถือว่าเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในสุวรรณภูมิ มหาเจดีย์นี้ถูกสร้างโดยใช้แรงงานจากเชลยสงครามนับพัน เกิดการจลาจล ส่งผลให้แรงงานทาสชาวยะไข่หนีเข้าไปในเขตเบงกอล ซึ่งอยู่ในอาณัติของบริติชราช - British Raj (อังกฤษ) และมีแรงงานมอญจำนวนหนึ่งหนีเข้ามาฝั่งไทย ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2
ระหว่างการก่อสร้าง มีโหรทำนายว่า หากมหาเจดีย์มิงกุนสร้างเสร็จ พม่าก็จะสิ้นสูญ - "As soon as the building of the pagoda was over, the country would also be gone". ต่อมางานก่อสร้างดำเนินไปได้ 7 ปี พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคต (หลังจากพ่ายแพ้แก่ไทยในสงครามเก้าทัพ) การก่อสร้างมหาเจดีย์ก็ชะลอลง การก่อสร้างสูงได้เพียงฐาน 50 เมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2381 เกิดแผ่นดินไหว เกิดรอยแตกร้าวของฐาน ก็ก่อสร้างได้สิ้นสุดลง พร้อมนี้ดังจะเห็นรูปปูนก่อด้วยอิฐเป็นสิงห์คู่ด้านหน้าที่หันออกไปทางแม่น้ำอิรวดีคว่ำคะมำ (สันนิษฐานว่ามาจากแผ่นดินไหว การกัดเซาะของตลิ่ง และมวลน้ำหนักมหาศาลของสิงห์) หากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผน มหาเจดีย์นี้คงอลังการสุด ๆ และสูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงถึง 152 เมตร ก็เป็นได้. (เนื้อหาหลักมาจาก oknation.net/blog/supawan)
ขณะที่คณะชมมหาเจดีย์มิงกุนนั้น มีเด็ก ๆ มาขายของช่วยถ่ายรูปให้ น่าประทับใจตรงที่ไม่ค่อยเซ้าซี้เกิดเหตุ พูดคุยดี ภาษาอังกฤษดีมาก
พอคณะชมมหาเจดีย์มิงกุนเสร็จ ก็แวะซื้อของที่ระลึกพวกเสื้อผ้าด้านหน้าใกล้ ๆ สิงห์คู่ครู่หนึ่ง ผมเดินลงมายังริมตลิ่งถ่ายภาพต่าง ๆ ไว้รวมทั้งตัวแบบมหาเจดีย์มิงกุน ซึ่งหากแล้วเสร็จจะมีลักษณะเช่นไรที่ด้านหน้าไว้ จากนั้น คณะฯ ก็เดินทางต่อมายังระฆังมิงกุนที่อยู่ใกล้ ๆ
ระฆังมิงกุน (Mingun Bell) นี้มีเส้นรอบวงถึง 10 เมตร สูง 3.70 เมตร น้ำหนัก 87 ตัน (ตรงป้าย ณ สถานที่ระบุว่าประมาณ 87 ตัน) ระฆังมิงกุนนี้มีขนาดเล็กกว่าระฆังแห่งพระราชวังเครมลินที่กรุงมอสโคเพียงใบเดียว (ซึ่งระฆังที่เครมลินนั้น แตกร้าวไปแล้วไม่สามารถนำมาใช้งานได้อีก) ระฆังนี้หล่อขึ้นใน ค.ศ.1808 (พ.ศ.2351) ในสมัยพระเจ้าปดุง (King Bodawpaya) เพื่ออุทิศแด่พระมหาเจดีย์มิงกุน ระฆังใบนี้มีขนาดเป็นหนึ่งในสามของระฆังที่เครมลิน ระฆังมิงกุนเสียหายไปเนื่องแผ่นดินไหว และวางไว้กับพื้น เมื่อปี ค.ศ.1839 (พ.ศ.2382) ต่อมาในปี ค.ศ.1896 (พ.ศ.2439) ระฆังนี้ได้ถูกยกขึ้นแขวนบนบาร์เหล็ก จวบจนปัจจุบัน
ภาพระฆังมิงกุนด้านหน้าและด้านหลัง, ระฆังเครมลิน (ที่มา: www.bloggang.com, วันที่สืบค้น 26 เม.ย.2561)
จากนั้นก็มาทานมื้อเที่ยงกันเป็นร้านอาหารที่ชิคมากชื่อ "The Garden Cafe" เป็นอาหารยุโรปฝรั่งเศส อยู่ติดตลิ่งริมน้ำอิรวดี ทิวทัศน์ดีมาก เจ้าของเป็นฝรั่งเศสมาเปิดร้านที่นี่ ใช้คนท้องถิ่นมาฝึกเป็นพนักงานร้านและเชฟ รสชาติดีทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ต้องชมไกด์ตองว่าเสาะหาร้านได้ดีจริง ๆ
ภาพจากซ้ายไปขวา บรรยากาศในร้าน The Garden Cafe ริมฝั่งอิรวดี และภาพอาหารที่
ผมสั่งเป็นแซนวิชฝรั่งเศสใส่หมูแฮม แตงกวาดอง ผักกาด ทาเนยมาเป็นอาหารเที่ยง
จากนั้นคณะของเราก็มายังเจดีย์ชินพิวเม - Hsinbyume (เมี๊ยะเต็งตาน - Mya Thein Tan Pagoda) ซึ่งได้รับสมญาว่า "ทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิรวดี" เจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2359 โดยพระเจ้าบาจีดอ หรือ บากะยีดอว์ (Bagyidaw) (พระเจ้าจักกายแมง-Sagaing Min) (5 มิ.ย.พ.ศ.2362- 15 เม.ย.พ.ศ.2380) - พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง (Bodawpaya - 11 ก.พ.พ.ศ.2325-5 มิ.ย.พ.ศ.2362) เป็นการสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักต่อพระมหาเทวีชินพิวเม ซึ่งถึงแก่พิราลัยก่อนเวลาอันควร.
ภาพจากซ้ายไปขวา: จะเห็นแนวคิดของเจดีย์เมี๊ยะเต็งตาน นอกจากเขาพระสุเมรุ โดยมีสวรรค์ชั้นดาวดึงอันเป็นที่อยู่ของ
เทพเจ้าตรงกลางแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล มีป่าหิมพานต์รอบเขาพระสุเมรุ ทั้งยังมีเทือกเขาล้อมรอบอีก 7 ชั้น
ได้แก่ 1) เขายุคนธร (Yugandhara) 2) เขาอิสินธร (Isadhara) 3) เขากรวิก (Karavika) 4) เขาสุทัส (Sudassana)
5) เขาเนมินทร (Nemindhara) 6) เขาวินันตกะ (Vinataka) และ 7) เขาอัสสกรรณ (Assakanna) ที่สำคัญคือ
แต่ละภูเขายังถูกคั่นกลางด้วยมหานทีสีทันดร (Srithundornsamut) ไปจนถึงชั้นนอกสุดคือกำแพงจักรวาล
(แสดงเป็นปูนรูปคลื่นดังภาพนั่นเอง)โดยที่เทือกเขาทั้งเจ็ดนั้นมีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า สัตตบริภัณฑ์คีรีนั่นเอง
สัตตบริภัณฑ์คีรี, ที่มา: kingkarnk288.wordpress.com, วันที่สืบค้น 26 ตุลาคม 2560.
ภาพจากซ้ายไปขวา: อีกมุมหนึ่งของเจดีย์เมี๊ยะเต็งตาน จะเห็นมุขเป็นจั่วขึ้นมาภายในจั่วเป็นกินร กินรี นรสิงห์ คนธรรพ์ซึ่งอาศัย
แถบป่าหิมพานต์ และ ภาพถ่ายจากระเบียงเจดีย์มองไปยังมหาเจดีย์มิงกุน ที่อยู่ใกล้ ๆ
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปประธานบนเจดีย์เมี๊ยะเต็งตาน และ ภาพไกด์ตองกับเด็ก ๆ ขายพวงดอกไม้ที่มาช่วยถ่ายภาพให้
คณะเราใช้เวลาที่เจดีย์เมี๊ยะเต็งตานได้นานทีเดียว เรามีมุมสวย ๆ ให้ถ่าย พร้อมทั้งเด็ก ๆ ที่ขายของ ดอกไม้บูชาพระ ก็สามารถเป็นตากล้องช่วยถ่ายภาพได้ดี
จากนั้นคณะของเราก็เดินทางต่อไปทางทิศใต้ ผ่านเขตสะกาย ข้ามสะพานอิรวดี มุ่งตรงไปถนนซูปเปอร์ไฮเวย์ ใช้เวลาร่วมสี่ชั่วโมง ไปยังเมืองพุกาม (Bagan) สองข้างทางที่ผ่านไปนั้น ดูแห้งแล้ง ไม่เห็นระบบประปา ไฟ้า สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ด้วยไม่ค่อยมีผู้คน จะมีอยู่หนาแน่นก็ตอนที่ผ่านเมือง มีร้านจุดแวะพักเข้าห้องน้ำ มินิมาร์ทเพียงแห่งเดียว สภาพถนนไม่ค่อยดีนัก สองเลนไม่มีไหล่ถนน บางช่วงต้องข้ามสะพาน สะพานแคบรถสวนกันบนสะพานไม่ได้ ต้องรอจังหวะสับหลีกไปคันมาคัน พร้อมกับมีด่านเก็บค่าผ่านทางเป็นระยะ ๆ .
ภาพจากซ้ายไปขวา: ข้างมองไปยังแม่น้ำอิรวดี และ
ข้างทางขณะไปยังพุกาม แห้งแล้งเวิ้งว้าง มีเจดีย์ให้เห็นเป็นระยะ ๆ ในช่วงแรกที่ออกจากเมืองสะกายมา
ภาพจากซ้ายไปขวา: ปั๊มน้ำมันปั๊มเดียวที่มีมินิมาร์ทให้พักดื่มทานระหว่างทางไปพุกาม และภาพหน้าโรงแรม Sky View Hotel ที่พุกาม
มาถึงเมืองพุกามก็ค่ำ ราว ๆ เกือบทุ่ม คณะเราก็เข้าที่พัก ณ Sky View Hotel เช็คอิน ล้างหน้าตาครู่หนึ่ง ก็มารวมตัวกันที่ล็อบบี้ เดินทางเข้าไปยังตัวเมืองพุกาม ยังถนนหลักที่นักท่องเที่ยวมาแวะทานอาหารกัน ที่เรียกกันว่า Night Market มีร้านรวงและแผงขายของน่าซื้อมาก และที่น่าสนใจน่าสังเกตคือมีร้าน/รถเข็นขายส้มตำไทยด้วย รสชาติดี (ทราบจากไกด์ตองว่า มาจากคนพม่าที่มาเมืองไทย เห็นว่าส้มตำไทยรสชาติดี ก็มาทำปรุงขายในพม่าด้วย) มีการดัดแปลงเครื่องเคียงบ้าง ด้วยไม่มีน้ำปลาเหมือนบ้านเรา ก็จะใส่กะปิพม่า พร้อมผงชูรสแทน. ร้านอาหารที่คณะเรามาทานชื่อร้าน Rain Restaurant คนแน่นเต็มแทบทุกโต๊ะ อาหารเสิร์ฟไว อร่อย ที่ประทับใจคือต้มยำทะเล รสชาติและส่วนประกอบเหมือนคนไทยปรุงเลย
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าเคาน์เตอร์ของ Sky View Hotel แสดงการจัดอันดับโดยสถาบัน Agoda ให้คะแนนโรงแรมนี้ 8.7 คะแนน
จากคะแนนเต็มสิบ WOW...!! และภาพน้องอี้ กำลังดูการทำส้มตำ พม่าพุกามสไตส์
ภาพจากซ้ายไปขวา : ร้านทอผ้าขายของชาวเขากะเหรี่ยงคอยาว และหน้าร้านอาหาร Rain Restaurant
ภาพจากซ้ายไปขวา : รายการอาหาร (ไส้หมูพะโล้ ผัดเครื่องในไก่ ผัดผักแบบพม่า มีพริกวางข้าง ๆ ต้มยำรวมมิตรทะเล ปลานิลย่างหวาน ฯ)
พร้อมถั่วลิลงพันธุ์พื้นบ้านมาให้ทานแกล้มเป็นออร์เดิร์ฟ และบรรยากาศในร้าน
พอคณะเราทานกันเสร็จ ก็เดินชมตลาดร้านรวงครู่หนึ่ง แล้วกลับที่พัก สระสรงพักผ่อนกันตามอัธยาศัย (ผมยืมหนังสือที่ล็อปปี้ของโรงแรม เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติ ภาพประกอบ ข้อมูลทางสถาปัตยกรรม รายละเอียดมหาเจดีย์ต่าง ๆ ในพุกามมีถึงห้าเล่มโต ผมยืมเล่มแรกเข้าไปศึกษาที่ห้องแล้วคืนให้วันรุ่งขึ้น).
วันที่สาม:
วันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2561 |
พุกาม |
08:00 น. |
ทานอาหารเช้าในโรงแรม |
09:00 น. |
ออกชมเมืองโบราณพุกาม
- เจดีย์โลกานันท์
- วัดมนูหะ หรือ วัด พระอึดอัด
- วัดเจ้าก์บ่อกจี ****
- วัดสัพพัญญู
- วัดชเวกู่จี วัดต้นแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีการพัฒนาจากแบบมอญมาเป็นแบบพุกาม
- วัดบูพยา เจดีย์ทรงน้ำเต้ายุคแรก
|
12:00 น. |
อาหารกลางวัน ขันโตกสไตล์พม่า |
13:00 น. |
เที่ยวในเมืองโบราณพุกาม (ต่อ)
- เจดีย์ชเวสิกอง หนึ่งในห้า มหาบูชาสถานของชาวพม่า
- วัดอนันดา สวยที่สุดในพุกาม
- วัดธรรมยางจี ใหญ่ที่สุดในพุกาม
|
17:00 น. |
รอพระอาทิตย์ตกดิน เหนือทะเลเจดีย์วิวที่สวยมากจนอยากหยุดเวลา |
19:00 น. |
มื้อค่ำในร้านดังเมืองพุกาม ก่อนกลับเข้าที่พัก |
ผมตื่นขึ้นมาแต่เช้ามืดของเช้าวันเสาร์ที่ 7 เมษายน แต่งตัวจะออกมาเดินออกกำลังกาย แต่ดูสภาพหน้าโรงแรมแล้ว เปลี่ยว ๆ มืด แห้งแล้งไม่ค่อยมีผู้คน เลยเดินรอบ ๆ โรงแรมแทน พอได้เวลาอาหารเช้าโรงแรมพร้อมให้บริการ ผมก็ขึ้นมาทานบนดาดฟ้าซึ่งเป็นจุดชมวิวและบริการอาหารเช้าของโรงแรม ได้ชมพระอาทิตย์กำลังขึ้น แดงสวยงาม เหมือนไข่แดงเค็มของอำเภอไชยา สุราษฎร์ ยังไงยังงั้นเลย
บรรยากาศดูเงียบ แล้งท้องฟ้าสลัว ๆ เห็นจุดที่เขากำลังปล่อยบอลลูนเพื่อชมทุ่งเจดีย์พุกามกัน อาหารเช้าก็ปกติ มีออมเล็ต ขนมปัง เส้นหมี่ผัด กาแฟ และผลไม้ (มีแตงโมเป็นผลไม้หลัก ผมชิมแตงโมที่พม่ามาหลายมื้อแล้ว ไม่ค่อยอร่อย ไม่หวานกรอบเหมือนบ้านเรา) ผมสังเกตแขกที่มาพักจะเป็นคนพม่าที่มาจากต่างอำเภอต่างถิ่นมาเที่ยวกันเป็นส่วนใหญ่ น่าจะมีคณะฯ ของผมคณะเดียวที่เป็นคนไทย
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าโรงแรม Sky View ยามเช้า และภาพพระอาทิตย์อุทัยที่เมืองพุกาม ถ่ายจากดาดฟ้าของโรงแรม
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพผมบนดาดฟ้าของโรงแรม และภาพบอลลูนที่กำลังปล่อยขึ้นท้องฟ้า เพื่อชมทุ่งเจดีย์เมืองพุกาม
คณะฯ พร้อมตอนเก้าโมงไม่ต้องรีบร้อนตามคอนเซ็ปของลำไยทัวร์ โซวินก็พาคณะฯ ไปชมมหาเจดีย์ชเวสิกอง หรือ เจดีย์ชเวซีโกน (Shwezigon pagoda) เป็นอันดับแรก ถือเป็นหนึ่งในห้าของมหาสถาน/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญในพม่า ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนยองอู เมืองพุกาม เจดีย์แบบพม่าแท้ในยุคศิลปะพุกามตอนต้น รัชกาลพระเจ้าอโนรธาและพระเจ้าจันสิตถา07 พงศาวดารฉบับหอแก้วระบุว่า พระเจ้าอโนรธาโปรดให้สร้างเจดีย์ชเวสิกองขึ้น โดยเสร็จเฉพาะส่วนฐานเท่านั้น ส่วนองค์ระฆังและยอดเสร็จในรัชกาลพระเจ้าจันสิตถา เจดีย์องค์นี้บรรจุพระอุษณีษะ (ส่วนที่นูนออกมาจากด้านบนของพระเศียร) จากเมืองศรีเกษตรและพระเขี้ยวแก้วจากลังกา พงศาวดารระบุว่า สร้างใน พ.ศ.1603 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันจากจารึกในรัชกาลพระเจ้าจันสิตถา07.
ภาพจากซ้ายไปขวา: สิงห์ทวารบาลตัวหนึ่งหน้าทางเข้ามหาเจดีย์ชเวสิกอง และแม่ค้าขายอาหารผลไม้ทานเล่นพื้นบ้าน
ภาพจากซ้ายไปขวา: แม่ค้าขายน้ำผึ้ง รวงผึ้งและถั่วพื้นบ้าน และ มุมหนึ่งด้านหน้าของมหาเจดีย์ชเวสิกอง
ภาพจากซ้ายไปขวา: ขณะที่ผมกำลังไหว้พระมหาเจดีย์ฯ เสร็จก็ชำเลืองเห็นฤษีตนหนึ่งนั่งบูชาพระมหาเจดีย์ฯ ด้วย และ
รูปปั้นนัทหรือนัต (Nat มาจากจากภาษาบาลี "นาถะ" ที่แปลว่า "ที่พึ่ง")
(เป็นผีพื้นบ้านที่นับถือกันก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาในพุกาม)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ผมกับมุมหนึ่งของมหาเจดีย์ชเวสิกอง และลวดลายแกะสลักวิจิตรงานช่างชาวพุกาม ภายในบริเวณมหาเจดีย์ฯ
ภาพจากซ้ายไปขวา: รูปปั้นสิงห์เฝ้ามุมของมหาเจดีย์ จะมีส่วนท้ายบานใหญ่คลุมมุมของพระมหาเจดีย์ไว้ และ จุดที่ใส่น้ำตรงหน้า
พระมหาเจดีย์เพื่อจะตรวจสอบว่าเจดีย์ทรุดเอียงหรือไม่ (เป็นภูมิปัญญาโบราณ โดยขึงเชือกตรงจากตรงกลางฐานเจดีย์
พาดผ่านจุดที่ใส่น้ำ แล้วดูเงาของเจดีย์ในน้ำวางตรงสมมาตรกับเส้นเชือกที่วางตัดหรือไม่
หากไม่ตรงแสดงว่าเจดีย์ทรุดเอียง ต้องหาทางซ่อมแซมบูรณะต่อไป)
พระเจดีย์ชเวสิกอง หรือชเวซีโกน เป็นวัดอยู่ในเมืองนยองอู อยู่ใกล้พุกามในพม่า เป็นต้นแบบเจดีย์แบบพม่า การก่อสร้างเจดีย์ชเวซีโกน เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ.1587-1620) ซึ่งเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรพุกามในปี พ.ศ.1602-1603 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.1645 ในรัชสมัยของพระเจ้าจานสิตา(จันสิตถา) ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา พระเจดีย์ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง และได้รับการบูรณะใหม่มาตลอด ในการบูรณะครั้งล่าสุดได้ใช้แผ่นทองแดงกว่า 30,000 แผ่น อย่างไรก็ตามฐานระเบียงเจดีย์ระดับล่างยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม.
เชื่อกันว่าพระเจดีย์ชเวซีโกนนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุและพระทันตธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า พระเจดีย์มีรูปทรงระฆังคว่ำมีการปิดประดับทองคำเปลว ฐานเจดีย์มีหลายชั้น เจดีย์เป็นทรงตัน ฐานระเบียงเจดีย์มีแผ่นภาพเคลือบปูนปั้นเล่าเรื่องในนิทานชาดก ที่ทางเข้าของเจดีย์มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของผู้ปกป้องศาสนสถาน บริเวณโดยรอบล้อมด้วยวิหารและศาลเจ้าขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สี่องค์ของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ ทั้งสี่ทิศที่ด้านนอกเขตเจดีย์มีวิหารนัทหรือนัต 37 ตน โดยมีท้าวสักกะ หรือพระอินทร์เป็นหัวหน้านัท เป็นไม้แกะสลักอย่างประณีตตามแบบศิลปะพม่า บริเวณเจดีย์ชเวซีโกน ยังมีเสาหินที่จารึกเป็นภาษามอญในสมัยพระเจ้าจานสิตา(จันสิตถา), ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 24 เมษายน 2561.
ก่อนกลับออกจากพระมหาเจดีย์ชเวสิกอง มีจุดให้ทำบุญ ทำบุญเท่าไหรจะมีเจ้าพนักงานเขียนใบเสร็จอนุโมทนาบุญให้ มีหนังสือต่าง ๆ ขาย ผมซื้อมาเล่มหนึ่ง (Bagan Mystique เขียนโดย Ma Thanegi, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ธันวาคม ค.ศ. 2011, ย่างกุ้ง) และยังมีตลาดด้านหน้า ผมแวะซื้อโสร่ง (โลงจี) ลายมอญมาผืนหนึ่ง (ไกด์ตอง กล่าวเตือน ๆ เหมือนกัน หากนุ่งโสร่งหรือชุดคนกลุ่มน้อย คนพม่าทั่วไปจะมองแปลก ๆ ทำนองเป็นพวกบ้านนอก เซาะกราว อะไรทำนองนั้น ซึ่งในย่างกุ้งนุ่งโสร่งมอญได้ไม่เคอะเขิน เพราะมีมอญและพม่าปะปนทั่วไป แต่หากนุ่งชุดไทยใหญ่ หรือชุดกะเหรี่ยงในย่างกุ้งแล้ว จะถูกมองว่าเป็นพวกบ้านนอกทันที ส่วนในเมืองมัณฑะเลย์ นุ่งชุดไทยใหญ่ ไม่เคอะเขินแต่อย่างใด เพราะมัณฑะเลย์อยู่ใกล้ไทยใหญ่)
จากนั้นไกด์ตอง ก็พาคณะฯ ชมพระเจดีย์ต่าง ๆ โดยเริ่มจากทางใต้ของเมืองพุกาม สถานที่แรกคือ พระเจดีย์โลกานันท์ (Lawkananda Pagoda) ตามตำนานและจารึกกล่าวถึงเจดีย์โลกานันท์ ว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าอโนรธา จากการตรวจสอบรูปแบบ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่เจดีย์องค์นี้อาจสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าอโนรธาจริง07
ภาพจากซ้ายไปขวา: วิวแม่น้ำอิรวดีก่อนที่จะเข้านมัสการพระเจดีย์โลกานันท์ และภาพเหล่าชาวพม่ากำลังขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์ฯ
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระเจดีย์โลกานันท์อยู่ในระหว่างการบูรณะ, ยอดฉัตรที่ประดับด้วยเพชรพลอยจินดา เงินทองเก็บไว้ยังวิหารใกล้ ๆ
มีพุทธศาสนิกชนมาบริจาคแก้วแหวนเงินทองด้วย รวมทั้งเงินจ๊าดพม่า หยอดหรือโยนใส่เข้าไปโดยผ่านลูกกรงนั้นเอง,
และภาพพระเจดีย์โลกานันท์ก่อนการบูรณะ, ที่มา: sites.google.com, วันที่สืบค้น 26 เมษายน 2561.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ผมสังเกตเห็นหลายวัดที่ผ่านมาและที่จะแสดงต่อไป มักจะมีรูปปั้นมัคนายกหรือพุทธศาสนิกชนชาวพม่า
นุ่งโสร่งมัดแน่นเป็นโจงกระเบนสั้น ต้นขามีรอยสัก ไม่ใส่เสื้อ ผมมวยไว้อย่างชาวพม่า
สองคนแบกระฆัง อยู่ข้าง ๆ หรือข้างหลังอุโบสถหรือในวิหารเสมอ ๆ และภาพผมริมฝั่งอิรวดี ถ่ายจากระเบียงวัดโลกานันท์
ภาพจากซ้ายไปขวา: แม่ค้าขายกุ้งทอดหน้าทางเข้าวัดโลกานันท์ ผมซื้อทานและแบ่งกับเพื่อน ๆ ในคณะฯ อร่อยกุ้งตัวโตดี
กรอบสด และมีถั่วพื้นเมืองขายด้วย ผมลองชิมดูแข็งมาก แม่ค้าบอกว่าต้องอมไว้สอง-สามนาทีแล้วค่อยเคี้ยว
ไม่ค่อยเวิร์คแข็งมาก และภาพหนุ่มพม่าคนหนึ่งขายน้ำผลไม้ปั่น บอกว่าเคยมาเมืองไทยหลายหน
มาทำงานที่จตุเจต (จตุจักร) ดีใจที่เจอคนไทย ยิ้มกว้างเมื่อเจอและได้ทักทายกับคนไทย
ถัดจากนั้น คณะฯ ก็เดินทางทางเหนือเลียบแม่น้ำอิรวดี มายังวัดมนูหะ (Manuha Temple) (ไกด์ตองตั้งชื่อว่า "วัดพระอึดอัด" - เพราะตัววิหารคับแคบเมื่อเทียบกับขนาดของพระประธาน) เป็นวัดทางทิศใต้ที่อยู่ใกล้ทุ่งเจดีย์พุกาม เดิมเป็นวัดที่สร้างโดยกษัตริย์มอญ ชื่อ พระเจ้ามนูหะ ซึ่งถูกพม่า (โดยพระเจ้าอโนรธา) จับตัวมาจากเมือง "สะเทิม-Thaton" หรืออาณาจักรสุธรรมวดี (Thaton Kingdom) มาไว้เป็นเชลย ราวปี พ.ศ.1610 (ค.ศ.1067) ตามจารึกของกษัตริย์มนูหะ กล่าวว่าพระวิหารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีสองชั้น ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางสมาธิสามองค์และพระนอน (Reclining Parinibbana Buddha) กำลังเสด็จปรินิพพานองค์หนึ่ง วัดมนูหะนี้ ถือเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งในพุกาม.
การก่อสร้างวัดนี้ สะท้อนถึงความอึดอัดขัดข้องจากการเป็นเชลยศึกของกษัตริย์มอญ "มนูหะ" (Captive King) นั่นเอง
ภาพจากซ้ายไปขวา: ป้ายหินด้านหน้าของวัด มีชาวบ้านมาขายของเต็มไปหมด และภาพในอาคารก่อนเข้าวิหาร
จะมีบาตรขนาดใหญ่ให้คนปีนขึ้นไปใส่เงินทำบุญ อาจทำด้วยข้าวสารที่เตรียมไว้ด้านหน้าด้วยก็ได้
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปปางสมาธิด้านขวาของพระประธาน และพระพุทธรูปบางสมาธิด้านซ้ายของพระประธาน (กำลังบูรณะซ่อมแซม)
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปปางสมาธิองค์ขวา และรูปปั้นพระเจ้ามนูหะ (King Manuha)
และพระมเหสี (Queen Ningala Devi) ที่อาคารด้านขวาของวิหารหลัก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพพระพุทธรูปเสด็จปรินิพพาน (ด้านหลังของวิหาร) และ เด็ก ๆ ชาวบ้านแถว ๆ วัดมนูหะ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพด้านหน้าของวัดมนูหะ มีร้านรวงขายของเต็มไปหมด
และภาพวัดมนูหะ (ที่มา: buffalotrip.com, วันที่สืบค้น 26 เม.ย.2561)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพสเก็ตด้านหน้าของวัด และภาพสเก็ตตัดขวาง
ในภาพวงกลมคือช่องให้แสงเข้ามาในวิหาร, ที่มา: bagan.travelmyanmar.net, วันที่สืบค้น 26 เม.ย.2561
ถัดจากนั้น คณะก็เดินทางต่อมายังวัดเจ้าก์บ่อกจี (Gu Byauk Gyi Temple บ้างก็เขียนว่า Gubyaukgyi Temple) วัดนี้ถือเป็น Signature ของทริปนี้เลยทีเดียว น่าเสียดายที่ทางการพม่าไม่ยอมให้ใช้กล้องถ่ายภาพภายในวิหาร เพราะมีความเก่าดั้งเดิมมาก เกรงว่าจะเสียหายจากแสงแฟลช (ภาพด้านในวิหารนั้น ผมใช้ภาพที่สืบค้นทางอินเทอร์เน็ต ประกอบการอธิบายแทน) วัดนี้อยู่ทางใต้ของเมืองพุกาม ที่หมู่บ้าน Myinkaba เป็นวัดในพระพุทธศาสนา สร้างเสร็จใน พ.ศ.1656 (ค.ศ.1113) โดยเจ้าชาย Yazakumar ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าจั่นซิตา หรือ พระเจ้าจันสิตถา (King Kyansittha) แห่งราชวงศ์พุกาม
วัดเจ้าก์บ่อกจีนี้ มีเรื่องน่าทึ่งสองประการ
ประการแรก ภายในวิหารมีรูปปั้นจิตรกรรมบนฝาผนังขนาดใหญ่ ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี (กอปรกับอากาศที่พุกามแห้งแล้ง และหนาวเย็นฤดูหนาว ก็เป็นการรักษาสภาพงานวิจิตรโบราณให้ยาวนานไปในตัว) บนผนังมีภาพเขียนต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในพุกาม มีคำบรรยายเป็นภาษามอญโบราณ ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญในการใช้ภาษาโบราณของพม่า.
ประการที่สอง วัดนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ Myazedi ซึ่งพบเสาหินที่มีจารึกเขียนภาษาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้สี่ภาษา ประกอบด้วย บาลี มอญโบราณ พม่าโบราณ และพยู (Pyu) เสาหินที่เจดีย์ Myazedi นี้ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหินโรเซ็ตต้าของพม่า (The Burmese Rosetta Stone) เลยทีเดียว อันเป็นกุญแจสำคัญไขภาษาพยู (Pyu) ให้เป็นที่เข้าใจได้ในกาลต่อมา.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ข้างด้านข้างวิหารก่อนที่ขึ้นไปเข้าชม และ
วิหารมีรูปแบบอินเดียที่เรียกว่า "Shikhara Style" มีฐานสี่เหลี่ยมรูปเหมือนหม้อกาลาตะ (Kalatha Pot)
ภาพซ้าย: กลุ่มเจดีย์เก่าด้านข้างของวิหาร
และเพิงข้าง ๆ วิหารที่มีจิตรกรฝีมือดีเขียนภาพจำหน่ายในสไตล์พุกาม ใช่ทรายผสมสีเป็นส่วนสำคัญในการแสดงงานศิลปะ
ภาพจากซ้ายไปขวา: มุมหนึ่งด้านนอกของวัดเจ้าก์บ่อกจี และภาพ Jātaka Murals ซึ่งมีที่มาจากศรีลังกา
ภายในวิหารของวัดเจ้าก์บ่อจี (ที่มา: en.wikipeida.org, วันที่สืบค้น 30 เมษายน 2561).
ภาพพระประธานในวิหารของวัดเจ้าก์บ่อจี , ที่มา: bagandaytours.com, วันที่สืบค้น 30 เมษายน 2561.
ภาพตัดขวางแสดงสถาปัตยกรรมของวิหาร และ Layout plan, ที่มา: bagan.travelmyanmar.net, วันที่สืบค้น 30 เมษายน 2561.
ถัดจากนั้น คณะของเราก็เดินทางมายังวัดอนันดา (Ananda Temple บ้างก็เรียก อานันทวิหาร - Ananda Phaya บ้างก็เรียก อานันทพญา) ซึ่งอยู่เลยขึ้นไปทางเหนือ เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรงทางสถาปัตยกรรมสวยงาม สร้างในสมัยพุกามตอนต้น รัชกาลพระเจ้าจันสิตถา ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 17 อานันทวิหารนี้เริ่มสร้างในปี พ.ศ.1633 แล้วเสร็จในปีต่อมา มีความสำคัญในฐานะได้รับการยกย่องว่าเป็น "เพชรน้ำเอกของพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม" เมื่อก่อนยอดพระเจดีย์หรือศิขระยังเป็นสีขาวเหมือนกับพระเจดีย์องค์อื่น ๆ ของพุกาม แต่รัฐบาลพม่าได้ทาสีทองทับเมื่อปี พ.ศ.2533 เพื่อสมโภชการสร้างอานันทพญาครบรอบ 900 ปี
ภาพจากซ้ายไปขวา: ประตูด้านหน้าสุดและประตูด้านในถัดมาของของอานันทวิหาร
ภาพจากซ้ายไปขวา: ที่เห็นเป็นสีทองเป็นศิขระของอานันทเจดีย์ ซึ่งนิยมในรัชกาลพระเจ้าจันสิตถา07. และภาพระเบียงวิหารคดก่อนเข้าตัวเจดีย์
ภาพจากซ้ายไปขวา: น้องอี้กับไกด์ตองระหว่างเดินในระเบียงคด เข้าสู่อานันทวิหาร ภาพเล่าเรื่องตำนานต่าง ๆ บนระเบียง
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพมองจากล่างขึ้นไป เห็นลายละเอียดกรอบประตูทางเข้า และรูปปูนปั้นข้างประตูทางเข้าวิหาร
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพวาดขนาดใหญ่บนผนังด้านหนึ่งของอานันทวิหาร ไม่ค่อยมีรายละเอียดเท่าใดนัก
และรูปปั้นเทพมีลักษณะอ้อนแอ้น หน้าตาเหมือนชาวเบงกอล/อินเดีย
ภาพจากซ้ายไปขวา: หนึ่งในพระพุทธรูปสี่ทิศภายในอานันทเจดีย์ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับคติอดีตพุทธทั้งสี่ 07.
พระกัสสปพระพุทธเจ้า - ประจำทิศใต้, พระโคตมพุทธเจ้า ประจำทิศตะวันตก
และทางประทักษิณภายในอานันทเจดีย์ วนรอบแกนกลางและครรภคฤหะทั้งสี่ทิศ.
อานันทเจดีย์ หรือ อานันทพญา เป็นพระเจดีย์ที่สามารถเดินเข้าไปข้างในได้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีมุขยื่นสี่ทิศ ประตูทางเข้าเป็นประตูโค้ง (arch) ที่มักพบเห็นในสถาปัตยกรรมตะวันตกมากกว่าตะวันออก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนไม้ปิดทองสี่ทิศ สี่องค์ สูง 9.5 เมตร ประกอบด้วย
1) พระกกุสันธพุทธเจ้า (Standing Buddha Kakusandha - North facing) ประจำทิศเหนือ (องค์เดิมแท้จริงแล้วประจำทิศตะวันออก)
2) พระโกนาคมนพุทธเจ้า (Standing Buddha Konagamana - East facing) ประจำทิศตะวันออก (สร้างใหม่)
3) พระกัสสปพุทธเจ้า (Standing Buddha Kassapa - South facing) ประจำทิศใต้ (องค์เดิม)
4) พระโคตมพุทธเจ้า (Standing Buddha Gautama - West facing) ประจำทิศตะวันตก (สร้างใหม่)
พุทธศิลป์แบบนี้ ยังสามารถพบเห็นได้ตามวัด สถาปัตยกรรมล้านนา เช่น วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นต้น (ที่มา: th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 30 เมษายน 2561).
ภาพทั้งซ้ายขวา: พระกกุสันธพุทธเจ้า ประจำทิศเหนือ และ พระโกนาคมนพุทธเจ้า ประจำทิศตะวันออก ภายในอานันทวิหาร
การมองพระพักตร์แต่ละมุมใกล้ไกลจะให้ภาพพระพักตร์ที่ต่างกัน มองไกลจะดูพระพักตร์บึ้งตึง แต่เมื่อมองใกล้
พระพักตร์จะดูเมตตายิ้มเล็กน้อย ทั้งนี้มาจากภูมิปัญญาคนโบราณเรื่องช่องและทิศทางของแสงที่กระทบพระพักตร์
ภาพจากซ้ายไปขวา:อานันทวิหารช่วงปี ค.ศ.1890s และ ค.ศ.2007 (ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 1 พ.ค.2561).
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพตัวแบบตัดขวางด้านหน้าและด้านตะวันตกของอานันทวิหาร,
ที่มา:bagan.travelmyanmar.net, วันที่สืบค้น 1 พ.ค.2561.
ภาพตัวแบบตัดขวางมองจากด้านบน (ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 1 พ.ค.2561).
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าอานันทวิหาร มีแม่ค้ามาขายส้มตำด้วย
และภาพอาหารเที่ยงออกแนวขันโตก เป็นแกงฮังเลเนื้อกับข้าวสวย สลัดและเครื่องเคียง มีถั่วลิสงพื้นบ้านให้ทานแกล้ม
อากาศร้อนอบอ้าวมาก มีนักท่องเที่ยวทานเต็มทุกโต๊ะ เกิดการแย่งพัดลมที่มีอยู่จำกัดเล็กน้อย
ต่อจากนั้นราวบ่ายสามโมง คณะเราก็เดินทางมายังเจดีย์ธรรมยางจี หรือ ธรรมเจดีย์ (Dhammayan Gyi Temple) แปลว่า "แสงสว่างแห่งธรรม" ซึ่งใหญ่ที่สุดในพุกาม หรือ วัดคนบาปแห่งพุกาม เป็นมหาเจดีย์ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้านราธู (King Narathu) (พ.ศ.1710-1713 หรือ ค.ศ.1167-1170) (บ้างก็กล่าวว่าเจดีย์นี้สร้างในรัชสมัยพระเจ้าอลองสิธู (พ.ศ.1655-1710) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจันสิตตา แต่ไม่ทันที่วัดนี้จะสร้างเสร็จ พระองค์ก็ถูกพระเจ้านราสุ ผู้เป็นพระโอรสปลงพระชนม์ ในขณะที่ทรงนั่งสมาธิอยู่ที่เจดีย์ชเวกูจี) พระองค์ก้าวสู่บัลลังก์โดยการปิตุฆาต พระเจ้าอลองสิธู (King Alaungsithu) และสังหารพี่ชาย พระเจ้ามินชินสอ -Min Shin Saw (ด้วยการวางยาพิษ) สันนิษฐานว่าการก่อสร้างพระเจดีย์ที่ใหญ่โตนี้ เพื่อเป็นการล้างบาปจากกรรมดังกล่าว.
การออกแบบพระเจดีย์นี้คล้ายคลึงกับอานันทวิหาร ตามพงศาวดารพม่ากล่าวว่า ขณะที่มีการก่อสร้างพระเจดีย์นั้น พระเจ้านราธู ถึงปลงพระชนม์โดยกลุ่มชาวอินเดีย (Sinhales invaders) (นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระองค์มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า "พระเจ้ากุลากยา-Kula-Kya Min" หมายถึง "กษัตริย์ที่ถูกแขกฆ่า") (ปรับปรุงจาก: en.wikipeida.org และ oknation.nationtv.tv, วันที่สืบค้น 1 พ.ค.2561).
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพทั้งสองเป็นประตูโค้ง (Arch) ด้านหน้าของมหาเจดีย์ธรรมยางจี และมองไปยังประตูโค้งด้านใน
ที่แสดงให้เห็นว่าน้ำหนักของหลังคากระจายลงมาตามเสาหรือกำแพง เป็นการแก้ปัญหาหลังคาอิฐพังทลายได้สำเร็จ
สันนิษฐานว่าเป็นเทคนิคของชาวเปอร์เซีย (หรือเมโซโปเตเมียโบราณ 3,000-4,000 ปีก่อน)
ก่อนองค์ความรู้นี้จะแพร่มายังอินเดียและพม่า ในกาลต่อมา
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านหน้าของพระเจดีย์ และ รายละเอียดการวางอิฐของผนังด้านในของพระเจดีย์จะเห็นว่าจัดวางได้ประณีต
(มีตำนานกล่าวว่า หากช่างหรือคนงานคนใดจัดวางอิฐแล้ว เมื่อทดสอบว่าเข็มสามารถสอดลอดได้ ช่างหรือคนงานคนนั้นจะถูกตัดแขน)
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปตามมุขต่าง ๆ ของพระเจดีย์ จะเห็นว่ามีพระพักตร์แตกต่างกัน สันนิษฐานว่ามาจากช่างที่มีเชื้อชาติแตกต่าง
กันไปบ้างก็เป็นมอญ พยู พม่า หรือคนอินเดียที่อพยพมาจากเบงกอล การขึ้นรูปพระพักตร์ย่อมแตกต่างกันตามเชื้อชาติหรือสกุลช่างนั้น ๆ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ขอบโค้งประตู (Arch) เป็นโค้งแบบเปอร์เซีย สามารถรองรับน้ำหนักได้อย่างน่าอัศจรรย์
และพระพุทธรูปอีกมุขหนึ่งของพระเจดีย์ (ออกแนวธิเบตหรือพยู)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพวาดข้างผนังจุดหนึ่งในพระเจดีย์ เป็นภาพจิตรกรรมที่ใหญ่ แต่ขนาดความละเอียดประณีต
(กล่าวได้ว่า เอาใหญ่เข้าว่า) และพระพุทธรูปอีกมุขหนึ่งของพระเจดีย์
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปคู่ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของพระเจดีย์ธรรมยางจี
และรายละเอียดลวดลายของเสาด้านหนึ่ง พร้อมทั้งเห็นการวางอิฐที่ประณีต
ภาพจากซ้ายไปขวา: กล่าวกันว่านี้คือแท่นหินที่วางแขนของช่างหรือคนงานที่ก่อสร้างวางอิฐไม่ประณีต
จะถูกลงโทษด้านการตัดแขน และภาพศิลาจารึกอักษรโบราณ
ภาพเขียนด้านหน้า แสดงรายละเอียดของพระเจดีย์ธรรมยางจี, ที่มา: myanmarhandicrafts.wordpress.com, วันที่สืบค้น 3 พ.ค.2561.
ถัดจากนั้นราว ๆ เกือบสี่โมงเย็น คณะของเราก็มายังเจดีย์สัพพัญญู บ้างก็เรียก มหาวิหารตะบินยูพญา หมายถึง มหาวิหารแห่งความรอบรู้ (Thatbyinnyu Phaya หรือ Sabbannu) ก่อสร้างขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในรัชกาลพระเจ้าอลองสิธู (King Alaungsithu) (พ.ศ.1656-1710) เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์พุกาม มหาวิหารนี้อยู่ใกล้กับอานันทวิหาร พระเจดีย์นี้มีความสูงที่สุดในเมืองพุกาม ด้วยความสูง 61 เมตร กว้างด้านละ 180 ฟุต สูง 201 ฟุต ด้วยศิลปะแบบปาละของอินเดีย นับเป็นแม่แบบของสถาปัตยกรรมพม่า พระเจดีย์นี้แบ่งเป็นระดับมีห้าชั้น (ปัจจุบันกั้นไว้ไม่ให้ขึ้นไปชม เพราะด้วยความเก่าแก่ของพระเจดีย์ เกรงว่าอิฐจะพังลงมา) ชั้นที่สองมีพระพุทธนั่งประทับอยู่ เป็นพระประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก วิหารแต่ละชั้นมีหน้าต่างสองแถวซ้อนกัน ทำเป็นซุ้มจระนำ ภายในจึงดูสว่าง และมีลมพัดผ่านเข้ามาได้
วิหารชั้นแรกนั้น เคยเป็นที่พำนักของคฤหัสถ์ ชั้นที่สองสำหรับให้เหล่าพระภิกษุจำพรรษา ชั้นที่สามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้นที่สี่ทำเป็นหอพระไตรปิฎก ส่วนยอดที่ทำเป็นสถูปองค์ปรางค์นั้นใช้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
หากขึ้นไปชั้นบน ต้องใช้บันไดด้านในขึ้นไปยังลานทักษิณชั้นบนสุด สามชั้นที่รองรับปรางค์ยอดศิขระและองค์สถูป สามารถมองอานันทวิหาร และทิวทัศน์งามตระการตา ซึ่งเหมาะกับการถ่ายรูปทิวทัศน์โดยรวมของทุ่งทะเลมหาเจดีย์ที่พุกามแห่งนี้ (ปรับเสริมจาก: en.wikipedia.org, oknation.nationtv.tv และ burma-travel.blogspot.com, วันที่สืบค้น: 3 พ.ค.2561).
พระเจดีย์สัพพัญญู, ที่มา: www.myanmars.net, วันที่สืบค้น 3 พ.ค.2561.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพมุมไกลระหว่างเดินเข้าพระเจดีย์สัพพัญญู
และภาพขอบกำแพงโบราณด้านซ้ายมือก่อนเข้าบริเวณพระเจดีย์
ภาพจากซ้ายไปขวา: ระหว่างทางเดินเข้ามหาเจดีย์ ตรงริมกำแพงมีนักท่องเที่ยวมาวางหินอิฐเรียงไว้
และต้นตระบองเพชรด้านหน้าทางเข้ามหาวิหาร แสดงถึงความแห้งแล้งในแถบนี้
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระเจดีย์สัพพัญญู และด้านหน้าพระเจดีย์มีผู้ประกอบการรายย่อยมาขายไอศกรีม
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านหน้าทางเข้าเจดีย์สัพพัญญู และเจดีย์ติ้ว (หมายความว่า ระหว่างการก่อสร้างพระเจดีย์
เมื่อคนงานขนอิฐได้ครบพันก้อน ก้อนที่หนึ่งพันเอามาวางแยกไว้เป็นติ้วให้นับรวมภายหลัง
คำนวณว่าพระเจดีย์ทั้งองค์ใช้อิฐเป็นจำนวนเท่าใด อิฐติ้วที่เหลือจากการก่อสร้างพระเจดีย์สัพพัญญูนี้
ก็จะนำมาสร้างเป็นเจดีย์องค์เล็กข้าง ๆ นั่นเอง)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในวิหารชั้นแรก จะเห็นว่าด้านในมีลูกกรงไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชั้นบน และภาพด้านหน้าพระเจดีย์
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อยู่ด้านขวาของพระเจดีย์ชั้นล่าง และภาพหลังคาภายในเห็นลวดลายวิจิตรดั้งเดิม
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพหลังคาและภายในเห็นลวดลายวิจิตรดั้งเดิม และพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อยู่ด้านหลังของพระเจดีย์ชั้นล่าง
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปประทับยืนที่อยู่ด้านซ้ายของพระเจดีย์ชั้นล่าง และภาพด้านหน้าของเจดีย์ติ้ว
ภาพแบบมหาวิหารสัพพัญญู, ที่มา: oknation.nation.tv, วันที่สืบค้น 3 พ.ค.2561.
ถัดจากนั้น คณะของเราก็เดินเลยมาอีกสักหนึ่งกิโลเมตร มายังเจดีย์ชเวกูจี บ้างก็เรียก ชเวกูคยี (Swe Gu Gyi Phaya) ค.ศ.1131 เป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมพม่าที่มาจากมอญ มีจารึกของพระเจ้าอลองสิธู (บ้างก็เรียก อลองสิทธู) (Alaungsithu กษัตริย์ในราชวงศ์พุกามที่ครองราชย์นานถึง 54 ปี (พ.ศ.1656-1710/ค.ศ.1113-1167) แสดงไว้ดังนี้:
"การสร้างเจดีย์ย่อมได้บุญมาก ข้าฯ ปรารถนาจะสร้างทาง เพียงเพื่อจะข้ามไปสู่แม่น้ำแห่งสังสารวัฏ เพื่อผู้คนทั้งปวงจะเร่งข้ามไปกระทั่งบรรลุถึงพระนิพพาน ข้าฯ เองจะข้ามไปและดึงผู้ที่จะจมน้ำให้ข้ามไปด้วย... ข้ามีอิสรภาพแล้ว จะช่วยปลดปล่อยผู้ที่ยังผูกพันอยู่. ข้าฯ ถูกปลุกขึ้นมาแล้ว ก็จะปลุกผู้ที่ยังนิทราอยู่... ข้าฯ มีความสงบในจิตใจและมีคำสั่งสอนที่ดีนำใจอยู่..."
ชเวกูจี ในภาษาพม่าหมายถึง "ถ้ำทองใหญ่-Great Golden cave" ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระราชวังเดิม (ซึ่งถูกไฟไหม้เสียหายในปี ค.ศ.1140) พระเจ้าอลองสิธู มีพระโอรสสองพระองค์ คือ เจ้าชายมินชินซอ และเจ้านราธู (บ้างก็เรียก นรถุ) ด้วยการที่พระองค์ครองราชย์อย่างยาวนาน ทำให้พระโอรสทั้งสองต้องเฝ้ารอที่จะครองราชย์ต่อยาวนานตามไปด้วย ด้วยเจ้าชายมินชินซอ มีโทสะร้าย ทิฐิมานะสูง พระเจ้าอลองสิธู จึงให้อยู่ห่าง ๆ ไว้โดยให้ไปกินเมืองทางด้านเหนือของพุกาม (เมืองอังวะ). ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอลองสิธูประชวรพระวาโยสิ้นสติ (เป็นลมจนหมดสติ) เจ้าชายนราธูจึงอัญเชิญพระองค์ไปประทับรักษาพระวรกายที่วัดชเวกูจีนี้ เมื่อฟื้นคืนพระสติ เจ้าชายนราธูได้ใช้ผ้าปูพระแท่น (ผ้าปูเตียง) อุดพระนาสิกและพระโอษฐ์จนพระเจ้าอลองสิธูสวรรคต เมื่อพระชนมายุได้ 87 พรรษา โดยที่พระองค์ยังมิได้แต่งตั้งผู้ใดให้เป็นรัชทายาท.
ความทราบถึงเจ้าชายมินชินซอ ๆ ได้ยกทัพกลับเข้าเมืองพุกาม เพื่อจัดงานพระบรมศพพระบิดา เจ้าชายนราธูได้ถวายราชสมบัติคืนแก่พระเชษฐา โดยได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้ามินชินสอ พ.ศ.1706 (ข้อมูลต้องตรวจสอบ..!!) แต่ก็ได้ครองราชย์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยการวางยาพิษ ระหว่างงานฉลองในพิธีบรมราชภิเษก โดยเจ้าชายนราธู.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพเจดีย์ชเวกูจีด้านหลัง ขณะเดินมาจากเจดีย์สัพพัญญู และภาพด้านหน้าเจดีย์ชเวกูจี
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปปางมารวิชัยภายในตรงกลางพระเจดีย์ และภาพหลังคาภายใน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพผมถ่ายจากเจดีย์ชเวกูจี ตรงระเบียงด้านซ้าย
และภาพเจดีย์แห่งหนึ่ง ไกด์ตองกล่าวว่าเป็นต้นแบบพุทธคยาที่อินเดีย
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปปางมารวิชัยอีกด้านหนึ่งของพระเจดีย์ และภาพลวดลายวิจิตรเสาด้านนอก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพลายกนกของผนังด้านนอก และภาพพระราชวังเดิมที่ถูกไฟไหม้ไป
ภาพจากซ้ายไปขวา: แผ่นป้ายด้านหน้าของพระเจดีย์และปีที่สร้าง และภาพด้านข้างขวาของเจดีย์ชเวกูจี
ภาพแปลน: เมื่อมองจากด้านบน, ที่มา: oknation.nationtv.tv, วันที่สืบค้น 06 พ.ค.2561.
จากนั้น คณะฯ ก็เดินทางมายังหอสูงซึ่งเป็นของเอกชน ที่อยู่ในทุ่งเจดีย์พุกามนั่นเลย มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นไปชมด้วย ไกด์ตอง น้องเอ็ม และน้องอี้ขึ้นไปชมกัน ผมไม่ขึ้น เพราะดู ๆ แล้วเกรงว่าจะไม่คุ้มเสียดายสะตังค์ (พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามงบประมาณ เพราะผมใช้เงินซื้อพวกหนังสือต่าง ๆ ไว้เยอะแล้ว) ผมนั่งอ่านหนังสือ และชม ๆ บริเวณใกล้เคียงด้านล่างของโรงแรม ร่วมชั่วโมง เพื่อนในทริปก็ลงมาจากหอคอย ความว่าขึ้นไปแล้ววิวสวยมาก ได้ดริ้งแดร้งดรั้งกันเล็กน้อย ตามอัธยาศัย
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพบริเวณโรงแรมเอกชนที่ตั้งอยู่ในเมืองโบราณพุกาม
และภาพหอคอยสูงของโรงแรมเอกชน มีลักษณะเหมือนหอคอยที่พระราชวังมัณฑะเลย์
เวลาพอมีเหลือ คณะของเราก็แวะชมพระเจดีย์ไอซา เกาวนา (Iza Gawna Pagoda) เป็นกลุ่มเจดีย์ขนาดย่อย ๆ มีกำแพงรั้วรอบขอบชิด
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าพระวิหารทางเข้า และพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิใช้พระหัตถ์ขวาสัมผัสพระธรณี
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพรายละเอียดบนผนังด้านบนภายในวิหาร และประตูทางขึ้นไปด้านหลังพระประธานได้
.(สังเกตมีภาพพระพุทธรูปตรงผนังขนาดกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ)
จากนั้น คณะของเราก็กลับเข้าที่พัก ล้างหน้าล้างตาเล็กน้อย ราว 20 นาที แล้วก็เดินทางมายัง Night Market ที่เดิมเหมือนเมื่อวาน ชมร้านรวงต่าง ๆ แล้วมาทานข้าวที่ร้าน Weather Spoon's Bagan เป็นร้านเล็ก ๆ มีลูกค้ามาทานประปราย
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพร้านรวงสองข้างทางเล็ก ๆ มีร้านขายเครื่องหนัง กระเป๋า ของเบ็ดเตล็ด ดีไซน์และจัดวางสีสันผลิตภัณฑ์
ได้ดี ทราบว่าเจ้าของมาจากย่างกุ้งแล้วมาเปิดสาขาที่นี่ เพื่อนในทริปซื้อกระเป๋าจากร้านนี้ไปหลายรายการอยู่ ราคาไม่แพงเป็นเครื่องหนัง
ภาพจากซ้ายไปขวา: หน้าร้านอาหาร และรายการอาหารที่ทาน
รสชาติอาหารพอไปได้ ไม่อร่อยเหมือนร้าน Rain Restaurant เมื่อคืนวาน เมนูอาหารออกหวาน ๆ ไม่ค่อยถูกปากนัก ที่น่าผิดหวังคือ คณะเราสั่งไข่เจียวมาทาน ทอดมาไม่เข้าท่าเลย น้องอี้บ่นอุบ ทานเสร็จคณะเราก็เดินชมตลาดครู่หนึ่งแล้วกลับที่พัก Sky view Hotel พักผ่อนห้องใครห้องคนนั้น ตามอัธยาศัย.
วันที่สี่:
วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2561 |
พุกาม - มัณฑะเลย์ |
05:00 น. |
ที่สุดของไฮไลท์เมืองพุกาม ชมพระอาทิตย์สาดแสงแรก เหนือทะเลเจดีย์ ตอนพระอาทิตย์ตกว่าสวยแล้ว ตอนพระอาทิตย์ขึ้นยิ่งสวยไปอีก |
07:00 น. |
กลับโรงแรม ทานอาหารเช้าในโรงแรม |
09:00 น. |
ออกเดินทางกลับมัณฑะเลย์ |
15:00 น. |
ถึงมัณฑะเลย์ เช็คอินเข้าที่พัก Oway Grand Hotel (สามดาว) พักผ่อนทำธุระส่วนตัว |
15:30 น. |
เที่ยวชมเมืองมัณฑะเลย์
- วัดชเวนันดอว์05 สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ที่มีงานแกะสลักละเอียดยิบในทุกส่วน
- วัดกุโสดอว์ ที่เก็บพระไตรปิฎกหินอ่อน
- วัดพระหินอ่อน
|
17:00 น. |
ขึ้น Mandalay Hill ชมวิวพาโนรามาเหนือเมืองมัณฑะเลย์ |
18:30 น. |
มื้อค่ำจัดหนัก เป็ดย่างเจ้าดังที่สุดในมัณฑะเลย์ ถ้าไม่ได้มาลองเหมือนมาไม่ถึง ก่อนกลับที่พัก |
เช้าวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายนนี้ คณะฯ ของเราต้องออกจากโรงแรมราวตีห้าเศษ ๆ เพื่อมาชมพระอาทิตย์อุทัยที่ทุ่งเจดีย์พุกาม แต่เมฆมาก ไม่เห็นพระอาทิตย์ขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวร่วม 40 กว่าคน (เท่าที่สังเกต มีทั้งคนไทย ฝรั่ง และคนพม่าเอง) ที่มารอ ณ เนินจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นต่างผิดหวังไปตาม ๆ กัน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพผมกับบอลลูน รถม้าลาก และเจดีย์ขนาดย่อม ๆ เป็นแบ็คกราวด์ และ ภาพเจดีย์สูลามณี
-Sulamani Temple (ทราบจากไกด์ตองว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวเมื่อสองปีก่อน นักท่องเที่ยววิ่งกรูออกมาเลย
ยอดเจดีย์เสียหาย ทางการพม่าปิดไม่ให้ชม และปล่อยไว้อย่างนั้น ยังไม่ได้บูรณะเพิ่มเติมแต่อย่างใด)
ภาพจากซ้ายไปขวา: เจดีย์ด้านขวาที่เห็นไกล ๆ เป็นมหาเจดีย์อนันดา สวยที่สุดในพุกาม มีสามชั้น เทคโนโลยีโบราณ
ที่ก้าวหน้ามาก ซึ่งขณะนั้นไทยเราสร้างเจดีย์ได้แค่ชั้นเดียว ด้านซ้ายถัดมาไกล ๆ ชื่อมหาเจดีย์สัพพัญญู และ
ภาพรถม้าลาก บอลลูนและเจดีย์ขนาดย่อม ๆ (ทราบจากน้อง ๆ ชาวพม่าที่มาขายของที่ระลึกว่า มีสี่บริษัทมาทำธุรกิจ
ให้เช่าบอลลูน ราคาโดยสารท่านละ US$350 (ร่วมหมื่นกว่าบาท) ขึ้นไปชมได้สักชั่วโมงเศษ ๆ แพงโคตร...!!!)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพทางทิศตะวันออกพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ด้วยเมฆมากจึงมองไม่เห็น และภาพแม่ค้าคนหนึ่งมาเร่ขายของที่ระลึก
ภาพเขียนต่าง ๆ ผมไม่ได้อุดหนุน เพราะซื้อไว้เยอะแล้วตั้งแต่เมื่อวาน ได้คุยกับเธอ ก็ทราบว่าเธอมีอายุ 33 ปี มีลูกสองคน
ขายของที่นี่ (มีสามีมาขายภาพอยู่ใกล้ ๆ) มาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน ก็ร่วม ๆ 17 ปีแล้ว ภาษาอังกฤษดีมาก
(น่าเห็นใจเธอ ที่มีชีวิตเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากนัก)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพรถเทียมม้าและสารถีที่ทุ่งทะเลเจดีย์พุกาม ยามเช้า
จากนั้น คณะของเราก็กลับที่พัก ทานอาหารเช้าบนดาดฟ้าของโรงแรม อาบน้ำอาบท่าเก็บของ เช็คเอาท์ แล้วออกเดินทางกลับมัณฑะเลย์ ซึ่งประมาณว่าจะใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง แวะปั๊มน้ำมันแห่งเดิม พักเข้าห้องน้ำ ผมเก็บภาพบรรยากาศ บริเวณรอบ ๆ หน้าปั๊มกำลังมีการก่อสร้างผิวถนน คนงานมีทั้งชายและหญิงก็เป็นชาวบ้านแถบนี้ พื้น ๆ ไม่มีชุดหมวก รองเท้าป้องกันอุบัติเหตุใด ๆ
ภาพจากซ้ายไปขวา: อาหารเช้าบนดาดฟ้าของโรงแรม (น้องอี้เจ็บใจที่ทานไข่เจียวเมื่อคืนไม่อร่อย เลยลงมือทอดไข่เจียว
สไตส์ไทย ๆ เองแทนบริกร) และภาพคนงานชาวพม่าแถบ ๆ นั้นกำลังทำผิวถนน ระหว่างทางจุดพักกลับมัณฑะเลย์
ภาพจากซ้ายไปขวา: บริเวณจุดแวะพักทานอาหารกลางวันที่ร้านข้างทางก่อนเข้ามัณฑะเลย์ สังเกตดูจะมีท่อนไม้ที่กำลังแปรสภาพ
เป็นหิน เป็นเครื่องตกแต่งบริเวณ และเมนูอาหารเที่ยง รสชาติดี วางบนโต๊ะกระจกหนาที่วางบนท่อนไม้ที่กำลังแปรสภาพเป็นหิน
คณะของเรามาถึงเมืองมัณฑะเลย์บ่ายเศษ ๆ ในตัวเมืองมีรถติดเล็กน้อย ผ่านถนนรอบพระราชวังมัณฑะเลย์ เห็นการเตรียมเวทีฉากต่าง ๆ ข้างคูน้ำรอบพระราชวังบ้างแล้ว (เตรียมงานฉลองสงกรานต์) ผ่านถนนต่าง ๆ มีวัดและเจดีย์ขนาดย่อมบางเส้นทาง ทราบจากไกด์ตองว่า การสร้างวัดต่าง ๆ ในมัณฑะเลย์นี้ ส่วนใหญ่เป็นพระราชดำริของพระเจ้ามินดง (Mindon Min) (5.ก.ค.2351 - 1 ต.ค.2421)
พระเจ้ามินดง (Mindon Min) (5 กรกฎาคม พ.ศ.2351 - 1 ตุลาคม พ.ศ.2421)
กษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์อลองพญา (พ.ศ.2396-2421/ค.ศ.1853-1878)
จากนั้น คณะของเรามายังวัดชเวนันดอว์ (Shwenandaw monastery)05 วันนี้ผมนุ่งโลงจีเป็นลายผ้ามอญ สังเกตสายตาคนพม่ามองผมแปลก ๆ ดูว่าผมเป็นพวกบ้านนอกคอกนา ทำนองนั้น (ก็ได้อารมณ์อีกแบบ เป็นการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ที่นำตัวผมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมในการวิจัยด้วย) วัดนี้สร้างโดยพระเจ้าธีบอ (ตี่บอมิง - King Thibaw Min) เมื่อปี พ.ศ. 2421(ค.ศ.1878) โดยถอดสลักและย้ายพระตำหนักนี้มาจากพระราชวังมัณฑะเลย์ด้านใน ซึ่งพระตำหนักทองนี้ เดิมเป็นที่ประทับของพระเจ้ามินดง (เมงดงเมง - King Mindon Min) แล้วมาประกอบใหม่ที่วัดแห่งนี้ เมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ.2421 แล้วเสร็จในอีก 21 วันต่อมา โดยมีความเชื่อว่าเป็นที่สถิตของพระวิญญาณพระเจ้ามินดง บิดาของพระองค์ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระเจ้าธีบอทรงนั่งวิปัสนากรรมฐานนั้น พระองค์ยังเห็นพระเจ้ามินดงประทับบนฟูกประทับอยู่.
พระตำหนักทองนี้ แรกเริ่มเดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังในอมรปุระ ภายหลังได้ย้ายมาที่พระราชวังมัณฑะเลย์ ทางทิศเหนือ พระตำหนักทองชเวนันดอว์นี้ นับเป็นพระราชวังดั้งเดิมหนึ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ของพม่า.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ถ่ายข้างพระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งกำลังตั้งเวทีสำหรับงานสงกรานต์ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
และมุมด้านหน้าของตำหนักชเวนันดอว์
ภาพจากซ้ายไปขวา: ป้ายด้านหน้าแสดงการอนุรักษ์พระตำหนัก ใช้คำว่า "Shwe-nandaw Kyaung" เป็นความร่วมมือของหลายสถาบัน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กรมโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ชาติ (The Republic of The Union of Myanmar, Ministry of Culture, Department of Archaeology and National Museum, World Monuments Fund, และสหรัฐอเมริกา. และมุมด้านหนึ่งของพระตำหนักชเวนันดอว์.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพภายในพระตำหนัก ตรงพระแท่นบัลลังก์สีหนาท (ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้ามินดงนั้น) ได้วางพระพุทธรูปไว้ และภาพฝ้าเพดานด้านในของท้องพระโรงพระตำหนัก แสดงถึงความวิจิตร งานช่างไม้ของพม่าได้เป็นอย่างดี
ภาพจากซ้ายไปขวา: ลวดลายของฝ้าเพดานภายในด้านข้างซ้ายพระตำหนัก และงานแกะสลักไม้สักตรงเสาด้านซ้าย
ภายในท้องพระโรงของพระตำหนัก แสดงเหล่าเทวดาหรือ โลกานัท (Lawka Nat) ต่าง ๆ
ภายในพระตำหนักมีรายละเอียดมาก มีรูปแกะสลักเทวดา นัท ประตูชั้นในล้อมรอบพระแท่นบัลลังก์สีหนาท มีลูกมะหวดเป็นแก้วสีเขียว
ผมไม่แน่ใจ ยังไม่มีใครให้คำตอบ ต้องค้นคว้าต่อไป
ไม้สักที่แกะสลักยังคงมีลวดลายและการลงรักปิดทองให้เห็น แม้วันเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน
ภาพด้านซ้ายเป็นเพดานด้านในเหนือพระแท่นบัลลังก์สีหนาท และภาพด้านขวาเป็นรายละเอียดการแกะสลักบ้านประตูด้านซ้ายของพระแท่นก่อนที่จะเข้าไปที่ประทับด้านใน จะเห็นรายละเอียดเทวดาและนัท ทั้งกรอบประตูและประตู
ฝ้าเพดานด้านในที่อยู่ด้านหลังพระแท่นบัลลังก์สีหนาท และพระพุทธรูปและพระสาวกสององค์
กรอบประตูภายในพระตำหนักด้านหลัง และกรอบประตูด้านหลังภายนอกพระตำหนัก
รายละเอียดงานแกะสลักไม้สักด้านนอก เป็นลายไม้ เทวดาและนัท และจั่วกรอบหลังคา
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านหน้ามุมขวาก่อนเข้าชมวัด และภาพพ่อค้าวัยรุ่นชาวพม่ากำลังสาธิต
การวาดภาพด้วยมีดโกน บนกระดาษโปสเตอร์ ฝีมือดีหน้าทางเข้าวัดชเวนันดอว์
ถัดจากนั้นคณะของเราก็เดินทางมาต่อที่วัดกุโสดอ บ้างก็เขียน กุโสดอว์ (Kuthodaw Pagoda) ในกลางเมืองมัณฑะเลย์ใกล้เชิงเขามัณฑะเลย์ (Mandalay hill) เป็นวัดที่พระเจ้ามินดง (เมงดงเมง- King Mindon or Mindon Min) สร้างเมื่อ พ.ศ.2403 (ค.ศ.1860) ขณะที่พระราชวังใหม่เมืองมัณฑะเลย์ สร้างในปี พ.ศ.2400 (ค.ศ.1857) ณ วัดกุโสดอนี้ เป็นอนุสรณ์แห่งการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 4 พระเจ้ามินดง ทรงให้มีการจารึกพระไตรปิฎก (Tripitaka) 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น ถือเป็นพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี ในพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท และได้นำมาประดิษฐานในมณฑปอยู่รอบ "พระเจดีย์มหาโลกมารชิน - Mahalawka Marazein" ที่มีความสูง 57 เมตร ซึ่งจำลองมาจากพระมหาเจดีย์ชเวสิกองแห่งเมืองพุกามนั่นเอง
บรรยากาศของบริเวณวัดจะร่มรื่นด้วยต้นพิกุล (Mimusops elengi) มากมายเรียงรายกันอยู่โดยรอบ ในจำนวนนี้จะมีอยู่ต้นหนึ่งอายุเก่าแก่ที่สุดกว่า 250 ปี ขนาดลำต้นใหญ่ประมาณ 10 คนโอบ กิ่งก้านสาขาก็ยื่นสยายร่มเงา จนต้องมีเสาค้ำไว้เป็นระยะ ๆ หากเดินเข้าไปจนสุดด้านในจะได้พบเจดีย์ที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวสิกองที่พุกาม และยังมีแบบจำลองของผังวัดให้ชมด้วย (ปรับปรุงจาก: burma-travel.blogspot.com และ en.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 15 พฤษภาคม 2561).
ภาพจากซ้ายไปขวา: ทางเข้าวัดกุโสดอว์ และ ด้านซ้ายของทางเข้าวัดจะมีพระบรมรูปพระเจ้ามินดงสถิตอยู่
ภาพจากซ้ายไปขวา: วิหารคดทางเข้าสู่พระเจดีย์มหาโลกมารชิน และหนึ่งในหินอ่อนที่จารึกพระไตรปิฎก (จากทั้งหมด 729 แผ่น)
ภาพจากซ้ายไปขวา: กลุ่มวิหารเล็ก ๆ ที่เก็บจารึกหินอ่อนพระไตรปิฎกซึ่งอยู่รายรอบพระเจดีย์มหาโลกมารชิน
และตัวแบบวัดกุโสดอว์ ที่อยู่ด้านขวาของพระเจดีย์
ภาพจากซ้ายไปขวา: ตัวแบบวัดกุโสดอว์ ที่อยู่ด้านขวาของพระเจดีย์ และภาพแสดงประวัติ
ตำนานต่าง ๆ ในวิหารคดหรือระเบียงทางเข้าสู่พระเจดีย์ (สังเกตด้านหลังจะมีต้นพิกุลขนาดใหญ่อยู่)
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้ด้านหน้าสุดปลายวิหารคด และมุมด้านขวาของพระเจดีย์มหาโลกมารชิน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพถ่ายพุทธศาสนิกชนและเด็กน้อยชาวพม่า ที่ระเบียงด้านขวาของพระเจดีย์ และภาพสาวน้อยที่
บริการแก่นักท่องเที่ยงวาดภาพใบไม้หรือภาพต่าง ๆ บนใบหน้าด้วยแป้งทานาคา เธอบอกว่าเธอเป็น Original Mandalay Girl.
ภาพแกะสลักบนไม้สักบนบานประตูขนาดใหญ่ด้านซ้ายทางเข้าพระเจดีย์กุโสดอว์
ถัดจากนั้น คณะของเราก็มาที่วัดพระหินอ่อน (วัดมัณฑะเลย์จอกทอคยี - Kyauktawgyi Buddha Temple (Mandalay) or Kauktawgyi Paya Temple - The Pagoda of the Great Marble Image) เป็นอีกวัดหนึ่งที่สำคัญของเมืองอยู่ตรงบริเวณตอนใต้เชิงเขามัณฑะเลย์ ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนองค์ใหญ่ที่สร้างในสมัยพระเจ้ามินดง ใช้เวลาสร้าง ต่อเนื่องกันหลายปี (พ.ศ.2396-2421/ค.ศ.1853-78) เนื่องจากมีการจลาจลภายในพระราชวังและความสงบภายในประเทศช่วงกลาง ค.ศ.1860s เริ่มแรกใช้ต้นแบบการก่อสร้างแนวอานันทวิหารแห่งเมืองพุกาม องค์พระแกะสลักจากหินอ่อนสีเขียวซีด (Pale green marble) เพียงก้อนเดียว (จากหมู่บ้านสะจี่งหยั่ว -Sagyin) ซึ่งอยู่ห่างไปทางเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ราว 19 กิโลเมตร ใช้คนงานขนย้ายกว่า 10,000-12,000 คน ระยะเวลารวม 13 วัน ชื่อเป็นทางการของพระพุทธรูปหินอ่อนนี้ชื่อ "พระมหาศากยะชนะมาร หรือ พระมหาสะจะมารเฉ่ง - Mahasakyamarjina" (The Great Conqueror of Mara and who was of Sakya race) ออกมาเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม และเคยเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพม่า ก่อนที่มีพระพุทธรูปหินอ่อนที่สร้างขึ้นใหม่ที่เมืองย่างกุ้งทำลายสถิติไป (ที่มา: www.myanmartourex.com, และ www.orientalarchitecture.com, วันที่สืบค้น 18 พฤษภาคม 2561.)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ความงดงานของบริเวณทางเข้าวัดพระหินอ่อน และภาพยักษ์ถือกระบองคอยพิทักษ์พระหินอ่อนไว้
ภาพจากซ้ายไปขวา: ทางเข้าด้านในเพื่อเข้าชมพระหินอ่อน และเหล่าสามเณรีกำลังไว้พระมหาศากยะชนะมาร
ภาพจากซ้ายไปขวา: "พระมหาศากยะชนะมาร หรือ พระมหาสะจะมารเฉ่ง - Mahasakyamarjina"
และภาพวิจิตรของฝ้าเพดานเหนือพระพุทธรูป
ภาพจากซ้ายไปขวา: จากมีพระพุทธรูปประทับนั่งหลายองค์พร้อมยักษ์ที่เป็นผู้พิทักษ์ พระพุทธรูปหินอ่อน และมีร้านแผงเล็ก ๆ ให้เช่าพระพุทธรูป สังเกตดูจะมีให้เช่าพระแก้วมรกตด้วย
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพพิมพ์ในกรอบแสดงการเดินทัพ การวางพลทหารในการออกรบของพม่า และระเบียงศาลาด้านนอกของวัดพระหินอ่อน
ออกมาจากวัดพระหินอ่อน คณะของเราก็แวะทานหมูจุ่มเลย กันที่ด้านหน้าวัด เป็นแผงเล็ก ๆ ผมทานเส้นหมี่ พร้อมหมูจุ่ม (ทั้งหมูย่าง ไส้อ่อน ตับ ฯ พะโล้หันเป็นชิ้นเล็ก ๆ เสียบไม้) ด้วย อร่อยมาก
จากนั้น คณะของเราก็ขึ้นเขามัณฑะเลย์หรือมัณฑะเลย์ฮิลล์ หรือ มัณฑะเลย์ตอง (Mandalay Hill) กัน ทางขึ้นมีความสูงชัน (หากไม่ขึ้นรถบัสของโซวินมา ก็จะต้องขึ้นบันได ราว 7,292 ขั้น) เห็นเด็ก ๆ และชาวพม่าหลายสิบคนวิ่งออกกำลังกายขึ้นเขากัน ซึ่งมีความสูง 236 เมตร เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ ภายในมีปูชนียสถานที่สำคัญ ๆ เช่น วิหารบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบรมธาตุนี้ ขุดค้นพบ ณ แคว้นคันธารราษฎร์ เป็นแคว้นโบราณอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียปัจจุบัน (ปัจจุบันคือเมืองกันดะฮาร์ (Kandahar) ในประเทศอัฟกานิสถาน) บนยอดเขามีพระพุทธรูป "ชเวยัตดอร์" ประทับยืนขนาดใหญ่ พม่าเรียกว่า "ปางพยากรณ์" ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าดินแดนแห่งนี้ จะเจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา และจุดที่เป็นซิกเนเจอร์คือบนยอดเขามัณฑะเลย์มีวิหาร "ซูตองพญา (Su Taung Pyei Pagoda)" รูปทรงคล้ายมณฑปครอบพระมหามัยมุนี ภายใต้วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ คือ พระกกุสันโธ (ทิศเหนือ) พระโกนาคมน์ (ทิศตะวันออก) พระกัสสป (ทิศใต้) และพระสมณโคดม (ทิศตะวันตก)
คณะของเราจอดรถตรงลานด้านทิศตะวันออกของมัณฑะเลย์ฮิลล์ ฝากรองเท้าแล้วขึ้นลิฟต์ ไกด์ตองให้เวลาลูกทัวร์ชมพระบนวิหารได้ตามอัธยาศัย ผมเดินชมวนทักษิณาทิศ และถ่ายรูปไป เริ่มจากพระโกนาคมน์ พระกัสสป (มีนั่งร้านไม้ไผ่กำลังซ่อมแซมเล็กน้อย) พระสมณโคดม และพระกกุสันโธ ทางทิศเหนือ ผมมานั่งสมาธิบ้างถ่ายภาพบ้าง ณ จุดนี้ เป็นหลัก สังเกตดูมีทั้งคนไทย คนพม่าและมอญ เข้ามาสักการะไม่ขาด
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพถ่ายไปทางทิศตะวันออกจากบนยอดมัณฑะเลย์ฮิลล์ มายังลิฟต์และลานจอดรถ และ
ภาพพระพุทธรูปพระโกนาคมน์ (พระทางทิศตะวันออก)
ภาพจากซ้ายไปขวา: มุมทางทิศตะวันออกกับใต้จะมีพระพุทธรูปประจำวันต่าง ๆ ให้พุทธศาสนิกชนสรงน้ำ
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปพระกัสสป (ประจำทางทิศใต้) และภาพวิวที่ถ่ายลงมาทางทิศใต้ซึ่งมีพระพุทธรูป "ชเวยัตดอร์"
ประทับยืนขนาดใหญ่อยู่ ผมไม่ได้เดินเข้าไปชม เพราะไม่ทราบมาก่อนว่ามีพระพุทธรูปสำคัญตรงทิศใต้ มาทราบภายหลัง เมื่อได้ค้นคว้าต่อ.
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพวิวทางทิศตะวันตกจะเห็นแม่น้ำอิรวดี และพระพุทธรูปสมณโคม (ประจำทิศตะวันตก)
ภาพจากซ้ายไปขวา: พระพุทธรูปกกุสันโธ (ประจำทิศเหนือ) และมุมระหว่างทิศเหนือกับทิศตะวันออก มีพระพุทธรูปยืนแสดงไว้
ภาพจากซ้ายไปขวา: ตรงระเบียงด้านทิศตะวันออกจะมีเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งมาอ่านหนังสือกัน และอีกมุมหนึ่งของพระกกุสันโธ
ถ่ายขณะที่ผมนั่งพักเหนื่อยและหลังจากทำสมาธิ
ภาพป้ายหินจารึกผนึกบนเสาด้านทิศเหนือหน้าพระกกุสันโธแสดงกิจกรรมทำบุญจำนวน 2,500 รูปี จากเหตุการณ์ที่เหล่าทหารปืนไรเฟิลกุรข่า (ทหารรับจ้างอังกฤษชาวเนปาล) ของเจ้าชายแห่งเวลส์ กองร้อยที่ 4th Bn 4th ได้เสียสละชีพจากการบุก (ของทหารญี่ปุ่น) เข้าเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อค่ำวัน 5-9 มีนาคม ค.ศ.1945 (พ.ศ. 2488) โดยบริจาคผ่านมหาเถร U Khan Ti ที่มัณฑะเลย์ฮิลส์
ภาพทิวทัศน์ยามอาทิตย์อัสดง รายรอบมัณฑะเลย์ฮิลส์ (ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านใต้กึ่งตะวันตก จะเห็นแม่น้ำอิรวดี และภาพทิศตะวันตก ใกล้สนธยา)
ภาพทิวทัศน์ยามอาทิตย์อัสดง รายรอบมัณฑะเลย์ฮิลส์ (ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านเหนือกึ่งตะวันตก และภาพทิศเหนือ ใกล้สนธยา - ไกลลิบไปโน้นก็เข้าเขตแคว้นคะฉิ่น)
ภาพจากซ้ายไปขวา: ด้านข้างของรถขายลอตเตอรี่ และภาพไกด์ตองกำลังดูรายละเอียดหวยพม่าอยู่
ตรงระเบียงทางทิศเหนือมีรูปปั้นงูเห่าอยู่คู่หนึ่ง ตามตำนานกล่าวกล่าวว่าทั้งคู่ได้เลื้อยขึ้นมาสักการะพระเจดีย์บนมัณฑะเลย์ฮิลส์ และสิ้นใจบนเขาแห่งนี้
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพถ่ายจากลานจอดรถถ่ายตรงไปยังอาคารบันไดเลื่อนที่ลงมาจากพระเจดีย์
และภาพมุมหน้าร้าน Golden Duck ข้าง ๆ พระราชวังมัณฑะเลย์
ภาพหน้าร้าน Golden Duck และเป็ดย่างโอชารส ของขึ้นชื่อที่เมืองมัณฑะเลย์
บรรดาเหล่าเมนูอาหารในค่ำคืนนี้
คณะของเราใช้เวลาบนมัณฑะเลย์ฮิลล์อยู่นาน (ผมสังเกตเห็นคนพม่าสอง-สามคน มองผมแปลก ๆ ว่าเป็นพวกบ้านนอก นุ่งโสร่งลายมอญ) ผมถ่ายรูปยามสนธยาบนมัณฑะเลย์ฮิลล์นี้ได้เยอะ จากนั้นก็ลงกลับทางอาคารบันไดเลื่อน คิวยาว ช้าหน่อย (ต่อมาทราบว่าที่ช้าคือ มีชาวบ้านบางคนไม่กล้าลงบันไดเลื่อน เป็นของใหม่ กลัว)
คณะเราก็เดินทางต่อมายังภัตตาคาร บนถนนสายที่ 80 ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระราชวังมัณฑะเลย์ เป็นร้านอาหารจีนอันลือชื่อ นามว่า "Golden Duck" มีเป็ดย่างเป็นเมนูหลัก ตัวโตดี เนื้อเยอะรสชาติดี (แต่ผมว่า ทานเป็ดย่างที่ MK Suki บ้านเราก็น่าจะอร่อยกว่า) อาหารได้ทยอยเสิร์ฟ คณะของเราได้ทานกันอิ่มหนำ ก็กลับที่พัก พักผ่อน ต้องรีบเข้านอน เพราะพรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อไปชมพิธีล้างพระพักตร์พระมหาเมี๊ยะมุนีกัน.
วันที่ห้า:
วันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2561 |
พระมหามัยมุนี - พระราชวังมัณฑะเลย์ |
04:30 น. |
ที่สุดของไฮไลท์เมืองมัณฑะเลย์ ร่วมพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี หนึ่งในห้ามหาบูชาสถาน เพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีนี้มีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ตลอดสองร้อยกว่าปี |
06:30 น. |
กลับโรงแรม (สามารถเตรียมของมาเพื่อใส่บาตรได้เพราะในเมืองมัณฑะเลย์ยามเช้า พระสงฆ์และเณรเดินบิณฑบาตกันเป็นจำนวนมาก)
ทานอาหารเช้าในโรงแรม |
09:00 น. |
เช็คเอ้าท์ และชมพระราชวังมัณฑะเลย์: หลักฐานแห่งความรุ่งเรืองถึงขีดสุดและการล่มสลายของราชวงค์คองบอง |
11:00 น. |
มุ่งหน้าสู่สนามบินมัณฑะเลย์ |
14:00 น. |
เดินทางกลับสู่ประเทศไทย |
16:30 น. |
เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ |
วันที่ห้า วันจันทร์ที่ 9 เมษายนวันสุดท้ายของทริปนี้ เมื่อคืนผมนอนไม่ค่อยหลับ พะวงว่าวันนี้จะตื่นขึ้นมาเช้าทันมาร่วมพิธีล้างพระพักตร์พระมหาเมี๊ยะมุนีหรือไม่? แต่ตอนตีสี่สิบนาทีผมก็มารอที่ล็อบบี้ พร้อมกับคณะเพื่อไปวัดมหาเมี๊ยะมุนีกัน
คณะเรามาถึงวัดมหาเมี๊ยะมุนีราว 04:35 น. เริ่มมีผู้คนทะยอยเข้ามาสักการะ มีรถทัวร์มาจอดคันสองคัน คณะเราจัดแจงวางรองเท้าแตะให้เป็นที่ ไกด์ตองเตรียมดอกไม้ธูปเทียนและทองเปลวเพื่อติดองค์พระให้คณะไว้เรียบร้อย ก็เดินผ่านแผงขายของ (ที่ยังไม่เปิดร้าน) เดินตรงเข้ามาราว 200 เมตร ไกด์ตองแนะนำให้มานั่งรอคิวไว้ด้านข้างขวามือของพระมหาเมี๊ยะมุนี ซึ่งพอจะสามารถแทรกเข้าไปปิดทองได้ก่อนคนอื่น ๆ ผมนั่งรออยู่นาน ยุงก็เยอะ สักพักก็ลุกไปปัสสาวะที่ด้านหลังของวัด ไกด์ตอง น้องเอ็มและน้องอี้ ก็สามารถเข้าไปปิดทองได้ใกล้ ๆ ส่วนผมนั้นไม่เป็นไร ผมเดินมาด้านหน้าพระมหาเมี๊ยะมุนี มีพุทธศาสนิกชน ชาวพม่า อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุและภิกษุณีนั่งอยู่เต็มไปหมด.
เจ้าอาวาส และอุบาสกกลุ่มหนึ่งชุดขาวที่ทำพิธีการล้างพระพักตร์และสีพระทนต์ ใช้เวลาอยู่นานไม่น้อยกว่า 40 นาที มีพุทธศาสนิกชนนำผ้าขนหนูขนาดเล็กจำนวนหนึ่งฝากให้อุบาสกด้านในเช็ดพระพักตร์ให้ด้วย ซึ่งผมได้รับไว้ด้วย โดยผ่านไกด์ตองเป็นผู้ประสาน (ขอบคุณครับ) ตอนพิธีล้างพระพักตร์ใกล้เสร็จนั้น มีพุทธศาสนิกชน ภิกษุ ภิกษุณี สวดมนต์โดยพร้อมเพรียงกัน มีคำว่าสาธู ๆ อันยา ๆ (เข้าใจว่ามาจากคำว่า อัญญา ๆ ) ผมได้ถ่ายรูปรอบ ๆ บริเวณ เมื่อเสร็จพิธีล้างพระพักตร์แล้ว เจ้าอาวาสก็กลับ พุทธศาสนิกชน สามารถเข้าไปใกล้พระมหาเมี๊ยะมุนี ผมก็แทรก เข้าไปปิดทองได้ด้วย
ภาพจากซ้ายไปขวา: พิธีล้างพระพักตร์และสีพระทนต์พระมหาเมี๊ยะมุนีจากโทรทัศน์ด้านหน้าที่อยู่ไกลห่างออกมา, และพุทธศาสนิกชน แม่ชีกำลังเฝ้าดูพิธีที่ลานด้านหน้า
มัคนายกประจำวัดกำลังทำพิธีล้างพระพักตร์และสีพระทนต์พระมหาเมี๊ยะมุนี
ภาพจากซ้ายไปขวา: อีกด้านหนึ่งที่พุทธศาสนิกชน แม่ชีกำลังเฝ้าดูพิธี, และภาพเปรียบเทียบพระมหาเมี๊ยะมุนีเดิม (ไม่ทราบปี) กับปัจจุบัน
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพผมเซลฟี่ตัวเอง ยังงัวเงียไม่ตื่นดีเลย, และหลังเสร็จพิธีล้างพระพักตร์และสีพระทนต์ก็มีพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งกำลังปิดทององค์พระ
ภาพจากซ้ายไปขวา: ยอดมณฑป (มีลักษณะเหมือนมณฑปที่มัณฑะเลย์ฮิลล์) ของวิหารพระมหาเมี๊ยะมุนีที่กำลังซ่อมแซม, ผมได้ถ่ายภาพใกล้ ๆ พระมหาเมี๊ยะมุนีขณะกำลังปิดทอง ร่วมกับพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่ง
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในบริเวณวิหารของวัดมหาเมี๊ยะมุนี มีพระพุทธรูปอยู่ด้านในของบัลลังก์สีหนาท, และภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำริด
ภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำริด [IMG_0745.JPG]
อาคารที่เก็บสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำริด อยู่ด้านหลังเยื้องไปทางด้านซ้ายของพระมหาเมี๊ยะมุนี
กรรมซ้อนกรรม08
ชุดภาพข้างต้น เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำริด (The Large Bronze Figures) เก็บในห้องพิพิธภัณฑ์คล้องกุญแจไว้ด้านหลังของวัด ประวัติน่าสนใจมาก เดิมอยู่นครวัดนครธมเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีฯ ไปตี (พ.ศ.1974) แล้วนำมาไว้ที่อยุธยา ต่อมาพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนอง (King Bayinaung Kyaw Htin Nawra Hta) มาตีกรุงศรีฯได้ (พ.ศ.2106/ค.ศ.1563) แล้วนำไปไว้ที่พะโค หรือหงสาวดี ในปี พ.ศ.2142/ค.ศ.1599 พระนเรศแห่งกรุงศรีอยุธยามาตีเมืองตองอู กษัตริย์ยักไข่(ข้างฝ่ายพม่า)เข้าต่อสู้, ในที่สุดทัพพระนเรศก็ล่าถอยไป (พม่าใช้คำว่าพ่ายแพ้-The Thai king was defeated) พระเจ้าตองอูรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ จึงประทานสมบัติต่าง ๆ มากมายรวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำริดนี้ให้แก่พระเจ้ายักไข่ ต่อมาในปี พ.ศ.2327/ค.ศ.1784 พระเจ้าปดุง (King Bodawphaya) แห่งราชวงศ์อลองพญาหรือคองบอง ก็โปรดให้พระมหาอุปราช (The Crown Prince) มาตียะไข่นำพระมหาเมี๊ยะมุนี พร้อมสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำริดชุดนี้ไปไว้ที่มัณฑะเลย์ได้สถิตที่วัดนี้จวบจนปัจจุบันครับ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือประติมากรรมสำริดเหลือ 7 ชิ้นจาก 27 ชิ้น (สูญหาย เสียหายจากการเคลื่อนย้าย) ประกอบด้วย:
(ก) ช้างเอราวัณ (Ayeyarwan) หรือช้างสามเศียร
(ข) ราชสีห์ (Rargasiha)
(ค) สำริดเป็นรูปบุรุษสองตน (ทวารบาล) ขนาดแปดฟุต และเจ็ดฟุตตามลำดับ คนพม่าเรียก "เทวานัท- Devanat" มีความเชื่อกันว่าใครเจ็บป่วยปวดส่วนไหนของร่างกาย ก็ใช้มือมาลูบตรงส่วนนั้นของเทวานัท แล้วจะหาย (ปวดท้อง ก็ลูบท้องเทวานัท) ปัจจุบันทางการพม่าไม่อนุญาตให้ลูบแล้ว.
(แปลจากป้ายในภาพ [IMG_0745.JPG] ข้างต้นและรวบรวมค้นคว้าศึกษามาจากแหล่งต่าง ๆ (จำไม่ได้แล้ว))
จากนั้นผมก็ถ่ายรูปจุดต่าง ๆ ที่น่าสนใจไว้ได้มากพอสมควร มีภิกษุพม่ารูปหนึ่ง คงเห็นว่าผมเด๋อ ๆ ด๋า ๆ เป็นนักท่องเที่ยวกำลังถ่ายรูปอยู่ ตรงเข้ามาหาให้ถวายปัจจัยแก่ท่าน ผมก็ได้ถวายไปตามประสงค์
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในบริเวณวิหารของวัดมหาเมี๊ยะมุนี มีเสาที่ปูประดับด้วยหยก, และลานด้านหน้าของวิหารมีร้านรวงให้เช่าพระพุทธรูป ที่น่าสนใจคือเป็นพระมหาเมี๊ยะมุนีแก้วมรกต (คนพม่านับถือพระแก้วมรกตที่กรุงเทพฯ กันมาก คนขายจึงจัดให้เช่าผสมผสานกันทั้งพระพุทธรูปที่มีผู้นับถือไทยและพม่า)
ทราบจากไกด์ตองว่าหินเขียว ๆ ที่ประดิษฐ์ประกอบรอบ ๆ เสาในวัดพระมหาเมี๊ยะมุนีนี้เป็นหยก
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายนอกบริเวณลานด้านนอกวิหาร มีแม่ค้าเตรียมอาหารเช้าง่าย ๆ (เส้นหมี่และของทอด) แบบพม่ามาจำหน่ายกัน, และสระน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าพระวิหาร
พอสาย ๆ คณะของเราก็เดินกลับ ผ่านแผงตลาดมีเครื่องบริขาร เครื่องเงินทอง พระพุทธรูปสำหรับให้เช่าบูชามากมาย ผมเดินมาถ่ายรูปด้านนอก มีร้านรวงเตรียมเส้นหมี่ ของทอด มาขายด้านหน้าใกล้สระน้ำ ได้ครู่หนึ่ง แล้วคณะเราก็กลับที่พัก พักผ่อนพร้อมเตรียมเช็คเอ้าท์.
ผมกลับเข้าที่พัก นอนต่อไม่ลง เพราะนี่ก็ใกล้ 7 โมงเช้าแล้ว ผมลงมาทานอาหารเช้าของโรงแรมก่อน แล้วขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัว แพ็คกระเป๋าแล้วเช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรมพร้อมคณะราว ๆ 9 โมงเศษ ๆ จากนั้นคณะของเราก็เข้าชมพระราชวังมัณฑะเลย์กัน
พระราชวังมัณฑะเลย์
สารถีโซวิน ก็นำคณะเรามายังประตูด้านหน้าพระราชวัง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก อยู่ด้านเหนือเมืองมัณฑะเลย์ใกล้กับมัณฑะเลย์ฮิลล์ บางจุดภายในพระราชวังนั้น ไม่สามารถถ่ายภาพได้เพราะเป็นค่ายทหาร ให้ถ่ายได้เฉพาะจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น
รถบัสพาคณะเราผ่านสารวัตรทหารหน้าประตูเข้าไปได้ ระหว่างสองข้างทางตรงไปยังพระราชวังราว ๆ 800 เมตร มาค่ายทหาร และมีรั้วไม้สักโบราณชั้นใน
(ผมพยายามถ่ายรูปรั้วไม้สักนี้ ถ่ายได้ภาพเดียวดังแสดงข้างต้นเพราะเท่าที่ศึกษามา ตอนที่อังกฤษยึดพระราชวังมัณฑะเลย์ ได้เชิญพระเจ้าธีบอ พระนางศุภยาลัตและข้าราชบริพารขึ้นเรือกลไฟมุ่งยังเมืองย่างกุ้งแล้วนั้น เกิดความวุ่นวายในพระราชวัง ข้าราชบริพารเหล่าไพร่ต่าง ๆ รุมขโมยแย่งสมบัติที่ยังหลงเหลือกันชุลมุน พวกทหารอังกฤษ - โจรย่อมเข้าใจและเท่าทันโจร -ซ่อนตัวที่ริมรั้วไม้สักนี้ ซึ่งเป็นทางผ่านออกนอกวัง และดักยึดสมบัติที่ข้าราชบริพารเหล่าไพร่ต่าง ๆ ได้ขโมยมา ณ ริมรั้วไม้สักนี้เลย....!!!ทหารอังกฤษกลุ่มหนึ่งได้นำไปขายในตลาดมืดที่กรุงลอนดอนและที่อื่น ๆ ร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ที่น่าเสียดายมีสมบัติชิ้นหนึ่งเป็นกระบองกึ่งกระบี่รูปทรงเหมือนมะเฟือง เป็นอาวุธประจำพระองค์ปฐมกษัตริย์ราชวงค์อลองพญาได้สูญหายไป)
อาณาบริเวณของพระราชวังมัณฑะเลย์ทั้งหมดนี้มากกว่า 4 ตารางกิโลเมตร (2.x * 2.x กิโลเมตร) ขนาดมากกว่าสี่เท่าของพุทธมณฑลบ้านเราเลยทีเดียว ตัวบริเวณวังชั้นในอยู่ตรงกลางอาณาบริเวณทั้งหมด มีสนามกอล์ฟขนาดเก้าหลุม และมีค่ายทหารอยู่ภายใน รอบ ๆ กำแพงภายนอกมีคูน้ำกว้างขนาดเกือบ 70 เมตร อยู่รอบกำแพงพระราชวังทั้งหมด ทราบจากไกด์ตองว่า เดิมคูกว้างนี้มีการเลี้ยงจระเข้ไว้ด้วย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพม่ายังคงเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่นั้น ญี่ปุ่นได้รุกคืบเข้ายึดประเทศพม่า ต่อมาทางอังกฤษคิดว่าพระราชวังนี้เป็นแหล่งซ่องสุมของทหารญี่ปุ่น จึงได้ทำลายพระราชวังเสียด้วยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ.2488).
ท้องพระโรงและพระที่นั่งออกมหาศาลาประชาคมของกษัตริย์พม่า (The Audience Halls and Central Spire)
พระราชวังหรือพระที่นั่งของพระราชวังมัณฑเลย์ทั้งหมดเป็นอาคารไม้สัก หรือที่พม่าเรียกว่า pyatthats (Wooden pavilions) พระราชวังจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
แผนผังพระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งไกด์ตองกำลังอธิบาย
รูปจำลองพระมหากษัตริย์และราชินีบนพระแท่นบัลลังก์สีหนาท (Lion Throne)
พระราชกกุธภัณฑ์ ของใช้ต่าง ๆ แสดงพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ (ผมสันนิษฐานว่าเป็นของจริงที่เก็บเรียกคืนมา ซื้อมาบ้างจากถูกขายทอดตลาดเมื่อครั้งเกิดการโกลาหล ฉกฉวย หลังจากที่พระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตได้ถูกเนรเทศขึ้นเรือกลไฟไปยังกรุงย่างกุ้ง และเลยต่อไปที่รัตนคีรี ประเทศอินเดีย แถบฝั่งทะเลอาระเบีย)
พระตำหนักต่าง ๆ ในพระราชวังมัณฑะเลย์ เป็นของที่สร้างขึ้นมาใหม่ ดูไม่ละเอียดวิจิตรนัก
(แต่ก็พอจะเข้าใจได้ ถึงความตั้งใจและงบประมาณอันจำกัดของพม่า ในการรังสรรค์พระราชวังแห่งนี้ขึ้นมาใหม่)
ภาพถ่ายมุมตอนกลาง ๆ ของพระราชวัง ภาพซ้ายจะเป็นหอสูง (์Nan-Myin - Watch Tower)
สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชินีทอดพระเนตร ไกลออกไปยังแม่น้ำอิรวดี
หอสูง (Nan-Myin หรือ Watch Tower) นี้มีความสูง 79 ฟุต สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าธีบอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ยามสังเกตการณ์เพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้นในพระนคร ทั้งภายในและภายนอกพระราชวัง และใช้สังเกตการณ์เฝ้าระวังหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ทั้งกษัตริย์และพระราชินีมักเสด็จขึ้นมาทอดพระเนตรความสวยงามทิวทัศน์รอบ ๆ พระราชวัง มีพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้เล่าให้ทราบว่า พระราชินีศุภยาลัตได้เสด็จขึ้นหอสูงทอดพระเนตรกองทัพอังกฤษเข้ายึดมัณฑะเลย์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)09(หน้าที่ 33).
ผมสันนิษฐานว่า เมื่อครั้งพระนางศุภยาลัตขึ้นมาบนหอสูงเพื่อทอดพระเนตรเรือกลไฟของกองทัพอังกฤษบุกเข้ามานั้น
เพียงแต่สดับเสียงเครื่องยนต์ของเรือกลไฟที่กำลังแล่นสวนกระแสน้ำอิรวดีขึ้นมาเท่านั้น
พระนางอาจทอดพระเนตรไม่ถนัด อาจทอดพระเนตรเห็นเพียงควันไฟที่พวยพุ่ง
ภาพถ่ายบนหอสูงไปยังมุมต่าง ๆ ภาพที่สองด้านขวาเมื่อผมได้ถ่ายไปยังด้านที่เป็นแม่น้ำอิรวดี ตรงมุมนี้มองไม่เห็นแม่น้ำเลย
ภาพจากซ้ายไปขวา: อีกหนึ่งภาพจากหอสูง ที่ถ่ายด้านหลังพระราชวังไปยังแม่น้ำอิรวดี
และภาพอนุสาวรีย์เล็ก ๆ รอบแท่งหิน มีอนุสาวรีย์ของวีรกษัตริย์ของพม่าอยู่รายรอบ ที่ด้านหน้าของพระราชวังมัณฑะเลย์
ภาพถ่ายขณะอยู่บนสะพานเชื่อมเขตพระราชวังมัณฑะเลย์กับถนนใหญ่ด้านหน้า
แนวเขาที่ไกลออกไปนั้นคือ มัณฑะเลย์ฮิลล์
ลักษณะของเรือกลไฟ (Steamboat) โดยทั่วไป (ผู้ประดิษฐ์คือ Robert Fulton อเมริกัน)
ต่อมามีการปรับปรุงใช้กันในคลองต่าง ๆ ของประเทศอังกฤษ
ในช่วงต้นถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18, ที่มา: lcohickchapter9.blogspot.com, วันที่สืบค้น 2 สิงหาคม 2561.
คณะของเราใช้เวลาที่พระราชวังมัณฑะเลย์นี้เกือบสองชั่วโมง จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังวัดชเวอินปิน ระหว่างเดินทางนั้น ผ่านถนนข้างพระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งเริ่มมีการจัดวางร้าน เวทีคอนเสิร์ต ประกวดต่าง ๆ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ของพม่าที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
วัดชเวอินปิน
วัดชเวอินปิน (Shwe In Bin Kyaung - Monastery) วัดแห่งนี้สร้างโดยพ่อค้าหยกชาวจีน ในปี ค.ศ.1895 วิหารทำจากไม้สัก เป็นยอดฉัตรสูงขึ้นไปเจ็ดชั้น วิหารก่อสร้างแบบโบราณ บานหน้าต่าง ประตู ยังคงต้องใช้ไม้ค้ำยัน ซุ้มประตูครึ่งวงกลม แกะสลักสวยงามเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธชาดก
วัดชเวอินปินนี้มีความสวยงาม ขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก งานช่างงานแกะสลักวิจิตร ทราบจากไกด์ตองว่าเป็นแนวคิด
ต้นแบบเรือนภายในโรงแรมเดอะ ดาราเทวี เชียงใหม่ งานช่างมีความพอดี ไม่อลังการหรูหราเหมือนวัดชเวนันดอร์
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภายในวิหารของวัดมีพระประธาน พระนั่งสมาธิ และมีไม้แกะสลักเป็นเทวดา นัท อยู่กรอบรอบพื้นไม้ยกสูง
และภายในวิหารเบื้องขวาของพระประธานจะมีระฆังและมัคนายกชาวพม่าสองคนแบกระฆังอยู่
(เท่าที่สังเกต มักเป็นเช่นนี้แทบทุกวัดในพม่า)
ภาพชั้นกราวน์ใต้วิหาร
คณะของเราแวะชมที่วัดนี้ราวครึ่งชั่วโมง ก็เดินทางตรงไปยังสนามบินมัณฑะเลย์ ร่ำลาและขอบคุณสารถีโซวิน แล้วเช็คอินเข้าสนามบิน เป็นช่วงเกือบบ่ายโมง คณะของเราก็เข้ามานั่งพักที่เลาน์ของบางกอกแอร์เวย์ นั่งทานแตงโม น้ำผลไม้ และแซนวิช ผมหิวโคตรและคิดถึงอาหารไทยมาก จึงสั่งข้าวราดผัดกระเพราหมูสับและไข่ดาวมาทาน ราคาเป็นเงินไทยตก 180 บาท (ผมจ่ายเป็นเงินจ๊าด) ราคาและรสชาติก็โอเค สักครู่น้องเอ็มก็สั่งทานด้วยบ้าง แต่พอจ่ายเป็นเงินบาท ร้านคิดราคา 220 บาท (คงเป็นนโยบายให้ใช้เงินจ๊าดในประเทศ กระมัง) คณะของเรานั่งคุยกันสัพเพเหระได้ครู่หนึ่ง
พอได้เวลาก็ขึ้นเครื่อง สักพักโฮสเตสก็ให้บริการอาหารกลางวันเป็นเส้นหมี่ผัดผักและไก่ ผมทานได้ไม่มากเพราะอิ่มแปร้มาก่อนแล้ว เครื่องบินใช้เวลาประมาณ 1:45 ชั่วโมงในการถึงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสวัสดิภาพ พวกเราร่ำลากันที่จุดรับกระเป๋า น้องอี้ขึ้นเครื่องบินต่อกลับภูมิลำเนาที่ขอนแก่น
ภาพจากซ้ายไปขวา: ภาพผมถ่ายเซฟฟี่ที่สนามบินมัณฑะเลย์ ก่อนเช็คอิน และภาพบนเครื่องบิน จะเห็นน้องอี้ (กำลังผล่อยหลับอยู่) และน้องเอ็ม
ขอขอบคุณทุก ๆ ท่าน (ไกด์ตอง น้องอี้ น้องเอ็ม และพลขับโซวิน) ที่ทำให้การท่องเที่ยวในทริปนี้สนุกมาก ไปกันเรื่อย ๆ มีหลายที่ที่น่าจดจำ การนำทริปมีความคล่องตัว สำหรับผมแล้ว สามารถเก็บรายละเอียดได้ จัดเต็ม...!!! และมาค้นคว้า เรียบเรียงเพิ่มเติมต่อที่บ้าน จนมาเป็นเรื่องราวเที่ยวพม่าเบื้องอุดรข้างต้นนี้แหละคร้าบ
ที่มาและคำอธิบาย:
01. พระมหามัยมุนี หรือ พระมหาเมียะมุนี หรือ พระมหาเมี๊ยะมุนี เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศพม่า และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า คำว่า มหามัยมุนี แปลว่า "ผู้รู้อันประเสริฐ หรือ พระมหาปราชญ์ (The Great Sage)" ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อดีตราชธานีของพม่าในยุคราชวงศ์อลองพญา (คองบอง) เดิมทีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่ (Arakan) มีตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลโดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์หนัก 6.5 ตัน มีการสร้างบนฐานสูง 1.84 เมตร (6.0 ฟุต) รวมองค์พระมีความสูงทั้งหมดกว่า 3.82 เมตร (12.5 ฟุต) ไหล่กว้าง 1.84 เมตร (6.0 ฟุต) และรอบเอวกว้าง 2.9 เมตร (9.5 ฟุต).
พระมหาเมี๊ยะมุนี (Maha Myat Muni Buddha Image) ที่มา: www.flickr.com, วันที่สืบค้น 16 กุมภาพันธ์ 2561.
ก่อนสร้างกษัตริย์ผู้สร้าง (พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ของชาวยะไข่-Arakan/Rakhine แห่งเมืองธัญญวดี-Dinyawady) ทรงพระสุบินว่า พระพุทธเจ้า เสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้เพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นการสืบพระพุทธศาสนาไปในภายภาคหน้า เมื่อปี พ.ศ.689 โดยในอดีตแม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์เมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพเพียงไร ก็มิอาจเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีนี้ออกจากเมืองได้ ต้องมีเหตุขัดข้องทุกครั้งไป จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์อลองพญา (คองบอง) ทรงสามารถตีเมืองยะไข่ได้ และได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่ได้ในปี พ.ศ.2327 โดยล่องมาตามแม่น้ำอิรวดีมายังเมืองมัณฑะเลย์ พระมหามัยมุนีจึงได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา. ปรับปรุงจากที่มา: th.wikipedia.org และ www.oceansmil.com, วันที่สืบค้น 16,19 กุมภาพันธ์ 2561.
02. ประเทศพม่ามีห้าสิ่งศักดิ์สำคัญสูงสุด หรือ เบญจมหาบูชาสถาน ประกอบด้วย
1) พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง
2) พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจก์โถ่
3) พระมหาเจดีย์ชเวมอดอร์ (เจดีย์มุเตา) เมืองพะโค หรือ หงสาวดี
4) พระมหาเจดีย์ชเวซิกอง (บ้างก็เรียก พระมหาธาตุชเวสินคง หรือ ชเวซีโกน Shwe'zigon Pagoda) เมืองพุกาม (Bagan)
5) พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์
ที่มา: www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9560000084916, วันที่สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2561
03. อ้างอิงจากหนังสือ "ตำนานเมืองพม่า" ที่ประพันธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.2560 โดยสำนักพิมพ์โนเบิ้ลบุ๊คส์.
04. อ้างอิงจากหน้าที่ 72-73 ของ 03. ข้างต้น "...จำต้องเล่าเรื่องเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในหมู่เดียวกันให้ทราบก่อน เพราะเป็นเมืองอันเคยเป็นราชธานีอยู่ใกล้ ๆ กันถึง 4 เมือง คือ 1. เมืองชัยปุระ (Jaipura) พม่าเรียกกันเป็นสามัญว่า "เมืองสะแกง" ไทยเราเรียก "เมืองจักกาย", เมืองหนึ่ง 2. เมืองรัตนะปุระ (Ratnapura) เรียกกันเป็นสามัญว่า "เมืองอังวะ" เมืองหนึ่ง, 3. เมืองอมรปุระ เมืองหนึ่ง, และ 4. "เมืองมัณฑะเลย์" เมืองหนึ่ง...ข้อนี้เห็นได้ชัดที่ชื่อเมืองมัณฑะเลย์คงเป็นชื่อของภูเขาตรงนั้นมาแต่เดิม ทำเลที่ตั้งทั้ง 4 เมืองที่ว่ามา อาจเปรียบให้เข้าใจได้ง่าย ๆ คือเมืองสะแกงตั้งริมแม่น้ำอิรวดีทางฝั่งตะวันตกเหมือนอย่างกรุงธนบุรี เมืองอังวะตั้งทางฝั่งตะวันออกตรงข้ามกับเมืองสะแกง เหมือนอย่างที่พระนคร เมืองอมรปุระตั้งทางฝั่งตะวันออกเหนือเมืองอังวะขึ้นไปราวสักแค่วัดเขมาภิรตาราม เมืองมัณฑะเลย์ก็ตั้งทางฝั่งตะวันออกเหนือขึ้นไปอีกราวที่เมืองนนทบุรี แต่เมืองมัณฑะเลย์ตั้งห่างฝั่งแม่น้ำกว่าเพื่อน เวลามาในเรือ เมื่อถึงเมืองสะแกง แลเห็นได้ทั้ง 4 เมืองพร้อมกัน..."
แผนที่เมืองโบราณทั้งสี่แห่ง, ที่มา: www.insideasiatours.com, วันที่สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2561.
05. วัดชเวนันดอว์ (Shwenandaw monastery - วัดตำหนักทอง บ้างก็เรียก พระอารามชเวนันดอว์ หรือ พระราชมณเฑียรทอง) มีตำหนักที่พระเจ้าธีบอถวายวัด ด้วยตำหนักนี้เดิมเป็นพระตำหนักของพระเจ้ามินดง (เป็นที่นั่งวิปัสนาเจริญสมาธิของพระเจ้ามินดง ในตอนที่พระองค์ทรงประชวรก็จะมานั่งสมาธิและสิ้นพระชนม์ที่นี่ เมื่อสิ้นรัชกาล พระเจ้าธีป่อทรงครองราชย์แล้ว ก็ได้ย้ายพระอารามมาไว้ที่นอกเขตพระราชวัง จึงทำให้วัดชเวนันดอว์รอดพ้นจากการถูกระเบิดในช่วงสงครามฯ) จึงนับได้ว่าเป็นตำหนักสุดท้ายของพระราชวังมัณฑะเลย์ที่เหลืออยู่ครับ ส่วนพระราชวังมัณฑะเลย์ที่สร้างใหม่หามีความวิจิตรเทียบกับของเดิมได้ไม่. เป็นวัดที่รอดจากการถูกทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เดิมนั้น วัดชเวนันดอว์ นั้นสร้างขึ้นจากไม้สักทองและใช้ทองคำปิดตัววัดทั้งหลัง แต่ปัจจุบันได้หลุดลอกออกไปเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะด้านนอกของตัววัดชเวนันดอว์ หลังคาของพระอารามชเวนันดอว์นั้น เป็นปราสาทห้าชั้น มีความสวยงามเป็นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นยอดสถาปัตยกรรมงานแกะสลักไม้ของพม่าเลยทีเดียว
ภาพวัดชเวนันดอว์ ที่มา: pantip.com/topic/30909385, และข้อมูลปรับปรุงเสริมจาก
travel.mthai.com/world-travel/72420.html, วันที่สืบค้น 14 มีนาคม 2561.
06. วัดเจ้าก์ทัตจี (Kyauktawgyi Pagoda) ผู้คนมักเรียกว่า ตองตามานเจ้าก์ทัตจี (Taungthaman Kyauktawgi) เป็นวัดที่มีพระเจดีย์ทางพุทธศาสนาตั้งที่เมืองอมรปุระ พม่า ใกล้ทะเลสาบตองตะมาน. วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2390 (ค.ศ.1847) โดยพระเจ้าพุกามแมง (Pagan Min) โดยใช้ตัวแบบเช่นเดียวกับพระเจดีย์อนันดา ในพุกาม. ที่มา: en.wikipedia.org และ th.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 14 เมษายน 2561.
วัดเจ้าก์ทัตจี ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2451 (ค.ศ.1908) ไม่ทราบชื่อผู้ถ่าย เป็นภาพหลังการบูรณะครั้งที่ 1
ที่มา: www.bl.uk, วันที่สืบค้น 14 เมษายน 2561.
07. อ้างถึง เจดีย์ในศิลปะพม่า-มอญ: พัฒนาการทางด้านรูปแบบตั้งแต่ศิลปะศรีเกษตรถึงศิลปะมัณฑเล, ผศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2555.
08. การเดินทางของ "ประติมากรรมสำริดแห่งเมืองพระนครหลวง" "การโจมตีเมืองพระนครหลวงของเจ้าสามพระยาในปี 1974 ทำให้ประติมากรรมสำริดจำนวนทั้งหมด 27 ชิ้น ซึ่งสร้างเป็นรูปสิงห์ ช้างเอราวัณ พระอิศวร ฯลฯ ต้องจากบ้านเกิดและออกเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ นับพันกิโลเมตร พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ เล่าจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ไว้ว่า 'ศักราช 793 กุนศก (พ.ศ.1974) สมเด็จพระบรมราชาเจ้าเสด็จไปเอาเมืองนครหลวงได้ แลท่านจึงให้พระราชกุมารท่าน พระนครอีนท์เจ้าเสวยราชสมบัติเมืองนครหลวงนั้น ครั้งนั้นท่านจึงเอาพญาแก้วพญาไท และครอบครัว ทั้งพระโค แลรูปภาพทั้งปวงมายังพระนครศรีอยุทธยา' " "รูปภาพ" หรือรูปสำริดเหล่านี้อยู่ที่กรุงศรีอยุธยา 146 ปี เมื่อถึงปี 2112 อยุธยา "เสียกรุงครั้งที่ 1" พระเจ้าบุเรงนองก็ย้ายไปไว้กรุงหงสาวดี อยู่หงสาวดีได้ 30 ปี เมื่อกรุงหงสาวดีถูกกองทัพยะไข่ปล้นในปี 2142 ก็ถูกย้ายไปเมืองยะไข่อยู่ที่นั่นอีก 180 ปี ในปี พ.ศ.2327 พระเจ้าปะดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาก็มาตีกรุงยะไข่แตกและย้ายไปไว้ที่กรุงอมรปุระ ณ วัดพระมหามัยมุนี (ชาวพม่าเรียกวัดยะไข่) โดยการขนย้ายครั้งสุดท้ายจากเมืองยะไข่มากรุงอมรปุระ (เขตเมืองมัณฑะเลย์) ทำให้เกิดความเสียหายกับตัวประติมากรรมมากที่สุดและส่วนหนึ่งได้สูญหายไปจนเหลือเพียง 7 ชิ้นซึ่งตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัดจนถึงทุกวันนี้โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสัมผัสและอธิษฐานขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล, ดูหน้าที่ 93 นิตยสารสารคดี ปีที่ 29 ฉบับที่ 339 พฤษภาคม 2556.
09. ที่มา: Mandalay Palace, สำนักพิมพ์ The Directorate of Archaeological Survey,MINISTRY OF UNION CULTURE, Revolutionary Government of Union of Burma, ปีที่พิมพ์ ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506).