MENU
TH EN

1. ปฐมบท เทพปกรณัมกรีกและโรมันโบราณ

ภาพข้างต้นมาจาก www.ancientfacts.net สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2559

1. ปฐมบท เทพปกรณัมกรีกและโรมันโบราณ
First Revision: Sep.06, 2016
Last Change: Dec.16, 2024

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรต โดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา
1.
หน้าที่ 1
สำหรับเรื่องราวของ "เทพปกรณัมกรีกและโรมันโบราณ" นั้น ส่วนใหญ่จะปรากฎอยู่ในงานนิพนธ์ของมหาปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ คือ "โฮเมอร์ (Homer)"13. และ "ฮีเซียด (Hesiod)"14. ประมาณ 700 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ มีนักวิชาการได้ศึกษาอย่างละเอียดก็พบว่า การพรรณนาคุณลักษณะของทวยเทพดังกล่าว มีอิทธิพลมาจากเทพของอารยธรรม "เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia)"  ซึ่งเก่าแก่กว่ากรีกแทบทั้งสิ้น.
             
โฮเมอร์ และ ฮีเซียด
1.
หน้าที่ 2
1. ปฐมบท: เทพปกรณัมกรีกและโรมันโบราณ01.
  1.
  • แรกที่สุดของจักรวาลนั้น มีแต่ความว่างเปล่า เทพเจ้าองค์แรกมาจากละอองหมอกขมุกขมัวข้นคลั่ก ซึ่งมีสสารของทั้งจักรวาลลอยไปรอบ ๆ เป็นเทพที่ชื่อว่า "เคออส (Chaos)"02. แล้วต่อมาความโกลาหลก็ลดน้อยลง สสารบางส่วนก็จับตัวแข็งขึ้นมาเป็นโลกของเรา.
              
เคออส (Chaos)
1.
  • และได้พัฒนาเป็นตัวตนที่มีชีวิตจิตใจขึ้นมานางหนึ่ง นางเรียกตนเองว่า "ไกอา (Gaia)"03. เทพีแห่งพื้นพิภพ หรือแม่พระธรณี.
  • ไกอา นี่แหละคือโลกของเราทั้งใบจริง ๆ เลย ทั้งก้อนหิน เนินเขา หุบเขา นางชอบเดินไปทั่วโลก (หรือเดินไปบนตัวของนางเอง) ในร่างของสตรีวัยกลางคนที่สวมชุดกระโปรงสีเขียวยาวสยาย มีผมหยักศกสีดำ และมีรอยยิ้มสงบบนใบหน้า รอยยิ้มนั้นว่ากันว่า "ปิดบังจุดประสงค์ชั่วร้ายที่ซ่อนเร้นไว้" ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป.
              
ไกอา (Gaia)
1.
  • ไกอา รู้สึกเหงา ๆ มองไปก็มีแต่ความว่างเปล่า น่าจะมีท้องฟ้า เป็นบุรุษหล่อเหลาที่เธอจะตกหลุมรักได้ด้วยยิ่งดี อาจจะเป็นเพราะ เคออส ให้ความร่วมมือ (หรือไม่ก็ไม่รู้) ไกอาก็เพ่งจิตด้วยตนเอง แล้วก็มีท้องฟ้าปรากฎขึ้นเหนือพื้นโลก เป็นโดมป้องกันที่มีสีน้ำเงินในเวลากลางวันและมีสีดำในเวลากลางคืน
                
เทพอูรานอส (Ouranos) หรือ ยูเรนัส (Uranus) 05.
1.
  • ท้องฟ้าตั้งชื่อตนเองว่า "อูรานอส (Ouranos)"04. ซึ่งเป็นเจ้านภา ซึ่งมีนิสัยขี้หงุดหงิด ในร่างที่มีเลือดเนื้อ เขาตัวสูง ล่ำ และมีผมยาวสีเข้ม สวมแต่ผ้าเตี่ยว ผิวพรรณก็เปลี่ยนสีสันไปเรื่อย ๆ บ้างเป็นสีน้ำเงินลายเมฆเลื่อนลอยไปทั่วกล้ามเนื้อ บ้างก็เป็นสีดำมืดโดยมีแสงดาวพร่างพราว.
  • บางครั้ง เราอาจจะเห็นอูรานอสในภาพวาดถือกงล้อจักรราศีที่เป็นตัวแทนของกลุ่มดาวต่าง ๆ ซึ่งเคลื่อนคล้อยผ่านท้องฟ้าซ้ำไปซ้ำมาตลอดกาล.
  • และแล้วอูรานอสกับไกอาก็สมรสกัน.
  • ต่อมา เคออส ก็เริ่มสนุกขึ้นมาอีก หยดน้ำกลั่นตัวออกมาจากหมอกแห่งเคออส ไหลไปรวมกันในส่วนลึกของโลก จนเกิดเป็นทะเลผืนแรก ๆ ซึ่งก็มีชีวิตจิตใจขึ้นมา เป็นเทพชื่อว่า "พอนตัส (Pontus)" นั่นเอง.
         
พอนตัส (Pontus)
11.
หน้าที่ 3
  • เคออส ก็สนุกต่อไปอีก เพลินคิดต่อไปว่า เอาโดมแบบท้องฟ้าอีกอัน แต่อยู่ใต้โลก เป็นไง...!! คงเจ๋งไม่เบา แล้วเกิดมีโดมอีกอันขึ้นมาใต้พื้นโลก มันมืด เหนียวเหนอะ โดยรวมแล้วคือ ไม่น่าอยู่เพราะแสงจากท้องฟ้าไม่เคยส่องถึง และนี่ก็คือ "ทาร์ทารัส (Tartarus)" นั่นเอง เป็นหลุมแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง.
            
ทาร์ทารัส (Tartarus)
1.
  • ปัญหาต่อมาก็คือ ทั้งพอนตัส และ ทาร์ทารัส ต่างก็ชอบไกอา ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับความสัมพันธ์ระหว่างนางกับอูรานอส ไม่น้อย.
  • ต่อมาก็มีเทพผุดขึ้นมามากมาย ที่สำคัญคือ เคออส กับ ทาร์ทารัส นั้นมีลูกด้วยกัน ก็ยังงง ๆ ว่ามีลูกด้วยกันอย่างไรหนอ? เกิดเป็น "นิกซ์ (Nyx)"06. หรือรัตติกาลนั่นเอง
  • นิกซ์ ด้วยตัวคนเดียวอย่างไรไม่ทราบให้กำเนิดธิดาชื่อ "เฮเมร่า (Hemera)"07. ขึ้นมา
                     
นิกซ์ (Nyx) และ เฮเมร่า (Hemera)
1.
  • เฮเมร่ามีนิสัยเข้ากันไม่ได้กับนิกซ์ ซึ่งเรา ๆ ท่าน ๆ ก็พอเดาออก.
  • บางตำนานเล่าว่า เคออส สร้าง "อีรอส (Eros)"08. เทพเจ้าแห่งการให้กำเนิดขึ้นมา บางตำนานกล่าวว่าอีรอสเป็นบุตรแห่ง "อะโฟรไดต์ (Aphrodite)"09
                  
อีรอส (Eros) และ อะโฟรไดต์ (Aphrodite)
1.
  • ไกอา และ อูรานอส เริ่มมีลูกด้วยกัน ผลลัพธ์ผสมปนเปมาก แรกสุดให้กำเนิดกลุ่มสิบสองขึ้นมา หญิงหก ชายหก ที่เรียกว่า "ไททัน (Titan)"10. ลูก ๆ กลุ่มนี้ดูเหมือนมนุษย์ แต่ตัวสูงกว่า ทรงพลังมากกว่า
1.
หน้าที่ 4
ไททันตนที่ ชื่อไททัน-เพศ/ภาพ รายละเอียด11
01  โอเชียนัส บ้างก็เรียก โอเชียนุส (Oceanus or Okeanos) - เพศชาย เป็นบุตรคนโตในบรรดาพี่น้องสิบสองตน
จาก Trevi Fountain, Rome
 เป็นไททันแห่งทะเล และทุก ๆ น่านน้ำ ชอบอยู่กับปฐมเทพแห่งน้ำ "พอนตัส" ณ ส่วนลึกของทะเล อาวุธคือ ตรีศูล (Trident) ภริยาคือ เทธีส (Tethys) (เป็นน้องสาว) มีบุตรสองคน คือ 1) Okeanides และ 2) Potamoi
02  โคออส บ้างก็เรียก โคเออุส บ้างก็เรียก คอยอัส(Coeus or Koios) - เพศชาย
เป็นเทพทางทิศเหนือ (North Pole) ไททันแห่งความห่างไกล สายตา (Far-sight) การแก้ไข (Resolve) และสติปัญญา (Intelligence) ต่อมาแต่งงานกับน้องสาว "ฟีบี (Phoebe or Phoibe)"  คำว่า Koios เป็นรากศัพท์ของคำว่า "query, questioning" เป็นบิดาของ  "เลลันทอส (Lelantos)" "ลีโต (Leto)" (ชาย) และ "อัสเตเรีย (Asteria)" (หญิง) 
03  ไครอัส บ้างก็เรียก คริอุส (Crius or Kreios or Krios) - เพศชาย  เป็นไททันที่อยู่ทิศใต้ ไครอัสมีชื่อในระบบจักรราศีว่า "The Ram" เป็นเทพแห่งนักษัตร (Constellations) เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิมาจากทางทิศใต้ เป็นจุดเริ่มปีของปีปฏิทินกรีก บุตรชายของไครอัสคือ Astraios หรือ Astraeus เป็นเทพแห่งดวงดาว และภริยาคือ Eurybia เป็นบุตรสาวแห่งท้องทะเล
ไครอัส มีถิ่นพำนักอยู่ในทาร์ทารัส (Tartarus)
04  ไฮเพอเรียน, ไฮพีเรียน บ้างก็เรียก ฮิปเพอริออน (Hyperion) - เพศชาย
เป็นไททันทางทิศตะวันออก ไททันแห่งแสง ไฟ พระอาทิตย์ พระจันทร์ และรุ่งอรุณ สัญลักษณ์คือ ดวงอาทิตย์ (The Sun) อาวุธเป็นไฟ และแสง ภริยาคือ เธเอีย (Theia) (เป็นน้องสาวด้วย) มีบุตรสามคน คือ 1) เฮลิออส (Helios 2) อีออส (Eos) และ 3) ซีลีนี (Selene)
05  ไอแอพิตัส  (Iapetus or Japetus, The Piecer) - เพศชาย
เป็นไททันทางทิศตะวันตก ไททันแห่งความตาย (Titan of Mortality) ความเจ็บปวด (Pain) และความตายที่รุนแรง (Violent Death) สัญลักษณ์คือ หอก (Spear) แต่งงานกับ Klymene-Asie มีบุตรห้าคน คือ 1) Atlas (ชาย) 2) โพรมีเธอุส (Prometheus) (ชาย) 3) Epimetheus (ชาย) 4) Menoitios (ชาย) และ 5) Ankhiale (หญิง) 
06  เธเอีย บ้างก็เรียก ไธอา (Theia) - เพศหญิง
 เป็นไททันหญิง (Titaness) แห่งสายตาและการส่องแสง (Sight and Shining) ภริยาของไฮเพอเรียน เป็นมารดาของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และรุ่งอรุณ มีบุตรสามคน คือ 1) เฮลิออส (Helios) 2) อีออส (Eos) และ 3) ซีลีนี (Selene)
07  เรอา บ้างก็เรียก รีอา (Rhea) - เพศหญิง
 เป็นไททันแห่งการแต่งงาน โลก ความอุดมสมบูรณ์ ภาวะเจริญพันธุ์ การสืบทอดรุ่นสู่รุ่น ความเป็นมารดา ความสะดวกสบาย (Titaness of Marriage, earth, fertility, generation, motherhood, comfort) เรอา แต่งงานกับ โครนอส ซึ่งเป็นน้องชาย ชื่อโรมันของเรอา คือ ไซเบล "Cybele" หรือ ออฟ "Ops". เรอามีบุตรกับโครนอส หกคน คือ 1) "เฮสเทีย Hestia" (หญิง) 2) "โพไซดอน Poseidon" (ชาย) 3) Demeter (ชาย) 4) Hera (หญิง) 5) "เฮเดส Hades" (ชาย) และ 6) "ซูส  Zeus" (ชาย)
08  เธมีส บ้างก็เรียก ธีมิส (Themis) - เพศหญิง
 เป็นไททันหญิงแห่งความยุติธรรม กฎหมาย และคำสั่ง (Titaness of justice, law and order) เธมีส เป็นภริยาตนที่สองของมหาเทพซูส (Zeus - King of Olympus) เธอจะนั่งอยู่ถัดไปจากบัลลังก์ของซูส เพื่อให้คำแนะนำมหาเทพ เธอมีบุตรสององค์กับมหาเทพซูส คือ 1) The Moirai และ 2) the Horae.
09  นีโมไซน์ บ้างก็เรียก นีโมซินี่ (Mnemosyne) - เพศหญิง
 เป็นไททันหญิงแห่งความทรงจำ (Goddess of memory and remembrance) บ้างก็เป็นเทพด้านภาษา (Goddess of words and language) ซึ่งเธอประดิษฐ์ขึ้นมา เธอมีบุตรเก้าตน (ในกลุ่มที่เรียกว่า The Mousai หรือ The Muses) กับมหาเทพซูส (Zeus) ด้วยมหาเทพซูสร่วมหลับนอนกับเธอเก้าคืน ส่งผลให้เธอมีบุตรเก้าตน ในเวลาต่อมา
บุตรของเธอ ประกอบด้วย Kleio, Euterpe, Thaleia, Melpomeme, Terpsikhore, Erato, Polyhymnia, Ourania และ Kalliope
10  ฟีบี้ บ้างก็เรียก ฟีบี (Phoebe or Phoibe) - เพศหญิง
เป็นไททันแห่งความฉลาดปราดเปรื่อง (The Titanis of "Bright" intellect) เธอแต่งงานกับ โคออส (Coeus or Koios) มีบุตรด้วยกันสามตน คือ 1) "ลีโต (Leto)" 2) "อัสเตเรีย (Asteria)" และ 3) "เลลันทอส (Lelantos)
ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง ฟีบี้ บ้างนักในปกรณัมกรีก บ้างก็ว่า เธอถูกลงโทษให้อยู่ใน ทาร์ทารัส บ้างก็ว่าเธอเป็นไททันที่สงบและอิสระสถิต ณ เขาโอลิมปัส (Olympus)
11  เทธีส บ้างก็เรียก ทีธิส (Tethys) - เพศหญิง
เป็นภริยาและน้องสาวของ โอเชียนัส (Oceanus or Okeanos) ทั้งสองได้ร่วมกันสร้างแม่น้ำต่าง ๆ และท้องทะเลกว่าสามพันแห่ง มีบุตรด้วยกันสองตน คือ Oceanids และ Potamoi
 
12  โครนอส บ้างก็เรียก โครนัส (Cronos or Cronus) - เพศชาย
เป็นกษัตริย์แห่งไททัน เป็นบิดาของเทพโอลิมเปียนรุ่นแรก คือ Hestia, Demeter, Hera, Hades, Poseidon, และ Zeus  โครนอสเป็นไททันแห่งจักรวาล (The Titan lord of the universe) โครนอส ปกครองในยุคที่เรียกว่าเป็น "ยุคทอง (Golden Age)" เขาเป็นไททันแห่งกาลเวลา การเก็บเกี่ยว โชคชะตา ความยุติธรรม และความชั่วร้าย โรมันเรียกเขาว่า แซทเทอร์น (Saturn) โดยมี เรอา (Rhea) เป็นภริยา
13  ไดโอนี (Dione) - เพศหญิง (ในภายหลังได้มีการเพิ่มเข้ามาเป็นเทพีไททันองค์ที่ 13)
ไดโอนี มีที่มาจากภาษาลาตินว่า ไดอะนา (Diana) ซึ่งหมายถึง เทพีแห่งท้องฟ้าที่สดใส (The goddess of the bright sky) เป็นไททันหญิง ที่มีปราชญ์ในอดีตให้ข้อมูลที่แตกต่างกันมาก บ้างก็ว่าเธอเป็นบุตรสาวของ โอเชียนัส กับ เทธีส บ้างก็ว่าเธอเป็นบุตรสาวของไกอากับอูรานอส เธอเป็นเทพเจ้าของกรีกด้านความรัก บางครั้งก็กล่าวว่าเธอคือ อะโฟรไดต์ บ้างก็ว่าเธอเป็นมารดาของ อะโฟรไดต์
1.
2.
หน้าที่ 5
  • ไกอา และ อูรานอส ก็เริ่มเหินห่าง ทะเลาะกันเอง อูรานอส ตะโกนใส่พวกลูก ๆ บ้าง นับว่า อูรานอสเป็นพ่อที่ไม่ได้เรื่อง
  • ต่อมา ไกอา และ อูรานอส มาคืนดีกัน ได้กำเนิดแฝดสาม น่าเกลียดน่ากลัวมาก พวกเขาตัวใหญ่ทรงพลังเหมือนไททัน งุ่มง่าม นิสัยห่ามกว่า มีขนทั่วตัว พวกเขาแต่ละตน จะมีดวงตาดวงเดียวอยู่กลางหน้าผาก พวกเขาแฝดทั้งสาม นางไกอา ตั้งชื่อเป็น "ไซคลอปส์อาวุโส {The Elder Kyklopes (Cyclopes)}"12. และท้ายที่สุด พวกเขาก็ให้กำเนิดไซคลอปส์ พันธุ์หลัง ๆ ออกมา
  • อูรานอสจับไซคลอปส์ทั้งสามไว้แน่น แล้วโยนลงสู่ทาร์ทารัส ทำให้ลูก ๆ ที่เป็นไททันทั้งสิบสองตน กลัวเขามาก
  1.
ไซคลอปส์ตนที่ ชื่อ ภาพ รายละเอียด15.
1  บรอนทีส (Brontes)
ฟ้าลั่น (Thunderer)
2  สเทอโรพีส (Steropes)
ฟ้าแลบ (Flasher/Lightning-Bolt)
3  อาร์จีส (Arges) บ้างก็เรียก Acmonides หรือ Pyraemon
แสงสว่างวาบ (Brightener/Vivid-Flash)
  1.
  • ต่อมา แม้ว่าไกอากับอูรานอสจะทะเลาะกัน ต่างก็ปรับความเข้าใจ ไกอาก็ให้กำเนิดแฝดสามอีกชุดหนึ่ง น่าเกลียดน่ากลัวมากกว่าไซคลอปส์ เพราะแต่ละตนมีแขนหนึ่งร้อยแขนกระจุกรวมกันอยู่ที่หน้าอก เหมือนหนามของเม่นทะเล มีหัวเล็ก ๆ 50 หัวอยู่บนบ่า นางไกอาเรียกพวก ๆ ชุดสามแฝดนี้ว่า "พวกร้อยมือ {Hecatonchires (Hundred-handed-ones)}"
  • อูรานอสก็จับพวกเขาล่ามโซ่แล้วโยนลงทาร์ทารัส เหมือนถังใส่ขยะรีไซเคิลยังไงยังงั้น.
  • ต่อมาบรรดาพวกร้อยมือได้เป็นยามเฝ้าทางเข้าทาร์ทารัส
พวกร้อยมือตนที่ ชื่อ ภาพ รายละเอียด16
1
2
3
 คอตทัส (Cottus)
 เบรียรูส (Briareus)

 ไกจีส (Gyges)
  • ไกอา โกรธ อูรานอส มากที่ทำกับแฝดสามลูกของนางเช่นนี้ นางชูกำปั้นบันดาลให้แผ่นดินสะเทือน นางเรียกสสารที่แข็งที่สุดในปฐพี (Adamant)  เป็นใบมีดเหล็กโค้งยาวประมาณสามฟุต นางนำกิ่งไม้เล็ก ๆ มาประกบเป็นด้ามจับ - นางกล่าวว่าเป็นอุปกรณ์แห่งการล้างแค้น นั่นคือ "เคียว (Scythe)" - (An adamant Scythe)
1.
  • กลับมาที่ไททันกลุ่มแรก. โครนอส (Cronos) ซึ่งสูงประมาณเก้าฟุต เจ้าเล่ห์ "จอมอุบาย" มักเล่นสกปรกในเวลาเล่นมวยปล้ำ ชอบอยู่ในที่ที่ไม่คิดว่าเขาจะอยู่ รอยยิ้มเหมือนแม่ และมีผมหยักโศกสีเข้ม ความโหดร้ายมาจากพ่อ หนวดเคราน่าสะพรึงกลัว มีกระจุกหนึ่งแทงลงมาจากคาง เขาเกลียดการถูกเมิน เบื่อหน่ายเต็มทีกับการเป็นลูกคนเล็กที่ต้องใส่เสื้อตัวเก่า ๆ ของพี่
  • และแล้วอุบายชั่วร้ายก็ได้อุบัติขึ้น. ไกอาเชิญอูรานอส มาทานในงานเลี้ยงในหุบเขา ลูก ๆ ไททันห้าคนได้ร่วมมือกันลอบสังหารโดย โคออส ไอแอพิตัส ไครอัส และไฮเพอเรียน จับตรึงตัวไว้ ส่วนโครนอสใช้เคียวสังหาร.
  • บางตำรากล่าวว่า ด้วยแผนอันชั่วร้ายของไกอานั้น โครนอสจะต้องรอจนกว่าอูรานอสมาสมสู่กับไกอา เมื่ออูรานอสมา โครนอสซึ่งอยู่ในท้อง ก็จะใช้มีดตัดอวัยวะเพศของอูรานอส แล้วพาพี่น้องหนีออกมา เมื่อสำเร็จตามแผนและออกมาแล้ว โครนอสจะนำอวัยวะเพศของพ่อไปทิ้งทะเล เมื่อตกโดนทะเลก็จะเกิดฟองขึ้นมากมาย ท่ามกลางฟองเหล่านั้น ก็จะเกิดเทพชื่อ อะโฟรไดท์ (Aphrodite) (ในภาษากรีกคำว่า Aphrodite แปลว่า เกิดจากฟอง) และด้วยเหตุนี้อะโฟรไดท์ จึงเป็นเทพีแห่งความรักและตัณหา (เป็นที่มาของคำภาษาอังกฤษ aphrodisiac ที่แปลว่า ยาปลุกอารมณ์ทางเพศ)
  • ก่อนที่อูรานอสจะตาย ก็สาปโครนอสไว้ว่า ต่อไปลูก ๆ ของเจ้าจะมาต่อต้านทรยศเจ้า.
  • เลือดของอูรานอส กระเด็นไปหลายส่วน โลหิตของอูรานอส เป็นสีทองเรียกว่า "อิคอร์ (Ichor)"
  • อิคอร์ กระเด็นไปย้อมหิน กลายเป็นสิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นมา เป็นปีศาจสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือ "เฟียวรี่ หรือ แอเรนเยส (Furies หรือ Erinyes)" กลุ่มที่สอง คือ "ไจแอ้นท์ส์ (Giants)"18. กลุ่มที่สามคือ "มีเลีย (Meliae)" หรือพวกผีสางนางไม้ต่าง ๆ (Nymphs) 
                            
ภาพแรกด้านซ้าย: ภาพเฟียวรี่สองตน พบในหนังสือช่วงคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งคัดลอกมาจากแจกันโบราณ
ภาพที่สองด้านขวา: เทพโพไซดอนถือตรีศูล (Trident) แล้วแบกเกาะนิซิรอส (Nisyros) (เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลเอเจียน) ไว้บนบ่า ทำสงครามกับไจแอ้นท์ส์ ปรากฎในถ้วยแดงโบราณ ช่วง 500-450 ปีก่อนคริสตกาล ณ พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะ ปารีส ฝรั่งเศส (Cabinet des Medailles)
1.
  • เฟียวรี่เป็นจิตวิญญาณแห่งการลงทัณฑ์ พวกมันบินหนีไปสู่ส่วนมืดของทาร์ทารัส
  • อิคอร์ส่วนอื่น ๆ ของเทพท้องฟ้าได้กระเด็นลงบนดินอันอุดมสมบูรณ์ เป็นสิ่งมีชีวิตแห่งธรรมชาติที่จิตใจอ่อนโยน รวมทั้งพวกนางไม้ และเซเทอร์ (Satyr)19.

ภาพเซเทอร์ หน้าผากกว้าง ไว้เครา มีหางเป็นม้า กำลังใช้อวัยวะเพศยกแก้วไวน์
(เป็นภาพที่พบในหม้อของกรีกโบราณ อายุช่วง 500-490 ปีก่อนคริสตกาล)
1.
  • โครนอส แบกซากเทพท้องฟ้า (Ouranos) ไปทิ้งทะเล โลหิตผสมน้ำเค็มเกิดเป็น....
  • อูรานอส ก็เปลี่ยนเป็นอากาศธาตุ สู่ห้วงอวกาศ ไม่สามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ มามีบทบาทในโลกได้ได้อีก
  • ไกอา ตั้ง โครนอส เป็นเจ้าแห่งเอกภพ นางทำมงกุฎพิเศษให้เขา.
  • โครนอสก็รักษาสัญญา (ที่ทำไว้กับพี่ ๆ ไททันทั้งสี่ ก่อนที่จะสังหารอูรานอส) โดยยกสี่มุมโลกให้พี่ ๆ ไปปกครอง ไอแอพิตัส - ไททันแห่งทิศตะวันตก, ไฮเพอเรียน - ไททันแห่งทิศตะวันออก, โคออส - ไททันแห่งทิศเหนือ, ไครอัส - ไททันแห่งทิศใต้.

 
แหล่งอ้างอิง:
01. 1): เรื่อง "เพอร์ซี่ แจ๊กสัน กับเรื่องเล่าของเหล่าเทพ (Percy Jackson's Greek Gods)" ที่เขียนโดย Rick Riordan แปลโดย ดาวิษ ชาญชัยวานิช สำนักพิมพ์เอ็นเธอร์บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2559 ผนวกกับ
     2): หนังสือ "สัตว์ประหลาดในเทพนิยายกรีก-โรมัน" เรียบเรียงโดย Dr.Know ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 มิถุนายน 2558 ยิปซี สำนักพิมพ์ และ
     3): หนังสือ "Mythology ทวยเทพและตำนานสัตว์ประหลาดกรีก-โรมัน - สารานุกรมความรู้ต้นอารยธรรมตะวันตก" เรียบเรียงโดย Dr.Know ฉบับพิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2557 ยิปซี สำนักพิมพ์ เป็นแกนหลักในการรจนา.
     4): Mythology: Timeless Tales of Gods Heroes, ประพันธ์โดย อดิธ แฮมิลตัน, ISBN: 978-0-316-43852-0, พ.ศ.2560, ตีพิมพ์ในประเทศจีน, สำนักพิมพ์ BLACK DOG & LEVENTHAL, www.hachettebookgroup.com.
     5): Percy Jackson's GREEK GODS, ประพันธ์โดย ริค ริออร์แดน, ISBN 978-1-4847-8980-3, พ.ศ.2559, ตีพิมพ์ในประเทศจีน, www.DisneyBookd.com, www. ReadRiordan.com.
02.  เคออส ตามรากศัพท์แปลว่า Gap หรือช่องว่าง. เคออส (Chaos) เป็นความเวิ้งว้างมหึมา หาขอบเขตมิได้ เคออส นั้นเป็นเทพแห่งการทำลาย
03.  จาก. enwikipedia.org/wiki/Uranus_(mythology), ไกอา บ้างก็เรียก จีอา (Gaia) เป็นชื่อเรียกของ Greek ซึ่ง Roman เรียกว่า "เธร่า (Terra)", วันที่สืบค้น 07 กันยายน 2559.
04.  จาก. enwikipedia.org/wiki/Uranus_(mythology), อูรานอส เป็นคำเขียนว่า "ยูเรนัส (Uranus)" (หรือดาวมฤตยู) อีกแบบหนึ่ง Roman เรียกว่า "ไคลัส (Caelus)", วันที่สืบค้น 07 กันยายน 2559.
05.  จาก. Glyptonik Munich, Aeon-Uranus & Zodiac-Wheel, Greco-Roman mosaic C3rd A.D. (สองภาพซ้าย), จาก. Muse'e de L'Arcles Antique, Arles, France (ภาพขวา).
06.  นิกส์ (Nyx) เป็น เทพีแห่งราตรีหรือรติกาล (Greek goddess of the night) บางตำราก็กล่าวว่าเนื่องด้วย ความว่างเปล่าที่สับสนวุ่นวาย การตกตะกอน กำเนิดเป็นสิ่งแรกคือ "หลุมดำเอรบัส (Erebus)" อันเป็นต้นกำเนิดของนิกส์
07.  เฮเมร่า (Hemera) เป็น Day
08.  อีรอส (Eros) หากเป็นเทพที่โรมันเรียก ก็จะเป็น "คิวปิด (Cupid)"
09.  อะโฟรไดต์ (Aphrodite) โรมันเรียก "วีนัส (Venus)"
10.  ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/ไททัน_(เทพปกรณัม) และ en.wikipedia.org/wiki/Titan_(mythology), วันที่สืบค้น 21 กันยายน 2559, ไททัน (Titan) เป็นเทพสิบสององค์ที่เรืองอำนาจในช่วงยุคทอง (Golden Age) และถูกล้มล้างอำนาจไปโดยเทพโอลิมปัส (Olympian) เทพไททันสิบสององค์ที่เป็นบุตรของอูรานอสและไกอา ประกอบด้วย 1) โอเชียนุส (Oceanus) 2) โคเออุส (Coeus) 3) คริอุส (Crius) 4) ฮิปเพอริออน (บ้างก็เรียก ไฮพีเรียน) (Hyperion) 5) ไอแอพิทัส (Iapetus) 6) ไธอา (Theia) 7) รีอา (Rhea) 8) ธีมิส (Themis) 9) นีโมซินี (Mnemosyne) 10) ฟีบี (Phoebe) 11) ทีธิส (Tethys) 12) โครนัส (Cronus) และในภายหลังได้มีการเพิ่ม ไดโอนี (Dione) เข้ามาเป็นเทพีไททันองค์ที่ 13 ด้วย. 
11.  ปรับปรุงจาก. greekmythology.wikia.com/wiki/..., วันที่สืบค้น 23 กันยายน 2559.
12.  ไซคลอปส์ (Cyclops)  (Cyclopes - พหูพจน์) มีตาดวงเดียวอยู่กลางหน้าผาก คำว่า ไซคลอปส์ แปลว่า ตาเป็นวงกลม (round-eyed หรือ circle-eyed) มีฝีมือในด้านช่างเหล็ก (Builders and Craftsmen)
13.  โฮเมอร์ (Homer) เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นผู้ประพันธ์ "อิลเลียด (Iliad)" และ "ออเดสซี (Odyssey)" ได้รับการยอมรับจากชาวกรีกโบราณในฐานะที่เป็นมหากวีท่านแรกและผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ประพันธ์วรรณกรรมยุโรปอันเป็นที่รู้จักท่านแรก ท่านเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อประกายองค์ความรู้นี้ในยุโรป (ปรับปรุงจาก en.wikipedia.org/wiki/Hesiod, วันที่สืบค้น 6 ตุลาคม 2559)
14.  ฮีเซียด (Hesiod) เป็นกวีชาวกรีก มีชีวิตอยู่ในช่วง 750-650 ก่อนคริสต์กาล ยุคเดียวกับโฮเมอร์ (ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Hesiod, วันที่สืบค้น 6 ตุลาคม 2559).
15.  ภาพกับชื่อไซคลอปส์อาวุโส 
{The Elder Kyklopes (Cyclopes)} ไม่ตรงกัน เพราะจากการสืบค้น จะได้ภาพบอกชื่อรวม ๆ ไม่ได้ระบุว่าเป็นภาพของไซคลอปส์ตนใด แต่ได้แสดงไว้เป็นแนว ซึ่งไซคลอปส์อาวุโสนี้ มีความสามารถด้านการตี หล่อเหล็กมาก.
16.  ภาพกับชื่อพวกร้อยมือ 
{Hecatonchires (Hundred-handed-ones)} ไม่ตรงกัน เพราะจากการสืบค้น จะได้ภาพบอกชื่อรวม ๆ ไม่ได้ระบุว่าเป็นภาพของร้อยมือตนใด แต่ได้แสดงไว้เป็นแนว.
17.
  ชื่อเทพกรีก (Greek Gods) เทียบเท่ากับชื่อเทพโรมัน (Roman Mythology)
หรือภาษาละติน
  ไกอา (Gaia or Gaea) เธร่า (Terra)
  อูรานอส หรือยูเรนัส (Ouranos or Uranus) ไคลัส (Caelus)
  อีรอส (Eros) คิวปิด (Cupid)
  อะโฟรไดต์ (Aphrodite) วีนัส (Venus)
  โครนอส หรือ โครนัส (Cronos or Cronus) แซทเทิร์น (Saturn)
  ซูส (Zeus) จูปิเตอร์ (Jupiter)
  เฮรา (บ้างก็เรียก ฮีรา) (Hera) ยูโน (บ้างก็เรียก จูโน) (Juno)
  โพไซดอน (Poseidon) เนปจูน (Neptune)
  เฮเดส (Hades) พลูโต (Pluto)
  อีออส (Eos) ออโรร่า (Aurora)
  ซีลีนี (บ้างก็เรียก เซลีน) (Selene) ลูน่า (Luna)
  Hephaistos Vulcan
  ดีมิเทอร์ (Demeter) ซีริส (Ceres)
  Apollo Apollo
  Athena Minerva
  Artemis Diana
  Ares Mars
  Hermes Mercury
  ไดโอไนซัส (Dionysus) Bacchus
  เฮสเทีย (Hestia) เวสต้า (Vesta)
  Persephone Proserpine
1.
18. ไจแอ้นท์ส์ (The Giants) บ้างก็เรียก ไจแกห์นทีส์ (Gigantes) นั่นคือพวกยักษ์ มุทะลุ รูปร่างใหญ่โต ต่อมาได้ต่อสู้กับเหล่าเทพแห่งโอลิมปัส (Olympian gods)
19. จาก. th.wikipedia.org/wiki/เซเทอร์, วันที่สืบค้น 9 พ.ย.2559, "เซเทอร์ (Satyr) ตามตำนานเทพปกรณัมกรีก เป็นมนุษย์ในวัยหนุ่ม มักมีหูเป็นม้า มีเขาเล็กเหมือนแพะ มีขาเป็นแพะ มักท่องเที่ยวในป่าและภูเขา บางตำราบอกว่าเป็นเทพารักษ์ อีกทั้งยังเป็นผู้ติดตามของเทพแพน (Pan) และเทพไดโอไนซัส (Dionysus) อีกด้วย ในเทพปกรณัม เซเทอร์เกี่ยวข้องกับพลังทางเพศของเพศชายและผลงานศิลปกรรมกรีก-โรมัน มักสร้างภาพของเซเทอร์ให้มีอวัยวะเพศที่ตั้งชูชัน.
1.
2.
3.
humanexcellence.thailand@gmail.com