MENU
TH EN

ล้านนามหาปกรณัม ตอนที่ 5

Title Thumbnail: ด้านหน้าบันไดพญานาคและประตูทางเข้าวัดป่าแดงมหาวิหาร เชียงใหม่, ถ่ายไว้เมื่อ 5 เมษายน 2564. Hero Image: วัดมหาวัน ท่าแพ ไม่ทราบปีที่ถ่าย.
ล้านนามหาปกรณัม ตอนที่ 5
First revision: Sep.08, 2021
Last change: Nov.06, 2021
 


สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ล้านนามหาปกรณัม
ความทรงจำแห่งอภินวบุรี-ศรีหริภุญชัย

ณ ห้อง 601 ชั้น 6 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ
เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี แขวง/เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ครั้งที่ 9 ศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 / 10:30-11:30 น. และ 13:00-14:30 น.

 
ความเสื่อมของราชวงศ์มังราย หลังรัชกาลมหาราชเมืองแก้ว
1. ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
 ค.ศ.1526/พ.ศ.2069  เดือน 3 ของ จ.ศ.887 (7 กุมภาพันธ์) เจ้าพรญาแก้วสวรรคต เมื่ออายุได้ 44 ปี กินเมือง 30 ปี พระราชโอรสองค์โตได้สืบราชสมบัติ (ชินกาลมาลีปกรณ์)
 "แล เสนาอามาจทังหลาย ไปเอาเชษฐราชบุตรเป็นน้องพญาแก้ว คือ ลูกพญายอดเชียงรายอยู่เมืองน้อยมานั่งแท่นแก้วแทนในปีดับเล้า เดือน 5 แรม 8 ค่ำ (5 กุมภาพันธ์ 2069) ท่านเกิดปีเมืองไส้ สก 859 (พ.ศ.2040/41) อายุได้ 19 ปี ได้เสวยเมืองเถิงปีรวายเส็ด สก 888 ตัว (พ.ศ.2069/70) อายุท่านได้ 30 ปี จีงราชาภิเสกยังข่วงหลวงได้ชื่อว่า "พญาเกศ". 
 ค.ศ.1528/พ.ศ.2071  ทรงให้บูรณะวัดโลกโมฬี บริเวณบ้านหัวเวียง เป็นวัดประจำพระองค์
  ค.ศ.1532/พ.ศ.2075  เอาทูตอโยธยาไปไหว้พระธาตุลำพูน
  ค.ศ.1535/พ.ศ.2078  หมื่นสร้อยสามล้านเมืองนครและบุตร (หมื่นหลวงชั้นนอก) และหมื่นยี่ล้านคิดเป็นกบฎ แต่เผอิญถูกจับได้.
  ค.ศ.1537/พ.ศ.2080  วันจี่ซื่อ เดือน 10 ปีที่ 16 รัชสกเจียชิ่ง (1537/2080) วังเหวินซิ่ง ผู้ตรวจราชการยูนนานและกรมการกราบบังคมทูลว่า "ตาวหล่านนา แห่งสำนักข้าหลวงปกครองปาไป๋ และตาวส้าน (ท้าวสาม) หัวหน้าชนพื้นเมืองแห่งเชอหลี่ใกล้กับหล่าวอัว ... ต่างมีทหารและผู้คนจำนวนมาก สามารถเตรียมไว้ใช้เป็นกำลังปราบปรามได้ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตให้บุคคลทั้งสอง ได้สืบทอดตำแหน่งโดยมิต้องตรวจสอบคำหับอีก" (ข้อมูลนี้แสดงว่า มีการเปลี่ยนรัชกาลที่เชียงใหม่ (เจ้าพ่อท้าวชัย) จึงไปขอการรับรองจากจีน ตำแหน่งขุนที่ยังไม่ทราบว่ามีฐานะอย่างไร) องค์จักรพรรดิมีพระราชโองการแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูล.
 ค.ศ.1538/พ.ศ.2081  เสนามาตย์ถอดเจ้าเกษ เนรเทศไปกินเมืองน้อย (เมืองที่ไม่ค่อยสำคัญ) เอาเจ้าท้าวซายเป็นกษัตริย์ หื้อพญาสุทัสนะไปกินเชียงแสน (เมืองสำคัญ มีนาเยอะมาก).
 ค.ศ.1543/พ.ศ.2086  ถอดท้าวเจ้าซายออกฆ่าเสีย เจ้าเกษกลับมาครองราชย์ใหม่.
 ค.ศ.1545/พ.ศ.2088  แสนคร้าว (น่าเป็นตำแหน่งเทียบกับอัครมหาเสนาบดี) เป็นกบฎลอบปลงพระชนม์พระเกษเกล้า ในเวลานั้น ขุนในเมืองเชียงใหม่ แบ่งเป็น 3 พวก.
  1. กลุ่มแสนคร้าว (คร้าว หมายถึง อัคระ -- อัครมหาเสนาบดี ผู้เป็นตำแหน่งใหญ่สุด) ให้ไปเชิญเจ้าเมืองเชียงตุง (มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางเชียงใหม่) มาเป็นกษัตริย์ เจ้าเชียงตุงปฏิเสธ จึงให้ไปเชิญเถ้าเมืองนาย (แบ่งรับแบ่งสู้ แต่ก็เปลี่ยนใจมา) แต่ยังมาไม่ถึง ในภายหลัง เมื่อยกจากเชียงแสนมาตีได้เมืองเชียงใหม่ เอาแสนคร้าวและหมื่นเตริน (เถิน) ฆ่าเสีย แล้วเชิญพระนางจิระประภาเทวีขึ้นเป็นกษัตริย์ (อาจจะเป็นพระชายาของเจ้าเมืองเกษแก้ว)
  2. เจ้าหมื่นสามล้าน (อ้าย) เจ้าเมืองนคร หมื่นแก้วเจ้าเมืองเชียงราย หมื่นมโนเจ้าเมืองเชียงแสน หมื่นยี่เจ้าเมืองพาน หมื่นหนังสือหลวง เจ้าขุนทังหลายพร้อมกันยังเชียงแสน จึงหื้อหมื่นตาแสงพ่อนาย (ตำแหน่งขุนที่ยังไม่ทราบว่ามีฐานะอย่างไร) ไปอาราธนาพญาล้านช้าง ก็รับปฏิญาณว่าจักมากินเชียงใหม่ เจ้าอุปโยราชก็ยังมาไม่ถึง
  3. หมื่นหัวเคียนแสนหวี เอารี้พลมาเมืองเชียงใหม่ จะเอาแสนคร้าวฆ่าเสีย แต่ยึดเชียงใหม่ไม่ได้จึงหนีไปหริภุญชัย จึงไปเชิญให้กษัตริย์อโยธยามาตีเชียงใหม่.
 - ทัพพระชัยราชาธิราชยกมาตั้งนอกเมือง พระนางจิระประภาเทวีถวายเครื่องราชบรรณาการ
 1 กรกฎาคม: พญาใต้บรมไตรจักรไว้เงินหื้อสร้างกู่เฝ่า 5,000 เงิน กับผ้าทรงผืน 1 กับหื้อรางวันแก่เจ้าขุน / ฝูงไปต้อนรับชุคน
 11 กรกฎาคม: เถ้าเมืองนายฟ้ายองหูยนำทัพมาจะตีเชียงใหม่ ยอดมหาเจดีย์หลวงและเจดีย์วัดพระสิงห์หักพังตก เจดีย์หลังอื่นหักตกมากนัก
 ต้นสิงหาคม 2088 - เถ้าเมืองนายฟ้ายองหูย (ยองห้วย) เอาริพลมาตั้งอยู่เวียงสวนดอก.  
 ค.ศ.1545/พ.ศ.2088  เจ้าอุปโยราชเสด็จมาถึงเชียงใหม่ เสด็จขึ้นครองราชย์ นั่งแท่นแก้วโรงหลวงกับพระราชธิดาทั้ง 2 คือ พระตนทิพย์เป็นอัครมเหสี กับพระตนคำเป็นน้อง.
 อภิเสกแล้วไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ และวัดพระเจดีย์หลวง เพื่อไหว้พระแก้วมรกต เจ้าอุปโยราช (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช) ตั้งเจ้าขันธ์ 5 ตน ระบบเจ้าขุนขันธ์คำทั้งห้า ให้มีฐานะเท่าเทียมกัน
  ค.ศ.1547/พ.ศ.2090  อุปโยราชกลับล้านช้าง. ต่อมาเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เกิดจลาจล...ต่อมาก็ขอเวนคืนให้พระนางจิรประภา
  ค.ศ.1551/พ.ศ.2094  หม่างซุ่ยถี่ หัวหน้าชนพื้นเมืองผิงเหมียน (คำว่า ผิงเหมียน เป็นชื่อที่ราชวงศ์หยวนได้เคยเรียกพม่า เมื่อครั้งที่พม่าถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13) ยึดสำนักข้าหลวงปกครองกู่ลา (กุลา) แล้วสังหารหัวหน้าชนเผ่ากู่ลาเสีย จากนั้นรุกเข้าเมิ่งหย่าง ปาไป๋ และหล่าวอัว.  
  ค.ศ.1566/พ.ศ.2109  หมางรุยถี่ (พระเจ้าบุเรงนอง - Bayinnaung - ของพม่า) ผู้เป็นบุตรจี่ซุ่ยตือ (คงหมายถึง ตะเบ็งชะเวตี้ แต่ข้อมูลจากเอกสารจีนสมัยหลังนี้ ดูเหมือนคลาดเคลื่อนไปมาก) ยึดตังโหว่ (เมืองตองอู) สังหารบิดาบุญธรรมด้วยยาพิษ แล้วยึดดินแดนทั้งหมด จากนั้นก็วางแผนทำลายเต๋อหลิง และยึดดินแดนโดยพลการ ต่อมาได้ตีหลานจ่าง (ล้านช้าง) ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งก็คือ เหล่าอัว จนล่มสลายลงและยึดถูหย่า ซึ่งก็คือ เซียนหลัวทางด้านทิศใต้ อีกทั้งยังตีจิ่งไม่ ยึดเชอหลี่ จับตัวซือเก้อ ทำลายกันป๋า และรวบยึดซานซวนตั้งตัวเป็นใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ... เขตแดนของพม่าด้านทิศตะวันออกจดเขตสำนักข้าหลวงปกครองปาไป่ (ปาไป่ต้าเตี้ยน) ถูกผนวกเข้ากับพม่าในระหว่างรัชศกเจียชิ่ง (1522-1566) ส่วนเจ้าผู้ครองเมืองหลวงได้หนีไปอยู่ที่เจิ่งเซี่ยน (เชียงแสน) ซึ่งเรียกว่า ปาไป่น้อย แต่นั้นมาก็ไม่ได้มาถวายเครื่องราชบรรณาการอีกเลย [หมาง] อิ้วหลี่ กษัตริย์พม่าได้ทรงตั้งให้ จิ่งหลง ผู้เป็นพระอนุชาทรงปกครองเมืองจิ่งไม่ (เชียงใหม่) เพื่อเป็นปราการป้องกันพม่าทางปีกขวา.
 ค.ศ.1583/พ.ศ.2126  หมางอิ้วหลี่ สมทบทับทหารเมิ่งหย่าง เมิ่งมี่ (เมืองมีด ในรัฐไทใหญ่ของพม่า) เชอหลี่ และปาไป่ยกล่วงล้ำดินแดนเข้ามา หลิวซือเอิง ผู้ตรวจราชการให้เติ้งจื่อหลง ผู้เป็นบุตรนำกำลังปราบปรามจนแตกพ่ายไป.
 ค.ศ.1586/พ.ศ.2129  ฝ่ายกลาโหมรายงานว่า แม่ทัพแห่งยูนนานชื่อ หลิวซื่อเจิ่ง และพวกได้รายงานว่า "หัวหน้าเผ่าหมางแห่งพม่าได้บังอาจตั้งตนเป็นกษัตริย์ยึดครองดินแดนของพวกอี๋ทั้งหลาย บัดนี้ได้ใช้แสนยานุภาพปราบปรามให้คืนสุู่ความสงบดังเดิม ยกเว้นเพียงปาไป่เท่านั้นที่ยังคงลังเลใจอยู่"
 ค.ศ.1587/พ.ศ.2130  (หมิงสือ-เอกสารราชสำนักงานราชวงศ์หมิง) ปีที่ 15 รัชศกว่านลี่ ตระกูลตาว (น่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์) ได้ถวายฎีกา ขอให้ส่งกำลังไปช่วยกอบกู้ปาไป่ต้าเตี้ยน แต่ราชสำนักตอบปฏิเสธ ปาไป่ต้าเตี้ยน จึงตกเป็นของพม่าไปเสียช้านาน.

       เจ้าเมกุ หรือ พญาแม่กุ เป็นเจ้าฟ้าเมืองนาย น่าจะมีเชื้อสายราชวงศ์มังราย ได้รับการอัญเชิญมาครองเมืองเชียงใหม่ โดยบุเรงนอง ต่อมาชาวเชียงใหม่ก็ลุกฮือต่อต้านม่าน (พม่า) (มิละมา-เมียนม่าร์) แผ่นดินเมืองหลวงของล้านนา ก็เปลี่ยนจากเชียงใหม่ มาเมืองเชียงแสน

       บุเรงนอง บัญชาให้เมืองน้อยใหญ่ ส่งกองทัพไปตีอโยธยา พญาเมกุไม่ส่งทัพไปช่วย กาลกลับตาลปัตร อโยธยาเสียให้แก่บุเรงนอง มีคำถามว่าบุเรงนองเคยมาเมืองเชียงใหม่หรือไม่? จากหลักฐานจดหมายเหตุฉบับยอสวิน บุเรงนองมาเชียงใหม่ 2 ครั้ง.




ประเด็นสำคัญเพื่ออภิปราย

1.  ภาพลักษณ์ของมหาราชเมืองแก้วในประวัติศาสตร์นิพนธ์ล้านนา

     1.1  เป็นกษัตริย์เดียวที่ประกอบพิธีราชาภิเษก 3 ครั้ง
             -  ค.ศ.1518/พ.ศ.2061 -- สรงมูรธาภิเศกพระราชาธิบดี (ชินกาลฯ) ได้พระยาช้างเผือก
     1.2  การสร้างพระมณเฑียรสถานที่หริภุญชัย และที่เชียงใหม่
             - ค.ศ.1512/พ.ศ.2055  -- สร้างราชมณเฑียรที่บ้านศรีบุญยืนที่แม่น้ำทั้งสองเข้ามาหากันด้านทิศเหนือหริภุญชัย.
             - ค.ศ.1522/พ.ศ.2065  -- ให้เก็บหนังสือสัญญาพระราชไมตรีที่พระเจ้าอริมัทนปุระกับหนังสือพระราชไมตรี
                                                ของหงสาวดีไว้ที่เชิงพระธาตุหริภุญชัย.
                                            --  เจ้าราชบุตรชื่อ ชัยคงคา แห่งเชียงตุงมาถือน้ำพระพิพัท 
     1.3  ศิลปวัฒนธรรมรุ่งเรือง
     1.4  "รุธิราช" ผู้คุ้มครองราชอาณาจักร การสร้างกำแพงเมืองลำปางและเมืองเชียงใหม่.

2. 
สถาบันกษัตริย์ล้านนา

     2.1  สิทธิธรรมในการเสด็จขึ้นครองราชย์
            -  ค.ศ.1495/พ.ศ.2038 -- ราชวงศ์ปกรณ์กล่าวว่าขุนนางถอดเจ้ายอดเชียงราย.
            -  ค.ศ.1497/พ.ศ.2040 -- เมืองแก้วขอตราตั้งจากจีน.

            -  ค.ศ.1514/พ.ศ.2057 -- โปรดให้สร้างศาลามหาวินิจฉัยในเชียงใหม่.
            -  ค.ศ.1516/พ.ศ.2059 -- โปรดให้ก่อกำแพงศิลาเมืองหริภุญชัย มีโวหริตมหาเสนาบดีเป็นหัวหน้าสร้าง
                                               กำแพงในฤดูแล้ง.

            -  ค.ศ.1517/พ.ศ.2060 -- ก่อกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้วยอิฐ.
            -  ค.ศ.1520/พ.ศ.2063 -- ต้นปี โปรดฯ ให้ยกปราสาท 4 องค์ในพระราชวัง.
            -  ค.ศ.1520/พ.ศ.2063 -- ราชาภิเสกเจ้าแก้วซ้ำเป็นครั้งที่ 3 เมื่อพระชนม์ได้ 39 ปี.

     2.2  บทบาทของพระราชมารดาและกลุ่มข้าราชการ และระบบราชการ
            สมเด็จบพิตรพระสวัสติสรีธรรมจักกวัตติ มหาราช กับ ราชมาตามหาเทวี "พระเจ้าแม่ลูกทั้งสอง"
            รายชื่อบรรดาขุนทั้งหลาย:
                 -  เจ้าหมื่นเชียงแสนคำล้าน
                 -  เจ้าเมืองนครสีทัตถมหาสุรมนตร
                 -  เจ้าหมื่นหนังสือติกผยา
                 -  "เจ้าหัว" แสนญาณกัลยากินเมืองพเยา
                 -  ปาเทพมหาอำมาตย์
                 -  หมื่นมาลานคร
                 -  โวหริดมหาเสนาบดี
       2.3  ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน และประเทศราช

3. 
การสงคราม: ภาคสองของ "โยนรัฐ-อโยธยามหายุทธ์"
            -  ค.ศ.1506/พ.ศ.2049 -- เฒ่าเมืองคำขร่ายฟ้า พาพวกมาสวามิภักดิ์ให้ไปกินเมืองแพร่ แล้วย้ายไปเมืองเซิง.
            -  ค.ศ.1507/พ.ศ.2050 -- ไปตีสุโขทัยแต่ไม่สำเร็จ.

            -  ค.ศ.1508/พ.ศ.2051 -- ขะลาโหชาวใต้มาตีแพร่ เจ้าเมืองน่านไปรับศึก พ่ายแพ้เสียขุนหมื่นจำนวนมาก.
            -  ค.ศ.1510/พ.ศ.2053 -- รบกับขะลาโหอีก เจ้าเมืองนครรบเอาชนะได้.
            -  ค.ศ.1515/พ.ศ.2058 -- หมื่นมาลานครเอาพลไปรบกำแพงเพชร เอาไม่ได้ จึงไปตีสุโขทัยด้วย.
                                           --  กษัตริย์อยุธยาได้เมืองลำปางและยึดเอาพระพุทธสิขีไปจากวัดกู่ขาว.

4. 
การพระศาสนา
       -  คณะสงฆ์ 3 คณะ: สวนดอก ยางควง ป่าแดง
       4.1  พระราชกรณียกิจด้านศาสนา:  คัดลอกพระไตรปิฎก การถวายพระไตรปิฎก 60 คัมภีร์แก่พระเจ้ากรุงล้านช้าง
            ค.ศ.1519/พ.ศ.2062
                   -- นำราชทูตของประเทศราชสรงน้ำพระสีหฬปฏิมา และทรงสดับนิทานเรื่องมหาเวสสันดรและให้เขียนคัดไว้.
                   -- เรี่ยไรเงินจากผู้ศรัทธาและทูตประเทศราช นำเงินมาสร้างกำแพงพระมหาธาตุลำพูน
                      ส่วนองค์พระมหาธาตุล้อมด้วยรั้วทองเหลือง.
                   -- อัญเชิญพระปฏิมาสำริดหนักประมาณ 3 ล้าน (3,600 กิโลกรัม) ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นวัดกุมกามทีปาราม
            ค.ศ.1525/พ.ศ.2068
                   -- โปรดให้อัญเชิญพระแก่นจันทน์ไปประดิษฐานที่วัดโพธาราม.

       4.2  รายชื่อวัดและถาวรวัตถุที่สร้างและบูรณะ
 ค.ศ.1496/พ.ศ.2039  วัดบุพพาราม  ค.ศ.1497/พ.ศ.2040  สร้างปราสาทองค์หนึ่งราม เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปท่ามกลางมหาวิหารวัดบุพพาราม
 ค.ศ.1498/พ.ศ.2041  ฉลองพระไตรปิฎกฉบับทองและหอพระมณเทียรที่สร้างไว้ในวัดบุพพาราม ... ฉลองวัดกุมารารามซึ่งพระนางสิริยสวดีพระราชชนนีได้สร้างไว้ ณ บ้านเกิดของพระนางที่เมืองกุสาวดี (เมืองหญ้าคา)  ค.ศ.1511/พ.ศ.2054  ทำกำแพงล้อมรอบพระธาตุเจดีย์หลวงสามชั้น ได้เงินเรี่ยไร หนัก 220,000 เอาเงินนั้นไปซื้อทองได้ทอง 25,000 เอามาตีเป็นแผ่นบุพระธาตุ
 ค.ศ.1512/พ.ศ.2055  พระมหาเทวีเจ้าตนย่าให้หมื่นหมอสุเมธานำพระพุทะรูปเจ้าองค์หนึ่งมาฐาปนาไว้ในสุวรรณอาราม อารามนี้คือหากเป็นนาบุญ แต่พระมหาเทวีเจ้าตนย่า มาต่อเท่าเถิงพระเป็นเจ้า (ทั้ง) สองพระองค์บัดนี้แล  ค.ศ.1514/พ.ศ.2057  สร้างวิหารหลวงพระธาตุหริภุญชัย โปรดให้ขุดบูรณะฐานพระเจดีย์หลวง กลางเมืองเชียงแสน
 ค.ศ.1520/พ.ศ.2063  เมืองแก้ว กับพระราชมารดาให้จัดงานยกฉัตรพระมหาเจดีย์ วัดทัฆาชีวิตสาราม  ค.ศ.1523/พ.ศ.2066  สร้างพระวิหารหลวงวัดกู่คำ เวียงกุมกาม

       4.3  การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
 ค.ศ.1498/พ.ศ.2041  ฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทอง 
 ฉลองวัดกุมารารามซึ่งพระนางสิริยสวดี พระราชชนนีได้สร้างไว้ ณ บ้านเกิดของพระนางที่เมืองกุสาวดี (เมืองหญ้าคา)
 เจ้าหมื่นเชียงแสนคำล้าน เอาวัดปราสาทถวายแก่ "สมเด็จบพิตรพระเป็นเจ้าทั้งสองพระองค์"
 ค.ศ.1500/พ.ศ.2043  "สมเด็จบพิตรมหาราชเจ้าตนเป็นอธิบดีในศรีพิงคราษฎร์เชียงใหม่" กับ "พระกรรโลงรักอัครราชมาตา" มีญาณยุตวิสุทธศรัทธาในพระศาสนามากนัก มักให้มั่นคงเป็นเค้าเป็นมูลในหริปุญชบุรี ... อวยไอศวรสมบัติพัสดุทั้งหลายหมายมีต้นว่า สัปตรัตนะนองเนือง นำมาบูชาพระมหาธาตุเจดีย์เจ้าอันเป็นเหง้าเกล้าพระสุธาทุกปีเดือนมิได้ขาด.
       1.  สร้างพระธรรมมนเทียรอันอาเกียรณ์ด้วยคำมาส ด้วยสุพรรณบุษบาผกาวัลย์เป็นอัศจรรย์อติเรก.
       2.  สมเด็จมหาราชเจ้าให้สร้างพระธรรมอันเป็นพุทธวาจาตราได้ 8 หมื่นสี่พันขันธ์ กับกันถันตรปกรณ์ สาตุถกถา ฎีกานุฏีกาคณนาทั้งมวลได้ 420 คัมภีร์.
       3.  ทรงสร้างพระพุทธรูปทองคำ จุ่งให้สมเด็จมหาราชเจ้าทั้งสองพระองค์ทรงธนสารสองประการ คือ อัชฌัตติกพาหิรธน อันบริบวรณ์ดี สมเด็จพระธรรมิกราชเจ้ากับพระอัครราชมาดาบพิตรก้อุทสพระราชกุศลแลโกฐาส์... ให้แด่สมเด็จพระบิดา มหาอัยกะอัยกา.
 ค.ศ.1502/พ.ศ.2045  "เจ้าหัว" แสนญาณกัลยากินเมืองพเยาอุทิศข้าคนสร้างวัด พระมหาราชเทวีเจ้า เจ้าหน่วยนางตนแม่ให้ฝังสีมาวัดพระ (ศรี) เกิด
 ค.ศ.1503/พ.ศ.2046  เจ้าเมืองนครสีทัตถมหาสุรมนตรี หล่อพระเจ้าล้านทอง พระธาตุลำปางหลวง
 ค.ศ.1504/พ.ศ.2047  ทำแบบปั้นหุ่นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดบุปผาราม
 ค.ศ.1505/พ.ศ.2048  หล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ใช้ทองแดงหนักเรือนโกฏิ มีที่ต่อถึง 8 แห่ง
 ค.ศ.1521/พ.ศ.2064  ต้นปี โปรดให้ขุดรากฐานพระเจดีย์หลวง ก่อตั้งแต่ฐานพระเจดีย์ขึ้นไปใหม่ องค์พระเจดีย์กว้างด้านละ 8 วา 2 ศอก สูง 14 วา 2 ศอก
 ค.ศ.1522/พ.ศ.2065  เขียนคัดพระไตรปิฏกในวัดป่าแดงมหาวิหารใหม่อีกครั้ง
 อัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์แดงมาประดิษฐานที่วัดบุพพาราม
 พระยาอาทิตย์กินเมืองใต้ส่งราชทูตมา โปรดให้ไปนมัสการพระแก่นจันทน์ที่วัดบุพพาราม
 โปรดให้นำพระกัมโพชไปบูชาที่ปราสาทหอคำ
 โปรดให้ราชทูตอโยธยาไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุหริภุญชัย

       เรื่องมหาเทวีจิรประภา กับ พระนางวิสุทธิมหาเทวี นั้น ดูออกจะมีความสับสน ในเอกสารของพม่าได้กล่าวชื่อถึงสตรีที่ปกครองเชียงใหม่ เป็นชื่อของทั้งสองสตรีรวมกัน ??? เป็นองค์เดียวกัน หรือต่างกัน ควรต้องมีการศึกษาลงรายละเอียดกันต่อไป.

5.  ประเด็นเฉพาะ
       5.1  ความรุ่งเรืองของพุทธศึกษาและวรรณกรรมบาฬี
               -  ภูมิหลัง ราว ค.ศ.1100
        จารึกของกษัตริย์พุกามกล่าวถึง สยาม ดิถี (เดียรถีย์-ไม่นับถือศาสนาพุทธ วิญญาณนิยม) สยาม เป็นนางรำในเทวสถาน และชาวพม่า-ทิเบต (Burma-Tibetan) อาณาจักรพยูถึงทำลาย พวกพม่าก็เข้ามา พวกอาณาจักรหนานเจ้า ต่อมาเป็นอาณาจักรต้าหลี่...สกุลต้วน หริภุญชัย มีภูมิหลังทางพระพุทธศาสนาเป็นมหายาน จารึกเป็นภาษาสันสกฤต
       โยงไปถึงลโวทยปุระ พระนางจามเทวี
       ภูมิหลังแถบนี้เป็นพุทธศาสตร์ มหายาน ลัทธิวัชรยาน
       ราว ค.ศ.1057 พระอนิรุทธ์มหาราช (อโนรธา) ยกทัพมาตีเมืองสะเทิม (สุธรรมวดี-T้haton) ได้โปรดให้นำพระไตรปิฎกจากเมืองสะเทิมไปที่เมืองอริมัทนะ (พุกาม) และได้เชิญสังฆราชชินบุปผอรหันต์ เป็นพุทธศาสนา เถรวาทนิกาย พระเจ้าอนิรุทธ์มีความสัมพันธ์อันดีกับกษัตริย์ลังกา ทรงส่งทัพเรือไปช่วยลังการบกับพวกทมิฬ. และทรงได้คัดลอกพระไตรปิฎกไว้ครบถ้วน.
       มีการชำระพระไตรปิฎกมากขึ้น แต่อย่างนั้นก็ตามพุทธศาสนา นิกายมหายาน-วัชรยาน ก็ยังคงอยู่ในพม่า...พบจารึกการทำกัลปนา.
       ในสมัยพรญาสามฝั่งแก่น มีการรับศึก (จาก...???) เกรงว่าจะรับศึกไม่ได้ จึงได้ไปอาราธนาพระสิริวังโส (ศรีวงศ์) แห่งวัดดอนแท่น เมืองเชียงแสนมาประกอบพิธีสืบชะตาเมื่องเชียงแสนและเชียงใหม่ การสืบชะตาเมืองคือการปลุกขวัญ กำลังใจขึ้นมาใหม่หลังจากประสบภัยพิบัติ พระศีลวงศ์ได้แต่งบทสวดที่เรียกว่า "อุปาตะสันติ" ขึ้นเพื่อระงับเหตุร้าย บทสวดนี้แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนามหายานนิกาย เพราะเกี่ยวกับไสยเวทย์ พวกพม่านับถือว่าบทสวดนี้ศักดิ์สิทธิ์ และใช้สวดเวลาทำสงครามกับจีนเกือบทุกครั้ง แต่กลับหายไปจากความรับรู้ของทางเชียงใหม่ จนกระทั่งเมื่อราวสองทศวรรษก่อน.


       ในวรรณกรรมทางเมืองเหนือมักจะมีฤๅษีอยู่เยอะ พิธีกรรมต่าง ๆ (จารึกวัดป่าแดง ศรีสัชนาลัย หน้าที่ 3) มีเรื่องอธิกรณ์ มีสำนักสงฆ์ทั้งสามหน อันได้แก่ หนเดิม (หรือหนพุกาม) หนคามวาสี หนอรัญวาสี และมีหนพระรูป คือ ลัทธิบูชาพระบฏ (ผ้าแผ่นยาวที่เขียนภาพพระพุทธองค์ - Tibetan...???)  ในเอกสารเชื่อว่า ประเพณีกฎหมายเชียงใหม่ ได้เล่าตำนานบอกที่มาของการที่ลูกฤษีได้ให้เขียนภาพพระพุทธเจ้าสูง 8 ศอกให้เหมือนจริงเป็นกโลบายให้พวกพื้นเมืองมีศรัทธาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ ร่องรอยนี้มีทั้งที่สุโขทัยและเชียงใหม่แสดงถึงการหลงเหลืออยู่ของลัทธิตันตระในดินแดนภาคเหนือของไทย.
       อย่างไรก็ตามเถรวาทเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ มหายานก็เจือจางลง. ความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาในล้านนา ก็มาจากการเปลี่ยนแปลงในพุกามนั่นแหละ เพราะใกล้ชิดกัน มีตำราอ้างถึง พุทธศาสนามาในพม่าก่อนไทย/ล้านนาราว 300 ปี.
       ลำพูน-หริภุญชัย ใกล้ชิดกับสุธรรมวดี (สะเทิม-Thaton) การเปลี่ยนแปลงในพุทธศาสนา ย่อมสะท้อนถึงกัน
       มหาราชเมืองแก้วนี้ สนพระทัยพุทธศาสนา เถรวาท -- ลังกาวงศ์ มาจากลังกา
       พระพุทธสิหิงค์ เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนามาจากลังกา ตำนานกล่าวว่า...เหมือนพระพุทธเจ้ามากที่สุด เพราะให้พญานาคปั้นรูปพระองค์ขึ้นมา.
       นับแต่พระสุมนมหาเถระ (ชาวสุโขทัย) ได้นำพระพุทธศาสนา ลัทธิรามัญวงศ์เข้ามาปลูกฝังในอาณาจักรเชียงใหม่-หริภุญชัย (โดยผ่านอาณาจักรสุโขทัย) ตามคำอาราธนาของท้าวสองแสนนา (มหาราชกิลนา...หรือเฟ้อไปจากโกฎินา) เมื่อ ค.ศ.1369/พ.ศ.1912 และได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดบุปผาราม (สวนดอกไม้-วัดสวนดอก-เดิมมหาราชกิลนาต้องการให้ที่ตรงนั้นไว้เป็นอุทยานดอกไม้ แต่พอได้อัญเชิญพระสุมนเถระมา ก็ยกที่ตรงนั้นเป็นวัด---วัดบุปผาราม--วัดสวนดอก).
       ปัญญาสชาดก....มีรากแนวคิดมหายานอยู่   
       ตำนานสิบห้าราชวงศ์ พื้น (ประวัติศาสตร์) ราชวงศ์ ล้านนาโบราณมีราชวงศ์เดียวคือราชวงศ์มังราย
       ควรนำหนังสือพุทธจริต มาอ่าน คนแปลเป็นภาษาอังกฤษก็แปลได้ดีมาก ท่านกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ก็แปลด้วยภาษาที่ดีมาก ๆ 

       5.2  ด้านอักษรศาสตร์และวรรณกรรม
               - รุธิราชรำพัน (นิราศหริภุญชัย) มหาราชเมืองแก้วทรงเริ่มแต่งเมื่อวันอังคารที่ 13 ตุลาคม ปีฉลู จ.ศ.869/ค.ศ.1517 หรือ พ.ศ.2060.
             -- ความสำคัญ
             -- เนื้อหา
             -- คุณค่า

       5.3  เหตุแห่งความเสื่อมและการล่มสลายของราชวงศ์มังราย
              -- ลักษณะการปกครอง: รัฐกับอนุรัฐ
              -- ความเสื่อมของสถาบันกษัตริย์และการขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มขุนนาง
              -- ความเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ล้านนามหาปกรณัม
ความทรงจำแห่งอภินวบุรี-ศรีหริภุญชัย

ณ ห้อง 601 ชั้น 6 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ
เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี แขวง/เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ครั้งที่ 10 ศุกร์ที่ 17 กันยายน 2564 / 10:00-15:00 น.

 
เชียงใหม่-หริภุญชัยในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
 
  1. เชียงใหม่ในฐานะศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองของล้านนา
    1. สถาบันพระมหากษัตริย์
      • จากขุนสู่พญา เจ้าพรญา
การเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรอำนาจการปกครอง
กษัตริย์อยู่สุด มีอำนาจสูงสุด บนยอดปิรามิด
ศาลาลูกขุน หรือ ลูกขุนศาลา 
กฎหมายการวินิจฉัยการฟ้องร้อง
ออกญาอุปราช = ราชเลขาธิการของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา
พระยาจักรี เจ้าพระยากลาโหม

เอกสารชั้นต้น ไม่ค่อยเอื้อต่อการศึกษาโครงสร้างการปกครองของล้านนา
ขุน สู่ พญา เจ้าพรญา
ขุน เป็นภาษาจีนโบราณที่ใช้กันทางตอนใต้
ขุนที่มีอำนาจกว่าขุนทั้งหลาย ก็จะเป็น พ่อขุน
สภาผู้เถ้า (Council of Elder)
หริภุญชัยก็เป็นรัฐที่ต่อมาจากทวารวดี ต่อมาเป็นกัมโพชรัฐ
คำเรียกผู้นำชนชาติไทยและลาวเปลี่ยนไป
พญา ....พรญา....เจ้าพระยา
  1. สถานภาพกษัตริย์ล้านนา
    • เจ้าชีวิต และเจ้าแผ่นดิน ฐานะของพระเจ้าแผ่นดินมาจากคัมภีร์อัคคัญญสูตร (ว่าด้วยต้นกำเนิดโลก) เมื่อมีอำนาจสูงสุด เป็นเจ้าของชีวิต ตัดสินผิดถูกได้ สินทรัพย์ทั้งหลายเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน
    • พิธีมูรธาภิเษก การรดน้ำ ไทยเราไม่ยอมรับบาป (พุทธ) แต่ยอมรับพิธีบูชาพระเวท (พราหมณ์-ฮินดู)
    • ธรรมิกราชา - พระราชาผู้ทรงธรรม (ตามบันทึกของพม่าก็มี - ทรงนำพาข้าราษฎรข้ามสังสารวัฏ) ผู้ให้ความยุติธรรม ผู้พิทักษ์ธรรมของพระพุทธองค์ จรรโลงพระพุทธศาสนา
    • สัญลักษณ์แห่งกษัตริยภาพ: หอคำ ราชมณเฑียร แท่นแก้ว (ภาคกลางเรียกราชบัลลังก์ ราชอาสน์) พระขรรค์ชัยศรี (เขมรและไทยมีประเพณีร่วมกัน) - ดาบหุ้มทอง - ราชาภิเษกเท่านั้น - มีการกล่าวหาว่าเจ้าเมืองนคร (ลำปาง) ลอกทองหุ้มพระ มาหุ้มดาบ เถลิงอำนาจ.
  2. ปรัชญาการปกครอง
    • ฮีตเมือง คองเมือง ประเพณีเมือง กระบิลเมือง เกษมเมือง หาณีเมือง - คำสอน -- คำที่กล่าวทราบกันโดยทั่วไป -- ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ - ลาว - สิ่งที่ต้องถือปฏิบัติเมื่อมาเป็นผู้ปกครอง
      • [หาณีเมือง] คำสอนที่ทำให้บ้านเมืองหายนะ  -- เจ้าขุนโลภเอาข้าวของเงินทอง เจ้าขุนมักฟังคำส่อเสียด ไม่ให้มีความเจริญแก่บ้านเมืองด้วยราชการ นาเมวุฒิ ตั้งชื่อกันเป็นเจ้าเป็นขุน (คนไม่มีคุณสมบัติก็ไปตั้งเขาเป็นเจ้าเป็นขุน) เป็นท้าวเป็นพระยากันมาก ธาตุวุฒิ พระบาทพระธาตุ [ไม่] ปรากฎขึ้นมาใหม่ เคหวุฒิ คือว่าสร้างเรือนใหม่ ทำให้เป็นหลายหลัง สร้างให้ใหญ่เกินประมาณ (ทำอะไรเกินฐานะเกินตัว)
      • [ประเพณีเมือง] เชื้อสายพระยาก็ให้เป็นพระยา / เชื้อสายเสนาก็ให้เป็นเสนา / เชื้อสายขุนก็ให้เป็นขุน / เชื้อสายข้าราชการก็ให้เป็นข้าราชการ / เชื้อสายไพร่ก็ให้เป็นไพร่
    • ทศพิธราชธรรม (ทาน / ศีล / บริจาค / อาชฺชวํ / มทฺทวํ / อกฺโกธํ / อวิหลญฺจ / ขนฺติ / สจฺจํ / อวโรธนํ. - มีข้อน่าสังเกตเรื่องการตีความบางคำในคำสอนนี้ ท่านแปล อวิหิตลญฺจ ว่า ไม่เบียดเบี้ยประชาราษฎรไพร่ฟ้าพลเมืองและอวโรธนํ ว่า ไม่ทำลายจารีตประเพณีของบ้านเมือง ไม่ละทิ้งประเพณีของท้าวพระยาทั้งหลายที่เคยมีมาแต่โบราณ การเปลี่ยนแปลงคำที่ใช้และการตีความนั้น แสดงว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องไม่ละเมิดประเพณีและข้อปฏิบัติที่มีมาแต่ครั้งโบราณ (สอดคล้องกับคำสอนพรญามังราย).
    • คำสอนพรญามังรายหลวง -- เป็นเอกสารทีมีรายละเอียดมาก กล่าวถึงหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ ใส่ใจดูแลขุนนาง ราษฎร ใส่ใจประเทศใกล้เคียง ต้องแต่งงานผูกสัมพันธ์กับธิดาเมืองอื่น ฯ. ต้องแสดงภูมิปัญญา มีพระราชปุจฉาวิปัสนา มีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ .
    • มังรายราชศาสตร์ - หรือ มังรายศาสตร์ เผยแพร่ทั่วไป มีนักวิชาการจีนพบมังรายศาสตร์จากเมืองเชียงรุ่ง.
    • คลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์ - คลองที่มีการตัดสินคดีความตามหลักการของพระพุทธโฆสาจารย์ ท่านมีชื่อเสียง เป็นผู้มีความรู้ใน คศว.ที่ 12 ในพุกาม ท่านน่าจะเป็นชาวอินเดีย แล้วข้ามมาพม่า ท่านได้แปลคัมภีร์จากสิงหล เป็นภาษามคธ. ใช้พิจารณาเมื่อพระสงฆ์เกิดอธิกรณ์กัน. 
    • เกษมเมือง -- พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทำให้ประชาชนมีความสุข มีประเพณี การแข่งเรือ การละเล่น ให้ประชาชนสุขใจ. อยุธยามีประเพณีสิบสองดือนอยู่แล้ว.
 
  1. ระบบการปกครองและการบริหารราชการ
    1. ข้าราชการฝ่ายพิธีกรรม ข้าราชการฝ่ายทหาร และข้าราชการฝ่ายพลเรือน
       พระเจ้าแผ่นดินปกครองด้วยตนเองไม่ได้ ต้องมีขุนนางคอยรับใช้ มีข้าราชการฝ่ายทหาร เพราะมีการรบทัพจับศึกตลอด
  1. โครงสร้างระบบราชการ
  เจ้าชีวิต "มหาราช" & ฝ่ายใน
เจ้าอุปราช (เจ้าราชบุตร) และเจ้านาย 
  ข้าราชสำนักฝ่ายพิธีกรรม   ข้าราชการฝ่ายรักษาพระองค์
    เจ้ามหาอำมาตย์  
  เถ้าเมือง
เจ้าเมือง
เค้าสนามหลวง สิงเมือง
เจ้านาย
    เจ้าขุนขันคำทั้ง 5  
  ข้าราชสำนัก สุภาตระลาการ ข้าราชการทำหน้าที่เฉพาะทาง ขุนทหาร

        มหาราช เป็นสมัญญาเป็นทางการของกษัตริย์ พบคำนี้ "มหาราช" ในสมัยพรญาสองแสนนา.
       สิงเมือง = ผู้พิพากษาตลาการ

       ถัดนั้น เจ้าพญาติโลกจึงว่าแก่หมื่นลกนครว่าอาวจุ่งมาอยู่เชียงใหม่กับกูเทอะ แม่นเมืองนครมีเท่าใดกูจักหื้อแก่อาวแล หมื่นลกว่า ผิเจ้าเหนือหัวจักหื้อข้ามาอยู่เชียงใหม่แท้ ข้าจักขอพร 4 อัน ผิเจ้าเหนือหัวหื้อแก่ข้า ข้าจึงมาอยู่ป่ำเริญ (บำเรอ) เจ้าเหนือหัวชะ (ฉะนั้น) แล เจ้าพญาติโลกจึงว่า พรเยื่องใดเพิงใจ (พรอันใดเป็นที่พอใจ) อาวก็เอาเทอะ ว่าอั้น หมื่นลกว่าพร 4 ประการนั้นสันนี้ (มีดังนี้) อัน 1 ว่า คนหอก (พลหอก) คนเครื่อง (คนดูแลเครื่องอาวุธ) คนแคว้น (คนของรัฐ ไพร่หลวง) หากหนีมาเพิ่งพายนอกพายใน (ฝ่ายนอก=ข้าราชการ, ฝ่ายใน = เจ้านายเชื้อพระวงศ์) จักขอฟันผู้นั้นเสียหื้อเป็นตรา (เป็นแบบอย่าง) อัน 1 สิงเมือง (สุภาตระลาการ) พร้อมกันตัดคำแล้ว พ้อยมาไหว้เจ้าเหนือหัวว่าบ่แล้ว ข้าจักขอฟันผู้นั้นเสีย อัน 1 ผู้น้อยเกิดถ้อยมีคำเยื่อยใด บ่บอกกล่าวแก่ตูข้า พ้อยไปไหวเจ้าเหนือหัวคำเดียว ข้าจักขอฟันผู้นั้นเสีย อัน 1 คนส่วยคนเชาขอหื้อไว้กับเจ้าแคว้น สิ่งสินอากรอันเป็นส่วยเชาเท่ารู้เอากับเจ้าแคว้น ข้าขอพร 4 อันนี้แลว่าอั้น เจ้าพญาติโลกว่ากูก็หื้อแก่อาวแลว่าอั้น หมื่นลกนครก็มาเป็นหมื่นสามล้านอยู่ป่ำเริญเจ้าพญาติโลกอยู่เชียงใหม่.


 
3. ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักและหัวเมือง
  •    ราชสำนัก "อนุรัฐ" และเจ้าประเทศราช
       เมืองอโยธยา เป็นเมืองในที่ราบมีเมืองเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่รายรอบ มีการจัดแบ่งหัวเมือง ทางเหนือมีพิษณุโลก (ควบคมหัวเมืองเมืองเหนือ) ทางใต้ก็มีเมืองนครศรีธรรมราช (เมืองด่าน ดูแลแถบเมืองมลายูที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมาก). เมืองโท (นครราชสีมา ดูแลหัวเมืองที่ถัดไปทางอิสาน).
       หากมีเหตุการณ์ต้องสู้รบ อโยธยาสามารถเกณฑ์คนได้จากเมืองตรีได้รวดเร็ว ด้วยเพราะอโยธาเป็นที่ราบ ได้เมืองขึ้นที่ไหนก็เอาพระประยูรญาติเจ้านายที่มีเชื้อสายไปปกครอง ด้วยเพราะมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ผูกพันกันทำให้เมืองบริวารที่ตีได้สวามิภักดิ์ ปกครองกันได้.

       สุโขทัย มีเมืองเครือญาติสี่เมืองเกือบเท่า ๆ กัน: สุโขทัย ศรีสัชนาลัย (อาจจะมีความสำคัญมากกว่าสุโขทัยในบางมิติ) กำแพงเพชร และสองแคว ผู้ปกครองเป็นพระญาติวงศ์กัน เครือญาติที่เมืองกำแพงเพชรมีการออกกฎหมายใช้กัน วัชราวตี (เมืองกำแพงเพชร ปรากฎในจารึกปราสาทพระขรรค์ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมเทวะที่ 7).

       ในทางเหนือ ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน้อยไปอีก เพราะเป็นเมืองในหุบเขา มีการยอมรับกันห่าง ๆ แต่ละเมืองเป็น Autonomous เชียงราย ลำพูน เชียงแสน ก็มีความสำคัญ เมืองแพร่ เมืองน่าน ลำปาง ล้วนแต่เป็นเมืองเก่า มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ เจ้าเมืองแต่ละเมืองจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จยกเว้น โทษประหาร (เจ้าหลวงเชียงใหม่มีฐานะเป็นเจ้าชีวิต ผู้ปกครองเมืองน่าน ลำปาง มีฐานะเป็นเจ้าหัว --- บันทึกของฝรั่ง) ราชาธิราช กับราชาเล็ก ๆ .

       รัฐเล็ก ๆ มักจะรวมหัวกัน ในกรณีวิกฤต (พระเมืองเกษแก้ว ถูกลอบปลงพระชนม์ เมืองต่าง ๆ ก็รวมหัวแย่งชิงอำนาจกัน) อำนาจเมืองล้านนาที่เป็นเมืองใหญ่ มีอำนาจมากกว่าเมืองโทของเมืองอโยธยา ล้านนามีลักษณะเป็น Confederation มากกว่่า.

       ด้านเศรษฐกิจของล้านนา
  • ด้วยล้านนามีราชสำนักฝ่ายใน ต้องใช้งบประมาณมาก
  • มีการดูแลวัด ก็ต้องใช้งบประมาณมาก มีการตีทองจังโก ซ่อมบุรณะวัด
  • รายได้มาจากพื้นที่ ให้จับจองไปใช้ประโยชน์ได้ภาษี 
  • รายได้ทางไกล รายได้จากกองคาราวาน
  • รายได้จากคดีความ จากกฎหมายมังรายราชศาสตร์
สินใช้ (สินไหมที่ชดใช้) ต่างเมือง (คนต่างเมือง) ต่ำปี (ต่ำกว่าหนึ่งปี) ก็ดี เงินพ่านก็ดี เค้าเงินมี 110 เงิน หื้อหา [ผ่า] สะนี้ (ฉันนี้) คือ หางจ่า 110 เงิน ขอพันเงินเอา 10 เงิน / ยาก (สินไหมค่าเหนื่อยยาก) ขับพันเงินกิน 50 / หรือผู้ขับบ่มี เท่ามีขอกับหางแลผ่ากึ่ง / ถวายพระเมือง [แก้ว] หนึ่งกึ่ง / บั้งหนึ่งกึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน / พระมหาเทวี 1 ส่วน / บั้ง 1 ส่วน แบ่งเป็น 3 ส่วนเล่า / หมื่นพิง 1 ส่วน / หมื่นสามล้าน 1 ส่วน / หมื่นจ่า 1 ส่วน / บางคาบถ้วนปุน (พุ่น แปลว่า ส่วน) นี้แบ่ง 5 ส่วน / หมื่นพิง 2 ส่วน / หมื่นสามล้าน 2 ส่วน / หมื่นจ่า 1 ส่วนแล / เมื่อสินใช้ต่างเมืองมาบ่มีทาง (ไม่ถูกทาง) หื้อกระทำเป็น 11 ส่วน เป็นหางจ่า 1 ส่วน / ยังค้างแต่ 10 ส่วน หื้อแบ่งตามคอง (จารีต ประเพณี) กว้านพิง (เมืองพิงคบุรี คือ เชียงใหม่) ก็ชอบแล ฤๅว่าต่างเมืองก็แบ่งตามต่างเมืองก็ควรก็ชอบแล.
  • รายได้จากกาด หรือตลาด

ล้านนาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง
  • เชียงใหม่เป็นจุดยุทธศาสตร์ (หริภุญชัย ก็เป็นคู่แฝดกัน) เส้นทางทั้งหมดมาลงที่เชียงใหม่ รวมทั้งเชียงใหม่ใกล้ชิดกับพุกาม และไทยใหญ่มาก มีพ่อค้าเดินทางค้าขายกันมาช้านาน (อาณาจักรหนานเจ้าและพรญามังราย อาจหาแนวทางการค้า การติดต่อกับทะเล รวมเมืองเชียงใหม่ หริภุญชัย เวียงกุมกาม) เวียงกุมกามเป็นเมืองตรงกลางตรงโค้งแม่น้ำปิง เป็นที่พักระหว่างเชียงใหม่ หริภุญชัย (เวียงกุมกาม มีวัดมาก อาจจะมากกว่าหริภุญชัย).
  • เมืองตามหุบเขามีเครื่องอุปโภคบริโภคไม่พอ จำเป็นต้องพึ่งกองคาราวาน พวกฬ่อบรรทุกของ มาตามซอกเขาหลืบเขา เป็นเรื่องของการติดต่อ ทำให้ชุมชนบางแห่งมีความสำคัญหากอยู่บนเส้นทางกองคาราวานพอดี.
  • กองคาราวานมาเชียงใหม่ ๆ ก็ได้เก็บภาษี บ้างก็ซื้อเก็บสินค้าไว้ขายต่อเอง เป็นเช่นนี้มาตลอด ของป่าบางอย่างต้องการมาก เช่น ดอกคำฝอย (เมืองจีนต้องการมาก) แพรไหมจากจีน ชนชั้นสูงในล้านนาจะชอบ มุ้งม่านจากเชียงใหม่ งาช้าง เป็นต้น.
  • กองคาราวาน ทำหน้าที่เข้าสู่ระบบของมัน ก้อนแร่เหล็กนั้นชาวลั้วะนำมาขายที่เมืองเชียงใหม่ ใบชาผลผลิตจากเมืองแมน (ผูเอ้อร์ Puer) ในยูนนานมากับกองคาราวาน.
  • เส้นทางสายไหมทางบก จากคุนหมิงในยูนนานไปยังอินเดียภาคเหนือ ทิเบต และตะวันออกกลาง.
  • การค้ากองคาราวานที่มีเครือข่ายกว้างขวางและกระทำกันเป็นฤดูกาล ซึ่งอาจยาวนานถึง 6 เดือนในแต่ละปี ได้นำไปสู่วัฒนธรรมของพ่อค้าทางไกลกับคนในชุมชนระหว่างเส้นทาง มีการสั่งสินค้าให้เตรียมไว้ และพ่อค้าคาราวานก็รับปากว่าจะนำสินค้าที่ต้องการมาส่งในคราวหน้า มีความรู้สึกเป็นเครือญาติ แต่การค้าแบบคาราวานก็ไม่ง่าย ต้องเผชิญกับความยากลำบากจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และการถูกปล้นในระหว่างทางก็เกิดขึ้นบ่อย. ต้องมีหน่วยคุ้มกัน มีบริวาร นอกจากนั้นต้องต่อรองเรื่องผลประโยชน์ที่หัวหน้าชุมชนหรือเจ้าเมืองได้รับ.
  • กาด หรือ ตลาด ประเภทต่าง ๆ และสินค้า มีตลาดเกิดขึ้นในวัด ครึ่งวัดเช้า พอบ่ายก็วายไป. มีกาดมั่ว หรือ ตลาดนัด จัดขึ้นทุกห้าวัน ชุมชนวันทุงยู ---น่าจะเคยเป็นแหล่งผลิตฉัตรและร่มประเภทต่าง ๆ วัดพันเตา---น่าจะเป็นแหล่งผลิตเตา เพื่อนำเตาจำนวนมากไปหล่อพระอัฏฐารสด้วย และสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งผลิตเตาขาย สำหรับครัวเรือน.
  • การค้าขายทั่วไปในกาดของล้านนาใช้เบี้ย (cowrie shells) แต่การค้าที่มีปริมาณมากและภาวะเงินเฟ้อ ทำให้การใช้เบี้ยไม่สะดวก รัฐจึงทำเงินตราใช้เอง เรียก เงินเจียง (เงินประทับตราเมือง) รูปลักษณ์ไม่เหมือนกัน ค่าไม่เท่ากัน และกำหนดใช้ในเมืองเท่านั้น แพร่หลายไปกว่า 60 เมือง (เมืองเล็กเมืองน้อยภายใต้อาณัติของกษัตริย์ล้านนา) 
ส่วยสา ภาษีอากร
  • ราชวงศ์ปกรณ์เชียงใหม่กล่าวถึง "ส่วย ส่วนไร และส่วยเชา" ส่วย น่าจะเพี้ยนมาจากภาษาจีน "ซุ่ย" หรือ "ซ่วย" บางครั้งเขียนว่า สินส่วย หมายถึง สิ่งของที่ให้เป็นบรรณาการ (tribute in kind) หรือราชพลี ร้อยชัก 6 หรือร้อยชัก 10.
  • ส่วยไร ไร่นา สั้น ๆ เรียก ส่วยไร รัฐอาจยกเว้นภาษีไว้ระยะหนึ่งอาจจะสองหรือสามปี
  • ส่วยเชา หมายถึง ส่วยที่เก็บจากราษฎรที่มีรายได้จากการทำอาชีพต่าง ๆ เช่น ทำเตา ทำร่ม เครื่องถ้วย 
           
       
 
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ล้านนามหาปกรณัม
ความทรงจำแห่งอภินวบุรี-ศรีหริภุญชัย

ณ ห้อง 601 ชั้น 6 อาคารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ
เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี แขวง/เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ครั้งที่ 11 พฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2564 / 10:00-11:30 และ 13:00-14:30 น.
มีอาจารย์วสันต์ มหากาญจนะ ดำเนินรายการ

 
เชียงใหม่และหริภุญชัยในฐานะศูนย์กลางแห่งภูมิปัญญา

ความนำ

11.1  ยุคทองของวรรณกรรมบาลีและวรรณกรรมพระพุทธศาสนา
       สถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ สำรวจเอกสารโบราณทั่วภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ได้ข้อสรุปว่า เอกสารล้านนาส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมทางศาสนา และมีทั้งวรรณกรรมบาลีจากอินเดีย ลังกา ตลอดจนเรื่องที่แต่งในพม่าด้วย มีทั้งพระไตรปิฎก (พบหลายสำนวนมาก) อรรถกถา และฎีกา (และอนุฎีกาด้วย) {บาลี พุทธรักษา, บรรณาธิการ. วรรณกรรมบาลีในล้านนา รายชื่อเอกสารตัวเขียน 89 ฉบับประกอบสาระสังเขป (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543}. ต้นฉบับที่มีอายุมากที่สุดคือ เรื่องอรรถกถาโสณนันทชาดก ที่พระญาณรังสีภิกขุ คัดลอกเมื่อ พ.ศ.2014 --ช่วงต้น ๆ ของล้านนา (เรื่องเดียวกัน หน้า 57.) นอกจากอรรถกถาแล้ว ยังพบวรรณกรรมบาลีที่แต่งในล้านนาคือเรื่องจักรวาฬทีปนี (เป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงมาก--ลักษณะโครงสร้างของจักรวาลในทัศนะของชาวพุทธ) พบที่วัดพระสิงห์และวัดบุพพาราม จังหวัดเชียงใหม่ ที่สมเด็จพระสังฆราชาจันทรังสี ฝ่ายอรัญญวาสีให้จารขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ.2081.(สมัยพระเมืองแก้ว-ซึ่งมีการคัดลอกพระไตรปิฎกถึง 3 ครั้ง) ร.1 ได้ให้คนคัดลอกเอกสารเมืองเหนือ รวมทั้งเอกสารมอญ พม่า มาไว้ที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก -- นับเป็นคุณุปการที่สำคัญ 

       พระปัญญาสวามี ภิกษุชาวพม่าได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ ศาสนวงส์ว่าในนคร (เชียงใหม่) นั้น พระญาณวิลาสเถระ ได้ทำปกรณ์ชื่อสังขยาปกาสกะ ส่วนฎีกาคือคำอธิบายนั้น พระสิริมงคลเถระซึ่งอยู่ในพระอารามของพระเถระผู้ไปลังกามาแล้วเป็นผู้ทำ พระเถระรูปหนึ่งชื่อ อุตตรราม เป็นอรัญญวาสีเคร่งครัด ได้ทำปกรณ์ (ปกรณ์ แปลว่า เรื่องราว) ชื่อ วิสุทธิมรรคทีปนี พระสิริมังคลเถระทำปกรณ์ชื่อมงคลทีปนี พระเถระไม่ปรากฎชื่อองค์หนึ่งทำปกรณ์ชื่อ อุปปาตสันติ -(อุปปาสะ แปลว่า ทำให้เกิดขึ้น สันติ แปลว่า สงบ จึงแปลรวมได้ว่า ทำให้สงบลง) {ดูรายละเอียดเรื่อง อุปาตสันติงได้จาก บำเพ็ญ ระวิน ชำระ, อุปาตสนฺติปกรณ์และมังคลสันติงสำนวนล้านนา (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540)} นัยว่าสวดอุปปาตสันตินั้นแล้ว ชนะพวกทหารจีน (ราชวงศ์หมิง) ศาสนาประดิษฐานในรัฐโยนกเป็นศาสนาบริสุทธิ์ของผู้ได้อภิญญาด้วยประการฉะนี้. ทางพม่านับถือคัมภีร์นี้มาก ทางพม่าจะเรียกล้านนาว่า โยนรัฐ เสมอ 

       ด้วยอานิสงส์ของพระภิกษุจากวัดป่าแดง ซึ่งเคร่งครัดในเรื่องบาฬีมากนัั้น ทำให้คัมภีร์ต่าง ๆ ของเชียงใหม่มีคุณภาพ คัดกรองอย่างดี ดูศักดิ์สิทธิ์


       การที่จะกล่าวความตามสำนวนภาษาไทยของนักปราชญ์ทั้งหลาย ผู้กล่าวคำอันจารึกไว้แล้ว ภาษาไทนั้น มีเนื้อความอันเบามีอยู่ ไม่เปนภาษาสมควรแก่ชาวเมืองของพระชินสีห์เจ้า ข้าพเจ้าจึงจัดแปลงภาษาไทนั้น ขึ้นสู่อักษรโดยพยัญชนะแห่งบาฬี ให้เป็นคัมภีร์อันร้อยกรองไว้ โดยบทแลคาถาอันเสนาะน่าฟัง (พระปริยัติธรรมธาดา, และพระญาณวิจิตร, แปล, เรื่องจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย ทั้งภาษาบาฬีแลคำแปล, พระนคร: โรงพิมพ์โสภณ พิพรรฒธนากร, 4, 2463 เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พิมพ์ในงานปลงศพ เจ้าทิพเนตร อินทวโรรส สุริยวงศ์ ปีวอก พ.ศ.2463.).
  • ตำนานพระพุทธปฏิมา
  • ปัญญาสชาดกหรือเรื่องพระเจ้าห้าสิบชาติ ปัญญาสชาดกเป็นนิทานเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้จำนวน 50 เรื่อง เนื้อเรื่องปัญญาสชาดกนั้นหลากหลาย หาปรากฎในอรรถกถาชาดกของพระไตรปิฎกไม่ แต่เป็นความริเริ่มสร้างสรรค์วรรณกรรมใหม่ โดยใช้นิทานท้องถิ่น อรรถกถาชาดก หรือแม้แต่นิทานสันสกฤต {Padmanabh S. Jaini, (ed) Zimme Paññāsa Jātaka vol 1 (London: The Pali Text Society, 1983), xi. เรื่องที่มีเค้าจากวรรณกรรมสันสกฤต เช่น กนกวรรณชาดก, สุวรรณกัจฉปชาดก และสุธนชาดก ดู Dorothy H. Fickle, "An Historical and structure study of the Paññāsa Jātaka" Ph.D. dissertation University of Pennsylvania, 1978} มาเรียบเรียงเป็นภาษาบาลี มาเรียบเรียงเป็นภาษาบาลีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-23 และเล่าเรื่องการผจญภัยของพระโพธิสัตว์ เพื่อแสดงหลักธรรมทางพุทธศาสนา เช่น เรื่องวรวงสชาดก (ลำดับที่ 45) หรือ รถเสนชาดก (ลำดับที่ 47) เป็นต้น พระภิกษุพม่าเรียกว่า "ซิมเม ปัณณาส ซาด" หรือเชียงใหม่ปัณณาส ปัญญาสชาดก เป็นตัวอย่างการนำหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนามาอธิบายแบบง่าย ๆ เช่น เรื่องโทษแห่งมาตุคามในสุธนชาดก (ลำดับที่ 2) เรื่องความกรุณาของพระพุทธเจ้าในจันทราชชาดก (ลำดับที่ 8) โทษของการอกตัญญูในสุภมิตตชาดก (ลำดับที่ 9) และอานิสงส์การซ่อมแซมพระพุทธรูปในวัฏฏังคุลีราชชาดก (ลำดับที่ 20).
  • พระภิกษุล้านนายังผลิตชาดกนอกนิบาตอีกหลายเรื่อง ทั้งขนาดสั้นและขนาดยาว เช่น โลกนัยธนัญชัยบัณฑิตชาดก (มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่าเป็นงานของทางอยุธยา) {Padmanabh S. Jaini, (ed) Lokaneyyappakaranam (London: The Pali Text Society, 1986) และ "สยาม ภัทรานุประวัติ, ธนัญชัยบัณฑิตชาดก: หนังสือบำรุงปัญญาและส่งเสริมจริยธรรมของชาวสยาม" ในอรพิน คำสอน และธิษณา วีรเกียรติสุนทร, บรรณาธิการ, 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 12, กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สกว.45-47.} โดยอาศัยเค้าเรื่องจากอรรถกถามโหสถชาดก และอรรถกถาเวสสันตรชาดก เป็นต้นแบบ ทั้งนี้ได้เพิ่มเนื้อหาการผจญภัยสนุกสนานมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงนำเสนอสาระแห่งธรรมไว้.
  • มหาชาติล้านนาซึ่งมีอยู่มากกว่าร้อยสำนวน และต้นฉบับใบลาน กระจายอยู่ในทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือ สำนวนสร้อยสังกร หรือสำนวนไผ่แจ้เรียวแดง (อุดม รุ่งเรืองศรี, เวสสันดรชาดกฉบับไม้ไผ่แจ้เรียวแดง, เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2545.) ประชาชนตั้งมั่นในศีลและการฟังธรรมเทศน์มหาชาติ แต่แทรกเรื่องราว วิถีชีวิตของสามัญชนล้านนาไว้อย่างน่าสนใจและมีสีสันด้วย ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องอาหารที่นำมาเลี้ยงชูชก ซึ่งไม่ปรากฎรายละเอียดในอรรถกถาเวสสันดรชาดก กวีท้องถิ่นได้เล่าเรื่องตอนนี้ไว้อย่างละเอียด มีการบรรยายอาหารของท้องถิ่นที่นำมาเลี้ยงพราหมณ์ชูชก เช่น ชิ้นส้ม ลาบควาย แกงแค บางอย่างเป็นของเฉพาะฤดูกาล เช่น แมงมัน.
  • ชาดกพื้นเมือง (ดูตัวอย่างชื่อและเนื้อเรื่องชาดกนอกนิบาตใน อุดม รุ่งเรืองศรี, วรรณกรรมล้านนา, 584-644.) นับเป็นภูมิปัญญาของคนล้านนาเช่นกัน การนำเรื่องต่าง ๆ มาแต่งเลียนแบบชาดก ก็เพื่อสอนเรื่องการรักษาความดี และเรื่องความกตัญญูต่อบุพการี เป็นตัวอย่างการสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรม เรื่องเหล่านี้ช่วยปลูกฝังความคิดเรื่องการทำบุญ รักษาศีล ฟังธรรม ตัวอย่างเช่น ในเรื่องจิณณราชชาดก (สยาม ภัทรานุประวัติ. "จิณณราชชาดก" ใน ประคอง นิมมานเหมินท์และคณะ, บรรณาธิการ นามานุกรมวรรณกรรมล้านนา, กรุงเทพฯ : สำนักงานสนับสนุนการวิจัย, สกว. 62, 2554.) หรือการสอนเรื่องโทษของสตรี ในเรื่องกาลิธาตุชาดกที่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์หลงกลนางโสเภณีโลภมาก จึงถูกนางวางยาพิษจนเสียชีวิต.
  • ตำนวนพุทธศาสนา ตำนานพระธาตุ และตำนานเมือง.
  • ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวว่า ลิลิตพระลอ พระเพื่อนพระแพงนั้น มาจากเรื่องนางรื่นนางโรย เป็นนิทานพื้นบ้าน เป็นการแสดงออกถึงอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ การหลงไหล เป็นความสามารถของผู้ประพันธ์ในการแต่งเรื่องที่ไพเราะ. ลิลิตพระลอ อาจจะไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา แต่เมื่อพิจารณาดี ๆ แล้ว...ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง...ไม่เที่ยง !!!.ไตรลักษณ์ 
 

11.2 ความเจริญของวรรณศิลป์และรัตนกวีนิพนธ์ 

  • โคลงอมราพิสวาส โคลงหงส์ผาคำ หรือเรื่องอุสาบารส วรรณกรรมเหล่านี้ แสดงความรุ่มรวยทางศิลปะและอักษรศาสตร์ของล้านนาได้อย่างดี.
       โคลงอมรากล่าวถึง ธิดาเศรษฐีหลงรักภิกษุหนุ่มรูปงาม นางต้องการให้ภิกษุลาสิกขามาครองคู่ แต่ภิกษุไม่ยินยอม ด้วยความเสียใจ นางจึงตรอมใจตาย ฝ่ายภิกษุเมื่อเห็นนางมั่นคงในความรักเช่นนั้น ก็เห็นใจนาง เมื่อพิจารณาความรู้สึกที่ตนมีต่อนางก็ตรอมใจ จนมรณภาพไปด้วย เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นการนำเสนอเรื่องความรักที่ไม่เหมาะสมกับ สถานะ กาลและเทศะ แต่ผู้แต่งได้กล่าวเตือนสติปุถุชนไว้อย่างชาญฉลาดว่าให้ระวังเรื่องความรักซึ่งเป็นเรื่องทางโลก ในโคลงบทที่ 151-152 และบทที่ 163 ว่า.

                         จักรักหื้อรีบรัก               พลันพลัน เนอแม่
                      ผัดผ่านคืนวันวัน               อย่าช้า
                      คันนานเที่ยงหันหัน           ตอนม่อน มรณ์เฮย
                      มัจจุราชรนร้อนรื้ม             เหี่ยวแห้งมรณา

                         ทำใดอย่าเชือนช้า         สองใจ
                      คำปากหลากหลามไหล     บ่หมั้น
                      จักรักที่ใดใด                   เรียมร่วม รสนั้น
                      ควรรีบใจไซว้ไซว้             อย่าพ้องแคมเดียว (อุดม รุ่งเรืองศรี, ชำระ, โคลงอมรา ฉบับอักษรธรรมล้านนา, เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2529, 26

                          ใครใดจักอาจเว้น          ราคา ยากแล
                       ค่อยอันมีตัณหา               ชู่ผู้
                       แม่นพระหน่อพุทธา          ปางก่อน ก็ดีทรา
                       ยังแล่นตามนี้ไส้              ย่อมค้างสงสาร
  • โคลงนิราศ
    • รุธิราชรำพัน (ลำละพูน หรือ นิราศหริภุญชัย) มหาราชเมืองแก้ว เรียกตัวเองว่า รุธิราช แปลว่าผู้ปกป้อง เมืองหริภุญชัยเป็นศูนย์รวมจิตใจของล้านนา ความโดดเด่นของโคลงนิราศหริภุญชัย คือ การพรรณนาความที่ไพเราะ การสรรคำที่มีความลึกซึ้งทั้งเสียงและความหมาย ในขณะเดียวกันได้ให้ความรู้ทางขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของล้านนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง ความโดดเด่นนี้ ทำให้หมู่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องล้านนายกย่องให้โคลงนิราศหริภุญชัยเป็นยอดแห่งรัตนกวีนิพนธ์ของล้านนา
      • โคลงมังทรารบเชียงใหม่ [EP.11 2/2 20:43/1:52:35]
                                  อยู่เนอสุเทพตั้ง        เสริมศรี
                               สักสวาดสิงห์มุนี          รูปเจ้า
                               อุโมงคคีรี                  เรียมร่ำ รักเหย่
                               มือม่อนถวายก้มเกล้า    นอบน้อมอำลา

                                  ลาศรีสุเทพเจ้า         จอมคีรี
                               ทั้งมหาเจดีย์               โค่นค้าง
                               พระสิหิงค์รูปมุนี           ทองเทพ ทิพย์เหย่
                               อุโมงค์ราชเราสร้าง       เนื่องเจ้ามโหสถ

                                  พระสิหิงค์สักสาดเจ้า      ศาสนา
                               เห็นเหตุการณ์โลกา           โลกอั้น
                               องค์มวลมืดสัญญา           หลายหลาก นักเหย่
                               พระสำแดงหื้อหั้น          เนื่องด้วยบัณสัตว์

 
                                  ทั้งเรียมแลน้องเนื่อง      เวทนา
                               จักจากพระมารดา            แม่งมล้าง
                               ตกสะกึดเอ่าอาธวา          ร้อนเจต เจ็บเหย่
                               ชลเนตรนองเท้าท้าง        เล่าลันรนทรวง


                                  เรียมชักวิบากเบื้อง         สุภมิต
                               วิทูรยักษ์ปองปลิด             จากเหย้า
                               ชนกแลบพิตร                 พระเวสวันนั้น
                               ไปอยู่วงกตด้าว               ด่านพ้นเป็นฤๅษี


12.3 วรรณกรรมบำรุงปัญญาและจริยธรรม
  • ปู่สอนหลาน แสดงการปฏิสัมพันธ์ของคนทั่วไป
  • โลกสมมติราช ให้ความรู้เรื่องการปลูกเรือนและข้อปฏิบัติของคนในเรือน
  • วิทูรสอนโลก ที่สอนผู้ปกครองให้ความเมตตาต่อผู้น้อย อย่าละโมบเบียดเบียนผู้อื่น ให้พิจารณาอย่างถ้วนถี่ และความระงับความโกรธ
       คำสอนพระยามังรายหลวงเจ้า มีข้อความว่า พระติสสมหาเถระได้สอนพระยามังราย เนื้อหากล่าวถึงการสอนผู้ปกครอง ขุนนาง ตลอดประชาชนชายหญิง เนื้อหาแสดงการสั่งสอนผู้ปกครอง เช่น การสอนให้ปลูกไม้หลากชนิด เปรียบได้กับการคบค้ากับคนหลายจำพวก ดังความว่า.
       บทว่าหื้อปลูกไม้ส้มฝาดขมหวานนั้นคือว่า หื้อเลี้ยงคนหลายจำพวก ส้มนั้นคือคนพิจารณาใส่ทัณฑกรรม ฝาดนั้นคือคนจัดเอาส่วยไร้ใบไม้ ขมนั้นคือคนแก้วหาญอาจสมัตถะ เอายังชีวิตเราได้แหละ หวานนั้นคือหมอโหรา นายหนังสือไต่คำนั้นแล (ปวงคำ ตุ้ยเขียว, คำสอนของพระยามังรายหลวงเจ้า เชียงใหม่: โรงพิมพ์กลางเวียง, 2524, 51. พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพคุณครูจุไร สิทธิพงศ์ ณ เมรุวัดป่าแพ่ง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 12 ธันวาคม 2524.
       นอกจากการสอนการปฏิบัติตนของผู้ปกครองแล้ว บางส่วนเป็นการสอนการปฏิบัติตนในสังคมอย่างกว้าง ๆ เช่น การไม่ดูถูกผู้อื่น การยำเกรงผู้ทรงศีล การเคารพบิดามารดาโดยไม่กินอาหารก่อนหรือการงดการเที่ยวในราตรี ดังความว่า
       เป็นคนอย่าดูแควนผู้ต่ำ อย่าย่ำผู้กำสีล อย่ากินออนพ่อแม่ อย่ามักแหล่เที่ยวเดิก เยียวเป็นเสิกจบพบเลิกท่านรบสงครามก็เสิก.
       ส่วนหนึ่งก็เป็นการสอนการปฏิบัติตนของหญิง ให้หมั่นทำงานและรู้หน้าที่การเรือนของตน เช่น ตำหนิหญิงที่หลีกเลี่ยงการไปทำนา เกียจคร้าน มักไปเดินเล่นที่ท่าน้ำแต่ไม่สนใจตักน้ำมาเรือน ตื่นสายหลังสามี ว่าเป็น "หญิงที่ไม่ดี" ดังความว่า
       ท่านไปนามันพอยซ่อนอยู่บ้าน ญิงผู้นั้นก็บ่ดี ขี้คร้านรีดของกิน ญิงผู้นั้นก็บ่ดี ยกตีนขึ้นกี่ทอลาย ญิงผู้นั้นก็บ่ดี มักไปกายท่าน้ำ บ่ตักน้ำมาเรือน ญิงผู้นั้นก็บ่ดี มักเขินขวายลุกหล้า ญิงผู้นั้นก็บ่ดี ใคร่กินชิ้นส่าบ่หาเขียง ญิงผู้นั้นก็บ่ดี (เรื่องเดียวกัน)
  • โลกนัยชาดก แสดงภูมิปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรมอันลึกซึ้งของผู้แต่ง อธิบายเรื่องทางโลกของบัณฑิตทั้งสาม เปรียบเทียบกับหลักธรรมของพุทธศาสนา.
  • แมงสี่หูห้าตา เป็นนิทานแทรกเรื่องปัญหากาและหนอน กับเรื่องครุฑกับตั๊กแตน จากเรื่องสลภชาดก (ลำดับที่ 35) ของปัญญาสชาดก (กรมศิลปากร, สลภชาดก, ใน ปัญญาสชาดก เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 457-460, 2550.) เรื่องในนิทานมีรายละเอียดต่างจากสลภชาดกเพียงเล็กน้อย โดยเรื่องในนิทานปริศนากากับหนอนและครุฑกับแมลงเม่าเล่าว่า กาอยากกินหนอนจึงท้าประลองปัญญากัน หากหนอนแพ้ก็ยอมเป็นอาหารของกา ปัญหาที่หนอนถามกาคือ สิ่งใดใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งที่เชี่ยวที่สุด สิ่งที่แหลมที่สุด และสิ่งที่มีกำลังมากที่สุด กาไม่สามารถตอบคำถามได้ จึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เฉลยว่า โลกุตรธรรมนั้นใหญ่ที่สุดในโลก จิตใจคนนั้นเชี่ยวที่สุด สายน้ำนั้นแหลมคมที่สุด และพระพุทธเจ้ามีกำลังมากที่สุด เมื่อกาไม่สามารถตอบคำถามได้ หนอนจึงปลอดภัย.

12.4 นีติวรรณกรรมและกระบวนการยุติธรรม
  • มังรายราชศาสตร์
  • คลองตัดคำพระพุทธโฆษาจารย์
       คดีตัวอย่างทั้ง 59 คดีนั้น เป็นทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็เป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่มีสีสัน มีรายละเอียดทั้งมูลคดีและคำวินิจฉัย ครอบคลุมเรื่องการพิพาทกันของประชาชน ตั้งแต่เรื่องวิวาท ตีด่าเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ตัวอย่างคดีและการตัดสินที่มีรายละเอียดชัดเจน ในเรื่องคลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์จึงแสดงถึงความรุ่งเรืองของวรรณกรรมนีติศาสตร์ และความรุ่งเรืองของกระบวนการยุติธรรมที่ดีของสังคมล้านนา.
 
 
info@huexonline.com