MENU
TH EN

เมืองเชียงแสน

Title Thumbnail: อนุสาวรีย์มังราย, ที่มา: Facebook  เพจ "วิเคราะห์ประวัติศาสตร์," วันที่เข้าถึง 21 ธันวาคม 2562.
เมืองเชียงแสน
First revision: Dec.21, 2019
Last change: Sep.01, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

 

ประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสน (ย่อ)01,02.

       เมืองเชียงแสน เป็นเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งของแคว้นล้านนา (ซึ่งมีโบราณสถานเกือบ 200 แห่งทั้งในและนอกกำแพงเมือง มีเจดีย์รูปทรงหลากหลายไม่ซ้ำกันราว ๆ 100 กว่าองค์) จากหลักฐานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี แสดงให้เห็นว่าเมืองเชียงแสนเป็นเมืองที่มี พัฒนาการมายาวนาน เนื่องจากเป็นเมืองที่มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมจึงส่งผลให้มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การปกครอง ศาสนาและศิลปกรรม ได้มีการพบหลักฐานการ ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินเก่าด้วย กลุ่มสิงหนวัติ เป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรก ที่เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก ชื่อเมือง "โยนกนาคพันธสิงหนวัติ "มีกษัตริย์ผู้สืบเชื้อสายปกครองต่อ ๆ กันมา.

       จนกระทั่งสมัยของพระเจ้าพรหม สามารถรวบรวมบ้านเมืองและขยายขอบเขตของแคว้นโยนกออกไปได้หลายพื้นที่ คือ เมืองไชยปราการ (เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่) เมืองไชยนารายณ์ (เขตอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย) และเวียงพางคำ (เขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) จนกระทั่งเมืองโยนกล่มสลายลงต่อมาโดยการนำของพ่อบ้านชื่อ "ขุนลัง" ได้พากันออกไปสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ บริเวณปากแม่น้ำกกขื่อว่า "เวียงปรึกษา".

       ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ได้ปรากฏแคว้นหิรัญนครเงินยางโดยกลุ่มลาวจก ที่เชื่อกันว่าเป็น กลุ่มชน ที่อพยพมาจากภูเขา ลงมาสร้างบ้านแปงเมือง บริเวณริมแม่น้ำสาย ปกครองเมืองที่เคยเป็นเมืองโยนกเดิม แคว้นหิรัญนครเงินยางนี้มีผู้นำคือ "ขุนเจือง "เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่มีความสามารถรวบรวมและขยายขอบเขต ของแคว้นออกไปได้อย่างกว้างขวาง.

       เมืองเชียงแสนเริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 มีพญามังรายกษัตริย์องค์ที่ 25 เชื้อสายราชวงศ์ลาวจก แห่งแคว้นหิรัญนครเงินยางสามารถยึดเมืองหริภุญไชย อันเป็นศูนย์กลาง อำนาจบริเวณแม่น้ำปิงและได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานี ของอาณาจักรล้านนาเมื่อปี พ.ศ. 1879 และในระยะเวลาต่อมา พญามังรายได้ส่งพญาแสนภูผู้เป็นหลาน มาควบคุมดูแลเมือง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก และแม่น้ำโขง โดยในระยะแรก พญาแสนภูเข้ามาพักชั่วคราวบริเวณปากแม่น้ำกก (เชียงแสนน้อยในปัจจุบัน) ก่อน ต่อมาได้ช่วยสร้างเมืองเชียงแสนขึ้น ตรงบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองเก่าเดิม และทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีตำแหน่งที่ตั้งทางชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การทำกสิกรรม เพื่อเป็นเมืองท่าหน้าด่าน ที่คอยควบคุมดูแลการค้าขายตามลำน้ำโขง พญาแสนภูโปรดให้ขุดคูและสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบ 3 ด้านคือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันตก และด้านทิศใต้ ส่วนด้านทิศตะวันออกใช้แม่น้ำโขงเป็นปราการธรรมชาติ.

        ส่วนกำแพงที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพญาสามฝั่งแกน หรือสามฝั่งแก่น เมื่อประมาณ พ.ศ.1951 เมื่อครั้งที่พวกฮ่อได้ยกทัพมาตีล้านนาและเมืองเชียงแสน ในระยะแรกเมืองเชียงแสนมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของแคว้นล้านนาจนถึงสมัย พญาติโลกราช (ประมาณ พ.ศ. 1985-2030) เมื่อกองทัพของกรุงศรีอยุธยา เข้ายึดเมืองเชียงใหม่และแคว้นล้านนาทั้งหมดเมืองเชียงแสน ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอยุธยาด้วย.

       หลังจากนั้นล้านนาก็ต้องตกอยู่ในอำนาจ ของพม่าและเมื่อพระยาจ่าบ้าน (วิเชียรปราการ) ร่วมกับพระยากาวิละ โดยการสนับสนุนกำลังกองทัพจากกรุงธนบุรี สามารถกอบกู้ เมืองเชียงใหม่และขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จในปี พ.ศ.2317 แต่พม่าก็ยังย้ายมาตั้งมั่นที่เมืองเชียงแสนได้อีกในปี พ.ศ.2347 พระยากาวิละได้ให้พระยาอุปราช (อนุชา) ยกกำลังเข้าไป ขับไล่พม่า โดยเผาทำลายเมืองและป้อมกำแพงเมือง รวมทั้งอพยพผู้คนออกจาก เมืองเชียงแสนไปไว้ในที่ต่าง ๆ ในเมืองล้านนา ซึ่งจะเห็นว่าเมืองนี้ถูกทำลายเสียหายลงไปมาก.

        ในปี พ.ศ.2417 ได้มีพวกพม่า ลื้อ เขิน จากเมืองเชียงตุง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองเชียงแสน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินต๊ะนำราษฎรชาวเมืองลำพูน เชียงใหม่ เข้ามาตั้งบ้านเรือนในเมืองเชียงแสนจำนวน 1,500 ครัวเรือน เมื่อมีการจัดระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ.2442) เมืองเชียงแสนได้ขึ้นกับมณฑลพายัพ ต่อมาเปลี่ยนการบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดเมืองเชียงแสนจึงมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ขึ้นอยู่กับอำเภอแม่จัน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2500 จึงยกฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ความสำคัญต่อชุมชน เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแห่งนี้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ลักษณะทางสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมในเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนที่หลงเหลือหลักฐานอยู่ในปัจจุบันได้แก่ พระเจดีย์ ซึ่งมี 2 แบบ คือเจดีย์ทรงระฆัง และเจดีย์ทรงปราสาท ที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานของศิลปะจีน ศิลปะพม่า แบบพุกาม และศิลปะสุโขทัยต่อมาได้พัฒนาจนเป็นรูปแบบของตนเองเส้นทางเข้าสู่เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. Facebook เพจ "เรื่องเล่าชาวล้านนา," วันที่เข้าถึง 21 ธันวาคม 2562.
02. จาก. Facebook เพจ "โบราณสถาน โบราณคดี วิถีวัฒนธรรม," โดยผู้ใช้นามว่า จินต์ โอภาสวรรัตน์, วันที่เข้าถึง 1 กันยายน 2564.



 
info@huexonline.com