MENU
TH EN

CM-002. วัดเจดีย์หลวง หรือ วัดโชติการาม

Thumbnail Image: พระมหาปราสาทเจดีย์หลวง ถ่ายไว้เมื่อ 3 เมษายน 2564, และ https://www.thetrippacker.com/ วันที่เข้าถึง 09 ธันวาคม 2562.
CM-002. วัดเจดีย์หลวง หรือ วัดโชติการาม - ราชกุฎาคาร
First revision: Dec.09, 2019
Last change: Jul.30, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย
อภิรักษ์ กาญจนคงคา.

       วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร หรือ วัดโชติการาม หรือ ราชกุฎาคาร เป็นพระอารามหลวง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฎปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1928-1945 และมีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ ที่ปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญอีกองค์หนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่.

       วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ภายในวัดประมาณ 32-1-27 ไร่.
  • ปี พ.ศ.2022-2024 พรญาติลกมหาราช ได้โปรดให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ครอบองค์เดิม มีฐานกว้าง 56 เมตร สูง 90 เมตร ปรับรูปทรงเจดีย์เป็นพุทธศิลปะ สถาปัตยกรรมล้านนาผสมโลหะปราสาทลังกา และทรงเจดีย์แบบพุกามพม่า ดัดแปลงซุ้มจระนำมุขเจดีย์ด้านทิศตะวันออกให้เป็นซุ้มและแท่นฐานประดิษฐาน "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" (พระแก้วมรกต) เป็นเวลานานถึง 79 ปี แล้วจึงนำไปประดิษฐานในวิหารหลวง 1 ปี

ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญ
       01.  พระบรมธาตุเจดีย์
       02.  พระแก้วหยกเชียงใหม่ พุทธรูปศิลปะเชียงแสน สิงห์ 3 ปางนั่งขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้า 52 ซม. หนัก 99.2 กิโลกรัม สร้างเมื่อครั้งสมโภช 600 ปี พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ.2538.

ข้อมูลสังเขป
       "ราชกุฎาคาร" หมายถึง "ราชาแห่งอาคารเรือนยอด" ด้วยสร้างขึ้นเป็นเกียรติเป็นศรีเวียงเชียงใหม่ ที่กล่าวกันว่าสูงมากเสียจนคนที่อยู่ออกไปไกลถึง 2,000 วา หรือ ราว 4 กิโลเมตรยังแลเห็น ตามประวัติเล่าว่า พญาแสนเมืองมาได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้พระราชบิดา ซึ่งในเอกสารเก่าได้กล่าวว่า ดวงพระวิญญาณของพระญากือนาผู้เป็นสมเด็จพระราชบิดาของพระยาแสนเมืองมาได้นิมิตรให้พ่อค้าคาราวานที่เดินทางไปค้าขายยังเมืองพุกามได้รับทราบว่า ดวงพระวิญญาณของพระองค์ประสงค์ให้พระยาแสนเมืองมาได้สร้างราชกุฎาคารองค์นี้ ทว่าเป็นองค์ที่ถูกสร้างครอบไว้ด้านใน.

       อย่างไรก็ดี ข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองพุกามในฐานะศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทที่สำคัญของเอเชียอาคเนย์ และมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กันใกล้ชิดกับล้านนา ดังตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นจาก จารึกพระมหาราชครูเมืองเชียงใหม่ ที่เสด็จที่ได้ถวายทรัพย์จัดตั้งเป็นกองทุนมูลนิธิสำหรับทำนุบำรุงพระเจดีย์ชเวสิกง แห่งเมืองพุกาม ซึ่งมูลนิธินั้นยังดำรงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบัน

       ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชได้มีการบูรณะพระเจดีย์หลวงครั้งใหญ่ ในครานี้แก้ไขทรงให้เป็นกระพุ่มยอดเดียว และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่คูหาด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์หลวงด้วย

       ต่อมาในปีพ.ศ. 2088 ในรัชสมัยพระนางเจ้ามหาเทวีจิรประภา เกิดเหตุแผ่นดินไหวทำให้เรือนยอดของพระเจดีย์หลวงพังทลายลงมา



สถานภาพความรู้และข้อเสนอเกี่ยวกับพระเจดีย์หลวง01.
       ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล ได้ศึกษาและเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระเจดีย์หลวงผ่านระเบียบวิธีวิจัยและการขุดค้นทางโบราณคดี ทั้งนี้ ได้เสนอข้อมูลการขุดค้นอุโมงค์ทางเดินใต้ฐานพระเจดีย์หลวงไว้และยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างทางลาดทั้งสามด้านของพระเจดีย์ที่ไม่ได้มีการก่อขั้นบันได ตลอดจนประเด็นเรื่องการก่อห้องในมุขด้านตะวันออกในการขุดแต่งทางโบราณคดี ซึ่งปัจจุบันได้ตัดขาดกับพระประธานที่อยู่ตอนในลง ซึ่งศาสตราจารย์ เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล มีข้อเสนอว่า การก่อผนังกั้นดังกล่าวนั้นระบบการก่ออิฐไม่สอดคล้องกับระบบการก่ออิฐของพระเจดีย์หลวง จึงสันนิษฐานว่าผนังที่กั้นห้องดังกล่าวน่าจจะถูกสร้างขึ้นในชั้นหลัง ในช่วงเวลาที่มีความพยายามจะฟื้นฟูเจดีย์หลวงภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหว.


การศึกษา และข้อเสนอเกี่ยวกับพระเจดีย์หลวงจากการศึกษาวิจัยภาคสนามและการสำรวจด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์แสกนเนอร์สามมิติ และการจัดทำหุ่นจำลองสารสนเทศมรดกสถาปัตยกรรม01.
       จากการสำรวจรังวัดด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์แสกนเนอร์สามมิติ และนำมาทำข้อมูลสารสนเทศหุ่นจำลองมรดกสถาปัตยกรรม (Heritage Information Modeling - H-BIM) และการสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร โดยใช้พระเจดีย์สำคัญ 3 องค์ เป็นแบบแผนในการคลี่คลาย คือ พระเจดีย์เชียงมั่น พระเจดีย์พระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด และพระเจดีย์พระเมืองเกศเกล้า วัดโลกโมลี.

       ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีความเห็นว่า พระเจดีย์ที่ควรเกี่ยวเนื่องในสายวิวัฒนาการของพระเจดีย์หลวงควรจะเป็น "พระเจดีย์วัดเชียงมั่น" และ "พระเจดีย์พระเจ้าติโลกราช" เพราะก่อสร้างอยู่ร่วมสมัยกัน ที่ตัดพระเจดีย์พระเมืองเกศเกล้าออกจากความเป็นไปได้ เนื่องจากมีช่วงเวลาที่สร้างห่างกันออกไปในภายหลัง และมีท่วงทีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันน้อย.

       ทว่าเมื่อพิจารณาในประเด็นการคลี่คลายตัวของรูปทรงแล้วจะเห็นได้ว่า พระเจดีย์วัดเชียงมั่นจะมีความสัมพันธ์มากกว่า ผู้วิจัยจึงใช้แบบแผนของเจดีย์วัดเชียงมั่นเป็นฐานของการศึกษาเพื่อการสันนิษฐานรูปแบบเต็มองค์ของพระเจดียหลวงก่อนที่เรือนยอดจะหักโค่นลงมา.

       ทั้งนี้ เมื่อนำมาสู่กระบวนการศึกษาเพื่อสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรม พบว่า พระเจดีย์หลวง ควรความสูงจากฐานจรดยอดประมาณ 80 เมตร เมื่อได้ H-BIM - หุ่นจำลองสารสนเทศมรดกสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์หลวง จึงนำมาคำนวนปริมาตรของตัวพระเจดีย์ ทั้งนี้ ใช้ขนาดและน้ำหนักอิฐที่ใช้ในพระเจดีย์หลวงซึ่งมีขนาดประมาณ 15 x 30 x 5 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัมเป็นฐานในการคำนวน.

       กล่าวคือ ปริมาตรรวมของพระเจดีย์มีขนาดประมาณ 47,000 ลบ.เมตร ซึ่งใช้อิฐประมาณ 19 ล้านก้อน คิดเป็นน้ำหนักรวมประมาณ 59,000 ตัน นอกจากนี้ จากการลงภาคสนามสำรวจพระเจดีย์หลวงในส่วนต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีเลเซอร์แสกนเนอร์เพื่อบันทึกข้อมูล แล้วนำมาประมวลผลในแลบคอมพิวเตอร์จนสำเร็จลุล่วง.

       ทัังนี้ การสำรวจอุโมงค์ทางเดินภายในฐานองค์พระเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ จากทางเข้าที่อยู่ด้านข้างของบันไดนาค ภายในอุโมงค์ในช่วงแรกออกแบบเป็นบันไดทอดตัวชัน สัมพันธ์กับรูปทรงภายนอกของโครงสร้างทางลาดด้านนอก การก่ออิฐเรียงอิฐเป็นระบบ การเปลี่ยนความสูงของลูกตั้งบันไดสัมพันธ์กับอุโมงค์ที่เป็นเพดาน ต่อไปเป็นอุโมงทอดยาว.

       เมื่อศึกษาแผนผังของอุโมงค์ของพระเจดีย์หลวง จะเห็นว่า ตัวอุโมงค์ทางเดินนั้นซ้อนอยู่ในฐานตรงตำแหน่งใต้เรือนธาตุองค์พระเจดีย์ ซึ่งน่าสนใจว่า การวางผังของอุโมงค์ดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับวิธีการสร้างอุโมงค์ และการวางผังอุโมงค์ของกู่พญาในพุกาม ที่ออกแบบบันไดทางขึ้นหรืออุโมงอยู่ในผนัง ทว่าผังของพุกามนั้นมีลักษณะเป็นผนัง 2 ชั้น คือ ผนังด้านฝั่งในของอุโมงค์ทำหน้าที่รับน้ำหนักเรือนยอดที่อยู่เหนือขึ้นไป ในขณะที่ผนังที่อยู่ด้านนอกนั้นทำหน้าที่ห่อหุ้มอุโมงค์เอาไว้ไม่ได้นับน้ำหนักของเรือนยอดด้านบนโดยตรง หรืออาจจะเรียกได้ว่าผนังของอุโมงค์ทางด้านนอกค่อนข้างอิสระจากน้ำหนักบรรทุกคงที่ (Dead Load) ที่กดทับลงมาจากเรือนยอดด้านบน.

       นอกจากนี้ การออกแบบอุโมงค์ทางเดินที่ใช้โครงสร้างรับน้ำหนักแบบโค้งกลีบบัวของพุกาม ยังทำให้อุโมงค์ทางเดินดังกล่าวทำหน้าที่ค้ำพยุงโครงสร้างด้านในไปในตัว ซึ่งเมื่อตัด Section จะเห็นว่ามีคุณลักษณะคล้ายๆกับ ครีบยัน (Buttress) ของงานโกธิค ทว่าการก่อสร้างของพระเจดีย์หลวงรับเอาแรงบันดาลใจมาจากการจัดวางพื้นที่และการทำอุโมงค์ทางเดินของกู่พญาแบบพุกาม แต่ไม่ได้เอาภูมิปัญญาทางวิศวกรรมและความเข้าใจเชิงโครงสร้างแบบพุกามมาด้วย อาจเป็นเพราะว่าในช่วงเวลานั้น พุกามได้หมดบทบาทการเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรแล้ว จึงทำให้ไม่มีการก่อสร้างกู่พญาขนาดใหญ่อีก แต่กู่พญาที่มีจำนวนมากมาแต่เดิมเหล่านี้ ก็คงเป็นแรงบันดาลใจแก่ช่างชาวเชียงใหม่.

       ในที่นี้ อาจจะเป็นหมื่นด้ามพร้าคดเอกสถาปนิกแห่งพระเจ้าติโลกราช เพราะมีการก่อสร้างอาคารสำคัญอีกหลังคือ "วิหารโพธารามวัดเจ็ดยอด" ที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับ "มหาโพธิกู่พญา" เมืองพุกาม แม้ว่าในเอกสารบอกว่าไปถ่ายแบบมาจากพุทธคยา ทว่าด้วยบริบทความเป็นไปได้แล้ว เห็นจะไปเพียงแค่พุกาม จากการสำรวจภาคสนามพบว่า จากปากอุโมงค์ที่อยู่ใต้บันไดนาค จะต่อด้วยบันไดทางขึ้นเพื่อเปลี่ยนระดับ จากนั้นเป็นอุโมงค์ที่ดิ่งตรงเข้าไปยังพิกัดที่เป็นที่ตั้งของเรือนธาตุ จึงมีจังหวะหักเลี้ยว และแตกเป็นทางเดินสองแกน แกนที่มุ่งตรงไปนั้นจะไปหักขวาอีกทีและเข้าไปยังจุดที่อุโมงค์มีระยะจากพื้นถึงเพดานที่ต่ำ ต้องเดินค้อมตัวจนกระทั่งถึงปลายอุโมงที่ตันด้วยมีการถมอัดด้วยเศษอิฐปรักหักพังและดิน อีกแกนต่อขึ้นเป็นบันไดที่ชัน แคบ และเพดานอุโมงค์เตี้ย แล้วค่อยหักเลี้ยวสองครั้ง โดยมีระยะของอุโมงพอสมควรไปยังจุดที่จะเป็นจุกเชื่อมสู่ลานประทักษิณเบื้องบน ทว่าจุดเกือบปลายสุดของอุโมงนี้ มีร่องรอยถูกงัดถูกถากอิฐและศิลาแลงออก ซึ่งน่าจะเกิดจากการขุดค้นทางโบราณคดีและการอนุรักษ์ตัวพระเจดีย์หลวงเพื่อเจาะอุโมงค์เชื่อมต่อขึ้นไปยังลานประทักษิณด้านบน.

       จากการสำรวจดังกล่าว ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า แม้จะมีการออกแบบ และก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินขึ้่นไปแล้ว แต่การก่อสร้างได้มีการปรับปรุงแบบให้มีการการก่อห้องมุขทิศทั้งสี่ด้านที่มีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น และไม่มีทางเชื่อมระหว่างมุขทิศทั้งสี่ และอุโมงค์ทางเดินที่ก่อสร้างไว้ก็ไม่ได้ถูกใช้จริง เพราะไม่เห็นร่องรอยของจุดที่เชื่อมต่อด้านบน ซึ่งจุดที่เชื่อมต่อขึ้นไปยังบนลานประทักษิณตอนบนนั้นเป็นอุโมงค์ที่เจาะใหม่ในคราวการขุดสำรวจทางโบราณคดีดังเล่าไว้แล้วข้างต้น.

       ทว่าพระเจดีย์หลวงได้รับเฉพาะแรงบันดาลใจเชิงรูปแบบและคุณลักษณะของการก่อรูปพื้นที่จากพุกาม แต่ไม่ได้รับภูมิปัญญาในการก่อสร้าง และความรู้ทางวิศวกรรมมาด้วย เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นพุกามได้ลดบทบาทลงเสียแล้ว เมื่อช่างชาวเชียงใหม่นำมาก่อสร้าง จึงได้นำประสบการณ์และปรากฏการณ์ที่ได้รับมาจากกู่พญาเมืองพุกาม มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบอุโมงค์ทางเดินที่เห็นว่าพยายามจะเชื่อมขึ้นไปยังผนัง และคงประสงค์จะทำอุโมงค์ทางเดินในอาคารที่เชื่อมต่อระหว่างห้องบูชาแต่ละทิศเข้าด้วยกัน จึงเห็นว่าระยะของการวางผังอุโมงค์ถูกขึงเข้าไปอยู่ใต้แผนผังของเรือนธาตุพระเจดีย์ แต่เหนือเรือนธาตุที่มีมุขทั้งสี่ด้านขององค์พระเจดีย์หลวงนั้นเทินด้วยเรือนยอดทรงเจดีย์ที่มีน้ำหนักมหาศาล.

       เมื่อพิจารณา ในประเด็นของคุณภาพในการก่อสร้างพบว่า การก่อสร้างในชั้นแรกตรงอุโมงค์บันไดมีการก่อสร้างที่ปราณีต และค่อย ๆ ลดความปราณีตลง จนสุดท้ายไม่สามารถจะใช้เป็นอุโมงค์ทางเดินได้จริง ซึ่งอาจเป็นเพราะความรู้ทางวิศวกรรม และประสบการณ์ในการก่อสร้างของล้านนาที่มีอยู่จำกัด จึงทำให้การก่อสร้างไม่สำเร็จ.

       อย่างไรก็ดี อาจสอดคล้องกับช่วงเวลารัชกาลพระเจ้าติโลกราช ดังกล่าวนั้นก็มีความผันผวนในเรื่องต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการเมือง ซึ่งมีเหตุการณ์ที่ทรงกดดันให้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานที่ลำปางมายังเชียงใหม่ และได้นำพระแก้วขึ้นมาประดิษฐานที่จระนำด้านตะวันออกของพระเจดีย์หลวง ซึ่งคงได้ทำให้มีขั้นบันไดทางขึ้นมาในคราวนั้นเอง ในขณะที่แกนอื่นเป็นทางลาดไม่มีขั้นบันได และอาจเป็นเหตุทำให้ความพยายามในการสร้างอุโมงค์ทางขึ้นที่ซับซ้อนได้รับความสนใจน้อยลงจนเลิกก่อสร้าง และมีการถมอัดอุโมงในบางจุดด้วย.

       อาจเป็นเพราะเทคนิคทางวิศวกรรมทางโครงสร้างที่จำกัดด้วยไม่ได้พัฒนาผ่านการออกแบบก่อสร้างซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติ ต่างไปจากความรู้ของพุกามที่พัฒนาอย่างซับซ้อนเป็นระบบ การทำอุโมงค์ทางเดินดังกล่าวอาจจะมีผลให้เสถียรภาพของฐานรากไม่ดีเท่าที่ควร จนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงเกิดอาการสั่นคลอนและทรุดตัวไม่เท่ากัน จึงทำให้เรือนยอดก่ออิฐตันอันมีน้ำหนักมหาศาลได้พังทลายลงมา.

       จากการศึกษานี้ มีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า จากเหตุแผ่นดินไหวที่ทำให้เรือนยอดของพระเจดีย์หักโค่นถล่มลง ซึ่งได้โค่นลงไปทางทิศใต้ ทำให้กองซากปรักหักพังทับถมอยู่บริเวณด้านตะวันออก ด้านใต้ และด้านตะวันตก.

       ทั้งนี้ นายช่างโบราณที่จะดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์คงทราบดีว่า เหตุสำคัญในการทำให้พระเจดีย์หลวงหักโค่นลงนั้น ก็เพราะเสถียรภาพของฐานรากไม่ดีพอ ด้วยมีอุโมงค์ทางเดินแทรกซ้อนอยู่.

       เพราะฉะนั้น หากจะมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์หลวงก็จำเป็นต้องจัดการเสริมความแข็งแรงให้กับอุโมงค์ด้านใต้เจดีย์ ทว่าพื้นที่ทางด้านใต้ ตะวันออก และเหนือนั้นคงถูกกองปรักหักพังของอิฐทับถมอยู่มาก จึงต้องใช้อุโมงค์ทางเข้าด้านทิศเหนือเป็นเส้นทางสัญจรเพื่อเข้าไปยังพื้นที่ตอนใน ดังพบหลักฐานว่ามีการถมอัดอุโมงค์ ทว่าการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ หรือเลิกล้มกลางคันเนื่องจากปัญหาด้านต่าง ๆ ประการหนึ่ง คือ ในช่วงดังกล่าวนั้น เมืองเชียงใหม่มิได้มั่งคั่งเช่นสมัยก่อนหน้า ด้วยตกอยู่ภายใต้อำนาจราชสำนักแห่งลุ่มน้ำอิระวดี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2101 หรือ 13 ปี หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดความเสียหาย


สรุปผลการศึกษา
       เป็นอันว่าแรงบันดาลใจจากพุกามที่ส่งผ่านมายังเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ภูมิปัญญาในการออกแบบ คำนวน และการก่อสร้างมาด้วย ทำให้การก่อสร้างนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลไม่ได้ใช้ประโยชน์ และทำให้เป็นจุดอ่อนที่สำคัญของตัวองค์พระเจดีย์หลวง จนเมื่อพบกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่สำคัญ คือ แผ่นดินไหว จึงทำให้เรือนยอดของพระเจดีย์โค่นพังทลายลงมาทางด้านทิศใต้ และเมื่อมีความพยายามจะซ่อมแซมจึงเริ่มต้นด้วยการเสริมความแข็งแรงของฐานรากด้วยการถมอัด จึงจำเป็นต้องใช้อุโมงค์ด้านทิศเหนือเป็นเส้นทางสัญจรเนื่องจากมีความเสียหายน้อยกว่าด้านอื่น ๆ แต่การซ่อมแซมก็คงยุติลงด้วยเกินกำลังทรัพยากร ซึ่งอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจึงไม่มีอิสระในการจัดการทรัพยากร จึงทำให้การถมอัดดังกล่าวไม่เสร็จ และอุโมงค์ทางด้านทิศเหนือไม่ได้ถูกถมอัด ทำให้ผู้วิจัยได้มีโอกาสดำเนินการศึกษาในโอกาสนี้

                  กราบนมัสการ และขอขอบคุณ
                      - พระเทพวุฒาจารย์ (ชูเกียรติ อภโย) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ที่เมตตาอนุญาตให้ดำเนินการ
                      - พระครูโสภณกวีรัตน์ (ธนจรรย์ คุตฺตธมฺโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ที่เมตตาบอกเล่าเนื้อหาประวัติศาสตร์
                      - พระมหาอุดร ทีปวํงโส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ที่เมตตามาร่วมสำรวจ
                      - นายภาณุพันธ์ ชัยรัต อธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ ที่อำนวยให้ได้มาศึกษาครั้งนี้
                      - อาจารย์ฐาปกรณ์ เครือระยา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มาดูแลรับส่ง พาไปกินข้าวปลาอาหาร และช่วยในการสำรวจ




629 ปี พระเจดีย์หลวง องค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญ ในเชียงใหม่02.

       วัดเจดีย์หลวง มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร , วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1934 ถ้านับจนถึงปัจจุบันมีอายุ 629 ปี วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ

       สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็ทรงสวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อสร้างเสร็จ (พระเจ้าติโลกราชสร้างเสริมให้สูงใหญ่ขึ้น) เรียบร้อยแล้ว มีระเบียบกระพุ่มยอดเป็นอันเดียว ฐานกว้างด้านละ 52 ศอก สูง 92 ศอก ก่อด้วยศิลาแลงทั้งสี่ด้าน”

       พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 11 โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต ไปจำลองแบบมหาเจดีย์จากเมืองลังกามาสร้างเป็นเจดีย์สูง 43 วา ฐานกว้าง 27 วา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต (องค์เดียวกับที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ) มาจากเมืองลำปาง โปรดให้สร้างซุ้มประดิษฐานไว้ที่ข้างองค์พระเจดีย์ด้านทิศตะวันออก ในสมัยหลังพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองล้านช้าง ประเทศลาว กระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ ร.1 ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานคร

       ช่วงปี พ.ศ.2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่าง ๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนะขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา.

       กระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์หลวงขึ้นใหม่ ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2535 จนปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่ตั้งเด่นเป็
นสง่าอยู่กลางเมือง.


ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จากที่มา: Facebook, เพจ blog-Kreangkrai Kirdsiri, วันที่เข้าถึง 09 ธันวาคม 2562.
02. จาก
Blog "ฮีตฮอยบ่าเก่า เฮาคนเมือง", เชียงใหม่นิวส์ @chiangmainews #chiangmainews ซึ่งอ้างอิงถึง ใน Facebook สืบค้นเมื่อ 19 พ.ย.2563.

 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com