MENU
TH EN

ก. ปฐมบท - อาณาจักรล้านนา

Title Thumbnail: ราชรถน้อย อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ในประเพณีปีใหม่เมือง เชียงใหม่ พ.ศ.2501 (ปัจจุบันราชรถคันนี้ ไม่ปรากฏว่าเก็บรักษาไว้ที่ใด) ถ่ายภาพโดย Georges Condominas สืบค้นภาพจากฐานข้อมูล Le musée du quai Branly - Jacques Chirac ประเทศฝรั่งเศส ขอบคุณภาพจากเพจ Thotsaporn Nanta, วันที่เข้าถึง 12 กรกฎาคม 2563. Hero Image: ปู่ม่านย่าม่าน หรือ หนุ่มกระซิบ ผลงานของหนานบัวผัน01

ก. ปฐมบท - อาณาจักรล้านนา06, 07, 08.
First Revision: Sep.16, 2016
Last Change: Jul.13, 2020

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรต โดย อภิรักษ์ กาญจนคงค

(ไทย) เรามักเรียกดินแดนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยว่าล้านนา ที่รับรู้ว่างดงามด้วยธรรมชาติแห่งขุนเขาและผู้คนที่มากด้วยน้ำใจไมตรี รวมถึงความงดงามของศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีที่มากด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่น แต่ในขณะเดียวกันถ้าจะย้อนลึกลงไปกว่านั้น ถึงที่มาที่ไปตลอดจนความสำคัญอันมีนัยต่อความเป็นประเทศไทย คงเป็นเรื่องที่จะมีผู้รู้ไม่มากนัก ทั้งที่การมีอยู่ของอาณาจักรล้านนานั้นมีผลสำคัญยิ่งต่อความเป็นประเทศไทย

ประวัติศาสตร์แห่งเรื่องราวของแผ่นดินนี้แม้จะมีอยู่ แต่ดูเหมือนจะกระจัดกระจายยากต่อการสืบค้นสำหรับผู้อ่านทั่วไปที่มิใช่นักประวัติศาสตร์ จนเมื่อศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้ค้นคว้าจนกลายมาเป็นหนังสือ "ประวัติศาสตร์ล้านนา" ที่รวบรวมเรื่องราวได้อย่างครอบคลุม น่าสนใจ และเหมาะกับนักอ่านที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของแผ่นดินล้านนา โดยเฉพาะนี่เป็นหนังสือที่ทำให้เรามองเห็นภาพแห่งยุคสมัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้อย่างชัดเจนมากกว่าการมองเห็นเพียงว่ากษัตริย์พระองค์ไหนเป็นผู้สร้าง

อะไรคือความมั่นคง อะไรคือความขัดแย้ง อะไรคือความเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ปรากฎชัดอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ที่ดำเนินเรื่องไปตามยุคสมัย จึงทำให้นักอ่านเข้าใจได้อย่างเห็นภาพและมีชีวิต

 
ที่มา: คำนำสำนักพิมพ์ (ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม) สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน 2557, "ประวัติศาสตร์ล้านนา" โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สรัสวดี อ๋องสกุล.


 
 ก. ปฐมบท - อาณาจักรล้านนา02

อาณาจักรล้านนา คือ ราชอาณาจักรของชาวไทยวน03 ในอดีตที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ตลอดจนสิบสองปันนา เช่นเมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) มณฑลยูนนาน ภาคตะวันออกของพม่า ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีเมืองเชียงตุงเป็นเมืองเอก ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน มีเมืองนายเป็นเมืองเอก และ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน โดยมีเมืองเชียงใหม่ เป็นราชธานี มีภาษา ตัวหนังสือ วัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตนเอง ต่อมาถูกปกครองในฐานะรัฐบรรณาการของอาณาจักรตองอู อาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรอังวะ จนสิ้นฐานะอาณาจักร กลายเป็นเมืองส่วนหนึ่งของอาณาจักรอังวะ ในราชวงศ์คองบอง (หรือ นยองยาน) ไปในที่สุด.


ชื่อ: 
ล้านนา หมายถึง ดินแดนที่มีนานับล้าน หรือมีที่นาเป็นจำนวนมาก คู่กับล้านช้าง คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว เมื่อปี พ.ศ.2530 คำว่า "ล้านนา" กับ "ลานนา" เป็นหัวข้อโต้เถียงกัน ซึ่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ข้อยุติว่า "ล้านนา" เป็นคำที่ถูกต้อง และเป็นคำที่ใช้กันในวงการวิชาการ.
ปัญหาที่นำไปสู่การโต้เถียงกันนั้น สืบเนื่องมาจากในอดีตการเขียนมักไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องวรรณยุกต์แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า แม้จะเขียนโดยไม่มีรูปวรรณยุกต์โทกำกับ แต่ให้อ่านเหมือนมีวรรณยุกต์โท สำหรับคำ "ลานนา" น่าจะมาจากราชวินิจฉัยของ ร.5 ที่ว่า "ลานนาหมายถึงทำเลทำนา" ซึ่งทำให้คำว่าลานนาใช้กันมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ ภายหลัง พ.ศ.2510 นักวิชาการระดับสูงพบว่าล้านนาเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว และยิ่งชักเจนยิ่งขึ้นเมื่อ ดร.ฮัน เพนธ์ ค้นพบคำว่า "ล้านนา" ในศิลาจารึกที่วัดเชียงสา ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.2096 อย่างไรก็ดี การตรวจสอบคำว่า ล้านนา ได้อาศัยศัพท์ภาษาบาลี โดยพบว่าท้ายคัมภีร์ใบลานจากเมืองน่านและที่อื่น ๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เขียนว่า ทสลกฺขเขตฺตนคร (อ่านว่า ทะสะลักขะเขตตะนะคอน) แปลว่า เมืองสิบแสนนา เป็นคำคู่กับเมืองหลวงพระบางที่ชื่ออาณาจักร ศรีสตนาคนหุต หรือช้างร้อยหมื่น
คำว่าล้านนาน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพญากือนา เนื่องจากพระนาม "กือนา" หมายถึงจำนวนร้อยล้าน และต่อมาคำล้านนาได้ใช้เรียกกษัตริย์และประชาชน แพร่หลายมากในสมัยพระเจ้าติโลกราช.
ส่วนการใช้ว่า "ล้านนาไทย" นั้น เป็นเสมือนการเน้นความเป็นไทย ซึ่งใช้กันมาในสมัยหลังด้วยเหตุผลทางการเมือง.

 

แผนที่แสดงที่ตั้ง ขนาดและอาณาเขตของอาณาจักรล้านนา ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช
(ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/อาณาจักรล้านนา, วันที่สืบค้น 01 พ.ย.2559)

 
อาณาเขต:
หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ดินแดนล้านนานั้น หมายถึงดินแดนบางส่วนของอาณาเขตบริเวณลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนเมืองที่ตั้งตามลุ่มแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปาย แม่น้ำงัด ฯลฯ โดยมีอาณาเขตทางทิศใต้จดเมืองตาก (อำเภอบ้านตากปัจจุบัน) และจดเขตดินแดนด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันตกเลยลึกเข้าไปในฝั่งตะวันตกของแมน้ำสาละวิน ทิศตะวันออกจดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทิศเหนือจรดเมืองเชียงรุ่ง (หรือคนจีนในปัจจุบันเรียกว่า เมืองจิ่งหง) ซึ่งบริเวณชายขอบของล้านนา อาทิ เมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย เป็นบริเวณที่รัฐล้านนาแผ่อิทธิพล ไปถึงเมืองนั้น ๆ.

ในสมัยโบราณได้กล่าวถึงเมืองขึ้นกับดินแดนล้านนามี 57 เมือง ดังปรากฎในตำนานพื้นเมืองของเชียงใหม่ว่า ใน สัตตปัญญาสล้านนา 57 หัวเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่ามีเมืองใดบ้าง ปัจจุบันมีหลักฐานที่พม่านำไปจากเชียงใหม่ในสมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2101-2317) และได้แปลเป็นภาษาพม่าต่อมาในปี ค.ศ.2003 ทางมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (Yangon University) ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Zinme Yazawin หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า ได้ระเมืองต่าง ๆ 57 หัวเมือง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเมือง คือ กลุ่มเมืองขนาดใหญ่มี 6 เมือง กลุ่มเมืองขนาดกลางมี 7 เมือง กลุ่มเมืองขนาดเล็กมี 44 เมือง เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงของ เมืองพร้าว เมืองเชียงดาว เมืองลี้ เมืองยวม เมืองสาด เมืองนาย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงคำ เมืองเชียงตอง เมืองน่าน เมืองเทิง เมืองยอง เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่ เมืองอิง เมืองไลค่า เมืองลอกจ๊อก เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองหนองบอน เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง เมืองจำคา เมืองพุย เมืองสีซอ เมืองแหงหลวง เมืองหาง เมืองพง เมืองดัง ฯลฯ04.

      

รายพระนามกษัตริย์ล้านนา05
ได้รวบรวมตั้งแต่พญามังราย ก่อตั้งอาณาจักรจนกระทั่งสิ้นสุด เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกประเพณีแต่งตั้งเจ้าหลวง ประกอบด้วย.
1. ราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1839 - 2121)
2. ยุคพม่าครองเมือง (พ.ศ.2121 - 2317)
3. ราชวงศ์ทิพยจักร (พ.ศ.2317 - 2482)




ประวัติศาสตร์

การก่อตั้งอาณาจักร


พญามังราย กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยาง องค์ที่ 25 ในราชวงศ์ลวจังกราช (หรือลวจักกราช) ปู่เจ้าลาวจก ได้เริ่มตีเมืองเล็กเมืองน้อย ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำปิงตอนบน รวบรวมเมืองต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น นอกจากเงินยางแล้ว ยังมีเมืองพะเยาของพญางำเมืองพระสหาย ซึ่งพญามังรายไม่ประสงค์จะได้เมืองพะเยาด้วยการสงคราม แต่ทรงใช้วิธีผูกสัมพันธไมตรีแทน หลังจากขยายอำนาจระยะหนึ่ง พระองค์ได้ย้ายศูนย์กลางการปกครอง โดยสร้างเมืองเชียงรายขึ้นแทนเมืองเงินยาง เนื่องด้วยเชียงรายตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก เหมาะเป็นชัยสมรภูมิตลอดจนทำการเกษตรและค้าขาย.

หลังจากได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ที่เมืองเชียงรายแล้ว พระองค์ก็ได้ขยายอาณาจักรแผ่อิทธิพลลงทางทางทิศใต้ ขณะนั้นก็ได้มีอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนอยู่แล้วคือ อาณาจักรหริภุณชัย มีนครลำพูนเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในชัยสมรภูมิที่เหมาะสมประกอบด้วยมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านได้แก่แมน้ำกวงและแม่น้ำปิงซึ่งเป็นลำน้ำสายใหญ่ไหลลงสู่ทะเลเหมาะแก่การค้าขายและการป้องกันพระนคร มีนครลำปางเป็นหน้าด่านคอยป้องกันศึกศัตรู สองเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่มีกษัตริย์ปกครองอย่างเข้มแข็ง การที่จะเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ได้จะต้องตีอาณาจักรหริภุณชัยให้ได้ พระองค์ได้รวบรวมกำลังผู้คนจากที่ได้จากตีเมืองเล็กเมืองน้อยรวมกันเข้าเป็นทัพใหญ่และยกลงใต้ เพื่อจะตีอาณาจักรหริภุณชัยให้ได้ พญามังรายได้รวบรวมกำลังผู้คนจากที่ได้จากตีเมืองเล็กเมืองน้อยรวมกันเข้าเป็นทัพใหญ่และยกลงใต้เพื่อจะตีอาณาจักรหริภุณชัยให้ได้ โดยเริ่มจากตีเมืองเขลางค์นคร นครลำปาง เมืองหน้าด่านของอาณาจักรหริภุณชัยก่อน เมื่อได้เมืองลำปางแล้วก็ยกทัพเข้าตีนครลำพูน (เมืองหลวงของแคว้นหริภุณชัย) พญามังรายเป็นกษัตริย์ชาตินักรบ มีความสามารถในการรบไปทั่วทุกสารทิศ สามารถทำศึกเอาชนะเมืองน้อยใหญ่ รวมทั้งอาณาจักรหริภุณชัยแล้ว รวบเข้ากับอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้อย่างสมบูรณ์.


หลังจากพญามังรายรวบรวมอาณาจักรหริภุณชัยเข้ากับโยนกเชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขนานนามราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ว่า "อาณาจักรล้านนา" พญามังรายมีดำริจะสร้างราชธานีแห่งใหม่นี้ให้ใหญ่โต เพื่อให้สมกับเป็นศูนย์กลางการปกครองในแว้นแคว้นใหม่นี้ พร้อมกันนั้น พระองค์ได้อัญเชิญพระสหายสนิทสองพระองค์คือ พญางำเมือง แห่งเมืองพะเยา และ พ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย มาร่วมกันสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในสมรภูมิบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งมหานทีแม่ระมิงค์ (แม่น้ำปิง) โดยตั้งชื่อราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" แต่ก่อนที่จะตั้งเมือง พญามังรายได้สร้างราชธานีชั่วคราวขึ้นก่อนแล้ว ซึ่งเรียกว่า เวียงกุมกาม แต่เนื่องจากเวียงกุมกามประสบภัยธรรมชาติใหญ่หลวง เกิดน้ำท่วมเมืองจนกลายเป็นเมืองบาดาล ดังนั้นพญามังรายจึงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ นครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1839 และได้เป็นศูนย์กลางการปกครองราชอาณาจักรล้านนานับแต่นั้น

นครเชียงใหม่มีอาณาเขตบริเวณอยู่ระหว่างเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) และบริเวณที่ราบฝั่งขวาของแม่น้ำปิง (พิงคนที) นับเป็นสมรภูมิที่ดีและเหมาะแก่การเพาะปลูก เนื่องจากเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่าน.



การเมือง-การปกครองในสมัยราชวงศ์มังราย
พญามังรายได้ส่งพระญาติ ไปปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นหรือเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น เมืองเขลางค์ (ลำปาง) เมืองเขมรัฐเชียงตุง (ในพม่า) และเชียงรุ้ง (สิบสองปันนาในสาธารณรัฐประชาชนจีน) และส่งพระโอรสไปปกครองเมืองที่ใหญ่และสำคัญ ๆ ได้แก่ เมืองนาย (หัวเมืองไทใหญ่) และเชียงราย ซึ่งเคยเป็นเมืองราชธานีของล้านนา.

รัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1985-2030) ท้าวลก โอรสองค์ที่หกของพญาสามฝั่งแก่น กษัตริย์องค์ที่ 9 ในราชวงศ์มังราย พระองค์ได้รับการยกย่องให้มีฐานะเป็น "ราชาธิราช" พระองค์ได้แผ่ขยายขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรล้านนาให้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าเดิม.
  • ทิศเหนือ จรด เมืองเชียงรุ้ง เมืองยอง
  • ทิศตะวันออก จรด เมืองนันทบุรี (น่าน) แพร่ ทุ่งยั้ง (ส่วนหนึ่งของอุตรดิตถ์) จรดถึง หลวงพระบาง
  • ทิศตะวันตก ขยายไปจรด รัฐฉาน (ตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า) อาทิ เมืองไลคา ยองห้วย สีซอ. 
ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนา ยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นานถึง 25 ปี โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการในการแผ่อิทธิพลเข้าไปในสุโขทัยของทั้งสองอาณาจักร แต่ไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ทั้งสองอาณาจักรจึงผูกสัมพันธไมตรีต่อกัน จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่าในปี พ.ศ.2101.
 

  วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ในจังหวัดเชียงใหม่ บ้างก็เรียก ราชกุฎาคาร วัดโชติการาม
สร้างขึ้น (พ.ศ.1934) ในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย  
องค์พระเจดีพังทลายลงด้วยแรงแผ่นดินไหว เมื่อปี พ.ศ.2088
(ที่มา: www.novabizz.com/Map/Chiang_Mai/Wat_Chedi_Luang.htm, วันที่สืบค้น 20 พ.ย.2559)
 
แจ่งศรีภูมิ เชียงใหม่, ที่มา: Chiangmai-e-archive (ผ่าน Facebook เพจ "เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น"), วันที่เข้าถึง 15 เมษายน 2563.

   ครั้นถึง พ.ศ. 2004 พระเจ้าติโลกราช ยกทัพลงมาตีหัวเมืองตอนเหนือของอยุธยาอีก แต่บังเอิญพวกฮ่อ (จีน ยูนนาน) ยกกำลังมาตีชายแดนเชียงใหม่ ก็จำต้องยกทัพกลับไปรักษาเมืองขึ้นกับเชียงใหม่ อย่างไรก็ดี พระเจ้าติโลกราช ได้ยกทัพมารุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือของอยุธยาอยู่เนือง ๆ เป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงเปลี่ยนนโยบายเสด็จขึ้นไปประทับครองราชสมบัติเสีย ณ เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2006 โดยยกฐานะเมืองพิษณุโลก เป็นเมืองหลวงเพื่อสะดวกในการจัดกำลังต่อตี ทัพมหาราชฝ่ายเหนือ อีกทั้งยังทำหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งมักแก่งแยกอำนาจกันและแตกออกจากฝ่ายกรุงศรีอยุธยา มีความสามัคคีด้วยความยำเกรงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้ประทับครองราชย์อยู่ที่เมืองพิษณุโลกจนสิ้นรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2031 แต่กระนั้น ก็ยังต้องคอยสู้รบกับการรุกรานของพระเจ้าติโลกราช อยู่เรื่อยมารวม 27 ปี

     ใน พ.ศ. 2008 ขณะพระชนมายุได้ 34 พรรษา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผนวชที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก พระองค์ส่งราชทูตมายังเชียงใหม่เพื่อขอเครื่องอัฐบริขาร พร้อมกับ พระเถรานุเถระไปทำพิธีผนวชจากพระเจ้าติโลกราช (ขณะนั้นมีพระชนมายุ 56 พรรษา) จึงโปรดให้หมื่นล่ามแขก เป็นราชทูตพร้อมด้วยพระเทพคุณเถระ และ พระอับดับ 12 รูป ลงมาเมืองพิษณุโลก เพื่อเข้าเฝ้าถวายเครื่องอัฐบริขาร แด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

     ตามหลักฐานศิลาจารึกวัดจุฬามณีที่บันทึกว่า " ศักราช 826 ปีวอกนักษัตร (พ.ศ. 2007) อันดับนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถบพิตรเปนเจ้า ให้สร้างอาศรมจุฬามณีที่จะเสด็จออกทรงมหาภิเนษกรม ขณะนั้น เอกราชทั้งสามเมืองคือ พระญาล้านช้าง แล มหาราชพระญาเชียงใหม่ แล พระญาหงสาวดี ชมพระราชศรัทธา ก็แต่งเครื่องอัฐบริขารให้มาถวาย"

     ในขณะผนวช 8 เดือน 15 วัน พระองค์ได้ทรงถือโอกาส ส่งสมณะทูตชื่อโพธิสัมภาระมาขอเอาเมืองเชลียง -สวรรคโลกคืน เพื่อ"ให้เป็นข้าวบิณฑบาตร" จากพระเจ้าติโลกราช แต่พระเจ้าติโลกราชเห็นว่าเป็น"กิจของสงฆ์" จึงทรงนิมนต์พระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสี ทุกรูปมาประชุมเพื่อถวายข้อปรึกษา ครั้งนั้นมีพระเถระเชียงใหม่ ชื่อสัทธัมมรัตตนะ ได้กล่าวกับ โพธิสัมภาระสมณะทูตของอยุธยา ว่า

     "ตามธรรมเนียมท้าวพระญา (พระมหากษัตริย์) เมื่อผนวชแล้วก็ย่อมไม่ข้องเกี่ยวข้องในเรื่องบ้านเมืองอีก เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผนวชแล้วยังมาขอเอาบ้านเอาเมืองนี้ ย่อมไม่สมควร" พระบรมไตรโลกนารถได้ยินคำเหล่านั้นก็นิ่งเก็บไว้ในใจ เมือทรงลาผนวชแล้วจึงได้ออกอุบายจ้างให้ พระเถระพุกามรูปหนึ่ง จากอยุธยา มาเชียงใหม่ เป็นไส้ศึก ทำไสยศาสตร์ ยุแยงให้ พระเจ้าติโลกราช ตัดต้นไม้นิโครธ ไม้แห่ง "เดชเมือง" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวเชียงใหม่สักการบูชาที่ แจ่งศรีภูมิ จนบ้านเมืองอาเพศ ปั่นป่วน

     ต่อมามีเหตุการณ์ไม่คาดคิด คือ พระเจ้าติโลกราช สั่งประหาร ท้าวบุญเรือง พระราชโอรส ที่ถูกท้าวหอมุก (นางสนม) ใส่ความว่าจะชิง ราชบัลลังก์ครั้นทราบความจริงภายหลัง ทรงเสียพระทัยที่ หลงเชื่อจนประหารราชโอรสพระองค์เดียว รวมทั้ง การลงโทษหมื่นด้งนครผู้เป็นแม่ทัพเอก คู่บารมี ผู้พิชิตเมืองเชลียง เชียงชื่น (ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ซึ่งเคยเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย) ที่ถูกใส่ความอีกด้วย ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่งราชทูตนำเครื่องราชสักการะ มาเยือนเชียงใหม่ นัยว่ามาสืบราชการลับที่ จ้างพระเถระพุกามทำคุณไสย์แก่เชียงใหม่ ต่อมาพระเถระพุกาม ถูกจับ และ เปิดเผยความจริง จึงถูกลงราชทัณฑ์นำตัวใส่ขื่อคา ไปทิ้งลงแม่นำปิงที่"แก่งพอก" เพื่อให้คุณไสย์ชั่วร้ายสนองคืนกลับแก่ผู้ที่สั่งมา

     พระเจ้าติโลกราชทำสงคราม กับพระบรมไตรโลกนาถ ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 27 ปี ต่างผลัดกันรุกผลัดกันรับ ครั้งนั้นพระองค์ขยายอำนาจขึ้นไป ทางทิศเหนือตีได้เมืองเชียงรุ้ง (เชอหลี่ใหญ่หรือจิ่งหง) สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ภาคใต้ของประเทศจีน ตีได้เมืองเชียงตุง (เชอหลี่น้อยหรือเขมรัฐ) ทิศตะวันตก ได้รัฐฉาน ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน ติดพรมแดนมู่ปางหรือแสนหวี คือเมืองสีป้อ เมืองนาย เมืองไลค่า เมืองเชียงทอง รวมกว่า 11 เมือง โดยเจ้าฟ้าเมืองต่าง ๆ นำไพร่พลเมืองมาพึ่งพระโพธิสมภาร ที่เชียงใหม่ 12,328 คน ทางทิศตะวันออกจรดล้านช้าง ประเทศลาว ทิศใต้จรด ตาก เชลียง (ศรีสัชนาลัย) เชียงชื่น (สวรรคโลก) ซึ่งอยู่ห่างจากสุโขทัยเพียง 60 กม. ต่อมา ในปี พ.ศ. 2018 พระเจ้าติโลกราช จึงทรงติดต่อกับฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ขอเป็นไมตรีกัน ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาซึ่งบอบช้ำมากพอกัน จึงรับข้อเสนอของพระเจ้าติโลกราช ในปลายสมัยของรัชกาล ของทั้งสองพระองค์อาณาจักรล้านนา กับ กรุงศรีอยุธยา จึงมีความสงบเป็นไมตรีต่อกันจนสิ้นรัชกาล โดยพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. 2030 และให้หลังอีก 1 ปี สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็สวรรคต ในปี พ.ศ. 2031 เป็นการปิดฉาก ศึก 2 มหาราชแห่ง 3 โลก ("ติโลก""ไตรโลก"แปลว่า 3 โลกคือเมืองสวรรค์ เมืองมนุษย์ และ เมืองนรก)
 
ตัดตอนจาก วิกิพีเดีย พระเจ้าติโลกราช 
ที่มา: Chiangmai-e-archive (ผ่าน facebook ห้อง "เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น"), วันที่เข้าถึง 15 เมษายน 2563.

การล่มสลายของอาณาจักร
     อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัย "พญาแก้ว" (พ.ศ. 2038 - พ.ศ. 2068)  เมื่อกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่กองทัพเชียงตุงในการทำสงครามขยายอาณาจักร ไพร่พลในกำลังล้มตายลงเป็นอันมาก กอปรกับปีนั้นเกิดอึทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายและผู้คนเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก สภาพบ้านเมืองเริ่มอ่อนแอ เกิดความไม่มั่นคง หลังจาก "พญาแก้ว" สิ้นพระชนม์ ก็เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ ขุนนางมีอำนาจมากขึ้น ถึงกับแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าได้ เมื่อนครเชียงใหม่ศูนย์กลางอำนาจสั่นคลอน เมืองต่าง ๆ ที่รายล้อมก็แข็งเมือง ไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการอีกต่อไป.

     เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 พระเจ้าบุเรงนอง แห่งอาณาจักรตองอูได้ทำศึกมีชัยชนะไปทั่วทุกทิศานุทิศ จนได้รับการขนานนามผู้ชนะสิบทิศ พระเจ้าบุเรงนองได้ทำศึกยึดนครเชียงใหม่ไปเป็นประเทศราช รวมทั้งเข้าปกครองเมืองลูกหลวงและเมืองบริวารของเชียงใหม่โดยอัตโนมัติ ในช่วงแรกนั้น ทางพม่ายังไม่ได้เข้าปกครองเชียงใหม่โดยตรง เนื่องจากติดศึกทางกรุงศรีอยุธยาอยู่ แต่ยังให้พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ปกครองบ้านเมืองต่อตามเดิม แต่ทางเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้หงสาวดี ต่อมาพระเจ้าเมกุฏิทรงคิดแข็งเมือง ตั้งตนเป็นอิสระ ฝ่ายพม่าจึงปลดออกและแต่งตั้งมหาเทวีวิสุทธิ ผู้มีเชื้อราชวงศ์มังราย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระมารดาของพระเจ้าเมกุฏิ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทน จนกระทั่งมหาเทวีวิสุทธิสิ้นพระชนม์ ทางฝ่ายพม่าจึงได้ส่งเจ้านายทางฝ่ายพม่ามาปกครองแทน เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อยของเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนั้นเชียงใหม่ยังไม่ได้เป็นเมืองพระยามหานคร แต่เป็นจุดสำคัญในการเกณฑ์ไพร่พลชาวเชียงใหม่เป็นทหารและเป็นแหล่งเตรียมเสบียงเพื่อไปทำสงครามกับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา.

     อาณาจักรล้านนาในฐานะเมืองขึ้นของพม่านั้น มีการแข็งเมือง มีกบฎแก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แต่เชียงใหม่เมืองเดียว เมืองอื่น ๆ ในอาณาจักรล้านนาก็มีการแก่งแย่งด้วย จนกระทั่งราชวงศ์อลองพญา หรือราชวงศ์คองบอง สถาปนาอาณาจักรรัตนปุระอังวะขึ้นมา พม่าจึงหันมาปกครองเชียงใหม่โดยตรง.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. th.wikipeida.org/wiki/ปู่ม่านและย่าม่าน, วันที่สืบค้น 16 กันยายน 2559, "ปู่ม่านย่าม่าน" หรือ หนุ่มกระซิบ บ้างก็เรียก "The Whispering" เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน อันเป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีตและเป็นภาพที่โดดเด่นประจำวัดภูมินทร์ โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบสนทนา และมีชื่อเสียงว่าเป็นภาพ "กระซิบรักบันลือโลก" และกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านที่ไปปรากฎอยู่ในสินค้าจำนวนมาก อาทิ เสื้อยืด โปสการ์ด หรือแม้แต่ข้าวของแต่งบ้าน.
ที่มาของชื่อ: หนานบัวผันได้ตั้งชื่อภาพดังกล่าวตามเจตนารมณ์ด้วยการกำกับชื่อด้านบนของภาพว่า "ปู่ม่านย่าม่าน" ซึ่งคุณวินัย ปราบริปู ศิลปินและเจ้าของหอศิลป์ริมน่าน ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับที่มาของชื่อ "ปู่ม่านย่าม่าน" แก่ มติชนออนไลน์ ความว่า "ข้อความที่ เขียนกำกับว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน หมายถึงว่า เขาเรียกผู้ชายพม่า ผู้หญิงพม่าคู่นี้ เป็นนัย เป็นสามีภรรยา แล้วการเกาะไหล่กันเป็นธรรมชาติของผู้ชายผู้หญิงที่เป็นสามีภรรยา ถ้าเป็นหนุ่มสาว ถูกเนื้อต้องตัวไม่ได้ และรูปลักษณะการแต่งกายชี้ชัดไปอีกสอดคล้องกับคำว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน ม่านคือพม่า ปู่นี่คือผู้ชาย พ้นวัยเด็กผู้ชายเรียกปู่ พ้นวัยเด็กผู้หญิงเรียกย่า ซึ่งที่จริงออกเสียง "ง่า" ไม่ใช่ปู่ย่าตายาย โดย หนานบัวผัน เป็นศิลปินผู้เขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์ทั้งที่วัดหนองบัว และวัดภูมินทร์"

 
        
วัดภูมินทร์ ต.เวียงใต้ อ.เมือง จ.น่าน

ประวัติ: ภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" เป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังถูกวาดขึ้นช่วงปี พ.ศ.2410-2417 ระหว่างการบูรณะซ่อมแซมวัดภูมินทร์ในสมัยเจ้าอนันตฤทธิวรเดชครองเมืองน่าน ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัย ร.5 ซึ่งภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวในชาดก และแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวน่านในอดีต
แต่ภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" เป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงของงานจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าว ด้วยได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์ รังสรรค์โดยศิลปินนิรนามที่คาดว่าเป็น หนานบัวผัน ศิลปินชาวไทลื้อที่เคยสร้างงานจิตรกรรมที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ด้วยเปรียบเทียบภาพจิตรกรรมทั้งสองก็พบความเหมือนทั้งลายเส้น สีสัน ใบหน้า และฉากกว่า 40 จุด ทั้งยังมีมุมมองและแนวคิดที่ทันสมัย รู้จักนำสีสันมาใช้ เช่น สีแดง ฟ้า ดำ น้ำตาลเข้ม และมีวิธีลงฝีแปรงคล้ายภาพวาดสมัยใหม่
รายละเอียดของ "ปู่ม่านย่าม่าน" เป็นภาพที่แปลกแยกจากรูปอื่น ๆ โดยวาดเหนือภาพพระเนมีราชท่องนรกและสวรรค์ของชาดกเรื่อง เนมีราช แสดงให้เห็นรูปของชายหญิงคู่หนึ่ง โดยบุรุษใช้มิอข้างหนึ่งเกาะไหล่สตรีแล้วมือข้างหนึ่งป้องปากคล้ายกับกระซิบกระซาบที่ข้างหู สตรีผู้นั้นด้วยนัยน์ตากรุ้มกริ่มแฝงไปในเชิงรักใคร่ บุรุษในภาพสักลายตามตัว ขมวดผมไว้กลางกระหม่อมพร้อมผ้าพันผมแบบพม่า นุ่งผ้าลุนตะยา ส่วนสตรีในภาพแต่งกายไทลื้อเต็มยศ การแสดงท่ากระซิบหยอกล้อดังกล่าวมิใช่การเล้าโลมของคู่รักหนุ่มสาว หากแต่เป็นการแสดงความรักของคู่สามีภรรยา การแปลความหมายไปในทางกามารมณ์ จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากเจตนารมณ์เดิมของศิลปิน. (วินัย ปราบริปู (7 พฤษภาคม 2551). "ตัวตนศิปินหนานบัวผัน" รูปแบบอัตลักษณ์สำคัญบนจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว จังหวัดน่าน. ศิลปวัฒนธรรม. 29:7, หน้า 50)
เคยมีการสันนิษฐานว่าบุรุษในภาพน่าจะเป็นผู้เขียนภาพ คือตัวหนานบัวผันเอง แต่ทว่าได้รับการปฏิเสธในเวลาต่อมา ด้วยตัวหนานบัวผันเป็นชาวไทลื้อ ทั้งนี้การแต่งคำบรรยายภาพดังกล่าว เป็นภาษาถิ่นพายัพอันสะสวย ซึ่งแต่และแปลโดยสมเจตน์ วิมลเกษม ความว่า

 
  "คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้ฟื้นอากาศกลสางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันให้อะฮิอะฮี้
ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเวลา...
"
แปล=> "ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว
จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย
หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะแย่งความรักของพี่ไป
เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง
ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น
"

02.  ปรับปรุง เสริมโดยใช้แกนเนื้อหาจาก. th.m.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 18 กันยายน 2559.
03.  จาก. th.m.wikipedia.org, วันที่สืบค้น 18 กันยายน 2559. ชาวไทยยวน หมายถึง (อ่าน ไท-ยวน) หรือ ไตยวน (อยู่แถบ ประเทศไทย สปป.ลาว -แขวงบ่อแก้วและแขวงไชยบุรี) เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุตระกูลภาษาไท-กะได กลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนา ในอดีตคนล้านนามีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่ม "ไทยวน" ซึ่งมีคำเรียกตนเองหลายอย่าง เช่น "ยวน โยน หรือ ไต (ไท)" และถึงแม้ในปัจจุบัน ชาวล้านนาจะกลายเป็นพลเมืองของประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่ก็มักเรียกตนเองว่า "คนเมือง" ซึ่งเป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในภายหลัง ในยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง เพื่อฟื้นฟูประชากรในล้านนาหลังสงคราม โยการกวาดต้อนกลุ่มคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามายังเมืองของตน.
        
ชาวไทยวน และการฟ้อนไทยวน
04. จาก. ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, ล้านนาประเทศ, กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.
05. ปรับปรุงจาก. th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามพระมหากษัตริย์ล้านนา, วันที่สืบค้น 02 พ.ย.2559
06.  จาก.
"ประวัติศาสตร์ล้านนา" โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สรัสวดี อ๋องสกุล, ISBN 978-616-18-0026-0, สำนักพิมพ์อมรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน 2557.
07.  จาก. "ประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนา", ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล, ISBN 978-616-7767-98-7, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2561
08.  จาก. "คู่มือนำชมศิลปกรรมโบราณในล้านนา", ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ISBN 978-616-465-036-7, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2563




PHOTO GALLERY
ภาพที่ 01-04: จาก Facebook เพจ "Wisuwat Buroot," วันที่เข้าถึง 13 กรกฎาคม 2563
ภาพที่ 01-02
:
ประตูช้างเผือก เชียงใหม่ ปี 2478 White Elephant Gate, Chiang Mai , 1935
ภาพที่ 03: กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ วัดสวนดอก อ. เมืองเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ ปี 2478 Tombs of memories of Wat Suan Dok Temple, Chiang Mai ,1935
ภาพที่ 04: พระเจ้าค่าคิง วัดสวนดอก จ. เชียงใหม่ ปี 2478 Ruins of Wat Suan Dok Temple, Chiang Mai ,1935



 

PHOTO
GALLERY
info@huexonline.com