ราชวงศ์คองบอง (อังวะ)
First revision: Jul.05, 2016
Last change: Jul.01, 2021
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
ราชวงศ์คองบอง (คองบองเซะ-Kongbaung Dynasty) หรือ ราชวงศ์อลองพญา (อะลองปะยาเซะ-Alaungpaya Dynasty) เป็นราชวงศ์ที่ 3 ในประวัติศาสตร์พม่า และเป็นราชวงศ์สุดท้าย ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร และสิ้นสุดการปกครองระบอบราชาธิปไตยของพม่า
ราชวงศ์อลองพญา (แปลว่า "โพธิสัตว์") นั้น ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยการเสวยราชสมบัติของพระเจ้าอลองพญา ในปี พ.ศ.2295 พระองค์สามารถขับไล่ชาวมอญและยึดครองอาณาจักรมอญได้อีกครั้งในปี พ.ศ.2302 ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ตองอู ทั้งยังสามารถกลับเข้ายึดเมืองมณีปุระได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ทรงสถาปนาเมืองชเวโบขึ้นเป็นราชธานี ก่อนจะย้ายไปที่ อังวะ (Ava) และทรงพัฒนาเมืองย่างกุ้ง หมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ขึ้นเป็นเมืองท่าสำคัญ และกลายเป็นเมืองหลวงในเวลาต่อมา.
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา "พระเจ้าอลองพญา" (พ.ศ.2295-2303)
ข้อมูลจาก 02. "เขาเป็นคนที่มีรูปร่างสง่างาม มีบุคลิกที่น่าเลื่อมใส สูงถึง 5 ฟุต 10 นิ้ว มีลักษณะน่าเกรงขาม"
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01. จาก. "ทำไมราชวงศ์คองบองยุคต้นถึงเปี่ยมไปด้วยแสนยานุภาพทางทหาร?" ใน Facebook โดย Dulyapak Preecharush - ดุลยภาค ปรีชารัชช, สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2559.
ผมเคยคิดสงสัยอยู่นานว่า ทำไมรัฐจารีตคองบองของพม่า ซึ่งมีพระเจ้าอลองพญาเป็นต้นวงศ์ และมีพระเจ้ามังระเป็นผู้พิชิตอยุธยา จึงมีความแข็งแกร่งทางทหารจนสามารถเปิดแนวรบได้กว้างไกลและครอบคลุมดินแดนส่วนใหญ่ในอุษาคเนย์พื้นทวีป
แน่นอน บทวิเคราะห์คงต้องมีการใส่ตัวแปรและเหตุปัจจัยนานาประการลงไป ทั้งเรื่องของยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทางการทหาร หรือ เรื่องสิ่งแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของรัฐคู่สงคราม
แต่ถึงอย่างนั้น ตัวแปรทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะขนาดที่ราบ แปลงเพาะปลูกทางการเกษตร หรือดุลประชากรตามเขตพื้นที่และเมืองต่าง ๆ ย่อมมีผลต่อสมรรถนะการรบของรัฐมหาอำนาจ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จากเทคนิควิเคราะห์เช่นนี้ หากเรานำรัฐราชวงศ์คองบองของพม่า มาเป็นคู่เทียบกับรัฐราชวงศ์บ้านพลูหลวงของสยาม อาจพอเห็นความแตกต่างอยู่บ้างในเรื่องของฐานทรัพยากรและกายาภูมิศาสตร์
หากรุกไปที่แผนที่กลุ่มเมืองโบราณตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นทวีป พร้อมขีดเส้นหาแนวแดนแกน (Core) หรือจุดภูมิศาสตร์จารีตที่สำคัญอื่น ๆ เราอาจสัมผัสได้ถึงขอบข่ายภูมิรัฐศาสตร์ที่ค่อนข้างต่างกันระหว่างคองบองกับ อยุธยา
ในแง่การขยายตัวของรัฐ คองบองได้ฟื้นฟูพละกำลังจากการยึดกุมเขตกสิกรรมทางแถบชเวโบและอังวะ แล้วค่อยมุ่งลงใต้เพื่อผนวกฐานการค้าในเขตปลายน้ำอิรวดี ซึ่งหากใช้กรอบวิเคราะห์ของไมเคิล อ่อง ทวิน นักประวัติศาสตร์พม่า อาจถือได้ว่า ทฤษฏีทวิขั้วระหว่างนครรัฐต้นน้ำ-ปลายน้ำ หรือที่เรียกกันว่า "Upstream-Downstream Dualism" ซึ่งมักเต็มไปด้วยการประชันกำลังกันระหว่างหัวเมืองตอนบนกับตอนล่างแม่น้ำ อิรวดี ก็นับได้ว่ารัฐคองบองยุคต้นประสบความสำเร็จในการผนวกกระชับดินแดนเหล่านี้ ได้อย่างมีเอกภาพ (โดยเฉพาะหลังการกุมชัยชนะเหนือมอญที่ย่างกุ้ง-หงสาวดี พร้อมการรับกลไกบริหารปกครองหัวเมืองที่ค่อนข้างรัดกุมจากราชวงศ์ตองอูยุค ฟื้นฟู)
โดยแรงรวมดังกล่าว ได้ทำให้จักรวรรดิพม่ามีพลังสะสมจากเขตกสิกรรม "Dry Zone" ทางตอนเหนือกับเขตพาณิชยกรรม "Delta" ทางตอนใต้ ซึ่งส่งผลให้อาณาเขตรัฐแผ่ตัวยาวเหยียดไปตามลำแม่น้ำอิรวดี พร้อมแปลงสภาพเป็นปัจจัยสะสม ที่หนุนนำให้รัฐคองบองมีแกนดิ่งที่พุ่งยาวครอบคลุมหัวเมืองต่าง ๆ ตามสายน้ำอิรวดี โดยวัดระยะทางได้ไกลกว่า 700 กิโลเมตร (หากวัดแบบสังเขปจากเหนือเมืองชเวโบจนถึงเขตปากน้ำตอนใต้)
ขณะที่ทางฟากรัฐราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น แม้อยุธยาจะเป็นพระนครที่หลอมรวมเอาเขตกสิกรรมผสมกับเขตการค้าที่ลงตัวที่ สุดในเขตพื้นทวีปอินโดจีน หากแต่วงปริมณฑลอำนาจของกษัตริย์บ้านพลูหลวงที่แผ่คลุมเมืองต่างๆ นับตั้งแต่ปลายน้ำไปจนถึงต้นน้ำเจ้าพระยาทางแถบพิษณุโลก พิชัย หรือเมืองตาก จะมีปริมาณหัวเมือง ตลอดจน พื้นที่เพาะปลูก แหล่งบ่มเพาะกำลังพล และพื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร มากน้อยเพียงไรเมื่อเทียบกับรัฐราชวงศ์คองบอง ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าหากพิเคราะห์ถึงแกนภูมิศาสตร์ริมน้ำ รัฐอยุธยา มีความยาวที่วัดจากเขตปากน้ำไปจนถึงหัวเมืองต้นน้ำฝ่ายเหนือ เป็นระยะทางไม่เกินกว่า 500 กิโลเมตร
ซึ่งทั้งนี้ ยังมินับขนาดความกว้างและความยาวของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นคู่เทียบคนละ "Scale" กับแม่น้ำอิรวดี ที่มักกว้างกว่า ยาวกว่า และมีปริมาณลำน้ำสาขาที่ไหลมาสมทบมากกว่า (ซึ่งย่อมมีผลต่อความงอกงามของเขตปลูกข้าวและกำลังคน) หรือ แม้กระทั่งเขตลุ่มน้ำข้างเคียง อย่างลุ่มน้ำป่าสัก ที่อาจวัดปริมาณแปลงเกษตรและปริมาณครัวเรือนตามรายทางได้น้อยกว่าเขตลุ่มน้ำ สะโตง ซึ่งมีเมืองสำคัญอย่างตองอู-เกตุมวดีทางแถบดินแดนไชยวัฒนะ
ต่อข้อวิเคราะห์ดังกล่าว แม้แนวมองเช่นนี้จะเน้นแต่การวัดเขตเมืองและเขตภูมิศาสตร์แนวดิ่งแบบหยาบ ๆ โดยยังมิมีการพลิกทำเนียบประชากร กำลังพลและฐานทรัพยากรอื่นๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูลประวัติศาสตร์อย่างแน่ชัด รวมถึงไม่มีการพิเคราะห์ถึงมิติพื้นที่ตามแนวขวางระนาบหรือมีการสอบทานเขต ภูมิประเทศอื่นนอกเหนือจากเขตลุ่มน้ำ เช่น ขุนเขา-แนวป่า หากแต่หลักฐานบางชิ้นก็พอแสดงให้เห็นถึงสภาวะต่างศักดิ์ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างรัฐคองบองกับรัฐอยุธยา โดยมีย่านเมืองชายแม่น้ำเป็นหน่วยวิเคราะห์สำคัญ
ตามจารึกวัดโบซันตุลุด ทางแถบชเวโบ (รัตนสิงห์) ซึ่งจารขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ามังระ (ราชบุตรอลองพญา) ได้แสดงปริมาณเมืองขึ้นใต้จักรวรรดิพม่า โดยหากนับเพียงเฉพาะเขตต้นน้ำและปลายน้ำอิรวดี อาจถือได้ว่ารัฐคองบองสามารถกุมวงนครเป็นจำนวนคร่าวๆ ประมาณหนึ่งร้อยกว่าหัวเมือง ได้แก่ ดินแดนรามัญอย่างหงสาวดี-พะสิม พร้อมเมืองบริวารในเขตปากน้ำอีกกว่า 66 เมือง ดินแดนสุนาปะรันตะ-ตัมปะดีปะ ทางแถบลุ่มน้ำอิรวดีที่คุมเมืองในสังกัดเกินกว่า 50 แห่ง รวมถึงดินแดนศรีเกษตรทางแถบเมืองแปรและดินแดนไชยวัฒนะทางฟากตองอูในเขตลุ่ม น้ำสะโตง ที่คุมเมืองขึ้นนับหลายสิบแห่ง ขณะที่ ดินแดนโยดะยา (อยุธยา) ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลอำนาจพระเจ้ามังระ จารึกได้ระบุว่ามีหัวเมืองทั้งสิ้น 79 แห่ง อาทิ อยุธยา สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก ฯลฯ
จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่า รัฐราชวงศ์คองบองตลอดเขตต้นน้ำ-ปลายน้ำ มักมีปริมาณหัวเมืองที่มากกว่ารัฐอยุธยาอยู่เป็นปฐม ซึ่งสภาวะดังกล่าว ย่อมส่งผลให้รัฐพม่ามีความได้เปรียบในการระดมไพร่พลและเสบียงอาหารเพื่อสะสม ขีดกำลังในการเปิดปฏิบัติการทหารนอกเขตแดนแกน
ขณะที่รัฐอยุธยา โดยเฉพาะราชวงศ์บ้านพลูหลวงมักมีกลุ่มเมืองริมน้ำใต้สังกัดในอัตราส่วนที่ น้อยกว่ารัฐพม่า โดยการเพ่ิมพูนศักยภาพสำหรับการรบนอกบ้าน จะทำได้ก็ต่อเมื่อคณะผู้ปกครองสามารถขยายกำลังขึ้นพิชิตดินแดนล้านนาจนทำให้ เกิดแกนดิ่งที่งอกจากปลายน้ำเจ้าพระยาพุ่งตรงขึ้นไปในเขตต้นน้ำ เป็นระยะทางเกือบ 700 กิโลเมตร ทว่า ความสามารถเช่นนี้ ก็ไม่เคยมีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในประวัติศาสตร์อยุธยา ยกเว้นแต่เพียงในรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระนารายณ์
กล่าวโดยสรุป จุดหัวใจของรัฐคองบอง (หรือรัฐพม่ายุคอื่น ๆ เช่น ราชวงศ์ตองอูยุคต้น) อาจหนีไม่พ้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดินแดนประเพณีทางภูมิศาสตร์ที่ว่า เขตหัวใจทางแถบ Dry Zone ที่เคลื่อนตัวเข้ามาประชิดแตะกับเขต Delta ตรงปากน้ำอิรวดี หรือบางส่วนของปากน้ำสะโตง-สาละวิน มักเต็มไปด้วยปริมาณหัวเมืองและพื้นที่กสิกรรม ที่มากกว่าแดนแกนตรงแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเมื่อใดก็ตามที่เหล่ากษัตริย์พม่าทรงสามารถควบคุมแกนทวิขั้วเหล่านั้นได้ อย่างมีเอกภาพ พลังพิเศษที่ผุดตัวขึ้นมาจากฐานกำลังทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ จะมีผลอย่างล้ำลึกต่อแสนยานุภาพทางทหารของกองทัพพม่า (ซึ่งสามารถกรีฑาทัพรุกออกไปรบนอกบ้านได้หลายครา)
ขณะที่ฝ่ายอยุธยานั้น ความลงตัวทางภูมิศาสตร์กลับถูกปั้นไว้ที่พระนครอยุธยาเพียงจุดเดียว ฉะนั้นผู้ปกครองสยามจึงมิต้องพะวักพะวงหรือกระวนกระวายกับการโยกย้ายราชธานี เพื่อหาจุดสมดุลทางการค้าและเกษตรกรรมเหมือนดั่งพฤติกรรมของกษัตริย์พม่า หากทว่า ความสมดุลเช่นว่านั้น อาจทำให้กำลังพลของอยุธยามีวัฒนธรรมการทำสงครามที่ตั้งรับอยู่แต่ในเขตพระ นคร หรืออาจมีธรรมเนียมการรุกออกไปข้างนอกบ้างเพื่อพิชิตดินแดนอื่่น เพียงแต่หัวเมืองเหล่านั้น มักมีที่ตั้งไม่ไกลไปจากชานพระนครมากนัก (ยกเว้นในบางช่วงสมัย)
อนึ่ง การทำรัฐประหารชิงราชสมบัติกันบ่อยครั้งของชนชั้นน้ำราชวงศ์ปราสาททองและ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก็มักทำให้ทหารอยุธยามีลักษณะการเทกำลังเข้ามากระจุกตัวอยู่ในราชธานีหรือ ทำเลรอบชานพระนคร มากกว่าที่จะวางกำลังกระจายออกไปตามหัวเมืองภูมิภาค จนทำให้รัฐอยุธยาประสบปัญหาทั้งเรื่องการถวายความภักดีจากเจ้าเมืองภูธรและ ในเรื่องการระดมพล (เพื่อวางแนวปะทะในพื้นที่ห่างไกลนอกเขตพระนคร) โดยข้ออ่อนด้อยเหล่านี้นี่เองที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่บีบรัดให้รัฐอยุธยามัก ตกเป็นฝ่ายตั้งรับเมื่อต้องเผชิญกับกองทัพอันมหึมาของจักรวรรดิพม่า
ในอีกทางหนึ่ง หากดูวิถีการเคลื่อนไหวทางทหารของคณะผู้ปกครองพม่าสมัยราชวงศ์คองบองยุคต้น ที่มักจะโรมรันข้าศึกแบบต่อเนื่องบ้าระห่ำนับตั้งแต่เขตพม่าภาคเหนือไปจนถึง แดนพม่าตอนใต้ ซึ่งก็เป็นที่มาของวัฒนธรรมการรบเชิงรุกที่มีฐานกระโจนทางยุทธศาสตร์ที่มั่น คงอันเกิดจากการผนึกดินแดนที่ค่อนข้างมีเอกภาพระหว่างรัฐ "Downstream" กับ รัฐ "Upstream" ทางแถบลุ่มน้ำอิรวดี
เราก็คงมิแปลกใจนักว่าทำไมรัฐอยุธยาถึงตกเป็นฝ่ายปราชัยต่อดุลกำลังภูมิรัฐศาสตร์ที่เหนือกว่าของรัฐราชวงศ์คองบอง
ดุลยภาค ปรีชารัชช
เอกสารประกอบการอ้างอิง
ภมรี สุรเกียรติ. เมียนมาร์-สยามยุทธ์ (กรุงเทพฯ: มติชน 2553).
Aung-Thwin, Michael. Irrigation in the Heartland of Burma: Foundations of the Pre-Colonial Burmese State. De Kalb: Illinois: Northern Illinois University, Centre for Southeast Asian Studies, 1990.
Lieberman, Victor B. Burmese Administrative Cycles: Anarchy and Conquest, c. 1580-1760. New Jersey: Princeton University Press, 1984.
02. จาก. Facebook ห้อง "ผู้ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์", อ้างถึงข้อเขียนของ กัปตันเบเคอร์ (Baker) ชาวอังกฤษ ผู้เคยเห็นตัวจริงของ หม่อง อองไจยะ ซึ่งในเวลาต่อมาคือ พระเจ้าอลองพญาฒ วันที่เข้าถึง 1 กรกฎาคม 2564.