MENU
TH EN
First revision: Jul.14, 2016
Last revision: Jun.25, 2019

ศิลาจารึกเมืองศรีจนาศะ อาณาจักรโบราณเก่าแก่ในอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา อาจเป็นหลักฐานสนับสนุนความเห็นของนักประวัติศาสตร์พม่า ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เมื่อมีการสำรวจพบแหล่งอารยธรรมสมัยทวารวดี ซ่อนตัวอยู่บริเวณเทือกเขาดงพญาเย็นอันสลับซับซ้อนประกอบด้วยร่องรอยเมืองโบราณขนาดใหญ่ ศิลปวัตถุสมัยทวารดีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปศิลาศิลปะทวารวดีองค์ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย

ตลอดจนแหล่งชุมชนเก่าแก่ที่แผ่ขยายตัวไปตามลำแม่น้ำมูลทั้งสองฝั่ง เป็นต้นว่า ลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำจักราช ลำปลายมาศ ไหลผ่านที่ราบสูงโคราชไปบรรจบกับแม่น้ำโขงในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ศิลาจารึกดังกล่าวบรรยายรายชื่อกษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีจนาศะ ตั้งแต่พระองค์แรกไปจนถึงพระองค์แรก ไปจนถึงพระองค์สุดท้ายด้วยภาษาสันสกฤต ระบุว่าสลักขึ้นใน พ.ศ.1480 อ่านแปลได้ว่า

"มีพระราชาหลายองค์ ผู้ทรงมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติแห่งโลกและมีโชคลาภ จึงได้ปกครองดินแดนจนาศะปุระ พระราชาพระองค์แรกทรงพระนามว่า ภคทัตต์ พระราชาผู้ทรงสืบเชื้อสายต่อมา ทรงพระนามว่า ศรีสุนทรปรากรมผู้ทรงกระทำให้ศิลปศาสตร์รุ่งเรือง และเชิดชูราชวงศ์ของพระองค์ให้เปล่งปลั่งดังดวงจันทร์ในฟากฟ้า..."

ศิลาจารึกเมืองศรีจนาศะอีกหลักหนึ่ง พบที่บ้านบ่ออีกา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แม้มิได้ระบุปีศักราชไว้ แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นในยุคนั้น บอกรายละเอียดให้ทราบเพิ่มเติมว่า อาณาจักรศรีจนาศะเป็นบ้านเมืองที่นับถือศาสนาพุทธ และเป็นหลักฐานหักล้างความเชื่อเดิมที่เข้าใจกันว่า หลังจากอาณาจักรฟูนันล่มสลายแล้ว อาณาจักรกัมพูชาได้บุกรุกเข้ามายึดครองดินแดนในภาคอีสานของประเทศไทย

ศิลาจารึกเมืองศรีจนาศะได้พิสูจน์ให้เห็นว่าในสมัยนั้น อาณาจักรศรีจนาศะเป็นอาณาจักรอิสระ สร้างสรรค์ศิลปะแบบทวารดี เป็นของตนเองและนับถือศาสนาพุทธ เพราะมีข้อความตอนหนึ่งว่า "...พระราชาแห่งศรีจนาศะ ได้ถวายแด่ภิกษุสงฆ์ เพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณ"

(ที่มา: http://www.archae.su.ac.th/art_in_thailand/?q=node/122, วันที่สืบค้น 14 กรกฎาคม 2559. และ http://blog.eduzones.com/tambralinga/5512, วันที่สืบค้น 14 กรกฎาคม 2559.)
พระนอนวัดธรรมจักรเสมาราม ศิลปะแบบทวารวดี อายุราว พุทธศตวรรษที่ 13

     ความสำคัญ เป็นพระนอนหินทรายขนาดใหญที่สุดในประเทศไทย สร้างมาก่อนหน้าวัฒนธรรมแบบเขมรจะเข้ามากลืนพื้นที่อาณาจักรศรีจนาศะ ดังปรากฏบนจารึกบ่ออีกา พ.ศ.1411 กล่าวว่าเดิมเป็นอาณาจักรอิสระนอกเขตกัมพุเทศ ร่องรอยสกัดหินที่ปรากฏบนผิวพระนอน บอกอะไรได้บ้าง เห็นชัดว่ารอยดอกสกัด เป็นแบบปลายแบน มีขนาด 1 (หนึ่ง) เซนติเมตร ค่อย ๆ ตีเก็บรายละเอียด รอยสกัดขนาดเล็ก ๆ นี้ ไม่พบในแหล่งตัดหินแถบสีคิ้ว สูงเนินในแบบวัฒนธรรมเขมร ซึ่งมีรอยสกัดขนาด 2.5 - 5.0 เชนติเมตร
     อาจเป็นเพราะ เมื่อวัฒนธรรมแบบเขมรเข้ามาความเร่งรีบก่อสร้างปราสาททำให้ตัดหินตามแหล่งตัดหินมาใช้มากไป ร่องรอยตัดหินสมัยทวารวดีจึงไม่พบเห็นได้ งานเทคนิค บางครั้งอาจยืนยันได้ว่า พระนอน องค์นี้ต้องสร้างมาก่อนปราสาทแบบขอมในบริเวณเมืองโบราณเสมาเป็นแน่ ด้วยเหตุนี้จึงกำหนดอายุพระนอนได้ว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1200 - 1300 หรือราว พุทธศตวรรษที่ 13
                                                  (ที่มา: Thanongsak Hanwong, Facebook, Access date: 25 มิถุนายน 2562)



 
info@huexonline.com