MENU
TH EN

นารายณ์อวตาร ตอนที่ 7 "รามาวตาร"

นารายณ์อวตาร ตอนที่ 7
รามาวตาร
First revision: Dec.06, 2015
Last change: May 04, 2020

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 

รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย โดยมีต้นเค้าจากวรรณคดีอินเดีย คือ มหากาพย์รามายณะที่ฤๅษีวาลมีกิ ชาวชมพูทวีป แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษ เชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จากอิทธิพลของลัทธิพราหมณ์ฮินดู โดยแฝงไว้ซึ่งคติยกย่องพระมหากษัตริย์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นอวตารของพระนารายณ์.

ที่มา:  https://th.wikipedia.org/wiki/รามเกียรติ์, วันที่สืบค้น 06 ธันวาคม 2558.

 
        รามาวตาร (RAMA AVATARA) ปางอวตารลำดับที่ 7 ของพระนารายณ์ "รามาวตาร" คืออวตารมาเป็น "พระราม" เพื่อสังหารราวณะและโคตรวงศ์ที่ก่อกวนไตรโลก โดยมีเหตุแห่งการทำสงครามจากการที่ราวณะ ลักพาตัวนางสีดาไป พระรามจึงต้องไปตามคืนมาเกิดเป็นสงครามนานกว่า 14 ปี คนไทยรู้จักเรื่องนี้ในชื่อว่า "รามเกียรติ์" (เกียรติของพระราม) ซึ่งดัดแปลงเนื้อเรื่องจากต้นฉบับเดิมของคนอินเดีย "มหากาพย์ รามายณะ" ซึ่งเป็นมหากาพย์ใหญ่ ที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระคุณของพระรามและการสงครามอันยิ่งใหญ่ เป็นหนึ่งในวรรณกรรมเอกของโลกที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักมากที่สุดอีกด้วย.

        เรื่องราวในปางอวตารนี้ จึงแตกต่างจากปางอื่น ๆ เพราะมีความยาวในระดับ "มหากาพย์" ดังนั้นในบล็อกนี้ อิงจากต้นฉบับตามที่ได้อ้างตอนท้ายของบทความนี้ จึงใคร่ขอเสนอแต่เพียงโครงเรื่องเท่านั้น ส่วนรายละเอียดจะได้นำเสนอเป็นระยะ ๆ และในโอกาสต่อไป.

         ปางนี้ พระวิษณุทรงอวตารลงมาเพื่อปราบ "ราวณะ" หรือ คนไทยมักอ่านว่า "ราพณ์" ส่วนในรามเกียรติ์ชื่อว่า "ทศกัณฐ์" กษัตริย์แห่งกรุงลงกา ซึ่งมี 10 เศียร ราวณะบำเพ็ญตบะเช่นเดียวกับ "หิรัณยากษะ" และ "หิรัณยกศิปุ" ที่บำเพ็ญตบะจนได้รับพรวิเศษจากพระพรหม และก่อความเดือดร้อนไปทั่วทั้งสามโลก พระวิษณุจึงอวตารลงมาเป็นพระโอรสองค์โตในมหาราช "ทัชรัต" แห่งกรุงอโยธยา ทรงพระนามว่า "รามจันทร์" หรือ "ราม" ซึ่งมีความหมายว่า ผู้นำมาซึ่งความสุขความรื่นรมย์ ประสูติแต่มหารานีเกาศัลยา รามมีอนุชาต่างมารดาคือ "ภารัต" (Bharata) ประสูติแต่มหารานีไกยเกยี และ "ลักษมัณ" (Lakshmana) กับ "ชาตรุกัน" (Shatrughana) ซึ่งเป็นโอรสแฝดประสูติแต่มหารานีสุมิตรา.

 

พระรามและพระลักษมณ์

        รามและลักษมัณ (พระลักษมณ์) สนิทสนมกันมาก (เช่นเดียวกับภารัต ก็สนิทสนมกับชาตรุกัน) สองพี่น้องได้สังหารอสูรอันธพาลที่ชอบทำลายยัญพิธีของพราหมณ์ไปจำนวนมาก วันหนึ่งทั้งสองพระองค์ได้ยินข่าวว่า ท้าวชนก แห่งกรุงมิถิล จะจัดพิธีสยุมพร อภิเษก "สีดา" (Sita หรือ Seeta) พระธิดาให้แก่ผู้ที่สามารถยกและโก่งคันศรของพระศิวะได้ เมื่อพระรามผู้ยกและโก่งคันศรวิเศษนี้ได้แต่เพียงผู้เดียว จึงได้อภิเษกกับนางสีดา ซึ่งแท้จริงแล้วพระนางก็คืออวตารของพระแม่ลักษมีนั่นเอง  หลังจากนั้นไม่นาน มหาราชทัชรัตก็ทรงพระราชดำริจะสละราชบัลลังก์ให้รามขึ้นเสวยราชย์ แต่ในขณะเดียวกันมหารานีไกยเกยีซึ่งถูกยุยงจากนางค่อมมันทระ ก็ได้ทูลขอพรวิเศษซึ่งมหาราชทัชรัตได้เคยสัญญาไว้กับมหารานีไกยเกยีว่าจะให้พรวิเศษแก่นาง นางขอให้ภารัตโอรสของตนได้ครองบัลลังก์อโยธยาและให้เนรเทศรามไปอยู่ป่าเป็นเวลา 14 ปีนั้น ทำให้มหาราชทัชรัตไม่อาจปฏิเสธได้ รามได้เสด็จออกไปอยู่ป่า โดยมีพระแม่สีดา และลักษมัณพระอนุชาเสด็จไปด้วย ฝ่ายราชกุมารภารัตและชาตรุกั ซึ่งเสด็จไปต่างเมือง กลับมาทราบความจริงก็เสียพระทัยยิ่งในการกระทำของพระมารดา จึงเสด็จตามไปทูลเชิญพระเชษฐากลับมา แต่รามได้ปฏิเสธด้วยทรงให้สัตย์กับพระบิดาไปแล้ว ภารัตจึงขอประทานฉลองพระบาทไปเป็นตัวแทนของพระเชษฐาประดิษฐานไว้บนราชบัลลังก์.

         ในช่วงที่ทั้งสามกษัตริย์ประทับอยู่ที่อาศรมในป่านั้นเอง ศรูปนักขา หรือที่รามเกียรติ์ของไทยเรียกว่า "นางสำมะนักขา" ผู้เป็นกษิษฐาของราวณะ (Ravana) ได้มาพบเห็นองค์รามเข้าและเกิดความสิเน่หา นางพยายามเกี้ยวพาราสีราม แต่รามปฏิเสธ ฝ่ายลักษมัณ (พระลักษมณ์) ก็ลงโทษนางโดยการตัดจมูก นางกลับไปฟ้องพระเชษฐาราวณะ และยังทูลว่ารามมีมเหสีที่งดงามยิ่งนัก อสูรราวณะจึงทำอุบายลักตัวพระแม่สีดาไป.

พระรามและนางสีดา (Rama and Sita)

 
                  
ทศกัณฐ์

         ฝ่ายองค์ราม ก็ออกติดตามหาเทวีสีดา จนไปพบกับมหาราชสุครีวะ (Sugriva) หรือที่รามเกียรติ์ของไทยเรียกว่า "สุครีพ" ซึ่งถูกมหาราชพาลี ผู้เป็นพระเชษฐาขับออกจากเมืองขีดขิน พร้อมกับหนุมาน (Hanuman) ซึ่งต่อมาทั้งสองและเหล่ากองทัพวานร ได้กลายมาเป็นกองทัพขององค์รามเพื่อทำศึกชิงเทวีสีดากลับคืน หนุมานได้ลอบเข้าไปยังมหานครลงกาของราวณะ เพื่อสืบข่าวของพระแม่สีดา หนุมานได้พบพระแม่สีดาและได้ถวายแหวนขององค์ราม เพื่อเป็นหลักฐานแทนตัวองค์ราม และแจ้งข่าวว่าบัดนี้องค์รามและเหล่าเสนาวานร จักยกพยุหโยธาหาญมาพาตัวพระแม่สีดากลับคืน.
 
                                        
สุครีพ และ หนุมาน

        ในครั้งนั้น หนุมานได้แกล้งให้เหล่าอสูรจับตัวได้แล้วทำอุบายเผากรุงลงกาจนวอดวาย เมื่อกองทัพขององค์รามข้ามมหาสมุทรมาตั้งอยู่หน้ากรุงลงกา  หลายฝ่ายได้ทูลให้จอมอสูรราวณะ ส่งเทวีสีดาคืนองค์รามเพื่อสงบศึก ในครั้งนี้รวมทั้งมหาราชวิภีษณะ (Vibhishana) หรือ ที่รามเกียรติ์ไทยเรียกว่า "โหราพญาพิเภก" แต่ราวณะปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว และเนรเทศวิภีษณะออกจากกรุงลงกา วิภีษณะจึงไปสวามิภักดิ์กับองค์รามและได้เป็นผู้ช่วยเหลือบอกอุบายและความลับต่าง ๆ ของฝ่ายลงกาให้แก่ฝ่ายองค์ราม.
 
                                          
พิเภก และ กุมภกรรณ
 
        กองทัพวานรขององค์ราม และกองทัพอสูรของราวณะได้สัปประยุทธ์กันหลายครั้ง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ท้ายที่สุดเหล่าญาติวงศ์ของราวณะก็ทะยอยจบชีวิตลงไปทั้งอินทรชิต หรือ เมฆนาท โอรสของราวณะ และกุมภกรรณ (Kumbhakarna) ผู้เป็นอนุชา ท้ายที่สุดวิภีษณะได้ทูลองค์รามว่าราวณะ ได้เก็บน้ำอมฤตไว้ที่สะดือ ทำให้เป็นอมตะ องค์รามจึงใช้ศรวิเศษยิงไปที่สะดือของราวณะ ทำให้สิ้นพระชนม์ในทันที องค์รามได้สถาปนาวิภีษณะขึ้นเป็นมหาราชองค์ใหม่ของ กรุงลงกาหลังจากนั้น พระแม่สีดาได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระนางตลอดเวลาที่อยู่ในกรุงลงกาว่า ตนมิได้ถูกราวณะล่วงเกิน โดยการลุยไฟ พระอัคนีได้ยืนยันความบริสุทธิ์ของพระนาง จากนั้นทั้งสามกษัตริย์ได้เสด็จนิวัติกลับกรุงอโยธยา.

        หลังจากการขึ้นครองราชย์ขององค์ราม พระองค์ได้ครองคู่กับพระแม่สีดาอย่างมีความสุขเป็นเวลาหลายปี แม้ว่าพระแม่สีดาจะได้ผ่านพิธีลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนแล้วก็ตาม แต่ชาวอโยธยาก็ยังคงมีข้อครหาต่อความบริสุทธิ์ของนางอยู่ตลอด องค์รามจำต้องยอมตามความเห็นของมหาชนและเนรเทศพระแม่สีดาออกจากเมือง แม้จะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของนางอยู่ก็ตาม เทวีสีดาจึงได้ไปอาศัยอยู่สำนักอาศรมของพระฤๅษีวาลมีกิ (Valmiki) จนกระทั่งนางได้ประสูติโอรสแฝดที่ติดพระครรภ์อยู่ คือ เจ้าชายลวะและเจ้าชายกุศะ พระกุมารทั้งสองต่อมา ได้เล่าเรียนศิลปวิทยาการจากพระฤๅษีวาลมีกิ และได้เติบโตขึ้นโดยที่ยังไม่ทราบถึงสถานะที่แท้จริงของพระองค์

 
ฤๅษีวาลมีกิ

        พระฤๅษีวาลมีกิได้รจนามหากาพย์รามายณะและสอนให้สองกุมารสวดท่องหนังสือเรื่องนี้ด้วย ต่อมาเมื่อองค์รามได้กระทำพิธีอัศวเมธ02 ฤๅษีวาลมีกิจึงได้เข้าร่วมพิธีโดยพาสองกุมารไปด้วย และให้กุมารทั้งสองสวดเรื่องรามายณะท่ามกลางมหาสมาคมต่อเบื้องพระพักตร์ขององค์ราม เมื่อสองกุมารสวดไปถึงตอนองค์รามเนรเทศพระแม่สีดา องค์รามได้กันแสงออกมา พระฤๅษีวาลมีกิจึงได้เชิญพระแม่สีดาออกมาพบองค์ราม ณ ที่นั้น นางได้ประกาศถึงความบริสุทธิ์ของตน โดยอ้างเอาแม่พระธรณีเป็นพยาน โดยกล่าวว่าหากนางเป็นผู้บริสุทธิ์จริง ขอให้แผ่นดินรับเอานางไปอยู่ด้วย เมื่อจบคำประกาศแล้ว แผ่นดินก็ได้แหวกเป็นช่องให้นางลงไปเบื้องล่างและหายไปกับผืนดินที่ปิดสนิท หลังจากนั้นองค์รามจึงได้รับเอาโอรสทั้งสองของพระองค์เข้ามาเลี้ยงดูในวังสืบมา.

        กระทั่งเมื่อบรรดาเทพได้ส่งข่าวผ่านพระยมว่าภารกิจในการอวตารขององค์รามสิ้นสุดลงแล้ว องค์รามจึงจัดการแบ่งราชสมบัติให้พระโอรสทั้งสองปกครอง และทำพิธีกลับคืนสู่สวรรค์พร้อมเหล่าพระอนุชาและขุนพลวานรผู้อวตาร.



ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.  จาก. web.facebook.com/AsianStudiesTH/photos/pp..., วันที่สืบค้น 06 ธันวาคม 2558.
02.  พิธีอัศวเมธ หมายถึง ชื่อพระราชพิธีเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระราชาธิราชในวรรณคดีอินเดีย โดยจะทรงปล่อยม้าอุปการพร้อมกองทัพให้เข้าไปในประเทศต่าง ๆ ถ้าประเทศใดไม่ยอมอ่อนน้อม กองทัพจะเข้าโจมตี เมื่อครบ 1 ปีแล้วกองทัพก็ยกกลับพร้อมพระราชาที่ถูกปราบ พระราชธิราชก็จะจัดพระราชพิธีโดยฆ่าม้านั้นบูชายัญ.
info@huexonline.com