นารายณ์วตาร ตอนที่ 8
กฤษณาวตาร
First revision: Dec.13, 2015
Last change: Dec.19, 2022
สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
พระกฤษณะ เป็นบุคคลในสมัยประวัติศาสตร์อินเดีย สมัยยุคมหากาพย์ เมื่อ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล และก่อนสมัยพุทธกาล 2,000 ปี และอีกทั้งพระกฤษณะ ก็ยังเป็นเทพเจ้าทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายฮเรกฤษณะ เป็นอวตาร ของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ .
โดยเมื่อสิ้นบุญจากโลกมนุษย์ ก็ไปจุติเป็นพระกฤษณะ แล้ว ไม่กลับเข้าไปรวมร่างกับพระวิษณุ อีกต่อไป พระกฤษณะ เป็นผู้ชี้อนุศาสตร์ภควัทคีตา (Bhagavad Gita ) ให้พระอรชุน ในสงครามมหาภารตยุทธ ณ ทุ่งกุรุเกษตร และพระกฤษณะ พระองค์ก็ยังเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก โชคลาภ ความแคล้วคลาด ปลอดภัย ชัยชนะ การดนตรี สันติภาพ ความงามอีกด้วย.
ที่มา: www.facebook.com/พระกฤษณะ-193879940638618, วันที่สืบค้น 13 ธันวาคม 2558 .
กฤษณาวตาร (KRISHNA AVATARA) อวตาร ปางที่แปดของพระนารายณ์ คือ กฤษณาวตาร นี่ ทรงอวตาร มาเป็น "พระกฤษณะ " ซึ่งเป็นภาคที่มีการบันทึกไว้ยาวมากทั้งในมหากาพย์มหาภารตะ และคัมภีร์ภควัคคีตา ด้วย เรื่องราวของพระกฤษณะ เป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจ ทั้งยังเป็นภาคอวตาร ที่ได้รับความนับถือมากเช่นเดียวกับรามาวตาร แต่บางครั้งพระกฤษณะ ก็ได้รับการบูชาต่างจากองค์พระวิษณุ พระกฤษณะ จึงได้รับการยกย่องเทียบเท่ามหาเทพองค์หนึ่งของชาวฮินดู.
เนื้อเรื่องปางนี้กล่าวถึง กษัตริย์อุครเสน (Ugrasena) ผู้ครองเมืองมถุรา เป็นกษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม เป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป ทรงมีมเหสีคือ นางปวนะเรขา (Pavanarekha) ปกครองบ้านเมืองร่วมกันอย่างมีความสุข วันหนึ่งพระนางปวนะเรขา ถูกอสูร ตนหนึ่งแปลงร่างเป็นกษัตริย์อุครเสน มาร่วมเสพสม ครั้นอีกสิบเดือนต่อมาจึงบังเกิดพระโอรสนามว่า "กังสะ" (Kansa) กษัตริย์อุครเสน ทรงหลงคิดว่ากังสะ เป็นโอรสของพระองค์ กังสะ เมื่อเติบโตก็เริ่มแสดงออกถึงความชั่วร้าย เช่น ไม่เคารพบิดา สังหารเด็กอื่น ๆ ตลอดจนใช้กำลังขู่บังคับเอาธิดาทั้งสององค์ของกษัตริย์ชราสันธ์ (Jarasandha) แห่งเมืองมคธ มาเป็นชายาของตน และสุดท้ายก็จับตัวกษัตริย์อุครเสน ไปคุมขังไว้ จากนั้นจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทน นอกจากนี้ยังขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง และกังสะ สั่งประกาศห้ามผู้คนไม่ให้ประกอบพิธีเคารพบูชาพระวิษณุ .
พระวิษณุ มหาเทพ ทรงทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อนของมนุษย์และทวยเทพ จึงตัดสินพระทัยอวตาร ลงไปปราบอสูร โดยทรงดำริว่าควรไปจุติเป็นบุตรของ นางเทวากี (ธิดาองค์ที่เจ็ดของพระเจ้าเทวากา ลุงของพญากังสะ ) กับวสุเทวะ (Vasudeva) พระวิษณุ ทรงถอนเส้นพระเกศาดำของพระองค์ และเส้นผมขาวของพญานาคอนันตะ (เศษะนาค ) ส่งไปยังครรภ์ของนางเทวากี เส้นผมขาวของเศษะนาค บังเกิดเป็นบุตรคนที่เจ็ด นามว่า "พลราม " ส่วนเส้นพระเกศาดำของพระองค์ บังเกิดเป็นบุตรคนที่แปด นามว่า "กฤษณะ ".
ย้อนเหตุการณ์ไปครั้งเมื่อมีงานแต่งงานระหว่างนางเทวากี กับวสุเทวะ นั้น มีเสียงดังมาจากเบื้องบน เตือนพญากังสะ ว่า พระองค์จะถูกประหาร โดยบุตรของนางเทวากี พญากังสะ จึงคิดสังหารนางเทวากี แต่วสุเทวะ สัญญาว่าจะนำลูกของตนที่เกิดกับนางเทวากี ทั้งหมดมามอบให้พญากังสะ เมื่อนางเทวากี คลอดบุตรหกคนแรกออกมา วสุเทวะ ก็รักษาสัญญาโดยนำมาให้พญากังสะ และถูกสังหารทั้งหมด จนกระทั่งนางเทวากี ใกล้จะให้กำเนิดบุตรคนที่เจ็ด ก็มีเสียงเตือนพญากังสะ จากเบื้องบนเป็นครั้งที่สองว่า ผู้ที่เกิดมาเป็นคนเลี้ยงโค จะเป็นผู้ประหารพระองค์ พญากังสะ จึงออกคำสั่งให้สังหารคนเลี้ยงโคทุกคนที่พบ ฝ่ายนันทะ (Nanda) คนเลี้ยงโคซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของวสุเทวะ ตัดสินใจช่วยวสุเทวะ โดยให้วสุเทวะ ส่งภรรยาอีกคนหนึ่ง คือ นางโรหินี (Rohini) ไปอยู่กับนันทะ .
จากนั้นพระวิษณุ ก็ทรงใช้ฤทธิ์สับเปลี่ยนนำบุตรในครรภ์ของนางเทวากี ไปใส่ในครรภ์ของนางโรหินี แทน และถือกำเนิดเป็นพระพลราม โดยพญากังสะ คิดว่าบุตรของนางเทวากี เสียชีวิตในครรภ์มารดาไปแล้ว ส่วนบุตรคนที่แปด คือพระกฤษณะ นั้น วสุเทวะ ได้สับเปลี่ยน โดยนำเอาบุตรีของนันทะ กับนางยโสดา (Yasoda) ไปมอบให้พญากังสะ เมื่อพญากังสะ รับมาก็ขว้างใส่ก้อนหิน แต่ปรากฎว่าทารกนั้นกลับกลายร่างเป็นเทพธิดา เหาะขึ้นไปบนฟ้า แล้วกล่าวกับพญากังสะ ว่า บัดนี้ผู้ที่จะสังหารพญากังสะ ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว.
พระกฤษณะในวัยเยาว์กับนางยโสดา
พระกฤษณะ เติบโตท่ามกลางหมู่คนเลี้ยงโค แค่เพียงในช่วงขวบปีแรก ก็มีอสูร ถึงสามตน พยายามทำร้ายพระองค์ ครั้งแรก : เป็นอสูรปุตนะ (บ้างก็เรียก ปูตนา - Pūtanā पूतना) แปลงร่างเป็นหญิงสาวมาให้นมพระกฤษณะ โดยใส่ยาพิษไว้ในนม แต่พระกฤษณะ รู้ทัน จึงดูดนมจนอสูรปุตนะ สิ้นชีพ. ครั้งที่สอง : เป็นอสูรศักตาสูร (Saktasura) มีฤทธิ์สามารถบินได้ วางแผนจะใช้กำลังลากรถบรรทุกภาชนะเหยือกน้ำให้ไปทับร่างพระกฤษณะ ที่นอนหลับอยู่ แต่ไม่สำเร็จ. ส่วนครั้งที่สาม : เป็นอสูรตรีนะวัตร (Trinavasta หรือ Tṛṇāvarta ) แสดงฤทธิ์เป็นลมหมุน หมายจะพัดร่างของพระกฤษณะ ให้ตกลงมาจากตักของนางยโสดา แต่ไม่บังเกิดผล กลับถูกพระกฤษณะ จับเหวี่ยงทุ่มใส่ก้อนหิน ทำให้พายุสงบลง.
ชีวิตในวัยเด็กของพระกฤษณะ ต้องต่อสู้กับอสูร ที่พญากังสะ ส่งมาหลายครั้ง เนื่องจากพญากังสะ ต้องการกำจัดเด็กที่มีพลังอำนาจสามารถสังหารตนได้ อสูร ที่มาทำร้าย ได้แก่:
อสูรวัตสาสูร (Vatsasura) ปรากฎในร่างโค
อสูรบากาสูร (Bagasura) ปรากฎในร่างนกกระเรียน พยายามกลืนร่างพระกฤษณะ แต่ในที่สุดพระกฤษณะ ก็ปราบได้
อุกราสูร (Ugrasura) ปรากฎในร่างงู เข้ามากลืนร่างพระกฤษณะ ลงไปในท้อง แต่ในที่สุด พระกฤษณะ ก็ฉีกร่างอสูร ออกมาได้
นอกจากนี้ พระกฤษณะ ก็ได้สังหารอสูรเธนุกา (Dhenuka) และสั่งสอนนาคกาลิยะ (Kaliya) ให้สำนึกผิดด้วย.
ส่วนพระพลราม ผู้พี่ก็ได้ปราบอสูรหลายตน เช่น อสูรประลัมพ์ (Pra-lamba) ซึ่งเป็นอสูรที่ปรากฎในร่างคน เป็นต้น.
ชีวิตในวัยหนุ่มของพระกฤษณะ ผ่านประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะการโน้มน้าวให้คนเลี้ยงโคเลิกเซ่นบวงสรวง พระอินทร์ โดยให้ไปบูชาภูเขาโควรรธนะแทน ทำให้พระอินทร์ พิโรธ บันดาลให้เกิดพายุฝนตกหนักตลอดทั้งเจ็ดวัน เพื่อเป็นการลงโทษ แต่พระกฤษณะ ใช้นิ้วเพียงนิ้วเดียวยกภูเขาโควรรธนะขึ้นกำบังฝูงคนเลี้ยงโคเอาไว้ กระทั่งท้ายที่สุด พระอินทร์ ได้ทรงช้างไอราวตะหรือช้างเอราวัณ พร้อมกับแม่วัวสุรภีลงมาเคารพพระกฤษณะ .
ในเรื่องความรัก เมื่อพระกฤษณะ เติบโตเป็นหนุ่ม ก็เป็นที่หมายปองของเหล่านางโคปี (ภรรยาคนเลี้ยงโค) ทั้งหลาย วันหนึ่งขณะที่เหล่าโคปี กำลังอาบน้ำที่แม่น้ำยมุนา และแต่ขอพรให้ตนได้สมปรารถนาในรัก พระกฤษณะ ได้มาขโมยเสื้อผ้าของพวกนางและหนีไปซ่อนอยู่บนต้นไม้ จากนั้นพระกฤษณะ ก็เรียกนางโคปี ที่เปลือยกายให้ขึ้นจากน้ำ เพื่อมารับเสื้อผ้าคืน เมื่อได้หยอกล้อเหล่าโคปี แล้ว พระกฤษณะ ก็สัญญาว่า พระองค์จะไปเต้นรำร่วมกับเหล่านางโคปี ในฤดูใบไม้ร่วงครั้งหน้า ครั้นถึงฤดูใบไม้ร่วงในคืนที่แสงจันทร์สว่างไสว พระกฤษณะ ได้เป่าขลุ่ยเรียกเหล่านางโคปี เหล่านั้นให้แอบหนีสามีที่กำลังหลับ เข้ามาในป่า.
จากนั้นก็ได้เต้นรำกัน นางโคปี ทุกคนต่างรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนว่าตนได้เต้นรำกับพระกฤษณะ ในลักษณะในลักษณาการของคู่รัก การเต้นรำนี้ยาวนานถึงหกเดือน จากนั้นทั้งหมดก็ได้ไปอาบน้ำที่แม่น้ำยมุนา ร่วมกัน เมื่อนางโคปี กลับบ้านก็จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในบรรดานางโคปี ทั้งหมด มีหญิงคนหนึ่งที่ถือว่าเป็นคู่รักคนสำคัญของพระกฤษณะ นางมีนามว่า "ราธา " (พระแม่ราธาเทวี คู่รักพระกฤษณะ ) มีบทบรรยายถึงความรักระหว่างคนทั้งสองอยู่มากมาย.
พระกฤษณะกับเหล่านางโคปี
ฝ่ายพญากังสะ ยังไม่สิ้นความพยายามที่จะสังหารพระกฤษณะ ได้ส่งอสูรสังกาสูร (Sankhasura) เข้ามาทำร้ายนางโคปี ที่มาอยู่กับพระกฤษณะ และพระพลราม พระกฤษณะ ได้เข้าต่อสู้และตัดหัวของสังกาสูร ได้สำเร็จ ในคืนต่อมาก็มีอสูรวัว เข้ามาทำร้ายอีก ซึ่งก็ถูกพระกฤษณะ จับหักคอจนสิ้นชีพ โหราจารย์ของพญากังสะ ทำนายว่าพระกฤษณะ จะมาสังหารพญากังสะ พญากังสะ จึงจับตัวนางเทวากี และวสุเทวะ จองจำไว้ พร้อมกับวางแผนสังหารพระกฤษณะ อีก โดยเชิญให้เข้ามาในเมืองมถุรา และได้ส่งอสูรรูปม้า ชื่อ "เกศิน (Kesin)" ไปลอบทำร้ายระหว่างทาง แต่ก็ถูกพระกฤษณะ เอากำปั้นยัดใส่ปากจนสิ้นชีพ นอกจากนี้ ยังส่งอสูรหมาป่า ที่แปลงร่างเป็นขอทานมาทำร้าย แต่พระกฤษณะ ก็ล่วงรู้กลอุบายและปราบได้สำเร็จ.
หลังจากนั้น พญากังสะ ได้ให้อำมาตย์เอกนาม "อกุระ (Akrura) " เชื้อเชิญพระกฤษณะ เข้าไปในเมือง แต่อกุระ เ ป็นผู้ที่ภักดีต่อพระกฤษณะ จึงเล่าความจริงเกี่ยวกับแผนร้ายของพญากังสะ ว่า พญากังสะ ต้องการลวงพระกฤษณะ ไปสังหารในเมือง พระกฤษณะ และพลราม เดินทางเข้าไปในเมือง ทำลายธนูของศิวะ สังหารคนเฝ้าประตูเมือง จากนั้นปราบช้างกุวัลยปิยะ และต่อสู้กับนักมวยปล้ำจาณูระและมุสติกะ
ท้ายที่สุด พระกฤษณะ ได้ลากตัวพญากังสะ ลงมาจากบัลลังก์ และใช้กำปั้นทุบจนสิ้นชีพ จากนั้นก็ได้มอบราชสมบัติคืนให้กษัตริย์อุครเสน ตามเดิม โดยพระกฤษณะ อาศัยอยู่กับนางเทวากี ระยะหนึ่ง พระกฤษณะ ได้ปราบอสูร อีกหลายครั้ง ในที่สุด พระองค์ก็ได้ออกไปหาทำเลสร้างเมืองใหม่ โดยให้พระวิศวกรรม เนรมิตเมืองให้เสร็จภายในคืนเดียว จากนั้นย้ายตระกูลยาฑพ ออกไปยังเมืองใหม่ นามว่า "ทวารกา ".
เมื่อย้ายมาอยู่เมืองทวารกา แล้ว พระกฤษณะ ก็ออกเสาะแสวงหาชายาให้กับพระองค์เองและพระพลราม พระพลราม ได้แต่งงานกับนางเรวาตี (Revati ) ส่วนพระกฤษณะ เข้าพิธีแต่งงานกับนางรุกมินี (Rukmini) แต่ก่อนหน้านั้น ก็ต้องต่อสู้กับ "รุกมา" และ "สีสุปาละ" พี่ชายของนางรุกมินี ซึ่งเป็นญาติของพระกฤษณะ และหมายปองนางรุกมินี เช่นกัน หลังการแต่งงาน พระกฤษณะ ก็ยังต่อสู้กับอสูร อื่น ๆ อีกมากมาย และได้ชายามาอีก 7 องค์ เช่น นางชามภวาตี (Jambavati) บุตรีของชามภูวาล ผู้เป็นกษัตริย์แห่งหมี, นางสัตยภามา (Satyabhama) ธิดาของสัตราชิต, นางกัลลินดิ (Kalindi) ธิดาของพระอาทิตย์ และชายาอีก 4 องค์จากการปราบปรามอสูร ตนอื่น ๆ .
ภารกิจสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือ การปราบนาระกะ (Naraka) ซึ่งเป็นกษัตริย์ของปักโยทิชา (Pragiyotisha) นาระกะ ได้รับพรจากมหาเทพทั้งสาม ให้เป็นผู้ที่ไม่มีใครเสมอเทียมได้ สร้างความเดือดร้อนแก่เหล่าเทวดา ถึงขั้นไปยึดเอาตุ้มหูของนางอทิติ (ผู้เป็นมารดาของเหล่าเทพ ) จากนั้นก็ไปยึดเอามงกุฏของพระอินทร์ มาสวมใส่และยึดนางอัปสร 16,000 องค์ไปจากสวรรค์ ท้ายที่สุดยังแปลงร่างเป็นช้างไปข่มขืนธิดาของพระวิศวกรรม ด้วย พระกฤษณะ ได้บุกไปยังเมืองของนาระกะ ปราบอสูร ตนนี้ จากนั้นจึงนำสิ่งของที่ถูกยึดคืนกลับไปให้เจ้าของ ส่วนนางอัปสร ทั้งหมดนั้น พระองค์นำกลับไปยังเมืองทวารกา และแต่งงานกับทุกนาง (พระกฤษณะ มีชายาทั้งหมด 16,108 นาง).
ความที่มีชายามากนี้เอง จึงเกิดเรื่องราวอยู่หลายครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งพระกฤษณะ มอบดอกปาริชาติ (ดอกไม้สวรรค์ที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร พระอินทร์ เป็นผู้ดูแลรักษาไว้ในเขตของสวรรค์ของพระองค์) แก่นางรุกมินี ปรากฎว่านางสัตยภา มา ก็ต้องการบ้าง พระกฤษณะ จึงบุกขึ้นไปบนสวรรค์ของพระอินทร์ เกิดสู้รบกัน ในที่สุดพระกฤษณะ นำต้นปาริชาติ มาไว้ยังเมืองทวารกา ได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นหนึ่งปี ก็คืนให้พระอินทร์ นำไปปลูกไว้ที่เดิม.
ในมหาสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ที่รู้จักในนาม "มหาภารตยุทธ " ซึ่งรจนาเป็นมหากาพย์ในชื่อ "มหากาพย์มหาภารตะ " อันเป็นสงครามระหว่างตระกูลปาณฑพ กับตระกูลเการพ นั้น พระกฤษณะ เป็นสารถีให้ฝ่ายปาณฑพ และได้เทศนาท้าวอรชุน (หนึ่งในห้าของพี่น้องตระกูลปาณฑพ ) ไว้ใน "ภควัทคีตา " ซึ่งเป็นวรรณคดีอันมีชื่อเสียง ท้ายที่สุดฝ่ายตระกูลปาณฑพ ก็มีชัยในสงครามครั้งนี้.
เมื่อได้เวลาอันสมควร ก็ถึงกาลที่พระกฤษณะ จะกลับไปยังไวกูณฐ์สถาน ของพระองค์ ครั้งหนึ่งหมู่กษัตริย์ยาฑพ เมาสุราทะเลาะวิวาทปลงพระชนม์กันเอง พระกฤษณะ พยายามห้ามปราม แต่ก็ไม่เป็นผล พระองค์จึงหลบหนีเข้าไปในป่า บังเอิญขณะนั้น มีพรานป่าออกล่าสัตว์ พรานผู้นั้นสำคัญผิดว่า พระกฤษณะ เป็นสัตว์จึงยิงพระองค์ด้วยธนูถูกที่ "ข้อเท้า " อันเป็นจุดชีวิตของพระกฤษณะ 03. จนสิ้นพระชนม์ ส่วนพระพลราม ก็สิ้นพระชนม์ใกล้ชายฝั่งทะเล กลับไปเป็นเศษะนาค อันเป็นร่างเดิมและคืนกลับสู่เกษียรสมุทร เมื่อข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระกฤษณะ ล่วงรู้ไปถึงในเมือง พระวสุเทวะ นางเทวากี ตลอดจนนางโรหินี ก็สิ้นพระชนม์ตามไปด้วย จากนั้นไม่นานก็เกิดน้ำท่วมใหญ่จนเมืองทวารกา จมหายไปในที่สุด.
ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01 . จาก . web.facebook.com/AsianStudiesTH/photos/pp..., วันที่สืบค้น 06 ธันวาคม 2558 .
02 . จ าก . www.siamganesh.com/krishna.html, วันที่สืบค้น 13 ธันวาคม 2558 .
03 . จุดชีวิตของพระกฤษณะนี้ ตรงและดูจะคล้ายกับจุดอ่อนส้นเท้าของอคิลลิส (Achilles) (Achilles' heel) ในปกรณัมของกรีก (Greek mythology) ด้วยพระมารดาของอคิลลิส (ธีทีส - Thetis) (ดู รายละเอียดเทพปกรัมกรีก ) ต้องการให้บุตรชายรอดพ้นจากความตาย ด้วยการจุ่มตัวทารกบุตรตนลงในแม่น้ำสติ๊กส์ (River Styx) ในนรก แต่การจุ่มตัวทารกนั้น มีเฉพาะส่วนส้นเท้าที่นางธีทีสจับไว้ ไม่ได้ถูกจุ่มลงไปด้วย จึงกลายเป็นจุดอ่อนของอคิลลิส ท้ายที่สุดในสงครามเมืองทรอย อันปรากฎในมหากาพย์อิลเลียดของโฮเมอร์ (Homer's Iliad) ยอดนักรบอคิลลิสก็พบจุดจบ เมื่อเจ้าชายปารีสใช้ศรยิงโดนส้นเท้าของอคิลลิสเข้า.
โดยความเห็นของผม น่าจะเป็นการบูรณาการปกรณัมของกรีกให้เข้ากับความเชื่อเกี่ยวกับเหล่าเทพในชมพูทวีปฮินดูสถาน ภารตวรรษ ครับ.
รูปปั้น อคิลลิสโดยลูกศรที่ส้นเท้า ที่เกาะ Corfu ในทะเลไอโอเนียน, ที่มา: en.wikipedia.org, วันที่เข้าถึง 3 พฤษภาคม 2563.
04 . จาก . "The Illustrated Mahabharata: A Definitive Guide to India's Greatest Epic ," ISBN: 978-0-2412-6434-8, Penguin Random House, 2017, Printed and bound in China, www.dk.com.
05 . จาก . "KṚṢṆA: THE SUPREME PERSONALITY OF GODHEAD ," His Divine Grace, A.C. Bhaktivedanta Swami Prabhupāda, Founder-Ācārya of the International Society for Krishna Consciousness, First e-book edition: December 2018, ISBN 978-91-7769-109-9.