MENU
TH EN

นารายณ์อวตาร ตอนที่ 6 "ปรศุรามาวตาร"

นารายณ์อวตาร ตอนที่ 6
ปรศุรามาวตาร
First revision: Nov.28, 2015
Last change: Nov.27, 2024

สืบค้น รวบรวม เรียบเรียง แปล และปริวรรตโดย อภิรักษ์ กาญจนคงคา.
 

ฉภาคพระบรมเทพนาถา                               อวตารแบ่งภาคเป็นปรศุราม
ทรงขวานเพชรสังหารล่าแค้นแทนมารดา          พระอรชุนกษัตราผู้หยาบคาย
ด้วยความแค้นเคียดจิตพิศวง                         ไม่ยอมกลับไปรวมภาคบนสวรรค์
ตามไล่ล่าสังหารสุริยวงศ์กษัตริย์                    จนพราหมณ์ต้องโยนิช่วยเผ่ากษัตริย์เอย.

ที่มา: จาก. aris.exteen.com/20070628/entry, วันที่สืบค้น 28 พฤศจิกายน 2558.

          ปรศุรามาวตาร (Parashurama Avatara) อวตารปางที่ 6 ของพระนารายณ์ อันถือว่าเป็นปางแรกของทวาปรยุค ซึ่งเป็นยุคที่ 3 จากทั้งหมด 4 ยุค ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู.โดยชื่อของปางนี้เรียกว่า "ปรศุรามาวตาร" นั้นก็มาจากคำสามคำมารวมกัน คือ คำว่า "ปรศุ" ที่หมายถึง ขวาน, คำว่า "ราม" หมายถึง อันต้องอารมณ์, อันเป็นที่รักยิ่ง,งาม และคำว่า "อวตาร" ที่แปลว่า การเคลื่อนลงมา, การจุติของเทวดา, สูงศักดิ์. ดังนั้นในที่นี้ ชื่อปาง "ปรศุรามาวตาร" จึงหมายถึง การเคลื่อนลงมาจุติของพระนารายณ์ในรูป รามถือขวานนั่นเอง.

          "ปรศุราม" คือพระนารายณ์ทรงอรตารมาเป็นพราหมณ์ถือขวานเพชร เพื่อสังหาร "พระอรชุน" หรือ "การตวีรยะ อรชุน" กษัตริย์มนุษย์ผู้หยาบช้า แต่ภาคนี้มีความพิเศษและดูไม่น่าเป็นภาคอวตารของพระนารายณ์ได้04 เพราะปรศุรามอุดมไปด้วยความแค้นผิดกับปางอวตารอื่น ๆ ทั้งเมื่อเสร็จภารกิจก็ไม่ยอมกลับไปรวมภาคกับพระนารายณ์ กล่าวได้ว่า ดื้อรั้นมีความคิดเป็นของตนเองมาก ยังอยู่บนโลกและไล่ล่าสังหารเหล่ากษัตริย์จนเกือบหมด ทำให้นางกษัตริย์หมายต้องมาร้องขอให้เหล่าพราหมณ์ช่วยเหลือ บังเกิดประเพณีนิโยค3 นั่นเอง เรื่องราวมีอยู่ดังนี้:

          แคว้นกานยสุภชะ มีพระราชาพระองค์หนึ่งนาม "คาธิราชนรินทร์" มีพระธิดาสวยงามมาก มีพระนามว่า "สัตยวดี" วันหนึ่งฤๅษีเฒ่าตนหนึ่งชื่อ "ฤจิก" ได้มาสู่ขอ ซึ่งนางสัตยวดีได้ตอบตกลง แต่พระราชาไม่ทรงยอม ได้ตั้งเงื่อนไขว่าให้ฤษีฤจิกไปนำม้าขาวที่มีหูเป็นสีดำหนึ่งพันตัวมาเป็นสินสอด ฤๅษีฤจิกจึงบวงสรวงพระวรุณเทพเจ้าแห่งน้ำและขอประทานม้าขาวที่มีหูเป็นสีดำ หนึ่งพันตัวซึ่งพระวรุณก็ประทานให้ ฤๅษีฤจิกจึงได้อภิเษกกับนางสัตยวดีและกลับเข้าป่าไป วันหนึ่งนางสัตยวดีต้องการมีบุตร ฤๅษีจึงกวนข้าวทิพย์ขึ้นมาสองจาน จานหนึ่งให้นางสัตยวดีทานซึ่งจะให้กำเนิดบุตรชายที่มีใจกุศล รักสันโดษ เพื่อมาเป็นพราหมณ์ที่มีศีลธรรม อีกจานหนึ่งให้พระมารดาของนางสัตยวดีซึ่งจะให้กำเนิดบุตรชายที่มีฤทธิ์เดช จิตใจกล้าหาญ และมีอำนาจ เมื่อฤๅษีเข้าไปบำเพ็ญตบะ พระมารดาจึงบอกให้สลับจานข้าวทิพย์เพราะพระมารดาต้องการให้พระธิดาไม่ต้องอับอายที่มีลูกเป็นพราหมณ์ ทั้งที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์มาก่อน แต่พระมารดามีบุตรชายที่มีความสามารถอยู่แล้วจึงไม่เป็นอะไรที่จะให้กำเนิดลูกชายอีกองค์เป็นพราหมณ์ เมื่อได้ฟัง นางสัตยวดีจึงยอมเปลี่ยนจานข้าว เมื่อฤๅษีฤจิกกลับมา ทราบเรื่องเข้า ก็โกรธที่นางสัตยวดีไม่ทำตามที่สั่ง จนนางสัตยวดีต้องไปกราบขอโทษ ฤๅษีฤจิกทำพิธีกรรมให้กลับเป็นอย่างเดิมที่ตนตั้งใจไว้ตั้งแต่คราวแรก และเลื่อนให้การมีบุตรที่มีฤทธิ์เดชเกิดในคราวหลานไป ต่อมานางสัตยวดีก็ให้กำเนิดบุตรชายรูปงามชื่อว่า "ชมทัคคี" ซึ่งได้บวชเป็นพราหมณ์และถือว่าเป็นยอดแห่งพราหมณ์ และได้ไปสู่ขอ "นางเรณุกา" จากพระเจ้าปเสนชิต และได้มีบุตรชายด้วยกันห้าคน ซึ่งคนสุดท้ายมีชื่อว่า "ราม" หรือ "รามฤทธิรุทร" ซึ่งก็คือองค์พระนารายณ์อวตารนั่นเอง.

          ราม เป็นผู้ฉลาดรอบรู้ในพระเวท อีกทั้งยังมีฝีมือในการต่อสู้ที่เป็นเลิศอีกด้วย ครั้งหนึ่งได้ทำพิธีบูชาพระศิวะเพื่อขอเป็นศิษย์ ฝ่ายพระศิวะเองก็พึงพอพระทัยในรามผู้นี้เป็นอย่างมาก จนถือว่าเป็นศิษย์เอกของพระองค์ผู้หนึ่งเลยก็ว่าได้ เมื่อร่ำเรียนวิชากับศังกาจารย์ (เป็นนามหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งหลายท่านเข้าใจว่าเป็นพระศุกร์ ซึ่งความจริงแล้วพระศุกร์นั้นจะมีนามเรียกขานว่าศุกราจารย์ จึงมักทำให้เกิดความเข้าใจผิด สลับประจำ) จนจบแล้ว พระศิวะจึงประทานพรให้แก่รามว่า ให้รามนั้น สามารถเข้าเฝ้าพระองค์ได้ทุกเวลา โดยมิต้องขออนุญาตก่อน อีกทั้งยังทรงมอบขวานประจำพระองค์อันเป็นอาวุธวิเศษให้แก่รามอีกด้วย นับแต่นั้นมา รามผู้นี้จึงมีชื่อเรียกขานกันว่า "ปรศุราม" อันหมายถึง รามผู้ถือขวาน นั่นเอง.


 

พระศิวะ พระนางปารวตี (หรือพระอุมา) พระพิฆเนศ และโคนนทิ

          วันหนึ่ง ขณะที่ฤๅษีชมทัคคี เข้าป่าหาผลไม้ นางเรณุกาเดินไปเพื่ออาบน้ำที่ลำธารตามปกติ นางเรณุกาก็ได้ยินเสียงดังแว่วมาจากลำธาร นางเรณุกาจึงแอบดูอยู่หลังพุ่มไม้ ซึ่งนั่นคือเสียงของพระราชาจิตรสแห่งเมืองมฤติกาวดีกับพระมเหสีกำลังพลอดรักกันอยู่ในลำธาร นางเรณุกาจึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนเองนั้นทั้งที่เป็นธิดากษัตริย์แต่กลับต้องทำงานเยี่ยงบ่าวไพร่ และไม่มีเวลาได้อยู่กับฤๅษีชมทัคคี จึงได้กระโดดลงน้ำ เพื่อให้กายเย็นลงแต่ใจนั้นยังร้อนรุ่ม ต่อมานางเรณุกาได้กลับมาที่อาศรม แต่เกิดอาการกระวนกระวายนึกถึงแต่ภาพที่เห็นของพระราชาจิตรสกับพระมเหสี เมื่อฤๅษีชมทัคคีกลับมาจากป่าเห็นนางเรณุกาผิดแปลกไปจากปกติจึงเอ่ยถาม นางเรณุกาจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง จึงทำให้ฤๅษีชมทัคคีโกรธว่า ทำไมนางเรณุกาถึงมีจิตใจลามกชั่วช้าเช่นนี้ และได้สั่งให้บุตรชายคนโตรุวัณวัตสังหารนางเรณุกาเสีย แต่รุวัณวัตไม่สามารถทำได้ ฤๅษีชมทัคคีจึงสั่งบุตรชายคนที่สองไปจนถึงคนที่สี่ แต่ก็ไม่มีใครสามารถทำได้ ฤๅษีจึงโกรธมากและสาปให้คนหนึ่งเป็นคนโง่ คนหนึ่งเป็นคนบ้า คนหนึ่งเป็นคนเสียสติ คนหนึ่งเป็นคนวิกลจริต ในขณะนั้นปรศุรามกลับมาที่อาศรมพอดี.

          ฤๅษีชมทัคคี จึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังและสั่งให้ปรศุรามสังหารมารดาเสีย ปรศุรามไม่อยากสังหารมารดา แต่ก็ไม่อยากขัดคำสั่งบิดา และไม่อยากเป็นเช่นพี่ชายทั้งสี่คน จึงก้มลงกราบลงที่เท้าของนางเรณุกา และนำขวานเพชรฟันพระศอของนางขาดกระเด็น เมื่อสังหารนางเรณุกาแล้ว ฤๅษีชมทัคคีได้ชื่นชมปรศุราม และได้ให้พรสามประการ ปรศุรามจึงขอพรดังนี้ หนึ่ง ขอให้นางเรณุกาฟื้น สอง ขอให้พี่ชายทั้งสี่กลับมาเป็นคนปกติ สาม ขอให้ตนเองมีฤทธิ์เดช อายุยืน มีเกียรติแบบพราหมณ์ ซึ่งฤๅษีชมทัคคีก็ประทานพรให้ และทั้งหมดก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข.

           กล่าวฝ่ายนครมหิษบดีปุระ (
माहिष्मती - Māhiṣmatī - มาหิษมตี - เมืองโบราณอยู่ฝั่งแม่น้ำนรรมทา - नर्मदा - Narmadā) มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งมีชื่อว่า อรชุน ซึ่งเป็นพระโอรสของท้าวปิตวีระ ท้าวอรชุนนั้นมีฉายาว่า "การตวีรย" (ท้าวการตวีรยะ อรชุน (कार्तवीर्य अर्जुन - Kārtavīrya Arjuna) ท้าวอรชุนนั้นได้ร่ำเรียนกับพระฤๅษีทัตตาเตรยะ ซึ่งเป็นอวตารรวมร่างของพระนารายณ์ พระศิวะและพระพรหม ท้าวอรชุนเป็นที่โปรดปรานของพระฤๅษีทัตตาเตรยะ จึงประทานพร ขออะไรก็จะให้ ท้าวอรชุนจึงขอพรเจ็ดประการดังนี้:
  1. ขอให้ตนนั้น มีมือที่ทรงอานุภาพมีอิทธิปาฏิหารย์จำนวน 1,000 มือ.
  2. ขอให้มีราชรถทองคำที่สามารถเหาะไปไหนได้ดั่งใจปรารถนา.
  3. ขอให้มีอำนาจในการปราบศัตรูผู้อยุติธรรม ด้วยยุติธรรมได้.
  4. ขอให้ตนนั้นมีชัยชนะเลื่องลือไปทั้งสามโลก โดยเป็นใหญ่เพียงแต่ผู้เดียว.
  5. ขอให้ตนนั้นมีจิตที่รู้จักผิดชอบ เพื่อประกอบกิจของวรรณะกษัตริย์ได้อย่างสมบูรณ์.
  6. ขอให้ตนนั้นมีฤทธานุภาพมากมาย จนชนะศัตรูทั้งปวงได้โดยมิรู้พ่าย.
  7. เมื่อยามตนนั้นถึงคราวต้องตาย ก็ขอให้ตายด้วยฝีมือของผู้ที่มีเกียรติมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั้งสามโลกเท่านั้น.
          ซึ่งพระฤๅษีก็ประทานพรให้ตามนั้น
          ท้าวอรชุนปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุข นครมหิษบดีปุระในยุคสมัยของอรชุนนั้นอยู่ยืนยาวถึงแปดพันห้าร้อยปี และเมื่อมีสงครามก็ชนะทุกครั้งไป จนไปเข้าหูของเจ้าชายแห่งกรุงลงกานามว่า "ราวณะ" หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามว่า "ทศกัณฐ์" ซึ่งก็ได้พรจากพระพรหมมาเช่นกัน จึงคิดอยากไปลองฤทธิ์กันดูสักตั้งว่าใครจะเหนือกว่าใคร จึงจัดทัพจากกรุงลงกาไปท้ารบถึงนครมหิษบดีปุระ แต่ท้าวอรชุนไม่อยู่ในเมือง ราวณะ จึงยกทัพตามไป จนใกล้จะถึงจุดหมายราวณะ จึงจัดการทำพิธีกองไฟบูชาพระศิวะ เพื่อให้ได้ชัยชนะในการรบ ขณะที่ท้าวอรชุนซึ่งไม่รู้ว่าราวณะได้ยกทัพมา จึงชวนนางสนมกำนัลไปเล่นน้ำในแม่น้ำ และหยอกล้อกัน โดยการนำมือหนึ่งพันมือมาทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้ไหล น้ำที่ถูกกั้นจึงเอ่อล้นสู่ผืนดิน และไปพัดทำลายสิ่งของที่ราวณะทำพิธีไปจนหมด ราวณะจึงโกรธมากและยกทัพไปจัดการทัพของท้าวอรชุน ซึ่งไม่ได้จัดเตรียมการรบมาก่อน จึงทำให้แพ้ถอยรนไปจนถึงลำธารที่ท้าวอรชุนเล่นน้ำอยู่ เมื่อทราบเรื่องท้าวอรชุนจึงจับกระบองขึ้นไล่ฟาดฟันกองทัพของราวณะไป จนถึงราชรถของราวณะจึงตรัสว่า มารบกันตัวต่อตัวจะเป็นการดีเสียกว่าการรบที่ทำให้เสียไพร่พลไปโดยเปล่าประโยชน์ ราวณะจึงรับคำท้า ท้ายที่สุดฝ่ายราวณะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ท้าวอรชุนจึงจับราวณะมัดขาไว้กับรถ แล้วขับรถลากประจานไปทั่วเมือง และนำไปผูกกับเสาประจาน สร้างความอับอายให้กับราวณะเป็นอย่างมาก ร้อนไปถึงพระฤๅษีนารทมุนี ๅษีนารทมุนีจึงไปหาฤๅษีเปาสัตยะให้ช่วยไปขอโทษท้าวอรชุน จนท้าวอรชุนอ่อนใจให้เสนาอำมาตย์ไปปล่อยตัวราวณะ และให้นำตัวมาพบ ราวณะเมื่อได้เจอท้าวอรชุน จึงก้มลงกราบด้วยความอายและรู้สึกเป็นพระคุณที่ได้รับการให้อภัย ท้าวอรชุนให้อภัยราวณะและตกลงที่จะสาบานเป็นพี่น้องกันต่อหน้าฤๅษีเปาสัตยะ ท้าวอรชุนเมื่อปราบราวณะได้ ทุกคนก็ต่างนับถือให้ความเคารพมากขึ้น เมื่อมีเรื่องอะไรกันก็จะให้ท้าวอรชุนตัดสิน บรรดาวรรณะกษัตริย์ก็ยอมอยู่ใต้พระบารมีของท้าวอรชุน เวลาที่วรรณะกษัตริย์มีเหตุกับวรรณะพราหมณ์ ก็ให้ท้าวอรชุนช่วย ซึ่งท้าวอรชุนก็จัดการกับพราหมณ์ฤๅษี จนพราหมณ์พ่ายแพ้ไปเสียทุกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่พราหมณ์ที่ดีมีคุณธรรม บรรดาพราหมณ์จึงรวมตัวกัน ไปเข้าเฝ้าพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงอวตารลงมาเป็นปรศุราม.
 
ราวณะ ( रावण Rāvaṇa) หรือ ราพณ์ หรือ ราวัน หรือ ทศกัณฐ์

          ครั้งหนึ่งท้าวอรชุน ได้ไปมีเรื่องกับฤๅษี "วสฤษ" จึงยกทัพไปล้อมอาศรม แต่เนื่องจากฤๅษีวสฤษนั้น มีโควิเศษชื่อ "โคสุรพี" ซึ่งได้มาจากการกวนเกษียรสมุทร (อ้างถึงนารายณ์อรตารปางที่ 2) ฤๅษีวสฤษจึงให้ โคสุรพี เนรมิตกองทัพมาสู้รบ จนท้าวอรชุนพ่ายแพ้ไป ท้าวอรชุนเมื่อประสบกับความปราชัย ก็หลบไปออกป่าล่าสัตว์ไปเรื่อย ๆ จนได้พบอาศรมของฤๅษีชมทัคคี ซึ่งในขณะนั้น นางเรณุกาอยู่แต่เพียงลำพัง ซึ่งนางก็ไปเชื้อเชิญต้อนรับอาคันตุกะท้าวอรชุนเป็นอย่างดี และได้เรียกโควิเศษซึ่งมีลักษณะเป็นเช่นดั่ง โคสุรพี เช่นเดียวกับโคของฤๅษีวสฤษ และนางก็ให้โคสุรพีเสกน้ำอาหารมาถวายท้าวอรชุนและผู้ติดตาม ท้าวอรชุนเมื่อเห็นโคสุรพี จึงเกิดความโลภและได้เอ่ยปากขอ แต่นางเรณุกาก็ปฏิเสธ เพราะถ้าไม่มีโค ก็จะไม่มีอาหารทาน แต่ท้าวอรชุนนั้น มีสมบัติพัสถานมากมายอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องการโคสุรพี ท้าวอรชุนจึงเอ่ยปากขอลูกโคแทน แต่นางเรณุกาไม่อยากให้พรากลูกโคออกจากแม่โคจึงปฏิเสธไปอีกครั้ง.

        ท้าวอรชุนแสดงอาการเกรี้ยวกราด ด้วยการตัดต้นไม้รอบ ๆ อาศรมทิ้งและจับลูกโคสุรพีไป แล้วตรัสว่าใครมาขัดขวางจะลงโทษ จากนั้นก็กลับเข้าเมืองพร้อมผู้ติดตาม เมื่อฤๅษีชมทัคคีกลับมาที่อาศรมเห็นต้นไม้ถูกตัดทิ้งไว้เกลื่อนกลาด จึงถามนางเรณุกา ซึ่งนางก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ทราบและบอกให้แก้แค้น แต่ฤๅษีกลับไม่เอาเรื่องและพูดปลอบนางเรณุกา ๆ จึงไปบอกปรศุรามให้แก้แค้น เมื่อปรศุรามได้ฟังก็โกรธแค้นมาก จึงนำขวานเพชรและธนูคู่มือติดตัวไป ติดตามจนไปเจอท้าวอรชุนและได้กล่าวต่อว่า ท้าสู้กันตัวต่อตัว ท้าวอรชุนนั้นตอบตกลงโดยไม่กลัวเกรง ปรศุรามยิงศรไปดอกหนึ่ง ทำให้แขนพันแขนของท้าวอรชุนเหลือสองแขน แล้วปรศุรามก็ใช้ขวานเพชรซึ่งไม่มีอำนาจใดมาหักล้างได้ เพราะพระศิวะได้ประทานให้ ตัดพระศอท้าวอรชุนขาดกระเด็น จนท้าวอรชุนสวรรคต.

        ปรศุรามได้กลับอาศรม และเล่าเรื่องให้ฤๅษีชมทัคคีทราบ ซึ่งฤๅษีผู้เป็นบิดาของปรศุรามกลับรู้สึกไม่ค่อยดี และได้กล่าวสั่งสอนว่าเวรย่อมระวับด้วยการไม่จองเวร ไปก่อเวรเช่นนี้ไม่ดีเลย แต่ปรศุรามกลับตอบกลับว่า ใครที่มาก่อเวรจะให้ลองรสขวาน เมื่อท้าวอรชุนสวรรคต บรรดาโอรสของท้าวอรชุนต่างโกรธแค้นเป็นอันมากและได้ยกทัพไปที่อาศรมของฤๅษีชมทัคคี ฤๅษีก็ได้ออกมาต้อนรับ อริชาโอรสองค์โตของท้าวอรชุนจึงเอ่ยถามว่า ลูกของเจ้านี่ชื่อรามฤทธิรุทรใช่หรือไม่ ฤๅษีชมทัคคีจึงตอบว่าใช่ อริชาจึงเอ่ยต่อว่า ลูกของเจ้าไปฆ่าบิดาของข้า เพราะฉะนั้นข้าก็จะฆ่าพ่อของรามฤทธิรุทรให้ตายเป็นการแก้แค้น เมื่อฤๅษีชมทัคคีได้ฟัง ก็ร้องขอชีวิต แต่ก็หาเป็นผลไม่ อริชาได้สังหารฤๅษีชมทัคคีและทิ้งศพไว้หน้าอาศรมนั้น.

        เมื่อปรศุรามกลับมาที่อาศรม ก็เห็นศพของบิดา จึงร้องไห้เสียใจแล้วตัดพ้อว่า ฤๅษีผู้เป็นพ่อนี้ทำแต่ความดี ทำไมถึงมาเสียชีวิต เพราะคนพาลสันดานหยาบแบบนี้ และได้สาบานว่าจะฆ่าเผ่าพันธุ์กษัตริย์ทั้งหมด หลังจากนั้นปรศุรามก็สังหารวงศ์ของท้าวอรชุนจนสิ้นและสังหารกษัตริย์รวมไปถึงพระโอรส ยกเว้นพระธิดา มเหสีของเมืองทุกเมือง จนสิ้นครบอายุคือยี่สิบเอ็ดพรรษา ซึ่งหมายความว่าปรศุรามได้สังหารวงศ์กษัตริย์ไปถึงยี่สิบเอ็ดครั้ง.

        เมื่อแก้แค้นสำเร็จ ปรศุรามจึงไปบำเพ็ญตบะไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลก บรรดาธิดา มเหสีเห็นว่าไม่มีเมืองไหนที่มีกษัตริย์ครองเมือง ด้วยกลัวว่าจะสิ้นราชวงศ์วรรณะกษัตริย์ จึงไปขอร้องบรรดาพราหมณ์ให้ช่วยทำพิธีนิโยค3 เพื่อมิให้วรรณะกษัตริย์สูญสิ้น บรรดาพราหมณ์เห็นว่าแผ่นดินควรมีทั้งวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูตร จึงได้ทำพิธีนิโยคขึ้น วรรณะพราหมณ์จึงเป็นผู้ให้กำเนิดวรรณะกษัตริย์ขึ้นอีก.

         ครั้งหนึ่ง หลังจากที่ปรศุรามละจากทางโลกแล้ว ได้ไปเข้าเฝ้าพระศิวะ แต่พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระศิวะ ไม่ให้เข้าเป้า ปรศุรามจึงโกรธ ขว้างขวานเพชรใส่พระพิฆเนศ ๆ จึงใช้งาข้างหนึ่งรับ และเป็นเหตุให้เสียงาไป.



แหล่งอ้างอิง:
01.   จาก. web.facebook.com/AsianStudiesTH/photos/pb... ,วันที่สืบค้น 25 พฤศจิกายน 2558.
02.   จาก. http://aris.exteen.com/20070628/entry, วันที่สืบค้น 30 พฤศจิกายน 2558.
03.   พิธีนิโยค หมายถึง การรับภรรยาของญาติที่เป็นหม้ายมาเป็นภรรยา เพื่อสืบเชื้อสายของวงศ์ตระกูลต่อไป.
04.   "เรื่องนารายณ์สิบปาง ปางที่เรียกว่า "ปรศุรามาวตาร" ซึ่งพระนารายณ์อวตารลงมาเป็น พราหมณ์ถือขวานปราบกลียุค นักประวัติศาสตร์และวรรณคดีวิเคราะห์กันว่าเป็นเรื่องนิยายที่สะท้อนภาพความจริงของสังคม ที่พราหมณ์ปราบปรามพวกกษัตริย์ ซึ่งเริ่มทำการต่อสู้กับอิทธิพลพราหมณ์นี้เอง ชื่อ "ปรศุราม" นั้น ปรศุ แปลว่าขวาน พราหมณ์ถือขวานผู้นี้ในเมืองไทยเอามาเรียกว่า "รามสูร" กลายเป็นยักษ์ไปเสีย", ที่มา: ตำนานแห่งนครวัด, จิตร ภูมิศักดิ์, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5, สำนักพิมพ์อมรินทร์, หน้าที่ 55-56.
info@huexonline.com