MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 7: สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 7: สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3

อยุธยา

(สร้อย) กรุงศรีอยุธยา                              ราชธานีไทย
ถึงเคยแตกแหลกไป                                ก็ไม่สิ้นคนดี
เราจะรบศัตรู                                          ต่อสู้ไพรี
เราจะกู้เกียรติศรี-                                    อยุธยาไว้เอยฯ


            อยุธยารุ่งเรืองกระเดื่องนาม           เมืองงามธรรมชาติช่วยสนอง
บริบูรณ์ลุ่มน้ำและลำคลอง                        ท้าวอู่ทองทรงสร้างให้ชาวไทย

            (สร้อย) ร้องสองครั้ง

            ครั้งโบราณแพ้พม่าเป็นข้าเขา          พระนเรศวรเจ้าทรงกู้ได้
ไล่ศัตรูไปพ้นแผ่นดินไทย                           ศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี
            (สร้อย) ร้องสองครั้ง

            ชาวศรีอยุธยามาด้วยกัน                  เลือดไทยใจมั่นไม่พรั่นหนี
ชีวิตเราขอน้อมยอมพลี                               ไว้เกียรติศรีอยุธยาคู่ฟ้าดินฯ

            (สร้อย) ร้องสองครั้ง

หมายเหตุ: เป็นเพลงประกอบในละครเรื่อง พระเจ้ากรุงธน เพลงนี้กรมศิลปากรตั้งใจใช้เป็นเพลงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงวิจิตรวาทการได้แต่งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2480.
10. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 301
First revision: May 19, 2016
Last change: Dec.22, 2019
 
 
          สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (ครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ. 2031 - พ.ศ. 2034) พระนามเดิม พระบรมราชา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.2031 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานหลายอย่างที่สนับสนุนว่าพระองค์อาจเป็นพระองค์เดียวกับพระอินทราชา พระโอรสอีกพระองค์ของพระบรมไตรโลกนาถ.
 
  • พระประวัติ
            พระบรมราชาธิราชที่ 3 มีพระนามเดิมว่า พระบรมราชา เป็นพระโอรสในพระบรมไตรโลกนาถ พระเชษฐาคือ พระอินทราชา02 มีพระอนุชาต่างมารดา คือ พระเชษฐาธิราช (ต่อมาคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2)
            ในรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนาถนั้น เป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับอาณาจักรล้านนาหลายครั้ง พระองค์จึงตัดสินใจเสด็จไปครองสมบัติที่เมืองพิษณุโลก เพื่อที่จะป้องกันหัวเมืองเหนือจากล้านนา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2006 ดังนั้นเมืองพิษณุโลก จึงกลายเป็นเมืองราชธานีในสมัยนั้น ส่วนทางกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้สถาปนาให้พระบรมราชาขึ้นครองราชย์ มีพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว จึงมีพระมหากษัตริย์พร้อมกันสองพระองค์ นอกจากนั้น พระบรมไตรโลกนาถได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระเชษฐาธิราช เป็นพระมหาอุปราชด้วย.
            เมื่อพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตในปี พ.ศ.2031 พระบรมราชาธิราชที่ 3 ซึ่งครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ได้ย้ายราชธานีกลับมาที่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเมืองพิษณุโลกนั้น พระเชษฐาธิราช พระอนุชาได้ปกครองอยู่ในฐานะพระมหาอุปราช.
            พระบรมราชาธิราชที่ 3 สวรรคต เมื่อ พ.ศ.2034 ครองราชย์รวม 3 ปี พระเชษฐาธิราช พระอนุชาได้ครองราชย์ต่อ มีพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2.

 
  • พระกรณียกิจ
            ด้านการปกครอง
                พระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงดูแลกรุงศรีอยุธยาแทนพระบิดา เป็นเวลา 25 ปี ก่อนจะขึ้นครองราชย์.

            ด้านการสงคราม
                เสด็จไปตีเมืองทวาย ซึ่งตั้งแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาและทรงได้รับชัยชนะ.

            ด้านวรรณกรรม
                นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า พระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงเป็นผู้นิพนธ์ กำสรวลสมุทร (นิยมเรียกกันว่า กำสรวลศรีปราชญ์) ก่อนขึ้นครองราชย์ เนื่องในการเสด็จทางชลมารค ล่องลำน้ำเจ้าพระยา จากกรุงศรีอยุธยาไปยังหัวเมืองชายทะเลแถวปากแม่น้ำ พระราชนิพนธ์นี้ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา.

 
  • เหตุการณ์สำคัญ
             พ.ศ. 2026 - เสด็จไปวังช้าง ตำบลไทรย้อย
             พ.ศ. 2027 - พระเชษฐาธิราช และพระโอรสของพระบรมราชาธิราชที่ 3 ได้ผนวชทั้งสองพระองค์
             พ.ศ. 2028 - พระเชษฐาธิราชลาผนวช พระบรมไตรโลกนาถ สถาปนาพระเชษฐาธิราชเป็นพระมหาอุปราช
             พ.ศ. 2029 - เสด็จไปวังช้าง ตำบลสัมฤทธิบูรณ์
             พ.ศ. 2031 - เสด็จยกทัพไปตีเมืองทวาย และได้กวาดต้อนผู้มาเป็นจำนวนมาก
             พ.ศ. 2033 - มีการก่อกำแพงเมืองพิชัย03 เป็นครั้งแรก




ที่มา คำศัพทฺ์และคำอธิบาย:
01.  จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่_3, วันที่สืบค้น 19 พฤษภาคม 2559.
02.  อีกหลักฐานหนึ่งกล่าวว่า พระเชษฐาคือ พระอินทราชา. มีข้อแตกต่างกันในพระราชพงศาวดารฉบับต่าง ๆ เช่น
  • พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวว่า พระอินทราชาต้องปืนที่หน้า และมิได้กล่าวถึงพระองค์นับแต่นั้นมา แต่ปรากฎพระนาม "พระบรมราชา"  เป็นโอรสในพระบรมไตรโลกนาถ ได้ครองกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 3)" และ "พระเชษฐา" โอรสอีกองค์หนึ่งในพระบรมไตรโลกนาถ ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระพระบรมราชาธิราชที่ 3 มีพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2.
  • อธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า "พระอินทราชา ปรากฎพระนามเมื่อไปรบศึกเชียงใหม่ ต้องปืนที่พระพักตร์ครั้งรบกับหมื่นนคร เห็นจะสิ้นพระชนม์ในคราวนั้น ด้วยไม่ปรากฎพระนามต่อมาอีก" ซึ่งสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์.
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า สมเด็จพระอินทราชาเจ้าต้องปืน ณ พระพักตร์ แต่ยังทรงพระชนม์และขึ้นครองราชย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระนามว่า สมเด็จพระอินทราชา (ที่ 2) โดยไม่ปรากฎพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 3) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด ส่วน "พระบรมราชา" นั้เป็นโอรสในพระอินทราชา เสด็จครองราชย์ต่อจากพระบิดา มีพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2" โดยไม่มีการกล่าวถึง "พระเชษฐา" ดังเช่นในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์.
03.  อำเภอพิชัย หรือ เมืองพิชัย เป็นหนึ่งในจำนวนเก้าอำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์ พิชัยเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เคยเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงสุโขทัย เมืองหน้าด่านในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเคยเป็นตัวจังหวัดเก่าอีกด้วย อำเภอพิชัยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สุดของจังหวัด อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ตามทางรถไฟไปทางทิศใต้ประมาณ 38 กิโลเมตร ตัวเมืองพิชัยเก่าอยู่ทางทิศเหนือของสถานีรถไฟขึ้นไปไม่ไกล.

       เมืองพิชัยในอดีตได้ปรากฎในพงศาวดารเหนือและพงศาวดารหลายตอน สำหรับในพงศาวดารเหนือปรากฎอยู่ในเรื่องพระยาแกรกตอนหนึ่งว่า เจ้าไวยยักษาเป็นผู้ได้สร้างเมืองพิชัย แต่ทว่าเรื่องพระยาพิชัยในพงศาวดารเหนือเป็นตำนานเล่าต่อกันมาเท่านั้น ซึ่งเชื่อกันว่าเหตุการณ์ในเรื่องคงจะตรงกับสมัยสุโขทัยหรือก่อนสุโขทัยก็ได้ ซึ่งในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึง พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893 ปรากฎว่ามีเมืองขึ้นด้วยกันถึง 16 เมือง ในนั้นมี "เมืองพิชัย" รวมอยู่ด้วย แสดงถึงว่าเมืองพิชัยเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาแล้ว.

       ต่อมา พ.ศ.2033 ได้มีการก่อกำแพงขึ้น ซึ่งตรงกับสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 3 ในปี พ.ศ.2127 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ พระองค์ทรงขับไล่กองทัพพม่าทางหัวเมืองเหนือ ปรากฎว่าพระยาสวรรคโลกและพระยาพิชัยแข็งเมือง ไม่ยอมเกณฑ์กำลังไปช่วย พระองค์จึงยกกองทัพเข้าตีเมืองสวรรคโลกและเมืองพิชัย จับพระยาสวรรคโลกและพระยาพิชัย มีรับสั่งให้ประหารชีวิตทั้งสองเสีย แล้วกวาดต้อนผู้คนลงมาเมืองพิษณุโลกจนสิ้น.
info@huexonline.com