MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 6: สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

 
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 6: สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา                              เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา
มหาดิเรกอันเลิศล้น                                    เป็นที่ปรากฎรจนา
สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน                          ทุกบุรีสีมามณฑล
จบสกลลูกค้าวานิช                                     ทุกประเทศสิบสองภาษา
ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคนิษฐ์             ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์
ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์                      ฝ่ายองค์พระบรมราชา
ครองขันธสีมาเป็นสุข                                  ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก
จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี                                 เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า
เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี                           ทุกนิกรนรชนมนตรี
คหบดีพราหมณพฤฒา

ประดุจดั่งศาลาอาศัย                                   ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา                            เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ                            อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันธบันดาล                            แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์                               เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ                                 จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย                               จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์      จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ


คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพท                          อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล                           เกิดนิมิตพิศดารทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก                    อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง                                 ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี                              พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้                                       อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณะทำนายไว้บ่ห่อนผิด                        เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม                           มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น                          มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด                            เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา                            จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปบุรุษจะแพ้แก่ทรชน                                  มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว                                   คนชั่วมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก                                        จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ                                  นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย                                  น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม


ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า                                      เพราะจันฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์                              เพราะสมัครสมาคมซึ่งมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท                     ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องลือชา                                       พระธรรมาจะตกลึกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ                                    จะสาปสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์                                  สัปบุรุษจะอับซึ่งน้ำใจ

ทั้งอายุศม์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี                 ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป                               ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพศ                       เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทน์พรรณไม้อันหอมรส                        จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง                           สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี                               ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี                                     จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล                             จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์                        จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย                                 ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก                             เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ                               นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน


ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย                           จะสาปสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน                      จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว                                จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม                              จะสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข                                  แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์                            นับวันจะเสื่อมสูญเอยฯ

       โปรดดูรายละเอียดใน MORE ที่มาและคำอธิบาย 02.

 
9. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ1
First revision: Feb.26, 2016
Last Change: Dec.22, 2019
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือ สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนาถบพิตร
 
 ราชวงศ์ สุพรรณภูมิ
ครองราชย์ พ.ศ.1991
ระยะเวลาครองราชย์ 40 ปี
รัชกาลก่อน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3
พระราชสมภพ พ.ศ. 1974
สวรรคต พ.ศ. 2031
พระราชชนก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
พระราชชนนี พระราชธิดาในพระมหาธรรมราชาที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัย
พระมเหสี ไม่ปรากฎพระนาม
พระราชบุตร  - พระอินทราชา
 - พระบรมราชา (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3)
 - พระเชษฐา (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2)
 
         สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือ สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนาถบพิตร มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระราเมศวร ทรงพระราชสมภพ พ.ศ.1974 ทรงขึ้นครองราชย์ พ.ศ.1991 เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา สวรรคต เมื่อ พ.ศ.2031.
 
  • พระนาม
            * สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์
            * สมเด็จบรมนาถบพิตรสิทธิสุนทรธรรมเดชาฯ ในกฎหมายลักษณะกบฏศึก
            * สมเด็จพระรามาธิบดี บรมไตรโลกนาถ มหามงกุฎเทพยมนุษย์ฯ ในกฎมณเฑียรบาล
            * สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนายก ดิลกผู้เป็นเจ้าในกฎหมายศักดินา
            * สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีบรมไตรโลกนาถ ในกฎหมายศักดินาหัวเมือง
            * สมเด็จพระราเมศวร พระนามก่อนขึ้นครองราชย์ ซึ่งกำลังครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ในฐานะพระมหาอุปราช
  • พระราชประวัติ
             สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชสมภพที่ทุ่งพระอุทัย หรือในปัจจุบันเรียกว่า ทุ่งหันตรา โดยเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) จะยกกองทัพลงไปตีเมืองพระนครหลวง (นครธม) นั้น ได้รวมพลและตั้งพลับพลาเพื่อประกอบพิธีกรรมตัดไม้ข่มนามที่ทุ่งพระอุทัย ขณะนั้นพระอัครชายาเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลือไท) กษัตริย์แห่งพระราชวงศ์พระร่วง กำลังทรงพระครรภ์อยู่ ได้ออกไปส่งเสด็จ ได้ประสูติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่พลับพลานั้น เมื่อปีกุน จุลศักราช 797 พ.ศ.1974 ซึ่งในยวนพ่ายโคลงดั้น ระบุว่า "แถลงปางพระมาตรไท้ สมภพ ท่านนา แดนด่ำบลพระอุทัย ทุ่งกว้าง".

             ทรงเจริญพระชันษาที่เมืองพิษณุโลก พระองค์ทรงครองราชย์ 40 ปีเป็นเวลานานที่สุดในบรรดากษัตริย์ของราชวงศ์สุพรรณภูมิ แห่งอาณากรุงศรีอยุธยา โดยเป็นพระราชโอรสในเจ้าสามพระยา และยังเป็นหลาน (นัดดา) ของพระอินทราชา มีพระมารดาเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง พระนามมีความหมายถึง "พระพุทธเจ้า" หรือ "พระอิศวร" มีผู้ที่เข้าใจว่าคงเป็นพระสหายมาตั้งแต่วัยเยาว์ชื่อ "ยุทธิษฐิระ" ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็นผู้ชักนำศึกเข้ามา หลังการขึ้นครองราชย์แล้ว ก็เสด็จมาประทับที่อยุธยาในช่วงแรกของการครองราชย์ อีกครั้งหนึ่งเสด็จมาประทับที่พิษณุโลก เชื่อว่าคงเป็นไปเพื่อการควบคุมดูแลหัวเมืองทางด้านเหนือ และคานอำนาจของอาณาจักรทางเหนือ คือ อาณาจักรล้านนา ซึ่งกำลังมีความเข้มแข็งและต้องการแผ่อำนาจลงมาทางใต้ ในยุคของพระเจ้าติโลกราช.

             พระบรมไตรโลกนาถสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2031 เมื่อพระชนมายุ 57 พรรษา ทรงครองราชย์ได้ 40 ปี ยาวนานที่สุดของอาณาจักรอยุธยา และเป็นลำดับ 3 ของกษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระองค์ประทับที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 20 ปี ที่เหลือได้ประทับที่เมืองพิษณุโลกตลอดรัชกาล.

 
  • พระราชกรณียกิจ
          1. ด้านการปกครอง   
              พระราชกรณียกิจด้านการปกครองประกอบด้วยการจัดระเบียบการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อันเป็นแบบแผนซึ่งยึดสืบต่อกันมาจนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์ และการตราพระราชกำหนดศักดินา ซึ่งทำให้มีการแบ่งแยกสิทธิและหน้าที่ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป โดยทรงดำริว่ารูปแบบการปกครองนับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีความหละหลวม หัวเมืองต่าง ๆ เบียดบังภาษีอากร และปัญหาการแข็งเมืองในบางช่วงที่กษัตริย์อ่อนแอ.

              พระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครองโดยมีการแบ่งงานฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนออกจากกันอย่างชัดเจน ให้สมุหพระกลาโหมดูแลฝ่ายทหารและให้สมุหนายกดูแลฝ่ายพลเรือน รวมทั้งจตุสดมภ์ในราชธานี.

              พระบรมไตรโลกนาถ ได้แบ่งงานทางการปกครองออกเป็น "ฝ่ายพลเรือน" และ "ฝ่ายทหาร" อย่างชัดเจน โดยมี "เจ้าพระยามหาเสนาบดี" ดำรงตำแหน่ง สมุหพระกลาโหม มีหน้าที่ดูแลกิจการทหารทั่วอาณาจักร และ "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์" ดำรงตำแหน่ง สมุหนายก รับผิดชอบงานพลเรือนทั่วอาณาจักร พร้อมกับดูแลหน่วยงานจตุสดมภ์ จากเดิมที่พื้นฐานการปกครอง นับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย ยังไม่ได้แยกฝ่ายพลเรือนกับทหารออกจากกันชัดเจน ทั้งนี้ในยามสงคราม ไพร่ทุกคนจะต้องรับราชการทหารอันเป็นหน้าที่หลัก อันเป็นลักษณะรูปแบบการปกครองของอาณาจักรขนาดเล็กที่ขาดการประสานงานระหว่างเมือง.

             การปกครองในส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกระบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ แต่เดิมที่แบ่งออกเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง แล้วระบบการปกครองหัวเมืองเสียใหม่ ดังนี้
  • หัวเมืองชั้นใน เช่น เมืองราชบุรี นครสวรรค์ นครนายก เมืองฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นต้น จัดเป็นเมืองจัตวา กษัตริย์ได้แต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมไปปกครอง แต่สิทธิอำนาจทั้งหมด ยังขึ้นอยู่กับกษัตริย์
  • หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร มีการกำหนดเป็นเมืองเอก โท หรือตรี ตามลำดับความสำคัญ เมืองใหญ่อาจจะมีเมืองเล็กขึ้นอยู่ด้วย กษัตริย์ได้แต่งตั้งเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไปปกครอง มีการจัดการปกครองเหมือนกับราชธานี คือ มีกรมการตำแหน่งพลและกรมการตำแหน่งมหาดไทย และพนักงานเวียง วัง คลัง นา เช่น เมืองพิษณุโลก สุโขทัย นครราชสีมา และทวาย จัดเป็นเมือง เอก โท ตรี กษัตริย์ได้แต่งตั้งราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปเป็นเจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาเป็นสิทธิขาด เป็นผู้แทนองค์กษัตริย์ มีกรมการปกครองในตำแหน่ง เวียง วัง คลัง นา เช่นเดียวกับของทางราชธานี
  • เมืองประเทศราช คงให้เจ้าเมืองปกครองกันเอง เพียงแต่ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด และเกณฑ์ผู้คนและทรัพย์สินเพื่อช่วยราชการสงคราม สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล ตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้า แขวง มีหมื่นแขวงเป็นหัวหน้า กษัตริย์ยังได้แบ่งการปกครองในภูมิภาค ออกเป็นหมู่บ้าน ตำบล แขวง และเวียง.
  • ตราพระราชกำหนดศักดินา
          สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ตราพระราชกำหนดศักดินาขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ของสังคม ทำให้มีการแบ่งประชากรออกเป็นหลายชนชั้น เช่นเดียวกับหน้าที่และสิทธิของแต่ละบุคคล ศักดินาเป็นความพยายามจัดระเบียบการปกครองให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น อันเป็นหลักที่เรียกว่า การรวบเข้าสู่ศูนย์กลาง ทั้งนี้ถึงแม้ว่าศักดินาจะเป็นการกำหนดสิทธิในการถือครองที่ดิน แต่ในทางปฏิบัติแล้วหมายถึงจำนวนไพร่พลที่สามารถครอบครอง เกณฑ์การปรับไหม และลำดับการเข้าเฝ้าแทน

ศักดินาของคนในสังคมอยุธยา

 
ฐานะ/ยศ/ตำแหน่ง ศักดินา (ไร่)
เจ้านาย 15,000 - 100,000
ขุนนาง 400 - 10,000
มหาดเล็ก, ข้าราชการ 25 - 400
ไพร่ 10 - 25
ทาส 5

         มีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการให้มีบรรดาศักดิ์ตามลำดับจากต่ำสุดไปสูงสุดคือ ทนาย พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา มีการกำหนดศักดินา เพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับราชการ และได้อาศัยใช้เป็นเกณฑ์กำหนดการมีที่นาและการปรับไหมตามกฎหมาย.
  • กฎมณเฑียรบาล
           ในปี พ.ศ.2001 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ตั้งกฎมณเฑียรบาล ขึ้นเป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง แบ่งออกเป็นสามแผน คือ
  1. พระตำราว่าด้วยแบบแผนพระราชพิธีต่าง ๆ
  2. พระธรรมนูญว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการต่าง ๆ
  3. พระราชกำหนดเป็นข้อบังคับสำหรับพระราชสำนัก
  • ด้านวรรณกรรม
           ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง นับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่องแรกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นวรรณคดีชั้นเยี่ยมที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาภาษา และวรรณคดีของไทย นอกจากนี้ยังมีลิลิตพระลอ ซึ่งเป็นยอดวรรณคดีประเภทลิลิตของไทย.
  • พระราชตระกูล





ที่มา คำศัพท์และคำอธิบาย:
01.   จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ, วันที่สืบค้น 29 มีนาคม 2559.
02.   กรมพระยาดำรงฯ  ได้วิจารณ์เพลงยาวกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า "พิจารณาเนื้อความตามที่กล่าวในเพลงยาวบทนี้ มีคำพยากรณ์มาแต่ก่อนว่า กรุงศรีอยุธยาจะสมบูรณ์พูลสุขเป็นอย่างเลิศล้นจนศักราชได้ 2,000 ปี พ้นนั้นไปจะเกิด "เข็ญเป็นมหัศจรรย์ 16 ประการ" เหตุด้วยพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทศพิธราชธรรม" บ้านเมืองมีเภทภัยต่าง ๆ ที่สุดถึงฆ่าฟันกันตาย จนกรุงศรีอยุธยาสูญไปตลอดอายุพระพุทธศาสนา 5,000 ปี ว่ามีคำพยากรณ์อยู่แล้วดังกล่าวมานี้ มาในสมัยหนึ่งเมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่นั้น ผู้แต่งเพลงยาวบทนี้ สังเกตเห็นเกิดวิปริตต่าง ๆ ตาม "ในลักษณะทำนายไปบ่อห่อนผิด เมื่อวินิจพิศดูก็เห็นสม" เกรงว่าจะเข้ายุคเข็ญตามคำพยากรณ์จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ ด้วยความอาลัยกรุงศรีอยุธยาลงท้ายว่า

          "กรุงศรีอยุธยา                        แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
           จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์       นับวันแต่จะเสื่อมสูญเอย
"

          ตามความในเพลงยาวนี้ พึงเห็นได้ว่าผู้แต่งเพลงยาวบทนี้ เป็นแต่อ้างตามคำพยากรณ์ที่มีอยู่แล้ว หาได้เป็นผู้พยากรณ์ไม่ จึงเกิดปัญหาเป็นข้อต้นว่า ใครเป็นผู้พยากรณ์ วิสัชนาข้อนี้มีเค้าเงื่อนอยู่ในหนังสือเก่าเรียกว่า "มหาสุบินชาดก" (ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์ไว้ในหนังสือนิบาตชาดก เล่ม 2 หน้า 172) เนื้อความในชาดกนั้นว่า คืนหนึ่งพระเจ้าปะเสนทิ ซึ่งครองประเทศโกศลอยู่เมืองสาวัตถี เป็นราชธานี ทรงพระสุบินนิมิตอย่างแปลกประหลาด 16 ข้อ (จำนวนตรงกันกับในเพลงยาว) เกิดหวาดหวั่นพระราชหฤทัย ตรัสให้พวกพราหมณ์พยากรณ์ พวกพราหมณ์ว่าพระสุบินนั้นร้ายนัก เป็นนิมิตที่จะเกิดภัยอันตรายใหญ่หลวง พราหมณ์ได้ทูลแนะนำให้ทำพิธีบูชายัญป้องกันภยันตราย.

          แต่นางมัลลิกามเหสีเห็นว่าพิธีบูชายัญนั้น ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจะกลัวเป็นบาปกรรม ทูลขอให้พระเจ้าปะเสนทิไปทูลถามพระพุทธเจ้าให้ทรงพยากรณ์เสียก่อน เมื่อพระเจ้าปะเสนทิไปทูลถามพระพุทธองค์ ๆ ตรัสตอบว่าพระสุบิน 16 ข้อนั้น สังหรณ์เหตุร้ายจริง แต่เหตุร้ายเหล่านั้น จะยังไม่เกิดในรัชกาลของพระเจ้าปะเสนทิและในพุทธกาล จะเกิดต่อเบื้องหน้าเมื่อกษัตริย์ไม่อยู่ในราชธรรมและมนุษย์ทั้งหลายทิ้งกุศลสุจริตจึงจะถึงยุคเข็ญ นิมิตร้ายในพระสุบินหามีภัยอันตรายแก่พระองค์อย่างไรไม่ พระเจ้าปะเสนทิได้ทรงฟังพระพุทธฎีกาก็สิ้นพระวิตก ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์นิมติ 16 ข้อนั้นต่อไป พระพุทธองค์จึงทรงพยากรณ์ทีละข้อ แต่จะคัดพุทธพยากรณ์มาแสดงโดยพิสดารจะยืดยาวนัก จะกล่าวแต่สองข้อ ซึ่งใกล้อย่างยิ่งกับที่กล่าวในเพลงยาวว่า

          "กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย     น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม"

          ในพระสุบินข้อ 12 ว่าพระเจ้าปะเสนทิทอดพระเนตรเห็น "น้ำเต้าเปล่า" (คือที่รวงเอาเยื่อข้างในออก เหลือแต่เปลือกสำหรับใช้ตักน้ำ) อันลอยน้ำเป็นธรรมดากลับจมลงไปอยู่กับพื้นที่ข้างใต้น้ำ ข้อนี้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า เมื่อถึงยุคเข็ญนั้น พระมหากษัตริย์จะชุบเลี้ยงคนแต่เสเพลเปรียบเหมือนลูกน้ำเต้าเปล่าอันได้แต่ลอยตามสายน้ำ ตั้งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการ เปรียบดังน้ำเต้าเปล่าจมลงไปเป็นภาคพื้นใต้น้ำ.

          ในพระสุบินข้อ 13 ว่า พระเจ้าปะเสนทิได้ทอดพระเนตรเห็นหินก้อนใหญ่สักเท่าเรือน (ในเพลงยาวว่ากระเบื้อง) ลอยขึ้นมาอยู่บนหลังน้ำ พุทธพยากรณ์ข้อนี้ก็อย่างเดียวกับข้อก่อน แต่กลับกันว่าผู้ทรงคุณเป็นหลักฐานมั่นคง เปรียบเหมือนหินดานที่เป็นพื้นของลำน้ำ เมื่อถึงยุคเข็ญจะสิ้นวาสนา ต้องเที่ยวซัดเซเร่ร่อน เปรียบเหมือนกับหินกลับลอยตามกระแสน้ำ.

           นอกจาก 2 ข้อนี้ เหตุร้ายต่าง ๆ ที่ในพุทธพยากรณ์ว่าจะเกิดในยุคเข็ญก็เป็นเค้าเดียวกับที่กล่าวในเพลงยาว เห็นได้ชัดว่าผู้แต่งคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาเอาความในมหาสุบินชาดกมาแต่ง แต่มีผิดกันเป็นข้อสำคัญอยู่ 2 แห่ง แห่งหนึ่งในมหาสุบินชาดก พระพุทธเจ้ามิได้ทรงพยากรณ์ว่ายุคเข็ญนั้นจะเกิดในประเทศใด เป็นแต่ว่าเกิดเพราะพระราชาไม่อยู่ในราชธรรม แต่ในคำพยากรณ์เจาะจงว่าจะเกิด ณ กรุงศรีอยุธยาอีกหนึ่งหนึ่ง ในพระพุทธพยากรณ์มิได้กล่าวว่ายุคเข็ญจะเกิดเมื่อใด เป็นแต่ว่ายังอีกช้านานในภายหน้า แต่ในคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอ้างว่าจะเกิดยุคเข็ญ เมื่อศักราชได้ 2,000 ปี จึงเป็นปัญหาเกิดขึ้นอีกข้อหนึ่งว่า "ศักราชอันใด" ถ้าหมายว่าพุทธศักราชกรุงศรีอยุธยาสร้างเมื่อ พ.ศ.1893 ครบ 2,000 ปีในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยาก็จะสมบูรณ์พูนสุขอยู่เพียง 107 ปี ซึ่งได้เข้าสู่ยุคเข็ญก่อนแต่งเพลงยาวบทนี้กว่าร้อยปี ซึ่งผู้แต่งเพลงยาวเพิ่งหวาดหวั่นว่าจะถึงยุคเข็ญ ก็ส่อแววให้เห็นว่ามิใช่พุทธศักราช หรือจะหมายถึงว่ามหาศักราช ซึ่งตั้งภายหลังพุทธศักราช 621 ปี.

          ถ้าเช่นนั้น เมื่อคำนวณดูใน พ.ศ. 2479 (ปีที่เขียนคำวิจารณ์) นี้ มหาศักราชได้ 1,858 ปี ยังขาดอีก 142 ปี จึงจะครบ 2,000 ปี ก็เข้าสู่ยุคเข็ญตามที่พยากรณ์ หากหมายความว่าจุลศักราช ยังยิ่งช้าออกไปอีกมาก เพราะจุลศักราชตั้งภายหลังพุทธศักราชถึง 1,181 ปี ต่ออีก 702 ปี (พ.ศ.3181) จุลศักราชจึงจะครบ 2,000  ซึ่งศักราช 2,000 นั้น ก็ดูไม่เข้ากับเรื่องที่กล่าวในเพลงยาวเสียทีเดียว ทำให้ชวนสงสัยต่อไปถึงข้อที่อ้างว่ามีคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอยู่แต่ก่อน ที่จริงน่าจะเป็นที่ด้วยคนชอบนำเอาพุทธพยากรณ์ในมหาสุบินชาดก มาเปรียบในเวลาที่เมื่อเห็นว่ามีอะไรวิปริตผิดนิยม เกิดเป็นภาษิตก่อนแล้ว จึงเลยเลือนไปเข้าใจกันว่าเป็นคำพยากรณ์สำหรับพระนครศรีอยุธยา.

          ผู้แต่งเพลงยาวนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือไม่ก็ตาม ก็น่าจะปรารภความวิปริตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยนั้น จึงแต่งเพลงยาวนี้ด้วยความกลุ้มใจ บางทีจะเอาศักราช 2,000 อันตั้งใจว่าจุลศักราชเขียนลงมาเพื่อจะมิให้คนทั้งหลายตกใจว่า ถึงยุคเข็ญแล้วเมื่อเวลาแต่งเพลงยาวนั้น เห็นจะมิใคร่มีใคร ถือว่าสลักสำคัญมาจนเมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา จึงเกิดเห็นสมดังพยากรณ์ เพลงยาวบทนี้ก็เลยศักดิ์สิทธิ์ขึ้น พวกไทยที่ตกไปเมืองพม่าก็เห็นเช่นนั้นจึงเอาไปอ้างอวดพม่าว่า พระเจ้าเสือทรงเล็งเห็นการณ์ในอนาคต ฝ่ายพวกไทยที่อยู่ในสยามประเทศ เมื่อเห็นพระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองร้าง ก็เห็นว่าสมคำพยากรณ์เช่นเดียวกันโดยมาก ที่เรียกเพลงยาวบทนี้ว่า "เพลงยาวพุทธทำนาย" ก็มีจำกันได้แพร่หลายแต่ตคนละเล็กละน้อย ดูเหมือนจำได้โดยมากแต่ตรงว่า "กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม" ครั้นเมื่อถามข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ยังมีตัวอยู่ (เข้าใจว่าเมื่อแรกสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์) ในรัชกาลที่ 1 ถึงแผนที่พระนครศรีอยุธยา มีผู้จำเพลงยาวพยากรณ์นี้ได้ตลอดบท (อย่างกะพร่องกะแพร่ง) จึงให้จดลงไว้ข้างต้น สมุดเรื่องกรุงศรีอยุธยาสันนิษฐานว่า เรื่องตำนานของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาจะเป็นดังกล่าวมา.

          เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นบทกลอนทำนายตามแบบอยา่างมหาสุบินชาดก และนิทาน "พระยาปัถเวน (ปเสนทิโกศล) ทำนายฝัน" อันเก่าแก่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุบินนิมิตร 16 ประการของพระเจ้าปเสนทิโกศล และได้ทูลถามคำพยากรณ์จากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

 

          เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้ นำมาจากหนังสือ "อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา" โดยมหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา อุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกโบราณคดี พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีบวงสรวงอดีตมหาราชเจ้า ที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2469 สันนิษฐานว่าเพลงยาวนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่นักวิชาการยังไม่อาจสรุปแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แม้ในตอนท้ายของบทกลอน ได้บันทึกกำกับไว้ว่า "พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนาย..." หากว่าเป็นจริงตามนั้น "พระนารายณ์" ก็หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วน "นพบุรี" คือเมืองลพบุรี.

          แต่ในหนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระพุทธเจ้าเสือ มีเนื้อความสั้นกว่า และปรากฎความเป็นร้อยแก้ว ซึ่งสันนิษฐานเพิ่มเติมได้อีกว่า อาจถูกแต่งเพื่อใช้ทำลายขวัญ และเป็นเหตุผลทางการเมือง เพราะบทกลอนดังกล่าวมีเนื้อความคล้ายกับร่างของพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือ ที่ทรงประพันธ์ขึ้นมา เพื่อเป็นหนึ่งในปฏิบัติการทางด้านจิตวิทยาทางการเมือง ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งต่อมาผู้นำในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้ใช้ประโยชน์จากบทกลอนดังกล่าวนี้ มาอธิบายเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยา โดยมีเป้าหมายในทางการเมือง.

       (ปรับปรุงและที่มา: http://www.thaipoet.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=538785929&Ntype=2 โดยบรรณาลัย/โชติช่วง นาดอน, วันที่สืบค้น 30 พฤษภาคม 2559.)
info@huexonline.com