MENU
TH EN

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 4: พระเจ้าทองลัน, พระราเมศวร (2) และพระรามราชาธิราช

ภาพการ "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" สมเด็จพระรัฏฐาธิราช ตามจินตนาการของ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล จากภาพยนตร์เรื่อง "สุริโยทัย"
ภาพที่เป็น Title Thumbnail: รัชกาลที่ 5 ประทับบนเสลี่ยงคานหาม ทอดพระเนตรโบราณสถานในวัดพระสรีสรรเพชญ์ ที่มา: พระพุทธเจ้าหลวงกับชาวกรุงเก่า, ใน Facebook ห้อง นครประวัติศาสตร์กรุงสรีอยุธยา, วันที่เข้าถึง 25 สิงหาคม 2562.
 
First revision: Sep.19, 2015
Last change: Dec.22, 2019
อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ตอนที่ 4

ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น การประหารชีวิตเจ้านายขั้นสูง ต้องมีรูปแบบพิเศษแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป โดยกำหนดแบบแผนไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสำเร็จโทษ ซึ่งน่าจะมีขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปีจุลศักราช 722 แล้วมีการปรับปรุงและกำหนดชัดขึ้นไว้ในกฎหมายตราสามดวง หมวดกฎมณเฑียรบาล มาตรา 176.

ผู้พิพากษาโทษ คือ กษัตริย์
ผู้กระทำความผิด คือ เชื้อพระวงศ์ พระมเหสี พระสนม

ลักษณะความผิด กฎมณเฑียรบาลจักกำหนดข้อปฏิบัติ ข้อห้าม และบทลงโทษหนักเบาตามพฤติกรรม หากเป็นบทหนักถึงประหารชีวิต ต้องได้รับคำสั่งจากกษัตริย์ซึ่งทรงพิจารณาว่าจะใช้โทษนั้นหรือไม่ กับใคร และเมื่อไร ชุดประหารชีวิต จะประกอบด้วย หนึ่ง) นายแวง ผู้คุมกำกับดูแลนักโทษสู่แดนประหาร ระวังภัยมิให้มีการชิงนักโทษ, สอง) ขุนผู้ใหญ่ ตัวแทนกษัตริย์ในการเป็นประธานพิธีสำเร็จโทษ, และ สาม) หมื่นทลวงฟัน เพชฌฆาต มีสองคนในการประหารแต่ละครั้ง

สำหรับแดนประหารในสมัยอยุธยานั้นคือ วัดโคกพระยา (บ้างก็เรียก โคกพญา) ปัจจุบันน่าจะเป็นพื้นที่รวมของกลุ่มโบราณสถานคลองสระบัว จังหวัดอยุธยา อันได้แก่ วัดหน้าพระเมรุ วัดหัสดาวาส วัดตะไกร โดยมี  วัดหน้าพระเมรุหรือวัดพระเมรุโคกพระยา (พญา) เป็นหลัก***

ลักษณะท่อนจันทน์ ไม้ค้อนขนาดใหญ่ที่มีปลายด้านหนึ่งใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง รูปร่างคล้ายสากตำข้าว ทำจากไม้จันทน์หอม หลังจากพิธีประหารชีวิตเสร็จสิ้น จักใส่ไปในหลุมพระศพด้วย ขั้นตอนการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ หนึ่ง) ต้องพันธนาการร่างแล้วสวมถุงแดงตั้งแต่พระเศียรลงไปตลอดปลายพระบาท เอาเชือกรัดถุงให้แน่น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดจับต้องพระวรกายและมิให้ผู้ใดเห็นพระศพ แม้แต่เพชฌฆาต สอง) หมื่นทลวงฟันทำการไหว้ครู และขอขมาต่อนักโทษ สาม) ทุบท่อนจันทน์บนพระนาภี (ท้อง) หรือ พระเศียร (ศีรษะ) คล้ายท่าตำข้าว และ สี่) นำพระศพฝังในหลุมซึ่งจัดเตรียมไว้ที่ โคกพระยา แล้วจัดเจ้าพนักงานเฝ้ารักษาหลุม 7 วัน เพื่อมั่นใจว่าสิ้นพระชนม์ หรือป้องกันการชิงพระศพ.

ที่มา: ปรับปรุงจาก. หนังสือ "สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์" 

หมายเหตุ *** ดูใน More ที่มาและคำอธิบายข้อ 05.


4. สมเด็จพระเจ้าทองลัน (เจ้าทองจันทร์)1


           สมเด็จพระเจ้าทองลัน หรือ สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์ หรือ เจ้าทองลั่น หรือ เจ้าทองจัน หรือ เจ้าทองลันทร์ กษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นพระโอรสของขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1) สมภพเมื่อ พ.ศ.1917 ครั้นเมื่อขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคตขณะที่ทรงยกทัพไปตีเมืองชากังราว (ครั้งที่ 4) บรรดาเสนาอามาตย์จึงได้อัญเชิญพระเจ้าทองลัน ซึ่งเป็นรัชทายาทขึ้นครองราชย์ สืบต่อจากพระบิดา เมื่อปี พ.ศ.1931 ขณะที่มีพระชนม์ได้ 15 พรรษา.

          พระเจ้าทองลันครองราชย์ได้เพียง 7 วัน สมเด็จพระราเมศวรยกทัพมาจากเมืองลพบุรี เข้ายึดกรุงศรีฯ แล้วให้กุมตัวสมเด็จพระเจ้าทองลันไปประหารชีวิต ณ วัดโคกพระยา และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าทองลัน ถึอว่าเป็นกษัตริย์ไทยที่มีระยะเวลาครองราชย์น้อยที่สุดของไทย คือเพียง 7 วัน.

 
วัดโคกพระยา2

5. สมเด็จพระราเมศวร

          พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ได้แสดงไว้แล้วใน Sub-page อาณาจักรอยุธยา ตอนที่ 3


6. สมเด็จพระรามราชาธิราช3,4


สมเด็จพระรามราชาธิราช (King Ramrajadhiraj)
 สมภพ พ.ศ.1899  สวรรคต NA.
ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1938-1952 รวม 15 ปี

        สมเด็จพระรามราชาธิราช หรือ สมเด็จพระราม หรือ สมเด็จพระยาราม มีพระนามเดิมว่า เจ้าพระยาราม พระองค์เป็นโอรสในสมเด็จพระราเมศวร สมภาพเมื่อ พ.ศ.1899 ที่เมืองลพบุรี ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา ในปี พ.ศ.1938 เมื่อมีพระชนม์ได้ 40 พรรษา โดยเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งกรุงศรีฯ. ซึ่งเป็นช่วงที่พระมหาธรรมราชาที่ 2 (พ.ศ.1911-1942) แห่งอาณาจักรสุโขทัยครองราชย์อยู่

        ระยะเวลาที่ได้ครองราชย์นั้น บ้านเมืองเป็นปกติสุขดี พระองค์ได้ส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน เมื่อ ปี พ.ศ.1940 ซึ่งตรงกับสมัยจักรพรรดิหงอู่ (Hongwu Emperor) แห่งราชวงศ์หมิง และก็ได้ส่งทูตแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีอยู่เสมอในระยะต่อ ๆ มา สมเด็จพระรามราชาธิราชพยายามที่จะขยายอำนาจไปยังอาณาจักรล้านนา ซึ่งตรงกับสมัยพญาแสนเมือง (พ.ศ.1928-1944) แต่ไม่เป็นผล ทางอาณาจักรสุโขทัยก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจ นอกจากนี้ พระองค์ยังไม่ไว้วางพระทัยเจ้านครอินทร์ พระราชนัดดาในขุนหลวงพะงั่ว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1) ซึ่งทางพระเจ้ากรุงจีนให้ความสนิทสนม อีกทั้งยังยกย่องว่าเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง.

        ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระรามราชาธิราช พระองค์เกิดมีข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี ๆ ได้หนีไปอยู่ฟากปทาคูจาม (ชนชาติจาม เป็นมุสลิมในอาณาจักรอยุธยา แปลว่า "ค่ายคูของชาวจาม" ซึ่งอยุ่ทางด้านใต้ของเกาะกรุงศรีฯ ใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์) แล้วได้ร่วมกับเจ้านครอินทร์ ยกกำลังจากเมืองสุพรรณบุรีมายึดกรุงศรีฯ แล้วทูลเชิญเจ้านครอินทร์ ขึ้นครองราชย์กรุงศรีฯ ส่วนสมเด็จพระรามราชาธิราชนั้น เจ้านครอินทร์ให้ไปครองเมืองปทาคูจาม.

        สมเด็จพระรามราชาธิราช ครองราชย์ได้ 15 และสวรรคตเมื่อปีใดไม่ปรากฎ.




ที่มา คำศัพท์ และคำอธิบาย:
01.  จาก. www.bloggang.com/viewblog.php?id=murder-serialkiller&date=22-07-2014&group=&&gblog=23, วันที่สืบค้น 19 กันยายน 2558.
02.  จาก. www.bloggang.com/mainblog.php?id=siwika&month=19-04-2014&group=2&gblog=1, วันที่สืบค้น 19 กันยายน 2558. วัดโคกพระยาในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงวัดโคกพระยาไว้หลายช่วง โดยส่วนมากจะกล่าวถึงในฐานะที่ใช้เป็นสถานที่ที่ใช้ในการสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น
  • สมเด็จพระเจ้าทองลัน กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • พระรัษฎาธิราช กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • พระยอดฟ้า กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • พระศรีเสาวภาคย์ กษัตริย์องค์ที่ 20 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • พระพันปีศรีศิลป์ พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถูกสำเร็จโทษโดยออกญากลาโหมสุริยวงศ์ หรือพระเจ้าปราสาททอง. (th.wikipedia.org/wiki/วัดโคกพระยา, วันที่สืบค้น 19 กันยายน 2558)
  • สมเด็จพระเชษฐาธิราช กษัตริย์องค์ที่ 22 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • สมเด็จเจ้าไชย กษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา กษัตริย์องค์ที่ 26 แห่งกรุงศรีอยุธยา
  • เจ้าพระขวัญ โอรสของพระเพทราชา ที่ประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ
  • เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์ โอรสในพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
  • พระองค์เจ้าชื่น และพระองค์เจ้าเกิด ราชบุตรในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์
  • กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ  และ กรมหมื่นเสพภักดี (เจ้าสามกรม) โอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ.
03.  จาก. thaigoodview.com/node/6989, วันที่สืบค้น 19 กันยายน 2558.
04.  จาก. th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระรามราชาธิราช, วันที่สืบค้น 19 กันยายน 2558.
05.  จาก. จดหมายเหตุ วันวลิต "พระเจ้าแผ่นดินมิได้มีความซาบซึ่งในคำแนะนำ ทั้งมิได้เกิดความสมเพชเวทนาเลย พระองค์ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความตั้งพระทัย ซึ่งได้ยึดมั่นอยู่ ตรงกันข้ามทรงมีรับสั่งให้นำพระมหาอุปราชไปสำเร็จโทษโดยเร็ว พระมหาอุปราชจึงถูกนำตัวไปวัด ชื่อ พระเมรุโคกพญา (WAT PRAHIMIN KHOPIR JA) ตรงข้ามกับพระราชวัง เพชฌฆาตให้พระองค์นอนลงบนผ้าแดงและทุบพระองค์ที่พระนาภีด้วยท่อนจันทน์ นี้เป็นวิธีสำเร็จโทษที่ใช้กันในประเทศสยาม ซึ่งใช้กับเจ้านายในราชตระกูลเท่านั้น เสร็จแล้วเขาใช้ผ้านั้นห่อพระสรีระและไม้จันทน์ แล้วโยนลงไปในบ่อทิ้งให้พระศพเน่าเปี่อยไป".
humanexcellence.thailand@gmail.com